สำหรับผู้ใส่ใจในการรักษาสุขภาพ ทั้งสุขภาพกาย และสุขภาพจิต

การนวดตามเส้นกาลทารี

ทางเดินของเส้นกาลทารีตามแผนนวดฉบับหลวง รัชกาลที่ 5
เอ็นเส้นหนึ่งชื่อว่า กาลทารี นั้น แล่นออกมาแต่นาภี แล้วแตกออกเป็น 4 เส้น สองเส้นนั้นแล่นขึ้นไปโดยข้างทั้งสองแล้ว ไปเอาลำแขนทั้ง 2 ตลอดลงไปถึงนิ้วมือทั้ง 10 นั้นแล 2 เส้นนั้นเล่าแล่นลงไปต้นขาทั้ง 2 ลงไปตามลำแข้งทั้ง 2 ตลอดลงไปถึงนิ้วเท้าทั้ง 10 นั้นแล

ทางเดนของเส้นกาลทารีตามตำราโรคนิทานคำฉันท์ 11
อาจารย์ท่านพรรณนา                           แล่นออกมาแต่นาภี
กลับแตกแยกเปนสี่                              สองเส้นนี้ผ่านขึ้นไป
ตามโครงสุดข้างละเส้น                        ร้อยขึ้นไปเปนสบักใน
ทั้งซ้ายขวาตามนิสัย                             แล่นขึ้นไปกำด้นครัน
ตลอดเศียรเวียนกระหลบ                      แล่นทวนทบจรจัล
โดยหลังแขนทั้งสองนั้น                       ออกไปงันที่ข้อมือ
แตกแยกเปนห้าแถว                             ตามแนวนิ้วให้ยึดถือ
สองข้างทุกนิ้วมือ                                 ให้ยึดถือทำต่างๆ
สองเส้นเบื้องใต้นั้น                               แล่นผกผันลงเบื้องล่าง
ตามหน้าของสองข้าง                           วางลงไปหน้าแข้งพลัน
หยุดพอเพียงข้อท้าว                            แตกออกเหล่าละห้าอัน
เอ็นหนึ่งทั้งห้านั้น                                 ทั้งสองข้างดังกล่าวมา

ทางเดินของเส้นกาลทารีสรุปได้ดังนี้
ตำแหน่งของเส้นนี้จะอยู่บริเวณเหนือสะดือไปประมาณ 1 นิ้วมือ แล้วแตกออกไปอีกเป็น 4 เส้น โดย 2 เส้นบน จะแล่นขึ้นไปข้างละเส้นของชายโครงซี่สุดท้าย แล้วผ่านร้อยขึ้นไปทั้งทางซ้ายและขวาของสะบัก แล่นขึ้นไปกำด้นต้นคอตลอดเศียร แล้วเวียนลงมาบรรจบที่หลังแขนทั้งสอง ไปที่ข้อมือแตกตามนิ้วเป็น 5 แถว ส่วน 2 เส้นล่าง จะแล่นไปตามหน้าขาทั้งสองข้าง แล้วลงไปที่หน้าแข้งสิ้นสุดที่ข้อเท้า แล้วแตกออกบนหลังเท้าไปตามนิ้วเท้าเป็น 5 แถว

ลมประจำเส้นกาลทารี(ฆานทารี) และการเกิดโรค
ไม่ระบุชื่อลม
จะทำให้เกิดอาการชาทั่วตัว ทำให้เจ็บและเย็นสะท้าน เกิดจากการกินอาหารที่แสลงเข้าไป เช่น ข้าวเหนียว ถั่ว มักเกิดขึ้นในวันอาทิตย์ หรือวันจันทร์

ลมสหัสรังสี(ลมสันนิบาต)
เมื่อลมชนิดนี้จับแรกๆ จะทำให้นอนแน่นิ่งไป โดยไม่รู้สึกตัว

วิธีแก้ลมประจำเส้นกาลทารี
เพื่อให้อาการต่างๆ บรรเทาเบาบางลง ก็ให้นวดไปตามแนวของเส้นกาลทารี และใช้ยาแก้ปัถวีธาตุกิน

เมื่อเปรียบเทียบเส้นกาลทารีแล้ว ก็มีความใกล้เคียงกับระบบเส้นเลือด และระบบประสาทที่ไปเลี้ยงบริเวณ แขน ขา ในท้อง ซึ่งจุดต่างๆ สามารถอธิบายและทำได้ง่าย ในแต่ละอาการของโรคก็พบได้บ่อย เช่น เมื่อไหล่ แขน ขา เอว เกิดปัญหาขึ้น และไม่เป็นจุดที่ซับซ้อน ก็สามารถนำประสบการณ์จากการนวดมาอธิบายได้ง่าย แต่จุดที่มีความซับซ้อนกับเส้นอื่นๆ เช่น บริเวณหลังและหน้าท้อง ต้องมีการพิจารณาว่าเป็นจุดเดียวกันหรือไม่

แนวจุดนวดด้านหน้าตามเส้นกาลทารี

จุดนวด ตำแหน่งจุดบนร่างกาย
แก้ขบไหล่ให้หิว บริเวณร่องไหปลาร้า
แก้ขัดไหล่ให้ยอก บริเวณร่องไหปลาร้า
แก้เมื่อยไหล่ บริเวณข้อไหล่ด้านหน้า
แก้ไหล่ลดยกไม่ได้ บริเวณข้อไหล่ด้านหน้า
แก้มือตายให้เย็น ใต้รักแร้
แก้ร้อนผางโอยิ่งนัก ใต้รักแร้
แก้ปลายมือเหน็บชา ใต้กึ่งกลางกล้ามเนื้อลูกหนู
แก้ตลอดปลายมือ ใต้กึ่งกลางกล้ามเนื้อลูกหนู
แก้ปัถวีธาตุให้ผูก บริเวณด้านข้างท้องซ้าย-ขวา
แก้อโธคมาวาต บริเวณด้านข้างท้องซ้าย-ขวา
แก้ขัดข้อมือขัดศอก ตรงพับข้อศอก
แก้ขัดศอกงอมิได้ ตรงพับข้อศอก
แก้อัมพาต เหนือสะดือ 1 นิ้วมือ
แก้ให้เตโชออก บริเวณท้อง
แก้อาโปพิการ บริเวณท้อง
แก้เท้าตายยกไม่ขึ้น เส้นเลือดแดงใหญ่บริเวณท้องน้อย
แก้เท้าตาย เส้นเลือดแดงใหญ่บริเวณท้องน้อย
แก้อัมพาต ตรงบริเวณหน้าขาหนีบ

แนวจุดนวดด้านหลังตามเส้นกาลทารี

จุดนวด ตำแหน่งจุดบนร่างกาย
แก้ลมให้ไหล่ตาย ร่องขอบปีกสะบักด้านบน
แก้ลมดูดสะบัก ตรงกระดูกอกข้อที่ 1-2
แก้ลมสะบักตาย ตรงกึ่งกลางของปีกสะบัก
แก้แขนซ้าย-ขวาตาย ตรงข้อต่อกระดูกหัวไหล่
แก้เจ็บหลัง บริเวณข้างกระดูกสันหลังช่วงอกและเอว
แก้ลมให้แสบอก บริเวณข้างกระดูกสันหลังช่วงอกและเอว
แก้วาโยธาตุพิการ บริเวณข้างกระดูกสันหลังช่วงอกและเอว
แก้ปัถวีธาตุพิการ บริเวณข้างกระดูกสันหลังช่วงอกและเอว
แก้เตโชธาตุถอย บริเวณข้างกระดูกสันหลังช่วงอกและเอว
แก้อาโปธาตุถอย บริเวณข้างกระดูกสันหลังช่วงอกและเอว
แก้ลมให้แขนตาย กึ่งกลางสะโพก
แก้อันทพฤกษ์ กึ่งกลางโคนขาด้านในห่างจากโคนขา 2 นิ้วมือ
แก้ลมอันทพาต กึ่งกลางโคนขาด้านในห่างจากโคนขา 2 นิ้วมือ
แก้น่องสั่งมิหยุด กึ่งกลางกล้ามเนื้อน่อง
แก้อยู่เพื่อสะคิว ใต้ตาตุ่มด้านใน

ที่มา:จากหนังสือวิทยาศาสตร์ในการแพทย์แผนไทย
โดย: ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.มุกดา ตันชัย
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ประจำสาขาวิชาพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช และ
อาจารย์อภิชาต ลิมติยะโยธิน
อาจารย์พิเศษสถานการแพทย์แผนไทยประยุกต์ คณะแพทย์ศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล

↑ กลับสู่ส่วนบนของหน้า