สำหรับผู้ใส่ใจในการรักษาสุขภาพ ทั้งสุขภาพกาย และสุขภาพจิต

ความเป็นมาและลักษณะการนวดแบบไทย

ในประเทศไทยเริ่มมีการนวดมาตั้งแต่เมื่อไร ไม่เป็นที่ทราบแน่ชัด แต่ในสมัยอยุธยาก็ได้เป็นที่รู้จักกันอย่างแพร่หลาย มาจนถึงสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ในรัชกาลที่ 5 รัชกาลที่ 6 ในยุคนั้นหมอนวดที่มีชื่อเสียงคือ “หมออินเทวดา” ซึ่งเป็นหมอนวดของราชสำนักและมีอีกหลายท่านที่เป็นหมอนวดร่วมสมัย วิชาการนวดทั้งหมดหมออินเทวดาก็ได้ถ่ายทอดให้กับบุตรชายซึ่งเป็นศิษย์เอกในราชสำนัก และได้ถ่ายทอดให้แก่นักศึกษาอายุรเวทวิทยาลัยต่อมา จึงทำให้การนวดแบบราชสำนักยังคงอยู่จนถึงทุกวันนี้

การรักษาโรคด้วยการนวดแบบไทยนี้ นอกจากการนวดแบบราชสำนักแล้ว ก็ยังมีการนวดแบบทั่วไปหรือแบบเชลยศักดิ์ ที่ชาวบ้านมักใช้นวดเพื่อรักษาโรคและรักษาอาการปวดเมื่อยจากการทำงานหนัก การนวดแบบเชลยศักดิ์ในปัจจุบันก็ยังมีการสอนอยู่ที่วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม ซึ่งมีสมาคมโรงเรียนแพทย์แผนโบราณแห่งประเทศไทยเป็นผู้ควบคุมดูแล ในกรุงเทพมหานครและปริมณฑลก็ยังมีการสอนนวดกันอยู่บ้างประปรายตามวัดบางแห่ง

การนวดไทยทั่วไปโดยภาพรวมมีอยู่ 2 สาย คือ การนวดสายราชสำนัก และการนวดสายเชลยศักดิ์ การนวดสายราชสำนัก มักนวดด้วยนิ้วมือเท่านั้น ท่าทางการนวดต้องสุภาพเพราะใช้ในพระราชวัง ต้องควบคุมน้ำหนักการนวดไม่ให้มากเกินไป หรือเป็นการล่วงเกินพระมหากษัตริย์และพระราชวงศ์ ส่วนการนวดสายเชลยศักดิ์ นอกจากจะใช้มือนวดแล้ว ก็ยังใช้อวัยวะอื่นๆ ด้วย เช่น ศอก ท่อนแขน ส้นเท้า และมีการดัดตัวผู้ป่วยด้วย และการนวดจะใช้เวลามาก เพราะเป็นการนวดที่เน้นเพื่อช่วยเหลือกันเองในครอบครัวหรือชุมชน

ลักษณะของการนวดแบบไทย
ลักษณะการนวดแบบไทยเดิม มีดังนี้
1. การกด
เป็นการกดลงที่ส่วนของร่างกายโดยใช้นิ้วหัวแม่มือ ทำให้เกิดการคลายตัวของกล้ามเนื้อ หลอดเลือดในบริเวณที่ถูกกดจะขับเลือดออกมา และเมื่อลดแรงกดลงจะทำให้เลือดไหลพุ่งมาที่บริเวณนั้นมากขึ้น ทำให้เลือดไหวเวียนได้สะดวก สามารถซ่อมแซมส่วนที่สึกหรอได้เร็วขึ้น แต่หลอดเลือดก็อาจได้รับอันตรายได้ถ้าใช้แรงกดหนักเกินไปหรือกดนานเกินไป เช่นอาจทำให้มีรอยช้ำเขียว หรือเกิดการฉีดขาดของเส้นเลือด เป็นต้น

2. การคลึง
เป็นการออกแรงกดให้ลึกถึงกล้ามเนื้อโดยใช้นิ้วหัวแม่มือ นิ้วมือหรือส้นมือ โดยกดให้มีการเคลื่อนไปมาของกล้ามเนื้อ หรือใช้ลักษณะคลึงเป็นวงกลม แต่อาจทำให้เกิดการฉีกขาดของเส้นเลือดได้ถ้าคลึงรุนแรงเกินไป หรืออาจทำให้ประสาทอักเสบ รู้สึกเสียวแปล๊บขึ้นมาได้ถ้าคลึงไปถูกเส้นประสาทบางแห่ง

3. การบีบ
เป็นการเพิ่มการไหลเวียนเลือดให้กับกล้ามเนื้อ ด้วยการออกแรงบีบกล้ามเนื้อให้เต็มฝ่ามือ ช่วยให้อาการเมื่อยล้าหายไปได้ และอาการเกร็งของกล้ามเนื้อก็จะลดลงด้วย แต่อาจเกิดการฉีดขาดของเส้นเลือดได้หากใช้แรงบีบนานเกินไปจนกล้ามเนื้อช้ำ จึงต้องบีบด้วยความระมัดระวัง

4. การดึง
เป็นการออกแรงดึงเส้นเอ็นของกล้ามเนื้อหรือพังผืดของข้อต่อให้ยืดออก เพื่อให้ทำหน้าที่ได้ตามปกติ มักจะได้ยินเสียงลั่นในข้อเมื่อมีการดึงข้อต่อ และไม่ควรดึงต่อไปเพราะถือว่าการดึงนั้นได้ผลแล้ว เสียงที่เกิดขึ้นมีสาเหตุมาจากอากาศซึมเข้าไปในข้อต่อแล้วเกิดเสียงลั่นขึ้นเมื่อถูกไล่ออกมา กว่าจะทำการไล่ลมให้เกิดเสียงได้อีกก็ต้องใช้เวลาให้อากาศซึมเข้าไปอีกในระยะหนึ่ง แต่เส้นเอ็นหรือพังผืดที่ฉีดขาดอยู่ก่อนแล้วอาจเป็นเพิ่มมากขึ้นจากการดึง ดังนั้น เมื่อเกิดอาการข้อต่อแพลงในระยะแรกก็ไม่ควรทำการดึง จะดึงได้ก็ต่อเมื่อผ่านไปอย่างน้อย 14 วันแล้ว

5. การบิด
เป็นการออกแรงหมุนยืดข้อต่อหรือกล้ามเนื้อเส้นเอ็นออกทางขวาง มีข้อควรระวังเช่นเดียวกับการดึง

6. การดัด
เป็นการทำให้ข้อต่อที่ติดขัดมีการเคลื่อนไหวได้ตามปกติด้วยการใช้แรงดัด การดัดอาจทำให้กล้ามเนื้อฉีกขาด หรือทำให้กระดูกผู้สูงอายุหักได้ ถ้ามีการออกแรงดัดมากหรือรุนแรงเกินไป

7. การทุบ การสับ หรือการตบตี
มักใช้กับบริเวณหลัง โดยออกแรงเป็นจังหวะเพื่อกระตุ้นกล้ามเนื้อ ทำให้หายจากอาการปวดหลัง ปวดคอ เวลาไอก็จะช่วยขับเสมหะได้ หากทำด้วยความรุนแรงเกินไปอาจทำให้กล้ามเนื้อบาดเจ็บและชอกช้ำได้

8. การเหยียบ
เป็นการให้ผู้นวดขึ้นไปเหยียบบนหลัง อาจทำให้กระดูกสันหลังหักไปทิ่มแทงไขสันหลังจนเป็นอัมพาตได้ หรืออวัยวะภายใน เช่น ตับ ไต อาจได้รับอันตรายได้ จึงต้องใช้ความระมัดระวังมาก

การนวดไทยต้องมีสมาธิทั้งผู้นวดและผู้ถูกนวด มีการพูดคุยกันเท่าที่จำเป็น และให้สังเกตผลที่เกิดจากการนวด ต้องกดแบบช้าๆ ไปบนกล้ามเนื้อโดยทิ้งน้ำหนักตัวไปตรงบริเวณที่กดแล้วหยุดนิ่งสักครู่ แล้วถอนมือออกมาอย่างช้าๆ แล้วเลื่อนไปที่จุดต่อไป ขณะนวดต้องมีการเคลื่อนไหวเป็นจังหวะไปแบบเนิบนาบและต่อเนื่องตลอดเวลา การนวดที่ดีต้องมีลักษณะ “เนิบนาบ นัวเนีย หนักแน่น และนุ่มนวล” คำว่า “นัวเนีย” หมายถึง การถอนมือออกจากตัวผู้รับการนวดอย่างช้าๆ ไม่ให้มือหลุด ทำให้ไม่ขาดช่วงในการสัมผัส คำว่า “หนักแน่น” หมายถึง การกดที่นุ่มนวล ไม่กระแทกกระทั้นแต่ลึกนั่นเอง

ที่มา:จากหนังสือวิทยาศาสตร์ในการแพทย์แผนไทย
โดย: ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.มุกดา ตันชัย
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ประจำสาขาวิชาพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช และ
อาจารย์อภิชาต ลิมติยะโยธิน
อาจารย์พิเศษสถานการแพทย์แผนไทยประยุกต์ คณะแพทย์ศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล

↑ กลับสู่ส่วนบนของหน้า