สำหรับผู้ใส่ใจในการรักษาสุขภาพ ทั้งสุขภาพกาย และสุขภาพจิต

การแพ้แมลง (Insect allergy)

พิษแมลง
แมลงต่อยที่มีความสำคัญทำให้เกิดการแพ้อย่างรุนแรงนั้น อยู่ใน Order Hymenoptera ซึ่งมีแมลงกว่า 160,000 ชนิด แต่มีที่สำคัญเพียงไม่กี่ชนิดได้แก่ ผึ้ง, แตน, ต่อ, แมลงหมาร่า, มดคันไฟ, มดตะนอย  เป็นต้น น้ำพิษของแมลงเหล่านี้ประกอบด้วยสารหลายอย่างได้แก่ vasoactive amines, enzymes และ antigenic proteins ต่างๆ ดังนั้นปฏิกิริยาจากแมลงต่อย นอกจากจะเกิดจากการแพ้แล้ว ยังอาจเกิดจากผลของสารเหล่านี้ที่ออกฤทธิ์ต่อร่างกายโดยตรงได้

ปฏิกิริยาที่เกิดจากแมลงต่อยอาจแบ่งได้ดังนี้

1. ปฎิกิริยาแบบทันควัน (Immediate reaction) เกิดขึ้นภายใน 6 ชั่วโมง หลังจากถูกแมลงต่อย ซึ่งพบหลายลักษณะได้แก่

1.1 Local reaction จะมีอาการปวด บวม และแดงตรงบริเวณที่ถูก ต่อย พบได้ในคนทั่วไปที่ไม่แพ้แมลง

1.2 Large local reaction บริเวณบวมแดงลามออกไปกว้างจาก บริเวณที่ถูกต่อย เช่น บวมทั้งใบหน้า เมื่อถูกต่อยที่บริเวณหน้าผาก เป็นต้น

1.3 Systemic reaction จะมีอาการตามระบบต่างๆ ไม่เฉพาะแต่ที่ที่ถูกแมลงต่อย เช่น มีลมพิษ, แองจิโออีดีมา, หอบหืด, ความดันโลหิตต่ำ, ช็อค อาจพบอาการใดอาการหนึ่ง หรือพบร่วมกันเป็นแบบ anaphylaxis ก็ได้

1.4 Toxic reaction เกิดจากการที่ถูกแมลงหลายตัวต่อยพร้อมๆ กัน กลไกไม่ได้เกิดจากปฏิกิริยาระหว่างแอนติเจนกับแอนติบอดีย์
แต่เกิดจากฤทธิ์ของ vasoactive amine ที่มีในน้ำพิษของแมลง

2. ปฏิกิริยาแบบล่า (Delayed reaction) เกิดขึ้นภายหลังถูกแมลงต่อย
6 ชั่วโมงไปแล้ว อาจพบอาการได้หลายอย่าง เช่น serum sickness, convulsion, nephrosis, acute renal failure, hemolytic anemia, severe throm¬bocytopenia เป็นต้น

การวินิจฉัย
ได้จากประวัติ และการตรวจร่างกาย ควรพยายามให้ผู้ปกครองจับแมลงที่ต่อยมาด้วย จะได้บอกชนิดของแมลงได้ เพราะน้ำพิษของแมลงแต่ละชนิดมีต่างกัน สำหรับการตรวจทางห้องปฏิบัติการนั้นได้แก่ การทำ skin test ซึ่งจะทำเฉพาะรายที่เกิดปฏิกิริยารุนแรงชนิด systemic reaction หรือ anaphylaxis เพื่อที่จะพิจารณาให้การรักษาด้วยวิธี immunotherapy ต่อไป

การรักษา
1. พยายามหลีกเลี่ยงแมลงเหล่านี้

2. กรณีที่มีปฏิกิริยารุนแรงแบบ anaphylaxis ให้การรักษาแบบ anaphy¬laxis (ดังได้กล่าวแล้วข้างต้น) และรับไว้ในโรงพยาบาล

3. ให้การรักษา local reactions

3.1 ถ้ามีเหล็กไนติดอยู่ ใช้ใบมีดสะอาดหรือปลายเข็มกดเนื้อข้างเหล็ก ไน เพื่อดันให้เหล็กไนหลุดออกมา หรืออาจใช้สก็อตเทปแปะลงบริเวณที่เห็นเหล็กไนค้างอยู่ แล้วดึงเอาเหล็กไนออกมา

3.2 ให้ oral antihistamine

3.3 ในรายที่มีอาการปวดมาก ให้ analgesics เช่น aspirin

3.4 ในกรณีที่เป็น severe local reactions, อาจให้ short course corticosteroid (prednisolone 0.5 – 1 มก./กก./วัน นานประมาณ 5 วัน)

3.5 สำหรับยาปฏิชีวนะควรให้ด้วยทุกราย เพราะปากแมลงสกปรก และมักมีการติดเชื้อตามมา

3.6 แนะนำให้ผู้ป่วย หรือผู้ปกครองประคบบริเวณที่ถูกต่อยด้วยน้ำเย็น หรือน้ำแข็ง เพื่อให้หลอดเลือดหดตัว และลดอาการบวมและแนะนำให้ยกแขนหรือขาข้างที่ถูกต่อยให้สูง จะได้ยุบบวมเร็วขึ้น

4. ผู้ป่วยที่มีการแพ้แมลง โดยมีปฏิกิริยาแบบ systemic reaction และผลการทดสอบ skin test ด้วย venom ให้ผลบวกเป็นข้อบ่งชี้ในการรักษาด้วยวิธี immunotherapy.

ที่มา:อารียา  เทพชาตรี

↑ กลับสู่ส่วนบนของหน้า