สำหรับผู้ใส่ใจในการรักษาสุขภาพ ทั้งสุขภาพกาย และสุขภาพจิต

การนวดลดความเจ็บปวดของกล้ามเนื้อ

กระดูก ข้อต่อ กล้ามเนื้อ เอ็น และกระดูกอ่อน จะเป็นส่วนประกอบของระบบกระดูกและกล้ามเนื้อ เป็นโครงสร้างของร่างกายที่มีหน้าที่รองรับน้ำหนัก ที่ยึดเกาะของกล้ามเนื้อก็คือกระดูก เกิดการเคลื่อนไหวได้ด้วยเส้นเอ็นและพังผืด สร้างเม็ดเลือด เป็นแหล่งสะสมของแคลเซียม และป้องกันอวัยวะภายใน มีข้อต่อที่ส่วนปลายของกระดูกทำให้เคลื่อนไหวไปในทิศทางต่างๆ ได้ โดยอาศัยกล้ามเนื้อที่อยู่เหนือและต่ำกว่าข้อต่อมีการยืดหดตัว กล้ามเนื้อจะได้รับผลโดยตรงจากการนวด และช่วยให้ข้อต่อมีการเคลื่อนไหวได้บ้าง ข้อต่อแต่ละชนิดจะเคลื่อนไหวไปในทิศทางที่ต่างกัน ข้อต่อโดยทั่วไปจะประกอบไปด้วยกระดูกที่มาเชื่อมต่อกันสองชิ้น โดยที่ปลายทั้งสองข้างจะมีกระดูกอ่อนบุอยู่ และรอบกระดูกทั้งสองนั้นจะมีพังผืดหุ้มรอบอยู่ด้วย ทำให้ภายในข้อต่อเกิดเป็นช่องว่างและมีน้ำมาหล่อเลี้ยง ข้อต่อที่มีเส้นเลือดมาหล่อเลี้ยงจะสิ้นสุดที่พังผืดบริเวณหุ้มข้อเท่านั้น จะเข้าไปในข้อต่อไม่ได้ ทำให้ยาฉีดและยากินทุกชนิดผ่านเข้าข้อต่อได้ยาก ข้อต่อจะได้รับอาหารและยาจากการซึมผ่าน กระบวนการนี้จะเกิดได้ดีเมื่อข้อมีการเคลื่อนไหวหรือยืด การฉีดยาเข้าข้อตัวยามักจะไปทำลายกระดูกอ่อน จึงอาจทำให้ข้อเสื่อมเร็วขึ้น ในกล้ามเนื้อปกติอาหารและยาจะซึมผ่านข้อต่อได้เร็วขึ้นด้วยการนวด ทำให้กล้ามเนื้อหายล้าและมีความตึงตัวเป็นปกติได้เร็ว ส่วนการนวดในกล้ามเนื้อที่ได้รับความบาดเจ็บ จะทำให้เกิดพังผืดลดลง และทำให้เนื้อเยื่อมีความหนาตัวลดลงด้วย และการนวดกล้ามเนื้อที่ขาดเส้นประสาทมาเลี้ยง ก็จะช่วยลดพังผืดและการยึดติด ช่วยให้การลีบของกล้ามเนื้อลดลง และการนวดก็ทำให้กล้ามเนื้อที่ตึงจนเกิดการระคายเคืองและเจ็บปวดมีการผ่อนคลายและบรรเทาอาการปวดลงได้ การนวดกล้ามเนื้อทำให้กระดูกบริเวณนั้นมีเลือดมาเลี้ยงเพิ่มขึ้น ซึ่งมิได้มีผลต่อกระดูกโดยตรง และไม่ทำให้อาการของกระดูกลดลง ในรายที่มีกระดูกหัก การนวดจะช่วยให้กระดูกติดกันได้เร็วยิ่งขึ้น ถ้าไม่นวดให้ปลายกระดูกบริเวณนั้นเคลื่อนที่

การนวดที่มีผลต่อการลดความเจ็บปวด ความเมื่อยล้า และกล้ามที่ฝ่อลีบ มีผลงานวิจัยดังนี้

การนวดลดความเจ็บปวดของกล้ามเนื้อในส่วนต่างๆ ของร่างกาย
การนวดเพื่อลดอาการเมื่อล้า
จากการศึกษาในกลุ่มตัวอย่างที่มีอาการเมื่อยล้าบริเวณต้นขา ของไรเดอร์ และซูเทอแลนด์(Rinder & Sutherland, 1995:99-102) แบบ cross-over study โดยแยกเป็นกลุ่มที่ใช้การนวด และกลุ่มที่ใช้วิธีพัก โดยกลุ่มที่ใช้การนวดจะนวดที่บริเวณกล้ามเนื้อต้นขาส่วนหน้า นาน 3 นาที ด้วยวิธีการลูบหนักและการคลึง ส่วนการพักใช้เวลา 6 นาที กลุ่มตัวอย่างต้องยืดขาให้มากที่สุดภายหลังการนวดและการพัก พบว่า การนวดทำให้หายจากอาการเมื่อยล้าที่กล้ามเนื้อต้นขาเร็วกว่าการพักอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ ได้แสดงให้เห็นว่า การนวดอาจจะไม่ได้ผลในบางงานวิจัย แต่กล้ามเนื้อที่เมื่อยล้าก็ไม่เป็นอันตราย และการนวดอาจเกิดประสิทธิภาพรวมกันอยู่ทั้งทางกายและจิตใจ

การนวดลดความเจ็บปวดที่กล้ามเนื้อส่วนหลัง
การศึกษาของสมิท (Smith, 1994:93-99) จากผู้ชายจำนวน 14 คน ที่ไม่ชินกับการออกกำลังกายหรือใช้กล้ามเนื้อมากผิดปกติ จนทำให้กล้ามเนื้อช่วงหลังเกิดการอักเสบเฉียบพลัน ทำให้รู้สึกเจ็บปวดขึ้นภายใน 8-24 ชั่วโมง และอาจปวดอยู่นาน 48 ชั่วโมงหลังจากออกกำลังกาย และภายใน 2-3 วันก็จะหายไปได้ กลุ่มศึกษาได้ทำการงอและยืดข้อศอกอย่างหนัก และ 2 ชั่วโมงหลังจากออกกำลังกายจะได้รับการนวด 30 นาที ส่วนในกลุ่มควบคุมก็จะให้พัก ก่อนและหลังการออกกำลังกายก็จะมีการติดตามระดับเครียทีนไคเนส(creatine kinase) และนิวโทรฟิลในเลือดเป็นช่วงๆ จนครบ 120 ชั่วโมง พบว่า ความเมื่อยล้าของกล้ามเนื้อและระดับเครียทีนไคเนสลดลงในกลุ่มที่ได้รับการนวด และทำให้ในกระแสเลือดมีระดับนิวโทรฟิลสูงขึ้นเป็นเวลานาน ซึ่งแสดงให้เห็นว่า การอักเสบและความเจ็บปวดลดลงได้เพราะในกล้ามเนื้อไม่มีนิวโทรฟิลสะสมอยู่

การนวดเพื่อเพิ่มความสามารถในการก้มตัว เมื่อความตึงของกล้ามเนื้อหลังและขาลดลง
นอร์ดชาว์ และเบอร์แมน (Nordschav & Bierman, 1962: 653-657) ได้ทำการศึกษากลุ่มตัวอย่าง 25 คน เกี่ยวกับความสัมพันธ์ของความตึงของกล้ามเนื้อหลังและขาที่มีผลต่อความสามารถในการก้มตัว โดยการใช้นิ้วแตะพื้นเพื่อวัดความสามารถในการก้มตัว ซึ่งแบ่งเวลาวัดออกเป็น 2 ช่วง ในช่วงแรกจะเป็น 30 นาทีก่อนและหลังพัก ส่วนในช่วงที่สองจะเป็น 30 นาทีก่อนและหลังนวด โดยใช้การนวดที่บริเวณขาทั้งสองข้างและหลังทั้งหมด พบว่า กลุ่มที่ทำการนวดสามารถก้มตัวได้มากกว่ากลุ่มที่พัก แสดงให้เห็นว่า แม้จะไม่สามารถอธิบายกลไกการนวดที่ส่งผลต่อร่างกายได้ชัดเจน แต่การนวดก็ทำให้เกิดการผ่อนคลายของกล้ามเนื้อที่อยู่ในอำนาจของจิตใจ

การนวดเพื่อลดอาการปวดและความตึงตัวของกล้ามเนื้อหลังและไหล่
จากการศึกษาหญิงที่มีอาการปวดและตึงหลังและไหล่ทั้งสองข้างจำนวน 13 คน ของแดนเนสคิโอล-แซมโซ และคณะ(Danneskiold-Samsoe, et. al., 1982 cited in Hollis 1998: 39) โดยใช้การนวด 10 แบบกับกลุ่มตัวอย่างนาน 30-45 นาที และติดตามระดับมัยโอโกลบินในพลาสมาและวัดค่าความตึงของกล้ามเนื้อหลังจากการนวดในแต่ละแบบแล้ว พบว่า หลังการนวดในระยะแรกระดับมัยโอโกลบินในพลาสมาจะสูงขึ้น และหลังการนวด 3 ชั่วโมงก็จะขึ้นสูงสุด แสดงให้เห็นว่า เมื่อมีการนวดต่อไปก็จะทำให้ความตึงตัวของกล้ามเนื้อลดลง ดังนั้น กล้ามเนื้อที่มีความตึงตัวจึงเกิดจากมีการหลั่งของมัยโอโกลบินในพลาสมา และความตึงตัวของกล้ามเนื้อจะลดลงจนเข้าสู่ภาวะปกติได้ด้วยการนวด แต่ถ้านวดกล้ามเนื้อที่ไม่มีความเจ็บปวดหรือกดเจ็บก็จะไม่มีการเปลี่ยนแปลงของระดับมัยโอโกลบินในพลาสมา

การนวดเพื่อลดอาการปวดกล้ามเนื้อ
จากการศึกษาผู้ใหญ่ 30 คน ที่มีอาการปวดกล้ามเนื้อ ของ ซันชาย และคณะ(Sunshine, et. al., 1996: 18-22) โดยแบ่งผู้ป่วยออกเป็น 2 กลุ่ม กลุ่มหนึ่งจะใช้การนวดเพื่อรักษา และอีกกลุ่มจะใช้การกระตุ้นทางผิวหนังด้วยอุปกรณ์ไฟฟ้า โดยใช้เวลา 5 สัปดาห์ สัปดาห์ละ 2 ครั้ง แต่ละครั้งใช้เวลานาน 30 นาที โดยใช้โดโลริมิเตอร์(dolorimeter) วัดอาการปวดของกล้ามเนื้อ พบว่า ระดับความวิตกกังวลและซึมเศร้าลดลงในกลุ่มที่ได้รับการนวด และภายหลังการนวดวันแรกและวันสุดท้าย ระดับคอร์ติโซลจะลดต่ำลงทันที และพบว่ามีการเปลี่ยนแปลงที่คล้ายกันในกลุ่มที่รักษาด้วยอุปกรณ์ไฟฟ้า แต่ในวันสุดท้ายของการรักษาจึงจะได้ผล ในกลุ่มที่ได้รับการนวดอาการปวดกล้ามเนื้อจะดีขึ้น มีอาการปวดน้อยในสัปดาห์สุดท้าย มีความเมื่อยล้าและอาการข้อติดลดลง นอนหลับได้ดี สำหรับผู้ป่วยกลุ่มนี้การนวดจึงเป็นการรักษาที่มีประสิทธิภาพมากที่สุด ซึ่งสอดคล้องกันกับการศึกษาของฟิลด์ และคณะ(Field, T, et. al., 2002) จากผู้ป่วย 24 คนที่มีอาการปวดกล้ามเนื้อ โดยเปรียบเทียบระดับซับสแตนซ์พีจากการบำบัดด้วยการนวด กับการให้พักผ่อนนอนหลับ โดยใช้เวลาในการบำบัดผู้ป่วยรวม 5 สัปดาห์ สัปดาห์ละ 2 ครั้ง ในแต่ละครั้งใช้เวลานาน 30 นาที พบว่า หลังการบำบัดในวันแรกและวันสุดท้ายทั้งสองกลุ่มมีความวิตกกังวลและซึมเศร้าลดลงทันที และกลุ่มที่ได้รับการนวดจะนอนหลับได้ยาวนานขึ้น มีระดับของซับสแตนซ์พีลดลง มีอาการปวดลดลง และมีจุดที่กดเจ็บน้อยลงด้วย และผลการศึกษานี้ก็มีความสอดคล้องกันกับการนวดเพื่อลดอาการปวดกล้ามเนื้อและการปวดในลักษณะอื่นๆ ของประโยชน์ บุญสินสุข และคณะ(2538) ด้วย จากการศึกษาจากผู้ป่วย 238 คน ที่มีอาการปวดกล้ามเนื้อและปวดในรูปแบบอื่นๆ เช่น การไหลเวียนของเลือดไม่สะดวก การยึดติดของพังผืด เป็นต้น โดยทำการนวดติดต่อกัน 3 ครั้ง พบว่า อาการปวดของผู้ป่วยทุกกลุ่มลดลงเฉลี่ย 1 ระดับหลังจากการนวดครั้งแรก อาการปวดจะลดลงมากในกลุ่มที่มีอาการปวดกล้ามเนื้อ และระดับการปวดเกือบทุกกลุ่มจะลดลง 2 ระดับหลังจากการนวดครั้งที่ 3 ยกเว้นกลุ่มที่ปวดกล้ามเนื้อเข่า ส่วนใหญ่แล้วองศาการเคลื่อนไหวจะเพิ่มขึ้นหลังจากการนวดครั้งแรกและครั้งที่ 3 แต่ข้อต่อยังไม่เข้าสู่ค่าปกติในการเคลื่อนไหว จึงสรุปได้ว่า อาการปวดกล้ามเนื้อ อาการปวดจากเลือดไหลเวียนไม่สะดวก และการปวดจากการยึดติดของเยื่อพังผืด สามารถลดลงได้ดีเมื่อใช้การนวดบำบัดรักษา

ที่มา:จากหนังสือวิทยาศาสตร์ในการแพทย์แผนไทย
โดย: ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.มุกดา ตันชัย
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ประจำสาขาวิชาพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช และ
อาจารย์อภิชาต ลิมติยะโยธิน
อาจารย์พิเศษสถานการแพทย์แผนไทยประยุกต์ คณะแพทย์ศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล

↑ กลับสู่ส่วนบนของหน้า