สำหรับผู้ใส่ใจในการรักษาสุขภาพ ทั้งสุขภาพกาย และสุขภาพจิต

การคุมกำเนิดในหญิงวัยรุ่นสาว

ปัจจุบันแม้จะมีวิธีการคุมกำเนิดที่มีประสิทธิภาพสูง เลือกใช้ได้หลายวิธีตามความสมัครใจ แต่หญิงวัยรุ่นสาวไม่น้อยยังต้องประสบปัญหาการตั้งครรภ์ที่ไม่ได้วางแผนไว้ก่อน (unplanned teenage pregnancy) ซึ่งยังผลให้เกิดภาวะแทรกซ้อนระหว่างตั้งครรภ์เป็นอันตรายต่อทั้งมารดาและทารกในครรภ์ ตลอดจนเกิดผลกระทบถึงภาวะเศรษฐกิจสังคมของประเทศชาติในระยะยาวด้วย
จากการประชุมขององค์การอนามัยโลกเกี่ยวกับเรื่อง “pregnancy and abortion in adolescence” เมื่อปี ค.ศ.1974 ได้ให้คำนิยามของระยะวัยรุ่นสาวว่าเป็นระยะที่
1. มีการเปลี่ยนแปลงจากเริ่มต้นมีลักษณะทางเพศ จนกระทั่งมีการพัฒนาทางเพศที่สมบูรณ์
2. มีพัฒนาการทางจิตใจในลักษณะที่มีความเป็นผู้ใหญ่มากขึ้น
3. มีความเป็นตัวของตัวเองมากขึ้นกว่าที่จะพึ่งพาอาศัยผู้อื่น
เพศสัมพันธ์ในวัยรุ่น
Adolescent sexuality
การศึกษาในช่วงระยะเวลาที่ผ่านมาพบว่า หญิงวัยรุ่นสาวมีระดูและมีเพศสัมพันธ์เร็วขึ้นกว่าแต่ก่อน ทำให้ช่วงระยะเวลาของการมีเพศสัมพันธ์ก่อนการสมรส (premarital sexual intercourse) ยาวนานขึ้น เป็นผลให้อุบัติการของการตั้งครรภ์ โรคทางเพศสัมพันธ์ การข่มขืน การทำแท้งเพิ่มขึ้น ทั้งนี้เนื่องมาจากขาดความรู้ความเข้าใจและขาดความต้องการในการคุมกำเนิด
การตั้งครรภ์ในวัยรุ่นสาว
Teenage pregnancy
จากการศึกษาที่ผ่านมาพบว่า ในประเทศสหรัฐอเมริกาหญิงวัยรุ่นสาวตั้งครรภ์ประมาณ 1.2 ล้านคนในแต่ละปี ในจำนวนนี้มีถึงร้อยละ 82 เป็นการตั้งครรภ์ที่ไม่ได้วางแผนก่อน อัตราการตั้งครรภ์ในหญิงวัยรุ่นสาวมีแนวโน้มสูงขึ้น โดยระหว่างปี ค.ศ.1973-1978 อัตราการตั้งครรภ์เพิ่มขึ้นร้อยละ 13 ของทุกช่วงอายุในหญิงที่มีอายุน้อยกว่า 20 ปี ทั้งนี้เชื่อว่าสาเหตุสืบเนื่องมาจากหญิงวัยรุ่นสาวมีระดูครั้งแรกและมีเพศสัมพันธ์เร็วขึ้น
ปัญหาด้านการแพทย์
การตั้งครรภ์เมื่ออายุน้อย มักจะมีปัญหาต่อสุขภาพทั้งมารดาและทารกในครรภ์ กล่าวคือ
อัตราป่วยและอัตราตายของมารดาและทารกสูงขึ้น
อุบัติการของการแท้งบุตรบ่อย
ภาวะแทรกซ้อนระหว่างการตั้งครรภ์มากขึ้น โดยพบว่า
อุบัติการของการเกิดความดันโลหิตสูงจากการตั้งครรภ์ ร้อยละ 15
อุบัติการของภาวะเลือดจางร้อยละ 12
อุบัติการของการคลอดก่อนกำหนดร้อยละ 23
อุบัติการของโรคทางเพศสัมพันธ์มากขึ้น
อัตราตายของมารดาพบได้ 18 รายต่อการคลอดบุตรมีชีวิต 100,000 ราย
อุบัติการของการคลอดทารกที่มีน้ำหนักแรกคลอดน้อยกว่าปกติร้อยละ 39
อัตราตายของทารกสูงเป็น 2 เท่าของทารกที่เกิดจากมารดาที่มีอายุ 20 ปี และสูงกว่าทารกที่เกิดจากมารดาที่มีอายุมากกว่า 40 ปีอีกด้วย
อัตราตายของทารกที่เกิดจากมารดาที่ตั้งครรภ์เมื่ออายุน้อยกว่า 20 ปี พบได้ 20.7 ราย ต่อการคลอดบุตรมีชีวิต 1,000 ราย
การดูแลที่ดีระหว่างการตั้งครรภ์สามารถลดทั้งอัตราป่วยและอัตราตายของมารดาและทารกลงได้ แต่โดยทั่วไปพบว่าหญิงที่ตั้งครรภ์ตั้งแต่อายุน้อยมักจะไม่ได้มาฝากครรภ์ตั้งแต่แรกเริ่ม ส่วนใหญ่มาเมื่อใกล้คลอดหรือมีภาวะแทรกซ้อนเกิดขึ้นแล้วและมักมาไม่ตรงตามนัด บางรายมาโรงพยาบาลเมื่อเจ็บครรภ์คลอดเลย สาเหตุที่แน่นอนไม่ทราบแน่ชัด แต่เชื่อว่าอาจสืบเนื่องจากการตั้งครรภ์ที่ไม่ได้วางแผนไว้ก่อน พยายามปกปิดไม่ให้ผู้อื่นทราบ และที่สำคัญคือขาดความรู้ในการดูแลตัวเองระหว่างการตั้งครรภ์
ปัญหาทางด้านเศรษฐกิจและสังคม
การตั้งครรภ์ขณะที่อายุยังน้อยมักจะมีปัญหาด้านเศรษฐกิจและสังคมตามมาเสมอ ทั้งนี้เนื่องจากขาดความรู้และประสบการณ์ในการดูแลตัวเองและการเลี้ยงดูทารก บิดามารดาที่อายุน้อยมักจะยังไม่มีงานทำที่เป็นหลักฐานมั่นคงพอ มีปัญหาการหย่าร้างตามมาบ่อย ทารกที่เกิดจึงมีปัญหาเช่นกัน จากการศึกษาพบว่าเด็กกลุ่มนี้จะมีพัฒนาการเรียนรู้ได้ช้า มีโอกาสที่จะแต่งงานและมีบุตรตั้งแต่อายุยังน้อยเช่นเดียวกัน
การคุมกำเนิดในหญิงวัยรุ่นสาว
Adolescent contraceptive use
อัตราเพิ่มของการตั้งครรภ์ในหญิงวัยรุ่นสาว ระยะหลังเพิ่มขึ้นน้อยกว่าอัตราการมีเพศสัมพันธ์มาก ทั้งนี้เนื่องจากรู้จักวิธีคุมกำเนิดมากขึ้น การศึกษาในระหว่างปี พ.ศ.2516-2521 พบว่าอัตราการตั้งครรภ์ของหญิงที่อายุน้อยกว่า 20 ปี ลดลงร้อยละ 15 ทั้งนี้เนื่องจากมีการใช้วิธีคุมกำเนิดเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 35 ของหญิงกลุ่มนี้
Forrest และคณะได้ศึกษารวบรวมข้อมูลในปี พ.ศ.2513 พบว่าในหญิงวัยรุ่นสาวที่มาที่คลินิกวางแผนครอบครัวมีการตั้งครรภ์ที่ไม่ได้วางแผนก่อนถึง 2.6 ล้านราย จึงได้มีการวางแผนการคุมกำเนิด เพื่อป้องกันการตั้งครรภ์ที่ไม่ได้วางแผนไว้ก่อน จนปี พ.ศ.2522 พบว่าอุบัติการลดลงถึง 417,000 ราย จากการสอบถามพบว่าร้อยละ 70 ของหญิงวัยรุ่นสาวที่ยังไม่แต่งงานมีเพศสัมพันธ์กับเพื่อนชายและรู้จักวิธีคุมกำเนิด ซึ่งในปี พ.ศ. 2522 นั้นพบว่ามีหญิงวัยรุ่นสาวมาที่คลินิกวางแผนครอบครัวถึง 4.5 ล้านราย ประมาณ 1 ใน 3 หรือ 1.5 ล้านรายมาเพื่อรับบริการคุมกำเนิด
ตารางแสดงวิธีการคุมกำเนิดที่ผู้รับบริการรายใหม่มาขอใช้ในปี พ.ศ.2521

วิธีการคุมกำเนิด

จำนวนผู้รับบริการ (%)

ยาเม็ดคุมกำเนิดชนิดรับประทาน

75

ห่วงอนามัยคุมกำเนิด

4

หมวกยางสอดช่องคลอด(diaphragm)

4

การใช้วัสดุใส่ในช่องคลอด (vaginal contraceptives)

5

ถุงยางอนามัย/หลั่งภายนอก (condom/withdrawal)

3

อื่นๆ

1

รวม

92*

*ที่เหลือได้แก่รายที่มีการตั้งครรภ์ หรือมีข้อบ่งห้ามในการคุมกำเนิด
เหตุผลที่ไม่คุมกำเนิด
Reasons for nonuse of contraception
แม้ในปัจจุบันสถิติของการคุมกำเนิดจะสูงขึ้น แต่ก็ยังมีหญิงวัยรุ่นสาวอีกจำนวนไม่น้อยที่ไม่คำนึงถึงการคุมกำเนิดจนกว่าจะมีเพศสัมพันธ์หรือสงสัยว่ามีการตั้งครรภ์เกิดขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อถามถึงสาเหตุที่มาพบแพทย์ ส่วนใหญ่จะตอบว่ากลัวการตั้งครรภ์และกลัวบิดามารดาทราบเรื่อง โดยเฉลี่ยพบว่าส่วนใหญ่จะมีเพศสัมพันธ์ก่อนที่จะมีการคุมกำเนิดตั้งแต่ 1 ปี ขึ้นไป ประมาณร้อยละ 10-20 ของการตั้งครรภ์ก่อนการสมรส เกิดขึ้นภายในเดือนแรกหลังจากร่วมเพศครั้งแรก และประมาณร้อยละ 40-50 จะเกิดขึ้นภายใน 6 เดือนหลังร่วมเพศ
ตารางแสดงเหตุผลที่ไม่ได้ใช้วิธีการคุมกำเนิดในหญิงอายุ 15-19 ปี ที่มีการร่วมเพศก่อนสมรส

เหตุผล

ร้อยละ

คิดว่าคงจะไม่สามารถเกิดการตั้งครรภ์ได้

คำนวณวัน (18.0)

ยังเด็กเกินกว่าที่จะเกิดการตั้งครรภ์ (4.2)

มีการร่วมเพศนานๆ ครั้ง (3.3)

อื่นๆ (15.2)

 

40.7

มีการร่วมเพศโดยไม่ได้คาดการณ์มาก่อน

16.2

ไม่สามารถใช้วิธีการคุมกำเนิด

(ไม่ทราบว่าจะไปใช้บริการที่ไหน หรือใช้อย่างไร เป็นต้น)

8.2

คิดว่าการคุมกำเนิดเป็นอันตราย

3.9

ใช้ยากหรือไม่มีเงินจะไปซื้อใช้

3.0

ฝ่ายชายปฏิเสธ

1.5

ต้องการตั้งครรภ์

5.2

มีการตั้งครรภ์เกิดขึ้นแล้ว

ไม่ต้องการ (10.8)

ต้องการ (4.2)

15.0

อื่นๆ

6.3

รวม

100

วิธีคุมกำเนิดที่วัยรุ่นใช้
Contraceptive methods used by adolescents
ทั้งฝ่ายหญิงและชายควรมีส่วนร่วมในการเลือกวิธีการคุมกำเนิดที่เหมาะสม และมีประสิทธิภาพในการป้องกันสูง โดยได้รับคำแนะนำจากแพทย์หรือบุคลากรทางสาธารณสุขเพื่อช่วยในการตัดสินใจเลือกวิธีคุมกำเนิดที่เหมาะสม ซึ่งมีอยู่หลายวิธีที่สามารถใช้ได้ ดังนี้
1. ยาคุมกำเนิดชนิดรับประทาน (oral contraceptives)
2. การคุมกำเนิดภายหลังการร่วมเพศ (postcoital contraception)
3. ห่วงอนามัย (intrauterine devices)
4. หมวกยางสอดช่องคลอด (diaphragm)
5. ถุงยางอนามัย (condom)
6. การใช้วัสดุใส่ในช่องคลอด (vaginal contraceptives)
7. การหลั่งน้ำกามภายนอกช่องคลอด (coitus interruptus)
8. การนับระยะปลอดภัย (periodic abstinence or rhythm)
9. การงดเว้นการร่วมเพศ (abstinence or noncoital sex)
10. การทำหมัน (sterilization)
ยาคุมกำเนิดชนิดรับประทาน
Oral contraceptives
เป็นวิธีการคุมกำเนิดที่ใช้กันอย่างแพร่หลายมากที่สุด ในหมู่หญิงวัยรุ่นสาวเช่นเดียวกับวัยเจริญพันธุ์ เนื่องจากมีประสิทธิภาพในการป้องกันการตั้งครรภ์สุงและสะดวกในการใช้ ประสิทธิภาพทางทฤษฎี (theoretical effectiveness) สูง พบอัตราการตั้งครรภ์เพียง 0.1-0.4 รายต่อผู้รับบริการ 100 รายในระยะเวลา 1 ปี แต่เนื่องจากความไม่สม่ำเสมอและวิธีการรับประทานยาที่ไม่ถูกต้อง การมีเพศสัมพันธ์เป็นครั้งคราวโดยที่ไม่ได้คาดการณ์มาก่อน และภาวะแทรกซ้อนที่เกิดจากยาเม็ดคุมกำเนิด ทำให้ประสิทธิภาพในการใช้ (use effectiveness) ต่ำลง โดยพบว่ามีอัตราการตั้งครรภ์ 0.7-10 รายต่อผู้รับบริการ 100 ราย ในระยะเวลา 1 ปี
ข้อบ่งห้ามในการใช้ยาเม็ดคุมกำเนิด
องค์การอาหารและยาแห่งสหรัฐอเมริกา (the food and drug administration-FDA) ได้กำหนดข้อห้ามเด็กขาด (absolute contraindication) ในการใช้ยาเม็ดคุมกำเนิดชนิดรับประทานไว้ 7 ข้อ คือ
1. กำลังตั้งครรภ์หรือสงสัยว่าจะมีการตั้งครรภ์
2. มีเลือดออกผิดปกติทางช่องคลอดโดยไม่ทราบสาเหตุ
3. เป็นหรือสงสัยว่าจะเป็นมะเร็งของเต้านม
4. เป็นหรือสงสัยว่าจะเป็นเนื้องอกที่มีความสัมพันธ์กับฮอร์โมนเอสโตรเจน
5. มี cerebrovascular หรือ coronary artery disease
6. มี thrombophlebitis หรือ thromboembolic disorder
7. เคยมีประวัติของ deep vein thrombophlebitis หรือ thromboembolism
ส่วนข้อบ่งห้ามสัมพัทธ์ (relative contraindication) ซึ่งเป็นข้อควรระวังในการใช้ยาเม็ดคุมกำเนิดได้แก่ ผู้ป่วยที่เป็นเบาหวาน โรคตับ ปวดศีรษะชนิด migraine โรคลมชัก ความดันโลหิตสูง มีประวัติของภาวะซึมเศร้า (depression) โรคหัวใจ โรคไต ความผิดปกติของต่อมธัยรอยด์ ประวัติครอบครัวที่มี hyperlipidemia มะเร็งเต้านม ผู้ป่วยที่มีอายุมากกว่า 35 ปี ชอบสูบบุหรี่ เป็นต้น ซึ่งในผู้ป่วยเหล่านี้แพทย์ควรแนะนำวิธีการคุมกำเนิดที่เหมาะสมและดูแลติดตามผลอย่างใกล้ชิด
อย่างไรก็ตาม ยาคุมกำเนิดชนิดรับประทานควรใช้หลังจากที่มีระดูมาสม่ำเสมออย่างน้อย 1-2 ปี เพราะการใช้ยาคุมกำเนิดชนิดนี้ก่อนที่ hypothalamic-pituitary-ovarian axis จะเจริญเต็มที่ มักเกิดปัญหาภาวะขาดระดูภายหลังหยุดรับประทานยาคุมกำเนิด (post pill amenorrhea) และภาวะมีบุตรยากตามาเสมอ นอกจากนั้นยังอาจไปยับยั้งการเจริญเติบโตเนื่องจาก epiphyseal plate ปิดเร็วกว่าปกติ
ผลข้างเคียงจากการใช้ยาเม็ดคุมกำเนิด
ส่วนใหญ่จะเป็นผลมาจากฮอร์โมนเอสโตรเจน มีเพียงส่วนน้อยที่เป็นผลจากโปรเจสโตเจน
ตารางแสดงผลข้างเคียงของยาเม็ดคุมกำเนิด

estrogen

progestogen

nausea

oligomenorrhea

bloating

amenorrhea

Edema and cyclic weight gain

hirsutism

Irritability, nervousness

Breast regression

Venous or capillary engorgement

acne

chloasma

Anabolic weight gain

Breast tenderness or engorgement

Increased appetite

Altered clotting factors

fatigue

thrombophlebitis

depression

hypertension

Altered libido

Excessive menstrual flow

moniliasis

headache

Loss of hair

Leucorrhea, cervical erosion, polyposis

 

Altered convulsive threshold

 

Altered lipid metabolism

 

ผลพลอยได้ที่ไม่เกี่ยวกับการคุมกำเนิด (non-contraceptive health benefits)
นอกจากความสามารถในการป้องกันการตั้งครรภ์แล้ว ยาเม็ดคุมกำเนิดยังสามารถลดอุบัติการของการเกิดภาวะต่อไปนี้
1. chronic cystic disease of the breast
2. combined fibroadenosis of the breast
3. การติดเชื้อในอุ้งเชิงกราน
4.การตั้งครรภ์นอกมดลูก
5. เนื้องอกกล้ามเนื้อมดลูก
6. มะเร็งเยื่อบุโพรงมดลูก
7. เนื้องอกรังไข่
8. ปวดระดู
9. ความผิดปกติของรอบระดู
10. rheumatoid arthritis
11. ซีด
12. สิว
13. duodenal ulcer
14. sebaceous cyst
ขนาดและชนิดของยาเม็ดคุมกำเนิด
ที่นิยมใช้กันมากได้แก่ยาเม็ดคุมกำเนิดชนิดรวม ที่มีเอสโตรเจนในขนาดต่ำ (low-dose combined pill) ซึ่งมีปริมาณของฮอร์โมนเอสโตรเจน 30 ไมโครกรัมในยาคุมแต่ละเม็ดมีประสิทธิภาพในการป้องกันการตั้งครรภ์สูงและเกิดผลข้างเคียงน้อย
ส่วน minipill ซึ่งเป็นยาเม็ดคุมกำเนิดที่มีฮอร์ดมนโปรเจสโตเจนมีผลข้างเคียงและกด hypothalamic-pituitary-ovarian axis น้อย แต่มีข้อเสียที่สำคัญคือประสิทธิภาพในการป้องกันการตั้งครรภ์ต่ำกว่ายาเม็ดคุมกำเนิดชนิดรวม  โดยพบอัตราการตั้งครรภ์ 2.5-3.7 รายต่อผู้รับบริการ 100 รายในระยะเวลา 1 ปี นอกจากนี้ยังพบมีความผิดปกติของรอบระดูได้บ่อยด้วย
ในกลุ่มของผู้รับบริการที่เป็นวัยรุ่นนี้ปัญหาสำคัญอย่างหนึ่ง คือการที่จะต้องรับประทานทุกวัน ซึ่งมักจะลืมได้บ่อย หากลืมรับประทานยา 1 วันก็ให้รับประทานยา 1 เม็ดทันทีที่นึกได้ หลังจากนั้นก็รับประทานยาต่อตามเวลาปกติหรือจะรับประทานในวันรุ่งขึ้นครั้งเดียว 2 เม็ดก็ได้ แต่ถ้าลืมรับประทานยา 2-3 วันก็อาจเกิดการตกไข่ได้ ดังนั้นจะต้องใช้วิธีการคุมกำเนิดอย่างอื่นร่วมด้วยหากมีการร่วมเพศในช่วงวันที่เหลือของรอบระดู
ก่อนที่จะเริ่มใช้ยาเม็ดคุมกำเนิดจะต้องซักประวัติและตรวจร่างกาย ให้แน่ใจว่าไม่มีข้อบ่งห้ามในการใช้ยาคุมกำเนิด รวมทั้งตรวจภายใน ตรวจมะเร็งปากมดลูกและการส่งตรวจทางห้องปฏิบัติการที่จำเป็น
การคุมกำเนิดภายหลังการร่วมเพศ
Postcoital contraceptions
บ่อยครั้งที่แพทย์ได้รับการปรึกษาและขอคำแนะนำในการป้องกันการตั้งครรภ์ ในกรณีที่มีการร่วมเพศโดยไม่ได้คุมกำเนิดไว้ก่อน เช่น กรณีที่ถูกข่มขืน หรือกรณีฉุกเฉิน เป็นต้น ในการร่วมเพศ 1 ครั้ง มีโอกาสที่จะเกิดการตั้งครรภ์ได้ร้อยละ 2-4 การส่วนล้างช่องคลอดด้วยสารละลายเคมีภายหลังการร่วมเพสมักไม่ได้ผล เพราะเชื้ออสุจิสามารถไปถึงปากมดลูกภายในไม่กี่วินาทีภายหลังการร่วมเพศ แพทย์จึงควรป้องกันการตั้งครรภ์ให้ ซึ่งมีอยู่หลายวิธีได้แก่ การให้ฮอร์โมนเอสโตรเจนในขนาดสูง การให้ฮอร์โมนเอสโตรเจนร่วมกับฮอร์โมนโปรเจสโตเจน การใส่ห่วงอนามัยหรือการทำ endometrial aspiration เป็นต้น
การใช้ฮอร์โมนเพื่อป้องกันการตั้งครรภ์ดังกล่าว จะต้องให้ภายใน 72 ชั่วโมงภายหลังการร่วมเพศจึงจะมีประสิทธิภาพในการป้องกันการตั้งครรภ์สูง โดยการออกฤทธิ์ที่ทอนำไข่และเยื่อบุโพรงมดลูก ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงและมีผลต่อการฝังตัวของไข่ที่ถูกผสมแล้ว
ตัวอย่างของฮอร์โมนที่ใช้ได้แก่
1. diethylstilbestrol (DES)
รับประทานวันละ 50 มก. เป็นเวลา 5 วัน
ปัจจุบันไม่นิยมใช้เนื่องจากมีผลข้างเคียงสูง และผลของ carcinogenic effect ต่อทารกในครรภ์ที่เป็นเพศหญิง ในกรณีที่เกิดการตั้งครรภ์หลังจากการคุมกำเนิดภายหลังการร่วมเพศล้มเหลว
2. ethinyl estradiol รับประทานวันละ 5 มก. เป็นเวลา 5 วัน
3. conjugated estrogen
รับประทานวันละ 30-50 มก. เป็นเวลา 5 วัน
4. ethinyl estradiol + levonorgestrel
รับประทานทันที 2 เม็ด หลังจากนั้นอีก 12 ชั่วโมงรับประทานอีก 2 เม็ด หรือรับประทานวันละ 2 เม็ดเป็นเวลา 5 วัน
5. d-norgestrel
รับประทาน 0.15-1.0 มก. ครั้งเดียวภายใน 1 ชั่วโมงหลังการร่วมเพศ
ส่วนการป้องกันการตั้งครรภ์ภายหลังการร่วมเพศ โดยการใส่ห่วงอนามัยชนิดที่มีทองแดง (copper bearing IUD) จะต้องใส่ภายใน 5 วันหลังจากมีการร่วมเพศ และจะมีผลในการคุมกำเนิดทันที (immediate contraceptive effect) ป้องกันการฝังตัวของ blastocyst โดยไม่ต้องเสี่ยงกับผลข้างเคียงของฮอร์โมนเอสโตรเจน แต่อาจมีผลเสียในกรณีที่มีการตั้งครรภ์ มีการติดเชื้อในอุ้งเชิงกราน หรือมีปากมดลูกอักเสบจากหนองในที่ไม่มีอาการอยู่ก่อน
ในบางครั้งอาจทำ endometrial aspiration ทันทีภายหลังการร่วมเพศเช่น กรณีที่ถูกข่มขืน เพื่อดูดเอาเยื่อบุโพรงมดลูกออกทำให้ไข่ที่ถูกผสมแล้วไม่สามารถฝังตัวได้ ปัจจุบันไม่นิยมวิธีนี้เนื่องจากอาจเกิดภาวะแทรกซ้อนขึ้นได้เช่นเดียวกับการทำแท้ง
ห่วงอนามัย
Intrauterine devices
สำหรับหญิงวัยรุ่นสาว ห่วงอนามัยมีข้อดีกว่าวิธีอื่น ในกรณีที่มีการร่วมเพศเป็นครั้งคราวไม่แน่นอน โดยเฉพาะอย่างยิ่งห่วงอนามัยชนิดใหม่ๆ ที่มีขนาดเล็ก เช่น copper-7, copper-T, minimultiload และ minigravigard เป็นต้น ง่ายต่อการใส่และผู้รับบริการมักจะทนได้ดีถึงแม้จะไม่เคยมีบุตรมาก่อน
กลไกการป้องกันการตั้งครรภ์ของห่วงอนามัยยังไม่เป็นที่ทราบแน่ชัด แต่เชื่อว่าอาจเกิดจาก
1. local sterile inflammatory reaction ห่วงอนามัยทำให้มีผลต่อการฝังตัวของไข่ที่ถูกผสมแล้ว
2. intrauterine macrophages ไปทำลายเชื้ออสุจิหรือไข่ที่ถูกผสมแล้ว
3. มีการหลั่งของพรอสตาเกลนดินจากเยื่อบุโพรงมดลูกทำให้มดลูกบีบรัดตัวเพิ่มขึ้น การเคลื่อนที่ของไข่ที่ถูกผสมแล้วในท่อนำไข่เร็วขึ้น ทำให้มีผลต่อการฝังตัวของไข่ที่ผสมแล้ว
4. ปฏิกิริยาเฉพาะที่ของสารที่อยู่กับตัวห่วงอนามัย เช่น ทองแดง เป็นต้น
เวลาที่เหมาะสมในการใส่ห่วงอนามัย ได้แก่
1. หลังหมดระดูใหม่ๆ
2. หลังแท้งบุตร
3. หลังคลอดบุตร
ในกรณีที่มีการตั้งครรภ์เกิดขึ้นในโอกาสที่จะเกิดการตั้งครรภ์นอกมดลูกจะสุงกว่าปกติเนื่องจากห่วงอนามัยสามารถป้องกันการฝังตัวภายในโพรงมดลูกเท่านั้น และถ้ามีการตั้งครรภ์เกิดขึ้นในโพรงมดลูกโอกาสที่จะเกิดการแท้งก็สูงขึ้นด้วย
การใส่ห่วงอนามัยในกลุ่มหญิงวัยรุ่นสาวไม่เป็นที่นิยมมากนัก เนื่องจากมีข้อเสียอยู่หลายประการเช่น ปวดท้องน้อย หรือเลือดออกผิดปกติ บางรายอาจใส่ยากและเจ็บ การเพิ่มอุบัติการของการติดเชื้อในอุ้งเชิงกรานซึ่งพบว่าสูงขึ้น 3-10 เท่า เมื่อเทียบกับการคุมกำเนิดวิธีอื่น และอุบัติการของการตั้งครรภ์นอกมดลูกสูงขึ้นเป็น 7-10 เท่าของกลุ่มที่ไม่ได้ใช้ห่วงอนามัย แม้กระนั้นในกรณีที่ไม่อาจใช้การคุมกำเนิดด้วยวิธีอื่น ก็อาจเลือกใช้ห่วงอนามัยในการป้องกันการตั้งครรภ์ได้
หมวดยางสอดช่องคลอด
Diaphragm
เป็นวิธีที่ใช้เพื่อหลีกเลี่ยงภาวะแทรกซ้อนจากการใส่ห่วงอนามัย และการรับประทานยาคุมกำเนิด ป้องกันการตั้งครรภ์โดยการขัดขวางการเดินทางของอสุจิ มักจะใช้ร่วมกับครีมหรือน้ำยาฆ่าเชื้ออสุจิเพื่อให้ได้ผลในการป้องกันการตั้งครรภ์ได้ดีขึ้น
วิธีนี้ให้กันไม่ค่อยแพร่หลายเนื่องจากความไม่สะดวกในการใช้ ต้องใส่ก่อนมีการร่วมเพศ และต้องทิ้งไว้อย่างน้อย 6-8 ชั่วโมง จึงจะเอาออกได้เพื่อให้แน่ใจว่าเชื้ออสุจิตายหมดแล้ว นอกจากนี้ยังอาจเกิดอาการข้างเคียงเช่น การแพ้ยางและสารฆ่าเชื้ออสุจิ มีโอกาสติดเชื้อของระบบทางเดินปัสสาวะมากขึ้น การตั้งครรภ์อาจเกิดขึ้นได้ ถ้าใส่ไม่ดีหรือมีการเคลื่อนที่ของหมวกยางขณะร่วมเพศ หรือบางครั้งอาจมีรูรั่วที่ตัวหมวกยางโดยที่ไม่ทราบมาก่อน
ถุบยางอนามัย
Condom
เป็นวิธีที่นิยมกันมากเพราะสะดวก ราคาถูก มีผลข้างเคียงน้อย สามารถป้องกันการติดต่อของโรคทางเพศสัมพันธ์ เหมาะสำหรับกรณีที่การร่วมเพสไม่บ่อย ใช้ได้เป็นครั้งคราวเมื่อต้องการ ไม่ต้องเสี่ยงกับผลข้างเคียงจากการรับประทานยาหรือใส่ห่วงอนามัย การใช้ถุงยางอนามัยเป็นวิธีที่ฝ่ายชายนิยมใช้มากที่สุด ยกเว้นบางรายที่คิดว่าอาจทำให้ความรู้สึกทางเพศลดน้อยลง
วิธีใช้ควรสวมในขณะที่อวัยวะเพศแข็งตัว และควรจะรีบถอนอวัยวะเพสออกจากช่องคลอดก่อนที่จะมีการอ่อนตัว เพื่อป้องกันการไหลของน้ำอสุจิเข้าสู่ช่องคลอด
การใช้วัสดุใส่ในช่องคลอด
Vaginal contraceptives
วัสดุที่ใช้ได้แก่ โฟล์ม เยลลี่ ครีม ยาสอด ฟองน้ำ ยาผงหรือยาเม็ด วิธีนี้มีประสิทธิภาพในการคุมกำเนิดค่อนข้างต่ำ จึงแนะนำให้ใช้ร่วมกับการคุมกำเนิดวิธีอื่นเช่นถุงยางอนามัยหรือในรายที่ลืมรับประทานยาคุมกำเนิดหลายวันติดต่อกัน ข้อดีคือราคาถูกผลข้างเคียงน้อย สามารถใช้ได้เองเมื่อต้องการ
กรหลั่งน้ำกามภายนอกช่องคลอด
Coitus interruptus
เป็นวิธีที่มีประสิทธิภาพในการป้องกันการตั้งครรภ์ต่ำ แต่นิยมใช้กันมากเพราะไม่ต้องเตรียมตัว ไม่ต้องใช้ยาหรือเครื่องมืออื่นใด สาเหตุที่มีโอกาสเกิดการตั้งครรภ์ได้สูงเนื่องจากฝ่ายชายมักจะควบคุมตัวเองไม่ค่อยได้ และที่สำคัญคือมีเชื้ออสุจิอยู่ในน้ำหล่อลื่นอยู่แล้วก่อนที่จะมีการหลั่งน้ำกาม
การนับระยะปลอดภัย
Periodic abstinence or rhythm
เป็นวิธีที่อาศัยการคำนวณและคาดคะเนวันไข่ตก ร่วมกับความรู้ที่ว่าไข่ตกแล้วมีอายุอยู่ได้ 24 ชม. ในขณะที่เชื้ออสุจิมีชีวิตอยู่ได้ 72 ชม. โดยทั่วไปมักแนะนำให้เว้นช่วงการมีเพศสัมพันธ์ 3 วันก่อนและหลังไข่ตกจะสามารถป้องกันการตั้งครรภ์ได้ อย่างไรก็ตามพบว่าประสิทธิภาพในการป้องกันการตั้งครรภ์ค่อนข้างต่ำ มีการตั้งครรภ์เกิดขึ้นได้ร้อยละ 24-30 ในปีแรกโดยเฉพาะอย่างยิ่งในรายที่รอบระดูมาไม่สม่ำเสมอ ซึ่งพบได้บ่อยในหญิงวัยรุ่นสาว และที่สำคัญคือหญิงกลุ่มนี้มักจะไม่ค่อยมีความรู้ ไม่คำนึงถึงสรีรวิทยาของการมีรอบระดูดังกล่าว แม้กระนั้นการคุมกำเนิดวิธีนี้ยังเป็นที่นิยมใช้ในหญิงบางกลุ่มเนื่องจากปัจจัยด้านศาสนาและสังคมที่เป็นอยู่
การงดเว้นการร่วมเพศ
Abstinence or noncoital sex
วัยรุ่นจำนวนไม่น้อยที่มีการมั่วสุมทางเพศเพราะเพื่อนชักชวน หรือพยายามทำตัวให้เป็นส่วนหนึ่งของกลุ่มโดยคล้อยตามเพื่อนไปด้วย ถ้าหากได้รับการแนะนำที่ถูกต้องวัยรุ่นจำนวนไม่น้อยก็สามารถมีเพศสัมพันธ์โดยวิธีอื่นๆ ที่ไม่ต้องร่วมเพศ เช่น การกอดจูบลูบไล้หรือการใช้มือ เป็นต้น สามารถหลีกเลี่ยงการตั้งครรภ์ได้
การทำหมัน
Sterilization
บางครั้งมีหญิงวัยรุ่นสาวบางรายต้องการทำหมันเนื่องจากมีบุตรหลายคนแล้ว แพทย์ควรชี้แจงว่าการทำหมันเป็นวิธีการคุมกำเนิดแบบถาวร ประกอบกับการตัดสินใจของหญิงวัยรุ่นสาวมีโอกาสเปลี่ยนแปลงง่าย อาจพิจารณาไม่รอบด้าน การใช้ชีวิตครอบครัวที่ยาวนานมีโอกาสจะเกิดปัญหาครอบครัว การหย่าร้าง หรือต้องการมีครอบครัวใหม่ ดังนั้นการทำหมันจึงเป็นวิธีการคุมกำเนิดที่พึงหลีกเลี่ยงในหญิงวัยรุ่นสาว ยกเว้นในกรณีที่มีข้อบ่งชี้ เช่น ผู้ป่วยปัญญาอ่อน เป็นต้น
สรุป
จากสถิติที่วัยรุ่นมีแนวโน้มที่จะมีเพศสัมพันธืครั้งแรกเร็วขึ้น อุบัติการของการตั้งครรภ์ที่ไม่ได้วางแผนไว้ก่อนเพิ่มขึ้น จึงเป็นหน้าที่ของแพทย์และบุคคลากรทางสาธารณสุขผู้เกี่ยวข้องทุกคน ร่วมมือกันให้ความรู้ บริการเกี่ยวกับการวางแผนครอบครัวให้ครอบคลุมประชากรกลุ่มนี้โดยเน้นถึงความสำคัญและปัญหาที่อาจเกิดขึ้นกับหญิงวัยรุ่นสาว ตลอดจนจัดระบบเพื่อให้ประชากรกลุ่มนี้สำนึกในหน้าที่และความรับผิดชอบต่อครอบครัวและสังคมต่อไปในอนาคต
ที่มา:สมชาย  ทั้งไพศาล

↑ กลับสู่ส่วนบนของหน้า