สำหรับผู้ใส่ใจในการรักษาสุขภาพ ทั้งสุขภาพกาย และสุขภาพจิต

การทำจิตบำบัดในโรคจิตเภท

โรคจิตเภทเป็นปัญหายิ่งใหญ่ที่ท้าทายจิตแพทย์ และวงการจิตเวชมานานนับศตวรรษ ในปัจจุบันการรักษาโรคนี้ให้ได้ผลดีที่สุด ก็คือการใช้ยาร่วมกับการทำจิตบำบัด สำหรับในกรณีที่คนไข้ต้องรับการรักษาภายในโรงพยาบาล ก็อาจจะรวม Milieu Therapy เข้าไว้ด้วย

แต่อย่างไรก็ตาม ได้มีผู้ทดลอง และพยายามรักษาโรคนี้ โดยวิธีจิตบำบัดอย่างเดียว ตัวอย่างเช่น Fromm-Reichmann (1950) และ Sechehaye (1951) เป็นต้น ซึ่งประสบความสำเร็จดีพอสมควร สำหรับความเห็นของผู้เขียนเอง คิดว่าการใช้ยาร่วมกับการทำจิตบำบัด และ Milieu Therapy เป็นวิธีที่ดีที่สุดในขณะนี้ แต่ในแง่ของการทำจิตบำบัด ในโรคจิตเภท จะขออธิบายดังต่อไปนี้

การทำจิตบำบัดในคนไข้โรคจิตเภท จะต้องดัดแปลงหลักเกณฑ์ที่ได้กล่าวมาแล้วตามสมควร โรคจิตเภทในที่นี้ หมายถึง กลุ่มอาการทางจิตใจที่ผู้ป่วยไม่สามารถแยกออกว่า อะไรเป็นสภาวะความเป็นจริง และอะไรเป็นจินตนาการ หรือความเพ้อฝัน ในคนปกตินั้น เราสามารถเรียนรู้ความจริงจากประสาทสัมผัส แต่ในผู้ป่วยโรคจิตเภทไม่สามารถเรียนรู้จากประสาทสัมผัสได้ เพราะว่า Ego ทำหน้าที่ไม่ได้อย่างที่ควรจะเป็น หมายความว่า Ego ไม่สามารถจะแยกได้ว่า อันไหนเป็นสภาวะความเป็นจริง และอันไหนเป็นความคิดเพ้อฝัน หรือจินตนาการ ได้อธิบายมาแล้วว่า โรคประสาทเกิดจากความขัดแย้งระหว่าง Id กับ Ego โดยมี Superego เข้าข้างใดข้างหนึ่ง นอกจากนี้ Ego ยังใช้กลไกที่เรียกว่า Defenses ชนิดต่างๆ เข้าช่วยในการแก้ไขปัญหา การรักษาคือการกำจัด หรือดัดแปลง Defenses ของผู้ป่วย โดยใช้ Transference Situation เป็นเครื่องมือ

แต่ในคนไข้โรคจิตเภท หน้าที่ต่างๆ ของ Ego เสียไปมาก จนไม่สามารถแยกระหว่างสภาวะความเป็นจริงกับจินตนาการได้ Psychotic Ego พยายามชดเชย โดยการทำให้เป็น Neurotic Ego เพราะฉะนั้น การทำจิตบำบัดในคนไข้จิตเภท จึงต้องใช้ Supportive Psychotherapy คือ ช่วยเสริม Defenses ให้คนไข้สามารถปรับตัวให้เข้ากับ Reality Testing

การทำจิตบำบัดในคนไข้จิตเภทนั้น มักจะทำในรายที่มีอาการไม่มากจนเกินไป คือ Ego ยังสามารถทำหน้าที่ได้ดีตามสมควร เช่น รู้ตัวว่าป่วย สามารถสร้างความสัมพันธ์ที่ดีกับนักจิตบำบัดได้ ผู้เขียนมีความเห็นว่า ถ้าผู้ป่วยยังอยู่ใน Acute Stage ควรจะได้รับการรักษาทางยาอย่างเดียวไปก่อน เมื่อสงบลงตามสมควรแล้วจึงค่อยทำจิตบำบัด

สิ่งที่สำคัญยิ่งในตอนนี้ก็คือ นักจิตบำบัดจะต้องทราบว่า ผู้ป่วยเป็นโรคจิตเภท!! ในรายที่ผู้ป่วยกำลังป่วยมาก ก็ไม่มีปัญหาในการวินิจฉัย แต่ในรายที่มีอาการไม่มาก มักจะมีปัญหาในการวินิจฉัยเสมอ ด้วยเหตุนี้ จึงใคร่ขอให้หลักเกณฑ์ในการวินิจฉัยโรคที่ยังมีอาการไม่ชัดเจน ดังต่อไปนี้

1. ผู้ป่วยมีประวัติเป็นโรคจิตชัดเจน แต่เป็นระยะเวลาสั้นๆ แล้วมาพบแพทย์ด้วยอาการคล้ายโรคประสาท

2. มีประวัติว่าบิดามารดาเป็นโรคจิตเภทมาก่อน แต่ผู้ป่วยมาหาแพทย์ด้วยอาการโรคประสาทที่เป็นมาก จนแทบจะคุมสติไม่ได้ แต่ยังไม่แสดงอาการของโรคจิตให้เห็น

3. ผู้ป่วยมีประวัติเป็นโรคไซโคโซแมติกส์เรื้อรังมาตั้งแต่ในวัยเด็ก พร้อมทั้งมีอาการกำเริบบ่อยๆ

4. มีประวัติเปลี่ยนงานบ่อยๆ โดยหาสาเหตุแน่นอนไม่ได้ มีแนวโน้มที่ชอบแยกตนเอง ไม่ชอบการแข่งขัน ถ้าถามความเห็นจากญาติหรือเพื่อนร่วมงาน มักจะได้รับคำตอบว่า ผู้ป่วยเป็นคนเข้าใจยาก ไม่ว่าจะอยู่ที่ไหน จะทำให้ผู้อื่นอึดอัดใจ ทั้งๆ ที่ผู้ป่วยเองก็ไม่ได้ทำผิดอะไร

5. มีประวัติไปรบเร้าศัลยแพทย์ให้ทำการผ่าตัด เช่น เสริมจมูก ตัดเต้านมทิ้ง ต้องการแปลงเพศ แต่ศัลยแพทย์ไม่ยอมทำให้ เพราะไม่มีข้อบ่งชี้ที่มีเหตุผลเพียงพอ

6.  ผู้ป่วยวัยรุ่นที่มีอารมณ์เศร้ามาก โดยหาสาเหตุไม่ได้ ตามธรรมดาคนวัยรุ่น มักจะมีอาการเศร้าแบบ Reactive Depression คือ เป็นปฏิกิริยาต่อการสูญเสีย เช่น สอบตก ทะเลาะและประท้วงแฟน เสียของรัก แต่ผู้ป่วยวัยรุ่นที่เป็นโรคนี้มักจะเศร้าเองโดยหาสาเหตุไม่พบ

7. ผู้ป่วยวัยรุ่น โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เด็กผู้หญิงที่ไม่ยอมอาบน้ำ และปล่อยตัวให้สกปรก

8. ผู้ป่วยที่เป็นโรคประสาทเรื้อรังนานเป็นปีๆ รักษาไม่หายด้วยยากล่อมประสาท ชนิดที่ใช้รักษาโรคประสาทที่ถูกต้อง

9. ผู้ป่วยที่มีพฤติกรรมเบี่ยงเบนทางเพศที่ผิดปกติมากๆ อย่างที่ชาวบ้านเรียกว่า “มั่วไปหมด” ทั้ง Homosexual, Heterosexual เด็กวัยรุ่นบางคนสำเร็จความใคร่ด้วยตนเองวันละหลายครั้ง แต่มีข้อแตกต่างกับเด็กวัยรุ่นปกติ คือ ผู้ป่วยจะสำเร็จความใคร่ด้วยตนเอง โดยไม่ใช้จินตนาการ แต่เด็กวัยรุ่นปกติ จะต้องใช้จินตนาการร่วมด้วยเสมอ
10. คนวัยรุ่นที่เอาแต่นอนอย่างเดียว โดยไม่ได้เจ็บป่วยด้วยโรคทางกาย ไม่กระตือรือร้นที่จะทำงานหรือรับผิดชอบต่อตนเองและผู้อื่น

11. ผู้ป่วยที่มีอาการของโรคประสาทแทบทุกชนิดพร้อมๆ กัน นิยมเรียกกันว่า Pan Neuroses

12. จะพบว่าผู้ป่วยชอบสวมแว่นตาสีดำ ถ้าไม่สวมแว่น จะเห็นตาเบิกกว้าง ตาขาวใหญ่ เวลาผู้ป่วยนั่ง จะเห็นว่าอึดอัด ดูแข็งแกร่งผิดปกติ และมักจะนั่งท่าเดียวนานๆ ดูแล้วไม่สบายตา

13. ผู้ป่วยมักจะพูดจาวกวน ถ้าปล่อยให้ผู้ป่วยเล่าเรื่องของตนเองได้เต็มที่ เมื่อเล่าจบแล้ว เรามักจะไม่เข้าใจ หรือจับความไม่ได้ ดูสับสนไปหมด

มีผู้อธิบายว่า คนปกตินั้น จะใช้การพูดเป็นวิธีติดต่อกับคนอื่น เพราะฉะนั้น จะต้องนึกถึงความเหมาะสม เนื้อหา กาลเวลา ความหมาย ฯลฯ แต่ผู้ป่วยด้วยโรคนี้ ใช้การพูดเพื่อแสดงความรู้สึกภายในของตน ไม่คำนึงถึงความเหมาะสม เหตุผล กาลเวลา ฯลฯ จึง ทำให้ผู้ฟังเข้าใจยาก หรือไม่รู้เรื่อง

14. ในการสัมภาษณ์ผู้ป่วยครั้งแรก ผู้ป่วยจะเล่าในสิ่งที่ผู้ป่วยด้วยโรคประสาท มักจะยังไม่กล้าเล่า ตัวอย่างเช่น ผู้ป่วยจะเล่าว่า อยากมีเพศสัมพันธ์กับมารดาของตนเอง อยากกินอุจจาระ อยากโชว์ของลับ ฯลฯ ซึ่งสิ่งเหล่านี้ ผู้ป่วยโรคประสาทจะเล่าก็ต่อเมื่อพบกันหลายครั้ง และไว้วางใจกันแล้วเท่านั้น

15. ผู้ป่วยหลายคน มักจะสนใจเรื่องศาสนา ปรัชญา ลัทธิการเมือง วิทยาศาสตร์ก้าวหน้า แต่มีลักษณะเฉพาะ คือ คนปกติที่สนใจเรื่องศาสนา ปรัช¬ญา ฯลฯ เขาจะมีการคลุกคลีพบปะสังสรรค์ในหมู่คนที่สนใจเรื่องเดียวกัน ซึ่งดูผิวเผินเหมือนกับว่า เป็นการแยกตัวเองจาก “สังคมภายนอก” แต่เขาจะมี “สังคมภายใน” กับหมู่คนที่สนใจเรื่องเดียวกัน ส่วนผู้ป่วยโรคจิตเภท แม้ “สังคมภายใน” ก็ยังเข้ากับเขาไม่ได้ เช่น สมมติว่าผู้ป่วยสนใจเรื่องพุทธศาสนา ผู้ป่วยก็ยังเข้าสังคมกับคนที่สนใจในเรื่องเดียวกันไม่ได้ ผู้ป่วยจะไปวัดใดวัดหนึ่งเพียง 2-3 ครั้ง แล้วก็ต้องย้ายวัดไปเรื่อยๆ เพราะเข้ากับเขาไม่ได้ พร้อมกับโทษคนอื่นว่าไม่ดี ไม่ถูกต้องเป็นต้น

ที่กล่าวมาทั้งหมดนี้ ไม่มีข้อหนึ่งข้อใดที่เป็นลักษณะเฉพาะของโรค (ตามความจริงก็ไม่มี Objective Criteria ในการวินิจฉัยโรคนี้อยู่แล้ว) ผู้ป่วยโรคประสาทก็อาจจะมีอาการเหล่านี้ได้ ไม่เกิน 2 ข้อ ถ้าคนไข้มีอาการ 3-4 ข้อ ก็ให้สงสัยไว้ก่อนว่า น่าจะเป็นโรคนี้ แต่ถ้าคนไข้มีอาการเกิน 5 ข้อแล้ว ก็มั่นใจได้ว่า น่าจะเป็นโรคจิตเภทแน่ สำหรับในรายที่ยังไม่แน่ใจ ก็จะต้องติดตามศึกษาผู้ป่วยไปเรื่อยๆ ถ้าเป็นโรคนี้จริง ก็จะพบอาการเพิ่มขึ้นในอนาคต

ที่มา:ปราโมทย์  เชาวศิลป์

↑ กลับสู่ส่วนบนของหน้า