สำหรับผู้ใส่ใจในการรักษาสุขภาพ ทั้งสุขภาพกาย และสุขภาพจิต

โรคเกี่ยวกับระบบทางเดินปัสสาวะ

ระบบทางเดินปัสสาวะ ได้แก่ ไต ท่อปัสสาวะ กระเพาะปัสสาวะ และระบบอวัยวะสืบพันธุ์ทั้งชายหญิงในคัมภีร์มุจฉาปักขันทิกา ภาวะผิดปกติในระบบนี้โบราณบอกว่าเกิดจากสาเหตุที่ถูกทุบถองโบยตี ตกต้นไม้ ทำให้เกิดการช้ำและมีเลือดคั่งอยู่ภายใน เรียกว่า สันนิจโลหิต ปัสสาวะที่ออกมาก็จะมีลักษณะผิดปกติหลายรูปแบบให้เห็น เรียกว่า ทุลาวสา 4 ทำให้ปัสสาวะไม่ออกหรือติดขัดจากการกดทับเบียด เรียกว่า มุตรฆาต(มุตฆาต) 4 ปัสสาวะที่ออกมาจะเป็นเลือดเป็นหนองและมีอาการต่างๆ เรียกว่า มุตรกฤต(มุตกิด) 4 ทำให้เกิดอาการต่างๆ ร่วมกับโรคเรื้อรัง เช่น การติดเชื้อ ช้ำใน มะเร็งต่างๆ อาการจะแสดงออกทางปัสสาวะ อาจมีความร้ายแรงถึงตายได้ เรียกว่า สันทฆาต 4 และทั้งสองเพศยังมีโรคเกี่ยวกับอวัยวะ เช่น การอักเสบของอัณฑะและองคชาติ เรียกว่า องคสูตร 4 เกี่ยวกับเพศสัมพันธ์ที่เรียกว่า อุปทม 4 ซึ่งปัจจุบันเรียก กามโรค โรคติดเชื้อรุนแรงหรือโรคเรื้อรังร้ายแรงที่ทำลายอวัยวะ เรียกว่า ไส้ด้วน ไส้ลาม 4 รวมได้ 32 ประการ ในปัจจุบันโรคเหล่านี้ก็ยังพบอยู่ ซึ่งคนโบราณก็ได้จำแนกหมวดหมู่ไว้ได้ชัดเจน

มุจฉาปักทันทิกา มาจาก 2 คำ คือ มุจฺฉา แปลว่า สลบ สยบ ตัณหา ปกฺขนฺทิกา แปลว่า โรคลงแดง บิด ตกเลือด หรือแปลตามตัวว่า การสยบการตกเลือด อีกชื่อหนึ่งของคัมภีร์มุจฉาปักขันทิกาคือ คัมภีร์ทุลาวสา ซึ่งกล่าวว่ามีโรค 96 จำพวกที่เกิดกับมนุษย์ชายหญิงที่เกิดมาในโลกนี้ ในคัมภีร์นี้จะกล่าวถึงโรคเพียง 32 จำพวก ซึ่งแยกออกเป็นทุลาวสา 4 มุตฆาต 4 มิตกิด 4 สันทฆาต 4 องคสูตร 4 ช้ำรั่ว 4 อุปทม 4 ไส้ด้วน 4 รวมได้ 8 จำพวก 32 ประการ

1. ทุลาวสา 4 ประการ
ปัสสาวะจะเกิดความผิดปกติ 4 ประการคือ
-น้ำมูตรที่ออกมาจะขาวดังน้ำข้าวเช็ด
-มีสีเหลืองเหมือนน้ำขมิ้นสด
-ออกมาเป็นโลหิตสดๆ
-เป็นสีแดง หรือดำ

ทำให้มีอาการปัสสาวะแสบ ปวดหัวเหน่า ปวดองคชาติ มีอาการต่างๆ กันไป รู้สึกสะบัดร้อนสะบัดหนาวเป็นเวลา

มุตฆาต 4 ประการ
เกิดจากการกระทบทำให้ชอกช้ำ
มุตฆาต โบราณเขียนว่า “มุตรฆาฏ” ฆาฏ มาจาก ฆาโฏ ฆาต แปลว่า กระทบ เบียดเบียน การไหลของทางเดินปัสสาวะเกิดการกระทบ 4 แบบ ทำให้รู้สึกปวดขัดมากเมื่อถ่ายปัสสาวะ ปัสสาวะเป็นโลหิตเป็นหนองขุ่นข้น ทำให้ปวดกล้ามเนื้อ ปวดเสียดแทงในอก กินอาหารไม่ได้ อาเจียนเป็นลมเปล่าๆ มีเม็ดยอดอยู่ภายใน

มุตกิด 4 ประการ
ในพจนานุกรมเขียน มุตกิด แปลว่า ตกขาว และ มุตฆาต คือ น้ำปัสสาวะที่ช้ำเลือดช้ำหนอง โบราณเขียนว่า มุตรกฤต ซึ่งน่าจะมาจากคำว่า มูตรวิกฤต เกิดจากน้ำปัสสาวะผิดปกติ 4 ประการคือ

-ตกขาวที่ทำให้ปัสสาวะเหมือนโลหิตช้ำ

-ตกขาวที่เกิดในกอบทุลาวสา ทำให้ปัสสาวะสีเหมือนน้ำชานหมากหรือเลือดจางๆ เป็นอาการของนิ่วและการอักเสบของทางเดินปัสสาวะ

-ตกขาวที่ทำให้ปัสสาวะมีสีเหมือนน้ำซาวข้าว อาจเป็นเพราะไตอักเสบ มีการติดเชื้อในระบบทางเดินปัสสาวะ

-ตกขาที่เกิดในกองทุลาวสา ทำให้ปัสสาวะเหมือนน้ำมูก

สันทฆาต
เดิมเขียน “สันทะฆาฎ” สันทะ แปลว่า หนาทึบ ได้แก่ สันทฆาต 4 ประการ สันทฆาตเกิดจากโลหิตแห้ง สันทฆาตเกิดจากลมภายในดี ตับ ปอด และหัวใจ สันทฆาตเกิดจากปัตคาต และสันทฆาตเกิดจากกษัยแห้ง โดยสันทฆาตเพื่อโลหิตกับสันทฆาตเพื่อกล่อนแห้งกับสันทฆาตเพื่อปัตคาดเป็นโทสันทฆาต ส่วนสันทฆาตเพื่อกาฬกับสันทฆาตเพื่อกล่อนแห้งเป็นตรีสันทฆาต

สันทฆาต อันบังเกิดเพื่อโลหิต
อาสันทฆาต (สันทฆาตอันบังเกิดเพื่อโลหิต) ได้เขียนไว้ชัดเจนในตำราศิลาจารึกวัดโพธิ์ว่าชนิดแรก คือ สันทฆาตเพื่อโลหิต เกิดกับชายหญิงทั้งหลาย จัดเป็นโทสันทฆาตชนิดหนึ่งในเวชศาสตร์วรรณนา

ถ้าสตรีว่าด้วยโลหิตและฤดูแห้งเป็นก้อนเท่าฟองไก่ ติดกระดูกสันหลังข้างในเจ็บหลังบิดตัวอยู่ประมาณ 14-15 วัน ครั้นแก่เข้ามักเป็นลมจุกแดกแน่นอกดุจขาดใจ ถ้ากินยาเผ็ดร้อนลงไปก็ดีโลหิตนั้นก็แห้งเข้าติดสันหลังนั้นจึงได้ชื่อว่า สันนิจโลหิต กระทำให้ลงเป็นโลหิตก้อนลิ่มแท่งออกมา บางทีให้ตกไปทวารหนักเบา บางทีเป็นดังน้ำหมากจางๆ

ถ้าบุรุษท่านกล่าวว่า เมื่อแรกบังเกิดโรคดังนี้ย่อมเป็นไข้พิการต่างๆ คือว่า ตกต้นไม้แลล้มลงถูกที่ขัดขวาง ถ้ามิฟังนี้ก็เป็นเพื่อโรคอันถึงพิฆาตอำนาจทุบถองโบยตีเป็นสาหัสฟกช้ำในอกใจ และโลหิตนั้นก็คุมกันเข้าเป็นก้อน กาลย่อมให้เจ็บร้อนในอกเสียดแทงสันหลังก็มีเภทต่างๆ สมมติว่าเป็นเม็ดยอดภายใน ครั้นวางยาผิดโลหิตนั้นก็กระจายออกแล่นเข้าตามกระดูกสันหลังก็ได้ชื่อว่า สันนิจะโลหิต (ตำราวัดโพธิ์เรียก อัสนโลหิต โทษทั้งนี้เป็น อสาทยโรค) ลงสู่ทวารหนักเบาบุคคลทั้งหลายก็เรียกว่า อาสันทฆาต เหตุว่าเกิดเพราะไข้อันพิฆาตบอบช้ำ ปีศาจก็พลอยสิงด้วย ถ้ารู้มิทันก็ตาย(โทษทั้งนี้เป็น อสาทยโรค)

ชื่อนี้ในเวชศาสตร์วรรณนากลับเรียกว่า โทสันทฆาต และมีการเขียนซ้ำอีกเป็นอีกรูปแบบหนึ่ง แสดงว่ามีโทสันทฆาต 2 ชนิด

ตรีสันทฆาต(สันทฆาตอันบังเกิดเพื่อกาฬ เกิดขึ้นภายในดี ตับ ปอด และในหัวใจ)
มักเกิดเพื่อกาฬขึ้นในดี ตับ หัวใจ เป็นเม็ดเท่าข้าวสารหัก บางทีก็ขึ้นในไส้อ่อนมักทำให้ปวด ถ้าขึ้นในดีจะทำให้พูดจาเพ้อเจ้อคลุ้มคลั่ง ถ้าขึ้นในตับ(ตามตำราวัดโพธิ์เรียกว่า ตับหย่อน) จะทำให้ลงโลหิต มีอาการเหมือนผีเข้าสิงอยู่ ถ้าเกิดในลำไส้จะทำให้จุกเสียดท้องขึ้นท้องโต ถ้าเกิดในปอดจะทำให้กระหายน้ำมาก ถ้าเกิดในหัวใจจะทำให้หมดสติ เมื่อมีอาการอยู่ 7-9 วัน จะทำให้ทวารทั้ง 9 มีโลหิตแตกซ่านไป เรียกว่า ลักกะปิด(รัตปิตตะโรค) เป็นต้นสันทฆาตของผู้นั้น จะแก้ไม่ได้เลย หากจะแก้ไขก็อย่าให้ยาที่ร้อนหรือยาที่เข้าสุรา เข้าน้ำมัน และให้ยาไปตามอาการ หากจะรักษาควรรักษาตั้งแต่โลหิตยังไม่แตก

โทสันทฆาต (สันทฆาตอันบังเกิดเพื่อปัตคาด) จะเหมือนกันทั้งบุรุษและสตรี
ถ้าบุรุษใดเป็นโรคโทสันทฆาตเพื่อกล่อนแห้งและปัตคาดจะทำให้เจ็บปวด เป็นพรรดึก เป็นลม เป็นโลหิต เป็นก้อนอยู่ในท้อง ให้เจ็บไปทั่วกาย ให้เจ็บเอว มือเท้าตาย ให้เมื่อยหัวเข่าและต้นขาหน้าสะโพกทั้งสองข้าง ให้ท้องตึง ช่องปัสสาวะเน่าเป็นน้ำเหลือง เป็นหนอง เป็นเลือด ให้ปวดศีรษะและวิงเวียน ให้ตามัว เสียงแหบ ให้ปากเปรี้ยว ให้ขัดราวข้างทรวงอก ท้องขึ้นท้องพอง ไม่รู้รสอาหาร เป็นเพราะมีเสมหะโลหิตแห้งอยู่ในท้องไส้ เป็นพรรดึก เมื่อเริ่มเป็นมักจะทำให้มีอาการครั่นเนื้อครั่นตัว เบื่ออาหาร จับไข้ ให้อยากกินเปรี้ยวหวาน ทั้งบุรุษและสตรีก็เหมือนกัน ในตำราวัดโพธิ์ได้แบ่งย่อยออกไปได้เป็น

-สันทฆาตอันบังเกิดเพื่อปัตคาด และแก้ลมพรรดึกอันบังเกิดในกองประเมหะ

-สันทฆาตอันบังเกิดเพื่อปัตคาดและแก้ทั้งลมผูกทวารหนักเบาให้ปวดให้ขัดให้เมื่อยขบทั้งปวง

-สันทฆาตอันบังเกิดเพื่อปัตคาดในกองประเมหะโรค

ประเมหะ หมายถึงโรคที่เกี่ยวกับปัสสาวะอื่นๆ เพราะคำว่า ปร แปลว่า อื่นๆ เมหะ แปลว่า นิ่ว น้ำปัสสาวะ เมือกมูกเปลวไต

ตรีสันทฆาต (สันทฆาตอันบังเกิดเพื่อกล่อนแห้ง)
เกิดได้ทั้งในบุรุษและสตรี ทำให้มีอาการเป็นโลหิตก้อนเถาอยู่ในท้อง จนคิดว่าเป็นกษัยโลหิต กษัยเถา ทำให้เจ็บกระบอกตา ปวดเมื่อยไปทั้งตัว เจ็บในสะดือ เจ็บต่อมน้ำเหลืองที่ขาหนีบทั้งสองข้าง ให้มีตุ่มเม็ดเกิดขึ้นที่องคชาติทำให้รู้สึกแสบร้อนเมื่อยมาก เมื่อแตกออกจะเป็นน้ำเหลือง มักจะเป็นที่รูปัสสาวะมีขนาดเท่าเมล็ดพริก ถ้าแก่เข้าจะเป็นเหมือนหัวหูด ปัสสาวะเป็นเลือด ให้ปวดหลัง ปวดตะโพก เมื่อยปลายมือปลายเท้า อาจตายได้ถ้ารักษาไม่ถูกต้อง โรคนี้เกิดจากการกินอาหารผิดสำแดง คือของคาวของหวานเพื่อปถวีธาตุ วาโยธาตุ เตโชธาตุ อาโปธาตุ ให้อาเจียนเป็นน้ำลาย บังเกิดขึ้นเพื่อสมุฏฐานธาตุและอชิณโรค กล่าวคือสำแลง มีของอันคาว เป็นต้น เป็นอสาทยโรครักษายากนักฯ

องคสูตร 4 ประการ
เป็นโรคเกี่ยวกับอัณฑะและองคชาติของอวัยวะเพศชาย เป็นการติดเชื้อในทางเดินปัสสาวะตอนปลายแบบธรรมดา คนโบราณเชื่อว่าจะเกี่ยวข้องกับฤดูกาล โดยแต่ละช่วงฤดูจะจำแนกไว้ดังนี้

องคสูตรคิมหันต์ฤดู เดือน 5 เดือน 6 เดือน 7
จะทำให้อัณฑะข้างขวาบวมแดงขึ้นมา ให้แสบร้อน เจ็บขัด มีน้ำเหลืองไหลซึมอยู่ในท่อองคชาติ ทำให้รู้สึกปวดร้อน ให้ปวดเสียวไปถึงเท้า ถ้านอนลงก็ให้กระเหม่นริกๆ ท้องผูก ขัดทางเดินปัสสาวะ หากรักษาไม่ถูกต้องอาจทำให้ถึงตายได้ โทษทั้งนี้เกิดเพื่อโลหิต 3 ส่วน วาโยระคน 2 ส่วน

องคสูตรเมื่อวสันต์ฤดู เดือน 8 เดือน 9 เดือน 10
มักทำให้เจ็บที่อก เจ็บกระดูกสันหลัง เจ็บบ่ามาถึงราวนมและขาทั้งสองข้าง สะบัดร้อนสะบัดหนาว วิงเวียน ชัก จะปวดแสบองคชาติเมื่อถ่ายปัสสาวะ หรืออาจมีมูกโลหิตออกมา โรคนี้เกิดเพื่อลม 3 ส่วน เพื่อเสโทโลหิต 1 ส่วน เป็นแต่ลำไส้ออกมา ลักษณะดังนี้เป็น อสาทยโรค รักษาได้ยาก

องคสูตรเหมันต์ฤดู เดือน 11 เดือน 12 เดือน 1
เมื่อเริ่มเป็นจะปวดที่องคชาติ ปัสสาวะกะปริดกะปรอย ปวดเอว เบื่ออาหาร เกิดจากเสมหะ 1 ส่วน โลหิต 2 ส่วน แล้วกระทำให้ไส้ขาดออกมา ก็จะถึงแก่มรณะ อติสัยโรค ถ้าจะรักษาให้รักษาเสียตั้งแต่แรกๆ โดยแก้ที่โลหิตก่อนแล้วค่อยแก้ที่เสมหะตามลำดับธาตุสมุฏฐานโรค

องคสูตรโลหิตสันนิบาต เดือน 2 เดือน 3 เดือน 4
ทำให้เจ็บบริเวณหัวเหล่าลงมาถึงองคชาติ ทำให้ผิวอัณฑะมีสีดำ อัณฑะข้างหนึ่งจะบวม และเจ็บที่ตาข้างหนึ่ง ปวดศีรษะข้างหนึ่ง มักทำให้เกิดโลหิตสันนิบาต

มีพิษให้แสบร้อนเป็นกำลังและให้ขัด ให้ปัสสาวะเป็นน้ำเหลือง น้ำหนองและโลหิตเจือปนออกมา แสบท่อปัสสาวะ และให้เสียดสองราวข้างและหน้าอกขึ้นตามเกลียวปัตคาด ให้จับเป็นเวลา เบื่ออาหาร อาเจียนเป็นลม คอตัน คอแห้ง น้ำลายเหนียว ให้มีเสมหะโลหิตทางทวารหนักเหมือนเป็นบิด ร้อนในอก กระสับกระส่าย โทษทั้งนี้เกิดในกองสันนิบาตฤดูทั้ง 3 นั้นประชุมพร้อมกันหากำหนดมิได้

ช้ำรั่ว 4 ประการ
โรคช้ำรั่วที่เกิดกับสตรีมีอยู่ 4 ประการคือ
1. เป็นฝีในมดลูก เป็นหนองเป็นน้ำเหลืองจางๆ เหมือนน้ำคาวปลา

2. เป็นน้ำเหลืองร้ายทำทางเดินปัสสาวะเปื่อย ปัสสาวะกะปริดกะปรอย รู้สึกปวดแสบ ขัดหัวเหน่า เกิดจากตัวกิมิชาติ

3. เกิดเพราะส้องเสพกับบุรุษเกินประมาณ

4. เกิดมดลูกเน่าจากการคลอดลูก

ช้ำรั่วเป็นบุพโพจาง
อาจมีน้ำเหลืองหรือน้ำคาวปลาไหลซึมออกมา น้ำเหลืองมีโทษร้ายจึงกัดช่องทางเดินปัสสาวะให้เปื่อยไปได้

ช้ำรั่ว คนปัจจุบันเข้าใจว่าคือ กระเพาะปัสสาวะอักเสบ ปัสสาวะแสบขัด แต่ช้ำรั่วได้เขียนไว้ชัดในคัมภีร์ว่า เกี่ยวกับมดลูกและอาจมีการติดเชื้อลามไปที่ช่องทางเดินปัสสาวะ

ช้ำรั่วเกิดเพื่อตัวกิมิชาติ
จะเกิดอยู่ในช่องคลอด ทำให้มีอาการคัน เมื่อเกาก็จะกลายเป็นน้ำเหลืองไหลซึมอยู่ไม่ขาด ทำให้ปัสสาวะบ่อยและขัด รู้สึกเจ็บและขัดหัวเหน่ามาก

ช้ำรั่วเกิดจากการร่วมเพศมากเกินไป
บางทีอาจทำให้ปากทวารเปื่อยเน่า บางทีทำให้ช้ำให้เป็นน้ำหนองน้ำเหลืองซึมไหลออกมา

ช้ำรั่วเกิดด้วยโลหิตพิการคือ คลอดบุตรอยู่ไฟมิได้ ทำให้มดลูกเน่าเป็นก้อนอยู่ใต้ผิวหนัง เมื่อนานเดือนนานปีเข้าก็กลายเป็นน้ำเหลืองน้ำหนองอยู่ ต่อมา 2-3 เดือนจะมีโลหิตจางไหลออกมา เรียกว่า ช้ำรั่ว น้ำเหลืองร้ายนี้ถ้าไหลออกมาที่ไหนก็จะมีเม็ดตุ่มเกิดขึ้นเป็นหัวขาวๆ รอบทวาร เมื่อแตกก็เปื่อยออกทำให้แสบร้อนและคันมาก

เกิดจากเสมหะโลหิตในมดลูกเดินไม่สะดวก ทำให้เกิดการช้ำและเน่าของมดลูก มักเกิดฝีในมดลูก มีรอยดำหรือแดงเกิดขึ้น

อุปทม 4 ประการ
-อุปทมอันบังเกิดจากการเสพเมถุนสังวาส
-อุปทมอันบังเกิดแก่สตรีอันเป็นเพศยาสำส่อน
-โรคสำหรับบุรุษสตรี
-อุปทมเกิดกับนิ่วเนื้อ

เมื่อพูดถึงอุปทม โบราณมักจะพูดว่าเป็นโรคบุรุษ จะมีโรคอุปทมเพียง 3 ที่มีรายละเอียด ถ้าไม่นับโรคบุรุษ คือ บุรุษบริสุทธิ์มิได้มักมากด้วยกิเลสคือ พระภิกษุและฆราวาส เป็นพหูสูต หรือโรคที่เกิดแก่บุคคลใดๆ ก็ดีที่เกิดเพราะกาฬมูตร

อุปทมเป็นโรคที่ติดต่อจากการมีเพศสัมพันธ์ ซึ่งในปัจจุบันเรียกว่า กามโรค รายละเอียดมีดังนี้

อุปทมอันบังเกิดจากการเสพเมถุนสังวาส
สาเหตุ
เกิดจากเสพเมถุนกับสตรีอันเป็นเพศพรหมจารีซึ่งมิได้รู้รสชาย กำหนัดยินดีเป็นปฐมมีประเภทดุจช้างสารตัวใหญ่เข้า โพรงอันแคบ และจะได้คิดว่าจะเจ็บปวดนั้นหามิได้ ครั้นออกจากช่องแคบแล้วกระทำให้เจ็บปวดต่างๆ คือให้องค์กำเนิดนั้นช้ำ เดาะ หัก มีน้ำเหลือง น้ำหนอง โลหิตไหลออกมาทางช่องทวารเบา เกิดความเจ็บปวดแสบร้อน ปัสสาวะไม่สะดวก ทำให้ช่องปัสสาวะบวม

สตรียังไม่มีระดูข่มเหงด้วยกำหนัดยินดีนั้นประดุจดังช้างสารอันมีกายใหญ่ เล่ห์ประหนึ่งบุคคลไล่ให้จำเพาะเข้าไปที่ช่องแคบ ก็เจ็บปวดช้ำในนั้น ก็เป็นบุพโพโลหิตออกมาตามช่องทวารเบา ได้ความเจ็บปวดนัก

อุปทมอันบังเกิดแก่สตรีอันเป็นแพศยา
สาเหตุ
สตรีนั้นคบชู้ชายมาก และช่องครรภ์นั้นช้ำชอกด้วยกิเลสกาม เป็นนิ่วโดยทวารที่ชุ่มอั้นด้วยลามกนั้น แลครั้นชายไปส้องเสพสมาคมด้วยสตรีผู้นั้น จะทำให้เกิดอาการสำคัญคือ เมื่อร่วมเพศในช่องคลอดที่ชุ่มหนอง ทำให้อวัยวะเพศชายเกิดเปื่อยพัง อักเสบ เรียกว่า กามโรค นั่นเอง

โรคบุรุษโรคสตรี(ไม่นับเป็นอุปทม)
สาเหตุ
เกิดกับบุคคลที่ไม่ได้มักมากในกิเลสกามคุณ เช่น สมณะและสามเณรี ภิกษุณี พราหมณ์ทั้งหลาย ที่มีศีลบริสุทธิ์ และฆราวาสที่รักษาศีล 5 เป็นประจำ รักษาศีล 8 เป็นอุโบสถศีล เป็นผู้มีปัญญา มิได้เสพเมถุนธรรมด้วยมาตุคามเลย แต่โรคบังเกิดขึ้นเพราะดานและกษัยกล่อน มักทำให้มีอาการสำคัญคือ มักบังเกิดแต่สะดือลงมาหน้าหัวเหน่า เดิมให้ขัดปัสสาวะ คือกล่อนลงฝักถึงองค์กำเนิด ให้องค์กำเนิดบวม แล้วกระทำให้แสบร้อน ให้ปัสสาวะไม่คล่อง ออกกะปริดกะปรอย เมื่อกินยาได้ถูกก็หายไป มักเป็นๆ หายๆ เมื่อนานเข้ามักกลายเป็นบุพโพโลหิตออกมาทางทวารเบา ให้เจ็บปวดไปต่างๆ ดังนี้เรียกว่า โรคสำหรับบุรุษ ไม่ใช่อุปทม

อุปทมอันบังเกิดเพื่อนิ่ว
อาการสำคัญ ถ้าบุรุษกลายเป็นคชราด มักเป็นที่ปลายองค์กำเนิดแล้วลามเข้าไปในช่องปัสสาวะ ให้องค์กำเนิดบวมขึ้นแข็งเข้าเนื้อดานอยู่ ถ้าสตรีออกมาแต่ทวารครรภ์เป็นดังดาก สมมติว่าดากโลหิตนั้นหายมิได้เลย คืออุปทังสโรคดังกล่าวมานี้แก่ขึ้นก็ลามมาถึงหน้าหัวเหน่า แล้วกระทำให้ตกโลหิตเป็นลิ่มเป็นแห่งออกมา บางทีปลายดากขาดออกมาเหม็นคาวนัก บางทีเป็นบุพโพโลหิตออกมาบ้าง ให้ปวดหน้าเหน่าและท้องน้อยดังจะขาดใจตาย โรคนี้เป็นอติสัยโรค รักษามิได้ ถ้าจะรักษาให้รักษาแต่ยังอ่อนอยู่นั้น อาจรักษาได้บ้างไม่ได้บ้าง

นิ่ว 4 จำพวก
ในที่นี้คือ นิ่วศิลาปูน นิ่วเนื้อ บานทะโรค กษัยกล่อน

นิ่วศิลาปูน
มักเกิดจากอาโปธาตุ ผู้ใดกินหมากมากและกลืนน้ำหมากเข้าไปเป็นประจำ ปูนที่กินเข้าไปไม่ได้ออกมาปัสสาวะหรืออุจจาระ แต่จะตกตะกอนอยู่ในกระเพาะปัสสาวะเมื่อพอกมากเข้าเป็นก้อนกลมก็จะไปอุดตันที่ช่องทางเดินปัสสาวะ ทำให้เจ็บเมื่อถ่ายปัสสาวะ ทำให้ร่างกายผอมเหลือง

นิ่วเนื้อด้วยอุปทม
ถ้าบุรุษเกิดเพื่อมุตฆาต ให้เป็นเม็ดที่ปากองคชาติและลามไปช่องปัสสาวะ ก็โตออกมาแข็งเป็นดานอยู่ ในสตรีก็เป็นเช่นกันจะเป็นเม็ดออกมาจากช่องปัสสาวะลามไปหัวเหน่า ทำให้ตกเลือดเป็นลิ่มเป็นแท่งออกมาในกลางที่ปลายช่วงขาดออกมาบ้าง มีกลิ่นเหม็นเน่า บางทีก็เป็นหนองออกมา ทำให้ปวดหัวเหน่าและท้องน้อย แน่นอก อาเจียนเป็นน้ำลาย จุกเสียด ร้อนปลายมือปลายเท้า ปวดศีรษะ เกร็ง หากแก้ไขไม่ได้เมื่อใกล้ตายจะมีเลือดสดๆ ไหลออกมาตลอดเวลา กินไม่ได้นอนไม่หลับ เมื่อเป็นครบ 7 วันจะทำให้หูตึง ความจำเสื่อม ลิ้นไม่รู้รสอาหารว่าเย็น ร้อน จืด เค็ม ขม เปรี้ยว หวาน เป็นตรีโทษ 3 วันตาย พระอาจารย์แต่งยาไว้ให้แก้เสียแต่ยังอ่อนอยู่

ซ่วงโลหิต คำว่า ซ่วง แปลว่า ช่องหรือโพรง ในปัจจุบันเขียนว่า ส้วง ในผู้หญิงจะมีอยู่ 2 โพรงคือ ทวารหนักและช่องคลอด ในชายมีช่องทวารหนักอย่างเดียว

อนึ่งเป็นซ่วงโลหิตออกเป็นดังซ่วงเนื้อก็เหมือนกัน แต่ทวารซ่วงโลหิตนั้น มักเน่าขาดออกมาเป็นชิ้นเป็นแท่ง เหม็นดังกลิ่นศพ ลางทีมักเป็นน้ำเหลืองไหลไปทั้งกลางวันกลางคืน หาแรงมิได้กินอาหารมิได้ให้อาเจียนเนืองๆ ให้ลมจับบ่อยๆ ถ้าจะแก้ให้ทำยาแช่ซ่วงให้หดเสียก่อน

บานทะโรค
ริดสีดวง อนึ่งท่านกล่าวไว้ว่าเป็นริดสีดวง มักตั้งขึ้นเหนือสะดือใต้สะดือ 3 นิ้วก็ดี มักบานเป็นดอกบุก บางทีก็แตกโลหิตสดๆ จางๆ ออกมา บางทีเป็นน้ำชานหมาก น้ำล้างเนื้อ น้ำฝางต้ม บางทีเป็นเม็ดลงมาแต่สะดือถึงทวารหนักเบา แล้วก็เลื่อนเข้าเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ถ้าผู้ชายเรียกว่า บานทะโรค ถ้าสตรีภาพเรียกว่า เป็นบานทะโรคดุจกัน ด้วยสตรีบางคนคลอดบุตรอยู่ไฟมิได้มดลูกจึงเน่า บางทีระดูเสียเป็นฝีต่อมโลหิต บางทีเป็นในมดลูก บางทีก็กลายเป็นมุตกิด ช้ำรั่ว บางทีก็ให้เปื่อยในลำไส้เป็นเม็ดยอดแต่หัวเหน่าถึงทวารเบา มักให้เป็นไปต่างๆ ดังกล่าวมานั้น

ไส้ด้วน เป็นบุพโพ 4 ประการ
-เป็นด้วยเสพมาตุคามกระทบช้ำใน

-เป็นด้วยเสพสตรีลามก ก็ให้เม็ดขึ้นมาประมาณเท่าเม็ดถั่วดำขึ้นที่ปลายองคสูตร ปลายองคชาติก็ดี

-ขึ้นรอบองคชาตินั้นก็ดี แตกเป็นน้ำเหลืองบุพโพโลหิตให้ทำพิษเจ็บปวดแสบร้อน ให้ร้อนดังไฟลาม เน่าเข้าไปแต่องคชาติ บางทีกัดคอองคชาติเน่าเข้าไปทุกวันๆ จนถึงโคนองคชาติเมื่อใดก็ตายเมื่อนั้น

-ไส้ลาม เป็นเม็ดผุดมาจากข้างใน บางทีก็เปื่อยทั้งข้างนอกและใน ลามมาถึงท้องน้อยเหมือนฝี มีน้ำเหลืองน้ำหนองออกมาจากทวารหนักทวารเบา ให้มีอาการไปต่างๆ เหมือนกันทั้งบุรุษและสตรี ให้ปวดท้อง ลงท้องเป็นมูกเลือด ปวดมวนจุกเสียด แน่นในอกเพราะน้ำเหลืองแล่นไปตามลำไส้ มักทำให้อาเจียน กินอาหารไม่ได้ ให้ลมจับเป็นประจำ ถ้าเป็นดังนี้ท่านว่าเข้าอยู่ในมือพระยามัจจุราชแล้ว

ที่มา:จากหนังสือวิทยาศาสตร์ในการแพทย์แผนไทย
โดยอาจารย์แพทย์หญิงเพ็ญนภา ทรัพย์เจริญ
รองอธิบดีกรมพัฒนาการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก

↑ กลับสู่ส่วนบนของหน้า