สำหรับผู้ใส่ใจในการรักษาสุขภาพ ทั้งสุขภาพกาย และสุขภาพจิต

โรคไฟลามทุ่ง

โรคอีริซิเพโลทริกซ์หรือไฟลามทุ่ง (Erysipelothrix infection)

ประวัติและสาเหตุ

Erysipelothrix rhusiopathiae หรือ E. insidiosa พบครั้งแรกในประเทศเยอรมัน โดย Koch ( 1878) ต่อมา Pasteur ได้บรรยายลักษณะของเชื้อซึ่งแยกได้จากสุกรป่วย รายงานการเกิดโรคนี้ในคนมีใน British medical journal ปี ค.ค. 1870 ต่อมาได้มีรายงานโรคนี้ในคนซึ่งมีลักษณะอาการเกิดขึ้นที่ผิวหนัง จนกระทั้ง ปี ค.ศ. 1909 Rosenbach ได้ศึกษาเปรียบเทียบเชื้อแบคทีเรียที่แยกได้จากสุกร จากหนูไมช์ และจากคนป่วยเป็นโรคพบว่าเชื้อที่แยกได้ต่างมีคุณสมบัติทางนํ้าเหลืองวิทยา และทางกำเนิดพยาธิสภาพเหมือนกัน

คน

อาการของโรคอีริซิเพโลทริกซ์ส่วนมากจะเกิดตามผิวหนังของคน ซึ่งเรียก อิลิซิเพลอยด์ (erysipeloid) หรือ erysipeloid of Rosenbach อาการที่เป็นแบบ generalize อาจมี endocarditis และ เซพติซีเมียทำให้ตายได้ ลักษณะวิการที่พบตามผิวหนังอาจกระจายไปตามลำตัว หน้าและส่วนต่างๆ ของร่างกาย อาการปวดข้อ ไม่ค่อยพบ

ลักษณะที่ผิวหนังมีอาการอักเสบ บวม มีสีแดงคลํ้าและม่วง อาจมีน้ำเหลืองปนเลือดอยู่บริเวณที่เป็นแผล มีความรู้สึกคล้ายกับแผลถูกไฟไหม้หรือน้ำร้อนลวก บางครั้งอาจมีอาการคัน ปกติมักพบเป็นตามมือ ในรายที่เป็นอย่างเฉียบพลันพบว่ามีไข้ปวดศีรษะอย่างมาก ปวดกล้ามเนื้อและข้อ อาการ endocarditis อาจเกิดขึ้น โรคนี้ในต่างประเทศมีชื่อเรียกต่างๆ กัน เช่น erythema migrans, fish handlers disease หรือ whale finger

การวินิจฉัยโรคนี้ต้องแยกออกจากโรคต่างๆ ที่มีอาการคล้ายกัน เช่น ไข้ดำแดง (scarlet fever) โรคอีริซิพีแลซในคนซึ่งเกิดจากสเตรปโตคอคคัส โรคแอนแทรซ์ แผลหรือฝีที่เกิดจาก Staphylococcus aureus, Streptococcus และพวก diphtheroid การวินิจฉัยที่ดีที่สุดคือการแยกเชื้อ

โรคนี้ติดต่อโดยเชื้อเข้าทางบาดแผลหรือรอยถลอกบนผิวหนัง ปกติแผลที่เกิดขึ้นอาจจะหายเองใน 2-4 สัปดาห์ (Price and Bennett, 1951) และอาจกลับเป็นขึ้นมาใหม่ได้อีก ยาที่ให้ผลต่อการรักษาดี คือ เพนิซิลลิน เตตระซัยคลิน อีริโทรมัยซิน

สัตว์

มีสัตว์ต่างๆ ที่เป็นโรคนี้ เช่น สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม และพวกสัตว์บก โรคนี้ที่เกิดในสุกรมักมีอาการรุนแรงทำให้เกิด arthritis, endocarditis และเซพติซีมิคอย่างเฉียบพลัน การระบาดของโรคอีริซิฟิแลซในสุกรทำให้เกิดการสูญเสียต่อเศรษฐกิจการเลี้ยงสุกรมาก สัตว์พวกขบแทะพบว่าเป็นพาหะของเชื้อโรค นอกจากนี้ สัตว์ปีกและปลาทะเล ปลานํ้าจืด กุ้ง และหอยต่างๆ มีเชื้อนี้ ดังนั้นการติดต่อโรค โดยการสัมผัสกับเนื้อสัตว์ดังกล่าวนี้มีรายงานอยู่เสมอ

การควบคุมและป้องกัน

โรคนี้เป็น occupational disease มักพบในบุคคลที่มีอาชีพเสี่ยงต่อการรับเชื้อ เช่น สัตวแพทย์ คนตรวจเนื้อสัตว์ คนจับปลา ผู้ที่ทำงานในโรงงานผลิตภัณฑ์สัตว์ นักตกปลา เป็นต้น ดังนั้นการควบคุมควรป้องกันไม่ให้บุคคลเหล่านี้รับเชื้อเข้าทางผิวหนัง โดยการสวมถุงมือ และเมื่อมีบาดแผลควรทำความสะอาด

↑ กลับสู่ส่วนบนของหน้า