สำหรับผู้ใส่ใจในการรักษาสุขภาพ ทั้งสุขภาพกาย และสุขภาพจิต

การสะตุยา

ในเภสัชกรรมแผนไทย เภสัชวัตถุบางชนิดที่มาจากพืช สัตว์ หรือแร่ธาตุ อาจมีความเป็นพิษอยู่ค่อนข้างสูง เช่น สลอด ยางสลัดได ชะมดเช็ด สารหนู น้ำประสานทอง หรือปรอท เป็นต้น จึงต้องผ่านขั้นตอนเพื่อลดความเป็นพิษหรือแปรสภาพเสียก่อนที่จะนำมาเตรียมเป็นยา เช่น การสะตุ การประสะ หรือการฆ่าฤทธิ์

การสะตุ
เป็นการใช้ความร้อนหรือไฟ ทำให้ตัวยามีฤทธิ์อ่อนลง เช่น ยาดำ หรือรงทอง ทำให้พิษของตัวยาน้อยลง เช่น หัวงูเห่า หรือทำให้ตัวยาสะอาดขึ้น เช่น มหาหิงคุ์ หรือทำให้ตัวยาปราศจากเชื้อโรค เช่น ดินสอพอง หรือทำให้ตัวยาสลายตัวลง เช่น เกลือสมุทร

แต่การใช้ความร้อนสะตุตัวยาในบางกรณี จะทำให้ฤทธิ์ของตัวยาเพิ่มขึ้นไม่ได้ทำให้ลดลง เช่น สารส้มที่สะตุแล้วจะสูญเสียน้ำไปทำให้มีปริมาณของสารส้มมากกว่าเดิม

วิธีการสะตุตัวยาบางอย่าง
1. การสะตุยาดำ มาจากยางสีเหลืองของใบว่านหางจระเข้ที่แข็งกลายเป็นก้อนสีดำ จะมีสารกลุ่มแอนทราควิโนน(anthraquinone) อยู่หลายชนิด แต่ที่สำคัญคือ อะโลอิน(aloin) และบาร์บาโลอิน(barbaloin) ออกฤทธิ์เป็นยาถ่ายอย่างแรง

วิธีการสะตุยาดำ โดยนำภาชนะที่ทนไฟหรือหม้อดินมาใส่ยาดำ แล้วเติมน้ำลงไปเล็กน้อย ตั้งไฟให้ยาดำนั้นกรอบ แล้วจึงนำไปปรุงยา ความร้อนจะทำให้สารแอนทราควิโนนบางส่วนระเหิดไป จึงทำให้ยาดำมีฤทธิ์อ่อนลงได้

2. การสะตุรงทอง ยางต้นรงทองจะมีรสเอียนเบื่อ มีฤทธิ์ลดความดันโลหิต เป็นยาถ่ายอย่างแรง

วิธีการสะตุรงทอง ทำโดยบดรงทองให้ละเอียด แล้วใช้ใบบัวหรือใบข่าห่อ 7 ชั้น นำไปปิ้งจนสุกกรอบ แล้วค่อยนำไปปรุงยา

ยาแผนโบราณในปัจจุบัน อย. ไม่อนุญาตให้ใช้รงทอง ยกเว้นยาที่ผลิตขึ้นสำหรับรับประทานในมื้อหนึ่ง โดยมีรงทองไม่เกิน 60 มิลลิกรัม

สารสำคัญในรงทอง ได้แก่ แอลฟา-กัตติเฟอรีน และบีตา-กัตติเฟอรีน จะสลายไปเมื่อถูกความร้อน จึงทำให้ฤทธิ์ของรงทองอ่อนลงได้

3. การสะตุมหาหิงคุ์ มาจากรากและลำต้นของพืชในสกุล Ferula (วงศ์ Umbelliferae) หลายชนิด เช่น Ferula assafoetida Regel หรือ F. sinkiangensis K.M. Shen ซึ่งจะมีชันน้ำมันอยู่ พืชเหล่านี้มีถิ่นกำเนิดในตะวันออกกลาง และทางภาคตะวันตกของจีน ลักษณะของมหาหิงคุ์จะเป็นก้อนสีเหลืองแดงและเหนียว มียางสีขาวอยู่เป็นแห่งๆ รสเผ็ดร้อน มีกลิ่นเหม็นเบื่อทนนาน ในสมัยโบราณใช้แก้อาการท้องผูก แก้ลม ปวดท้อง ท้องขึ้น ใช้ทาท้องเด็กแก้ท้องขึ้น อืด เฟ้อ โดยผสมกับแอลกอฮอล์

การสะตุมหาหิงคุ์ทำได้โดย ต้มใบกะเพราแดงกับน้ำจนเดือด แล้วเอาน้ำที่ต้มไปละลายกับมหาหิงคุ์ในภาชนะ แล้วกรองให้สะอาดอีกครั้งก่อนนำไปใช้

เมื่อมหาหิงคุ์ได้รับความร้อนจากการสะตุ ก็จะมีการระเหยทำให้ตัวยาสะอาดและมีฤทธิ์อ่อนลง

4. การสะตุสารส้ม สารส้มที่ใช้ทางยามีอยู่ 2 ชนิดคือ
-โพแตช อลัม(potash alum) หรือเรียกกันทางเคมีว่า โพแทสเซียม อะลูมิเนียมซัลเฟตที่มีน้ำในโมเลกุล(potassium aluminium sulfate, K2SO4.Al(SO4)3.24H2O)

-แอมโมเนียม อลัม(ammonium alum) หรือเรียกกันทางเคมีว่า แอมโมเนียม อะลูมิเนียมซัลเฟต (ammonium aluminium sulfate, (NH4)2SO4.Al(SO4)3.24H2O)

ลักษณะของสารส้มจะเป็นผลึกสีขาวขุ่น มีรสฝาดเปรี้ยว มีสรรพคุณทั้งภายนอกและภายใน ใช้แก้ระดูขาว หนองใน หนองเรื้อรัง ขับปัสสาวะ เป็นยาขับฟอกล้างโลหิตระดู แก้รำมะนาดเหงือกบวม ทำให้ฟันแข็งแรง แก้แผลในปากและคอ ใช้สมานแผลห้ามเลือดแผลเล็กๆ

วิธีการสะตุสารส้ม ทำได้โดยบดสารส้มให้ละเอียด นำมาใส่ในหม้อดิน ยกขึ้นตั้งไฟจนฟูขาว จะทำให้สารส้มสะอาดขึ้น เพราะเสียน้ำไปจากที่ผลึกเสียรูป แล้วจึงนำมาใช้เป็นยาได้

5. การสะตุดินสอพอง มีสีขุ่นขาว ร่วน ละเอียด เป็นแคลเซียม คาร์บอเนตที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ พบได้มากที่จังหวัดลพบุรี แพทย์แผนโบราณนิยมนำมาเผาไฟแล้วนำมาผสมกับพิมเสนบด ใช้โรยแผลกามโรคและแผลเรื้อรังทุกชนิด ใช้เป็นยาดูดน้ำเหลืองได้ดี หรือใช้ทาตัวเด็กทำให้ผิวหนังเย็น แก้พิษ แก้เม็ดผดผื่นคัน ใช้ห้ามเหงื่อ

วิธีการสะตุดินสอพอง ทำได้โดยใส่ดินสอพองในหม้อดิน ปิดฝา ยกตั้งไฟนานพอสมควร เพื่อทำให้สุกปราศจากเชื้อโรค แล้วจึงนำมาใช้ได้

6. การสะตุน้ำประสานทอง เป็นเกลือโซเดียมบอเรต(sodium borate) ที่อยู่ในรูปของเกลือแคลเซียมบอเรต(calcium borate) พบได้ตามธรรมชาติ เมื่อนำไปต้มกับโซเดียมคาร์บอเนต(sodium carbonate) จะได้เป็นน้ำประสานทอง อาจเป็นผลึกใส หรือเป็นผงสีขาว รสหวาน ไม่มีกลิ่น ถ้ามีน้ำจะอยู่ในรูปโมเลกุลเป็น Na2B4O7.10H2O หรือที่เรียกว่า บอแรกซ์ ลักษณะจะเป็นผลึก ผงผลึก เป็นเม็ด จะหลอมตัวเมื่อมีความร้อน 75 องศาเซลเซียสอย่างรวดเร็ว น้ำประสานทองจะไม่มีน้ำอยู่ในโมเลกุลถ้าเผาในอุณหภูมิ 350 องศาเซลเซียส เรียกว่า น้ำประสานทองสะตุ หรือ fused sodium borate หรือ borax glass หรือ fused borax ลักษณะจะเป็นผงหรือแผ่นคล้ายกระจก เมื่อถูกอากาศจะขุ่นขาว มีฤทธิ์เป็นด่าง ละลายน้ำได้น้อย น้ำประสานทองสะตุตามตำราสรรพคุณยาโบราณว่ามีรสปร่า ชา ใช้แก้ละอองซาง ใช้ลอกลิ้นเด็ก กัดเมือกยอดในปาก กัดเม็ดฝี ส่วนน้ำประสานทองจีนที่มีรสเค็ม จะมีสรรพคุณ แก้ริดสีดวงจมูก ขับเสมหะ แก้ลมจุกเสียด และน้ำประสานทองเทศจะมีรสเย็น ใช้ขับเสมหะ แก้ไอ แก้ริดสีดวงจมูก ริดสีดวงในลำคอ แก้ไข้ผอมเหลือง แก้ริดสีดวงทวาร แก้หืด แก้อาการฟกบวม แก้ลมอัณฑพฤกษ์ น้ำประสานทองทำให้เกิดพิษได้ง่าย ปัจจุบันจึงใช้ในทางยาน้อยลง ซึ่งอาจทำให้เด็กอาเจียน ท้องร่วง ช็อก และตายได้ แม้ได้รับเข้าไปเพียง 5-10 กรัม

วิธีการสะตุน้ำประสานทอง ทำโดยนำใส่หม้อดินตั้งไฟจนฟูขาว แล้วยกลงนำไปปรุงยาได้

ในปัจจุบันน้ำประสานทอง อย. จะไม่อนุญาตให้ใช้ในยาแผนโบราณ ยกเว้นยาที่ผลิตขึ้นสำหรับรับประทานในมื้อหนึ่ง โดยมีน้ำประสานทองไม่เกิน 25 มิลลิกรัม

7. การสะตุเกลือ เกลือแกงหรือโซเดียมคลอไรด์(sodium chloride) ที่ได้จากทะเล เรียกว่า เกลือสมุทร ส่วนที่ได้จากใต้ดินเรียกว่า เกลือสินเธาว์ ซึ่งจะไม่มีไอโอดีนอยู่เหมือนเกลือสมุทร มีสรรพคุณในการบำรุงธาตุทั้งสี่ แก้น้ำดีพิการ แก้โรคท้องมาน

วิธีการสะตุเกลือทำได้โดย คั่วเกลือสมุทรหรือเกลือสินเธาว์ด้วยอุณหภูมิที่สูง ให้น้ำและความชื้นระเหยไปจนหมด จนผลึกของโซเดียมคลอไรด์เสียรูป ทำให้เกลือสะอาดขึ้น หรือคั่วเกลือกับน้ำนมวัวในกระทะจนแห้ง เพื่อเป็นการเพิ่มแคลเซี่ยมในเกลือสะตุนั้น

8. การสะตุเหล็ก ตำรายาโบราณจะใช้สนิมเหล็กทำยา เพื่อบำรุงโลหิต แก้โรคตับโต ตับทรุด ม้ามโต ม้ามแลบตามชายโครง แก้คุดทะราด

วิธีการสะตุเหล็ก ทำได้โดยเอาเหล็กมาตะไบจนได้ผงเหล็ก นำมาใส่หม้อดิน ใส่น้ำมะนาวลงไปจนท่วมผงเหล็ก ยกตั้งไฟจนแห้ง ทำประมาณ 3-8 ครั้งจนผงเหล็กกรอบดีแล้ว จึงนำมาทำยาได้

9. การสะตุเปลือกหอย เปลือกหอย 9 ชนิด ได้แก่ หอยสังข์ หอยแครง หอยจุ๊บแจง หอยขม หอยตาวัว หอยพิมพการัง หอยมุก หอยนางรม และหอยกาบ เป็นองค์ประกอบในพิกัดหอย หรือพิกัดนวหอย หรือพิกัดเนาวหอย บางตำราจะใช้หอยมือเสือแทนหอยกาบ เมื่อเผาเปลือกหอยทั้งเก้าจนสุกดีก็จะได้ปูนหอย มีสรรพคุณลดกรดในกระเพาะอาหาร แก้ลำไส้และไตพิการ ขับลมในลำไส้ ขับปัสสาวะ แก้จุกเสียดแน่นท้อง ทำให้เรอและผายลม เป็นยาบำรุงกระดูก

วิธีการสะตุเปลือกหอย ทำได้โดยใส่เปลือกหอยในหม้อดิน ตั้งไฟจนสุกป่นละเอียด ยกตั้งไว้ให้เย็น แล้วจึงนำมาใช้ได้

สารประกอบสำคัญในเปลือกหอยจะเป็นพวกหินปูน แคลเซียมคาร์บอเนต หรือทั้งสองอย่างรวมกัน หรืออาจเป็นพวกแคลเซียมฟอสเฟต ซิลิกา อะลูมินา และออกไซด์ของเหล็กอาจมีปนอยู่ด้วยบ้าง แต่ส่วนใหญ่จะพบแคลเซียมคาร์บอเนตเป็นสารประกอบ

เมื่อเผาแคลเซียมคาร์บอเนตจะมีการเปลี่ยนแปลงไปเป็น แคลเซียมออกไซด์และคาร์บอนไดออกไซด์ ได้แคลเซียมออกไซด์ที่เป็นของแข็ง เมื่อบดจะได้ผงสีขาว ที่เรียกว่า ปูนขาว หรือปูนหอย จะได้เป็นน้ำปูนใส หรือแคลเซียมไฮดรอกไซด์เมื่อนำมาผสมกับน้ำ เพื่อจะใช้เป็นน้ำกระสายยา

เมื่อผ่านกระบวนการให้ความร้อน เปลือกหอยเกือบทุกชนิดจะเกิดการเปลี่ยนแปลงไปเป็นปูนขาวทั้งสิ้น ซึ่งมีสรรพคุณในการลดกรดในกระเพาะอาหาร แก้อาการท้องอืดเฟ้อ

ในสมัยโบราณจะใช้เปลือกหอยผสมกับผงขมิ้นชันทำเป็นปูนขาว ซึ่งมีสารสีเหลืองกลุ่มเคอร์คูมินอยด์(curcuminoids) เป็นสารสำคัญ จะได้เป็นปูนแดงหรือแคลเซียมเคอร์คูมิเนตเมื่อผสมน้ำลงไป ใช้กินกับหมากพลู แก้อาการอักเสบได้ด้วย

10. การสะตุหัวงูเห่า หัวงูทับทาง อวัยวะของสัตว์มีพิษ สุมไฟหัวงูเห่าให้เป็นถ่าน จะมีรสเย็น ใช้แก้ซางชักในเด็ก ใช้ลดความร้อน

วิธีการสะตุหัวงูเห่า ทำได้โดยใส่ของที่จะสะตุในหม้อดิน ปิดฝาให้สนิท ผสมน้ำในดินสอพองพอข้นใช้ยาปากหม้อดิน ใช้ไฟแกลบสุมไว้ตลอดคืน แล้วนำมาใช้ปรุงยา การสะตุด้วยความร้อนจะทำให้พิษของตัวยาลดลง และสารอันตรายในสัตว์พิษนั้นจะสลายไปด้วย

11. การสะตุหัวนกแร้ง หัวนกกา หนังสัตว์ กระดูกสัตว์ กีบสัตว์ ไส้เดือน หรืออวัยวะของสัตว์ที่ไม่มีพิษต่างๆ

วิธีการสะตุ ทำได้โดยใส่ของที่จะสะตุในหม้อดิน ปิดฝาให้สนิท ตั้งไฟให้กรอบ แล้วยกลงมาปรุงยาได้ การสะตุด้วยความร้อนจะทำให้ตัวยาสะอาดขึ้น

ที่มา:จากหนังสือวิทยาศาสตร์ในการแพทย์แผนไทย
โดยอาจารย์ ดร.อัญชลี จูฑะพุทธิ
หัวหน้างานวิจัย กลุ่มงานพัฒนาวิชาการแพทย์แผนไทยและสมุนไพร สถาบันการแพทย์แผนไทย กรมพัฒนาการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก

↑ กลับสู่ส่วนบนของหน้า