สำหรับผู้ใส่ใจในการรักษาสุขภาพ ทั้งสุขภาพกาย และสุขภาพจิต

กล่อนต่างๆ ในการแพทย์แผนปัจจุบัน

กล่อน
ในพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถานให้ความหมายของกล่อน ว่า เป็นโรคตามแผนโบราณชนิดหนึ่งที่เกิดจากมีของเหลวไปขังอยู่ในถุงอัณฑะ ถ้าของเหลวเป็นน้ำจะเรียกว่า กล่อนน้ำ ถ้าของเหลวเป็นเลือดจะเรียกว่า กล่อนเลือด ถ้าของเหลวเป็นหนองจะเรียกว่า กล่อนหนอง คำว่ากล่อน อาจหมายถึง กร่อน ที่แปลว่า หมดสิ้นไปทีละน้อย สึกหรอ ร่อยหรอ เพราะเป็นเรื่องของความเสื่อมของสังขารเนื่องจากโรคเรื้อรัง จึงควรใช้คำว่า กร่อน มากกว่า กล่อน ที่ใช้กันในสมัยโบราณ

คำว่า วุฒิโรค วุฒ แปลว่า เจริญ สูงอายุ ซึ่งมีคำอธิบายเกี่ยวข้องกับอัณฑะ คือ การฟกบวมของอัณฑะจากสาเหตุการกระแทก ช้ำ มีอชินวุฒิโรคกล่อนประวาตวุฒิที่อาการคล้ายกับไส้เลื่อน และกล่อนดินก็มีอาการของไส้เลื่อนชัดเช่นกัน ที่เกี่ยวกับอัณฑะโดยตรงมากกว่าวุฒิโรคคือ องคสูตร รายละเอียดจะอยู่ในเรื่องอัณฑะอักเสบของคัมภีร์มุจฉาปักขันทิกา

กล่อนที่เกิดแก่บุคคลทั้งหลายในโลก จะมีลักษณะเป็นชาติโรค 4 ประการคือ
กล่อนเอ็น ทำให้เกิดอัณฑพฤกษ์ อัมพาต
กล่อนแห้ง ทำให้เกิดเส้นมุตฆาต เส้นสันทฆาต เส้นปัตคาด เส้นรัตฆาต
กล่อนน้ำ ทำให้เกิดปัสสาวะดำ แดง ขาว เหลือง
กล่อนลม ทำให้เกิด อโธคมาวาต กุจฉิยาวาต โกฏฐาสยาวาต คือกล่อนหิน 4 ประการ ที่ทำให้เกิดเสมหะ ปิตตะวาต สันนิบาตสมุฏฐาน

กล่อนเอ็น
กล่อนเอ็นที่ทำให้เกิดอัณฑพฤกษ์
ทำให้มีอาการเมื่อยบริเวณแข้ง ขา ตะโพก บางที่ให้จับร้อนจับหนาว ปวดถ่วงบริเวณหัวเหน่า

กล่อนแห้ง
เป็นเส้นที่ทำให้เกิดโรคกับเส้นมุตฆาต สันทฆาต ปัตคาด และรัตฆาต ดังนี้

กล่อนแห้งที่เกิดกับเส้นมุตฆาต
ทำให้ปัสสาวะติดขัด ปวดถ่วง ปัสสาวะแบบกะปริดกะปรอยบ่อยๆ มีอาการปวดเมื่อยต้นขาและบั้นเอวมาก

กล่อนแห้งแบบสันทฆาต
ทำให้มีอาการท้องแข็งเป็นเถาดาน จุกแน่น เบื่ออาหาร ให้ถ่วงฝัก ให้คันเป็นกำลังเมื่อเกาจนน้ำเหลืองตกก็จะทุเลาลง

กล่อนแห้งแบบปัตคาด
ทำให้มีอาการเมื่อยตึงไปทั้งตัว เป็นเหน็บชา ให้ถ่วงฝักและต้นขา ให้หนังอัณฑะหนาชาไม่มีความรู้สึก

กล่อนแห้งแบบรัตฆาต
ทำให้มีอาการปวดเสียดบริเวณสีข้างและชายโครง ให้เมื่อย ขัดยอก มึนตึง ปวดถ่วง ปวดเสียวไปทั้งกาย ให้ฝักฟกในองค์กำเนิด ให้ปัสสาวะมิได้โชน

กล่อนน้ำ

ที่เกิดแบบทุราวสามี 4 ประการ คือ ที่ทำให้ปัสสาวะมีสีดำ แดง ขาว เหลือง ตามคัมภีร์ประเมหะ

กล่อนน้ำที่ทำให้ปัสสาวะดำ
จะทำให้ปัสสาวะหยดออกมาโดยไม่รู้สึกตัว จะปวดถ่วงลำปัสสาวะ ทั้งบุรุษและสตรีจะมีปัสสาวะสีเหมือนน้ำมันดินเช่นกัน ทำให้ปวดแสบทางเดินปัสสาวะ

กล่อนน้ำที่ทำให้ปัสสาวะแดง
จะทำให้ปัสสาวะมีสีแดงคล้ายน้ำดอกคำ น้ำฝาง หรือน้ำครั่ง รู้สึกปวดถ่วง แสบร้อนในลำปัสสาวะ

กล่อนน้ำที่ทำให้ปัสสาวะขาว
ทำให้ปัสสาวะใส ไม่มีกลิ่น บางทีเป็นเส้นด้าย บางทีเป็นใยบัว บางทีเป็นประเมหะหยดย้อยออกมาเหม็นคาว บางทีที่ปลายลำปัสสาวะจะเป็นเมล็ดพรึงขึ้น จะปวดถ่วง แสบร้อนไปตามขั้วอัณฑะ

อชินวุฒิโรค
อชินวุฒิโรคกล่อนทักขิณ
บังเกิดด้วยบุคคลกระทำซึ่งกายให้ขืนแข็งและวิ่งโลดโผนโจนไปด้วยกำลังเพียรแห่งตนเป็นนิจ เมื่อจะให้โทษมักกระทำให้ไอ ให้ตึงท้อง น่อง และปลายเท้าเป็นที่สุด

อชินวุฒิโรคกล่อนประวาตวุฒิ
บังเกิดขึ้นด้วยบุคคลกระทำให้มั่นแล้ว และขึ้นขี่ซึ่งพาหนะมีชาติอัสดรโคกระบือ เป็นต้น และสรรพยวดยานทั้งปวงเป็นที่สุด อันมิได้เป็นปกติ กล่าวคือ ไปด้วยกำลังผู้อื่นซึ่งวิ่งไปโดยแรงแล้ว และฟาดฟันนั้น เหตุนี้ประวาตะวุฒิโรคจึงบังเกิดขึ้น กระทำให้ถ่วงลงไปอัณฑะนั้นฟกขึ้นแล้ว ให้ปวดเสียวถึงยอดอก ให้แน่นอกเป็นกำลัง ให้เมื่อยขบ ให้ตึงไปทั้งกาย บริโภคอาหารมิได้ เมื่อปล่อยไว้นานเข้าจะกลายเป็นมานและกษัยปลวก ยากที่จะรักษา ซึ่งมีรายละเอียดอยู่ในคัมภีร์กษัยโรค

อชินวุฒิโรคกล่อนตุริตะวุฒิ
บังเกิดแต่เดินนักมิได้มีเวลาว่างก็ดี และเดินไปทางไกลเหลือกำลังก็ดี เป็นเหตุให้วุฒิโรคบังเกิดเกล้า มักทำให้ปวดถ่วงบริเวณหน้าขาทั้งสองข้าง ให้ปวดตึงเป็นกำลังปัตคาด รัตฆาต ให้ยอกแทงในทรวงอก ให้ร้อนไปทั่วกาย เมื่อนานเข้าจะกลายเป็นฝีมะเร็งทรวง ซึ่งมีรายละเอียดอยู่ในคัมภีร์วัณโรค

อชินวุฒิโรคกล่อนชินวุฒิ
เกิดจากการนั่งนานๆ โดยไม่ได้เปลี่ยนอิริยาบถ เช่น การนั่งทำงาน เป็นต้น จะทำให้วุฒิโรคเกิดขึ้น ทำให้ปวดถ่วงบริเวณท้องน้อย ให้ปวดร้อนบริเวณสะโพก สันหลัง ต้นคอ ทำให้เบื่ออาหาร ทำให้ผิว ตา และปัสสาวะมีสีเหลือง ปัสสาวะติดขัด นอนไม่หลับ ซูบผอม เมื่อปล่อยไว้นานเข้ามักจะกลายเป็นฝีรวงผึ้ง ซึ่งมีรายละเอียดอยู่ในคัมภีร์วัณโรค

กล่อนลม
กล่อนลมกุจฉิยาวาตา มีลักษณะอาการทำให้อุจจาระเดินได้ไม่สะดวก มีอาการท้องขึ้น จุกเสียด แน่นหน้าอก ปวดถ่วงบริเวณหัวเหน่า เมื่อยเอวและต้นขาทั้งสองข้าง

จะเห็นได้ว่า โรคเรื้อรังอย่างกษัยกล่อนจะมีอาการแสดงออกในหลายระบบ เป็นความเสื่อมที่เชื่อมโยงกับคัมภีร์อื่น เช่น ในมุจฉาปักขันทิกา จะเกี่ยวข้องกับระบบทางเดินอาหาร หลอดอาหาร เช่น กษัยท้น กระเพาะอาหาร เช่น กษัยปู อาการจุกเสียดที่ลิ้นปี่ซึ่งปัจจุบันเรียกว่า Dyspepsia เช่น โรคแผลในกระเพาะอาหาร กระเพาะอาหารอักเสบ ถุงน้ำดีอักเสบ ตับอักเสบ ตับอ่อนอักเสบ ลักษณะอาการปวดเหมือนเกลียวเชือก คือการบีบตัวของลำไส้ ท่อปัสสาวะ ที่บอกว่าปัสสาวะเป็นสีแดง เป็นหนอง มีอาการบวม ทำให้รู้ว่าเกี่ยวกับทางเดินปัสสาวะ อาการปวดถ่วงถุงอัณฑะ หรือมีก้อนในถุงอัณฑะทำให้รู้ว่าเป็นอาการของไส้เลื่อน ส่วนที่บอกอาการได้ไม่ชัดโบราณก็ได้จัดไว้ในแบบองค์รวมธาตุทั้ง 4 กล่อน

ที่มา:จากหนังสือวิทยาศาสตร์ในการแพทย์แผนไทย
โดยอาจารย์แพทย์หญิงเพ็ญนภา ทรัพย์เจริญ
รองอธิบดีกรมพัฒนาการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก

↑ กลับสู่ส่วนบนของหน้า