สำหรับผู้ใส่ใจในการรักษาสุขภาพ ทั้งสุขภาพกาย และสุขภาพจิต

การนวดที่มีผลต่อระบบอื่นๆ ในร่างกาย

นอกจากการนวดจะทำให้ระบบการไหลเวียน ระบบประสาท กระดูกและกล้ามเนื้อดีขึ้นแล้ว การนวดยังส่งผลต่อระบบอื่นๆ ในร่างกายได้อีกด้วย เช่น ระบบผิวหนัง ระบบหายใจ ระบบทางเดินอาหาร ระบบสืบพันธุ์ ระบบภูมิคุ้มกัน และอื่นๆ ซึ่งรายละเอียดมีดังนี้

1. ผลต่อระบบผิวหนัง
ผิวหนังจะได้รับผลจากการนวดหลายประการ คือ เมื่อผู้นวดเอามือสัมผัสลงบนผิวหนัง ก็จะเกิดการเคลื่อนไหวของผิวหนังและเนื้อเยื่อที่อยู่ลึกลงไป ทำให้เซลล์บนผิวหนังที่ตายแล้วหลุดลอกออกมา บริเวณผิวหนังมีการไหลเวียนของเลือดดีขึ้น บริเวณที่ถูกนวดจะมีอุณหภูมิเพิ่มขึ้น 2-3 องศาเซลเซียส ทำให้การขับเหงื่อและไขมันออกมามากขึ้น ทำให้ผิวหนังนุ่มและลดการยึดติดของเนื้อเยื่อใต้ผิวหนัง ช่วยรักษาแผลเป็นที่ผิวหนัง คือ ภายหลังที่ผิวหนังถูกทำลายประมาณ 5 วัน คอลลาเจนที่อ่อนแอจะไปเจริญเป็นเนื้อเยื่อพังผืด แต่เมื่อได้รับการนวดพังผืดและเนื้อเยื่อที่อยู่ลึกลงไปจะถูกยืดและมีการเคลื่อนไหวทำให้หดตัวน้อยลง เนื้อเยื่อและพังผืดมีการต้านทานการหดสั้น ทำให้ความยาวของแผลเป็นคงที่ เนื่องจากมีการไหลเวียนของเลือดดีขึ้น จึงทำให้แผลที่หายแล้วมีความแข็งแรงขึ้น นอกจากจะช่วยรักษาแผลเป็นที่ผิวหนังแล้ว การนวดยังส่งผลต่อเนื้อเยื่อระดับลึกด้วย เพราะเมื่อมีการนวดเนื้อเยื่อจะมีการยืดและเคลื่อนไหว ถ้าไม่เกิดพังผืดขึ้นมาก่อนเนื้อเยื่อก็จะมีการประสานกัน และจะทำให้แนวของเส้นใยที่งอกขึ้นมาใหม่เป็นระเบียบและแข็งแรงตามกระบวนการธรรมชาติการหายของเนื้อเยื่อ ถ้าใช้เวลาในการนวดนานพอ

2. ผลต่อระบบหายใจ
การทำให้เกิดการสั่นสะเทือนที่ทรวงอกด้วยการนวดแบบตบหรือสับ จะส่งผลให้เสมหะ หนอง และเมือกจากหลอดลมส่วนปลายหลุดออกมา เข้าสู่กลไกของการไอ ทำให้เสมหะถูกขับออกมาจากปอด สามารถป้องกันและรักษาโรคปอดทั้งชนิดเรื้อรังและเฉียบพลันได้

3. ผลต่อระบบทางเดินอาหาร
การนวดทำให้การย่อยอาหารและการขับถ่ายของเสียดีขึ้น กระตุ้นความอยากอาหาร และลดอาการท้องผูก เนื่องจากจะส่งผลกระตุ้นให้กระเพาะอาหารและลำไส้เกิดการเคลื่อนไหว

4. ผลต่อระบบสืบพันธุ์
การนวดในผู้หญิงเพื่อให้ส่งผลต่อมดลูก ก็มักจะนวดบริเวณท้องน้อย ทำให้อาการปวดหน่วงและปวดที่ขาหนีบจากการหย่อนของมดลูกดีขึ้น ส่วนการนวดในผู้ชาย มักเป็นการนวดเพื่อฟื้นฟูสมรรถภาพทางเพศ โดยนวดที่บริเวณรอบสะดือด้วยความระมัดระวัง และด้วยความชำนาญมาก นอกจากนี้ก็ยังมีการศึกษาของเดวิดสัน จาคอบบี และบราวน์(Davidson, Jacoby and Brown, 2000: 474-479) ในการนวดบริเวณฝีเย็บก่อนคลอด เพื่อป้องกันช่องคลอดฉีดขาด โดยศึกษาจากหญิงมีครรภ์ 368 คน ที่มีปัจจัยเสี่ยง 13 ประการต่อการฉีกขาดที่ฝีเย็บขณะคลอด โดยมีการควบคุมจำนวนบุตร พบว่า การลดความรุนแรงของการฉีกขาดที่ฝีเย็บขณะคลอดมีเพียงการนวดที่ฝีเย็บในระหว่างตั้งครรภ์เท่านั้น

5. ผลต่อระบบภูมิคุ้มกัน
อุณหภูมิในร่างกายจะสูงขึ้นเมื่อได้รับการนวด การศึกษาผลของการนวดกับการสร้างภูมิคุ้มกันของกรีน และกรีน(Green & Green, 1987 cited in Hollis, 1998:43) เป็นผลงานวิจัยที่ช่วยสนับสนุนข้อสรุปนี้ได้ โดยพบว่า หลังการนวด 20 นาที กลุ่มตัวอย่างจะมีระดับอิมมูโนโกลบินเพิ่มขึ้น ซึ่งสอดคล้องกับผลการศึกษาในชายรักร่วมเพศจำนวน 29 คน ของ รอนสัน และคณะ(Ironson, et. al., 1996: 205-217) ซึ่งมี 20 คนที่ติดเชื้อเอชไอวี โดยใน 1 เดือนกลุ่มตัวอย่างจะได้รับการนวดทุกวัน และผู้ป่วยติดเชื้อเอชไอวีถูกจัดให้เป็นกลุ่มควบคุม 11 คน พบว่า กลุ่มที่ได้รับการนวดจะมีเนเทอรัลคิลเลอร์เซลล์(natural killer cell)เพิ่มจำนวนขึ้น ไม่มีความเปลี่ยนแปลงของอาการติดเชื้อเอชไอวีไปในทางที่เลวลง มีความวิตกกังวลน้อยลง และรู้สึกผ่อนคลายมากขึ้น ซึ่งสัมพันธ์กับการเพิ่มขึ้นของจำนวนเนเทอรัลคิลเลอร์เซลล์ ผลจากการนวดทำให้การทำลายเชื้อโรคมีสูงขึ้น มีผลงานวิจัยของโกร และคณะ(Groer, et. al., 1994 cited in Hollis 1998: 42) อีกเรื่องหนึ่งที่เกี่ยวกับระดับภูมิคุ้มกันในร่างกายกับการนวด โดยได้ทำการศึกษาวิจัยจากผู้สูงอายุ 18 คนที่มีสุขภาพดี โดยแยกเป็นกลุ่มศึกษาและกลุ่มควบคุม ในกลุ่มควบคุมจะมีการให้นอนพัก 10 นาที ส่วนกลุ่มศึกษาหลังนอนพัก 10 นาทีก็จะทำการนวด พบว่า กลุ่มที่ถูกนวดมีอิมมูโนโกลบูลินเอในน้ำลายเพิ่มขึ้น ซึ่งแสดงให้เห็นว่า การนวดมีผลต่อระบบภูมิคุ้มกันของร่างกาย และยังมีการศึกษาการนวดที่มีผลต่อระดับภูมิคุ้มกันโรคในนักศึกษาแพทย์ที่อยู่ในภาวะเครียดจำนวน 9 คน ของ ซิทลิน และคณะ(Zeitlin, et. al., 1999:83-84) ด้วย โดยก่อนสอบ 1 วัน จะได้รับการนวด 1 ชั่วโมงเต็มทั่วร่างกาย มีการตรวจวัดระดับเนเทอรัลคิลเลอร์เซลล์ และลิมโฟซัยท์ในเลือดเพื่อประเมินผลของการนวด มีการรายงานด้วยตัวเองว่ามีความวิตกกังวลหรือความเครียดอย่างไร ซึ่งก่อนและหลังการนวดจะมีการวัดสัญญาณชีพทันที พบว่า การหายใจมีอัตราลดลง มีความเครียดและความวิตกกังวลลดลง มีการเพิ่มขึ้นของระดับเนเทอรัลคิลเลอร์เซลล์อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ แต่ไม่มีการเปลี่ยนแปลงของระดับลิมโฟซัยท์ แสดงให้เห็นว่า การนวดจะช่วยเพิ่มระดับภูมิคุ้มกันโรค ลดความวิตกกังวล และช่วยให้คลายจากความเครียดได้

6. ผลในเรื่องอื่นๆ
การนวดมีผู้นำไปใช้ประโยชน์ได้หลายแง่มุม ที่น่าสนใจ ได้แก่ การนวดเพื่อเลิกบุหรี่ และการนวดให้ทารกและเด็ก

การนวดตนเองเพื่อเลิกสูบบุหรี่
จากการศึกษาในผู้ที่สูบบุหรี่จำนวน 20 คน ของเฮอร์แนนเดซริฟ ฟิลด์ และฮาร์ท(Hernandez-Reif, Field, and Hart, 1999: 28-32) ในการนวดตนเองเพื่อให้เลิกสูบบุหรี่ โดยสอนกลุ่มทดลองในช่วงที่อยากสูบบุหรี่ ให้นวดตนเองที่มือหรือหูวันละ 3 ครั้ง เป็นเวลานาน 1 เดือน พบว่า มีความวิตกกังวลลดลง มีอารมณ์ดีขึ้น อาการไม่สุขสบายมีเพียงเล็กน้อย และในสัปดาห์สุดท้ายของการศึกษากลุ่มทดลองก็สูบบุหรี่ต่อวันน้อยลงด้วย ดังนั้น ผู้ที่ต้องการเลิกสูบบุหรี่ อาจนำการนวดตนเองมาประยุกต์ใช้ในการบำบัดได้

การนวดทารกและเด็ก
ทารกและเด็กที่อยู่ในสภาวะคลอดก่อนกำหนด มารดาติดยาเสพติด ทารกที่ติดเชื้อเอชไอวี มารดาของทารกมีอายุน้อยเกินไปหรือไม่มีบิดา หรือเด็กที่คลอดตามกำหนด เป็นต้น โดยเด็กมีปัญหาด้านสุขภาพหลายประการ เช่น ถูกทารุณทางร่างกายและทางเพศ มีอาการหอบหืด ออทิสติก มีแผลไฟไหม้ มะเร็ง พัฒนาการช้า ผิวหนังอักเสบจากสะเก็ดเงินหรือเรื้อนกวาง เบาหวาน รับประทานอาหารมากผิดปกติ ข้ออักเสบรูมาตอยด์ หรือผิดปกติทางด้านจิตใจ เป็นต้น จึงมีการนำการนวดไปประยุกต์ใช้เพื่อบำบัดและส่งเสริมสุขภาพ โดยทั่วไปแล้วการนวดจะทำให้ฮอร์คอร์ติโซลที่ทำเกิดความเครียดลดลง จึงทำให้ความวิตกกังวลลดลงไปด้วย ทำให้อาการผิดปกติต่างๆ ก็ดีขึ้น เด็กที่ได้รับการนวดจากบิดามารดา ปู่ย่า ตายาย จะมีความสุข อบอุ่น และสนุกสนานมากขึ้น เป็นการประหยัดค่าใช้จ่ายไปด้วยในตัว เกิดผลดีต่อสุขภาพทางกายและจิตใจ

การนวดในเด็กที่เป็นโรคหอบหืด
จากผลการศึกษาการนวดในเด็ก 32 คน ที่เป็นโรคหอบหืด ของฟิลด์(Field, 1997:854-858) โดยเด็ก 16 คนจะมีอายุระหว่าง 4-8 ปี และอีก 16 คน มีอายุระหว่าง 9-14 ปี โดยกลุ่มหนึ่งจะได้รับการนวดจากบิดามารดาที่ได้รับการฝึกนวดแล้ว กับกลุ่มที่ได้รับการผ่อนคลาย โดยใช้เวลาบำบัด 30 วัน วันละ 20 นาทีก่อนนอน พบว่า กลุ่มเด็กที่ได้รับการบำบัดด้วยการนวดและมีอายุน้อย ภายหลังจากการนวดจะมีระดับคอร์ติโซลและความวิตกกังวลลดลงทันที ตลอดช่วงเวลาที่ทำการศึกษามีทัศนคติเกี่ยวกับโรคหอบหืดและการทำหน้าที่ของปอดดีขึ้น ส่วนผลที่เด็กโตได้รับจากการนวดก็มีเช่นเดียวกัน ยกเว้นการทำหน้าที่ของปอดที่มีการหายใจเข้าออกดีขึ้นจากร้อยละ 25 เป็นร้อยละ 75 เท่านั้น แต่ไม่ทราบถึงสาเหตุที่ทำให้เกิดผลดีในเด็กเล็กมากกว่าเด็กโต แต่ก็สรุปได้ว่า การนวดให้เด็กเป็นประจำทุกวัน จะช่วยทำให้หลอดลมขยายและช่วยควบคุมอาการหอบหืดได้

ผลการนวดในเด็กออทิสติก
ผลการศึกษาในการนวดเด็กออทิสติก อายุ 3-6 ปี จำนวน 20 คน ของเอสคาโลนา(Escalona, 2001:513-516) โดยแบ่งเป็นกลุ่มศึกษากับกลุ่มควบคุม ในกลุ่มศึกษาจะได้รับการนวดก่อนนอน 15 นาทีทุกวัน เป็นเวลา 1 เดือน ส่วนกลุ่มควบคุมจะอ่านหนังสือของ ดร.ซูส(Dr. Seuss ให้ฟัง พบว่า กลุ่มที่ได้รับการนวด จะมีสมาธิอยู่กับงานได้นานกว่า มีพฤติกรรมย้ำคิดย้ำทำน้อยกว่า และในช่วงที่อยู่ในโรงเรียนจะเข้าสังคมได้ดีกว่า นอนหลับได้ดีกว่าอยู่บ้าน

นักวิชาการหลายประเทศได้ให้ความสนใจเกี่ยวกับการนวด และพยายามค้นคว้าการนวดที่นำมาใช้ให้เกิดประโยชน์ เพื่อแก้ปัญหาสุขภาพทางกายและจิตใจของคนทุกวัยด้วย

ที่มา:จากหนังสือวิทยาศาสตร์ในการแพทย์แผนไทย
โดย: ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.มุกดา ตันชัย
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ประจำสาขาวิชาพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช และ
อาจารย์อภิชาต ลิมติยะโยธิน
อาจารย์พิเศษสถานการแพทย์แผนไทยประยุกต์ คณะแพทย์ศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล

↑ กลับสู่ส่วนบนของหน้า