สำหรับผู้ใส่ใจในการรักษาสุขภาพ ทั้งสุขภาพกาย และสุขภาพจิต

การเปลี่ยนแปลงของร่างกายหลังการคลอด

ระยะหลังคลอดหรือระยะอยู่ไฟ เป็นช่วงที่ร่างกายปรับตัวคืนสู่สภาพเดิมเหมือนก่อนการตั้งครรภ์ ระบบต่างๆ ในร่างกายไม่ว่าจะเป็นระบบอวัยวะสืบพันธุ์ ระบบปัสสาวะ ระบบไหลเวียนเลือดและหัวใจ น้ำและเกลือแร่ในร่างกาย เต้านม การตกไข่และการมีประจำเดือน ทั้งทางร่างกายและจิตใจก็จะมีการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้น

การเปลี่ยนแปลงทางกายวิภาคและสรีระของร่างกายหลังคลอดตามระบบการแพทย์แผนปัจจุบัน

มดลูก
มดลูกจะโตและอยู่สูงจากระดับสะดือทันทีที่คลอดแล้ว โดยมีความกว้างประมาณ 12 ซม. ยาว 15 ซม. หนา 8-10 ซม. มีน้ำหนักประมาณ 2 ปอนด์ และมดลูกจะลดขนาดลงเพื่อกลับคืนสู่สภาพปกติประมาณวันละ ½ นิ้ว เรียกการเปลี่ยนแปลงนี้ว่า “มดลูกเข้าอู่” และระดับของมดลูกจะอยู่กึ่งกลางระหว่างหัวเหน่ากับสะดือหรือประมาณ 3 นิ้วเหนือหัวเหน่าภายหลังจากคลอดในวันที่ 7 และระดับยอดมดลูกจะอยู่เหนือหัวเหน่าหลังจากคลอดประมาณวันที่ 10-12 โดยมีน้ำหนักประมาณ 8-9 ออนซ์ และภายใน 6-8 สัปดาห์ก็จะมีขนาดปกติ คือมีขนาด 3x2x1 นิ้ว มีน้ำหนักประมาณ 2-3 ออนซ์

ในขณะตั้งครรภ์การที่มดลูกขยายใหญ่ และหลังคลอดก็มีการลดตัวอย่างรวดเร็ว หรือการที่มดลูกถูกยึดด้วยเอ็นต่างๆ อย่างหลวมๆ ถูกผลักไปข้างหน้า เช่น มดลูกจะถูกดันสูงขึ้นไปบริเวณชายโครงเมื่อมีปัสสาวะเต็มกระเพาะปัสสาวะ หรือบริเวณภายในผนังมดลูกที่รกเกาะซึ่งเป็นส่วนที่บางกว่าส่วนอื่นจะหนาตัวขึ้นเมื่อมดลูกมีการหดรัดตัวดี หลังการคลอดใน 24 ชั่วโมงแรกบริเวณที่รกเกาะจะเป็นแผลใหญ่และมีเลือดซึมออกมา แต่หลอดเลือดในบริเวณนั้นจะตีบลงและมีก้อนเลือดเล็กๆ มาปิดในระยะต่อมา ซึ่งอาจมีภาวะแทรกซ้อนเกิดขึ้นได้มากที่สุดในระยะ 10-14 วันแรกของการคลอด จึงต้องเฝ้าระวังและดูแลรักษาเป็นพิเศษในระยะสำคัญนี้

เนื้อเยื่อบุโพรงมดลูก
เนื้อเยื่อบุโพรงมดลูกที่เหลืออยู่ในโรงมดลูกจะแบ่งตัวเป็น 2 ชั้น ภายหลังจากการคลอดได้ 2-3 วัน คือ

1. ชั้นผิว
ส่วนนี้เรียกว่า น้ำคาวปลา จะมีระยะการหลุดออกมาเป็น 3 ระยะคือ
-ใน 2-3 วันแรก ชั้นผิวส่วนนี้ส่วนใหญ่จะประกอบไปด้วยเลือดจึงออกมาเป็นสีแดง

-ในราววันที่ 10 จะมีเนื้อเยื่อบุโพรงมดลูกสลายตัวปะปนออกมาด้วย จึงทำให้สีแดงจางลง และมีปริมาณน้อยลงด้วย

-ภายใน 3 สัปดาห์หลังคลอด สีของน้ำคาวปลาจะหมดไป แต่อาจมีอยู่นานถึง 6 สัปดาห์ในบางราย

2. เยื่อบุโพรงมดลูก
เป็นส่วนที่อยู่ติดกับเนื้อมดลูก ซึ่งภายในเยื่อบุโพรงมดลูกจะมีต่อมของเยื่อบุโพรงมดลูกอยู่ และภายใน 3 สัปดาห์ก็จะมีการเจริญจนเต็มโพรง แต่จะกินเวลานานถึง 6 สัปดาห์ในส่วนที่เป็นรอยเกาะของรก ในส่วนที่รกเกาะหากไม่มีการเจริญของเยื่อบุโพรงมดลูกก็จะทำให้กลายเป็นแผลเป็น ซึ่งการตั้งครรภ์ในครั้งต่อไปจะมีอันตรายได้

ปากมดลูกและตัวมดลูกส่วนล่าง
ปากมดลูกจะมีลักษณะนุ่มบางและมีรอยฉีกขาดออกไปทางด้านข้างภายหลังที่รกคลอดแล้ว และมีการหดตัวอย่างช้าๆ พบว่าหลังคลอดประมาณ 2-3 วันแรก จะมีขนาดเท่ากับสอด 2 นิ้วมือได้ และจะแคบลงเมื่อครบ 3 สัปดาห์ หรือเรียกว่า ปากมดลูกด้านนอก จะมีลักษณะแตกต่างไปจากเดิมเมื่อสิ้นสุดสัปดาห์ที่ 6 คือขนาดจะกว้างออกและด้านข้างจะมีรอยแตก ส่วนมดลูกก็จะหดตัวหนาขึ้นและสั้นลง ภายใน 2-3 สัปดาห์ก็จะเป็นคอมดลูกตามเดิม

ช่องคลอดและปากช่องคลอด
เป็นอวัยวะที่ผนังมีการหย่อนมากกว่าเดิม ไม่สามารถกลับสู่สภาพปกติเหมือนตอนก่อนคลอดได้ โดยผนังช่องคลอดจะปรากฏเป็นรอยย่นให้เห็น และจะสมบูรณ์เหมือนเดิมในสัปดาห์ที่ 6-10 ส่วนลักษณะของเยื่อพรหมจารีจะขาดกะรุ่งกะริ่งเป็นติ่งเนื้อเล็กๆ ซึ่งทำให้รู้ได้ว่าเคยผ่านการคลอดบุตรมาแล้ว ในรายที่แผลสมานกันได้รวดเร็วจะเป็นการฉีดขาดจากการตัดฝีเย็บ ปกติแล้วภายใน 5-7 วันแผลนี้จะหายเข้าสู่สภาพเดิมได้ หากเกิดอาการบวมและอักเสบก็อาจเกิดจากไม่ได้เย็บแผลหรือเย็บไม่ถูกวิธี จนอาจทำให้มีการติดเชื้อเข้าไปภายในมดลูก ปีกมดลูก และช่องท้อง ซึ่งต้องใช้เวลานานกว่ารักษาหาย

ระบบปัสสาวะ
ส่วนนำของทารกจะไปกดทับบริเวณกระเพาะปัสสาวะในระหว่างการคลอด ทำให้ผนังใต้เยื่อบุกระเพาะปัสสาวะเกิดบวม มีเลือดคั่งและเลือดออก ความจุของกระเพาะปัสสาวะจะมีมากขึ้น มีความยืดหยุ่นลดน้อยลง ทำให้เกิดการโป่งของกระเพาะปัสสาวะ เมื่อถ่ายปัสสาวะก็จะถ่ายออกได้ไม่หมด นอกจากนั้น ใน 1-2 วันแรกหลังคลอด ยังอาจพบโปรตีนในปัสสาวะด้วย ซึ่งภาวะนี้จะเกิดร่วมกับการขยายตัวของหลอดไตและกรวยไต จึงทำให้ทางเดินปัสสาวะมีการติดเชื้อได้ง่ายขึ้น ในเวลา 8-12 สัปดาห์ กรวยไตและหลอดไตที่ขยายตัวก็จะกลับคืนสู่สภาพปกติ

ระบบไหลเวียนของเลือดและหัวใจ
มดลูกจะมีการหดรัดตัวทันทีหลังคลอด เพื่อไล่เลือดในชั้นกล้ามเนื้อของมดลูกเข้าสู่ระบบไหลเวียน ในร่างกายจึงมีปริมาณเลือดไหลเวียนเพิ่มมากขึ้นกะทันหัน แต่มารดาที่ไม่มีปัญหาเกี่ยวหัวใจหรือหลอดเลือดก็จะไม่เกิดอันตรายขึ้น เพราะระหว่างการคลอดที่มีการเสียเลือดจะช่วยรักษาสมดุลเอาไว้ได้ จะพบว่ามีเม็ดเลือดแดงมากกว่าปกติถึง 20% ปริมาณเลือดมากกว่าปกติ 32% น้ำเหลืองมีปริมาณมากกว่าปกติ 40% เมื่อครรภ์ครบกำหนด และภายใน 1 สัปดาห์หลังการคลอดจำนวนเหล่านี้ก็จะลดลงเข้าสู่สภาพปกติเหมือนตอนก่อนคลอด

การเปลี่ยนแปลงของน้ำและเกลือแร่ในร่างกาย
ในระหว่างเจ็บครรภ์น้ำหนักของมารดาจะลดลงจากการเสียน้ำทางเหงื่อและการหายใจร่วมกับน้ำหนักของเด็กและรกไปประมาณ 5.5 กิโลกรัม และในสัปดาห์แรกของเหลวจะถูกขับออกมาอีกประมาณ 2 ลิตร ทำให้น้ำหนักของมารดาลดลงไปอีกประมาณ 4 กิโลกรัม และของเหลวจะถูกขับออกมาอีกประมาณ 1.5 ลิตรในอีก 5 สัปดาห์ต่อมา

การเปลี่ยนแปลงของเต้านม
ฮอร์โมนเอสโตรเจนและโปรเจสเตอโรนจากรกจะหมดไปภายหลังการคลอด ทำให้ต่อมปิทูอิตารี่ส่วนหน้าเกิดการหลั่งฮอร์โมนโปรแลคติน ส่งผลให้มีน้ำนมเกิดขึ้น น้ำนมจะมีในประมาณวันที่ 3-4 ในครรภ์แรก แต่จะมีในประมาณวันที่ 2 หากเป็นครรภ์หลังๆ โดยมารดาจะรู้ว่านมแข็ง คัดเต้านม เจ็บร้อนบริเวณเต้านม และอาจจะบวมไปถึงบริเวณรักแร้ในบางราย ในครั้งแรกที่เกิดนมคัดนี้ เกิดจากหลอดเลือดและท่อน้ำเหลืองมีการคั่ง เมื่อยังไม่มีการหลั่งก็จะเก็บน้ำนมไว้ แต่ประสาทที่ปลายหัวนมและเซลล์รอบๆ ต่อมน้ำนมจะหดตัวจากการดูดกระตุ้นของเด็ก ทำให้มีน้ำนมไหลออกมา การดูดของทารกและความดันภายในเต้านมจะมีผลต่อจำนวนและคุณภาพของน้ำนม เต้านมเป็นอวัยวะที่ยังคงมีการเจริญเติบโตต่อไปอีกแม้ภายหลังจากคลอดแล้ว น้ำนมที่มีใหม่ๆ หลังจากคลอด 2-3 วันแรก เรียกว่า น้ำนมเหลือง(Colostum) จะมีลักษณะเป็นสีเหลืองใสๆ ซึ่งมีส่วนประกอบในน้ำนมตามปกติ แต่จะมีโปรตีนและเกลือแร่อยู่ในปริมาณที่มากกว่า และยังมีสารภูมิคุ้มกันที่ช่วยป้องกันลำไส้อักเสบด้วย น้ำนมเหลืองจะหมดไปประมาณวันที่ 5-7 หลังคลอด และมีน้ำนมตามปกติที่มีสารอาหารเหมาะกับการเลี้ยงดูทารกมากกว่านมจากแหล่งอื่นๆ

การตกไข่และการมีประจำเดือน
ระยะหนึ่งหลังจากการคลอดจะไม่มีการตกไข่และไม่มีประจำเดือน และในรายของมารดาที่ให้นมบุตรก็จะมีช้ากว่ารายที่ไม่ได้เลี้ยงลูกด้วยนมของตัวเอง ใน 40 สัปดาห์ของการตั้งครรภ์ รังไข่จะหยุดทำงานจึงทำให้ไม่มีประจำเดือน และเป็นผลจากการได้รับฮอร์โมนเอสโตรเจนและโปรเจสเตอโรนจากรกด้วย หลังคลอดใน 4-6 สัปดาห์ หากไม่ได้เลี้ยงลูกด้วยนมตนเองประจำเดือนก็จะกลับมา

การเปลี่ยนแปลงทั่วไป
อุณหภูมิ

อุณหภูมิของร่างกายอาจสูงขึ้นได้ภายหลังการคลอด 24 ชั่วโมงแรก แต่จะไม่เกินไปกว่า 100 องศาฟาเรนไฮ สำหรับในรายที่มีการติดเชื้อก็อาจมีอุณหภูมิของร่างกายสูงเกินและนานกว่านี้ก็ได้

ชีพจร
ชีพจรควรอยู่ระหว่าง 68-80 ครั้ง/นาที และต้องสังเกตว่ามีการตกเลือดหรือไม่หากชีพจรเต้นเร็วโดยไม่มีอาการไข้

ทางเดินอาหาร
มารดาจะกระหายน้ำและดื่มน้ำได้เป็นจำนวนมากภายหลังจากการคลอด เพราะระหว่างการคลอดและหลังคลอดร่างกายได้เสียน้ำไปมากทางเหงื่อ น้ำคาวปลา ปัสสาวะ และยังรับประทานอาหารไม่ค่อยได้ เมื่อรับประทานอาหารได้น้อยจึงทำให้ไม่ถ่ายอุจจาระในระยะ 2-3 วันแรก และกากอาหารจะแห้งกว่าปกติจากการเสียน้ำมาก ฝีเย็บและกล้ามเนื้อหน้าท้องก็ยังไม่เป็นปกติ และมีอาการปวดแผลร่วมด้วย และการนอนถ่ายก็เป็นสาเหตุของการกลั้นอุจจาระไว้ไม่ยอมถ่ายด้วย

การเปลี่ยนแปลงด้านจิตใจ
จิตใจและอารมณ์ในระยะคลอดและหลังคลอดเป็นสิ่งสำคัญมาก เพราะเป็นการเปลี่ยนแปลงครั้งยิ่งใหญ่ของชีวิต สภาพอารมณ์จะแตกต่างออกไปตามสถานการณ์ต่างๆ เช่น ดีใจ เสียใจ หงุดหงิด กังวลต่างๆ มากมาย หรือนอนไม่หลับ

การเปลี่ยนแปลงสภาวะร่างกายหลังคลอดในแนวทฤษฎีการแพทย์แผนไทย
ร่างกายของคนเราถ้ากล่าวตามแนวคิดทางพระพุทธศาสนาก็คือ จะประกอบไปด้วยธาตุ 4 ได้แก่ ดิน น้ำ ลม และไฟ ความแปรปรวนต่างๆ ที่เกิดขึ้นมีพื้นฐานมาจากธาตุทั้ง 4 นี้ ธาตุแต่ละตัวจะอยู่รวมกันอย่างสมดุล แต่มีคุณสมบัติและบทบาทที่แตกต่างกัน การแพทย์แผนไทยจึงยึดหลักของธาตุทั้ง 4 ที่สมดุลกัน และมีความสัมพันธ์เกี่ยวเนื่องกันตลอดเวลา เมื่อความแปรปรวนของธาตุเหล่านี้เกิดขึ้น ก็มีแนวโน้มว่าจะเกิดอาการผิดปกติหรือเกิดโรคขึ้นได้ จึงมีขั้นตอนตามเหตุที่ทำให้ธาตุทั้ง 4 ไม่สมดุลหรือผิดปกติเพื่อการดูแลรักษา ซึ่งธาตุทั้ง 4 จะประกอบด้วย

ธาตุดิน(ปถวีธาตุ)
เป็นสาเหตุแห่งการเกิดโรค อวัยวะส่วนที่เป็นธาตุดินมี 20 ประการ คือ ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง เนื้อ หัวใจ ตับ ปอด ไส้ใหญ่ ไส้น้อย เอ็น กระดูก เยื่อในกระดูก ม้าม สมอง ไต พังผืด อาหารเก่า อาหารใหม่ และอวัยวะที่จัดอยู่ในกลุ่มของธาตุดินด้วยเช่นกันก็คือ มดลูก

ธาตุน้ำ(อาโปธาตุ)
มีอยู่ 12 ประการ คือ น้ำดี เสมหะ หนอง โลหิต เหงื่อ มันข้น น้ำตา น้ำมันเหลว ปัสสาวะ น้ำลาย น้ำมูก ไขข้อ

ธาตุลม(วาโยธาตุ)
มีอยู่ด้วยกัน 6 ประการคือ ระบบประสาท ระบบไหลเวียนของโลหิตทั้งหมด การเคลื่อนไหวของกระเพาะอาหารและลำไส้ ลมหายใจ การเคลื่อนไหวของปอด หรืออื่นๆ ที่มีอิทธิพลทำให้เกิดการเคลื่อนไหวไม่หยุดนิ่ง ความผิดปกติของระบบเหล่านี้มีสาเหตุมาจาก ลมที่เกี่ยวข้องกับการเต้นของหัวใจ(หทัยวาตะ) ระบบการทำงานทั่วไปของประสาทและเส้นเลือดเล็กๆ(สัตถกวาตะ) เส้นกลางตัวที่อยู่บริเวณหัวใจเส้นเลือดแดงใหญ่ ไต มดลูก ประสาทกลางตัวหรือไขสันหลัง(สุมนาวาตะ) เป็นต้น

ธาตุไฟ(เตโชธาตุ)
มีอยู่ 4 ประการคือ ทำให้ร่างกายอบอุ่น(สันตัปปัคคี) ทำให้ร้อนระส่ำระสาย(ปริทัยหัคคี) ทำให้เหี่ยวแห้งทรุดโทรม(ชิรณัคคี) ทำอาหารย่อย(ปริณามัคคี)

ตามหลักแพทย์แผนไทยที่กล่าวมา หากมองหญิงหลังคลอดที่มีการเปลี่ยนแปลงของร่างกายตามทฤษฎีจะพบว่า สภาวะของธาตุทั้ง 4 จะหย่อนลงทั้งหมดหลังคลอด เนื่องจากต้องใช้แรงเบ่งในขณะคลอด มีการเสียน้ำ อ่อนเพลียหมดเรี่ยวแรง ตัวเย็น เสียความร้อนภายหลังการคลอด ดังนั้นจึงต้องมีการปรับธาตุทั้ง 4 หลังการคลอด เพื่อฟื้นฟูให้รางกายกลับเข้าสู่ภาวะปกติ ซึ่งสภาวะหย่อนมีดังต่อไปนี้

ธาตุดินแปรปรวน
ภายหลังจากคลอดทารกและรกออกมาจะทำให้ขนาดของมดลูกเปลี่ยนแปลงจากใหญ่กลายเป็นเล็กอย่างรวดเร็ว การสูบฉีดโลหิตของหัวใจที่มีมากขึ้นจะทำให้การบีบตัวของลำไส้เล็กและลำไส้ใหญ่เกิดการติดขัด จึงเห็นได้ว่าเมื่อตั้งครรภ์มักจะทำให้มีอาการท้องผูก หรือเป็นริดสีดวงขึ้น และเพื่อให้ทารกคลอดออกมาได้ก็จะมีการขยายออกของข้อต่อกระดูกเชิงกราน รวมทั้งมีการเบี่ยงเบนของแนวโครงสร้างกระดูกสันหลังไปจากปกติด้วย

ธาตุน้ำแปรปรวน
การแพทย์แผนไทยในปัจจุบันเรียกภาวะนี้ว่า โลหิตอยู่ในภาวะหย่อน หรือโลหิตจาง หรือเรียกว่า ขาดน้ำ ซึ่งเกิดจากการเสียเลือด เสียน้ำ เกลือแร่ เมือกมูก น้ำเดิน น้ำคาวปลา เหงื่อ ในขณะคลอดและหลังคลอด

ธาตุลมแปรปรวน
ตั้งแต่ระยะตั้งครรภ์ ระยะคลอด จะมีการทำงานเพิ่มขึ้นของระบบไหลเวียนโลหิต และความดันโลหิต และภายหลังการคลอดก็จะลดลง ตามทฤษฎีเรียกการเปลี่ยนแปลงความดันในเส้นเลือดแดงใหญ่ เส้นเลือดฝอย การหายใจถี่เร็วขณะคลอด การออกแรงเบ่ง และการเกิดลมเบ่ง ว่า “ลมกัมมัชวาต” เป็นลมที่เกิดแต่กรรม หมายถึง เมื่อหญิงมีครรภ์ครบกำหนดจะคลอดบุตร มีลมชนิดหนึ่ง เรียกว่า ลมกัมมัชวาต บังเกิดพัดเส้น และเส้นที่รัดตรึงตัวกุมารให้กลับเอาศีรษะลงเบื้องต่ำ เมื่อได้ฤกษ์ดีแล้ว ทารกก็คลอดออกจากครรภ์มารดา เพราะอาศัยลมกัมมัชวาตนี้

ธาตุไฟแปรปรวน
ตั้งแต่ระยะตั้งครรภ์จะเริ่มมีการเปลี่ยนแปลงของธาตุไฟในร่างกายขึ้น การเผาผลาญอาหารของร่างกายมีมากขึ้น เรียกว่า ภาวะกำเริบ คืออาหารจะย่อยได้เร็ว รู้สึกหิวบ่อย การสูบฉีดโลหิตจะเปลี่ยนแปลงภายหลังการคลอด สูญเสียน้ำและเลือด มีความดันโลหิตต่ำ เส้นเลือดฝอยที่ผิวหนังมีเลือดไหลเวียนมาน้อยทำให้มีอาการตัวเย็น และทำให้หนาวสั่นเนื่องจากพลังงานที่เผาผลาญให้ความอบอุ่นลดลง(สันตัปปัคคี)

นอกจากการแพทย์แผนไทยจะกล่าวถึงการเจ็บป่วยที่เกิดจากความแปรปรวนของธาตุทั้ง 4 แล้ว ก็ยังกล่าวถึงพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมของหญิงตั้งครรภ์ที่ทำให้เกิดความเจ็บป่วยด้วย เช่น การมีน้ำหนักตัวเกินหรือเกิดภาวะแทรกซ้อนจากการกินอาหารในปริมาณที่มากจนเกินไป หรือเกิดภาวะทุพโภชนาการจากการกินอาหารอย่างใดอย่างหนึ่งน้อยเกินไป หรือเกิดภาวะโภชนาการเกินจากการกินอาหารอย่างใดอย่างหนึ่งมากเกินไป หรืออาการแพ้ท้องทำให้มีพฤติกรรมการกินอาหารที่แปลกหรือรสชาติแปลกไปกว่าเดิม หรือกินอาหารไม่ได้เพราะมีอาการคลื่นไส้อาเจียนตลอดเวลา หรือเกิดจากอารมณ์เปลี่ยนแปลง เช่น โกรธ หรือน้อยใจ เป็นต้น

ที่มา:จากหนังสือวิทยาศาสตร์ในการแพทย์แผนไทย
โดย: อาจารย์ศิรินันท์ ตรีมงคลทิพย์
หัวหน้าภาควิชาวิทยาศาสตร์สุขภาพ(การแพทย์แผนไทยประยุกต์)
สถาบันเทคโนโลยีราชมงคล วิทยาเขตปทุมธานี

↑ กลับสู่ส่วนบนของหน้า