สำหรับผู้ใส่ใจในการรักษาสุขภาพ ทั้งสุขภาพกาย และสุขภาพจิต

การบำรุงน้ำนมในสตรีหลังคลอด

ลักษณะสตรีน้ำนมดีและชั่ว
สตรีที่ให้นมดีหรือชั่วมีคุณและโทษนั้นมีลักษณะแบ่งได้เป็น 6 จำพวก

มีพระดาบสที่ชื่อว่า ฤทธิยาธรดาบส ได้ฌานโลกีย์สามารถหยั่งรู้ลักษณะและจิตใจของสตรีว่าดีหรือชั่ว มีคำถามว่าเหตุใดกุมารจึงซางร้ายซางดีเลี้ยงยากง่ายต่างกัน

มีคำถามว่า ถ้าบุตรของผู้ใดคลอดในวัน 2,5,6 นั้นถือว่าเป็นซางดี มีโรคน้อย แต่เหตุใดจึงมักป่วยมาก แต่บุตรของผู้ใดที่คลอดในวัน 1,3,4,7 ที่ถือว่าเป็นซางร้าย เลี้ยงยากมีโรคมาก กลับมีโรคน้อย คือเด็กที่คลอดในวันดีกลับกลายเป็นร้าย แต่เด็กที่คลอดในวันร้ายกลับกลายเป็นดี

คนที่กำเนิดในซางร้าย เลี้ยงยาก เด็กเหล่านี้จะไม่ตายกันไปหมดหรือ และเด็กที่เกิดในวันดีเลี้ยงง่าย ก็คงจะไม่ตายกันเลยหรือ

พระฤาษีฤทธิยาธรดาบสตอบว่า สัตว์ที่เกิดมาในภพสงสารนี้ ซึ่งเกิดมาในวันที่ดีไม่มีสิ่งอันใดขัดขวาง พ้นแผนซางที่ร้ายแล้ว แต่ว่าเลี้ยงยากนั้นเพราะน้ำนมของมารดาให้โทษ สำหรับกุมารที่เกิดในวันที่ร้าย เป็นซางร้าย แต่กลับเลี้ยงง่ายนั้น เพราะกุมารได้บริโภคน้ำนมที่ดีของมารดาทำให้เจริญเติบโตขึ้น ทั้งนี้สตรีมีน้ำนมที่ดีและร้ายอยู่ 6 จำพวก คือ

สตรีให้น้ำนมชั่ว 2 จำพวก
1. หญิงที่มีกลิ่นตัวคาวเหมือนน้ำล้างเนื้อ ตาแดง ผิวเนื้อขาวเหลือง นมยาน หัวนมเล็ก พูดเสียงแหบเครือ ฝ่ามือ เท้า และตัวยาว จมูกยาว หนังริมตาหย่อน สะดือลึก รูปร่างสันทัดไม่อ้วนไม่ผอม เป็นคนกินมาก ลักษณะเช่นนี้เรียกว่า หญิงยักขินี มักมีกามแรง มักทำให้กุมารเกิดโรคถ้าให้บริโภคน้ำนมเข้าไป ไม่ควรให้เป็นแม่นม

2. หญิงที่มีกลิ่นตัวเหมือนชาย ตาแดง ผิวขาว ลักษณะนมเหมือนคอน้ำเต้า ริมฝีปากกลม เสียงแข็ง ฝ่าเท้าข้างหนึ่งเล็กข้างหนึ่งใหญ่ ปากจะไม่ชิดกันเมื่อพูดจา มักเดินสะดุด อย่างนี้เป็นลักษณะของหญิงที่ชื่อว่า หญิงหัสดี มีกามแรง กุมารที่บริโภคน้ำนมเข้าไปก็เหมือนกินยาพิษ ไม่ควรให้เป็นแม่นม

แม่นม 2 จำพวกนี้ มีลักษณะที่หนาไปด้วยกามราคะทั่วทุกขุมขน กุมารแม้จะไม่มีโรคอยู่ก่อนแต่เมื่อบริโภคน้ำนมของแม่นมจำพวกนี้เข้าไปก็จะกลายเป็นโรคต่างๆ เพราะมีน้ำนมชั่ว แสลงโรค

ปัจจุบันมองว่าลักษณะดังกล่าวอาจเป็นเพราะสตรีมีฮอร์โมนเพศชายมากกว่าฮอร์โมนเพศหญิง หรือความผิดปกติของฮอร์โมน จึงทำให้น้ำนมไม่มีความสมบูรณ์ ทำให้เด็กไม่แข็งแรง ในสมัยก่อนเด็กต้องพึ่งนมแม่เพียงอย่างเดียวเพราะไม่มีอาหารเสริม แม้จะแข็งแรงดีเมื่อคลอดออกมาใหม่ๆ แต่อาจเกิดความเจ็บป่วย อ่อนแอและติดเชื้อได้ง่ายเพราะขาดอาหารที่สมบูรณ์ดังกล่าว

สตรีให้น้ำนมดี
กุมารที่ดื่มน้ำนมจากแม่ นมลักษณะดีไม่ทำให้เกิดโทษมีอยู่ 4 จำพวกคือ

1. หญิงที่มีกลิ่นตัวหอมเหมือนกล้วยไม้ ไหล่ผาย สะเอวรัด หลังราบสัณฐาน ตัวเล็ก ผิวดำ แก้มใส มือเท้าเรียว เต้านมคล้ายดอกบัวแรกแย้ม ผิวเนื้อแดง มีเสียงคล้ายสังข์ น้ำนมมีรสหวานมัน ลักษณะเช่นนี้จัดเป็นหญิงเบญจกัลยาณี ควรเลือกไว้เป็นแม่นม

2. หญิงที่มีกลิ่นตัวเหมือนดอกบัว มีเสียงเหมือนแตร ไหล่ผาย ตะโพกรัด แก้มพอง นิ้วมือและนิ้วเท้าเรียว เต้านมมีลักษณะเหมือนดอกบัวบาน ผิวเหลือง น้ำนมมีรสหวาน ลักษณะเช่นนี้จัดเป็นหญิงเบญจกัลยาณี ควรให้เป็นแม่นม

3. หญิงที่ไม่มีกลิ่นตัว เอวกลม ขนตางอน จมูกโด่ง เต้านมกลม หัวนมงอนเหมือนดอกบัวแรกแย้ม น้ำนมมีรสหวานมัน ลักษณะเช่นนี้จัดเป็นหญิงเบญจกัลยาณี ควรเลือกไว้เป็นแม่นม

4. หญิงที่มีกลิ่นตัวหอมเผ็ด มีเสียงคล้ายกะจั่น ปากดังปากเอื้อน ตาดังตาทราย ผมชันแข็ง ไหล่ผาย ตะโพกผาย หน้าผากส้วย ท้องเหมือนกาบกล้วย นมพวง น้ำนมสีขาวเหมือนสังข์ น้ำนมมีรสมันเข้ม ลักษณะเช่นนี้จัดเป็นหญิงเบญจกัลยาณี ควรเลือกไว้เป็นแม่นม

แม่นม 4 จำพวกนี้ เป็นลักษณะแม่นมเบญจกัลยาณี มักจัดสรรไว้ถวายพระมหาบุรุษราชเจ้าเสวย เรียกว่า ทิพโอสถประโยธรดุจน้ำสุรามฤต เมื่อกุมารกุมารีได้บริโภค ก็เหมือนได้กินโอสถทิพย์ แม้กุมารที่มีโรคเมื่อได้บริโภคนมดี 4 จำพวกนี้ก็จะบำบัดให้หายจากโรคได้ เพราะน้ำนมมีประโยชน์และไม่แสลงต่อโรค

ลักษณะดังกล่าวในปัจจุบันเห็นว่า เป็นลักษณะของหญิงที่มีร่างกายสมบูรณ์ มีเต้านมและหัวนมที่เหมาะสมให้เด็กดูดกิน มีอารมณ์ที่แจ่มใส น้ำนมทีสารอาหารครบถ้วนอุดมไปด้วยโปรตีน ไขมัน แคลเซียม และสารภูมิต้านทานต่างๆ จากมารดา แม้เด็กที่แรกคลอดจะไม่แข็งแรงแต่เมื่อได้รับน้ำนมที่สมบูรณ์ของมารดาก็จะทำให้แข็งแรงขึ้น โบราณจึงเปรียบน้ำนมมารดาเหมือนโอสถทิพย์ และกลไกการหลั่งน้ำนมในปัจจุบันเป็นที่ทราบกันดีว่าเกิดจากการกระตุ้นของเด็ก โดยเมื่อเด็กดูดนมก็จะเกิดการกระตุ้นไปที่สมองส่วนไฮโปทาลามัส ผ่านไปทางไขสันหลัง แล้วไปกระตุ้นต่อมของสมองส่วนหน้าให้ปล่อยฮอร์โมนโปรแลคตินเพื่อกระตุ้นการสร้างน้ำนม และฮอร์โมนอ๊อกซิโตซินก็จะกระตุ้นให้เกิดการหลั่งน้ำนมออกมา

การบำรุงน้ำนม
น้ำนมแม่
มีคุณค่าและประโยชน์ เป็นอาหารที่ดีที่สุดสำหรับลูก ซึ่งไม่มีนมชนิดอื่นมาเทียบได้ เนื่องจากมีสารอาหารอยู่อย่างครบถ้วนในน้ำนมแม่ ในน้ำนมแม่จะประกอบไปด้วยน้ำประมาณร้อยละ 87 โปรตีนร้อยละ 1.2 ไขมันร้อยละ3.5-3.8 แลกโตสร้อยละ 7.0-7.5 วิตามินและเกลือแร่ร้อยละ 0.2 ซึ่งมีความเพียงพอต่อการเจริญเติบโตของร่างกายและสมองของทารก นมแม่สามารถย่อยได้ง่าย ไม่ทำให้ท้องผูก มีสารภูมิต้านทานภูมิแพ้ต่างๆ ไม่ทำให้ท้องเสียหรือเป็นหวัดได้ง่าย ไม่ทำให้เกิดผื่นคัน หรืออาการหอบหืด ป้องกันฟันผุและภาวะตัวเหลือง ไม่ทำให้อ้วน

การเลี้ยงลูกด้วยนมแม่มีประโยชน์และผลดีต่อลูกคือ ลูกจะได้รับสารอาหารอย่างครบถ้วน สมดุลและเหมาะแก่ความต้องการ ไม่ทำให้ทารกเป็นโรคอ้วนหรือขาดสารอาหาร และในนมแม่ยังมีฮอร์โมน เอนไซม์ สารควบคุมการเจริญเติบโตของร่างกายและการทำงานของอวัยวะบางระบบ มีสารต่อต้านเชื้อโรคและมีภูมิคุ้มกันโรค ไม่ทำให้เด็กเป็นโรคภูมิแพ้ เบาหวาน ทำให้เกิดความสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้นระหว่างแม่กับลูกเนื่องจากลูกได้ความรักความอบอุ่นและการเอาใจใส่จากแม่ และแม่ที่ให้นมแม่แก่ลูกก็ยังได้รับผลดีเช่นกันคือ ทำให้มดลูกเข้าอู่เร็ว ช่วยขับน้ำคาวปลา ไขมันที่สะสมในระหว่างตั้งครรภ์ถูกนำมาใช้เพื่อผลิตน้ำนมจึงทำให้แม่มีรูปร่างเข้าสู่สภาพเดิมได้เร็วขึ้น ทำให้การตั้งครรภ์มีระยะที่ห่างออกไป โดยเฉพาะในรายที่ให้ลูกกินนมแม่เพียงอย่างเดียว ซึ่งในระยะ 6 เดือนแรกหลังคลอดโอกาสที่จะไม่ตั้งครรภ์มีถึง 98% ช่วยประหยัดค่าใช้จ่าย ลดอัตราการเกิดมะเร็งเต้านมและมะเร็งรังไข่

ดังนั้น ในระยะเริ่มต้นของชีวิต นมแม่จึงเป็นแหล่งอาหารที่ดีที่สุด เมื่อลูกได้รับน้ำนมอย่างถูกต้องควบคู่ไปกับแม่ที่มีสุขภาพดี ก็จะทำให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่ลูก

การทดสอบและการบำรุงน้ำนม
ต้องดูหญิงจากลักษณะดีชั่วทั้งนั้น ไม่ว่าจะเกิดมาในตระกูลกษัตริย์ เศรษฐี เสนาบดี พ่อค้า หรือชาวนา หากเห็นว่าน้ำนมนั้นยังไม่สมบูรณ์ ก็ควรให้ยาประสะน้ำนมเสียก่อนเพื่อให้หมดความเป็นโทษ หากจะดูว่าน้ำนมนั้นดีหรือร้าย ก็ให้เอาน้ำใส่ขันให้แม่นมหล่อนมดู ถ้าน้ำนมมีสีขาวเหมือนสังข์และจมลง มีสัณฐานเหมือนลูกบัวเกราะ ก็จัดว่าเป็นนมชั้นดี แต่ถ้านมนั้นจมลงแต่ไม่กลม ก็จัดว่าเป็นน้ำนมที่ดีรองลงมา

น้ำนมลักษณะอื่นนอกจากที่กล่าวมา หากมีรสเปรี้ยว ขม ฝาด จืดจาง มีกลิ่นคาว ก็จัดว่าเป็นน้ำนมที่มีโทษทั้งสิ้น ไม่ว่าหญิงนั้นจะมียศศักดิ์ชาติตระกูลสูงเพียงใดก็ตาม

น้ำนมพิการ 3 จำพวก
1. สตรีขัดฤดูจำพวก
2. สตรีอยู่ไฟไม่ได้ เป็นน้ำนมดิบ
3. สตรีมีครรภ์อ่อน เป็นน้ำเหลืองไหลหลั่งลงในน้ำเป็นสายโลหิตกับน้ำนมระคนกัน

นมชั่วของสตรีในลักษณะดังกล่าวหากให้ทารกดื่มกินเข้าไป จะทำให้เกิดพิษและโรคต่างๆ ได้

ในคัมภีร์ประถมจินดาผูก 1 ปริจเฉท 4 ว่าด้วยสังโยชน์นั้น พระอาจารย์กล่าวไว้ว่า เหตุที่สตรีมีลักษณะน้ำนมเป็นโทษมีอยู่ 3 ประการคือ

1. บริโภคอาหารแสลงมิชอบด้วยธาตุประการ1
2. อาหารมิควรบริโภคมาบริโภคประการ1
3. สตรีมน้ำใจระคนไปด้วยมาตุคามเป็นนิตย์ประการ1

หากทารกดื่มน้ำนมเหล่านี้ก็จะเกิดโทษ

สาเหตุน้ำนมไม่ดี
1. โลหิตกำเริบ ถ้าแลน้ำนมลอยเรี่ยรายไม่คุมกันเข้าได้ ท่านว่าเป็นเพราะโลหิตกำเริบ

2. ลมกำเริบ ถ้าแลน้ำนมหล่อลงในน้ำ เห็นสีนั้นเขียวดังน้ำหอยแมลงภู่ต้มนั้น ท่านให้ชิมดู ถ้ารสน้ำนมนั้นเปรี้ยว เป็นเพราะลมกำเริบ

3. ธาตุไฟแลกำเดากำเริบ ถ้าแลน้ำนมหล่อลงในน้ำก็ละลายในน้ำ ก็ละลายไปกับน้ำนั้น แล้วให้เอาน้ำนมมาชิมดู ถ้ารสน้ำนมนั้นฝาดเป็นธาตุไฟแลกำเดากำเริบ

4. ปถวีธาตุแลเสมหะ ถ้าแลรสน้ำนมนั้นคาวกลิ่นเหม็นดังสาบแพะ เกิดเพื่อปถวีธาตุแลเสมหะกำเริบ

5. อาโปธาตุกำเริบ ถ้าแลน้ำนมหล่อลงในน้ำจางเป็นสายโลหิตก็ดี เป็นน้ำเหลืองก็ดี เกิดเพื่ออาโปธาตุกำเริบ เพราะฤดูนั้นขัด แลสตรีมีครรภ์อันอ่อน ครั้นกุมารบริโภคเข้าไปก็อาจให้เป็นโรคต่างๆ ได้

6. น้ำนมเป็นโทษอื่นๆ น้ำนมโทษอีก 3 จำพวกคือ

มารดาอยู่ไฟมิได้ท้องเขียว ดังท้องค่าง ครั้นมารดาออกจากเรือนไฟแล้ว แลให้กุมารดื่มน้ำนมนั้นเข้าไป ก็อาจให้เป็นโรคต่างๆ ด้วยดื่มน้ำนมโทษทั้ง 3 ประการดังนี้
-น้ำนมจางสีเขียวดังน้ำต้มหอยแมลงภู่
-น้ำนมจาง มีรสอันเปรี้ยว
-น้ำนมเป็นฟองลอย

น้ำนมทั้ง 3 ประการนี้ เมื่อกุมารกุมารีได้บริโภคเข้าไปก็จะเกิดโทษไปต่างๆ อาจทำให้มีอาการลงท้อง ท้องขึ้น ตัวร้อน ปวดมวน ซึ่งเกิดจากน้ำนมดิบให้โทษ การรักษาให้ดูที่แม่นมก่อน ถ้าน้ำนมดิบก็ให้ยาแก้อาการนี้ก่อน แล้วค่อยให้ทารกดื่มนมต่อไป โรคเหล่านี้ก็จะไม่เกิดกับทารกอีก

หลักการบำรุงมารดาเพื่อให้มีน้ำนมดี
ในคัมภีร์กล่าวไว้ว่า
อันลูกเจ้าฟ้ามหากษัตริย์ เศรษฐี คหบดีผู้มีวาสนา แม้นแม่ไม่มีนมดีก็อาจไม่ลำบาก ย่อมหาแม่นมมาทดแทนได้แต่ยาจกเข็ญใจต้องช่วยด้วยการรักษาตามตำรานี้ ตกแต่งบำรุงธาตุมารดาเพื่อแก้ปัญหาน้ำนมดังนี้ ให้แต่งยาประจุโลหิตเสียก่อน แล้วแต่งยาบำรุงธาตุแลประสะน้ำนม แลยาทานมนั้นต่อไป ให้นมนั้นปราศจากมลทินโทษ จะเห็นได้ว่า ทั้งแผนไทยและแผนปัจจุบันจะให้ความสำคัญของนมแม่มาก เพราะนมแม่มีประโยชน์มากมาย ซึ่งต่างมีการรณรงค์ให้ลูกกินนมแม่กันทั้งนั้น

ที่มา:จากหนังสือวิทยาศาสตร์ในการแพทย์แผนไทย
โดยอาจารย์แพทย์หญิงเพ็ญนภา ทรัพย์เจริญ
รองอธิบดีกรมพัฒนาการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก

↑ กลับสู่ส่วนบนของหน้า