สำหรับผู้ใส่ใจในการรักษาสุขภาพ ทั้งสุขภาพกาย และสุขภาพจิต

การฝึกฝนตนเอง (Self-Culture)

การที่คนเราจะก้าวไปสู่ฐานะอันสูงส่งนั้น จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีคุณสมบัติข้อนี้ คือ “ความฝึกฝนตนเอง” คนที่เรียนมาเป็นเวลานานถึง 10-20 ปี เมื่อเรียนจบแล้ว ละเลยไม่ฝึกฝนความรู้อีกเลย เขาก็จะลืมหลักวิชาการของเขาในไม่ช้า ความรู้ทั้งหลายก็จะคืนครูหมด แต่ในบางรายที่ไม่เคยเข้ามหาวิทยาลัย หากแต่เป็นคนหมั่นฝึกฝนความรู้ ความสามารถด้วยตนเอง ก็จะกลายเป็นคนเก่งได้

แม้พระสัมมาสัมพุทธเจ้าก็ทรงใช้ความฝึกฝนตนเอง หลังจากที่พระพุทธองค์เรียนเรื่องสมาธิ การเข้าฌาน จากพระฤาษีอาฬารดาบสและอุทกดาบสแล้ว เห็นว่ามิใช่ทางดับทุกข์โดยสิ้นเชิง พระองค์ก็ทรง ค้นคว้าด้วยพระองค์เอง จนบรรลุโมกขธรรมหรือพบอริยสัจสี่ เป็นทาง พ้นทุกข์สิ้นเชิง และเป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า – พระผู้ตรัสรู้ด้วยพระองค์เองโดยชอบ

ความฝึกฝนตนเองเป็นเรื่องสำคัญยิ่ง เราจะพบว่า มนุษย์เรานี้สามารถแสดงการมหัศจรรย์ต่างๆ ได้ เพราะการได้ฝึกฝนด้วยตนเองมาแล้วด้วยดี อาทิเช่น นักแสดงกายกรรม หรือนักจิตศาสตร์ ผู้ฝึกจิต ดูจิตย่อมมีความมหัศจรรย์และอาจแสดงปาฏิหาริย์ใหุประจักษ์แก่ตาบุคคลอื่นๆ ได้ เฉกเช่นเดียวกันกับบุคคลสำคัญทั้งหลาย ที่ก้าวขึ้นสู่ตำแหน่งสูง หรือฐานะสูง โดยอาศัยการฝึกฝนตนเองอย่างไม่ละวาง ย่อมกลายเป็น นักปราชญ์ นักการปกครอง นักรบ นักวิทยาศาสตร์ นักเศรษฐศาสตร์ นักการเงินการคลัง ผู้มีชื่อเสียง ฯลฯ ได้

การเรียนรู้จากครูเป็นเรื่องสำคัญยิ่ง เพราะครูเป็นดุจเครื่องผ่อนแรงในการค้นหาวิชาความรู้ ครูถ่ายทอดความรู้ให้แก่เราได้มาก แต่เราก็ไม่อาจละเลยการฝึกฝนตนเองเพิ่มเติม เราจำเป็นต้องอ่าน ต้องเขียน เพิ่มเติมจากที่ครูสอน จำเป็นต้องทำการบ้าน ทำรายงาน ทำแบบฝึกหัด แม้แต่การทำวิทยานิพนธ์ เหล่านี้ล้วนเป็นกระบวนการที่ให้ฝึกฝนตนเองเพิ่มเติมจากที่ครูอาจารย์ป้อนให้เรา คนใดเกียจคร้าน หรือท้อถอยในการฝึกฝนตนเอง คอยแต่จะรับความรู้จากครูเท่านั้น ไม่อาจที่จะสำเร็จการศึกษาได้ด้วยดีเลย

ในการฝึกฝนปฏิบัติธรรม ทางพระพุทธศาสนาก็เช่นเดียวกัน ครูอาจารย์ที่บอกพระกัมมัฏฐาน ให้แก่ผู้ฝึกเป็นเพียงผู้ชี้ทางเดินเท่านั้น แต่การฝึกฝนตนเองต่างหากที่จะทำให้เป็นผู้บรรลุถึงธรรมอันประเสริฐ ผู้ที่ไม่ปฏิบัติ ไม่มีทางรู้แจ้งธรรมะได้เลย

การฝึกฝนตนเอง มีวิธีการดังต่อไปนี้

1. ฝึกให้มีความเคยชินหรือเชี่ยวชาญในเรื่องต่างๆ เช่น การใช้เครื่องมือหรืออุปกรณ์ในการทำงานหรือประกอบวิชาชีพ

2. ฝึกฝนตนเองให้เพิ่มพูนความรู้ หรือประสบการณมากขึ้นเรื่อยๆ อาทิเช่น อ่านหนังสือมากๆ ค้นคว้าบ่อยๆ ทดลอง และแสวงหาข้อเท็จจริงในเรื่องต่างๆ อยู่เสมอๆ

3. ฝึกสมรรถภาพทางกายและใจให้เป็นผู้ที่ทนต่องาน ทำให้สามารถทำงานที่ยากๆ ได้ โดยไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อย และสามารถทำงานให้บรรลุผลสำเร็จได้ทุกชิ้น

4. ฝึกฝนความรู้ตามที่ครูอาจารย์สอนหรือแนะนำ เช่น ทำการบ้าน การค้นคว้าวิจัย การวิเคราะห์ การสังเคราะห์ การรู้จักสรุปเหตุผล ฯลฯ

5. ฝึกฝนในการพูดจา ให้สามารถพูดได้อย่างดี และสามารถชักจูงคนอื่นให้เห็นคล้อยตามที่ตนเองชี้แจง ฝึกปฏิภาณในการพูด ฝึกพูดในที่ชุมนุมชน

6. ฝึกฝนความคิดหรือมันสมอง ให้มีความสามารถหรือประ สิทธิภาพในด้านต่างๆ เช่น มีความสังเกตดี มีความจำดี มีความละเอียดละออ มีความวินิจฉัยที่ถูกต้อง ฯลฯ

7. ฝึกกำลังใจให้มีความสามารถ ต่อสู้ต้านทานกับอุปสรรคของชีวิต ไม่ดีใจเมื่อได้ลาภ ยศ สุข สรรเสริญ ไม่เสียใจเมื่อเสื่อมลาภ เสื่อมยศ ทุกข์ หรือถูกนินทา

8. ฝึกความเชื่อมั่นในตนเองและฝึกการพึ่งตนเอง ดังที่มีพุทธภาษิตว่า ตนแลเป็นที่พึ่งแห่งตน ไม่คอยแต่จะให้คนอื่นจูงใจ หรือคอยฟังความเห็นคนอื่นจนไม่เป็นตัวของตัวเอง

9. ฝึกฝนการทำงานให้ดีขึ้น ให้ประหยัดการใช้ทรัพยากร ในการทำงาน ทั้งในด้านการใช้คน การใช้เงิน การใช้เวลา มีแผนการ และโครงการในการทำงาน เป็นต้น

10.  ฝึกหัดแนะนำสั่งสอนตนเอง เรื่องการแนะนำตนเองนั้น เป็นเรื่องสำคัญมาก และนับว่าเป็นเคล็ดลับของบุคคลสำคัญหลายคนทีเดียวที่พัฒนาตนเองจากบุคคลที่อยู่ในฐานะต่ำต้อยจนขึ้นมายืนอยู่ในฐานะที่ สูงส่งได้ และในทางจิตวิทยาก็รับรองว่า การแนะนำตนเองเป็นวิธีที่จะ เปลี่ยนแปลงบุคลิกภาพ หรืออุปนิสัยได้มากที่สุด วิธีที่ดีที่สุดคือ การแนะนำตนเองก่อนเข้านอน นั่นคือการทบทวนคิดเนืองๆ ถึงลักษณะที่เราต้องการ เช่น

“เราต้องการทำใจให้สบาย ไม่ว่ามีเหตุการณใดๆ เกิดขึ้น เราจะสามารถเผชิญหน้ากับมันด้วยดวงจิตที่สงบราบเรียบ”

“เราต้องการมีลักษณะที่เข้มแข็ง อดทน ไม่ปริปากบ่น ไม่ว่าจะมีทุกข์ร้อนมากมายสักเพียงใด”

“เราต้องการข่มความหวาดกลัว ความรู้สึกตื่นเต้น และความรู้สึกที่เป็นภัยแก่ตัวเรา”

“เราต้องการทำดวงจิตของเราให้ผ่องใสไม่ขุ่นมัว และจะเป็นนายตัวเราเอง ไม่ว่าต่อหน้าใคร”

“เราต้องการทำสิ่งซึ่งถึงเวลาจะต้องทำ ถึงแม้มีสิ่งใดๆ มาขัดขวาง ก็จะต้องทำให้จงได้”

“เราควรบังคับตัว และบังคับใจของเรา ไม่ยอมให้เป็นไปในทางที่จะนำเราเดินออกไปนอกทางที่เรามุ่งหมายและนอกหลักธรรมในใจของเรา”

“เราต้องการพินิจพิเคราะห์โดยถี่ถ้วน ก่อนที่จะปลงใจ ยอมตามความคิดความเห็นอย่างใดอย่างหนึ่งที่เกิดขึ้นแก่เรา หรือที่มีใครบอกเรา หรือที่เราได้อ่านจากหนังสือ”

“เราต้องการมีความมานะ มีจิตตานุภาพที่จะสามารถบังคับบุคคล หรือเหตุการณ์ทั้งหลายได้”

(ข้อความในเครื่องหมายคำพูดทั้งหมดนี้ คัดมาจากหนังสือเรื่อง “จิตตานุภาพ” ของหลวงวิจิตรวาทการ)

เบนจามิน แฟรงคลิน คนสำคัญของสหรัฐอเมริกา มีวิธีการฝึกฝนตนเองในการแก้ไขอุปนิสัย คือ เขาจดรายการนิสัยที่ไม่ดี และที่ดี เป็นสองแถว และทุกคืนเขาจะตรวจตราให้คะแนนว่าในวันนั้นๆ ได้ปฏิบัติ หรือประพฤติตนดี-เลวอย่างไร ถ้าดีก็ให้คะแนนมาก ถ้าไม่ดีก็ให้คะแนนลบ โดยวิธีนี้ อุปนิสัยชั่วต่างๆ ที่เขาเคยมี เช่น แต่เดิมเคยมีนิสัยโผงผาง ชอบพูดขัดคอคนอื่น ก็กลายเป็นคนพูดจานิ่มนวลมีเสน่ห์ จนภายหลัง ถึงกับได้รับการแต่งตั้งให้เป็นทูตไปอยู่ต่างประเทศ เป็นต้น

มีนักปราชญ์จีนท่านหนึ่ง ชื่อ เหลียวฝาน ได้เขียนบันทึกสอนลูก ซึ่งภายหลังกลายเป็นหนังสือที่คนจีนเป็นจำนวนมาก จำมาสอนบุตร หลานสืบๆ ต่อมา ท่านเหลียวฝานแนะนำว่า การฝึกฝนตนเองที่ดีที่สุดนั้น ก็คือ การทำคุณความดี และท่านเล่าว่า ตัวท่านเองได้ตั้งปณิธานว่า จะทำความดีให้ครบ 3,000 ครั้งใน 3 ปี เมื่อทำความดีอะไรลงไปก็จดไว้ ทุกครั้ง ครั้นครบ 3,000 ครั้ง ก็ตั้งปณิธานใหม่ว่า จะทำความดีให้ครบ 10,000 ครั้ง ในที่สุดก็ทำได้จริงๆ ทำให้อาชีพรับราชการของท่านก้าว หน้าเป็นอันมาก ท่านเหลียวฝานแนะนำให้เราช่วยเหลือผู้อื่น โดย

1.  ช่วยเหลือผู้อื่นทำความดี
2.  รักและเคารพทุกคนอย่างเสมอหน้า
3.  สนับสนุนผู้อื่นให้เป็นผู้มีความดีพร้อม
4.  ชี้ทางให้ผู้อื่นทำความดี
5. ช่วยเหลือผู้ที่อยู่ในความคับขัน
6. กระทำสิ่งที่เป็นประโยชน์ต่อสาธารณะ
7. อย่าทำตนเป็นปู่โสมเฝ้าทรัพย์ ต้องหมั่นบริจาค
8. ธำรงไว้ซึ่งความเป็นธรรม
9. เคารพผู้มีอาวุโสกว่า
10. รักชีวิตผู้อื่นดุจรักชีวิตตนเอง

การฝึกฝนแก้ไขนิสัยตนเองนั้น จะใช้วิธีของท่านเหลียวฝาน หรือเบนจามินแฟรงคลิน หรือวิธีแนะนำตนเองแบบที่หลวงวิจิตรวาทการ แนะก็ได้ ขอแต่ให้เรากระทำอย่างจริงๆ จังๆ ย่อมได้ผลแน่นอน

ที่มา:สมิต  อาชวนิจกุล

↑ กลับสู่ส่วนบนของหน้า