สำหรับผู้ใส่ใจในการรักษาสุขภาพ ทั้งสุขภาพกาย และสุขภาพจิต

การประคบสมุนไพร

เนื่องจากในอดีตสังคมไทยจะเป็นสังคมเกษตรกรรม ประชาชนต้องทำนา ทำสวน ทำไร่ การทำงานอาจใช้ท่าทางที่ไม่ถูกต้อง เช่น ต้องก้มอยู่เป็นเวลานานเมื่อเกี่ยวข้าว เป็นต้น ทำให้ร่างกายมีอาการปวดเมื่อยอยู่เป็นประจำ ในการรักษาอาการปวดเมื่อย เคล็ดขัดยอก และการป่วยไข้เล็กๆ น้อยๆ จึงใช้ภูมิปัญญาไทยที่เหมาะกับสังคมชาวบ้านในยุคนั้น ควบคู่กับการนวด และการนำสมุนไพรและความร้อนมาผสมผสานกันที่เรียกว่า “การประคบสมุนไพร” เป็นการบำบัดอาการไม่สุขสบายโดยไม่ต้องกินยา และมีคุณค่าต่อสุขภาพมาก สามารถทำได้ง่ายและใช้ต้นทุนต่ำ ซึ่งการกินยาเข้าไปอาจก่อให้เกิดภาวะแทรกซ้อนที่รุนแรงตามมาได้

ความหมายของการประคบสมุนไพร
การประคบสมุนไพร หมายถึง การรักษาอาการปวดเมื่อยที่มากกว่าปกติด้วยการใช้ความร้อนและตัวยาสมุนไพรเดี่ยวๆ หรือหลายอย่างมาผสมผสานกัน เช่น ในผู้ป่วยที่มีอาการปวดเมื่อยกล้ามเนื้อจากการเกร็ง หรือเส้นตึง เป็นต้น ก่อนทำการนวดก็ต้องประคบสมุนไพรเสียก่อนเพื่อให้เส้นชิน ทำให้เจ็บปวดน้อยลง หากนวดเลยอาจทำให้มีการอักเสบเกิดขึ้นได้ อาจใช้วิธีประคบไปพร้อมกับการนวด หรือนวดแล้วค่อยประคบก็ได้

การประคบโดยทั่วไปจะเป็นการใช้ความร้อนและแรงกดเพื่อบรรเทาอาการไม่สุขสบายเฉพาะที่ เช่น การปวด การบวมจากการอักเสบ หรือข้อติดขัด เป็นต้น ซึ่งมีทั้งการบำบัดด้วยความร้อนแบบตื้นและแบบลึก มีหลายวิธีที่เป็นการใช้ความร้อนตื้น เช่น การใช้กระเป๋าน้ำร้อน การประคบร้อน การอบไอน้ำ เป็นต้น ส่วนการใช้ความร้อนลึกคือ การใช้เลเซอร์ แต่การนำมาใช้ในวงจำกัดหรือเฉพาะที่โรงพยาบาลเท่านั้น เพราะเป็นวิธีที่ซับซ้อน มีราคาแพง แต่จะมีประสิทธิภาพสูง

การประคบด้วยความร้อนตื้นมีอยู่ 2 แบบคือ การประคบด้วยความร้อนตื้นแบบความร้อนชื้น และการประคบด้วยความร้อนตื้นแบบความร้อนแห้ง สำหรับการประคบสมุนไพรไทยนั้นจะอาศัยหลักการถ่ายเทความร้อนด้วยการนำ ทำให้บริเวณที่ได้รับการประคบมีอุณหภูมิเพิ่มขึ้น และทำให้ผิวหนังชุ่มชื้นอีกด้วย ซึ่งการประคบสมุนไพรไทยก็เป็นการใช้ความร้อนตื้นแบบความร้อนชื้นนั่นเอง

กระบวนการประคบสมุนไพร
การประคบสมุนไพรไทยนั้น เป็นการนำเอาสมุนไพรทั้งสดและแห้งแบบเดี่ยวๆ หรือหลายอย่างมาโขลกคลุกรวมกัน ใช้ผ้าห่อทำเป็นลูกประคบ แล้วนึ่งด้วยไอความร้อนก่อนนำไปประคบในบริเวณที่ต้องการ สมุนไพรที่นำมาทำลูกประคบจะมีทั้งตัวยาหลักและตัวยาเร่ง ตัวยาหลักที่นิยมใช้กัน ได้แก่ ไพลสด ผิวและใบมะกรูด ขมิ้นชัน ตะไคร้ ส่วนตัวยาเร่ง ได้แก่ เกลือ พิมเสน การบูร ตัวยาที่ใช้ก็ต้องมีความเหมาะสมกับโรคและไม่ทำให้เกิดการแพ้ เพราะสมุนไพรบางชนิดผู้ป่วยอาจแพ้ได้ เช่น ไพลเหลืองหรือไพลดำ ใบพลับพลึงแดงหรือขาว เป็นต้น เมื่อทราบแล้วก็ให้ปฏิบัติดังนี้

เตรียมตัวยาหรือสมุนไพรที่ใช้ในการประคบ
การใช้สมุนไพรเดี่ยว
เป็นการเลือกใช้สมุนไพรอย่างใดอย่างหนึ่งตามสาเหตุของอาการที่ผิดปกติ เช่น ไพล พลับพลึง ตะไคร้ เป็นต้น

การใช้สมุนไพรหลายชนิดผสมกัน
เช่น ไพล ขมิ้นชัน ผิวมะกรูดหรือใบมะกรูด ตะไคร้บ้าน ใบมะขาม ใบพลับพลึง เถาเอ็นอ่อน เกลือ การบูร และพิมเสน สมุนไพรดังกล่าวมักนิยมใช้กันและมีฤทธิ์ดังนี้

ไพล(Plai)
เป็นพืชล้มลุก มีชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่า Zingiber purpureum Rosc. ZINGIBERRACEAE เหง้าใต้ดินมีขนาดใหญ่ มีเนื้อสีเหลืองอมเขียว มีกลิ่นหอมเฉพาะ เหง้าแก่จัดที่มีอายุ 10 เดือนขึ้นไปมักจะนำมาทำยา สารสำคัญในไพล คือ น้ำมันไพล มีสรรพคุณภายนอกเพื่อลดการบวมและอักเสบ แก้อาการปวดเมื่อย ทำให้กล้ามเนื้อคลายตัว แก้อาการเส้นตึง อาการเคล็ดขัดยอกฟกช้ำ แก้เหน็บชา ใช้สมานแผล มีสรรพคุณภายในใช้กินเป็นยาขับลม ขับประจำเดือน แก้บิด เป็นยาระบายอ่อนๆ ช่วยสมานลำไส้ จาการวิจัยพบว่า น้ำมันหอมระเหยที่อยู่ในเหง้าสามารถใช้ลดอาการอักเสบและบวมได้ด้วย และมีสารที่ออกฤทธิ์ขยายหลอดลม คือ 4-(4-hydroxy-1-butenyl) veratrol ในผู้ป่วยเด็กที่เป็นหืดทั้งชนิดเฉียบพลันและเรื้อรัง พบว่าได้ผลดีเมื่อนำผงไพลมาใช้ ซึ่งปัจจุบันพิษของไพลยังไม่พบในมนุษย์

ขมิ้นชัน(Turmeric)
เป็นพืชล้มลุก มีชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่า Curcuma longa Linn. ZINGIBERACEAE เป็นพืชที่มีเหง้าใต้ดิน มีเนื้อสีเหลืองเข้มหรือสีแสดเข้ม มีกลิ่นหอมเฉพาะ เหง้าที่นำมาทำยามักเป็นเหง้าที่แก่จัดที่มีอายุประมาณ 7-9 เดือน มีสารเคอร์คิวมินและน้ำมันหอมระเหยเป็นสารสำคัญ นำผงขมิ้นมาผสมกับน้ำฝนแล้วคนให้เข้ากัน ใช้ทาบริเวณที่เป็นโรคผิวหนัง ผื่นคันได้ และพบว่าให้ผลเท่ากับยาปฏิชีวนะเมื่อนำมาทารักษาโรคผิวหนังพุพองในเด็ก หรือบริเวณที่มีอาการฟกช้ำ บวม เคล็ดขัดยอกอาจใช้เหง้าสดตำให้ละเอียดแล้วพอกไว้ได้ หรือจะนำไปผสมในลูกประคบโดยนำเหง้ามาทุบให้พอแหลกก่อน แล้วนำลูกประคบไปอังกับไอน้ำร้อนแล้วนำมาประคบบริเวณที่มีอาการ ทำให้ทุเลาลงได้ จากการศึกษาพบว่า สารเคอร์คูมินในน้ำคั้นขมิ้นชันมีฤทธิ์ยับยั้งการสร้างลิวโคไตรอีน(leukotriene) และไดออกซีจีเนส(dioxygenases) เช่น พรอสตาแกลนดิน เบรดีไคนิน เป็นต้น ซึ่งสารเหล่านี้จะทำให้เกิดการอักเสบ สารเคอร์คูมินจึงช่วยลดการอักเสบและบวมได้

ผิวมะกรูดหรือใบมะกรูด(Leech Lime)
มะกรูดเป็นไม้ยืนต้นที่มีชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่า Citrus hystrix DC. RUTACEAE มีน้ำมันหอมระเหยอยู่ทั้งที่ผิวและใบของมะกรูด มีกลิ่นหอมร้อนรสปร่า สรรพคุณของใบมะกรูดใช้แก้อาการช้ำใน แก้ไอ แก้การอาเจียนเป็นโลหิต ช่วยขับลมในลำไส้ ส่วนสรรพคุณของผิวมะกรูดใช้เพื่อขับระดู ขับลมในลำไส้ แก้ลมวิงเวียน จากการศึกษาพบว่า น้ำมันหอมระเหยจากใบและผิวมะกรูดมีสรรพคุณช่วยต้านโรคบิด ต้านมะเร็ง ต้านเชื้อแบคทีเรียและเชื้อรา ช่วยลดความดันโลหิต และใช้ฆ่าเหาและเห็บได้

ตะไคร้บ้าน(Lemongrass)
เป็นพืชสวนครัวในเขตร้อนของไทย มีชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่า Cymbopogon citratus Stapf. GRAMINAE คนไทยมักนำมาใช้เป็นเครื่องเทศในแกง ต้มยำ ยำและพร่าต่างๆ ในเหง้าสดและกาบใบเมื่อนำมากลั่นด้วยไอน้ำจะได้น้ำมันหอมระเหยที่เรียกว่า Lemongrase oil ร้อยละ 0.2-0.4 ทั้งต้นและใบของตะไคร้จะมีน้ำมันหอมระเหยที่ส่วนใหญ่จะประกอบไปด้วยสาร ซิทราล(citral) และยังมีสารอื่นอยู่ด้วย เช่น สารยูจีนอล เจอรานิออล เมนทอล การบูร และซิโทรเนนลอล ทั้งต้นของตะไคร้มีรสหอมปร่า มีสรรพคุณทางยาช่วยให้ขับลม เจริญอาหาร แก้อาการท้องอืด ไข้หวัด ไอ ปวดกระเพาะอาหาร ท้องเสีย ปวดข้อ ฟกช้ำจากการหกล้ม ประจำเดือนไม่ปกติ แก้อาการปวดเมื่อย แน่นท้อง ช่วยขับปัสสาวะ แก้เลือดกำเดาออก แก้อาการคัดจมูก ปวดท้อง เสียดท้อง ปัสสาวะเป็นเลือด ใช้โคนต้นเป็นยารักษาเกลื้อน ทานวดด้วยน้ำมันหอมระเหยจะช่วยแก้อาการปวดเมื่อย ช่วยแก้อาการเกร็งและโรคเกี่ยวกับเส้นตึง

ใบมะขาม(Tamarind)
มะขามเป็นไม้ยืนต้นที่มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Tamarindus indica Linn. LEGUMINOSAE ใบมะขามมีรสเปรี้ยวมีสรรพคุณทางยาใช้ฟอกโลหิต แก้อาการตามัว ตาอักเสบ แก้เสมหะเหนียว ช่วยขับเสมหะ แก้ไข้ร้อนใน แก้ไอ แก้หวัดคัดจมูก ใช้เป็นยาระบาย เมื่อนำมาใช้ประคบภายนอกจะทำให้เส้นเอ็นหย่อน แก้โรคผิวหนังผื่นคัน ทำให้ผิวสะอาด จากการศึกษาพบว่า ในใบมะขามมีสารที่ช่วยต้านเชื้อไวรัส เชื้อรา และเชื้อแบคทีเรียได้ด้วย

ใบพลับพลึง(Giant Lily)
พลับพลึง มีชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่า พลับพลึงดอกขาว Crinum amabile Donn AMARYLLIDACEAE ในตำรายาไทยจะใช้ใบสดของพลับพลึงมาลนไฟให้อ่อนตัวลงแล้วใช้ประคบตามร่างกายที่มีอาการเคล็ดขัดยอก ช้ำบวม หรือใช้รับประทานแก้ช้ำใน อาเจียน สารที่สกัดได้จากใบพลับพลึงจะมีฤทธิ์ในการต้านเชื้อแบคทีเรีย และต้านการเจริญของเนื้องอก ในใบจะมีสารกลุ่มอัลคาลอยด์ที่ชื่อว่า ลัยโครีน(lycorine) แม้จะมีฤทธิ์ต้านเชื้อไวรัส หัด และโปลิโอได้ แต่ก็ต้องมีการศึกษากันต่อไปเพราะมีความเป็นพิษอยู่สูง

เถาเอ็นอ่อน
เป็นไม้เถาเลื้อยเนื้อแข็ง มีชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่า Cryptolepis buchanani Roem. & Schult PERIPLOCACEAE เถามีรสเบื่อเมา มีน้ำยางสีขาว เมื่อนำมาต้มน้ำดื่มจะมีสรรพคุณช่วยบำรุงให้เส้นเอ็นแข็งแรง แก้เส้นเอ็นพิการ เส้นแข็ง แก้ปวดเมื่อยเส้นเอ็น แก้ขัดยอก ทำให้คลายการตึงตัว ส่วนใบมีรสเบื่อเอียน เมื่อนำมาทำลูกประคบจะมีสรรพคุณแก้ปวดเมื่อย แก้ปวดเสียวเส้นเอ็น และทำให้เส้นเอ็นคลาย

เกลือ(salt)
ในน้ำทะเลจะมีมากที่สุด มีชื่อทางเคมีว่า โซเดียมคลอไรด์(sodium chloride) มีสูตรว่า NaCI เกลือบริสุทธิ์จะมีสีขาว รสเค็ม ละลายน้ำได้ดี เกลือที่ผลิตจากน้ำทะเลเป็นเกลือแกงที่เรียกว่า เกลือสมุทรหรือเกลือทะเล มีสรรพคุณช่วยดูดความร้อน ช่วยทำให้ตัวยาซึมผ่านผิวหนังได้ง่าย และมีฤทธิ์ฆ่าเชื้อโรคได้ด้วย

การบูร(Camphor Tree)
เป็นไม้ยืนต้นขนาดกลาง มีชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่า Cinnamomum camphora Nees ex Eberm. LAURACEAE ส่วนรากและเนื้อไม้มักนำมาใช้ทำยา โดยนำมาสับให้ละเอียดแล้วน้ำไปกลั่นให้บริสุทธิ์จนเป็นเกล็ดสีขาว กลมๆ เล็กๆ และแห้ง มีกลิ่นหอม รสเผ็ดร้อน จะระเหิดไปหมดถ้าทิ้งไว้ในอากาศ มักใช้เพื่อแต่งกลิ่นยาไทย ใช้บรรเทาอาการปวดตามเส้น แก้เคล็ดขัดยอก บวม แก้ปวดข้อ แก้ปวดเส้นประสาท แก้ผิวหนังที่แตก จากการศึกษาพบว่า มีฤทธิ์ต้านอักเสบ ใช้เป็นยาชาอย่างอ่อน ซึ่งส่วนใหญ่จะใช้ภายนอกร่างกาย บริเวณที่ใช้จะรู้สึกเย็นและให้ผลเฉพาะที่

พิมเสน(Borneol camphor)
เป็นการนำการบูรมาหุงกับยาอื่นๆ จนได้เป็นสารสกัดที่มีลักษณะเป็นเกล็ดแบนๆ สีขาว มีรสหอมเย็น ใช้แต่งกลิ่น แก้อาการพุพอง แผลสด แผลเรื้อรัง แผลกามโรค แผลเนื้อร้าย ผดผื่น แก้อาการจุกเสียดแน่นเฟ้อ แก้อาการปวดท้อง และบำรุงหัวใจ

ต้องมีสัดส่วนที่เหมาะสมในการจัดเตรียมตัวยาสมุนไพร เช่น ไพล 500 กรัม ขมิ้นชัน 100 กรัม ผิวและใบมะกรูด 100 กรัม ตะไคร้บ้าน 200 กรัม เกลือ 60 กรัม การบูร 30 กรัม พิมเสน 30 กรัม เป็นต้น วิธีการทำลูกประคบสมุนไพรก็ต้องล้างสมุนไพรเหล่านั้นให้สะอาด แล้วนำมาหั่นเป็นชิ้นเล็กๆ โขลกให้พอแหลก ส่วนผิวมะกรูดจะแยกโขลกต่างหาก แล้วนำเกลือ พิมเสน และการบูรมาคลุก ใช้ทำเป็นลูกประคบ 2 ลูก โดยแบ่งตัวยาเป็น 2 ส่วนเท่าๆ กัน จากนั้นเอาลูกประคบลูกหนึ่งไปนึ่งให้ร้อนด้วยไอน้ำจากหม้อที่ใส่น้ำไว้ครึ่งหม้อ และวางอีกลูกหนึ่งไว้บนจาน

ขั้นตอนในการประคบ
ให้จัดท่าผู้ป่วยในท่านอนหงาย นอนคว่ำ หรือนอนตะแคง ในขณะที่นึ่งลูกประคบ โดยจัดตามตำแหน่งที่จะประคบ แล้วปฏิบัติดังนี้

ทดสอบความร้อนของลูกประคบ

เมื่อลูกประคบร้อนพอดี ให้จับที่ก้านลูกประคบเต็มอุ้งมือเพื่อยกจากปากหม้อ แล้วนำอีกลูกมาวางแทน ใช้ลูกประคบแตะที่ท้องแขนหรือหลังมือเพื่อทดสอบความร้อน ถ้ายังร้อนมากก็ให้รอจนกว่าจะคลายความร้อนลงหรือใช้ผ้ารองก่อนประคบลงไป

ประคบด้วยลูกประคบ
ในระยะแรกที่ลูกประคบยังร้อนพอดีอยู่ให้วางลงบนตำแหน่งที่ต้องการอย่างรวดเร็ว โดยการแตะที่ผิวหนังแล้วยกขึ้น แล้วเลื่อนไปตามแนวของกล้ามเนื้อ จะสามารถวางลูกประคบให้นานขึ้นพร้อมทั้งกดและคลึงด้วยลูกประคบเมื่อคลายความร้อนไปมากแล้ว แล้วเปลี่ยนไปใช้ลูกประคบอีกลูกเมื่อความร้อนจากลูกประคบลดลงไปอีก อาจจะทำการนวดสลับกับการประคบไปด้วยก็ได้ โดยเฉพาะตำแหน่งที่ปวดเมื่อยมากๆ โดยทั่วไปเมื่อมีอาการเคล็ดขัดยอกมักจะประคบกันวันละ 2 ครั้ง ครั้งละ 15-30 นาที

ข้อควรระวังในการประคบสมุนไพร
1. บริเวณผิวหนังที่อ่อน มีกระดูกยื่น หรือเป็นแผล ห้ามใช้ลูกประคบที่ร้อนจนเกินไป

2. ในผู้ป่วยที่เป็นโรคเบาหวาน อัมพาต เด็ก และผู้สูงอายุ ควรใช้ลูกประคบที่ไม่ร้อนจัดและต้องมีความระมัดระวังเป็นพิเศษ เพราะอาจทำให้ผิวหนังไหม้พองได้ง่ายเนื่องจากมีการตอบสนองช้า

3. การอักเสบที่เกิดขึ้นภายใน 24 ชั่วโมงแรกไม่ควรทำการประคบสมุนไพร เพราะอาจทำให้การอักเสบมีมากขึ้น ควรใช้ความเย็นประคบก่อน

4. ไม่ควรอาบน้ำทันทีหลังจากประคบด้วยสมุนไพร เพราะร่างกายอาจปรับตัวไม่ทัน และตัวยาจะถูกชะล้างออกไปจากผิวหนัง

ผลที่ได้จากการประคบสมุนไพร
เมื่อมีการประคบที่ผิวหนัง ความร้อนจะกระจายไปสู่โครงสร้างที่อยู่ในระดับลึกลงไป โดยที่บริเวณผิวหนังจะมีความร้อนสูงสุด หากใช้เวลา 15-30 นาทีสัมผัสกับความร้อน ก็จะทำให้อุณหภูมิของกล้ามเนื้อระดับลึกจากผิวหนังประมาณ 1-2 ซม. เพิ่มขึ้นได้ และเมื่อสมุนไพรถูกความร้อนก็จะมีตัวยาและน้ำมันหอมระเหยออกมาและสามารถซึมผ่านผิวหนังเข้าไปได้ การประคบสมุนไพรมีผลต่อร่างกายได้ 3 ลักษณะ คือ ผลจากความร้อน ผลจากสมุนไพร และผลจากการคลึงกล้ามเนื้อ ซึ่งมีลักษณะดังนี้

ผลจากความร้อน
ผิวหนังจะมีอุณหภูมิเพิ่มขึ้นประมาณ 40-45 องศาเซลเซียส เมื่อประคบอยู่ประมาณ 30 นาที ทำให้มีผลเกิดขึ้นดังนี้

ลดความเจ็บปวด
ใยประสาทใหญ่ที่พบมากบริเวณผิวหนังจะถูกกระตุ้นจากการนำกระแสประสาทเมื่อผิวหนังถูกความร้อน ทำให้การนำกระแสประสาทของใยประสาทขนาดเล็กถูกยังยั้งจึงไม่เกิดอาการปวดขึ้นเมื่อสมองรับรู้ได้น้อยลง และกระแสประสาทบางส่วนจะส่งไปยังเรติคูลาร์ฟอเมชันแล้วผ่านไปที่ไฮโปทาลามัสและไปสิ้นสุดที่บริเวณลิมบิกของสมองส่วนหน้ากระตุ้นให้มีการหลั่งสารเอนดอร์ฟินช่วยให้อาการปวดลดลง และเพิ่มขีดเริ่มอาการปวดอีกด้วย

การไหลเวียนเลือดเพิ่มขึ้น
ในขณะที่กระแสประสาทขนาดใหญ่ถูกกระตุ้นด้วยความร้อนผ่านเข้าสู่เนื้อเทาด้านหลังของไขสันหลัง กระแสประสาทบางส่วนจะย้อนกลับไปยังหลอดเลือดที่ได้รับการกระตุ้น ทำให้มีการหลั่งสารที่ช่วยลดความตึงตัวของกล้ามเนื้อเรียบของหลอดเลือด ทำให้มีการขยายตัวของหลอดเลือด ทำให้มีการไหลเวียนเลือดมีเพิ่มมากขึ้น สารเหล่านี้ได้แก่ ฮีสตามีน พรอสตาแกลนดิน เบรดีไคนิน เป็นต้น

ลดการอักเสบ
เมื่ออุณหภูมิของเนื้อเยื่อบริเวณที่ได้รับการประคบเพิ่มขึ้น จะทำให้ภายในเซลล์มีปฏิกิริยาทางเคมีและอัตราการเผาผลาญเพิ่มขึ้นด้วย ทำให้เนื้อเยื่อนำออกซิเจนไปใช้ได้มากขึ้น ส่วนที่มีการอักเสบหรือได้รับบาดเจ็บก็จะมีขบวนการซ่อมแซมที่ดียิ่งขึ้น ร่างกายสามารถกำจัดของเสียออกจากร่างกายได้อย่างมีประสิทธิภาพเนื่องจากมีการไหลเวียนของเลือดเพิ่มขึ้น

ลดการติดขัดของข้อ
อุณหภูมิของข้อที่เพิ่มขึ้นจากการประคบก็จะส่งผลต่อแรงต้านทานและความเร็วของข้อเข่าในการเคลื่อนไหวด้วย แรงต้านทานของข้อจะมีสูงและความเร็วของการเคลื่อนไหวจะลดลงถ้าอุณหภูมิรอบข้อมีต่ำ แต่ถ้าอุณหภูมิรอบข้อสูงจะทำให้มีแรงต้านทานต่ำและมีความเร็วในการเคลื่อนไหวมากขึ้น ความร้อนบริเวณรอบข้อทำให้การหดรั้งของเนื้อเยื่อคอลลาเจนมีความยืดหยุ่นมากขึ้น ทำให้ผู้ป่วยปวดข้อน้อยลงและเคลื่อนไหวได้สะดวก ถ้าเนื้อเยื่อรอบข้อมีอุณหภูมิสูงถึง 40-45 องศาเซลเซียสจากการประคบด้วยความร้อน การทำงานของเอนไซม์คอลลาจีเนส(collagenase) ก็จะเพิ่มขึ้น ส่งผลให้เนื้อเยื่อและพังผืดมีการหดเกร็งและหดรั้งน้อยลง โรคข้อจะไม่เพิ่มพยาธิสภาพขึ้น และจากการศึกษาการประคบร้อนด้วยสมุนไพรในผู้ป่วยโรคข้อเข่าเสื่อมว่าจะส่งผลต่ออาการปวดข้อ ข้อฝืด และการทำกิจกรรมได้ลำบากอย่างไร พบว่า อาการปวดข้อ ข้อฝืด ความลำบากในการทำกิจกรรมลดลง และอาการเหล่านี้จะดีกว่าการประคบด้วยความร้อนเพียงอย่างเดียว

ผลจากสมุนไพร
ร่างกายจะได้รับผล 2 ลักษณะจากการประคบด้วยสมุนไพร คือ ผลจากการประคบผิวหนัง และผลจากการสูดดมกลิ่นหอมของสมุนไพร

ผลจากการประคบผิวหนัง
ตัวยาและน้ำมันหอมระเหยจะออกจากสมุนไพรเมื่อถูกความร้อน และเนื่องจากมีชั้นไขมันที่ผิวหนังจึงทำให้สารเหล่านี้สามารถซึมผ่านผิวหนังได้ง่าย น้ำมันหอมระเหยจะซึมผ่านผิวหนังไปสู่ระบบการไหลเวียนของเลือด น้ำเหลือง ต่อมเหงื่อ เนื้อเยื่อคอลลาเจน และการหมุนเวียนอื่นทั่วร่างกายได้ดีขึ้นเมื่อมีการสัมผัสการประคบอยู่นานประมาณ 20-60 นาที ดังนั้น การใช้ลูกประคบสมุนไพรคลึงที่ตำแหน่งใด บริเวณนั้นก็จะได้รับตัวยาและน้ำมันหอมระเหย ทำให้อาการปวดเมื่อย เคล็ดขัดยอก การอักเสบลดลงได้ เช่นสารสำคัญที่อยู่ในไพล ขมิ้นชัน พลับพลึง เถาเอ็นอ่อน เป็นต้น และในไพลกับการบูรก็มีสารสำคัญที่ออกฤทธิ์เป็นยาชา จะซึมผ่านผิวหนังได้เมื่อถูกความร้อนส่งผลให้มีความเจ็บปวดลดลง โดยไปลดการกระตุ้นการนำกระแสประสาทที่ใยประสาทเล็ก ทำให้ไขสันหลังและสมองมีกระแสประสาทเกี่ยวกับอาการปวดส่งไปน้อยลง

ผลจากการสูดดมกลิ่นหอมของสมุนไพร
เมื่อสมุนไพรพวก ไพล ขมิ้นชัน ผิวและใบมะกรูด การบูร ถูกกับความร้อนก็จะทำให้เกิดกลิ่นหอมจากน้ำมันหอมระเหย ทำให้ร่างกายรู้สึกผ่อนคลายและนอนหลับได้ดี และยังช่วยลดอาการปวดและอักเสบได้อีกด้วย

-การลดอาการปวดและอักเสบ
โมเลกุลของน้ำมันหอมระเหยจะเข้าไปอยู่ในโพรงจมูกเมื่อมีการสูดดมเข้าไป ทำให้สามารถซึมผ่านเซลล์บุผิวในโพรงจมูกไปยังระบบไหลเวียนเลือดได้ง่ายและรวดเร็ว และพบว่าโมเลกุลนี้จะลงไปตามทางเดินของปอดอีกด้วย โมเลกุลของน้ำมันหอมระเหยจะซึมผ่านถุงลมปอดเข้าสู่กระแสเลือดเมื่อมีการแลกเปลี่ยนก๊าซ และไหลเวียนไปทั่วร่างกาย ทำให้บริเวณที่มีอาการปวดและอักเสบทุเลาลง

-ร่างกายผ่อนคลายและนอนหลับได้ดี
กลิ่นหอมของสมุนไพรจะส่งผลต่อร่างกายและอารมณ์ เพราะเป็นกลิ่นที่ผู้ถูกประคบพึงพอใจและคุ้นเคย เมื่อโมเลกุลของน้ำมันหอมระเหยเข้าไปติดอยู่ที่ขนจมูกก็จะมีการส่งกระแสประสาทไปที่ตัวรับกลิ่นแล้วส่งต่อไปยังบริเวณลิมบิกของสมองส่วนหน้า ก่อให้เกิดการกระตุ้นความจำและมีอารมณ์ตอบสนองในด้านบวก ส่วนบริเวณสมองที่มีการถ่ายทอดกระแสประสาทต่างๆ ที่เรียกว่า สมองส่วนไฮโปทาลามัส ก็จะได้รับผลดังกล่าวด้วย ทำให้ภายในร่างกายมีการหลั่งสารเคมีที่เหมาะสม จึงรู้สึกผ่อนคลาย และนอนหลับได้ดีขึ้น

ผลจากการคลึงกล้ามเนื้อ
เซลล์ที่ตายแล้วจะหลุดออกจากผิวหนังเมื่อได้รับการนวดแบบคลึง ทำให้ไม่เกิดการอุดตันของต่อมเหงื่อ ต่อมใต้ผิวหนัง และรูขุมขน และต่อมเหล่านี้จะสามารถทำงานได้ดีขึ้น ลักษณะที่แดงขึ้นในบริเวณที่ถูกคลึงแสดงว่ามีการไหลเวียนของโลหิตเพิ่มขึ้น ทำให้การคั่งค้างของสารในร่างกายบริเวณนั้นลดลง มีอาการปวดน้อยลงไปด้วย นอกจากนี้ใยประสาทใหญ่ที่ถูกกระตุ้นจากการคลึงก็จะส่งผลให้มีการยับยั้งกระแสประสาทเกี่ยวกับอาการปวดจากใยประสาทขนาดเล็กด้วย ทำให้สมองมีกระแสประสาทส่วนที่รับรู้อาการเจ็บปวดส่งไปน้อย และมีกระแสประสาทจากใยประสาทใหญ่ผ่านเข้าสู่สมองบริเวณลิมบิกในสมองส่วนหน้าบางส่วน ทำให้มีการหลั่งสารเอนดอร์ฟินออกมา ทำให้อาการปวดมีการตอบสนองลดลง และสามารถเพิ่มขีดเริ่มของอาการปวดได้ด้วย

ที่มา:จากหนังสือวิทยาศาสตร์ในการแพทย์แผนไทย
โดย: ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.มุกดา ตันชัย
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ประจำสาขาวิชาพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช และ
อาจารย์อภิชาต ลิมติยะโยธิน
อาจารย์พิเศษสถานการแพทย์แผนไทยประยุกต์ คณะแพทย์ศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล

↑ กลับสู่ส่วนบนของหน้า