สำหรับผู้ใส่ใจในการรักษาสุขภาพ ทั้งสุขภาพกาย และสุขภาพจิต

การดูแลมารดาหลังคลอดด้วยการประคบตัว

จะทำในช่วงหลังคลอด 2-3 วัน ในช่วงที่มีการอยู่ไฟอยู่ โดยจะประคบตัวเป็นเวลา 3-7 วัน ติดต่อกันทุกวันหรือจนกว่าจะออกจากการอยู่ไฟ โดยทั่วไปจะมีการทำควบคู่ไปกับการเข้ากระโจม จะประคบตัวก่อนเข้ากระโจมหรือหลังเข้ากระโจมก็ได้ขึ้นอยู่กับแต่ละท้องถิ่น ส่วนใหญ่สมุนไพรที่ใช้ประคบจะเป็นไพล ขมิ้นอ้อย ใบมะขาม ใบส้มป่อย นำมาเคล้ากับเกลือใช้ผ้าห่อมัดให้แน่นทำเป็นลูกประคบ ส่วนใหญ่คนโบราณจะใช้ลูกประคบ 3 ลูก ถ้าเป็นครรภ์แรกก็ให้นั่งทับลูกหนึ่ง ส่วนอีก 2 ลูกก็ใช้ประคบตัว เต้านม หน้าท้อง และแขนขา การประคบจะทำให้น้ำนมเดินสะดวก ไม่คัดเต้านม เดิมการประคบจะทำต่อจากการเข้ากระโจม โดยใช้กากสมุนไพรที่เหลือจากการเข้ากระโจมมาห่อทำเป็นลูกประคบ น้ำที่เหลือจากการเข้ากระโจมก็ใช้จุ่มประคบตัวและใช้อาบเมื่อประคบตัวเสร็จแล้ว และอาบน้ำอีกครั้งด้วยน้ำอุ่นๆ ให้ทำทุกวันจนกว่าจะออกจากการอยู่ไฟ

การประคบร้อน
การประคบร้อนด้วยสมุนไพร เป็นการประคบด้วยความร้อนชื้น โดยนำสมุนไพรสูตรต่างๆ มาตำพอแหลกแล้วผสมเข้าด้วยกันใช้ผ้าห่อ แล้วนำไปอังไอน้ำร้อนใช้ประคบตามส่วนของร่างกายที่ต้องการ จะช่วยให้กล้ามเนื้อและเอ็นลดอาการบวมและอักเสบได้ ทำให้กล้ามเนื้อลดอาการเกร็งลง มีการยืดตัวของเนื้อเยื่อพังผืด ช่วยให้โลหิตมีการไหลเวียนเพิ่มขึ้น แต่การประคบร้อนด้วยสมุนไพรก่อนและขณะประคบจะต้องมีการคลึงกล้ามเนื้อไปด้วย สมุนไพรที่ใช้ประคบจะมีสรรพคุณในการบรรเทาอาการปวด การอักเสบ และมีกลิ่นหอม มีความเชื่อในสมัยโบราณว่าสามารถรักษาโรคได้เช่นกัน

ตัวยาและน้ำมันหอมระเหยจะออกจากตัวสมุนไพรเมื่อถูกความร้อน และซึมผ่านเข้าไปในผิวหนังได้ง่าย เนื่องจากบริเวณผิวหนังจะมีชั้นของไขมันอยู่ หากใช้เวลาประคบสัมผัสอยู่นานประมาณ 20-60 นาที ก็จะทำให้น้ำมันหอมระเหยซึมผ่านผิวหนังไปยังระบบการไหลเวียนเลือดและน้ำเหลือง ต่อมเหงื่อ เนื้อเยื่อคอลลาเจน ทำให้ทั่วร่างกายเกิดการหมุนเวียน เมื่อคลึงด้วยลูกประคบสมุนไพรที่บริเวณใด ตรงส่วนนั้นก็จะได้รับผลจากตัวยาสมุนไพรและน้ำมันหอมระเหย ช่วยให้อาการปวดและการอักเสบลดลงได้ และการสูดดมก็สามารถทำให้น้ำมันหอมระเหยเข้าสู่ร่างกายได้เช่นกัน โดยโมเลกุลของน้ำมันหอมระเหยจะเข้าไปในโพรงจมูก และน้ำมันหอมระเหยก็จะซึมผ่านเซลล์บุผิวบางๆ ในโพรงจมูกเข้าสู่ระบบไหลเวียนโลหิตได้ง่ายและรวดเร็ว และเมื่อมีการเปลี่ยนแก๊สที่ถุงลมปอด โมเลกุลของน้ำมันหอมระเหยจะซึมผ่านถุงลมปอดเข้าสู่กระแสเลือด และไหลเวียนไปทั่วร่างกาย รวมทั้งบริเวณที่มีอาการปวดและอักเสบด้วย และสรรพคุณของเกลือนอกจากจะช่วยดูดความร้อนแล้ว ยังสามารถทำให้ตัวยาซึมผ่านผิวหนังได้ดียิ่งขึ้นอีกด้วย

ปัจจัยที่มีผลต่อการซึมผ่านของตัวยาสมุนไพรทางผิวหนัง
1. พื้นที่ผิวบริเวณที่สัมผัส
การซึมผ่านของตัวยาทางผิวหนังจะเข้าสู่ร่างกายได้ในปริมาณมาก เมื่อมีบริเวณผิวสัมผัสประมาณ 2 ตารางเมตรขึ้นไป แต่ปริมาณตัวยาที่ซึมผ่านจะน้อยลงเมื่อพื้นที่ผิวสัมผัสมีขนาดเล็ก

2. ความหนาของผิวหนัง
บริเวณผิวหนังที่หนาและไม่มีต่อมน้ำมัน จะต้องใช้เวลานานในการซึมผ่านของน้ำมันหอมระเหย เช่นที่บริเวณฝ่ามือและฝ่าเท้า ส่วนในบริเวณที่ผิวหนังบางตัวยาสมุนไพรก็สามารถซึมผ่านไปได้ง่าย เช่นที่บริเวณหลังหู หนังตา ข้อมือด้านใน ต้นขา สะโพก ลำตัว และท้อง เป็นต้น

3. บริเวณที่มีพยาธิสภาพ
ตัวยาสมุนไพรจะมีการดูดซึมได้อย่างรวดเร็วในบริเวณที่มีการอักเสบ ถูกทำลาย แตกหัก แผลถลอก เนื่องจากคุณสมบัติในการขัดขวางสารต่างๆ เข้าสู่ร่างกายได้สูญเสียไป

4. การไหลเวียนโลหิต
การซึมผ่านของตัวยาสมุนไพรจะมีเพิ่มขึ้นในบริเวณที่มีการอักเสบหรือมีการคลึงร่วมด้วย เนื่องจากในบริเวณนั้นจะมีการไหลเวียนโลหิตเพิ่มขึ้น โดยใช้เวลาประมาณ 5 นาที ก็สามารถทำให้ตัวยาสมุนไพรซึมผ่านผิวหนังเข้าสู่ระบบไหลเวียนโลหิตได้แล้ว

5.การกระตุ้นด้วยการคลึงหรือการใช้ความร้อน
อุณหภูมิที่สูงขึ้นในบริเวณที่ถูกกระตุ้นด้วยการคลึง หรือการใช้ความร้อน จะส่งผลให้ตัวยาสมุนไพรสามารถซึมผ่านผิวหนังได้ดีขึ้น

6. จำนวนครั้งของการใช้
ตัวยาสมุนไพรจะสามารถซึมผ่านผิวหนังได้ดีขึ้นเมื่อมีการใช้บ่อยๆ

ประโยชน์ของการประคบร้อนด้วยสมุนไพร
ลดอาการปวด

1. การประคบร้อนด้วยสมุนไพร จะทำให้กล้ามเนื้อที่มีการใช้งานเป็นระยะเวลานานลดการเกร็งและความตึงตัวลงไป ทำให้มีอาการปวดน้อยลง

2. การประคบด้วยสมุนไพรเพื่อลดอาการปวด มีดังนี้

-ไพล เป็นพืชล้มลุก มีเหง้าใต้ดินขนาดใหญ่ เนื้อในมีสีเหลืองอมเขียว มีกลิ่นหอม เหง้าที่แก่จัดสามารถนำมาใช้เป็นยาได้ หรือมีอายุในช่วง 10 เดือนขึ้นไป สารสำคัญที่อยู่ในไพลคือ น้ำมันไพล การใช้เป็นยาภายนอกของไทยจะมีสรรพคุณในการลดการอักเสบ แก้ปวดข้อ ทำให้กล้ามเนื้อคลายตัว แก้เคล็ดขัดยอก ฟกช้ำ โดยใช้เหง้าสด 1 เหง้า ตำให้แหลกนำมาพอกบริเวณที่ปวด หรือทาถูนวดบริเวณที่ปวดด้วยน้ำมันที่คั้นได้จากเหง้า หรือจะใช้เหง้าสด 1 เหง้า การบูร 1 ช้อนโต๊ะ และเกลือเล็กน้อยตำผสมกัน แล้วห่อเป็นลูกประคบ นำไปอังไอน้ำร้อน ใช้ประคบเช้า-เย็น วันละ 2 ครั้ง ในบริเวณที่ปวด เมื่อย ขัดยอก จนกว่าอาการจะทุเลาลงไป และมีรายงานฤทธิ์ทางเภสัชวิทยาจำนวนมากพบว่า สามารถใช้ไพลลดอาการบวมอักเสบ และอาการปวดได้ และผลการศึกษาทางเภสัชวิทยาของน้ำมันสกัดดิบจากไพล พบว่า ช่วยลดอาการบวม และสามารถทำเป็นครีมไพลได้ เมื่อทดลองใช้กับผู้ป่วย 8 ราย ที่มีอาการอักเสบและปวดกล้ามเนื้อบริเวณต่างๆ เช่น คอ หลัง บ่า เอว และเข่า ซึ่งผู้ที่รับการทดลองมีอายุระหว่าง 21-77 ปี เป็นชาย 3 คน หญิง 5 คน พบว่าเมื่อใช้ครีมไพลสามารถลดอาการต่างๆ ได้อย่างรวดเร็ว และเมื่อนำครีมไพลมาใช้กับอาสาสมัครที่มีอาการเคล็ด ปวดและบวมบริเวณกล้ามเนื้อเข่า และข้อเท้าแพลง จำนวน 150 คน พบว่า อาการต่างๆ ลดลงอย่างน่าพอใจภายหลังจากการใช้ครีมไพล และเพื่อใช้บรรเทาอาการปวดเมื่อและปวดบวมองค์การเภสัชกรรมก็ได้ผลิตครีมไพลที่มีชื่อว่า ไพลจีซาล ขึ้นมา

-การบูร เป็นไม้ต้นขนาดกลาง มีกลิ่นหอม ส่วนของเนื้อไม้และรากสามารถนำมาทำเป็นยาได้ โดยนำมาสับให้ละเอียดแล้วกลั่นให้บริสุทธิ์จนได้เป็นก้อนรูปทรงต่างๆ มีกลิ่นหอม รสเผ็ดร้อน ตามสรรพคุณยาไทยมักใช้แต่งกลิ่น ใช้บรรเทาอาการปวดหลัง ปวดข้อ และข้อบวม โดยการใช้ถูนวดบริเวณผิวหนังที่มีอาการเหล่านั้น เมื่อได้รับการกระตุ้นการไหลเวียนของโลหิตในส่วนนั้นก็จะดีขึ้นด้วย ทำให้กล้ามเนื้อคลายตัวลง ทำให้ทุเลาอาการปวดลงไปได้ มีวิธีการใช้เช่นเดียวกับไพล

พบว่าการบูรมีฤทธิ์ทางเภสัชวิทยาในการต้านอักเสบ และเป็นยาชาอย่างอ่อน ส่วนใหญ่จะใช้เป็นยาภายนอก ซึ่งบริเวณที่ใช้จะรู้สึกเย็นและให้ผลเฉพาะที่นั้นๆ มักใช้รักษากล้ามเนื้อที่มีความตึงตัวผิดปกติเสียเป็นส่วนใหญ่ และใช้ร่วมกับสมุนไพรชนิดอื่นเพื่อลดอาการปวดในโรคข้ออักเสบด้วย

ยังไม่พบว่าการบูรมีพิษต่อผิวหนัง แต่พบว่าระบบทางเดินอาหารจะเกิดความผิดปกติได้ เมื่อรับประทานเข้าไปประมาณ 2 กรัม โดยจะทำให้มีอาการปวดท้อง คลื่นไส้อาเจียน และพบว่าระบบประสาทจะมีความผิดปกติด้วย เช่น ปวดศีรษะ กระวนกระวาย สับสน ซึม และภายในระยะเวลา 5-10 นาทีอาจทำให้เสียชีวิตได้

ฤทธิ์ที่เป็นยาชาของตัวยาจากไพลและการบูรนั้น จะซึมผ่านผิวหนังส่งผลต่อตัวรับความรู้สึกปวดเมื่อถูกกับความร้อน การนำสัญญาณประสาทเกี่ยวกับอาการปวดทางประสาทเล็กจะถูกกระตุ้นลดลง ทำให้ไขสันหลังและสมองได้รับสัญญาณเกี่ยวกับอาการปวดลดน้อยลง

3. การบรรเทาอาการปวดจากการคลึงกล้ามเนื้อ
ขณะที่ทำการประคบหรือก่อนประคบจะใช้วิธีการคลึงกล้ามเนื้อได้ การประคบร้อนด้วยสมุนไพรไปรอบบริเวณข้อเข่า ต้นขาและปลีน่อง เป็นลักษณะของการคลึงด้วยความร้อน เทคนิคการรักษาด้วยการคลึงจะช่วยกระตุ้นให้เนื้อเยื่อมีการทำงาน ซึ่งถือว่าเป็นศิลปะการกระทำต่อส่วนต่างๆ ของร่างกายด้วยขบวนทางวิทยาศาสตร์โดยการใช้มือหรือเครื่องมือ มาบำบัดระบบประสาท ระบบกล้ามเนื้อ และระบบการไหลเวียนโลหิตที่มีความผิดปกติ รวมทั้งด้านจิตใจด้วย ซึ่งการคลึงจะส่งผลต่ออาการปวดดังต่อไปนี้

-ผลต่อระบบไหลเวียนโลหิต
เซลล์ที่ตายจะหลุดลอกออกไปได้ด้วยการคลึง ช่วยให้ไม่เกิดการอุดตันของต่อมเหงื่อ รูขุมขน และต่อมต่างๆ ใต้ผิวหนัง ทำให้สามารถทำหน้าที่ได้เป็นอย่างดี และสีผิวในบริเวณที่นวดจะมีการเปลี่ยนแปลงไปคือ ผิวจะมีสีแดงขึ้น เนื่องจากบริเวณนั้นจะมีการไหลเวียนของโลหิตเพิ่มขึ้น ทำให้ไม่เกิดการคั่งของสารที่จะทำให้เกิดอาการปวดขึ้นมา

-ผลต่อการลดอาการปวด
ใยประสาทใหญ่จะถูกกระตุ้นเมื่อมีการคลึงบนผิวหนัง ทำให้เกิดการนำสัญญาณประสาทไปยับยั้งสัญญาณประสาทในใยประสาทเล็กที่เกี่ยวกับการรับรู้ความรู้สึกเจ็บปวดให้น้อยลง ใยประสาทใหญ่บางส่วนมีสัญญาณประสาทเข้าสู่บริเวณลิมบิคในสมองส่วนหน้า ทำให้มีสารเอนดอร์ฟินหลั่งออกมา อาการปวดจึงมีการตอบสนองลดลง และขีดเริ่มของอาการปวดก็เพิ่มขึ้นด้วย

4. ลดอาการปวดจากการสูดดมกลิ่นหอมของสมุนไพร
น้ำมันหอมระเหยจากไพล ขมิ้นชัน การบูร จะมีกลิ่นหอมที่ผู้ป่วยคุ้นเคยและทำให้เกิดความพึงพอใจ จึงได้รับผลดีทั้งทางร่างกายและอารมณ์ โดยภายหลังการสูดดมก็จะให้ผลทางอารมณ์ทันที โดยเมื่อมีการสูดดมเข้าโพรงจมูก โมเลกุลของน้ำมันหอมระเหยก็จะติดอยู่กับขนจมูก และส่งสัญญาณไปที่ตัวรับกลิ่น แล้วส่งต่อไปที่สมองลิมบิคส่วนหน้า ซึ่งจะกระตุ้นความจำและอารมณ์ในด้านบวกจะตอบสนองขึ้น ทำให้สารเคมีที่เหมาะสมหลั่งขึ้นภายในร่างกาย ทำให้รู้สึกผ่อนคลายและทำให้นอนหลับได้ดีขึ้น

พบว่าในปัจจุบันผู้ป่วยสามารถใช้วิธีการประคบร้อนด้วยสมุนไพรเพื่อบรรเทาอาการปวดได้ด้วยตนเอง เนื่องจากสามารถหาวัสดุที่ใช้ได้ง่าย ทำให้เกิดความพึงพอใจ จิตใจมีสภาพดีขึ้น ซึ่งมีผลทางอ้อมในการลดอาการเจ็บปวด เนื่องจากเมื่อมีความพึงพอใจระบบประสาทจะถูกกระตุ้นให้รับรู้การทำงานในด้านบวก เกิดการหลั่งสารเอนดอร์ฟินออกมา ทำให้รู้สึกผ่อนคลาย จึงทำให้อาการปวดลดน้อยลง

ที่มา:จากหนังสือวิทยาศาสตร์ในการแพทย์แผนไทย
โดย: อาจารย์ศิรินันท์ ตรีมงคลทิพย์
หัวหน้าภาควิชาวิทยาศาสตร์สุขภาพ(การแพทย์แผนไทยประยุกต์)
สถาบันเทคโนโลยีราชมงคล วิทยาเขตปทุมธานี

↑ กลับสู่ส่วนบนของหน้า