สำหรับผู้ใส่ใจในการรักษาสุขภาพ ทั้งสุขภาพกาย และสุขภาพจิต

การตอบคำถามผู้ป่วยในเรื่องส่วนตัวของจิตแพทย์

การตอบคำถามในเรื่องส่วนตัวของผู้รักษานั้น เป็นเรื่องที่นักจิตบำบัดหัดใหม่ ประสบกับความยุ่งยากลำบากใจมาก วิธีการตอบ ก็ใช้หลักการเช่นเดียวกับ Direct Question หรือ Manifest Question

ในการทำจิตบำบัดชั้นสูง ผู้รักษาจะตอบคำถามน้อยที่สุด โดยใช้วิธีการหลีกเลี่ยงอย่างมีชั้นเชิงเพื่อให้เกิด Transference โดยที่ให้คนไข้ทราบเรื่องส่วนตัวของผู้รักษาน้อยที่สุด ส่วนในการทำจิตบำบัดชั้นต้น และชั้นกลางนั้น ผู้รักษาจะตอบมากขึ้น แต่อย่างไรก็ตาม ต้องสังเกต ระยะเวลาที่คนไข้ถาม คือ Timing และความหมายของคำถาม คือ Implied Question ด้วย

แต่ถ้าคนไข้ถามคุณวุฒิของผู้รักษา  ต้องตอบตามความจริงเสมอ เช่น เป็นจิตแพทย์ แพทย์ประจำบ้านจิตเวช นักจิตวิทยา นักสังคมสงเคราะห์ พยาบาลจิตเวช ฯลฯ

ต่อไปเป็นตัวอย่างของการตอบคำถาม ซึ่งนักจิตบำบัดหัดใหม่อาจนำไปใช้เป็นแนวทางได้ดังนี้

1. อายุ
ผู้ป่วยหลายคนมักจะต้องการทราบว่า นักจิตบำบัดมีอายุเท่าใด โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ถ้าคนไข้มีอายุมากกว่านักจิตบำบัด

ตัวอย่าง
ผู้ป่วยถามว่า “คุณหมออายุเท่าไหร่?”

ถ้าสังเกตให้ดี จะเห็นได้ว่า Manifest Question คือ ต้องการทราบอายุเป็นตัวเลข แต่ Implied Question นั้น ต้องการทราบความรู้ และประสบการณ์ของผู้รักษา ถ้าผู้รักษา จะตอบ Manifest Question ก็อาจจะพูดว่า “30 ปี” แล้วคอยดูว่า ผู้ป่วยจะแสดงปฏิกิริยาอย่างไร ถ้าผู้ป่วยแสดงปฏิกิริยา ไม่ว่าจะเป็นทางบวก หรือลบก็ตาม ผู้รักษาควรจะถามต่อว่า “ผมบอกคุณแล้ว คุณรู้สึกอย่างไร ?”

ถ้าผู้รักษาต้องการจะตอบ Implied Question ก็อาจจะพูดว่า “คุณคงกังวลใจว่า ผมจะมีความรู้ และประสบการณ์พอที่จะรักษาคุณหรือไม่ ?” แล้วคอยดูปฏิกิริยาของคนไข้ และอาจจะถามต่อได้อีกว่า

“ผมพูดอย่างนี้แล้ว คุณรู้สึกอย่างไร?”

2. การฝึกอบรมวิชาความรู้
ในบางคราว ผู้ป่วยอาจจะต้องการทราบว่า ผู้รักษาได้รับการฝึกอบรมมาเพียงพอหรือไม่

ตัวอย่าง
ผู้ป่วยถามว่า “คุณหมอเป็นคนที่ไหน?”
ผู้รักษาตอบว่า “ผมเป็นคนเชียงใหม่”
ผู้ป่วยถามอีกว่า “คุณหมอเรียนแพทย์ที่ไหน?”
ผู้รักษาตอบว่า “เรียนจบจากศิริราช”
ผู้ป่วยถามต่อไปอีกว่า “แล้วเรียนวิชาจิตเวชที่ไหน?”
ผู้รักษาตอบว่า “ครั้งแรกที่โรงพยาบาลสมเด็จเจ้าพระยา และเรียนต่อที่ชิคาโก สหรัฐอเมริกา ผมรู้สึกว่า คุณสนใจในเรื่องความรู้ความสามารถของผม คุณคิดถึงเรื่องนี้ อย่างไร ?”

ผู้ป่วยจึงพูดว่า “ผมต้องการรักษากับแพทย์ที่มีความสามารถ คุณพ่อของผมเคยรักษากับหมอคนหนึ่ง หลังจากการผ่าตัดแล้ว ทำให้ขาข้างหนึ่งสั้นกว่าอีกข้างหนึ่ง ผมไม่ต้องการให้เกิดเรื่องอย่างนี้กับตัวผมเอง”

ผู้รักษาจึงรีบถามว่า “เรื่องมันเป็นอย่างไร?”

ข้อสังเกต
คำถามของผู้ป่วย เกี่ยวข้องกับประสบการณ์ที่ผู้ป่วยเคยได้รับมา เพราะฉะนั้น ผู้รักษาจะต้องถามเรื่องราวเหล่านี้ในทันที เมื่อโอกาสอำนวยให้

3. ชีวิตสมรส
ผู้ป่วยหญิงมักจะชอบถาม หรือมีจินตนาการกับผู้รักษาที่เป็นชาย และในทำนองเดียวกันผู้ป่วยชายก็ชอบถามผู้รักษาที่เป็นหญิงด้วย ทั้งนี้ ก็เพราะว่าผู้ป่วยมักจะถือว่า ผู้รักษาเป็นบุคคลในอุดมคติ และบางรายอาจจะคิดเลยเถิดไปว่า ต้องการจะเป็นเพื่อน หรือแต่งงานกับผู้รักษาก็ได้

ตัวอย่าง
ผู้ป่วยถามว่า “คุณหมอแต่งงานแล้วหรือยัง?”
ผู้รักษากลับย้อนถามว่า “ทำไมคุณถึงถาม?”
ผู้ป่วยตอบว่า “อยากทราบ คุณหมอไม่ต้องตอบก็ได้ หนูเดาว่าคงจะยังไม่แต่ง เพราะว่าถ้าแต่งแล้วคุณหมอก็คงจะตอบ แต่เมื่อไม่ยอมตอบ ก็หมายความว่ายังไม่แต่ง แต่ไม่กล้าพูด”

ผู้รักษาจึงถามว่า “และถ้ายังไม่แต่งล่ะ คุณจะว่ายังไง?”
ผู้ป่วยพูดว่า “โอ หนูคงต้องสงสัยว่า ทำไมจึงยังไม่แต่ง หรือคุณหมออาจเป็นคนขี้อาย ไม่กล้าพูดกับผู้หญิง หรือไม่ก็คงจะอกหัก”

ข้อสังเกต
ในตัวอย่างนี้ ผู้รักษาแต่งงานแล้ว แต่ต้องการทราบ Transference Fantasy ของผู้ป่วยจึงให้ผู้ป่วยเดาเหตุการณ์เอาเอง

4. ความคิดเห็นทางการเมืองศาสนาและปรัชญา
เราพบบ่อยว่า ผู้ป่วยต้องการทราบเรื่องเหล่านี้ เพราะว่าผู้ป่วยเป็นจำนวนมาก ต้องการผู้รักษาที่มีแนวความคิดเหมือนตน และถ้ามีแนวความคิดเห็นแตกต่างกัน ก็อาจจะเป็นอุปสรรคต่อการรักษาได้

ตัวอย่างที่ 1
ผู้ป่วยพูดขึ้นว่า “ก่อนที่ผมจะรักษากับคุณหมอ ผมอยากทราบว่า คุณหมอเชื่อว่ามีพระเจ้าหรือไม่?”

ผู้รักษาย้อนถามไปว่า “ทำไมคุณถึงถาม?”

ผู้ป่วยบอกว่า “ผมเป็นคนเชื่อในพระเจ้า ผมต้องการรักษากับหมอที่เชื่อในพระเจ้า ผมไม่สนใจหรอกว่า คุณหมอนับถือศาสนาอะไร ขอให้เชื่อว่ามีพระเจ้าเป็นใช้ได้ คุณหมอ เชื่อว่ามีพระเจ้าหรือไม่?”

ผู้รักษาตอบด้วยความจริงใจว่า “เสียใจครับ ผมไม่เชื่อว่ามีพระเจ้า”

ผู้ป่วยจึงพูดว่า “ถ้าเช่นนั้น ผมไม่มีทางเลือก ผมเห็นจะต้องหาจิตแพทย์ใหม่ ถ้าคุณหมอไม่ขัดข้อง”

ผู้รักษาพูดโดยเปิดเผย “ผมไม่ขัดข้องเลย และคิดว่าคุณควรจะพบกับจิตแพทย์ที่คุณไว้ใจ จะได้รับประโยชน์มากกว่า”

ตัวอย่างที่ 2
ผู้ป่วยเป็นนักการเมือง มาพบผู้รักษาด้วยอาการเบื่อชีวิต และซึมเศร้า
ผู้ป่วยถามว่า “คุณหมอสนใจการเมืองหรือเปล่า?”
ผู้รักษาย้อนถามกลับไปว่า “ทำไมคุณจึงถาม ?”
ผู้ป่วยตอบว่า “ผมเกลียดนักการเมืองฝ่ายขวาจัด พวกนี้ไม่เห็นใจคนจน ถ้าคุณหมอเป็นพวกขวาจัดด้วยแล้ว ผมคงไม่อยากรักษากับคุณหมอ”

ผู้รักษาตอบอย่างจริงใจว่า “ผมสนใจการเมืองเหมือนคนทั่วๆ ไป แต่ก็ไม่ชอบการใช้ความรุนแรง ไม่ว่าจะเป็นซ้ายจัด หรือขวาจัด ผมพูดเช่นนี้ คุณรู้สึกอย่างไร ?”

ผู้ป่วยยิ้มแล้วตอบว่า ถ้าเช่นนั้น ผมคิดว่า เราคงไปด้วยกันได้

ที่มา:ปราโมทย์  เชาวศิลป์

↑ กลับสู่ส่วนบนของหน้า