สำหรับผู้ใส่ใจในการรักษาสุขภาพ ทั้งสุขภาพกาย และสุขภาพจิต

กระดูกหัก(Fracture/Broken bones)

เป็นภาวะที่พบได้บ่อยทั้งในเด็กและผู้ใหญ่ ซึ่งกระดูกหักแบ่งออกได้เป็น 2 ชนิดใหญ่ๆ คือ

1. กระดูกหักชนิดธรรมดา ผู้ป่วยจะไม่มีบาดแผลที่ผิวหนังและกระดูกจะไม่โผล่ออกนอกผิวหนัง มีแต่อาการกระดูกหักเพียงอย่างเดียวกระดูกหัก

2. กระดูกหักชนิดซับซ้อนหรือมีบาดแผล ถือว่าเป็นชนิดที่ร้ายแรง อาจทำให้เกิดการตกเลือดรุนแรง เส้นประสาทถูกทำลาย หรือติดเชื้อได้ง่าย หรือเป็นสาเหตุที่ทำให้สูญเสียแขนขาได้ เนื่องจากภาวะนี้จะมีบาดแผลลึกถึงกระดูก หรือกระดูกที่หักอาจทิ่มแทงทะลุออกนอกเนื้อ

สาเหตุ
ส่วนใหญ่มักเกิดจากสาเหตุการได้รับบาดเจ็บจากอุบัติเหตุ เช่น หกล้ม รถชน รถคว่ำ เป็นต้น

ส่วนในผู้สูงอายุมักพบภาวะกระดูกต้นขาหรือสะโพกหักได้บ่อย เนื่องจากกระดูกเสื่อม ผุและเปราะ จึงมีโอกาสหักได้ง่ายแม้ถูกแรงกระแทกเพียงเล็กน้อย

อาการ
จะมีลักษณะบวม เขียวช้ำ และเจ็บปวดตรงบริเวณที่หัก และเมื่อเคลื่อนไหวหรือใช้มือกดถูกจะรู้สึกปวดมาก หรืออาจรู้สึกเคลื่อนไหวส่วนนั้นได้ลำบากในบางราย

อาจมีลักษณะผิดรูปผิดร่างของแขนขาที่หัก เช่น โก่งงอ หรือสั้นกว่าข้างที่ปกติ หรืออาจได้ยินเสียงกระดูกสีกัน หรือรู้สึกกรอบแกรบเมื่อลองจับกระดูกส่วนนั้นดู แต่กระดูกบางแห่งอาจมีอาการบวมและปวดเพียงเล็กน้อยจนทำให้เข้าใจผิดว่าเป็นเพียงข้อเคล็ดข้อแพลงก็ได้ เช่นที่บริเวณ ข้อมือ ข้อเท้า เป็นต้น

ภาวะแทรกซ้อน
อาจทำให้กระดูกที่หักต่อกันได้ไม่ดี ทำให้แขนขาโก่งได้ ถ้าไม่ได้รับการรักษาอย่างถูกต้อง

หรืออาจทำให้หลอดเลือดแดงฉีก ตกเลือดรุนแรงถึงช็อกได้ หรืออาจทำให้เส้นประสาทฉีกขาดเป็นอัมพาตและชาได้ หรือไม่ก็อาจมีการติดเชื้อรุนแรงจนกลายเป็นโลหิตเป็นพิษได้ ถ้าเป็นกระดูกหักชนิดซับซ้อน หรืออาจติดเชื้อเรื้อรังกลายเป็นกระดูกอักเสบเป็นหนองเรื้อรังได้ในบางราย

การปฐมพยาบาลผู้ป่วยกระดูกหัก
1. ถ้ามีเลือดออกให้ทำการห้ามเลือดดังนี้

-ถ้าบาดแผลเล็ก ควรใช้ผ้าสะอาดพันทบหนาๆ หลายชั้น วางบนปากแผลแล้วใช้นิ้วหรืออุ้งมือกดห้ามเลือด หรือใช้ผ้าพันรัดให้แน่น

-ถ้าบาดแผลใหญ่ และเลือดไหลรุนแรง ควรใช้ผ้า เชือก หรือสายยางรัดเหนือบาดแผลให้แน่น เรียกว่า การรัดทูร์นิเคต์(tourniquet) ควรคลายเชือกทุกๆ 15 นาที โดยคลายนานครั้งละ ½ -1 นาที ถ้าเลือดยังไม่หยุดก็รัดกระชับเข้าไปใหม่

2. ควรทำการดามกระดูกส่วนที่หักก่อนเคลื่อนย้ายผู้ป่วย โดยใช้แผ่นไม้ กระดาษแข็ง หรือกระดาษหนังสือพิมพ์พับทบหลายๆ ชั้น ทำเป็นเฝือกวางแนบส่วนที่หักโดยให้ปลายทั้ง 2 ข้างครอบคลุมถึงข้อที่อยู่เหนือและใต้ส่วนที่หัก ใช้ผ้าพันยึดไว้ไม่ให้เคลื่อนไหว

ถ้าเป็นปลายแขนหรือมือ ให้ใช้ผ้าคล้องคอ
ถ้าเป็นที่ขา อาจใช้ขาข้างที่ดีทำเป็นเฝือกแทน โดยใช้ผ้าหรือกระดาษหนาๆ วางคั่นตรงกลางขาทั้ง 2 ข้าง แล้วใช้ผ้าพันรอบขาทั้ง 2 ข้างหลายๆ เปลาะ

3. ถ้ากระดูกโผล่ออกนอกเนื้อ ห้ามดึงกระดูกให้กลับเข้าที่ เพราะจะทำให้เชื้อโรคและสิ่งสกปรกจากภายนอกเข้าไปในบาดแผลทำให้ติดเชื้อได้ง่าย ควรใช้ผ้าสะอาดปิดปากแผล ใช้เฝือกดาม แล้วรีบนำส่งโรงพยาบาล ถ้าโรงพยาบาลอยู่ไกลควรให้กินยาปฏิชีวนะ เช่น ไดคล็อกซาซิลลิน อีริโทรไมซิน

4. ถ้าปวดมากให้กินยาแก้ปวด

5. ถ้ามีภาวะช็อก ควรให้น้ำเกลือ

การรักษา
หากไม่แน่ใจหรือสงสัยว่าจะเกิดกระดูกหักควรส่งผู้ป่วยไปที่โรงพยาบาลด่วน ก่อนนำส่งให้แพทย์ผู้ป่วยควรได้รับการปฐมพยาบาลก่อน เช่น ห้ามเลือด ใส่เฝือก หรือดามกระดูกส่วนที่หักไว้ ถ้ามีอาการช็อกก็ให้น้ำเกลือไประหว่างทาง และแพทย์มักจะเอกซเรย์ดูลักษณะอาการหักของกระดูกเพื่อทำการวินิจฉัย แล้วให้การรักษาโดยพยายามดึงกระดูกให้เข้าที่แล้วทำการใส่เฝือกปูนปลาสเตอร์ไว้เพื่อป้องกันการเคลื่อนไหวของกระดูกที่หัก

บางครั้งอาจต้องให้ผู้ป่วยนอนบนเตียงแล้วใช้น้ำหนักถ่วงดึงให้กระดูกเข้าที่ถ้ากระดูกต้นขาหัก ผู้ป่วยอาจต้องนอนนิ่งๆ อยู่นานเป็นสัปดาห์ๆ หรืออาจต้องรักษาด้วยการผ่าตัดใช้เหล็กดามกระดูกไว้ในบางราย แต่อาจต้องรักษาด้วยการตัดแขนหรือขาส่วนนั้นทิ้งในรายที่กระดูกหักแหลกละเอียด หรือมีบาดแผลเหวอะหวะที่อาจเสี่ยงต่อการติดเชื้อรุนแรง เพื่อรักษาชีวิตเอาไว้ก่อนแล้วจึงค่อยให้ผู้ป่วยใส่แขนขาเทียมเพื่อช่วยให้เดินและทำงานได้เมื่อแผลหายแล้ว

ข้อแนะนำ
1. กระดูกที่หักสามารถต่อกันได้เองตามธรรมชาติ การรักษาจึงขึ้นอยู่กับการดึงกระดูกให้เข้าที่และตรึงไว้ไม่ให้เลื่อนไปจากแนวปกติ อาจกินเวลานาน 1-3 เดือนกว่ากระดูกจะต่อกันได้สนิท ซึ่งส่วนใหญ่มักขึ้นอยู่กับอายุและลักษณะของกระดูกหัก

2. มีหลายวิธีที่แพทย์ใช้รักษาภาวะกระดูกหัก ซึ่งมักจะขึ้นอยู่กับตำแหน่งและลักษณะของกระดูกที่หัก ถ้าหักชนิดธรรมดามักจะต้องดึงกระดูกให้เข้าที่แล้วใส่เฝือกปูน แล้วนัดผู้ป่วยมาตรวจเป็นระยะจนกว่าจะหายแล้วจึงถอดเฝือกออก หรืออาจมีการรักษาที่ยุ่งยากขึ้นถ้าเป็นกระดูกหักชนิดซับซ้อนซึ่งอาจต้องทำการผ่าตัดเพื่อแก้ไข มีเพียงส่วนน้อยที่อาจต้องตัดแขนขาทิ้งเนื่องจากกระดูกหักแบบรุนแรงถ้าปล่อยไว้อาจเป็นอันตรายถึงตายได้ จึงควรทำความเข้าใจกับผู้ป่วยและญาติในเรื่องนี้

3. การรักษากับหมอกระดูกแผนโบราณอาจได้ผลดีถ้าเป็นกระดูกหักชนิดธรรมดาและไม่รุนแรง แต่ถ้าเป็นชนิดรุนแรงอาจทำให้แขนขาโก่งหรือใช้การไม่ได้เนื่องจากกระดูกอาจต่อกันได้ไม่ดี ซึ่งต้องทำการแก้ไขในภายหลังจากแพทย์

เพื่อให้เกิดความร่วมมือกันในการดูแลรักษาผู้ป่วยอย่างเหมาะสมยิ่งขึ้นจึงควรหาทางส่งเสริมให้ประชาชนและหมอรักษากระดูกแผนโบราณมีความรู้เกี่ยวกับวิธีการรักษากระดูกของแพทย์แผนปัจจุบันให้มากขึ้น

4.ความเชื่อและความกลัวผิดๆ เกี่ยวกับการรักษากระดูกหักของแพทย์ เช่น
-เชื่อว่าอาจทำให้เนื้อเน่าอยู่ในเฝือกถ้าใส่เฝือกปูนหนาๆ
-เข้าใจว่าเป็นเรื่องที่น่าทรมานเมื่อแพทย์ให้ผู้ป่วยนอนบนเตียงแล้วใช้น้ำหนักถ่วงกระดูกให้เข้าที่ หรืออาจคิดว่าแพทย์ไม่ได้ช่วยอะไรให้ดีขึ้น
-มีความกลัวว่าจะถูกตัดแขน ตัดขา
แพทย์ผู้รักษาควรใช้หลักจิตวิทยาในการพูดคุยชี้แจงให้ผู้ป่วยเข้าใจวิธีการรักษาของแพทย์ให้ถูกต้อง

↑ กลับสู่ส่วนบนของหน้า