สำหรับผู้ใส่ใจในการรักษาสุขภาพ ทั้งสุขภาพกาย และสุขภาพจิต

การดูแลมารดาหลังคลอดด้วยการอยู่ไฟ

ภาวะสุขภาพของมารดาหลังคลอดจะเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม ในแง่ของการแพทย์แผนไทย จำเป็นต้องหาวิธีฟื้นฟูสุขภาพที่เสื่อมหรือบกพร่องไป ให้กลับมามีความแข็งแรงดังเดิม

การอยู่ไฟ
คนไทยได้ปฏิบัติเกี่ยวกับการอยู่ไฟสืบทอดกันมาช้านาน จึงเรียกมารดาในระยะหลังคลอดบุตรว่า ระยะอยู่ไฟ ในสมัยโบราณจะเตรียมการอยู่ไฟไว้ตั้งแต่ก่อนครรภ์แก่ใกล้คลอด โดยสามีจะตัดฟืนมาไว้สำหรับให้ภรรยาอยู่ไฟหลังคลอดลูกแล้ว เพื่อเป็นการแสดงความเอาใจใสต่อภรรยาก็ห้ามผู้อื่นไปตัดฟืนให้ หรือจ้างผู้อื่น หรือซื้อหาเอามา แต่ก็ไม่ได้เคร่งครัดกันมากนักในระยะต่อมา ไม้ที่ใช้ทำฟืนต้องเป็นไม้ที่มีขี้เถ้าน้อยเพื่อไม่ให้เกิดความรำคาญมากนัก เช่น ไม้สะแก หรือไม้มะขาม และควรมีไม้ทองหลางด้วย เพราะมีความเชื่อกันว่า การอยู่ไฟด้วยไม้ทองหลางจะช่วยป้องกันการปวดมดลูกและแก้พิษเลือด แต่ไม้ทองหลางจะทำให้เกิดควันมากจึงควรใส่แค่พอเป็นพิธี

ต้องมีการทำพิธี “เข้าขื่อ” เสียก่อนที่จะขึ้นนอนบนกระดานไฟ คือการนอนตะแคงให้หมอตำแยเหยียบสะโพก เพราะมีความเชื่อว่าจะทำให้กระดูกเชิงกรานเข้าที่ และต้องกราบขอขมาเตาไฟก่อนจะขึ้นไปนอน เพราะเชื่อว่าเตาไฟมีเทพารักษ์ประจำอยู่ถือว่าเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ จะได้คุ้มครองให้อยู่เย็นเป็นสุข ให้ระลึกถึงคุณของพระเพลิง พระพาย พระแม่ธรณี และพระแม่คงคา ซึ่งเป็นเทพที่ประจำอยู่กับธาตุทั้ง 4 และหมอจะทาท้องด้วยขมิ้นและปูนแดงที่เสกแล้ว และพอกแผลฝีเย็บด้วยไพลที่ตำกับเกลือ ซึ่งจะช่วยให้แผลหายเร็วไม่เป็นหนอง หรือก่อนพอกยาให้ล้างด้วยเหล้าเสียก่อน เมื่ออยู่ไฟต้องนุ่งผ้าเตี่ยว เอาสำลีที่ชุบขมิ้นผสมกับปูนแดงและเหล้าปิดสะดือ และทาท้องกับหลังไว้เสมอเพื่อเป็นการดับพิษร้อนและเป็นการรักษาร่างกาย และมีการรมตาด้วยนำยาโรยบนถ่านไฟเพื่อกันตาแฉะ ตาเจ็บ หลังจากคลอดลูก 3-7 วันมดลูกก็จะเข้าอู่ หมอตำแยจะเอามือกดตรงหัวเหน่าเพื่อช้อนให้มดลูกเข้าอู่ทุกวัน เมื่อช้อนขึ้นไปแล้วก็ใช้มือกดคลึงที่หัวเหน่า เรียกว่า กล่อมมดลูก เพื่อให้มีการหดตัวเข้าที่ของปากมดลูก ขณะที่กล่อมมดลูก หญิงหลังคลอดจะรู้สึกสบายตัวเพราะจะมีน้ำคาวปลาทะลักออกมาด้วย และให้เอาว่านนางคำตำหรือฝน นำมาผสมกับเหล้าและการบูรทาให้ทั่วตัวก่อนที่จะเข้ากระโจมอยู่ไฟ

การอยู่ไฟได้ปรับปรุงเปลี่ยนแปลงไปตามยุคสมัย ซึ่งแบ่งได้เป็น 2 ลักษณะใหญ่ คือ

การอยู่ไฟแบบใช้กองไฟ
มีการใช้เชื้อเพลิงหรือถ่านมาก่อไฟเป็นหลัก มีอยู่ 2 รูปแบบคือ การอยู่ไฟแบบก่อกองไฟ กับการอยู่ไฟแบบกระดานไฟ แต่รายละเอียดของการอยู่ไฟแบบดั้งเดิมที่ปฏิบัติกันมาจะมีความแตกต่างกันไปตามแต่ละท้องถิ่นนั้นๆ

การอยู่ไฟแบบให้ความร้อนบริเวณหน้าท้อง
การอยู่ไฟลักษณะนี้จะมีความสะดวกมากยิ่งขึ้น โดยทั่วไปมักใช้อยู่ 2 วิธีคือ

1. การอยู่ไฟชุด
เป็นการจุดเชื้อไฟแล้วใส่ในกล่องอะลูมิเนียมแบนๆ จะใช้ประมาณ 2-3 กล่อง ทำให้กล่องเกิดความร้อนขึ้น แล้วใช้ผ้าพันรอบท้องให้กล่องไฟชุดอยู่บริเวณหน้าท้อง หลังจากคลอดจะต้องเข้ากระโจมประคบตัว และอาบน้ำทับหม้อเกลือ และนั่งถ่าน ผ้าที่ใช้พันกล่องไฟชุดต้องหนาพอที่จะกันความร้อนจากกล่องไฟ เพื่อไม่ให้ผิวหนังบริเวณหน้าท้องพอง

2. การใช้กระเป๋าน้ำร้อน
เป็นการประยุกต์ใช้กันในยุคหลังๆ ด้วยการนำกระเป๋าน้ำร้อนมาวางบริเวณหน้าท้องแทนการอยู่ไฟ หรือในบางท้องถิ่นอาจนำก้อนอิฐมาเผาไฟแล้วห่อด้วยผ้าใช้วางบนหน้าท้อง

ประโยชน์ของการอยู่ไฟที่มารดาหลังคลอดได้รับ
ลดการเกร็งและความตึงตัวของกล้ามเนื้อ
การใช้กล้ามเนื้อเป็นระยะเวลานานจะทำให้เกิดการเกร็งและตึงตัวได้ ทำให้ขาดเลือดไปเลี้ยงกล้ามเนื้อบริเวณนั้น โดยการทำงานของเซลล์ประสาทจะลดลงเมื่ออุณหภูมิต่ำกว่า 45 องศาเซลเซียส ทำให้ความไวของกลุ่มใยกล้ามเนื้อน้อยลงเมื่อถูกกระตุ้น

เพิ่มการไหลเวียนโลหิตให้มากขึ้น
ความร้อนจะไปกระตุ้นสัญญาณประสาทที่ใยประสาทใหญ่ ซึ่งส่วนมากจะพบที่บริเวณผิวหนังผ่านเข้าสู่ไขสันหลังบริเวณคอร์ซอลฮอร์น และสัญญาณบางส่วนจะย้อนไปที่หลอดเลือดกระตุ้นให้มีการหลั่งสารที่มีฤทธิ์ต่อความตึงตัวของกล้ามเนื้อเรียบของหลอดเลือด ทำให้มีการขยายตัวของหลอดเลือด ส่งผลให้เลือดมีปริมาณการไหลเวียนเพิ่มขึ้น

ความร้อนเป็นตัวการรับความรู้สึกปวด
โดยบริเวณผิวหนังจะถูกกระตุ้นด้วยความร้อนทำให้ตัวรับอุณหภูมินำสัญญาณประสาทไปทางใยประสาทส่วนใหญ่ สามารถยับยั้งประสาทที่เกี่ยวข้องกับอาการปวด ทำให้สัญญาณผ่านไปยังสมองได้น้อยลง จึงรับรู้อาการปวดลดลงไปด้วย

ลดการอักเสบ
เนื้อเยื่อบริเวณที่ได้รับความร้อนจะมีอุณหภูมิสูงขึ้น ทำให้ภายในเซลล์มีปฏิกิริยาทางเคมีและอัตราการเผาผลาญเพิ่มขึ้น ทำให้เนื้อเยื่อสามารถนำออกซิเจนไปใช้ได้มากขึ้น ส่วนเนื้อเยื่อที่มีการอักเสบหรือบาดเจ็บก็จะได้รับการซ่อมแซมส่วนที่สึกหรอเพิ่มขึ้นจากการนำของสารต่างๆ ในร่างกาย ทำให้ร่างกายสามารถกำจัดของเสียออกไปอย่างมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น

ที่มา:จากหนังสือวิทยาศาสตร์ในการแพทย์แผนไทย
โดย: อาจารย์ศิรินันท์ ตรีมงคลทิพย์
หัวหน้าภาควิชาวิทยาศาสตร์สุขภาพ(การแพทย์แผนไทยประยุกต์)
สถาบันเทคโนโลยีราชมงคล วิทยาเขตปทุมธานี

↑ กลับสู่ส่วนบนของหน้า