สำหรับผู้ใส่ใจในการรักษาสุขภาพ ทั้งสุขภาพกาย และสุขภาพจิต

วัตถุประสงค์ของการกระสายยา

ในตำรายาไทยทุกขนาน แพทย์แผนไทยจะใช้การกระสายยาเป็นส่วนประกอบ เพื่อให้ยานั้นได้ผลตามที่ต้องการและตรงกับโรคและอาการที่จะบำบัดรักษา กระสายยาอาจได้จากธรรมชาติ ได้จากการเตรียมจากผลิตภัณฑ์ในธรรมชาติ หรือได้จากเครื่องยาสมุนไพร กระสายยาอาจเป็นของแข็งหรือของเหลวก็ได้ ที่เป็นของแข็งก็เช่น แป้ง น้ำตาลทราย แต่ส่วนใหญ่มักเป็นของเหลวที่ได้จากการต้ม แช่ บีบ ฝน คั้น ละลาย เรียกว่า น้ำกระสายยา อาจใช้เพื่อวัตถุประสงค์เดียว หรือเพื่อหลายวัตถุประสงค์ คือ

1. เพื่อช่วยเตรียมยาให้ได้ตามรูปแบบที่ต้องการ มักใช้กับยาประเภทลูกกลอนและยาแท่ง น้ำผึ้งจะเป็นน้ำกระสายยาที่ใช้กันมาก เพราะมีกลิ่น รสชาติ และสรรพคุณที่ดีกว่าสิ่งอื่น

2. เพื่อช่วยละลายยาเตรียมบางรูปแบบ เช่น ยาผง ยาเม็ดที่มีขนาดใหญ่ ยาแท่ง ส่วนใหญ่จะใช้น้ำฝน น้ำสะอาด น้ำสุก หรือน้ำร้อน เพื่อช่วยให้กลืนยาได้สะดวกยิ่งขึ้น

3. เพื่อช่วยเร่งให้ยานั้นแสดงฤทธิ์ได้ดีและเร็วขึ้น ใช้แก้หรือป้องกันไข้ หรืออาการแทรกซ้อนต่างๆ ที่อาจเกิดขึ้น หรือเพื่อให้เสริมฤทธิ์ยาหลักในตำรับนั้นๆ ส่วนใหญ่จะเป็นน้ำกระสายที่มีฤทธิ์ฝาดสมาน เช่น น้ำเปลือกแค น้ำเปลือกลูกทับทิม ที่มักใช้กับยาธาตุบรรจบ ซึ่งเป็นยาแก้ท้องเสียสามัญประจำบ้าน จึงทำให้ช่วยเสริมสรรพคุณแก้ท้องเสียได้อีกทางหนึ่ง

4. เพื่อช่วยละลายตัวยาสำคัญ เช่น
-น้ำส้มสายชู น้ำมะนาว น้ำมะงั่ว น้ำส้มซ่า เป็นน้ำกระสายยาที่มีฤทธิ์เป็นกรด เหมาะกับสมุนไพรที่มีสารสำคัญละลายในกรด หรือมีอัลคาลอยด์ที่ทำปฏิกิริยากับกรดในน้ำกระสายยาได้เป็นเกลือ

-น้ำดอกไม้ เป็นน้ำกระสายยาที่มีฤทธิ์เป็นกลาง ช่วยละลายสารที่เป็นขั้วสูง เช่น แทนนิน ฟีนอลลิก หรือไกลโคไซด์

-น้ำปูนใส หรือแคลเซียมไฮดรอกไซด์(calcium hydroxide, Ca(OH)2) เป็นน้ำกระสายยาที่มีฤทธิ์เป็นด่าง มีคุณสมบัติเหมาะกับการละลายสารที่เป็นด่าง เช่น คูมาริน(coumarin) หรือสารที่เป็นกรด เช่น แทนนิน(tannin) หรือกรดแทนนิก(tannic acid) ที่เป็นสารรสฝาดในสมุนไพรหลายชนิด โดยนำมาฝนกับน้ำปูนใส จะได้เป็นเกลือแคลเซียมแทนเนท(calcium tannate) ขึ้นมาเมื่อแทนนินทำปฏิกิริยากับแคลเซียมไฮดรอกไซด์ในน้ำปูนใส ทำให้สามารถรับประทานยาสมุนไพรที่มีรสฝาดได้ง่าย และเมื่อแคลเซียมแทนเนทไปสัมผัสกับกรดในกระเพาะอาหาร ก็จะทำปฏิกิริยากันเกิดเป็นแทนนินที่มีฤทธิ์ในการรักษาขึ้นใหม่

จะต้องเลือกน้ำกระสายยาให้ถูกกับโรค เพราะบางชนิดมีฤทธิ์ร้อน และบางชนิดก็มีฤทธิ์เย็น เช่น เมื่อเป็นไข้ก็ควรเลือกน้ำกระสายยาพวก น้ำชะเอม น้ำดอกไม้ ที่มีฤทธิ์เย็น ดังนั้น ผลการบำบัดรักษาของยาไทย ความรู้ความเข้าใจเรื่องน้ำกระสายยาจึงมีความสำคัญมาก เพื่อช่วยให้ผู้ป่วยหายจากโรคโดยเร็ว ผู้เป็นแพทย์จึงต้องมีความรู้ ความชำนาญ ที่จะตัดสินใจเลือกน้ำกระสายยาได้อย่างถูกต้องกับโรค

ที่มา:จากหนังสือวิทยาศาสตร์ในการแพทย์แผนไทย
โดยอาจารย์ ดร.อัญชลี จูฑะพุทธิ
หัวหน้างานวิจัย กลุ่มงานพัฒนาวิชาการแพทย์แผนไทยและสมุนไพร สถาบันการแพทย์แผนไทย กรมพัฒนาการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก

↑ กลับสู่ส่วนบนของหน้า