สำหรับผู้ใส่ใจในการรักษาสุขภาพ ทั้งสุขภาพกาย และสุขภาพจิต

ไฟฟ้าช็อต(Electric shock)

เป็นอุบัติเหตุที่พบได้บ่อยในสถานที่ที่มีการใช้ไฟฟ้า อาจเกิดขึ้นเพราะความประมาท การใช้เครื่องไฟฟ้าอย่างผิดวิธี หรือการรู้เท่าไม่ถึงการณ์ เป็นต้นไฟฟ้าช็อต

ปัจจัยที่ทำให้อาการของผู้ที่ถูกไฟฟ้าช็อตแตกต่างกันไป เช่น
1. ลักษณะของผิวหนังส่วนที่สัมผัสถูกไฟฟ้า
ถ้าผิวหนังแห้งจะเกิดอันตรายน้อยเพราะร่างกายจะมีความต้านทานสูง แต่ถ้าผิวหนังเปียกชื้นหรือมีบาดแผลสดมักทำให้เกิดอันตรายได้สูงเนื่องจากร่างกายมีความต้านทานต่ำ

2. ชนิดของกระแสไฟฟ้า
มักจะทำให้เกิดอันตรายได้มากจากไฟฟ้ากระแสสลับ แต่ไฟฟ้ากระแสตรง เช่น ไฟฟ้าจากแบตเตอรี่ หรือถ่านไฟ จะทำอันตรายได้น้อยกว่า กระแสไฟฟ้าที่มีความถี่ต่ำจะมีอันตรายร้ายแรงกว่าความถี่สูง
ซึ่งกระแสไฟฟ้าที่ใช้ตามบ้านถือว่าเป็นชนิดที่มีอันตรายสูง

3. ตำแหน่งและทางเดินของกระแสไฟฟ้าในร่างกาย
ถ้าไฟฟ้าวิ่งจากแขนไปแขนหรือแขนไปเท้าจะมีอันตรายกว่าจากเท้าลงดินเพราะกระแสไฟจะวิ่งผ่านและทำอันตรายต่อหัวใจ หรืออาจทำให้หยุดหายใจได้ถ้ากระแสไฟฟ้าวิ่งผ่านสมอง หรือทำให้ชัก กระดูกหักหรือกล้ามเนื้อเป็นอัมพาตได้ถ้ากระแสไฟฟ้าวิ่งผ่านกล้ามเนื้อ

4. ระยะเวลาสัมผัส
ผิวหนังที่สัมผัสไฟฟ้านานๆ จะทำให้มีเหงื่อออกทำให้ความต้านทานลดลง กระแสไฟฟ้าจึงเข้าสู่ร่างกายได้มากขึ้นทำให้เกิดอันตรายได้ และยังทำให้เกิดบาดแผลไหม้รุนแรงได้จากสาเหตุความร้อนที่เกิดขึ้นในร่างกาย

อาการ
ผู้ที่ถูกไฟฟ้าช็อตอาจมีอาการรุนแรงแตกต่างกันไปตั้งแต่บาดแผลไหม้เล็กน้อยจนถึงเสียชีวิต ซึ่งมักขึ้นอยู่กับปัจจัยดังที่กล่าวแล้ว ซึ่งบางรายอาจเพียงทำให้ล้มลงกับพื้น หรือของหล่นจากมือเมื่อถูกไฟฟ้าช็อต แต่ถ้าไฟฟ้าช็อตแล้วตกจากที่สูงก็อาจเป็นอันตรายต่อร่างกายได้ อาจมีอาการชักเกร็งของกล้ามเนื้อทั่วร่างกายถ้าเป็นแบบรุนแรง แล้วตามมาด้วยอาการตื่นเต้น หายใจเร็ว หมดสติ อาจมีอาการหยุดหายใจหรือหัวใจเต้นผิดจังหวะ ซึ่งอาจเป็นอันตรายถึงชีวิตได้ในทันที

ในบางรายอาจหมดสติไปชั่วครู่ และอาจจะรู้สึกปวดศีรษะ อ่อนเพลีย ปวดเมื่อยตามกล้ามเนื้อ และมีความรู้สึกหวาดผวา หลังจากฟื้นขึ้นมาแล้ว หรือบางรายอาจทำให้เป็นแผลไหม้สีเทาและไม่รู้สึกเจ็บถ้าเกิดแผลไหม้ผิวหนังแล้วกินลึกเข้าไปในเนื้อเยื่อบริเวณใกล้เคียง และอาจทำให้เกิดภาวะขาดน้ำเช่นเดียวกับบาดแผลไฟไหม้ น้ำร้อนลวก และอาจติดเชื้อแทรกซ้อนได้ถ้าบาดแผลมีขนาดใหญ่ หรือเนื่องจากการชักกระตุกหรือตกจากที่สูงอาจทำให้กระดูกสันหลังและกระดูกส่วนอื่นๆ หักได้ หรือมีอาการซีดเหลืองจากภาวะเม็ดเลือดแดงแตก เกิดขึ้นได้

การปฐมพยาบาลผู้ที่ถูกไฟฟ้าช็อต
1. รีบปิดสวิตช์ไฟหรือถอดปลั๊กไฟทันที

2. ถ้าทำไม่ได้ ควรช่วยให้ผู้ที่ถูกไฟช็อตหลุดจากกระแสไฟที่วิ่งอยู่ด้วยความระมัดระวัง โดยยืนบนฉนวนที่แห้ง เช่น ไม้กระดาน กระดาษหนังสือพิมพ์ ผ้าห่ม เสื่อ ผ้ายาง หรือผ้า แล้วใช้ด้ามไม้กวาด ไม้กระดาน ขาเก้าอี้ไม้ หรือไม้เท้าหรือไม้ที่แห้ง เขี่ยสายไฟให้พ้นจากผู้ป่วยหรือดันร่างกายส่วนที่สัมผัสไฟให้หลุดออกจากสายไฟ ไม่ควรให้โลหะหรือวัตถุที่เปียกน้ำเป็นอันขาด ควรใช้ไม้หรือฉนวนไฟฟ้าที่แห้ง และไม่ควรแตะต้องถูกตัวผู้ป่วยโดยตรงจนกว่าจะหลุดพ้นออกจากสายไฟเสียก่อน

3. ถ้าผู้ป่วยหยุดหายใจให้ทำการเป่าปากช่วยหายใจทันที ถ้าหัวใจหยุดเต้นให้ทำการนวดหัวใจพร้อมกันไปจนกว่าจะหายใจได้เอง และถ้าผู้ป่วยหายใจได้เองแต่หมดสติควรจัดผู้ป่วยให้อยู่ในท่าพักฟื้น และให้การปฐมพยาบาลเช่นเดียวกับผู้ป่วยหมดสติจากสาเหตุอื่นๆ

4. รีบนำผู้ป่วยส่งโรงพยาบาล ควรตรวจการหายใจอย่างใกล้ชิด ถ้าหยุดหายใจให้เป่าปากช่วยหายใจไปตลอดทางจนกว่าจะถึงโรงพยาบาลที่ใกล้ที่สุด

การรักษา
ควรตรวจดูอาการต่อไปนี้ถ้าผู้ป่วยยังมีชีวิตอยู่หลังจากถูกไฟฟ้าช็อต เช่น ดูอาการเต้นของหัวใจว่าผิดจังหวะหรือไม่ ดูภาวะช็อก ภาวะขาดน้ำ บาดแผลไหม้ กระดูกหัก เป็นต้น และให้การรักษาไปตามอาการที่พบ

ควรให้การดูแลรักษาแบบบาดแผลไฟไหม้น้ำร้อนลวกสำหรับบาดแผลไหม้ ในบางครั้งแม้แผลภายนอกจะดูเล็กน้อยแต่เนื้อเยื่อส่วนลึกอาจถูกทำลายรุนแรงจนทำให้เกิดภาวะขาดน้ำ หรือมีเลือดออก หรือติดเชื้อแทรกซ้อนในเวลาต่อมา ดังนั้นจึงต้องเฝ้าระวังในส่วนนี้ด้วย

การป้องกัน
ควรติดตั้งและซ่อมแซมสายไฟและอุปกรณ์ไฟฟ้าให้มีความปลอดภัยสูงอยู่เสมอ และใช้อุปกรณ์ไฟฟ้าด้วยความระมัดระวังเสมอไม่ควรประมาท

↑ กลับสู่ส่วนบนของหน้า