สำหรับผู้ใส่ใจในการรักษาสุขภาพ ทั้งสุขภาพกาย และสุขภาพจิต

กระบวนการการคลอด

ความเป็นไปตามขั้นตอน
เมื่อครรภ์แก่ใกล้ถึงเวลาคลอด โดยธรรมชาติ (ถ้าไม่มีเหตุผิดปกติ) Fetus จะกลับตัวในมดลูก เอาศีรษะลง เห็นได้ว่าธรรมชาติจัดไว้ให้เป็นเช่นนั้น เพื่อให้ Fetus ออกจากครรภ์โดยเอาศีรษะออกก่อน ศีรษะนั้นมีรูปกลม กะโหลกศีรษะเป็นกระดูกแต่อาจแปรรูปได้เล็กน้อย เพราะกระดูกยังอ่อน ที่สำคัญคือมีขนาดโต ร่างกายส่วนอื่นห่อตัวอยู่ ฉะนั้นถ้าศีรษะออกได้แล้วร่างกายส่วนอื่น ออกตามมาได้ไม่ขัดข้องเลย

เมื่อได้เวลาใกล้คลอด แม่รู้สึกได้รับสัญญาณเตือน แพทย์หญิงชนิกา ตู้จินดา อธิบายมีใจความว่า แม่รู้สึกเปียกๆ แฉะๆ บริเวณข้างล่างอวัยวะขับถ่ายปัสสาวะ พบลักษณะเลือดปนมูกออกมา เริ่มรู้สึกปวดคล้ายปวดประจำเดือน บางคนจะเปียกมากคล้ายปัสสาวะรด ต่อมามดลูกจะเริ่มหดตัวสมํ่าเสมอ รู้สึกปวดบริเวณสะโพกและร้าวไปด้านหลัง เมื่อปวดเต็มที่จะกำมือแน่น ปลายเท้าจิกห่อไหล่ และมดลูกหดตัวถี่ขึ้นๆ

มีผู้พยายามหาต้นเหตุของสัญญาณนี้ แต่ก็ยังไม่มีคำอธิบายที่ชัดเจน บางท่านอธิบายว่าต่อมไร้ท่อเอ็นโดไครน์อาจเป็นกุญแจสำคัญทำให้เกิดการ “เจ็บท้อง” (ในการคลอด) Papalia & Olds (1975) อธิบายว่า ผู้รู้บางท่านอธิบายว่าในรกนั้นมี “ยีน” ซึ่งตั้งกำหนดมาแล้ว (โดยธรรมชาติ) ให้เป็นตัวเริ่มให้สัญญาณนี้ บ้างว่าการเปลี่ยนแปลงในตัว Fetus และขนาดของมดลูกอาจเป็นสาเหตุก็ได้ เพราะปรากฏว่าเด็กแฝดสองคน มักคลอดเร็วกว่ากำหนดเวลาปกติตั้งสามสัปดาห์ ยิ่งเป็นเด็กแฝดมากคนกว่านี้ ก็ยิ่งเร็วขึ้นอีก

กระบวนการการคลอดพอเริ่มแล้วก็ดำเนินไปสามขั้นตอน ซึ่งเหลื่อมล้ำกันบ้าง ขั้นแรกใช้เวลานานที่สุดอาจนานถึง 12 ชั่วโมงสำหรับแม่คลอดลูกคนแรก ความเป็นไปในชั้นนี้คือมดลูกหดตัวพร้อมกับปากมดลูกขยายออก (เป็นธรรมชาติไม่ใช่เกิดโดยตั้งเจตนาจะให้เป็นไป) ในช่วงนี้ถุงน้ำครํ่าจะแตก น้ำครํ่าไหลมาทางช่องคลอด เมื่อปากมดลูกขยายกว้างพอที่ศีรษะเด็กจะผ่านออกมาแล้ว ก็เข้าสู่ขั้นที่สอง ซึ่งจะใช้เวลาประมาณหนึ่งชั่วโมงครึ่ง เด็กจะเคลื่อนตัวออกจากมดลูกผ่านปากมดลูกและช่องคลอด แล้วออกจากตัวแม่ กระบวนการขั้นที่สามใช้เวลาไม่กี่นาทีคือสายสะดือและรกออกมาจากตัวแม่ แล้วผู้ทำคลอดก็จะมัดสายสะดือให้แน่นป้องกันมิให้เลือดไหลออกจากร่างกายเด็ก แล้วก็ตัดสายสะดือ ตัวเด็กก็เริ่มหลุดเป็นอิสระพ้นจากการถูกเชื่อมโยงกับรก
health-0079

มดลูกเริ่มหดตัว ภาพจากชนิกา  ตู้จินดา, 2529 หน้า 55

health-0080

มดลูกหดตัวแรง แม่อาจต้องช่วยเบ่ง ภาพจากชนิกา  ตู้จินดา, 2529 หน้า 55

health-0081

ศีรษะแหวกทางไปถึงช่องคลอด ภาพจากชนิกา  ตู้จินดา, 2529 หน้า 56

health-0082

ศีรษะออกพ้นช่องคลอด ภาพจากชนิกา  ตู้จินดา, 2529 หน้า 56

health-0083

หนูน้อยเข้ามาสู่โลกใหม่ ภาพจากชนิกา  ตู้จินดา, 2529 หน้า 57

health-0084

โลกใหม่นี้ดี มีความรัก ภาพจากชนิกา  ตู้จินดา, 2529 หน้า 57

มีการช่วยเหลือป้องกันโรคร้ายและช่วยให้เด็กคลอดใหม่ปลอดภัยจากอันตรายที่อาจเกิดขึ้น โดยเริ่มตั้งแต่เห็นศีรษะเด็กโผล่จากครรภ์ ในจมูกปากมีน้ำครํ่าตกค้างอยู่ต้องรีบดูดออก เพื่อมิให้ทารกหายใจนำเอา น้ำครํ่าเข้าไปในปอดตอนหายใจครั้งแรก เมื่อตัดสายสะดือแล้วผู้ทำคลอดจะชำระร่างกายเด็กให้สะอาด ป้ายตาด้วยซิลเวอร์ไนเตรทหรือเพนนิซิลิน ป้องกันติดเชื้อ Gonococcal (กามโรคซึ่งอาจมีอยู่เดิมในช่องคลอดของแม่) แล้วจึงให้นอน

หัวต่อระหว่างชีวิตในครรภ์กับชีวิตในโลกภายนอก
วันแรกของชีวิตนั้นเป็นวันที่คนเราต้องปรับตัวอย่างใหญ่หลวง อาจกล่าวได้ว่าใหญ่หลวงกว่าการปรับตัวใดๆ ตลอดชั่วชีวิตก็ได้ เราลองตั้งจินตนาการเอาใจเราไปใส่ใจเขา ทารกน้อยนั้นดูก็ได้ว่า

เขากำลังนอนสบายอยู่ ที่อาศัยของเขาเกิดบีบรัดเข้ามา น้ำที่เคยหล่อเลี้ยงชุ่มอยู่รอบตัวเกิดแห้งหายไป เขาถูกรุนให้ต้องเคลื่อนตัวมาพบช่องทางแคบๆ เอาศีรษะดันสิ่งกีดขวางนำร่างกายส่วนอื่นหาทางออก ไปได้อย่างคับตัวเต็มที อาจต้องอยู่ในลักษณะอย่างนี้นับชั่วโมง พอโชคดีหลุดพ้นสภาพถูกบีบรัดอยู่นั้น ผิวกายก็ได้รับสัมผัสความเย็นหนาวกว่าที่เคยชินในที่อยู่เดิม ลืมตาดูก็เห็นสิ่งที่ไม่เคยรู้จักมาก่อน มันเป็นแสงสว่างเจิดจ้าน่าตกใจ ไม่เหมือนอะไรที่เคยสัมผัสด้วยตาตลอดชีวิตในอดีต นอกจากนั้น มีสิ่งที่ไม่เคยรู้จักอีก ไหลพรั่งพรูเข้ารูจมูก เขาตกใจขวัญหายร้องออกมา ทันใดหูก็ได้ยินเสียงสะเทือนเลื่อนลั่น ดังมากกว่าที่เขาเคยได้ยินเสียงหัวใจเต้นของแม่ดังตุบตุบ นอกจากนั้นยังถูกอะไรมาจับต้องเนื้อตัว นำไปสู่ทิศทางต่างๆ ที่เวิงว้างว่างเปล่า ไม่มีอะไรพอดีตัวเหมือนที่อาศัยเดิม (แนวคิดตามทฤษฎีของ Rank(Otto Rank (1929) เป็นศิษย์ฟรอยด์ เขาเชื่อว่า Birth Trauma นี้เป็นความหวาดกังวลพื้นฐาน (Basic anxiety) ครั้งแรกที่สุดที่กระทบชีวิตคนตั้งแต่วัยทารกเป็นต้นไป ผู้ที่ไม่สามารถผ่อนคลายได้อาจเป็นผู้ใหญ่ที่เป็นโรคประสาท เด็กที่กลัวห้องมืดหรือผู้ใหญ่ที่กลัวสถานที่ปิดรอบด้าน ก็เนื่องไปจากความหวาดกังวลนี้ (Craig, 1980, หน้า 104) จาก Lefrancois, 1990, หน้า 151))

ผู้ที่ประมาณการว่าทารกรู้สึกตกใจหวาดหวั่นขวัญหายอย่างแรงเช่นนี้ จึงตั้งชื่อความรู้สึกนี้ว่า Birth Trauma แม้ว่าการศึกษาด้านนี้ยังทำไม่ได้ลึกซึ้งนัก แต่ก็มีข้อเท็จจริงว่าทารกที่คลอดยากมักได้รับความเสียหาย ทางสมองเช่น บางรายได้ออกซิเจนเข้าไปเลี้ยงสมองไม่เพียงพอ ทารกประสบ Trauma มากเท่าใดก็เกิดความผิดปกติมากเท่านั้น (Papalia & Olds, หน้า 105)

ถึงแม้ว่าทารกรอดภยันตรายต่างๆ มาได้ก็ดี ตั้งแต่วันแรกของชีวิตเขาต้องปรับตัวต่อสภาพชีวิตใหม่อย่างใหญ่หลวง เพื่อแสดงให้เห็นภาพวงกว้างโดยสะดวก ขอเสนอในรูปแบ่งข้อความเป็นช่องสดัมภ์ (คอลัมน์) เปรียบเทียบกันดังนี้

health-0086 - Copy

(Papalia & Olds, 1975, หน้า 105)

ที่มา:ศรีเรือน  แก้วกังวาน
สาขาจิตวิทยา คณะศิลปะศาสตร์
มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

↑ กลับสู่ส่วนบนของหน้า