สำหรับผู้ใส่ใจในการรักษาสุขภาพ ทั้งสุขภาพกาย และสุขภาพจิต

การนวดกับระบบไหลเวียน

หัวใจ หลอดเลือดแดง หลอดเลือดดำ และท่อน้ำเหลืองจะเป็นส่วนประกอบของระบบไหลเวียน โดยหัวใจจะสูบฉีดเลือดที่มีออกซิเจนไปตามหลอดเลือดแดงเพื่อส่งไปเลี้ยงเนื้อเยื่อและเซลล์ต่างๆ ทั่วร่างกาย ส่วนเลือดที่มีออกซิเจนต่ำจากการถูกใช้งานแล้วก็จะส่งไปทางหลอดเลือดดำสู่หัวใจแล้วสูบฉีดไปยังปอดเพื่อฟอกให้เป็นเลือดแดงอีกครั้ง การเคลื่อนไหวของกล้ามเนื้อ แขน ขา ทำให้เกิดแรงบีบมีการไหลเวียนของเลือดเข้าสู่หัวใจ โดยไม่ย้อนกลับ เนื่องจากหลอดเลือดดำมีลิ้นที่เปิดปิดได้ ส่วนท่อน้ำเหลืองที่มีลักษณะเป็นท่อขนาดเล็ก จะรับน้ำเหลืองจากเนื้อเยื่อทั่วร่างกายไปยังหลอดเลือดดำในช่องอก ลักษณะการไหลคืนก็มีกลไกเดียวกับการไหลของเลือดดำ และผลของการนวดที่มีต่อระบบไหลเวียนทั้งในด้านวิชาการและการวิจัยมีดังนี้

1. ผลของการนวดในเชิงวิชาการที่มีต่อระบบการไหลเวียน
การนวดมีผลต่อระบบการไหลเวียนเลือดและน้ำเหลืองของมนุษย์ดังนี้

ผลการนวดที่มีต่อระบบไหลเวียนเลือด
เมื่อกดลงบนหลอดเลือดดำ ก็จะมีการไหลของเลือดในหลอดเลือดไปข้างหน้าหรือเข้าสู่หัวใจ และเลือดที่เข้ามาแทนที่ก็จะเป็นเลือดที่อยู่ด้านหลัง การกดหลอดน้ำเหลืองก็ให้ผลเช่นเดียวกัน ทั้งหลอดเลือดและหลอดน้ำเหลืองจะได้รับผลกระทบเท่าๆ กันในขณะที่ถูกนวด เลือดและน้ำเหลืองจึงมีการไหลไปข้างหน้าและการเข้ามาแทนที่อย่างรวดเร็ว การรักษาด้วยการนวดจึงทำให้มีเลือดสดและใหม่มาเลี้ยงเนื้อเยื่อเพิ่มขึ้น แต่หลอดเลือดและหลอดน้ำเหลืองนั้นจะต้องไม่มีการอุดตัน และขณะที่ใช้แรงกดไปตามทิศทางนั้น ก็จะทำให้เลือดไหลไปสู่หัวใจได้ดีขึ้น เมื่อหัวใจมีปริมาณเลือดมากขึ้นก็จะทำให้มีเลือดแดงไปเลี้ยงเนื้อเยื่อต่างๆ ได้มากขึ้นด้วย ทำให้การเสื่อมของร่างกายชะลอลง และในบริเวณนั้นจะมีเมแทบอลิซึมเพิ่มขึ้นด้วย

การตอบสนองเมื่อถูกนวดเบาๆ จะทำให้เกิดภาวะซีดขึ้นมาชั่วคราว เนื่องจากหลอดเลือดฝอยมีการหดตัว แต่เมื่อใช้มือคลึง การเคาะ หรือการม้วนผิวหนังที่ใช้แรงมากขึ้นจะทำให้เกิดการบาดเจ็บเล็กน้อยที่เนื้อเยื่อ ทำให้มาสต์เซลล์(mast cell) ที่อยู่ในเนื้อเยื่อเกี่ยวพันหลั่งสารที่คล้ายกับฮีสตามีนออกมา จนเกิดเป็นปรากฏการณ์ 3 อย่างคือ

1. ทำให้มีเส้นเลือดแดงขึ้นจากการขยายตัวอย่างอิสระของหลอดเลือดที่มาเลี้ยงผิวหนัง

2. ทำให้มีภาวะผิวหนังแดงแผ่กว้าง ที่เกิดจากการขยายแผ่กว้างออกไปของหลอดเลือดแดงฝอยที่ผิวหนัง จากภาวะที่มีเลือดพุ่งทันทีทันใดจากการตอบสนองของแอกซอนอย่างรวดเร็ว

3. ทำให้มีภาวะบวมเล็กน้อย ซึ่งอาจเกิดจากมีของเหลวผ่านผนังหลอดเลือดฝอยได้เพิ่มขึ้น และมีการซึมเข้าสู่เนื้อเยื่อต่อ จึงทำให้เกิดการบวมที่บริเวณนั้นเล็กน้อย

ผลการนวดที่มีต่อระบบไหลเวียนน้ำเหลือง
แรงที่เกิดจากภายนอกจะทำให้มีการเคลื่อนไหวของน้ำเหลืองไปตามทิศทางนั้น เช่น จากแรงดึงดูด การนวด การเคลื่อนไหว กล้ามเนื้อตัว เป็นต้น ตามผิวหนังและเนื้อเยื่อใต้ผิวหนังจะมีการไหลเวียนของน้ำเหลืองได้ดีขึ้นเมื่อมีการนวด ช่วยรักษาอาการบวม และช่วยให้มีการดูดซึมของเสียดีขึ้น

2. ผลของการนวดจากผลการวิจัยที่มีต่อระบบการไหลเวียน
ผลของการนวดที่ทำให้การไหลเวียนเลือดและสัญญาณชีพเกิดการเปลี่ยนแปลงในลักษณะต่างๆ มีการศึกษาวิจัยดังนี้

ผลการนวดกับการไหลเวียนเลือด

มีการวิเคราะห์ปริมาณการไหลเวียนเลือดของวาคิม และคณะ(Wakim, et. al., 1949: 135-144) โดยใช้เครื่องวัดปริมาณเลือดที่ไหลผ่านแขนขาเมื่อเกิดภาวะอุดตันของหลอดเลือดดำ และคำณวนการไหลเวียนของเลือดแดงจากปริมาณเลือดที่เพิ่มขึ้นหลังจากการอุดตันในหลอดเลือดดำ แล้วบันทึกไว้ในรูปของกราฟ จากการศึกษาพบว่า เมื่อนำกลุ่มตัวอย่างที่สุขภาพดี 12 และ 14 คนตามลำดับ มาทำการนวดกระตุ้นอย่างแรง ทำให้ที่แขนขามีปริมาณเลือดไหลเวียนเพิ่มขึ้นร้อยละ 57 และ 42 ตามลำดับ และมีการไหลเวียนของเลือดเพิ่มขึ้นร้อยละ 103 ในผู้ป่วยโปลิโอที่เป็นอัมพาตแบบอ่อนปวกเปียก การศึกษานี้ทำโดยหมอนวดที่ทำการรักษาโรค ซึ่งเป็นการนวดที่รุนแรงกว่าปกติอาจทำให้เกิดการอ่อนแรงและบาดเจ็บของเนื้อเยื่อบริเวณแขนขาได้ ผลงานอีกเรื่องหนึ่งของวาคิมพบว่า หากใช้การนวดแบบลูบและคลึงที่ใช้แรงน้อยลง ในคนปกติจะไม่ทำให้การไหลเวียนเลือดเพิ่มขึ้น แต่จะมีการไหลเวียนเลือดเพิ่มขึ้นร้อยละ 22 ในผู้ป่วย 4 ใน 6 รายที่มีอาการอ่อนแรงที่ขา เช่นเดียวกับที่เซเวอรินีและเวเนอแรนโด(Severini and Venerando, 1967: 165-183) วิจัยพบว่า การนวดแบบลึก จะทำให้อัตราการไหลเวียนเลือดเพิ่มขึ้น แต่การนวดแบบลูบเบา การไหลเวียนเลือดจะไม่มีการเปลี่ยนแปลง แฮนเซนและคริสเตนเซน(Hansen and Kristensen, 1973: 179-182) ได้ใช้ปริมาณไอโซโทปของก๊าซซีนอนที่ลดลงจากผลของการนวดเป็นตัวชี้วัดการไหลเวียนเลือดในกล้ามเนื้อ พบว่าในช่วงที่มีการนวดแบบลูบหนักนาน 5 นาที การไหลเวียนในกล้ามเนื้อจะเพิ่มขึ้น และเมื่อหยุดนวด 2 นาที การไหลเวียนเลือดก็เข้าสู่ภาวะปกติ ซึ่งมีการอธิบายของผู้วิจัยว่า เมื่อหลอดเลือดฝอยว่างปริมาตรเลือดก็ลดลง ทำให้มีเลือดใหม่เข้ามาแทนที่ จึงทำให้มีการไหลเวียนเลือดที่เพิ่มขึ้นเล็กน้อย และการศึกษาของโฮวินและเนลสัน(Hovind and Nielson, 1974: 74-77) ก็ได้ใช้ปริมาณของไอโซโทปของซีนอนที่ลดลงเป็นตัวชี้วัดการไหลเวียนเลือดในกล้ามเนื้อเช่นกัน โดยใช้การนวดแบบคลึงกล้ามเนื้อนาน 2 นาที ที่ต้นขาและแขนท่อนล่างนาน เปรียบเทียบกับการนวดผสมผสานทั้งสับ เคาะ ตี และทุบ ที่ต้นขาและแขนด้านตรงกันข้ามบริเวณส่วนล่าง พบว่า การไหลเวียนเลือดจะเพิ่มขึ้นเมื่อใช้การนวดแบบผสมผสาน แต่จะไม่มีผลต่อการไหลเวียนเลือดเลยในการนวดแบบคลึงกล้ามเนื้อ ส่วนการศึกษาของเดลานีย์ และคณะ (Delany, et. al., 2002: 364-371) เกี่ยวกับการนวดกล้ามเนื้อตรงจุดที่เจ็บที่ให้ผลระยะสั้น ที่บริเวณศีรษะ คอ และไหล่ ที่มีระบบประสาทอัตโนมัติควบคุมการทำงานของหัวใจ ในคนจำนวน 30 คนที่มีสุขภาพแข็งแรง และมีอายุประมาณ 32.5 ปี โดยจะมีการบันทึกคลื่นไฟฟ้าหัวใจ ความดันโลหิต ความตึงของกล้ามเนื้อ และสภาพอารมณ์ก่อนและหลังทำการนวด และวัดการทำงานของระบบประสาทอัตโนมัติโดยใช้ความถี่และเวลาที่หัวใจเต้น จากการศึกษานี้พบว่า อัตราการเต้นของหัวใจ ความดันโลหิตซิสโตลิกและไดแอสโตลิกลดลงอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติหลังจากมีการนวดกล้ามเนื้อแบบ trigger-point massage และผลจากการวิเคราะห์การเต้นของหัวใจพบว่า มีการทำงานมากขึ้นอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติของประสาทพาราซิมพาเทติก ทำให้กล้ามเนื้อมีการตึงตัวขึ้น และสภาพอารมณ์ดีขึ้นอย่างชัดเจน

กลุ่มตัวอย่างจากการศึกษาดังกล่าวมักมีอยู่น้อย และบริเวณที่ถูกนวดอาจมีการรบกวนของโรคร่วมด้วย จึงทำให้วัดการไหลเวียนของเลือดได้ไม่สมบูรณ์นัก และการนวดการวิจัยก็มีความแตกต่างกัน การที่จะนำผลการวิจัยมาเปรียบเทียบจึงทำได้ยาก ซึ่งต้องมีการศึกษากันต่อไปอย่างใกล้ชิด เพื่อจะได้ใช้ในการบำบัดรักษาโรคต่อไป

ผลการนวดต่อสัญญาณชีพและการไหลเวียนเลือด
จากการศึกษาวิจัยการนวดไทยที่ส่งผลต่อระบบการไหลเวียนเลือดในผู้ที่มีสุขภาพแข็งแรง 45 คน มีอายุระหว่าง 19-72 ปีของกรุงไกร เจนพาณิชย์ และประเสริฐศักดิ์ ตู้จินดา(2524:575-581) พบว่า เมื่อนวดบริเวณด้านหน้าของท่อนล่างร่วมกับการกดค้างบริเวณต้นขาข้างขวานาน 1 นาที ที่เรียกว่า “ปิด-เปิดประตูลม” รวมเป็นเวลา 5 นาที โดยให้ผู้ถูกนวดอยู่ในท่านอนพัก โดยก่อนการนวดและทุกๆ 2 นาทีระหว่างการนวด และ 30 นาทีหลังการนวดจะทำการวัดอุณหภูมิผิวหนังบริเวณหลังเท้า คลื่นไฟฟ้าหัวใจ และความดันเลือดแดงที่แขนซ้าย พบว่า ที่เท้าทั้งสองข้างจะมีอุณหภูมิเพิ่มขึ้น หัวใจมีอัตราการเต้นลดลง ความดันโลหิตซิสโตลิกในชายลดลงอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ และได้ผลเช่นเดียวกันในผู้หญิง แต่จะไม่มีการเปลี่ยนแปลงของความดันซิสโตลิก ส่วนผลงานวิจัยด้วยการนวดไทยของประโยชน์ บุญสินสุข และคณะ(2538:32-33) ในผู้ป่วย 238 รายที่มีอาการปวดกล้ามเนื้อและปวดข้อ พบว่า ก่อนและหลังการนวดอุณหภูมิกายและชีพจรไม่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ บางรายหลังการนวดจะมีความดันซิสโตลิกและไดแอสโตลิกเพิ่มขึ้น แต่จะลดลงในบางราย และไม่มีนัยสำคัญทางสถิติ ผลสรุปของผู้วิจัยมีว่า สรีรวิทยาของร่างกายทั้งระบบจะไม่เกิดการเปลี่ยนแปลงเมื่อทำการนวด แสดงว่าผู้ถูกนวดจะไม่เกิดอันตรายเมื่อได้รับการนวดจากผู้ที่มีความรู้และประสบการณ์ในทางกายวิภาคศาสตร์และสรีรวิทยา เมื่อการไหลเวียนเลือดดีขึ้นจากการนวดก็จะส่งผลให้อาการปวดลดลงนั่นเอง

ผลการนวดกับการบำบัดโรคในระบบไหลเวียน
เฮอร์แนนเดซ-ริฟ(Hernandez-Reif, et. al., 2000 31-38) ได้ใช้การนวดเพื่อศึกษาเกี่ยวกับการบำบัดโรคความดันโลหิตสูง โดยในช่วง 5 สัปดาห์จะทำการนวด 10 ครั้ง ครั้งละ 30 นาที ส่วนกลุ่มควบคุมจะได้รับคำแนะนำเกี่ยวกับการผ่อนคลายกล้ามเนื้อ พบว่า หลังจากการนวดครั้งแรกและครั้งสุดท้ายจะมีความดันไดแอสโตลิกในท่านั่งลดลงเมื่อเทียบกับก่อนการนวด และจากวันแรกถึงวันสุดท้ายความดันไดแอสโตลิกลดลงอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ ความวิตกกังวลของทั้งสองกลุ่มลดลง กลุ่มที่ได้รับการนวดจะมีอาการซึมเศร้า อาฆาตมาดร้ายลดลง ในปัสสาวะและน้ำลายมีฮอร์โมนคอร์ติโซลลดลงซึ่งแสดงให้เห็นว่า มีความเครียดลดน้อยลงนั่นเอง

อย่างไรก็ดี การนวดจะไม่เป็นอันตรายต่อผู้ป่วย จากสาเหตุที่ความดันโลหิตหรือการเต้นของหัวใจเกิดการเปลี่ยนแปลง และความดันโลหิตที่ลดลงอาจเป็นประโยชน์ต่อสุขภาพของผู้ป่วยบางรายอีกด้วย

ผลการนวดกับความหนืดของเลือด
มีการศึกษาผลของการนวดที่มีต่อความหนืดของเลือดในคนสุขภาพดี 12 คน ของเอิร์น และคณะ(Ernst, et. al., 1987:43-45) พบว่า ความหนืดของเลือด ระดับฮีมาโตคริต และความหนืดของพลาสมาลดลงอย่างชัดเจนหลังจากนวดนาน 20 นาที ซึ่งผลสรุปของผู้วิจัยมีว่า ความหนืดของเลือดที่มีลดลง อาจเกิดจากของเหลวที่มีความหนืดต่ำที่มาจากหลอดเลือดเล็กๆ หรือที่อยู่ในช่องว่างระหว่างเซลล์ไหลเข้ามาสู่หลอดเลือด การศึกษาเรื่องนี้ไม่สามารถเปรียบเทียบกับผลจากการพักและการเปลี่ยนท่าทางได้เนื่องจากไม่ได้ศึกษาจากกลุ่มควบคุม

จะไม่พบการเปลี่ยนแปลงทางสรีรวิทยาภายหลังการนวด เนื่องจากมีการศึกษาวิจัยที่ออกแบบได้ดีจำนวนหนึ่ง แต่ผลการวิจัยหลายๆ เรื่องยังไม่มีความคงที่ เนื่องจากใช้กลุ่มตัวอย่างที่น้อยเกินไป ซึ่งพบว่าบางเรื่องก็เปลี่ยนแปลงเพิ่มขึ้น และบางเรื่องก็ลดลงไป บางเรื่องก็ต้องใช้เวลาอีกระยะหนึ่งเพื่อวัดผลหลังการนวด การศึกษาวิจัยการนวดจึงต้องมีกลุ่มตัวอย่างที่มากพอ และมีการใช้วิธีการนวดที่คล้ายคลึงกันเพื่อให้มีการควบคุมการศึกษาที่เป็นไปอย่างดี

ที่มา:จากหนังสือวิทยาศาสตร์ในการแพทย์แผนไทย
โดย: ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.มุกดา ตันชัย
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ประจำสาขาวิชาพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช และ
อาจารย์อภิชาต ลิมติยะโยธิน
อาจารย์พิเศษสถานการแพทย์แผนไทยประยุกต์ คณะแพทย์ศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล

↑ กลับสู่ส่วนบนของหน้า