สำหรับผู้ใส่ใจในการรักษาสุขภาพ ทั้งสุขภาพกาย และสุขภาพจิต

การบอกรับและปฏิเสธผู้ป่วย

หลังจากการสัมภาษณ์ หรือตรวจวินิจฉัยโรคแล้ว ผู้รักษาก็จะทราบทั้งการวินิจฉัยโรคทางคลีนิคและทราบ Dynamics ของผู้ป่วย พร้อมทั้งประเมินสถานการณ์ว่า ควรจะรักษาแบบไหน ถ้าผู้รักษาเห็นว่า ผู้ป่วยไม่เหมาะสมที่จะทำจิตบำบัด ก็จะปฏิเสธทันที และแนะนำให้ผู้ป่วย รับการรักษาโดยวิธีอื่น เช่น การใช้ยา เป็นต้น ถ้าผู้ป่วยมี Ego’s Functions ยังไม่เสียมาก ก็อาจรับไว้รักษาในระยะสั้นๆ คือ Supportive Psychotherapy

สำหรับผู้ป่วยบางราย ที่เหมาะสมสำหรับการทำจิตบำบัดชั้นสูงนั้น ผู้รักษาก็จะวางแผนการรักษาในระยะยาว ซึ่งอาจจะใช้เวลาหลายเดือน หรือหลายปีก็ได้

การรับผู้ป่วยเข้ารับการรักษานั้น ไม่ค่อยมีปัญหามาก เมื่อผู้รักษาตัดสินใจรับผู้ป่วยแล้ว ผู้รักษาก็จะอธิบายวิธีการรักษา รวมทั้งบอกหน้าที่และความรับผิดชอบของทั้งผู้ป่วยเอง และผู้รักษาด้วย ตัวอย่างเช่น ผู้ป่วยต้องมาตรงตามเวลานัดหมาย ผู้รักษาจะใช้เวลาในการรักษาประมาน 45-50 นาที ต่อครั้ง ถ้าผู้ป่วยมาช้า ผู้รักษาจะไม่ต่อเวลาให้ (ยกเว้นกรณีฉุกเฉิน แต่เรื่องนี้ไม่ต้องบอกให้ผู้ป่วยทราบ เพราะว่า ผู้ป่วยหลายคน มักจะอ้างกรณีฉุกเฉินอยู่บ่อยๆ ทั้งๆ ที่ไม่ใช่เหตุการณ์เช่นนั้นเลย)

ผู้รักษาต้องอธิบายให้ผู้ป่วยทราบว่า การตรงต่อเวลาเป็นสิ่งที่จำเป็น เพราะว่าผู้รักษาไม่ได้รักษาผู้ป่วยเพียงคนเดียว และยังต้องรักษาผู้อื่น หรือมีงานอย่างอื่นที่จะต้องทำอีก ถ้าผู้ป่วยเป็นคนเข้าใจเหตุผลตามสมควร ก็จะรับเงื่อนไขนี้โดยไม่ยาก

ถ้าผู้ป่วยมาไม่ได้ ต้องแจ้งให้ผู้รักษาทราบล่วงหน้า ยกเว้นเหตุสุดวิสัยจริงๆ ถ้าผู้ป่วยไม่มาโดยไม่แจ้งให้ทราบล่วงหน้า และไม่ใช่เหตุสุดวิสัย ผู้ป่วยจะต้องชำระค่ารักษาในชั่วโมงที่ขาดไปด้วย สำหรับผู้รักษาเอง ถ้าติดธุระ หรือมีกิจจำเป็นที่จะต้องงดหรือบอกเลื่อนการรักษา ก็ต้องแจ้งให้คนไข้ทราบล่วงหน้าเหมือนกัน ยกเว้นในกรณีที่สุดวิสัยจริงๆ

สำหรับเรื่องอัตราค่ารักษานี้ เป็นปัญหาไม่ใช่น้อย เมื่อผู้เขียนกลับจากประเทศสหรัฐอเมริกาใหม่ๆ ผู้เขียนได้ตั้งอัตราการรักษาตายตัว หมายความว่า ผู้ป่วยจะยากจนหรือมีเงิน ก็ต้องเสียค่ารักษาในอัตราเท่าเทียมกัน เพราะว่าในขณะนั้น ผู้เขียนยึดปรัชญาของจิตแพทย์อเมริกันมากเกินไป ที่สหรัฐอเมริกานั้น เขามีปรัชญาว่า สมมติว่าเราต้องซื้อของอย่างหนึ่ง ไม่ว่าเราจะเป็นคนมีเงิน หรือคนจนก็ตาม ก็จะต้องซื้อในราคาเดียวกันทั้งสิ้น

เมื่อผู้เขียนมีประสบการณ์ในบ้านเรามากขึ้น จึงมีความคิดขึ้นมาว่า ถ้าจะเก็บค่ารักษาตามแบบประเทศที่เจริญแล้ว ไม่น่าจะเป็นสิ่งที่ถูกต้อง เพราะว่า ในประเทศสหรัฐอเมริกา นั้น ประชาชนส่วนมาก ราว 85% เป็นชนชั้นกลาง ที่เหลือเป็นคนจนและพวกเศรษฐี เพราะฉะนั้น ประชาชนส่วนมากจึงสามารถชำระค่ารักษาได้ โดยไม่เดือดร้อนจนเกินไปนัก

ในประเทศไทย มีคนจนมากมาย อาจจะถึง 80% ของประชากรทั้งหมด ส่วนคนมีเงินและชนชั้นกลางมีน้อย ผู้เขียนจึงเปลี่ยนความคิดเห็นเดิม คือ ถ้าผู้ป่วยมีเงินมาก อัตราค่ารักษาก็จะสูง ถ้าผู้ป่วยมีเงินน้อย ก็คิดค่ารักษาน้อยลง เป็นสัดส่วนกันไป การที่ผู้เขียนกระทำเช่นนี้ จะถูกหรือผิดผู้เขียนขอให้คณะจิตแพทย์ของประเทศไทยเรา เป็นผู้แสดงความ คิดเห็น หรือให้เหตุผลต่างๆ โดยผู้เขียนพร้อมที่จะรับฟัง

หลักสำคัญอีกประการหนึ่งก็คือ ผู้รักษาหรือนักจิตบำบัด จะต้องไม่สัญญากับผู้ป่วยว่าจะหายแน่นอน ถ้าหากนักจิตบำบัดมีความซื่อสัตย์และยุติธรรมแล้ว ย่อมจะเข้าใจเรื่องนี้ดีว่า เราไม่สามารถรู้ล่วงหน้าได้เลยว่า ผู้ป่วยจะหายหรือไม่ การทำจิตบำบัดชั้นสูงนั้น มีหลักการอยู่ว่า “นักจิตบำบัดยังไม่ทราบแน่ว่า ผู้ป่วยจะหายหรือไม่” แต่นักจิตบำบัดคาดคะเนว่า น่าจะรักษาได้ และคุ้มค่าเวลาและเงินทองของคนไข้ ที่จะต้องเสียไปในการรักษา

ตัวอย่าง
ผู้ป่วยเป็นศิลปินหนุ่ม มาพบจิตแพทย์ด้วยอาการไม่สามารถทำงานได้ เมื่อจิตแพทย์ได้ตรวจวินิจฉัยโรคพร้อมทั้งทราบ Dynamics ของคนไข้พอสมควรแล้ว ผู้รักษามีความเห็นว่า น่าจะรักษาผู้ป่วยได้

ผู้ป่วยพูดว่า “เท่าที่คุณหมอศึกษาเรื่องของผมแล้ว คุณหมอคิดว่าจะช่วยผมได้ไหม?”

ผู้รักษาตอบด้วยท่าทีคาดคะเน แต่มั่นใจว่า “เรื่องนี้พูดยาก ผมเสนอว่า ควรจะทดลองรักษาดูระยะหนึ่งก่อน จึงจะบอกคุณได้”

ผู้ป่วยถามด้วยความกระวนกระวายใจว่า “แต่คุณหมอคิดว่า มีทางหายใช่ไหม?”

ผู้รักษาตอบทันทีว่า “แน่นอน ผมเชื่อว่ามีทาง เรามีความเห็นตรงกันว่า ปัญหาของคุณเป็นเรื่องทางจิตใจ คุณก็ต้องการการรักษา ผมก็สนใจที่จะช่วยคุณ เรามาเริ่มพูดกันถึงปัญหาของคุณได้แล้ว คุณเริ่มสนใจวาดภาพตั้งแต่เมื่อไหร่?”

จำนวนชั่วโมงการรักษาจะบ่อยขนาดไหน ขึ้นอยู่กับสภาวะของคนไข้ และชนิดของการรักษา ในการรักษาโดยวิธีจิตบำบัดชั้นสูงนั้น มักจะใช้เวลาประมาณ 1-3 ครั้งต่อสัปดาห์ แต่จากประสบการณ์ของผู้เขียนเอง พบว่าสัปดาห์ละ 1 ครั้งนี้ เหมาะที่สุดสำหรับบ้านเรา ยกเว้นกรณีที่คนไข้อยู่ในสภาวะวิกฤต หรือมีความจำเป็นเร่งด่วนเท่านั้น ที่อาจจะ พบคนไข้สัปดาห์ละ 2 หรือ 3 ครั้ง ส่วนการทำจิตบำบัดชั้นต้น และชั้นกลางนั้น ในระยะแรกๆ อาจจะต้องใช้เวลามากสักหน่อย เมื่อคนไข้ดีขึ้นแล้ว อาจจะพบเพียง 1 ครั้ง ต่อ 2 สัปดาห์ หรือเดือนละครั้งก็ได้ และในบางราย อาจจะต้องการพบเพียงปีละ 2 ครั้งก็พอ

สำหรับระยะเวลาทั้งหมดของการรักษานั้น ค่าเฉลี่ยในการทำจิตบำบัดชั้นสูงชนิดนี้ คือ ประมาณ 1-2 ปี บางรายอาจจะใช้เวลาน้อยกว่า 1 ปี และบางรายก็อาจใช้เวลานานกว่า 2 ปี นอกจากนี้ คนไข้ที่นิยมเรียกกันว่า Borderline Case นั้น อาจจะต้องใช้เวลานานมาก ถึง 7 ปี หรือกว่านั้น และในบางรายก็อาจจะต้องใช้เวลาตลอดชีวิตเลยก็มี

ปัญหาสำคัญในตอนนี้ คือ ถ้าคนไข้ถามว่า จะต้องใช้เวลานานเท่าใด ผู้รักษา ควรจะทำอย่างไร คำตอบก็คือ ต้องตอบตามความเป็นจริง

ตัวอย่าง
ผู้ป่วยเป็นชายหนุ่ม มีอาการติดอ่างมาตั้งแต่อายุได้ 5 ขวบ ผู้ป่วยพยายามช่วยตัวเอง โดยเข้าโรงเรียนที่มีโปรแกรมสำหรับผู้ติดอ่างหลายแห่ง รวมทั้งได้รับการรักษากับ Speech Therapist มาแล้วหลายคน แต่ไม่ได้ผล ในที่สุดผู้ป่วยก็มาพบจิตแพทย์ ผู้ป่วยเป็นคนฉลาด มีไหวพริบดี และเป็นคนที่มีมานะอุตสาหะมาก ผู้ป่วยต้องการแก้ไขปัญหาของตนเองอย่างใจร้อน เมื่อผู้รักษาได้พิจารณาข้อมูลต่างๆ โดยสมบูรณ์แล้ว มีความเห็นว่า จะต้องใช้เวลารักษานานมาก

ผู้ป่วยถามขึ้นว่า “จะต้องใช้เวลานานเท่าไหร่ ผมจึงจะหาย?”

ผู้รักษาตอบว่า “บอกยากครับ เราจะต้องทดลองรักษาดูก่อน แต่คุณก็ทราบว่า คุณเป็นมาตั้งแต่อายุ 5 ขวบ เพราะฉะนั้น จึงต้องใช้เวลานานแน่ๆ อาจจะหลายปีก็ได้ แต่คุณอย่าเพิ่งท้อใจ เพราะว่าปัญหาของคุณไม่อาจแก้ไขได้ในระยะเวลาอันสั้น”

ถ้านักจิตบำบัดมีระยะเวลาทำงานสั้น เช่น เป็นแพทย์ประจำบ้าน ต้องเปลี่ยนสถานที่ศึกษาทุก 6 เดือน หรือ 1 ปี หรือเป็นผู้ที่เข้ารับการฝึกอบรมในระยะเวลาสั้น นักจิตบำบัดเหล่านี้ จะต้องบอกให้คนไข้ทราบล่วงหน้าด้วยว่า จะสามารถรักษาผู้ป่วยได้นานเท่าใด การบอกผู้ป่วยให้ทราบเรื่องนี้ เพียงไม่กี่วันก่อนที่จะจากกัน เป็นการโหดร้ายทารุณ ต่อผู้ป่วยเป็นอย่างยิ่ง เพราะว่าเมื่อผู้ป่วยมีความสัมพันธ์ที่ดีกับผู้รักษาแล้ว การบอกคนไข้ให้ทราบเพียงไม่กี่วันนั้น เป็นความผิดพลาดที่ให้อภัยกันไม่ได้ เพราะการกระทำเช่นนี้ เท่ากับว่า ผู้ป่วยได้สูญเสียของรัก และของมีค่าอย่างกะทันหัน จะทำให้ผู้ป่วยตกอยู่ในสภาวะวิกฤต และยังเป็นการสร้าง “ปัญหา” สำหรับนักจิตบำบัดที่จะมารับช่วงต่อไปด้วย เพราะว่าผู้ป่วยมีความรู้สึกว่า เมื่อตนถูกทอดทิ้งทันที ก็เป็นการยากที่จะเชื่อถือนักจิตบำบัดคนต่อๆ ไปว่า จะไม่กระทำแบบเดียวกันอีก

การตอบปฏิเสธการรักษา
การตอบปฏิเสธผู้ป่วย เนื่องจากผู้รักษาเห็นว่า ไม่เหมาะสมสำหรับการรักษา โดยวิธีจิตบำบัดชั้นสูงนั้นมีหลายวิธี

วิธีแรก คือ ผู้รักษาจะเข้าข้างกับ Conscious Resistance ของผู้ป่วย

ตัวอย่างที่ 1
ผู้ป่วยเป็นชายหนุ่ม ท่าทางเครียด แต่มีลักษณะท่าทางเป็นผู้หญิง ผู้ป่วยมาพบจิตแพทย์ เนื่องจากไปตรวจร่างกายกับแพทย์ฝ่ายกายแล้ว ไม่พบสิ่งผิดปกติ ผู้ป่วยนั่งเงียบ และมีท่าทีคอยให้ผู้รักษาถาม

ผู้รักษาจึงถามว่า “คุณมาพบผม เพราะมีปัญหาอะไร?”
ผู้ป่วยแสดงความหงุดหงิดชัดเจน แล้วตอบว่า “ผมก็ไม่ทราบ แต่คุณหมอ (หมายถึงแพทย์ฝ่ายกายคนที่ตรวจผู้ป่วยมาแล้ว) บอกว่า ผมควรจะมาพบคุณหมอ”

ผู้รักษาทำท่าแปลกใจ และถามว่า “พบผมเพื่ออะไร?”
ผู้ป่วยตอบว่า “ผมเองก็ไม่ทราบ คุณหมอต้องถามเขาเอง”
ผู้รักษาจึงพูดว่า “แล้วคุณไปหาเขาทำไม?”
ผู้ป่วยเล่าว่า ได้ไปสมัครงานที่ภัตตาคารแห่งหนึ่ง ซึ่งจำเป็นต้องใช้ใบรับรองแพทย์ ผู้ป่วยจึงไปพบแพทย์ฝ่ายกาย ในขณะที่แพทย์คนนั้นตรวจผู้ป่วย (และคงสังเกตว่า ผู้ป่วยมีท่าทางเป็นผู้หญิง) จึงถามว่า ผู้ป่วยเป็น Homosexual หรือไม่ ผู้ป่วยยอมรับว่า เป็น แพทย์ผู้นั้นจึงแนะนำให้ผู้ป่วยมาพบจิตแพทย์ ผู้ป่วยจำเป็นต้องปฏิบัติตาม เพราะกลัวว่าจะไม่ได้ใบรับรองแพทย์

ผู้รักษาจึงพูดขึ้นว่า “ถ้าหมอคนนั้นไม่สั่งให้คุณมาพบผม คุณก็คงไม่มาใช่ไหม?”

ผู้ป่วยตอบว่า “ใช่ครับ ผมไม่เห็นจำเป็นต้องพบจิตแพทย์เพื่ออะไร ผมก็พอใจในสิ่งที่ผมเป็นอยู่ ไม่เห็นว่ามันจะผิดตรงไหน”

ผู้รักษาจึงพูดว่า “ผมก็ไม่เห็นมีความจำเป็นที่คุณต้องมาพบผม คุณก็มีความพอใจในสภาพที่คุณเป็นอยู่ ผมขอแนะนำว่า เมื่อใดที่คุณมีปัญหา หรือไม่สบายใจ ก็ค่อยติดต่อผมใหม่ขณะนี้ไม่มีปัญหาก็ไม่ต้องทำอะไร”

ผู้ป่วยยิ้ม และมีสีหน้าแสดงความสบายใจขึ้นมาก และพูดว่า “ขอบคุณครับ ถ้าผมมีปัญหาก็จะติดต่อคุณหมอใหม่”

ผู้รักษาลุกขึ้นจากเก้าอี้ และพูดว่า “ขอบคุณ และขอให้โชคดี”

ข้อสังเกต
จะเห็นได้ว่า ผู้ป่วยรายนี้ไม่ต้องการการรักษากับจิตแพทย์ ผู้ป่วยพอใจในวิถีชีวิตของตนเอง คือ เป็นแบบ Ego-Syntonic ที่ต้องมาพบกับจิตแพทย์ก็เพราะกลัวว่าจะไม่ได้ใบรับรองแพทย์ สำหรับสมัครเข้าทำงาน เมื่อผู้ป่วยไม่มี Motivation เช่นนี้ ถึงรักษาไปก็ไม่ได้ผล ผู้รักษาจึงต้องเขาข้าง Resistance ของผู้ป่วย

ตัวอย่างที่ 2
ผู้ป่วยเป็นหญิง มีความสนใจในเรื่องศาสนาและปรัชญาชีวิตมาก และได้พยายาม ศึกษามาหลายปี โดยตั้งวัตถุประสงค์ว่า ชีวิตของคนเรา คือ อะไรกันแน่ ในระยะหลังๆ นี้ ผู้ป่วยอ่านตำราทางจิตเวช และหวังว่าอาจค้นพบสิ่งที่ตนต้องการ นอกจากนี้ เพื่อนๆ ของผู้ป่วยมักจะพูดว่า ผู้ป่วยเป็นคน “ประสาท” ควรจะพบจิตแพทย์

เมื่อผู้รักษาได้ฟังเรื่องราวทั้งหมดแล้ว จึงพูดว่า “คุณเห็นด้วยกับเพื่อนของคุณไหม?”

ผู้ป่วยมีท่าทีไม่พอใจ และตอบว่า ‘‘เปล่าเลย ดิฉันไม่เคยคิดว่าจะเป็นคน “ประสาท” มากไปกว่าคนอื่นๆ เพื่อนดิฉันเสียอีกควรจะพบจิตแพทย์ ดิฉันมาที่นี่เพราะต้องการเรียนรู้วิชาจิตเวช เพื่อนำไปเปรียบเทียบกับสิ่งที่ดิฉันได้เคยศึกษามา”

ผู้รักษาจึงพูดขึ้นว่า “ผมไม่ได้มีหน้าที่สอนคนทั่วไป ให้รู้จักวิชาจิตเวชศาสตร์ งานของผมก็คือ รักษาผู้ป่วยที่มีปัญหาทางจิตใจ และรู้สึกว่าคุณคงไม่ต้องการการรักษา”

ผู้ป่วยตอบว่า “ดิฉันไม่ต้องการการรักษา ดิฉันไม่เห็นจะมีปัญหาอะไรเลย ดิฉันต้องการจะศึกษา เพื่อเทียบเปรียบกับปรัชญาอื่นๆ ที่ดิฉันทราบมา การทำจิตบำบัดมีปรัชญาอย่างไร?”

ผู้รักษาจึงพูดอย่างตรงไปตรงมาว่า “ผมไม่อาจช่วยคุณได้ในเรื่องนี้ คุณต้องไปศึกษาตามสถาบันต่างๆ ที่เขามีการสอนในเรื่องนี้ และอ่านหนังสือเอาเองบ้าง”

ผู้ป่วยถามว่า “แล้วดิฉันควรจะไปที่ไหน?”
ผู้รักษาแนะนำว่า “ลองไปหาซื้อหนังสือตามร้านขายหนังสือวิชาการ และลองติดต่อกับหน่วยงานสุขภาพจิตที่ใกล้บ้านคุณ”

ข้อสังเกต
ผู้ป่วยรายนี้ ไม่ต้องการทำจิตบำบัด แต่ต้องการมาเรียนรู้ และมี Resistance อย่างเปิดเผย

จะเห็นได้ว่า ในทั้ง 2 กรณีที่กล่าวมานี้ นักจิตบำบัดหัดใหม่จะต้องระมัดระวังให้ดี ห้ามชักจูงหรือบังคับให้ผู้ป่วยเข้ารับการรักษา นักจิตบำบัดหัดใหม่บางคน อาจจะชี้ หรือ “ขู่” ให้คนไข้เห็นว่าเขาเจ็บป่วยมากมายเพียงใด การชักจูง และการขู่ผู้ป่วยให้รับการรักษา เป็นความผิดพลาดอย่างเดียวกันกับ การสัญญาว่าถ้ารักษาแล้วจะหายจากโรค (ผู้เขียน หมายถึงการรักษาโดยวิธีจิตบำบัดชั้นสูง)

การที่จะใช้กำลังบังคับให้ผู้ป่วยรับการรักษานั้น ทำได้เฉพาะใน 3 กรณี เท่านั้น คือ Homicide, Suicide และ Acute Psychosis แต่ถึงกระนั้นก็ตาม ผู้ป่วยใน 3 กรณีที่กล่าวมานี้ ก็ไม่ใช้การรักษาโดยวิธีจิตบำบัดชั้นสูง แต่ใช้การรักษาทางยา หรืออย่างอื่นแทน

ในทางกลับกัน มีผู้ป่วยจำนวนไม่น้อย ที่เต็มใจรับการรักษา แต่ผู้รักษาไม่สามารถช่วยเหลือได้ คนไข้เหล่านี้น่าสงสาร และน่าเห็นใจ กว่าพวกที่ปฏิเสธการรักษามาก

ตัวอย่าง
ผู้ป่วยเป็นชายวัย 55 ปี มีอาการ Impotence มาตั้งแต่อายุ 15 ปี ขณะนี้ผู้ป่วย กำลังคิดจะแต่งงานกับหญิงสาวคนหนึ่ง ซึ่งบังคับให้ผู้ป่วยรักษาอาการ Impotence ให้หายเสียก่อน จึงจะยอมแต่งงานด้วย ผู้ป่วยเป็นคนฉลาด มีความสำเร็จในชีวิตการงานดีเลิศ พยายามทำทุกอย่าง เพื่อให้หญิงสาวคนนั้นเห็นว่าจะต้องเป็นสามีที่ดี

ผู้ป่วยมี Sexual Intercourse ครั้งแรกเมื่ออายุ 15 ปี แต่ล้มเหลว หลังจากนั้น ผู้ป่วยพยายามลองอีกหลายครั้ง แต่ก็ล้มเหลวทั้งหมด ในที่สุดผู้ป่วยก็ยอมรับสภาพของตนเอง และพยายามชดเชยโดยเอาดีทางการงาน และประสบความสำเร็จด้วยดี ผู้รักษายังไม่ทราบแน่ชัดว่า ทำไมผู้ป่วยจึงจะตัดสินใจแต่งงานเมื่ออายุได้ ๕๕ ปี ผู้ป่วยมีบุคลิกภาพแบบ Obsessive- Compulsive เอาจริงเอาจังกับการทำงาน

เมื่อผู้รักษารวบรวมข้อมูลต่างๆ แล้ว เห็นว่าหมดหวังที่จะรักษาอาการที่เป็นมานานถึง 40 ปี ประกอบกับผู้ป่วยมีความสำเร็จด้านการงาน ซึ่งเป็นการชดเชยปมด้อยของตนเอง ผู้รักษาจึงไม่อยากแก้ไข Defense ของผู้ป่วย เพราะจะทำให้บุคลิกภาพสั่นคลอน และอาจเป็นอันตรายมากกว่าเป็นผลดี

ผู้รักษาจึงพูดว่า “ผมรู้สึกว่าคงจะช่วยคุณไม่ได้ เพราะคุณเป็นมานานถึง 40 ปี นานเกินกว่าที่จะแก้ไขได้”

ผู้ป่วยแสดงท่าทางไม่พอใจ และพูดว่า “ผมเข้าใจที่คุณหมอพูด แต่ผมต้องการจะแต่งงาน แฟนผมไม่ยอมแต่งด้วย ถ้าผมรักษาไม่หาย”

ผู้รักษาจึงกล่าวเป็นเชิงถามว่า “คุณอยู่เป็นโสดมาตั้งนานแล้ว ทำไมจึงคิดจะแต่งงานตอนนี้?”

ผู้ป่วยเล่าว่า พบเพื่อนหญิงคนนี้เมื่อ 2 เดือนก่อน เพื่อนๆ ของผู้ป่วยบอกกับผู้ป่วยว่า “โง่” ที่คิดจะแต่งงานกับหญิงวัยคราวลูกหลาน เพราะผู้หญิงคงต้องการเงินมากกว่าที่จะรักผู้ป่วยอย่างจริงจัง ผู้ป่วยไม่ยอมเชื่อ และต้องการลบคำสบประมาท จึงตัดสินใจจะแต่งงานกับผู้หญิงคนนี้ให้จงได้ แต่ผู้ป่วยไม่ยอมตอบคำถามของผู้รักษาที่ว่า ทำไมจึงคิดแต่งงานเมื่อมีอายุมากแล้ว

ผู้รักษาจึงพูดขึ้นว่า “ผมเสียใจจริงๆ ที่ไม่สามารถช่วยคุณในเรื่องนี้ได้ แต่ถ้าจะให้ช่วยเหลือในเรื่องที่ว่า ทำไมถึงอยากแต่งงานกับผู้หญิงคนนี้ละก้อ เป็นเรื่องที่พอจะทำได้แต่คุณไม่ต้องการ

ผู้ป่วยจึงพูดว่า “ผมไม่ต้องการแก้ไขปัญหาอย่างที่คุณหมอพูด เมื่อคุณหมอช่วยผมในเรื่องเพศไม่ได้ผมก็เห็นจะต้องใช้วิธีอื่น”

ผู้รักษาจึงกล่าวว่า “เชิญตามสบายครับ และผมก็รู้สึกเสียใจจริง ๆ ที่ช่วยคุณไม่ได้”

ตัวอย่างที่ 2
ผู้ป่วยเป็นหญิงอายุมากแล้ว ทุกครั้งที่โกรธกับสามี จะต้องมีอาการของ Acute Anxiety Attack เช่น วิตกกังวล หวาดกลัว ร้องกรี๊ดกร๊าด หายใจไม่ออก ใจเต้นใจสั่น และกลัวว่าจะต้องตายด้วยโรคหัวใจ อาการเหล่านี้เป็นมากว่า 20 ปีแล้ว

ถ้าผู้ป่วยได้รับยากล่อมประสาท และการเอาอกเอาใจจากสามีแล้ว อาการทุกอย่างจะดีขึ้น ผู้ป่วยเองกล่าวหาสามีว่า เป็นตัวการทำให้ป่วย สามีเองก็มีความรู้สึกสำนึกผิด จึงพยายามเอาอกเอาใจหรือซื้อของกำนัลต่างๆ มาให้ ผู้ป่วยได้รับการรักษาจากแพทย์ผู้ชำนาญโรคหัวใจตลอดมา แต่ผู้ป่วยรู้ตัวดีว่า ตนไม่ได้เป็นโรคหัวใจ สาเหตุที่แท้จริงมาจากจิตใจ พี่สาวของผู้ป่วยได้แนะนำให้ผู้ป่วยรับการรักษาจากจิตแพทย์ เมื่อจิตแพทย์ได้ศึกษาผู้ป่วยอย่างละเอียด มีความเห็นว่า ผู้ป่วยไม่เหมาะสำหรับการทำจิตบำบัดชั้นสูง เนื่องจากเป็นมานานกว่า 20 ปี และมี “ผลพลอยได้” (Secondary Gain) มากมาย บุคลิกภาพเป็นแบบ Infantile และผู้ป่วยไม่ใช่เป็น Psychological Minded

ผู้รักษาจึงพูดขึ้น โดยแสดงท่าทีสงสัยและไม่แน่ใจว่า
“ผมไม่แน่ใจว่า การทำจิตบำบัดจะช่วยคุณได้”

ผู้ป่วยโต้แย้งว่า “ปัญหาของดิฉัน ไม่ใช่เรื่องทางจิตใจหรือ?”
ผู้รักษาแสดงท่าทางเห็นด้วย แล้วกล่าวว่า “ใช่แน่ๆ แต่ว่าการทำจิตบำบัดจะช่วยคุณได้หรือไม่นั้น ผมไม่แน่ใจ”

ผู้ป่วยแย้งอีกว่า “ทำไมถึงช่วยไม่ได้?”

ผู้รักษายิ้ม และพูดด้วยความจริงใจว่า “ปัญหาของคุณ มันมีเรื่องซับซ้อนหลายอย่าง เช่น คุณป่วยมานานกว่า 20 ปีแล้ว การแก้ไขนั้นยากมาก ผมคิดว่า ถ้าใช้เวลารักษาเป็นปีๆ ก็ไม่แน่ใจว่าจะช่วยคุณได้”

ผู้ป่วยแสดงความหัวเสียมาก และพูดว่า “แล้วจะให้ดิฉันทำอย่างไร ดิฉันไม่อาจปล่อยให้เป็นเช่นนี้ตลอดไป”

ผู้รักษาแสดงท่าทีให้กำลังใจ แล้วพูดว่า “ผมคิดว่า คุณยังสามารถเอาชนะอาการดังกล่าวได้ เมื่ออาการกำเริบ คุณก็กินยา อาการก็จะหายไปเอง ผมอยากจะแนะนำว่า คุณกับสามี ต้องหาทางพูดจากันใหม่ ถ้าคุณคิดว่าจะต้องทะเลาะกันแน่ๆ ซึ่งจะทำให้คุณไม่สบาย ก็ลองออกจากบ้านไปเสียชั่วคราว เมื่ออารมณ์เย็นลงแล้ว จึงค่อยกลับบ้าน”

ข้อสังเกต
การที่ผู้รักษาแนะนำเช่นนี้ ไม่ได้หมายความว่า จะรักษาอาการป่วยของคนไข้ได้ แต่เป็นการให้กำลังใจ และความหวังว่า ผู้ป่วยยังสามารถช่วยตัวเองได้ แนะนำให้หลีกเลี่ยงการทะเลาะวิวาท อันเป็นสาเหตุสำคัญอย่างหนึ่งของการป่วย ผู้รักษาจะต้องไม่ลืมว่า ตนเองนั้นไม่ใช่ “พระเจ้า” ยังมีโรคจิตเวชอีกเป็นจำนวนมาก ที่จิตบำบัดชั้นสูงไม่อาจช่วยเหลือผู้ป่วยได้

ตัวอย่างที่ 3
ผู้ป่วยเป็นหญิงสาว มีอาการซึมเศร้า และไม่สนใจสิ่งแวดล้อม รวมทั้งมีอาการระแวงผสมอยู่ด้วย ผู้ป่วยมีอาการดังกล่าว เนื่องจากเพื่อนร่วมห้องที่สนิทกันมาก ย้ายออกไปแต่งงาน ผู้ป่วยรู้สึกว้าเหว่อาลัยอาวรณ์ และคิดถึงความหลังที่เคยมีความสุขด้วยกันมา ผู้ป่วยซึมเศร้ามาก แต่ยังไม่คิดฆ่าตัวตาย ผู้ป่วยเป็นคนค่อนข้างโง่ และมี Underline Psychosis อยู่ด้วย ซึ่งทำให้ผู้รักษาคิดว่า ไม่เหมาะสมในการทำจิตบำบัดชั้นสูง

ผู้รักษาทราบจากประวัติของผู้ป่วยว่า ผู้ป่วยมีพี่สาวคนหนึ่ง ซึ่งรักใคร่สนิทสนมกันมาก ผู้รักษาจึงหาทางช่วยผู้ป่วย โดยแนะนำให้เปลี่ยนบรรยากาศเสียชั่วคราว และหาทางชดเชย Mother-Child Relationship โดยให้ไปพึ่งพี่สาวแทนเพื่อนที่จากไป

ผู้รักษาจึงพูดขึ้นว่า ‘‘ทางที่ดีที่สุดสำหรับคุณขณะนี้ก็คือ ต้องออกไปจากที่อยู่ชั่วคราว คุณบอกว่า คุณมีพี่สาวอยู่ต่างจังหวัดไม่ใช่หรือ?”

ผู้ป่วยตอบว่า “ใช่ค่ะ”

ผู้รักษาจึงแนะนำว่า “ถ้าเช่นนั้น คุณควรไปพักผ่อนกับพี่สาวเสียชั่วคราว จนกว่าคุณจะสบายใจขึ้น”

ผู้ป่วยจึงว่า “หนูเคยคิดถึงเรื่องนี้เหมือนกัน แต่ไม่ค่อยแน่ใจ ความจริงพี่ของหนูเคยชวนให้ไปพักร้อนที่นั่น แต่หนูยังไม่เคยไป”

ผู้รักษาจึงสนับสนุนว่า “ถ้าเป็นผม ผมต้องไปแน่ เพราะจะทำให้คุณลืมปัญหาได้ เมื่อเปลี่ยนบรรยากาศใหม่สักพักหนึ่ง คุณจะต้องเข้มแข็งขึ้น”

ข้อสังเกต
การตอบปฏิเสธผู้ป่วยนั้น ผู้รักษาจะต้องหาทางออกให้ผู้ป่วยด้วย เช่น เปลี่ยนบรรยากาศ ให้การรักษาทางยาแทน และให้คำแนะนำต่างๆ สำหรับเรื่องคำแนะนำนี้ ถ้าเป็นเรื่องสำคัญ เช่น การหย่าร้าง การตั้งครรภ์ การแต่งงาน การเปลี่ยนอาชีพ ฯลฯ ผู้รักษาจะต้องรักษาผู้ป่วยอย่างละเอียดเสียก่อน จึงจะให้คำแนะนำเช่นนี้ได้

ที่มา:ปราโมทย์  เชาวศิลป์

↑ กลับสู่ส่วนบนของหน้า