สำหรับผู้ใส่ใจในการรักษาสุขภาพ ทั้งสุขภาพกาย และสุขภาพจิต

การนวดตามเส้นอิทา

ทางเดินของเส้นอิทาตามแผนฉบับหลวง รัชการที่ 5
เอ็นเส้นหนึ่งชื่อว่า อิทา นั้น แล่นออกมาแต่นาภีแล้วไปเอาหัวเหน่า ไปเอาต้นขาเบื้องซ้ายแล้ว ไปเอาสันหลัง แนบขึ้นไปตามกระดูกสันหลังซ้ายแล้ว แล่นผ่านกระหวัดขึ้นไปบนศีรษะแล้วกลับลงมาเอานาสิกซ้าย อยู่ประจำลมจมูกอันชื่อว่า จันทกลาเบื้องซ้าย นั้นแล

ทางเดินของเส้นอิทาตามตำราโรคนิทานคำฉันท์ 11
เกิดเป็นเส้นอิทา             ให้คิลาน์กำเริบราญ
เส้นนี้วิถีผ่าน                    แต่นาภีพาดหัวเหน่า
แล่นตลอดลงต้นขา        เลี้ยวตลอดน่าสันหลังกล่าว
แนบกระดูกสันหลังราว   ผ่านขึ้นไปจนสุดเศียร
แล้วเกี่ยวเลี้ยวตลบลง    นาศิกตรงซ้ายจำเนียร
ประจำลมสถิตย์เสถียร    จันทกาลทุกราตรี

ทางเดินของเส้นอิทาสรุปได้ว่า
อยู่ห่างจากสะดือข้างซ้ายประมาณ 1 นิ้วมือ แล้วลงไปที่บริเวณหัวเหน่า แล้วผ่านต้นขาซ้ายด้านในลงมา ลงไปยังหัวเข่า แล้วขึ้นมาที่ต้นขาซ้ายด้านนอก ผ่านกึ่งกลางแก้มก้นขึ้นมาตามกระดูกสันหลังข้างซ้าย มาที่ต้นคอตลอดไปถึงศีรษะ แล้วลงมาที่หน้าผากไปจรดที่จมูกซ้าย ลมประจำมีชื่อว่า จันทกลา

ลมประจำเส้นอิทาและการเกิดโรค
-ลมจันทกลา(ลมปะกัง), (ลมสันนิบาต)
ทำให้มีอาการปวดศีรษะรุนแรง วิงเวียน ตามัวในตอนกลางคืน เจ็บตา มีไข้ตัวร้อน มีอาการชักปากเบี้ยว เสียวตามหน้าตา เจ็บบริเวณสันหลัง มีเลือดกำเดาออกมาด้วยในบางครั้ง เกิดจากกำเดาและปิตตะระคนกันเกิดโทษสอง ที่ทำให้ตัวร้อนจะเป็นอาการที่เรียกว่า ลมปะกัง และบางครั้งก็เป็นลมสันนิบาต มักมีอาการในตอนเย็น หากมีอาการอยู่ถึง 7 วัน อาจทำให้เสียชีวิตได้

-ลมพหิ(ลมพหิตวาต)

เป็นลมที่เกิดในท้อง ทำให้เจ็บเหมือนถูกงูลายสาบกัด ทำให้มีอาการเซื่องซึม และสลบ

-ลมสัตตะวาต
เกิดจากกินอาหารหวานมากเกินไป หรือกินอาหารวันละ 4-5 เวลา ทำให้มีอาการมือเท้าสั่น

วิธีแก้ลมประจำเส้นอิทา
ให้นวดตามแนวเส้นอิทาประกอบกับการปรุงยา หรือมีการประกอบยาเป็นพิเศษ และมีพิธีกรรมด้วยในบางครั้ง
-ลมขึ้นเบื้องสูง
ทำให้มีอาการปวดศีรษะ ให้นวดบริเวณศีรษะตามจุด แล้วปรุงยาประกอบด้วยคือ ใช้กุ่มน้ำ ยอดตะขบ เจตมูลเพลิง อย่างละ 7 ยอด ดองดึงส์หัวขวาน ขิง กระเทียม พริกไทยใส่พอเข้าก้นหม้อ นำมาเผาให้เกรียมแล้วบดให้ละเอียดผสมกับสุรา ใช้พอกบริเวณขมับ โรคอื่นก็ใช้ยานี้ได้ด้วย

-ลมจะโปง(จับโปง)
มีทั้งลมจะโปงแห้ง และลมจะโปงน้ำ ทำให้มีอาการปวดบริเวณข้อเข่าใช้ยาสูตรเดียวกับลมขึ้นเบื้องสูง หลังการนวดแล้วให้ใช้ยาดังกล่าวพอกที่บริเวณเข่า

-ลมปะกัง
เป็นอาการปวดศีรษะเพียงข้างเดียว มีวิธีการรักษาอยู่ 3 วิธีคือ

1. ใช้พิธีกรรม
เอาเปลือกมะพร้าวมาทำเป็นรูปคนแล้วเขียนชื่อคนเจ็บไว้ แล้วบริกรรมคาถาพร้อมกับใช้เข้มปักที่ศีรษะ เมื่อทำครบ 3 วัน ให้เอารูปนั้นไปทิ้งทางทิศตะวันตก

2. ใช้วิธีนวด
ใช้การนวดบริเวณศีรษะ นวดที่ฐานบ่าแล้วกดจุด 3 จุดที่ท้ายทอย แล้วกดจุดที่เป็นบริเวณขมับ

3. ใช้ยา
ยาทา
ให้นำพริก ขิง เมล็ดมะนาว ดีงูเหลือม เกลือ 2 นิ้วหยิบ นำมาบดให้ละเอียดแล้วทำเป็นแท่งยาวๆ นำมาฝนกับน้ำมะนาว ทำให้บริเวณเปรียบหูเกิดแผลแล้วใช้ยาทา จะทำให้รู้สึกแสบอยู่สักระยะแล้วก็หายไป วิธีนี้ไม่ควรนำมาใช้ในปัจจุบัน

ยานัตถุ์
ใช้ลูกคนทีสอ ว่านน้ำ นำมาตำให้ละเอียด กรองเอาแต่น้ำมาทำเป็นยานัตถุ์

-ลมจันทร์
ทำให้พิการจากการชักปากเบี้ยว เสียวหน้าตา

วิธีรักษา
การนวด ให้เริ่มนวดตั้งแต่ริมซ้ายของจมูก นวดที่เส้นอิทาบริเวณท้อง และนวดบริเวณหลังไปจนถึงศีรษะ

ยาพอก ใช้ใบมะแว้งทั้งสอง ใบมะเขือขื่น ใบเจตมูลเพลิง ขมิ้นอ้อย ดินประสิวรำหัด นำมาบดให้ละเอียดแล้วหยดน้ำส้มสายชูลงไปเล็กน้อย ใช้พอกริมปากข้างที่ชัก

ยารับประทาน ใช้หัสคุณเทศยี่สิบบาท มหาหิงคุ์สามสลึง บุกกลอย หัวกระดาษทั้งสอง ดองดึงส์ อุตพิษ รากส้มกุ้ง ขิง แห้วหมู สะค้าน จิงจ้อ ชะพลู สิ่งละตำลึง ตรีกฏุก สมอไทย ทั้งหมดใช้ในปริมาณที่หนักเท่ากันนำมาบดให้ละเอียด ปั้นด้วยน้ำผึ้งเท่าเม็ดพุทรา ใช้กินทั้งเช้าและเย็น ยานี้ใช้แก้อาการเป็นเถาเป็นเอ็นในครรภ์ เอ็นห่อเกร็ง เป็นโรคชักปากเบี้ยว เสียวตาแหก แก้ลมขบทั้งตัว คันเหมือนตะนอยต่อย ลมพานไส้ ก็ได้ ถ้าคนไข้มีกำลังน้อยให้กินเท่าเม็ดพริกไทย 3 เม็ดต่อมื้อ

ยาโลกาธิจร เป็นยารักษาโรคอัมพฤกษ์ แก้อาการลมชักปากเบี้ยว

ตามแนวเส้นอิทาเมื่อพิจารณาถึงโรค และอาการของโรคแล้ว ก็น่าจะเป็นเส้นที่เกี่ยวกับพลังหรือการทำงานของระบบประสาทและเส้นเลือด เช่น เส้นเลือดแดงใหญ่ เส้นเลือดดำใหญ่ และเส้นเลือดแขนงของ Iliac artery & vein ซีกซ้าย และน่าจะเป็นเส้นประสาทและเส้นเลือดที่มาเลี้ยงลำไส้ใหญ่ส่วนปลาย และไปเลี้ยงบริเวณรอบๆ อวัยวะเพศส่วนหนึ่ง และมีอีกส่วนหนึ่งที่ไปเลี้ยงบริเวณขา

ในตำราโบราณมีกล่าวไว้ว่า เส้นอิทาจะแบ่งกลุ่มเส้นเลือดและประสาทที่มาเลี้ยงบริเวณร่างกายซีกซ้ายทั้งหมดโดยอ้อมไปแนบสันหลังแล้วขึ้นสู่ข้างบน ซึ่งในตำราโรคนิทานเรื่องเส้นหมายถึง ซึ่งร้อยรัดทั่วร่างกาย มีสีขาว มีรูผ่านของหลอดลม จึงสรุปว่าเป็นเพียงเส้นเลือดและเส้นเอ็นไม่ได้ ซึ่งอาจรวมไปถึงไขสันหลัง ระบบประสาทอัตโนมัติ หรือพลังอื่นๆ ที่ยังไม่ทราบด้วย

แนวจุดนวดด้านหน้าตามเส้นอิทา

จุดนวด ตำแหน่งจุดบนร่างกาย
แก้ปวดขมับ กึ่งกลางร่องไหปลาร้า
แก้ลมดูดสะบัก หน้าอก(ใต้กระดูกไหปลาร้า)
แก้หาวคางค้าง กึ่งกลางกระดูกแกนกลางหน้าอก
แก้หูตึง กึ่งกลางกระดูกแกนกลางหน้าอก
แก้นาสิกตึง กึ่งกลางกระดูกแกนกลางหน้าอก
แก้นมมิออก ใต้ราวนม
แก้ลมเบ่งให้เกิด ใต้ลิ้นปี่เยื้องไปทางชายโครงเล็กน้อย
แก้ขัดอุจจาระ บริเวณหน้าท้องตรงแนวของลำไส้ใหญ่
แก้เมื่อยต้นขา ตรงบริเวณเชิงกรานหน้าท้องน้อย
แก้ฟองดันบวม มี 2 ตำแหน่ง คือ

1. อยู่ตรงเชิงกรานใกล้หัวเหน่า

2. อยู่ตรงโคนขาหนีบ

แก้เหน็บชา กึ่งกลางด้านในห่างโคนขาประมาณ 2 นิ้วมือ
แก้เมื่อยแข้ง ร่องกระดูกสันหน้าแข้งด้านนอก
แก้ขัดเข่า เหนือขอบลูกสะบ้ามุมบนด้านนอก
แก้เท้าเย็น ข้อเท้าด้านหน้า
แก้ชักเท้า ข้อเท้าด้านหน้า
แก้ลมขัง ใต้ตาตุ่มด้านใน
แก้ร้อนฝ่าเท้า ระหว่างร่องนิ้วโป้งและนิ้วชี้

แนวจุดนวดด้านหลังตามเส้นอิทา

จุดนวด ตำแหน่งจุดบนร่างกาย
แก้ปวดกระหม่อม อยู่ตรงจุดกึ่งกลางยอดหัว
แก้ปวดหน้าผาก แนวกึ่งกลางใต้จุดยอดหัว
แก้คลื่นเหียน กระดูกต้นคอปล้องสุดท้าย
แก้ร้อนตัว แนวเส้นข้างกระดูกสันหลังตั้งแต่บริเวณกระดูกอก
แก้คลื่นเหียน แนวเส้นข้างกระดูกสันหลังตั้งแต่บริเวณกระดูกอก
แก้หายใจขัด แนวเส้นข้างกระดูกสันหลังตั้งแต่บริเวณกระดูกอก
แก้แน่นอก แนวเส้นข้างกระดูกสันหลังตั้งแต่บริเวณกระดูกอก
แก้จุกอก แนวเส้นข้างกระดูกสันหลังตั้งแต่บริเวณกระดูกอก
แก้จับให้ร้อน แนวเส้นข้างกระดูกสันหลังตั้งแต่บริเวณกระดูกอก
แก้จับให้หนาว แนวเส้นข้างกระดูกสันหลังตั้งแต่บริเวณกระดูกอก
แก้ร้อนอก แนวเส้นข้างกระดูกสันหลังตั้งแต่บริเวณกระดูกอก
แก้สะท้านร้อน-หนาว แนวเส้นข้างกระดูกสันหลังตั้งแต่บริเวณกระดูกอก
แก้เสียดชายโครง ร่องกล้ามเนื้อกระดูกซี่โครง
แก้เมื่อยเอว ข้างกระดูกสันหลังช่วงเอวข้อที่ 3
แก้ขัดเข่า ตรงใต้พับข้อเข่า
แก้ลมให้เดินตลอด ต่ำกว่าจุดใต้พับข้อเข่าเล็กน้อย
แก้ตะคริวฝ่าเท้า ตรงกึ่งกลางน่องด้านหลัง
แก้ร้อนฝ่าเท้า ตรงร่องระหว่างนิ้วโป้งและนิ้วชี้หลังเท้า

ที่มา:จากหนังสือวิทยาศาสตร์ในการแพทย์แผนไทย
โดย: ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.มุกดา ตันชัย
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ประจำสาขาวิชาพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช และ
อาจารย์อภิชาต ลิมติยะโยธิน
อาจารย์พิเศษสถานการแพทย์แผนไทยประยุกต์ คณะแพทย์ศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล

↑ กลับสู่ส่วนบนของหน้า