สำหรับผู้ใส่ใจในการรักษาสุขภาพ ทั้งสุขภาพกาย และสุขภาพจิต

การทำคลอด

เป็นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นกับหญิงมีครรภ์ตามธรรมชาติ เป็นช่วงที่มีการหดรัดตัวของมดลูกเพื่อขับทารกและรกออกมาจากโพรงมดลูก โดยทารกอาจคลอดออกมาจากช่องคลอด หรือจากการผ่าตัดออกทางหน้าท้องของมารดา

การคลอดแบ่งเป็น 2 ชนิดคือ
1. การคลอดปกติ
การคลอดแบบนี้ ทารกจะออกมาทางช่องคลอด เมื่อมีอายุครรภ์ครบกำหนดที่จะคลอด เป็นขบวนการคลอดตามธรรมชาติ ทารกอยู่ในท่าปกติที่จะคลอด และใช้ระยะเวลาไม่เกิน 24 ชั่วโมงตั้งแต่เริ่มเจ็บครรภ์จริงไปจนกระทั่งรกคลอด

2. การคลอดที่ผิดปกติหรือคลอดยาก
เป็นการคลอดที่ต้องได้รับการช่วยเหลือจึงจะสิ้นสุดการคลอดลงได้ หรือการคลอดเกิดมีภาวะแทรกซ้อนขึ้น เช่น การคลอดมีระยะเวลายาวนาน รกค้าง ตกเลือด การผ่าตัดเอาเด็กออกทางหน้าท้อง

องค์ประกอบที่มีอิทธิพลต่อการคลอด
องค์ประกอบสำคัญเพื่อให้การคลอดดำเนินไปได้มีอยู่ 3 ประการคือ

1. กำลังหรือแรงผลักดันในการคลอด มีอยู่ 2 ชนิด คือ
แรงหดรัดตัวของมดลูก
เกิดจากกล้ามเนื้อมดลูกมีการหดรัดตัว ซึ่งสาเหตุที่ทำให้เกิดยังไม่เป็นที่ทราบแน่ชัด การหดรัดตัวของมดลูกจะอยู่นอกเหนืออำนาจจิตสามารถเกิดขึ้นได้เอง บริเวณส่วนบนด้านซ้ายหรือขวาของมดลูกตรงรอยต่อระหว่างท่อรังไข่กับตัวมดลูกจะเป็นจุดเริ่มต้นของแรงหดรัดนี้ แล้วจึงแพร่กระจายลงมาสู่ส่วนล่างของมดลูก

แรงเบ่งของแม่
เกิดจากกล้ามเนื้อหน้าท้องและกล้ามเนื้อหายใจมีการหดรัดตัว แรงนี้ทำให้ในช่องท้องมีความดันเพิ่มมากขึ้น ซึ่งเป็นแรงที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ ส่งผลให้ในโพรงมดลูกมีความดันเพิ่มขึ้นด้วย จึงช่วยผลักดันให้มีการคลอดทารกออกมาได้

2. ช่องทางคลอด
กระดูกเชิงกรานเป็นส่วนที่แข็งแรงและยืดขยายได้น้อย แต่ข้อต่อและเส้นเอ็นที่ยึดกระดูกจะคลายตัวมากขึ้นในระยะตั้งครรภ์ จึงสามารถยืดขยายกระดูกเชิงกรานที่เป็นช่องทางคลอดออกได้กว้างขึ้น เพื่อให้คลอดทารกได้

3. สิ่งที่คลอดออกมา
นอกจากตัวทารกที่คลอดออกมาแล้ว ก็ยังมีเยื่อหุ้มรก รก และน้ำคร่ำด้วยที่คลอดออกมา การคลอดอาจมีความลำบาก หรือใช้การคลอดแบบปกติไม่ได้เมื่อทารกมีขนาดใหญ่เกินไป

การคลอดแบบไทย
ตามคัมภีร์ประถมจินดาเรียกการคลอดบุตรว่า “ครรภ์ประสูติ” ได้อธิบายว่า เมื่อทารกอยู่ในครรภ์ครบ 10 เดือน แล้วจะเกิดลมเบ่งที่เรียกว่า “ลมกัมมัชวาต” พัดเส้นและเอ็นที่รัดรึงตัวทารกให้กลับเอาศีรษะลงเบื้องต่ำ เมื่อได้ฤกษ์งามยามดีที่จะคลอดออกจากครรภ์มารดา หมายถึงว่า เป็นกำลังหรือแรงผลักดันในการคลอดนั่นเอง

ขั้นตอนสำคัญที่ต้องปฏิบัติในการทำคลอด
1. การจัดท่าเตรียมคลอด
ขณะที่เจ็บท้องจวนจะคลอด การทำให้หญิงมีครรภ์มีแรงเบ่งคลอดได้มากขึ้น คือต้องใช้คนเป็นเหมือนพนักให้พิงหลังไว้

2. การทำให้หญิงรอคลอดสบายใจ
โดยใช้วิธีทำน้ำสะเดาะให้ดื่มหรือประพรมตัว ใช้คาถาที่มีข้อความขบขันท่องเสก จะช่วยลดความวิตกกังวล และช่วยบรรเทาความเจ็บปวดไปได้บ้าง

3. การช่วยคลอดโดยการตัดฝีเย็บ
โดยการใช้เกลือเม็ดที่มีแง่คมกรีดให้ฝีเย็บขาดออก โดยไม่ให้ขาดรุ่งริ่ง จะทำให้คลอดได้ง่ายขึ้น

4. การทำแผลป้องกันการติดเชื้อของแผลฝีเย็บ
ใช้ไพลและเกลือตำพอกหลังจากล้างแผลสะอาดแล้ว ซึ่งไพลมีฤทธิ์เป็นยาชาเฉพาะที่ จึงช่วยบรรเทาความเจ็บปวด และช่วยลดอาการบวมอักเสบได้ด้วย

5. การช่วยเหลือทารก โดยการใช้นิ้วมือล้วงปากเด็กเพื่อควักเอาเมือกหรือเลือดในปากออก
เพื่อไม่ให้ทารกสำลักเมือกหรือเลือดในปากเข้าไป และใช้การตีก้นเพื่อกระตุ้นให้ทารกร้อง หากทารกไม่ร้องแสดงว่าอาจจะไม่รอด ซึ่งปัจจุบันก็ยังใช้วิธีนี้กันอยู่ ต่างกันก็ตรงที่จะใช้ลูกสูบยางดูดเสมหะและน้ำเมือกต่างๆ ออกจากจมูกและปากแทนการใช้นิ้วล้วงเข้าไป

6. การใช้น้ำผึ้งและทองคำเปลวกวาดที่โคนลิ้นเด็กเพื่อป้องกันโรคตานซาง
อาจเป็นการป้องกันทารกภายหลังการคลอดจากโรคติดเชื้อในช่องปาก เนื่องจากน้ำผึ้งมีความเข้มข้นและมีคุณสมบัติในการสมานแผลได้ดี จึงทำให้เชื้อโรคฝ่อตายไปได้

7. การตัดสายสะดือ
โดยจะผูกสายสะดือเป็นสองเปลาะด้วยเชือกหรือด้ายดิบและรัดให้แน่น ส่วนสายสะดือที่ติดกับตัวเด็กให้เหลือความยาวไว้เสมอเข่าของเด็ก แล้วตัดด้วยผิวไม้รวก ให้สังเกตดูจนเลือดหยุดไหล หากเลือดยังไม่หยุดให้ผูกเลื่อนเข้ามาอีก แล้วใช้ขมิ้นชันสดมาฝนหรือตำพอกจนกวาสะดือจะหลุดออก ซึ่งขมิ้นชันจะออกฤทธิ์ต้านการอักเสบและลดอาการบวม ทำให้แผลแห้งเร็วขึ้น และเมื่ออาบน้ำให้ทารกแล้ว หมอตำแยก็จะเอาขมิ้นชันมาพอก หรือโรยขมิ้นผงปนกับดินสอพอง แล้วเอาผ้ารัดหน้าท้อง ใช้ผ้าสะอาดพันตัวเด็กไว้ และทำพิธีร่อนกระด้งตามประเพณีต่อไป

ที่มา:จากหนังสือวิทยาศาสตร์ในการแพทย์แผนไทย
โดย: อาจารย์ศิรินันท์ ตรีมงคลทิพย์
หัวหน้าภาควิชาวิทยาศาสตร์สุขภาพ(การแพทย์แผนไทยประยุกต์)
สถาบันเทคโนโลยีราชมงคล วิทยาเขตปทุมธานี

↑ กลับสู่ส่วนบนของหน้า