สำหรับผู้ใส่ใจในการรักษาสุขภาพ ทั้งสุขภาพกาย และสุขภาพจิต

การสุขาภิบาลอาหาร

การสุขาภิบาลอาหาร (Food Sanitation) คือการป้องกันไม่ให้อาหารเป็นต้นเหตุของความเจ็บป่วยแก่ผู้บริโภค หรืออีกนัยหนึ่งก็คือการทำให้อาหารปลอดภัย และให้ประโยชน์แก่ผู้บริโภคแต่อย่างเดียว ไม่ก่อให้เกิดโทษหรืออันตรายแม้แต่น้อยการสุขาภิบาลอาหาร

ความจำเป็นของการสุขาภิบาลอาหาร ในประเทศไทยการสุขาภิบาลอาหารมีความจำเป็นและสำคัญเป็นพิเศษ เพราะอยู่ในเขตร้อน ดินฟ้าอากาศช่วยส่งเสริมการเจริญเติบโต ของแบคทีเรียและปาราสิต พร้อมกันนั้นการศึกษาของประชาชนทั่วไปก็อยู่ในระดับต่ำ ประกอบกับนิสัยที่ชอบกินจุบกินจิบและกินของดิบๆ สุกๆ ของประชาชน ซึ่งเป็นผลให้มีโรคของทางเดินอาหาร ซึ่งเกิดจากการขาดสุขาภิบาลอาหารอย่างแพร่หลายทั่วประเทศ

หลักสุขาภิบาลอาหาร ประกอบด้วย
1. ความสะอาดและความปลอดภัยของอาหาร
2. อนามัยของผู้ประกอบอาหารและผู้เสิฟอาหาร
3. อนามัยของการประกอบอาหารและการเสิฟอาหาร
4. ความสะอาดและความปลอดภัยของน้ำ
5. การเก็บรักษาอาหาร
6. การล้าง และเก็บภาชนะเครื่องใช้ในการปรุงอาหาร
7. การกำจัดเศษอาหาร น้ำทิ้ง และอื่นๆ
8. การสุขาภิบาลสถานที่ประกอบอาหาร

ความสะอาดปลอดภัยของอาหาร อาหารจะสะอาดและปลอดภัยมากน้อยเพียงใดขึ้นอยู่กับ

(1) แหล่งผลิตอาหาร อาหารที่สะอาดย่อมได้จากแหล่งผลิตที่สะอาดและวิธีการผลิตที่สะอาด เช่นเนื้อสัตว์จากโรงฆ่าสัตว์ที่สะอาด ด้วยวิธีการที่สะอาด และสัตว์เหล่านั้นไม่เป็นโรค หรือผักที่ไม่ได้รดด้วยน้ำโสโครก และล้างจนสะอาดปราศจากสิ่งสกปรกและยาฆ่าแมลงที่ใช้พ่น ผักเหล่านั้น

(2) การขนส่ง อาหารอาจได้รับความสกปรกหรือเชื้อโรคได้ในระหว่างการขนส่ง จากแหล่งผลิตมาสู่ครัวของผู้บริโภค ในขณะที่ขนส่งอาหารควรจะอยู่ในภาชนะที่สะอาด และปกปิดมิดชิดมิให้แมลงวันตอมหรือได้รบฝุ่นละออง เมื่อมาถึงบ้านและก็ต้องเก็บไว้ในที่สะอาดเช่นเดียวกัน

(3) ลักษณะของอาหาร อาหารที่ดีควรอยู่ในลักษณะที่สด เช่น เนื้อมีสีแดงและกลิ่นคาวดีอยู่ ปลาตาใส เหงือกสีแดงสด เกล็ดเรียบเป็นระเบียบ ไม่มีกลิ่นเหม็นเน่า หรือผักที่ยังสดไม่เหี่ยวหรือช้ำ ถ้าเป็นอาหารกระป๋อง กระป๋องต้องไม่บวม ตะเข็บแตก หรือเป็นสนิม

อนามัยของผู้ประกอบอาหารและผู้เสิฟอาหาร

(1) สุขภาพ การที่ผู้ประกอบอาหารหรือผู้เสิฟอาหารมีสุขภาพดี ร่างกายแข็งแรง ไม่เจ็บป่วยก็จะเป็นข้อประกันความปลอดภัยของอาหารได้ข้อหนึ่ง ถ้าผู้ประกอบอาหารหรือผู้เสิฟอาหารเป็นโรคติดต่อ เช่นโรคผิวหนังพวก หิด กลาก เกลื้อน ฯลฯ โรคท้องร่วง หวัด เป็นต้น ก็จะถ่ายทอดเชื้อโรคสู่ผู้บริโภคอาหารได้ ดังนั้นผู้ป่วยดังกล่าว จึงควรงดปรุงและขายอาหารทันที จนกว่าจะรักษาให้หายขาด ที่ถูกแล้วผู้ปรุงและผู้เสิฟอาหารต้องได้รับการตรวจร่างกายเป็นประจำ อย่างน้อยปีละ2 ครั้ง

(2) อาบนํ้าทุกวัน ควรอาบน้ำใช้สบู่ถูตัวอย่างน้อยวันละ 2 ครั้ง คือก่อนจะเริ่มปฏิบัติงานและหลังจากปฏิบัติงานแล้วทุกครั้ง เพื่อให้ร่างกายสะอาดปราศจากโรคติดต่อทางผิวหนังอยู่เสมอ นอกจากนี้การอาบน้ำยังทำให้จิตใจแจ่มใส ร่าเริง กระตุ้นให้โลหิตหมุนเวียนดีขึ้น

(3) ความสะอาดของมือและเล็บ มือเป็นอวัยวะที่จับต้องสิ่งต่างๆ จิปาถะ เช่น หยิบ ยก จับ ถือ หิ้ว เช็ด ถู แกะ เกา การใช้ห้องน้ำห้องส้วม การปิดปากเวลาไอหรือจาม ล้วนแล้วแต่ทำให้มือสกปรกมีเชื้อโรคทั้งนั้น จึงควรล้างฟอกสบู่แล้วเช็ดด้วยกระดาษหรือผ้าสะอาดทุกครั้ง หลังจากจับต้องสิ่งสกปรก หรือออกจากห้องน้ำห้องสวม จึงจะจับต้องอาหาร ถ้ามีบาดแผลที่มือหรือนิ้วต้องรักษาและปิดพลาสเตอร์ให้เรียบร้อย
ส่วนเล็บเป็นที่รวมของสิ่งสกปรกก็ต้องตัดให้สั้นและล้างรักษาให้สะอาดอยู่เสมอ ผู้หญิงนอกจากไม่ควรไว้เล็บยาวแล้วยังไม่ควรทาเล็บด้วยสีฉูดฉาดอีกด้วย เพราะทำให้สังเกตสิ่งสก¬ปรกที่ติดเล็บได้ยาก

ฉะนั้นถึงแม้ผู้ประกอบอาหารและผู้เสิฟอาหารจะมีสุขภาพดี แต่ถ้ามือและเล็บสก-ปรก ก็จะแพร่เชื้อโรคได้ ฉะนั้นผู้ที่จับต้องอาหารต้องตัดเล็บให้สั้นและล้างมือฟอกสบู่ให้สะอาดก่อนจับอาหารทุกครั้ง

(4) เสื้อผ้าเครื่องแต่งกาย ในขณะประกอบอาหารควรใช้เสื้อผ้าสำหรับงานนี้โดยเฉพาะ เพื่อความเรียบร้อยและรักษาให้สะอาดอยู่เสมอ เพื่อไม่ให้เป็นแหล่งแพร่เชื้อโรค เช่น เสื้อ กางเกง กระโปรง ผ้ากันเปื้อน ถุงเท้า รองเท้า และหมวก เป็นต้น เสื้อผ้าที่ใช้ในการนี้ควรมีสีอ่อน เมื่อเปื้อนจะเห็นได้ง่าย และให้ใช้ผ้าที่ทำความสะอาดได้ง่าย ส่วนคนเสิฟก็ควรแต่งให้สะอาดเช่นเดียวกัน รองเท้าที่ใช้ควรเป็นชนิดหุ้มส้น และพื้นยาง

นอกจากนี้ยังควรรักษาพื้นให้สะอาด สระผมให้สะอาดอยู่เสมอ สวมหมวกหรือใช้ตาข่ายคลุมผม สำหรับผู้ชายควรตัดผมสั้นและโกนหนวดให้เกลี้องทุกวัน ส่วนผู้หญิงไม่ควรใช้เครื่องสำอางแต่งหน้ามากเกินควร

อนามัยของการประกอบและเสิฟอาหาร
การประกอบและเสิฟอาหารที่ถูกสุขลักษณะ คือ

(1) ล้างอาหารให้สะอาดก่อนนำมาประกอบอาหาร เช่น ล้างผักสดด้วยน้ำสะอาด จนหมดดินโคลนหรือปุ๋ย แล้วล้างด้วยนํ้ายาสำหรับล้างผัก เช่น Lipon F, Wonderful K จะช่วยกำจัดไข่หนอนพยาธิให้หลุดไปจากผักได้เกือบหมด หรือการแช่ผักในน้ำยาไอโอดีน โดยผสม ไอโอดีน 100 ส่วน ในน้ำล้านส่วน (100 ppm.) และต้องแช่อยู่นาน 10 นาทีเป็นอย่างน้อย จึงจะช่วยทำลายไข่หนอนพยาธิได้

ส่วนการล้างและแช่ผักในด่างทับทิม ซึ่งใช้กันมาเป็นเวลานานนั้น บัดนี้การวิจัยค้นคว้าทางปาราสิตวิทยายืนยันว่าไม่มีผลทำลายไข่พยาธิ ฉะนั้นเพื่อให้ปลอดภัยไว้ก่อน ในฤดูที่มีโรคทางเดินอาหารระบาด เช่น โรคบิด อหิวาต์ ไข้รากสาดน้อย ควรงดกินผักสด

(2) เครื่องมือหรืออุปกรณ์ที่ใช้ในการปรุง เสิฟและรับประทานอาหาร เช่น มีด เขียง จาน ชาม ช้อนส้อม แก้วน้ำ หม้อ กะทะ ตะหลิว ฯลฯ ก่อนนำมาใช้ต้องผ่านการล้างอย่างสะอาด แล้วเก็บรักษาให้สะอาดปลอดภัยจากสิ่งสกปรกทั้งหลาย เช่นไม่วางกับพื้นห้อง บนโต๊ะหรือปะปนกับภาชนะที่สกปรก ไม่นำเข้าห้องน้ำห้องส้วม เพราะอาจมี โรคติดต่อติดมากับภาชนะเหล่านั้นออกมาได้

เขียงต้องแยกใช้สำหรับอาหารสุก และอาหารดิบไม่ปนกัน และป้องกันความสกปรกที่จะเกิดขึ้นในระหว่างปฏิบัติงาน หรือจากแมลงและสัตว์นำโรค

(3) จะต้องป้องกันไม่ให้แมลงวันตอมอาหารในขณะที่ประกอบอาหาร

(4) อาหารที่เป็นเนื้อสัตว์ เช่น เนื้อวัว เนื้อหมู หรือปลา ต้องทำให้สุกจริงๆ เพราะเนื้อสัตว์เหล่านี้อาจมีตัวอ่อนของพยาธิตัวตืด พยาธิใบไม้ในตับ หรือตัวจี๊ด การใช้ความร้อนที่สูงและนานพอเท่านั้นจึงจะฆ่าพยาธิเหล่านี้ให้ตายได้

(5) เศษอาหารต้องใส่ภาชนะมีฝาปิดไม่ให้แมลงวันตอม

(6) ควรใช้เครื่องมือเครื่องใช้ เช่น ช้อนส้อม แทนมือในการคลุก หรือยำ

(7) หากมีการไอหรือจามต้องใช้ผ้าเช็ดหน้าหรือกระดาษปิดปากและจมูก

(8) ต้องไม่พูดคุยหรือสูบบุหรี่ในขณะที่ประกอบหรือจับต้องอาหาร ทั้งนี้เพื่อป้องกันมิให้น้ำลายกระเซ็นลงในอาหาร ขี้เถ้าตกลงในอาหาร หรือน้ำลายจากก้นบุหรี่ถูกมือผู้สูบ เมื่อจับอาหารหรือภาชนะใส่อาหาร ก็จะแพร่กระจายเชื้อโรคไปสู่ผู้รับประทานอาหารได้

(9) อย่าเลียนิ้วมือ แคะจมูก หรือแกะเล็บในขณะประกอบและเสิฟอาหาร

(10) อย่าชิมอาหารจากช้อนที่ใช้ในการปรุงหรือเสิฟอาหาร

(11) ผ้าที่ใช้เช็ดช้อนส้อม ถ้วยชาม จาน ต้องสะอาดอยู่เสมอ และไม่ใช้เช็ดอะไรอื่นเด็ดขาด

(12) อย่าใช้มือหยิบ จับอาหาร หรือใช้มือจับหรือแตะต้องภาชนะลงบนส่วนที่ผู้รับประทานอาหารจะเอาเข้าปาก หรือบริเวณที่รองรับอาหาร การหยิบจับหรือแตะต้องภาชนะเหล่านี้ควรปฏิบัติให้ถูกวิธี ดังต่อไปนี้
-แก้วน้ำ ให้จับกึ่งกลางแก้วลงมา หัวแม่มือกับนิ้วอื่นๆ จับโอบแก้วเอาไว้คนละด้าน แล้วงอนิ้วก้อยรองรับก้นแก้วเอาไว้
-มีด ช้อนส้อม ทัพพี ควรจับทางด้ามเสมอ อย่าจับส่วนที่จะต้องตัก จิ้มหรือ สัมผัสอาหาร
-จาน ชาม ถ้วย อย่าจับปากและภายในภาชนะนั้น ควรใช้ฝ่ามือรองรับ ก้นแล้วใช้หัวแม่มือประคองไม่ให้ตก
-ถ้วยแก้วที่มีหูหิ้วหรือมีด้ามถือ ให้หยิบจับที่หูหรือด้ามนั้นเสมอ

ความสะอาดและความปลอดภัยของน้ำ

(1) น้ำดื่ม เพื่อความปลอดภัยควรต้มแล้วเก็บใส่ภาชนะที่มีฝาปิดมิดชิด และภาชนะนั้นควรมีก๊อกไขน้ำออก เช่น หม้อคูลเล่อร์ หรือกาน้ำก็ได้ ถ้าไม่อาจต้มน้ำดื่มได้ ก็ใช้น้ำประปา น้ำฝน หรือน้ำผสมปูนคลอรีนในอัตราส่วน ปูนคลอรีน 1 ช้อนชา ต่อน้ำ 20 ปี๊บ

(2) นํ้าใช้ ควรเป็นน้ำประปา หรือน้ำบ่อ ซึ่งถ้าขุ่นให้แกว่งสารส้มเสียก่อนแล้วใส่ปูนคลอรีน ตามอัตราส่วนที่กล่าวแล้ว
น้ำที่ใช้ประกอบอาหารนอกจากต้องสะอาดแล้ว ถ้าต้องการกะทิสด ควรคั้นด้วยน้ำสุก

ส่วนน้ำล้างภาชนะนอกจากต้องสะอาดแล้ว ควรใช้น้ำร้อนและสบู่ล้าง จะง่ายและสะอาดที่สุด

(3) น้ำแข็ง ถ้าใช้สำหรับรับประทานจะต้องทำจากน้ำสะอาดเช่นเดียวกับน้ำดื่ม และในการขนส่งต้องบรรจุในภาชนะที่มีข้อความว่า “นาแข็งใช้รับประทาน” เป็นสีน้ำเงินไว้ให้ชัดเจน หากเป็นน้ำแข็งใช้ในกิจการอุตสาหกรรม เช่น แช่ปลา ทำไอสครีมหรืออื่นๆ จะต้องมีอักษรสีแดงระบุไว้บนภาชนะว่า “ห้ามรับประทาน” หรือใส่ถุงพลาสติกหรือปกปิดให้มิดชิด และเก็บในที่สะอาด ไม่ควรวางน้ำแข็งเปล่าไว้บนพื้นดิน ถนน ทางเดิน เมื่อจะใช้ใช้ที่จับที่ตักน้ำแข็ง อย่าใช้มือ แกลบ และขี้เลื่อยที่ใช้ฝังน้ำแข็งควรเป็นของใหม่หรือเปลี่ยนเสมอๆ

การเก็บรักษาอาหาร

(1) อาหารสดที่เสียง่าย เช่น เนื้อ ปลา กุ้ง ปู หอย ควรล้างให้สะอาดแล้วใส่ถุงพลาสติก นำไปเก็บในตู้เย็นที่สะอาด มีอุณหภูมิ 45°F หรือเก็บในตู้น้ำแข็งก็ได้
(2) อาหารที่เตรียมไว้ก่อนปรุง ควรเก็บไว้ในตู้เย็นทันที ไม่ควรเก็บไว้บนพื้น หรือวางใกล้สิ่งสกปรก เช่น หน้าห้องน้ำ ห้องส้วม

(3) ผักและผลไม้สด เมื่อเลือกและล้างสะอาดดีแล้ว ควรเก็บในภาชนะที่สะอาด วางไว้บนโต๊ะที่สูงประมาณ 75 ซม. ที่ไม่มีลมโกรก หรือใส่ถุงพลาสติกเก็บไว้ในตู้เย็นก็จะยิ่งดี

(4) อาหารที่ปรุงเสร็จแล้ว ควรเก็บในที่มิดชิด เช่น ในภาชนะที่มีฝาปิด มีฝาชีครอบ เก็บในตู้ลวดตาข่าย หรือตู้กระจกที่สะอาด เพื่อป้องกันฝุ่นละอองและแมลงวันตอม

(5) อาหารที่ปรุงเสร็จใหม่ ควรรีบกินทันที ไม่ควรเก็บไว้นาน ถ้าต้องการเก็บก็ควรตั้งไฟให้เดือดก่อน ถ้าเป็นชนิดที่อุ่นไม่ได้ ต้องหาวิธีเก็บไม่ให้บูดเสีย เช่นเก็บในตู้เย็น หรือปรุงแต่พอกินมื้อหนึ่งๆ อย่าให้เหลือ

การล้างและเก็บภาชนะเครื่องใช้ในการปรุงอาหาร
ก. การล้าง
1. อุปกรณ์ในการล้าง มี
(1) อ่างสำหรับใส่น้ำล้างภาชนะ 3 ใบ
(2) ถังใส่เศษอาหาร
(3) โต๊ะสำหรับวางภาชนะที่จะนำมาล้าง
(4) ที่คว่ำจาน ถ้วย ชาม ช้อนส้อม แก้วน้ำ ตะเกียบ ฯลฯ
(5) ผงซักฟอกหรือสบู่
(6) น้ำร้อน ผงคลอรีนหรือน้ำยาคลอรีน (CLOROX)
(7) ฟองน้ำหรือเศษผ้าที่สะอาด

2. วิธีล้าง
ก่อนลงมือล้าง ด้วยแยกภาชนะออกเป็นพวกๆ โดยเฉพาะแก้วน้ำและถ้วยของหวานไม่ควรล้างปนกับภาชนะใส่ของคาว ถ้าจำเป็นต้องล้างรวมกัน ต้องล้างภาชนะพวกแก้วน้ำและถ้วยของหวานก่อน

(1) ล้างด้วยมือ (Hand Washing)
การล้างดำเนินเป็นขั้นๆ ดังนี้

ขั้นที่ 1 กวาดเศษอาหารใส่ถังขยะที่เตรียมไว้ให้หมด แล้วล้างน้ำเปล่า ซึ่งถังขยะควรแยกเป็น 2 ถัง คือ ถังใส่เศษอาหาร อีกถังหนึ่งใส่ขยะแห้ง เช่น กระดาษ ใบตอง ถุงพลาสติก ฯลฯ

ขั้นที่ 2 เอาลงล้างในอ่างใบที่ 1 ซึ่งมีน้ำผสมสบู่หรือผงซักฟอกโดยใช้ฟองน้ำถู น้ำที่ใช้ถ้าเป็นน้ำร้อน 110°-120° F ยิ่งดี สิ่งสกปรกแล คราบไขมันออกเกลี้ยง

ขั้นที่ 3 เอาลงล้างในอ่างใบที่ 2 ซึ่งมีน้ำธรรมดาที่สะอาด ถ้าเป็นน้ำอุ่นได้ยิ่งดี (Rinsing)

ขั้นที่ 4 เอาลงแช่ในอ่างใบที่ 3 ซึ่งมีน้ำร้อนจัด (170° F) หรือน้ำผสมน้ำยาคลอรีน 100 ppm. นาน 2 นาที หรือจะเอาไปต้มให้เดือด (212° F) 1 นาที ก็ได้เพื่อฆ่าเชื้อโรค (Sanitizing)

เมื่อล้างเสร็จแล้ว ห้ามใช้ผ้าเช็ดเด็ดขาด ให้นำไปผึ่งแดดให้แห้ง

(2) ล้างด้วยเครื่อง (Machine Washing) เป็นวิธีที่ถูกอนามัยกว่าการล้างด้วยมือ แต่ขณะนี้ยังไม่แพร่หลายในประเทศไทย แต่ในโรงพยาบาลบางแห่งมีใช้แล้ว การล้างที่ถูกอนามัย ก็เพราะใช้น้ำร้อน มีไอน้ำร้อนอบฆ่าเชื้อโรคด้วย เครื่องล้างประกอบด้วยอ่างล้าง 3 ตอน (Three Compartment Sink) ดังแผนผัง

เอาเศษอาหารออกหรือเรียก Prewashing

1. Wash Vat  110º-120 º F+ผงซักฟอก

2. Rinse Vat น้ำประปา

3. Sanitzed Vat น้ำร้อน 170 ºF 2 นาที
น้ำร้อน 212 ºF 1 นาที
น้ำคลอรีน 100 ส่วนในน้ำล้านส่วน 2 นาที

ทำให้แห้งเรียก Drying

การทดลองความสะอาดของภาชนะ
ถ้าเป็นถ้วยแก้ว หยดโซดาลงไป ถ้าไม่มีฟองแปลว่าสะอาด ถ้ามีฟองแสดงว่าไม่สะอาด สำหรับจาน หยดแอมโมเนียลงไป ถ้าสะอาดจะไม่มีรอยแอมโมเนียติด หรือจุ่มน้ำถ้าไม่ติดน้ำทั่วแปลว่าจานสะอาด

ข.การเก็บ ภาชนะเครื่องใช้เมื่อล้างและตากแดดแห้งแล้วควรเก็บในตู้ที่สะอาด มิดชิด หนูและแมลงสาบเข้าไม่ได้ โดยแยกเก็บดังนี้

(1) จาน ถ้วย และชามที่ล้างแล้ว ควรวางในที่คว่ำจานเป็นช่องๆ ปล่อยให้แห้งเอง หรือผึ่งแดดจนแห้ง แล้วเก็บคว่ำในตะกร้าเอาไปไว้ในตู้หรือบนหิ้งที่สะอาดและอยู่สูงจากพื้นพอควร

(2) แก้วน้ำ หรือถ้วยน้ำชา ให้ควํ่าในตะแกรงที่ยกสูงจากโต๊ะพอควร เมื่อแห้งแล้วนำโปเก็บในตู้หรือบนหิ้งที่สะอาดและสูงจากพื้นพอควร

(3) ช้อส้อมมีดและตะเกียบ ใส่ตะกร้าผึ่งลมหรือแดดจนแห้งแล้วเอาไปเก็บในกล่อง หรือที่เก็บโดยเอาด้ามขึ้นบนเสมอ

(4) หม้อ กะทะ และเครื่องใช้อื่นๆ เมื่อแห้งแล้วควรเก็บไว้ในตู้ที่สะอาดสามารถป้องกันสัตว์นำโรคได้ หรือแขวนไว้ให้เป็นระเบียบในบริเวณฝาที่สะอาด ใกล้เตา และอยู่สูงจากพื้นพอควร เพื่อความสะดวกในการหยิบใช้ ของที่ใช้ประจำควรวางไว้ในที่ที่หยิบได้สะดวกที่สุด

การกำจัดเศาอาหาร น้ำทิ้ง และอื่นๆ
ก. เศษอาหาร

(1) ถังเก็บเศษอาหารและขยะมูลฝอยต้องมีฝาปิดมิดชิด แล้วนำไปทิ้งและทำความสะอาดเป็นประจำทุกวัน และถังนั้นควรตั้งให้สูงจากพื้นประมาณ 1 ฟุต

(2) เศษอาหารควรเผาหรือขุดหลุมฝังให้มิดชิด อย่าทิ้งไว้เป็นแหล่งเพาะแมลงวันหรือหนูได้

(3) ไม่ควรใช้เศษอาหารดิบ เช่น เศษเนื้อดิบให้สัตว์เลี้ยงกิน เพราะอาหารดิบเหล่านั้นอาจมีเชื้อพยาธิทำให้เกิดโรคติดต่อไปถึงสัตว์เลี้ยงได้ ถ้าจะให้กินควรทำให้สุกเสียก่อน

ข. น้ำทิ้ง
(1) ขุดบ่อซึมสำหรับน้ำทิ้ง
(2) ไม่ควรทิ้งเศษอาหารลงในร่องหรือรางระบายน้ำ เพราะจะทำให้อุดตันและมีกลิ่นเหม็นได้ ควรหมั่นตรวจตราดูแลซ่อมแซมให้รางระบายน้ำาอยู่ในสภาพดีเสมอ ด้วยการใช้น้ำฉีดล้างทำความสะอาดทุกวัน
(3) อย่าปล่อยให้น้ำขังเฉอะแฉะที่พื้นบริเวณครัว

ค. วัตถุที่ไม่ต้องการอื่นๆ เช่น ใบตอง เศษกระดาษ ถุงพลาสติก กระป๋อง ควรใส่แยกต่างหากจากถังใส่เศษอาหาร แล้วกำจัดด้วยวิธีที่เหมาะสมไม่ให้เกิดอันตรายในภายหลัง เช่น ขวดแตก กระป๋องไม่ควรโยนทิ้งไว้ตามข้างรั้ว หรือทิ้งลงคู คลอง บ่อ เพราะอาจเป็นอันตรายแก่คนอื่นได้ นอกจากนั้นภาชนะบางอย่างอาจจะขังน้ำไว้ เป็นแหล่งเพาะยุง แมลงวัน ฯลฯ ได้อีก

การสุขาภิบาลสถานที่ประกอบอาหาร เพื่อสุขภาพที่ดีและลดอุบัติเหตุของผู้ทำงาน และอยู่ในสถานที่นี้

(1) พื้น ควรสร้างให้มีผิวหน้าเรียบ ไม่ขรุขระ เป็นหลุมเป็นร่อง อยู่ในสภาพดี ทำความสะอาดได้ง่าย และต้องขัดถูทุกวัน โดยเฉพาะบริเวณหน้าเตาไฟให้ใช้น้ำร้อนและสบู่ล้างน้ำมันที่กระเด็นเกาะติดอยู่ทุกวัน พื้นห้องควรให้แห้งสนิทไม่เปียกแฉะ

(2) ฝาผนังและเพดาน ควรสร้างด้วยวัตถุเรียบทำความสะอาดง่าย ถ้าทาสีควรเป็นสีอ่อน ดูสะอาดตา

(3) ประตูหน้าต่าง รวมทั้งช่องระบายอากาศควรมีให้เพียงพอและควรบุด้วยตาข่าย เพื่อป้องกันแมลงและสัตว์นำโรค

(4) การระบายอากาศ ควรใช้พัดลมระบายอากาศเสียออกและดูดอากาศดีเข้าแทน สำหรับห้องปรุงอาหารควรแยกอยู่ต่างหากจากห้องรับประทานอาหารและมีปล่องระบายควันด้วย

(5) แสงสว่าง ในห้องเตรียมอาหาร ห้องครัวและที่ล้างภาชนะต้องมีแสงสว่างอย่างน้อย 20 แรงเทียน

(6) ห้องน้ำห้องส้วม ควรอยู่แยกเป็นอาคารต่างหากจากครัว แต่ควรอยู่ใกล้ครัว ห้องสวมจะต้องสะอาดไม่มีกลิ่น แสงสว่างเพียงพอ การระบายอากาศดี มีกระดาษชำระและน้ำอยู่เสมอ และต้องมีจำนวนที่พอกับจำนวนคน คือ
1ที่ ต่อ 1-9 คน
2ที่ ต่อ 10-24 คน
3ที่ ต่อ 25-49 คน
4ที่ ต่อ 50-75 คน
5ที่ ต่อ 75-100 คน

ตั้งแต่ 100 คนขึ้นไปให้เพิ่ม 1 ที่ต่อคนที่เพิ่มขึ้น 30 คน

หน้าห้องส้วมควรมีอ่างล้างมือเพียงพอ ทั้งต้องมีสบู่ กระดาษเช็ดมือ ถังขยะ และมีน้ำสะอาดใช้ตลอดเวลา เพื่อให้ผู้ที่เข้าส้วมล้างมือฟอกสบู่ทุกครั้ง และห้องน้ำห้องส้วมจะต้องทำความสะอาดเป็นอย่างดีเป็นประจำอย่าให้มีกลิ่นเหม็น

ฉะนั้น หากได้จัดการสุขาภิบาลอาหารถูกต้องตามหลักดังกล่าวแล้วอาหารที่นำมาบริโภค จะสะอาดปลอดภัย เป็นการแก้ปัญหาโรคติดต่อซึ่งเนื่องจากอาหารเป็นพาหะได้อย่างดียิ่ง

ข้อแนะนำในการรับประทานอาหาร
1. รับประทานอาหารที่สุกและสะอาด อาหารเนื้อสัตว์ควรปรุงให้สุก เพื่อฆ่าพยาธิ และเชื้อโรคต่างๆ เช่น เชื้อโรคบิด อหิวาตกโรค ไข้รากสาดน้อย ฯลฯ สำหรับผักสด ผลไม้สด ควรล้างให้สะอาด และแช่น้ำด่างทับทิมสีแดงเข้มอย่างน้อย 1 ชั่วโมง
2. อาหารทุกชนิดควรใส่ภาชนะที่สะอาดและปกปิดไม่ให้แมลงวันตอม
3. อาหารบางอย่างมีพิษตามธรรมชาติ เช่น แมงดาทะเล หอย เห็ด หรือพืชบางชนิด ฉะนั้นควรระมัดระวังก่อนรับประทาน
4. เมื่อจะรับประทานอาหารกระป๋อง ควรถ่ายอาหารออกจากกระป๋องใส่ภาชนะอื่น เพื่ออุ่นเสียก่อน อย่าอุ่นทั้งกระป๋องเพราะความร้อนอาจทำให้โลหะจากกระป๋อง เช่น ตะกั่ว ดีบุก สังกะสี ฯลฯ ละลายปนกับอาหารและเป็นพิษต่อร่างกายได้

ที่มา:ค้วน  ขาวหนู
วท.บ.(สุขศึกษา).ค.ม.

↑ กลับสู่ส่วนบนของหน้า