สำหรับผู้ใส่ใจในการรักษาสุขภาพ ทั้งสุขภาพกาย และสุขภาพจิต

กรรมพันธุ์ การเรียนรู้ และสิ่งแวดล้อม

1. กรรมพันธุ์
เมื่อหญิงชายเติบโตถึงวัยเจริญพันธุ์ (คือสามารถให้กำเนิดแก่ชีวิตใหม่ได้) ร่างกายก็ผลิตเซลล์สืบพันธุ์มีส่วนประกอบที่นักวิทยาศาสตร์ย้อมให้ติดสีเพื่อทำการศึกษาได้ ซึ่งเรียกว่าโครโมโซม ในโครโมโซม ประกอบด้วย ยีน ยีนนี้คือตัวที่รับลักษณะคุณสมบัติมาจากบรรพบุรุษ เมื่อเซลล์สืบพันธุ์จากหญิงชายผสมกัน มันถ่ายทอดยีนสืบต่อไปยังชีวิตที่เกิดใหม่

2. การเรียนรู้
พฤติกรรมทั้งมวลของมนุษย์ แยกเป็นประเภทใหญ่ได้ 2 ประเภท

2.1 พฤติกรรมที่กระทำได้เองโดยไม่ต้องฝึกฝน ได้กล่าวถึงแล้วในหัวข้อวุฒิภาวะ

2.2 พฤติกรรมที่ต้องเรียนรู้ก่อนจึงจะกระทำได้

ตามหัวข้อ 2.2 นี้ ก่อนการเรียนรู้เกิดขึ้น จำต้องมีวุฒิภาวะ เช่น การเรียนรู้ภาษา ระบบประสาท และอวัยวะต้องมีความพร้อมสามารถกระทำพฤติกรรมนั้น(ในปัจจุบันมีเหตุที่น่าสังเกตเกี่ยวกับการเรียนรู้คู่กับวุฒิภาวะอยู่ประการหนึ่ง คือ พ่อแม่ชาวไทย (ส่วนมากมักเป็นชาวเมืองใหญ่) ต้องการให้ลูกน้อยๆ มีชื่อเสียงว่าเป็นคนเก่งทางวิชาการ จึงพยายามเร่งรัดให้ลูกน้อยเรียนหนักในการอ่าน เขียน คิดเลข โดยพ่อแม่ไม่ศึกษาว่าลูกน้อยบรรลุถึงวุฒิภาวะ พร้อมแล้วสำหรับการเรียนขนาดหนักอย่างนั้นหรือไม่ ถ้าลูกน้อยทำไม่ได้ดังใจก็บีบบังคับอย่างเข้มงวด ทั้งนี้เป็นกิจไม่ควรทำอย่างยิ่ง เพราะอาจเกิดผลไม่พึงประสงค์ คือสมองของลูกน้อยจะล้า ทำให้เบื่อการเรียน ทั้งการถูกบีบบังคับอย่างเข้มงวด ย่อมสร้างอารมณ์ร้ายให้เกิดแก่ลูกน้อย คือโกรธพ่อแม่ผู้บีบบังคับและ เกลียดการเรียนไปเลย) โดยเมื่อทารกมีอายุราว 8 เดือน อวัยวะทั้งหลาย ที่ใช้ทำการเปล่งเสียงมีพัฒนาการจนสามารถทำหน้าที่ได้ ทารกจะรู้จักเล่นเสียง  ขั้นนี้เป็นการบรรลุวุฒิภาวะ พัฒนาการที่สูงจากระดับนี้ คือ การพูดเป็นภาษาตามแบบแผนประจำชาติ ต้องอาศัยการเรียน และเลียนจากแบบ คือคนที่แวดล้อมเลี้ยงดูอยู่

เพราะเหตุที่มนุษย์ต้องกระทำพฤติกรรมดำรงชีวิตอยู่ตลอดเวลา พฤติกรรมส่วนมากเป็นประเภทต้องเรียนรู้จึงจะปฏิบัติได้ถูกต้องสำเร็จผลตามต้องการ นักค้นคว้าวิชาจิตวิทยาได้แสวงหาหลักวิชาเกี่ยวกับการเรียนรู้ไว้เป็นอันมาก มีหลายทฤษฎี หลายแนวคิด สุดที่จะนำมาเรียบเรียงในที่นี้ กล่าวโดยสรุปการเรียนรู้มีลักษณะสำคัญคือ

2.2.1 การเรียนรู้เป็นการเปลี่ยนพฤติกรรม (พฤติกรรมหลังเรียนรู้ย่อมต่างจากพฤติกรรมก่อนเรียนรู้)

2.2.2 การเรียนรู้เป็นผลจากประสบการณ์และการฝึกฝน

2.2.3 พฤติกรรมที่เปลี่ยนไปนั้นมีลักษณะค่อนข้างถาวร    (พฤติกรรมที่เปลี่ยนไปในระหว่างไม่มีสติไม่ใช่การเรียนรู้)

3. สิ่งแวดล้อม
สิ่งแวดล้อมได้แก่บรรดาทุกสิ่งทุกอย่างที่มีชีวิตและไม่มีชีวิต รวมทั้งระบบระเบียบที่มนุษย์สร้างขึ้น เช่น ครอบครัว วัฒนธรรม เศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อมไม่ว่ารูปใด เป็นตัวเร้าให้มนุษย์แสดงออก ซึ่งพฤติกรรมในรูปแบบต่างๆ นานา และมีผลต่อกระบวนพัฒนาการของมนุษย์ด้วย อิทธิพลของกรรมพันธุ์นั้น คนทั่วไปสังเกตได้ง่าย ลูกของใครก็มักมีลักษณะบางอย่างหรือหลายๆ อย่างเหมือนหรือคล้ายพ่อแม่ หรือมิฉะนั้น ก็คล้ายบรรพบุรุษรุ่นก่อนขึ้นไป

อิทธิพลของการเรียนรู้และสิ่งแวดล้อม มีตัวอย่างที่เด่นน่ายกมาเสนอ ขอกล่าวถึงทารกหญิง 2 คนที่หมาป่าเลี้ยงดูอยู่ในถ้ำ ทารกนี้เรียน
รู้พฤติกรรมต่างๆ รวมทั้งการครองชีพแบบหมาป่า สิ่งแวดล้อมคือถ้ำ เมื่อคนเอามาเลี้ยงระยะแรกๆ นั้น แม่หนูจะไปโหนก็คลานเหมือนสัตว์สี่เท้า พอใครยื่นมือเข้าใกล้ก็กระโจนใส่ ตอนกลางวันชอบห่อตัวอยู่ข้างฝา และงีบหลับอยู่ในห้องมืด ตกกลางคืนเริ่มหอน ชอบกินเนื้อบดและไก่เป็นๆ (ธีระ สุมิตร และพรอนงค์ นิยมค้า, 2528 หน้า 40)

ส่วนผสมของปัจจัยทั้งสามประการนี้ คือ กรรมพันธุ์ การเรียนรู้ และสิ่งแวดล้อม หล่อหลอมให้มนุษย์แต่ละคนมีความไม่เท่ากัน ไม่เหมือนกัน ในแง่อารมณ์ สติปัญญา สัมพันธภาพกับผู้อื่น ฉะนั้น มนุษย์แต่ละคนจึงแตกต่างกัน และมีเอกลักษณ์เฉพาะตน (Uniqueness)

ที่มา:ศรีเรือน  แก้วกังวาน
สาขาจิตวิทยา คณะศิลปะศาสตร์
มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

↑ กลับสู่ส่วนบนของหน้า