สำหรับผู้ใส่ใจในการรักษาสุขภาพ ทั้งสุขภาพกาย และสุขภาพจิต

การปฏิบัติตัวในระยะตั้งครรภ์

การปฏิบัติตัวของคนไทยในระยะตั้งครรภ์ที่สืบทอดกันมา สรุปสาระสำคัญได้ คือ มุ่งเน้นให้เกิดความสุขสบายทั้งทางร่างกายและจิตใจของหญิงตั้งครรภ์ เนื่องจากในระยะนี้จะมีการเปลี่ยนแปลงทางร่างกายและจิตใจเกิดขึ้นมากมาย และทำให้หญิงตั้งครรภ์เกิดความแข็งแรง คลอดได้ง่าย ซึ่งการปฏิบัติตัวของหญิงตั้งครรภ์ที่ทำสืบต่อกันมาตั้งแต่สมัยโบราณมีดังนี้

ในแต่ละภาคของประเทศจะมีความแตกต่างกันในเรื่องการปฏิบัติตัวในระยะตั้งครรภ์ ที่มีวัตถุประสงค์เพื่อป้องกันและส่งเสริมสุขภาพ เนื่องจากในชุมชมต่างๆ มีความเชื่อในเรื่องขนมธรรมเนียม ประเพณี ศาสนา และพิธีการต่างๆ เพื่อป้องอันตรายที่จะเกิดขึ้นกับหญิงมีครรภ์ แตกต่างกันไป เพราะในสมัยก่อนเชื่อว่าตอนที่เป็นมารดาจะเป็นช่วงที่จะได้รับอันตรายได้ง่าย การปฏิบัติตัวในระยะตั้งครรภ์จึงมีคำแนะนำ และข้อห้ามในรูปแบบต่างๆ ดังนี้

ผลที่มีต่อร่างกายของหญิงตั้งครรภ์และทารก
การปฏิบัติตัวเพื่อให้คลอดง่าย
ในสมัยก่อนไม่มีข้อห้ามเกี่ยวกับการทำงานปกติของหญิงมีครรภ์ เช่น การทำไร่ ทำนา หรือทำงานบ้าน แต่งานที่หนักจนเกินไปก็ได้ห้ามไว้ การทำงานตามปกติจะช่วยให้น้ำหนักของหญิงมีครรภ์มีไม่มากเกินไป ทำให้ร่างกายแข็งแรง สามารถคลอดบุตรได้ง่าย ซึ่งสอดคล้องกับในปัจจุบันที่แนะนำให้หญิงมีครรภ์มีการบริหารร่างกายและออกกำลังกายอยู่สม่ำเสมอ เพื่อช่วยให้กล้ามเนื้อในส่วนต่างๆ แข็งแรงขึ้น มีผนังของกล้ามเนื้อที่หนาขึ้น และทำให้ระบบต่างๆ ในร่างกายทำงานได้ดีขึ้น เช่น ระบบย่อยอาหาร ระบบขับถ่าย เป็นต้น

การป้องกันอันตรายต่อหญิงมีครรภ์
1. ห้ามนั่งนอนหรือยืนค้างคาประตู จะขึ้นลงบันไต ต้องขึ้นรวดเดียวจะหยุดพักค้างคากลางบันไดไม่ได้
หากมีการหยุดพักอาจทำให้ระบบการไหลเวียนของโลหิตเกิดการเปลี่ยนแปลง จนอาจทำให้เกิดอาการหน้ามืด เป็นลม ทำให้ได้รับอันตรายจากอุบัติเหตุได้

2. หญิงมีครรภ์เวลานอนต้องนอนตะแคงข้าง ห้ามนอนหงายว่าเด็กเบ่งให้ท้องแตก
ซึ่งสอดคล้องกับในปัจจุบันที่ว่า มดลูกจะขยายใหญ่ขึ้นเมื่อนอนหงาย จนไปกดเส้นเลือดที่จะส่งไปหล่อเลี้ยงหัวใจ จนอาจทำให้เป็นลมได้ และการขยายใหญ่ของมดลูกจากการนอนหงายส่งผลให้การขยายตัวของกระบังลมทำได้ไม่เต็มที่ จึงทำให้หญิงมีครรภ์รู้สึกอึดอัดไม่สบาย

3. ห้ามหญิงมีครรภ์ไม่ให้อาบน้ำ หรือลูบตัวในเวลากลางคืน เพราะถือว่าเวลาคลอดจะปวดน้ำคร่ำมาก หรือคลอดเป็นแผล
ข้อนี้เป็นการปฏิบัติตัวเพื่อป้องกันอุบัติเหตุจากการลื่นล้ม หรือการถูกกัดจากสัตว์มีพิษได้

การดูแลด้านโภชนาการในหญิงตั้งครรภ์

ความต้องการอาหารของหญิงมีครรภ์จะเพิ่มมากขึ้นทั้งในด้านปริมาณและคุณภาพในระหว่างตั้งครรภ์ เพื่อความแข็งแรงและการเจริญเติบโตของทารกในครรภ์ หญิงมีครรภ์มักมีอาการแพ้ท้อง คลื่นไส้ อาเจียน อยากกินอาหารแปลกๆ หรืออาหารรสจัด ในรายที่มีอาการมากๆ อาจทำให้ร่างกายขาดน้ำได้ เช่น มีอาการคลื่นไส้และอาเจียนอยู่ตลอดเวลา ทำให้ร่างกายได้รับแร่ธาตุจากอาหารได้ไม่สมดุล อาหารที่ควรกินและที่ควรหลีกเลี่ยงของหญิงมีครรภ์จะมีความแตกต่างกันในแต่ละท้องถิ่น เช่น ในภาคอีสานห้ามกินไข่ มะพร้าว ของมันทุกชนิด และอาหารรสจัด ส่วนภาคใต้จะห้ามกินอาหารรสเผ็ด เพราะมีความเชื่อว่า จะทำให้เด็กที่คลอดออกมาศีรษะล้าน

ข้อห้ามในการปฏิบัติตัวของหญิงมีครรภ์บางท้องถิ่นอาจส่งผลต่อสุขภาพของมารดาและทารกในครรภ์ได้ เนื่องจากในระหว่างการตั้งครรภ์จะต้องได้รับพลังงานและสารอาหารที่เพียงพอ

การดูแลและป้องกันความผิดปกติของหญิงตั้งครรภ์และทารกโดยการฝากครรภ์
ในสมัยก่อนต้องฝากครรภ์กับหมอตำแย โดยจะมีการตรวจครรภ์ และก่อนคลอดจะมีการคัดท้อง 2-3 ครั้ง การตรวจลักษณะการดิ้น การหันหัวและเท้า และการเต้นของหัวใจเด็ก การฝากครรภ์จะช่วยป้องกันโรคที่เกิดจากการตั้งครรภ์ได้โดยตรง จึงมีประโยชน์ทั้งแม่และเด็กเป็นอย่างมาก และยังเป็นการเตรียมสุขภาพกายและจิตของหญิงตั้งครรภ์ให้มีความสมบูรณ์และพร้อมในการคลอดลูกด้วย

ผลที่มีต่อจิตใจของหญิงตั้งครรภ์
อารมณ์ของหญิงมีครรภ์จะมีการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้น มีความกลัว ความวิตกกังวล ความเครียดต่างๆ เกิดขึ้น ดังนั้น คนไทยในสมัยก่อนจึงมีการปฏิบัติตัวในระยะตั้งครรภ์ เพื่อให้หญิงตั้งครรภ์เกิดความสบายใจ และให้หลีกเลี่ยงสิ่งที่จะทำให้เครียดและวิตกกังวล เช่น

– ป้องกันด้วยของศักดิ์สิทธิ์ เช่น ใช้ตะกรุดผูกข้อมือ เพื่อให้คลายความกังวลลง

-ห้ามไปในที่จะทำให้เกิดความเครียด เช่น ห้ามดูคนคลอดลูก ห้ามเยี่ยมคนป่วยหนัก ห้ามไปเผาศพ

-ทำให้มีความสบายใจขึ้น ด้วยการทำบุญ รักษาศีล ไม่ฆ่าสัตว์

-ทำให้มีกำลังใจ ด้วยการให้สามีเตรียมฟืนเพื่อการอยู่ไฟ เตรียมจัดหาของใช้จำเป็นในการคลอด เพื่อส่งเสริมให้เกิดความสัมพันธ์ของครอบครัว ทำให้เกิดกำลังใจ และลดความวิตกกังวลลงไปได้

ที่มา:จากหนังสือวิทยาศาสตร์ในการแพทย์แผนไทย
โดย: อาจารย์ศิรินันท์ ตรีมงคลทิพย์
หัวหน้าภาควิชาวิทยาศาสตร์สุขภาพ(การแพทย์แผนไทยประยุกต์)
สถาบันเทคโนโลยีราชมงคล วิทยาเขตปทุมธานี

↑ กลับสู่ส่วนบนของหน้า