สำหรับผู้ใส่ใจในการรักษาสุขภาพ ทั้งสุขภาพกาย และสุขภาพจิต

การเยียวยารักษาร่างกายแลบลูเยนเวิร์ค

ลูเยนเวิร์ค(Looyen Work)
เป็นการสังเคราะห์ที่พิเศษในการเยียวยาร่างกายในบริเวณเนื้อเยื่อที่อยู่ลึกๆ โดยไม่มีความเจ็บปวด เป็นการศึกษาการเคลื่อนไหว และเป็นการประเมินค่าสภาพแวดล้อมด้วย

ส่วนที่สำคัญๆ ของเทคนิคการปรับโครงสร้างทางสรีระหลายอย่าง รวมทั้งเทคนิคที่เรียกว่า โพสทูรา อินทีเกรชัน(Postura Integration) การนวดแบบเฟลเดนครายส์(Feldenkrais Method) เทคนิคกายภาพบำบัดด้วยการบังคับการตอบสนองของระบบประสาท(Aston Patterning) โรลฟิ่ง(Rolfing) ฯลฯ จะนำมาสังเคราะห์ผสมผสานอยู่ในเทคนิคลูเยนเวิร์ค ก็จะทำให้เกิดประโยชน์มากกว่าการนำเทคนิคเดี่ยวๆ เหล่านั้นมาใช้แยกกัน

ผู้ที่สร้างสรรค์ลูเยนเวิร์ค คือ เท็ด ลูเยน(Ted Looyen) เขาเกิดในฮอลแลนด์ ได้ไปศึกษาที่ซิดนีย์ ประเทศออสเตรเลีย ในระหว่างที่ทำงานเป็นผู้ให้คำปรึกษาและให้การบำบัดให้กับคณะกรรมาธิการฝ่ายสุขภาพของรัฐบาล(Government Health Commission) อยู่ในซิดนีย์ เขามีชื่อเสียงว่ามีความสามารถในการสร้างความสัมพันธ์โดยทันทีและลึกซึ้งกับลูกค้า

หลังจากที่เขาผ่านพ้นการผจญปัญหาที่บริเวณหลังอย่างรุนแรงมาได้จากการบำบัดรักษามากมายหลายแบบในออสเตรเลีย และได้พบว่าการนวดเนื้อเยื่อระดับลึกที่เรียกว่า โรล์ฟฟิ่ง(Rolfing)ได้ก่อให้เกิดผลลัพธ์ที่มีประสิทธิภาพมากที่สุด แต่เขาก็ยังไม่เชื่ออย่างสนิทใจว่า ความเจ็บปวดที่มากับการนวดเนื้อเยื่อระดับลึกนั้นเป็นสิ่งจำเป็น แล้วเขาก็ได้พัฒนาวิธีการชนิดที่ไม่รุนแรงแต่ส่งผลได้อย่างลึกซึ้งเพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในด้านโครงสร้าง และได้เริ่มอาชีพการเป็นคนนวดในปี 1973

ลูเย็นได้ศึกษาวิธีการบำบัดรักษาอย่างกว้างขวาง จนกระทั่ง 12 ปีให้หลัง เขาก็ได้เทคนิคที่สมบูรณ์ ที่อาศัยผลกระทบในทางบวกจากการนวดเนื้อเยื่อระดับลึกทุกอย่าง เช่น เทคนิคโพสทูรา อินทีเกรชั่น(Postura Integration) การนวดแบบเฟลเดนครายส์(Feldenkrais Method) เทคนิคกายภาพบำบัดด้วยการบังคับการตอบสนองของระบบประสาท(Aston Patterning) โรลฟิ่ง(Rolfing) และอื่นๆ อีกมาก ที่โดยปกติแล้วจะไม่ก่อให้เกิดความเจ็บปวดควบมาด้วย

เท็ด ลูเยน ได้นำเอา เทคนิคลูเยนเวิร์คเข้ามาในสหรัฐอเมริกาในปี ค.ศ.1986 วิธีการนวดของเขาได้เป็นที่รู้จักและใช้กันอย่างกว้างขวางทั่วโลกในปัจจุบันนี้ เขามีสถานรับนวดอยู่ใน มิล แวลลีย์ แคลิฟอร์เนีย และมีการจัดอบรมในที่ต่างๆ ทั่วสหรัฐอเมริกาด้วย

ลูเยนเชื่อว่า การนวดที่ทำให้ลูกค้าเกิดความเจ็บปวด เป็นการทำร้ายร่างกายอย่างเดียวกับที่ทำให้เกิดปัญหามาตั้งแต่แรก เพราะลูกค้าจำต้องรับมือกับความเจ็บปวดรวดร้าวด้วยฝีมือของผู้ให้การนวดเพิ่มขึ้นมาอีก จึงไม่ก่อให้เกิดผลลัพธ์ที่ดีที่สุด

เท็ด ลูเยน รู้สึกเสมอว่า วิธีการบำบัดรักษาที่จะก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงจะต้องไม่มีความเจ็บปวด จำเป็นที่จะต้องจัดการคลี่คลายสลายไปอย่างนุ่มนวล ไม่ว่าจะเป็นประสบการณ์ทางกายหรืออารมณ์

ในการนวดแบบลูเยนเวิร์ค ผู้นวดจะต้องพิจารณาร่างกายของผู้มารับการนวดอย่างละเอียดประณีตเสียก่อน เพื่อกำหนดปัญหาที่เป็นแกน ที่เป็นผลมาจากประสบการณ์ความเจ็บปวดทางอารมณ์ จิตวิทยา และสรีระที่เคยได้รับมาในอดีตของบุคคลนั้น

ผู้นวดจะจัดวางแนวการแก้ปัญหาให้กับลูกค้าเมื่อระบุปัญหาที่เป็นแกนได้แล้ว ปัญหาของผู้มารับการนวดที่ต่างกันจึงทำให้การนวดแตกต่างกันไปด้วย ในการนวดแบบลูเยนเวิร์คจะไม่มีท่ามาตรฐานแต่ละครั้งจะสมบูรณ์อยู่ในตัวเอง ปัญหาในแง่มุมอื่นๆ จะถูกจัดการเมื่อนวดครั้งถัดไป ไม่มีการกำหนดว่าจะนวดกี่ครั้งจึงจะหายจากโรค หรืออาการที่ผิดปกติได้

การนวดอย่างนุ่มนวลแต่ลึกที่ผู้นวดใช้ปลายนิ้วมือในการนวดนั้น แม้ว่าจะเบามือแก่ผู้รับการนวด แต่การเคลื่อนไหวอย่างซึมแทรกของปลายนิ้วมือ ก็จะส่งผลให้มีการเปลี่ยนแปลงอย่างลึกซึ้งที่โครงสร้าง จะช่วยระบายการยึดของเนื้อเยื่อเกี่ยวพัน ยืดกล้ามเนื้อที่หดเกร็งอย่างเรื้อรัง และแยกเส้นเอ็นออกจากกันได้

ในกระบวนการนี้ ความเข้าใจถึงการต่อต้านของร่างกายและแบบแผนความกลัวจะทำให้ผู้นวดสามารถระบายแบบแผนที่สั่งสมไว้ อย่างเช่น ความไม่สมดุลของท่าการทรงตัว และความเจ็บปวดทางอารมณ์และร่างกายได้ เมื่อลูกค้ายอมทำตามและให้ความร่วมมือในการบำบัดรักษาร่วมกับผู้นวด

มีบ่อยครั้ง ที่การนวดแบบลูเยนเวิร์ค มีประสิทธิภาพในการอำนวยให้เกิดการเปลี่ยนแปลงได้มากยิ่งกว่าการนวดแบบดั้งเดิม และการบำบัดรักษาทางจิตเป็นเวลาหลายปี เพียงทำกับปัญหาที่เป็นแกนไม่กี่ครั้ง และมีบ่อยๆ ที่การนวดแบบลูเยนเวิร์ค จะถูกแนะนำจากแพทย์แผนโบราณเพื่อประกอบการรักษาโรคด้วย

ผู้ที่ผ่านการเรียนอย่างเข้มเป็นเวลา 535 ชั่วโมง ก็จะได้เป็นผู้ให้การนวดแบบลูเยนเวิร์คที่ได้รับการยอมรับว่ามีความรู้จริง หากมีความสนใจสามารถติดต่อได้ที่สถาบันลูเยนเวิร์ค ตามที่อยู่ดังนี้
Looyenwork
P.O. Box 1742
Sausalito, CA 94666
USA.

เรียบเรียงโดย:สุวิชญ์ ปรัชญาปารมิตา

↑ กลับสู่ส่วนบนของหน้า