สำหรับผู้ใส่ใจในการรักษาสุขภาพ ทั้งสุขภาพกาย และสุขภาพจิต

การดูแลมารดาหลังคลอดด้วยการเข้ากระโจม

สมัยก่อนถ้าจะให้ครบกระบวนของการอยู่ไฟก็ต้องมีการเข้ากระโจมอบตัว โดยใช้ว่านนางคำฝนหรือตำคั้นเอาแต่น้ำผสมเหล้าและการบูร ทาให้ทั่วตัวก่อนเข้ากระโจม การเข้ากระโจมเป็นการใช้ไอน้ำจากสมุนไพรมาอบตัว เชื่อกันว่าเป็นวิธีสำคัญที่สามารถกำจัดมลทินบนผิวเนื้อต่างๆ ให้หมดไป ช่วยกำจัดน้ำเหลืองที่เสีย และช่วยบำรุงไม่ให้มีฝ้าบนใบหน้า ช่วยบำรุงผิวพรรณให้สดใส สมุนไพรที่นำมาใช้มีอยู่หลายอย่างเช่น เปลือกส้มโอ ใบส้มป่อย ว่านน้ำ ตะไคร้ ผักบุ้งล้อม มะกรูด ใบมะขาม ไพล เป็นต้น ให้นำสมุนไพรมาต้มรวมกันใส่เกลือลงไป 1 หยิบมือ ต้มให้เดือดจนมีไอพุ่ง แล้วต่อท่อไม้ไผ่เข้ากระโจม หรือจะยกหม้อยาเข้าไปในกระโจมแล้วใช้ผ้าคลุมตัวทำเป็นกระโจมก็ได้ ให้ไอออกมารมตัวด้วยการเปิดแย้มฝาหม้อไว้ ระยะนี้ให้สูดหายใจเอาไอน้ำเข้าไปและลืมตาจะทำให้หายใจโล่ง และสารตาดีขึ้น การเข้ารมในกระโจมมักใช้เวลาประมาณครึ่งชั่วโมงหรือนานกว่านี้ก็ได้ เมื่อเหงื่อไหลออกมาท่วมตัวจึงออกจากกระโจมได้ มักจะทำกันในตอนเช้า ลักษณะเช่นนี้เรียกว่า การเข้ากระโจมยา หรือจะใช้อิฐเผาไฟจนแดงแล้วนำเข้าไปในกระโจมแทนหม้อยาก็ได้ แล้วราดบนอิฐด้วนน้ำเกลือให้เกิดไอพุ่งขึ้นมารมตัว เรียกว่า เข้ากระโจมอิฐ และไม่มีกฎเกณฑ์ตายตัวของการเข้ากระโจมว่าจะเป็นในระหว่างการอยู่ไฟหรือเมื่อออกไฟแล้ว บางท้องถิ่นอาจทำทุกวันในขณะอยู่ไฟ ตั้งแต่แม่ลุกเดินได้ไหวจนออกจากการอยู่ไฟ หรือนับจำนวนวันให้ได้เป็นเลขคี่ แต่บางท้องถิ่นหลังจากออกไฟแล้วถึงจะเข้ากระโจม

การเข้ากระโจม คล้ายกับการใช้ไอน้ำอบตัว จะต้องทาตัวด้วยเหล้า การบูร และว่านนางคำก่อนเข้ากระโจม อาจทำท่อไอน้ำด้วยไม้ไผ่ต่อจากหม้อที่ต้มเดือดแล้วสอดเข้าในกระโจม หรือยกหม้อเข้ากระโจมในขณะที่กำลังเดือดแล้วเปิดฝาออกเล็กน้อยให้มีไอพุ่งขึ้นมารมได้ ซึ่งมีสมุนไพรอยู่ 3 กลุ่มที่ใช้นำมาต้มคือ

กลุ่มที่ 1
เป็นสมุนไพรรสเปรี้ยวที่มีกรดอ่อนๆ ช่วยให้สิ่งสกปรกที่ติดอยู่ตามผิวหนังลื่นหลุดออกไปได้ง่าย สามารถออกฤทธิ์ฆ่าเชื้อโรคบางชนิดได้ ทำให้ผิวหนังต้านทานเชื้อโรคได้ดี และทำให้สะอาด สมุนไพรเหล่านี้ เช่น ใบมะขาม ผลมะกรูดผ่าซีก ใบและฝักส้มป่อย เป็นต้น

กลุ่มที่ 2
เป็นสมุนไพรกลิ่นหอม กลุ่มนี้จะมีน้ำมันหอมระเหยอยู่ในตัว ช่วยให้เกิดความสดชื่น กระปรี้กระเปร่า ลดอาการหวัด คัดจมูก สมุนไพรกลุ่มนี้ ได้แก่ ใบตะไคร้ ขมิ้นอ้อย ขมิ้นชัน ไพล ผิวมะกรูด เปราะหอม ว่านน้ำ ใบหนาด เป็นต้น และใบตะไคร้กับเหง้าขมิ้นก็มีสรรพคุณในการฆ่าเชื้อแบคทีเรียและเชื้อราได้ด้วย ส่วนไพลก็สามารถใช้ลดอาการบวมและการอักเสบได้เป็นอย่างดี

กลุ่มที่ 3
สรรพคุณของสมุนไพรกลุ่มนี้จะทำให้รู้สึกสดชื่น ช่วยบำรุงหัวใจ โรคผิวหนังบางชนิดก็สามารถรักษาให้หายได้ สมุนไพรกลุ่มนี้ คือ พิมเสน การบูร

จะเห็นได้ว่าสมุนไพรทั้ง 3 กลุ่มนี้ เมื่อนำมาอบสมุนไพรให้กับหญิงหลังคลอดก็จะให้ประโยชน์ดังนี้

1. ทำให้เลือดมีการไหลเวียนเพิ่มขึ้น การอักเสบ บวม และอาการปวดของกล้ามเนื้อทั่วร่างกายจะลดลง

2. ทำให้มีการขยายของรูขุมขน ทำให้เหงื่อขับสิ่งสกปรกออกมาได้สะดวก และสิ่งสกปรกจะถูกชะล้างให้ลื่นหลุดออกจากผิวหนังได้ง่ายเมื่อนำสมุนไพรที่มีรสเปรี้ยวมาใช้ ทำให้ต้านทานเชื้อโรคที่ผิวหนังได้ดีขึ้น

3. ทำให้ความฝืดแข็ง และการปวดของข้อลดลง

4. ทำให้น้ำหนักลดลงไปได้บ้างจากเหงื่อที่ถูกขับออกมา

5. ทำให้รู้สึกสดชื่น แจ่มใส คลายจากความเครียด และบรรเทาอาการหวัดคัดจมูกได้ จากสมุนไพรที่มีกลิ่นหอม

ข้อห้ามของการเข้ากระโจมหรืออบสมุนไพร
แม้ว่าจะเกิดประโยชน์ขึ้นเมื่อมีการเข้ากระโจมหรืออบสมุนไพร แต่ก็อาจทำให้มีอาการวิงเวียน เป็นลม หมดสติจนเป็นอันตรายได้ ดังนั้นหลังการคลอดจึงมีข้อควรระวังเกี่ยวกับการเข้ากระโจมหรือการอบสมุนไพรดังนี้

1. ไม่ควรเข้ากระโจมหลังจากคลอดได้เพียง 1-2 วัน เพราะร่างกายยังมีความอ่อนแออยู่ ควรเว้นระยะให้ร่างกายแข็งแรงพอเสียก่อนประมาณ 4-5 วัน แล้วจึงเข้ากระโจมได้

2. ไม่ควรเข้ากระโจมหากรู้สึกว่าอ่อนเพลีย อดนอน หิวข้าว หิวน้ำ หรืออิ่มเกินไป

3. ไม่ควรเข้าอบตัวในกระโจมหากมีไข้ ตัวร้อน ปวดศีรษะ เวียนศีรษะ หรือมีอาการคลื่นไส้อาเจียน

4. ผู้ที่เป็นโรคต่อไปนี้ไม่ควรเข้ากระโจม คือผู้ที่เป็นโรคหัวใจ ความดันโลหิตสูง โรคหอบหืด โรคลมชัก และโรคไต

ที่มา:จากหนังสือวิทยาศาสตร์ในการแพทย์แผนไทย
โดย: อาจารย์ศิรินันท์ ตรีมงคลทิพย์
หัวหน้าภาควิชาวิทยาศาสตร์สุขภาพ(การแพทย์แผนไทยประยุกต์)
สถาบันเทคโนโลยีราชมงคล วิทยาเขตปทุมธานี

↑ กลับสู่ส่วนบนของหน้า