สำหรับผู้ใส่ใจในการรักษาสุขภาพ ทั้งสุขภาพกาย และสุขภาพจิต

กลาก(Ring worm/Tinea)

เป็นโรคผิวหนังที่เกิดจากเชื้อรา มักพบได้ในคนทุกวัย อาจพบเป็นพร้อมๆ กันหลายคน และสามารถทำให้เกิดโรคตามผิวหนังได้แทบทุกส่วนของร่างกาย ชนิดที่พบได้บ่อย เรียกว่า กลากตามลำตัว มักพบเป็นที่ใบหน้า คอ ลำตัว และแขนขา ถ้าเป็นบริเวณศีรษะ จะเรียกว่า กลากที่ศีรษะ พบเป็นมากในเด็ก หรือหมู่พระภิกษุ สามเณร และแม่ชีที่ใช้มีดโกนร่วมกัน ส่วนกลากที่พบบริเวณขาstk79557corหนีบ เรียกว่า สังคัง มักพบในผู้ที่มีร่างกายอับชื้นหรือเหงื่อออกมาก ผู้ชายจะเป็นกันมากกว่าผู้หญิง และมักพบโรคกลากชนิดนี้ได้บ่อยในผู้ป่วยเอดส์ ถ้าพบที่ง่ามนิ้วเท้า เรียกว่า ฮ่องกงฟุต หรือน้ำกัดเท้า มักพบในผู้ที่ใส่ถุงเท้ารองเท้าที่อับชื้น การย่ำน้ำจนเท้าเปียกน้ำบ่อย หรือง่ามนิ้วเท้าอับชื้นง่ายจากการมีนิ้วเท้าชิดเบียดกันตามธรรมชาติ พบภาวะนี้ในผู้ชายมากกว่าผู้หญิง หากพบที่เล็บ มักเรียกกันว่า โรคเชื้อราที่เล็บ หรือโรคกลากที่เล็บ เป็นการลุกลามมาจากส่วนอื่น หรือได้รับเชื้อมาจากการใช้เครื่องมือที่ไม่สะอาดในการทำเล็บ เช่น ในร้านเสริมสวย

สาเหตุ
เกิดจากเชื้อราพวก เดอร์มาโตไฟต์ ซึ่งมีอยู่หลายชนิด จะเจริญเติบโตอยู่ในผิวหนังชั้นนอกสุด รวมทั้งที่เล็บและเส้นผม

การสัมผัสกับผู้ป่วยโดยตรง หรือใช้ของใช้ร่วมกับผู้ป่วย สามารถติดเชื้อได้โดยง่าย หรืออาจติดมาจากร้านตัดผม ร้านเสริมสวย หรือจากสัตว์เลี้ยง เช่น สุนัข หรือแมวก็เป็นได้

อาการ
กลากตามลำตัว มักจะมีตุ่มแดงๆ ในระยะแรกเริ่ม และค่อยลามออกไปจนเป็นวงมีขอบเขตชัดเจน ขอบจะมีสีแดงและนูนเล็กน้อย รอบๆ วงมักมีตุ่มน้ำใสๆ เล็กๆ หรือขุยขาวๆ อยู่ วงนี้จะลุกลามขยายไปเรื่อยๆ ผิวหนังตรงกลางวงจะเป็นผิวหนังที่ปกติเนื่องจากเป็นส่วนที่เป็นมาก่อนและเริ่มหายแล้ว วงอาจมีลักษณะติดๆ กันหลายวง หรือซ้อนกัน มีอาการคันเล็กน้อย เมื่อเกามากๆ อาจทำให้ติดเชื้อแบคทีเรียอักเสบแทรกซ้อนได้

กลากที่ศีรษะ ลักษณะเป็นวงสีเทาๆ หนังศีรษะเป็นขุยขาวๆ ผู้ป่วยมักมีอาการผมร่วงเป็นหย่อมๆ และมีปลายเส้นผมที่หักคาเป็นปลายสั้นๆ หรือเป็นจุดดำๆ และมีอาการคัน จะมีเม็ดหนองรอบๆ ขุมขนในรายที่มีการติดเชื้อแบคทีเรียแทรกซ้อน และลุกลามเป็นก้อนนูนใหญ่แล้วแตกออกมีน้ำเหลืองเกรอะกรัง เรียกว่า ชันนะตุ มักจะทำให้เป็นแผลเป็นไม่มีผมงอกอีกเลยเมื่อหายแล้ว

สังคัง บริเวณต้นขาหรือขาหนีบจะเป็นตุ่มแดงๆ ในระยะเริ่มแรก และลุกลามเป็นวงไปที่ต้นขาด้านในและอวัยวะเพศภายนอก หรือที่ก้น เป็นผื่นสีแดงมีเกล็ดขาวๆ เป็นขอบชัดเจน และบางรายอาจลุกลามรวมกันเป็นวงขนาดใหญ่ลักษณะเหมือนพระจันทร์ครึ่งซีก มักเป็นกับขาทั้ง 2 ข้าง และมีอาการคัน ผู้ป่วยบางรายอาจเกาจนมีน้ำเหลืองเฟะ ผิวหนังหนา มักทำให้เกิดอาการกำเริบได้อีกหลังจากหายไปแล้ว จะมีโอกาสเป็นโรคนี้ได้มากขึ้นในหน้าร้อนที่มีเหงื่ออับชื้น การใส่กางเกงรัดแน่นเกินไป หรือคนที่อ้วนมากๆ

ฮ่องกงฟุต มักจะเป็นขุยขาวๆ และยุ่ย ที่ง่ามเท้าที่ 3,4 และ 5 และจะลอกเป็นแผ่นหรือเกล็ด แตกเป็นร่องมีกลิ่นเหม็นในระยะต่อมา มักจะเห็นผิวหนังข้างใต้มีลักษณะแดงๆ และมีน้ำเหลืองซึมเมื่อแกะลอกขุยขาวๆ ที่เปื่อยยุ่ยออก และมีอาการคันยิบๆ ร่วมด้วย หรืออาจลามไปที่ฝ่าเท้าหรือเล็บเท้าจนทำให้ฝ้าเท้าลอกเป็นขุยขาวๆ หรือเป็นตุ่มพองใหญ่และคันมากในบางราย

โรคกลากที่เล็บ มักเกิดจากโรคฮ่องกงฟุตที่เป็นเรื้อรังถ้าเป็นที่เล็บเท้า มักเป็นที่นิ้วก้อยมากกว่านิ้วอื่นๆ เล็บจะมีลักษณะขุ่น ด้าน ไม่เรียบตรง และหนาขนจนผุกร่อนทั้งเล็บในเวลาต่อมา ถ้าเป็นที่เล็บมือมักมีอาการของโรคเชื้อราที่บริเวณอื่นมาก่อน หรือติดเชื้อมาจากร้านเสริมสวย เล็บจะเปลี่ยนเป็นสีเหลือง น้ำตาล ขาวขุ่นๆ เป็นหย่อมๆ เล็บจะขรุขระและยุ่ย เล็บแยกจากหนังใต้เล็บ เล็บจะผูกร่อนทั้งเล็บถ้าเป็นมากๆ หรืออาจพบเป็นเกือบทุกเล็บในบางราย

การรักษา
1. ให้ทาด้วยขี้ผึ้งรักษากลากเกลื้อน หรือครีมรักษาโรคเชื้อรา วันละ 2-3 ครั้ง ถ้าเป็นที่ลำตัว แขนขา ขาหนีบ ง่ามเท้า หรือฝ่าเท้า เมื่ออาการดีขึ้นควรทาต่อไปอีกติดต่อกันทุกวันนาน 3-4 สัปดาห์เป็นอย่างน้อยเพื่อรอให้ผิวหนังขึ้นมาแทนที่ใหม่ หรืออาจต้องรักษาด้วยยาฆ่าเชื้อราชนิดกิน ได้แก่ กริซีโอฟุลวิน นาน 4-6 สัปดาห์ หรือ ไอทราโคนาโซล นาน 7-15 วัน ในรายที่เป็นๆ หายๆ เรื้อรัง หรือแผ่เป็นบริเวณกว้าง

ควรล้างเท้าให้สะอาดและเช็ดให้แห้ง อย่าปล่อยให้อับชื้น รองเท้าที่ใส่ควรเป็นแบบสานโปร่งเปิดเล็บเท้า ไม่ควรใส่ถุงเท้าและรองเท้าอย่างมิดชิด สำหรับผู้ป่วยฮ่องกงฟุต

2. ให้กินยาฆ่าเชื้อรา เช่น กริซีโอฟุลวิน นาน 4-6 สัปดาห์ หรือไอทราโคนาโซล นาน 4 สัปดาห์ ถ้าเป็นเชื้อราที่ศีรษะ

3. ให้กินกริซีโอฟุลวิน นาน 4-9 สัปดาห์ หรือ ไอทราโคนาโซล นาน 2 เดือน ถ้าเป็นที่เล็บมือ อาจต้องถอดเล็บและทาครีมรักษาโรคเชื้อราในบางครั้ง

4. ให้ ไอทราโคนาโซล นาน 3 เดือน ถ้าเป็นที่เล็บเท้า และอาจต้องถอดเล็บและทาครีมรักษาโรคเชื้อราในบางครั้ง

ข้อแนะนำ
1. ควรค้นหาสาเหตุ และแก้ไข ถ้าพบผู้ที่เป็นโรคเชื้อราเรื้อรัง ซึ่งโรคนี้อาจพบในผู้ที่มีภูมิคุ้มกันต่ำ เช่น ผู้ป่วยเอดส์ เบาหวาน หรือกินยารักษามะเร็งเป็นประจำ เป็นต้น

2. ไม่ควรใช้ครีมสตีรอยด์ทารักษาโรคเชื้อราเพราะอาจทำให้โรคลุกลามได้

3. บางครั้งอาจแยกไม่ออกระหว่างโรคเชื้อรากับอาการผื่นคันจากการแพ้ในอาการผื่นคันเรื้อรัง โดยเฉพาะถ้าเป็นที่ขาหนีบหรือซอกเท้า ให้ลองทาด้วยครีมสตีรอยด์ดูก่อนถ้าผู้ป่วยมีประวัติเป็นโรคภูมิแพ้มักจะใช้ยานี้ได้ผลเมื่อเกิดอาการแพ้ขึ้น แต่อาจจะเกิดจากเชื้อราหากทาแล้วกลับลุกลามมากขึ้น ผู้ป่วยควรลองทาด้วยยาฆ่าเชื้อราดูก่อนถ้าไม่มีประวัติโรคภูมิแพ้และผื่นลุกลามออกไปเรื่อยๆ แล้วค่อยเปลี่ยนไปรักษาแบบโรคภูมิแพ้ถ้ารักษาด้วยยาฆ่าเชื้อราแล้วไม่ได้ผล

ควรส่งผู้ป่วยไปโรงพยาบาลหากไม่แน่ใจหรือสงสัย เพื่อตรวจหาเชื้อราที่เป็นสาเหตุ โดยการขูดเอาขุยของผิวหนังส่วนที่เป็นโรค ใส่น้ำยาโพแทสเซียมไฮดรอกไซด์ชนิด 10% แล้วนำไปส่องดูด้วยกล้องจุลทรรศน์

4. ควรสงสัยว่าอาจเป็นโรคโซริอาซิส หากลองให้ยารักษาโรคเชื้อราที่เล็บแล้วไม่ได้ผล

การป้องกัน
1. ไม่ควรคลุกคลีหรือใช้สิ่งของร่วมกับผู้เป็นโรคนี้ เช่น ผ้าเช็ดตัว เสื้อผ้า รองเท้า ถุงเท้า หวี แปรงผม มีดโกนผม เป็นต้น

2. ระวังอย่าให้มีเหงื่ออับชื้น ควรอาบน้ำฟอกสบู่อย่างน้อยวันละ 2 ครั้งทุกวัน และควรเช็ดตัวให้แห้ง

3. ถ้าอากาศร้อน หรือเป็นผู้ที่มีเหงื่อออกง่าย ไม่ควรใส่เสื้อผ้าที่หนาๆ จนเกินไป

4. ไม่ควรสัมผัสสัตว์เลี้ยงที่เป็นขี้กลาก เช่น สุนัข หรือแมว

5. อาจป้องกันโรคสังคังได้โดยการไม่ใส่กางเกงในที่รัดแน่น หรืออับเกินไป หลังจากอาบน้ำควรเช็ดบริเวณนั้นให้แห้ง และโรยด้วยแป้งธรรมดา หรือลดน้ำหนักถ้าอ้วนเกินไป

6. อาจป้องกันโรคฮ่องกงฟุตได้โดยการไม่ใส่รองเท้าและถุงเท้าที่เปียกชื้น และควรเป็นถุงเท้าที่ทำจากผ้าฝ้ายไม่ใช่ไนลอนหรือใยสังเคราะห์ที่อับจนเกินไป ควรเช็ดบริเวณง่ามเท้าให้แห้งหลังอาบน้ำ และควรล้างเท้าให้สะอาดแล้วเช็ดให้แห้งถ้าซอกเท้าเปียกน้ำหรือมีเหงื่อออกมาก

↑ กลับสู่ส่วนบนของหน้า