สำหรับผู้ใส่ใจในการรักษาสุขภาพ ทั้งสุขภาพกาย และสุขภาพจิต

กระบวนการการผสมพันธุ์

เมื่อมีเพศสัมพันธ์เกิดขึ้นขณะถึงจุดพอใจสูงสุดชายจะขับน้ำอสุจิออกมา ซึ่งมีตัวสเปิมอยู่ในนั้นครั้งหนึ่งๆ เฉลี่ยราวห้าร้อยล้านตัว มีการศึกษาพบว่าการผสมพันธุ์ระหว่างไข่กับสเปิมจะเกิดขึ้นได้ต้องมีสเปิมเข้าสู่เส้นทางสืบพันธุ์ในร่างกายหญิงอย่างน้อยยี่สิบล้านตัว ทั้งนี้เพราะสเปิมมีชีวิตอยู่ได้ในอวัยวะหญิงประมาณ 48 ชั่วโมง ส่วนไข่ที่ยังไม่ได้รับโอกาสผสมพันธุ์มีชีวิตอยู่ประมาณ 12 ชั่วโมง เพราะฉะนั้นในรอบมีระดูรอบหนึ่งๆ (28 วัน) มีโอกาสเกิดการตั้งครรภ์ได้ประมาณ 60 ชั่วโมงเท่านั้น ถ้ามิได้เกิดการผสมพันธุ์ทั้งไข่ ทั้งสเปิมจะตาย เซลล์เลือดขาวในกายหญิงจะกินตัวสเปิม ส่วนไข่จะออกจากร่างกายหญิงไปทางปากช่องคลอด (ระดู)

โดยธรรมชาติกำหนดให้เป็นไป เมื่อสเปิมเข้าสู่ร่างกายหญิงแล้วมันจะเดินทางไปเข้าท่อ Fallopian tube ด้วยอาการอาจคล้ายว่ายน้ำ คือมันใช้หางยาวของมันโบกสบัดส่งตัวเคลื่อนไปข้างหน้า มันต้องเดินทาง ยากลำบากจากที่ตํ่าขึ้นไปที่สูง เป็นระยะทางไกลราว 1 ฟุต (โปรดระลึกว่าตัวมันยาวเพียง 1/600 ของนิ้วฟุต) มันต้องผ่านของเหลวที่เป็นกรด ซึ่งอาจทำให้มันตาย ต้องผ่านมูกข้นๆ และอุปสรรคอื่นๆ อีก แล้วในที่สุด 1 ตัวจะได้รับความสำเร็จคือไปถึงที่หมายที่ถูกต้อง ทันเวลาที่เหมาะสม

ผู้เขียนตำราคนอื่นๆ (เช่น Schell & Hall, 1979 หน้า 71) เสริมให้เห็นโอกาสตั้งครรภ์ ใจความว่า กว่าไข่และสเปิมจะพบกันได้เป็นเรื่องน่าอัศจรรย์ใจทีเดียว เพราะ
1. ไข่มีความสมบูรณ์พอรับการผสมพันธุ์ได้เพียง 3 วัน ในรอบมีระดู 28 วัน
2. สเปิมจำนวนน้อยเท่านั้นที่สามารถผ่านเส้นทางสืบพันธุ์ในกายหญิง
3. สเปิมจะต้องไปถึงท่อ Fallopian tube โดยอาศัยเรี่ยวแรง “การว่ายน้ำ” ของมัน และ/หรือ การกระทำของกล้ามเนื้อมดลูกช่วยบ้าง
4. จะต้องเป็นเวลาที่ไข่สุกแล้วเคลื่อนเข้ามาในท่อ Fallopian tube และ
5. ไข่ต้องเคลื่อนมาตามท่อ Fallopian tube ในจังหวะที่จะพบสเปิม ก่อนที่ทั้งสองฝ่ายจะหมดอายุ

ฉากสุดท้ายแห่งการผสมพันธุ์
หลังจากผ่านอุปสรรคนานาประการดังกล่าวมาแล้ว ไข่และสเปิมที่ยังมีชีวิตอยู่ก็ได้พบกันในท่อ Fallopian tube สเปิมใช้หัวเจาะไข่แทรกส่วนหัวของมันเข้าไปในไข่ส่วนหางของมันหลุดไป และโดยธรรมชาติอันน่าอัศจรรย์ว่า เมื่อสเปิมตัวหนึ่งได้ผสมพันธุ์กับไข่แล้ว สเปิมตัวอื่นอีกมากมายก็ไม่สามารถเข้ามาผสมกับไข่อีก เหตุใดจึงเป็นเช่นนั้น นักเขียนตำราเช่น Craig (1980) กล่าวว่ายังเป็นปัญหาให้วิจัยค้นคว้า กันต่อไป

health-0058 - Copy
การตั้งครรภ์ (ภาพจาก McGraw, 1987, หน้า 166)
นี่เป็นภาพถ่าย electron-inicroscope แสดงขณะที่ถือว่าเกิดการตั้งครรภ์ คือสเปิมแทรกส่วนหัวเข้าไปในไข่ ในหัวของมันมี 23 โครโมโซม (พ่อ) นำไปรวมเข้ากับ 23 โครโมโซม (แม่)

เมื่อเกิดการผสมพันธุ์แล้ว สิ่งมีชีวิตที่เป็นผลจากการผสมพันธุ์ (ยังเป็นเซลล์เดียว) ก็เคลื่อนที่ต่อไป ตามเส้นทางเดินของไข่ คือเคลื่อนไปในท่อ Fallopian tube มาสู่มดลูก (ย้อนเส้นทางของสเปิม) ระหว่างเคลื่อนตัวไปก็แบ่งตัวขยายจำนวนเซลล์ขึ้นเรื่อยไป ในที่สุดก็มาฝังตัวอยู่ที่ผนังมดลูกแล้วพัฒนาต่อไป จนกว่าจะเป็นคนสมบูรณ์ออกจากครรภ์แม่มาเป็นคนหนึ่งในโลก

ทางฝ่ายมดลูกก็ได้รับแรงกระตุ้นจากความรู้สึกเป็นแม่ (การปกป้องรักษาลูก) ศัพท์ในวิชาการเรียกว่า Maternal drive ให้ปรับตัว (จะกล่าวว่าเตรียมสถานที่ก็คงจะได้) เพื่อต้อนรับชีวิตใหม่ที่กำลังเคลื่อนที่เข้าไป อาศัย การเตรียมต้อนรับมีหลายกระบวนการ เช่น ผนังด้านในของมดลูกขยายตัวออกทำให้อ่อนและหนา เพื่อให้ไข่ที่ผสมแล้วฝังตัวลงไป มีการหลั่งฮอร์โมนเอสโทรเจน และโพรเจสเตอโรนมาจากต่อมไร้ท่อ ช่วยให้ไข่นั้นเจริญงอกงามต่อไป โปรดดูรูปข้างล่างนี้เพื่อช่วยความเข้าใจ

health-0059 - Copy

ไข่ที่ผสมพันธุ์แล้วเคลื่อนที่มาฝังตัวที่มดลูก

(ภาพจาก Papalia & Olds, 1975, หน้า37)

ที่มา:ศรีเรือน  แก้วกังวาน
สาขาจิตวิทยา คณะศิลปะศาสตร์
มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

↑ กลับสู่ส่วนบนของหน้า