สำหรับผู้ใส่ใจในการรักษาสุขภาพ ทั้งสุขภาพกาย และสุขภาพจิต

โรคหัวใจวาย

ถ้าท่านอ่านข่าวในหนังสือพิมพ์ทุก ๆ วันนี้ อาจจะพบข่าวว่ามีผู้ที่เรารู้จักบ้างหรือไม่รู้จักบ้าง  ถึงแก่กรรมโดยโรคหัวใจวาย คำว่า “หัวใจวาย” ในสมัยก่อนหน้านี้ไม่กี่ปี  ไม่มีใช้กันมาก่อนเราเพิ่งจะได้ยินคุ้นหูในระยะไม่กี่ปีที่ผ่านมานี้เอง  คำว่า “โรคหัวใจวาย” นี้ เป็นที่สังเกตว่า อาจจะใช้กันพร่ำเพรื่อมากเกินความจริงก็ได้  โดยมากมักใช้ชื่อเรียกโรคนี้  ในเมื่อผู้นั้น ๆ ตายโดยลักษณะอันเป็นปัจจุบันทันด่วน  โดยที่ไม่เคยมีอาการอื่นใดมาแต่ก่อน  แต่ก็เคยมีบางรายที่เคยมีประวัติโรคหัวใจมาก่อนแล้ว  แต่ไม่มีอาการผิดปกติมากมาย  แล้วเกิดอาการทรุดหนักและตายภายในเวลาอันสั้น แต่ก็มีบางรายที่ถูกเรียกว่าเป็นโรคหัวใจวายตาย ซึ่งอาจจะไม่ได้เป็นโรคหัวใจจริง ๆ แต่ตายด้วยเหตุอื่นที่ไม่ใช่โรคหัวใจก็มีมาก เช่น จะมีการแตกของหลอดเลือดใหญ่ ๆ ในสมอง หลอดเลือดใหญ่ในปอดถูกอุดตัน โดยลิ่มเลือดหรือก้อนอื่น ๆ ที่มีขนาดใหญ่ ๆ ภายในทรวงอก ซึ่งมีอาการโป่งพองอยู่เดิมแล้วเป็นต้น  สาเหตุต่าง ๆ เหล่านี้ไม่ใช่จากหัวใจเองทั้งนั้น แต่ว่าในขณะที่เกิดอาการโรคขึ้นนั้นบอกได้ยากว่าเกิดอะไรขึ้นแน่ เพราะผู้ที่ตายมีเวลาป่วยอันสั้นก่อนหน้าที่จะตาย  แม้บางรายขณะมีอาการเกิดขึ้นและเผอิญขณะนั้นมีแพทย์มาตรวจอาการอยู่ด้วย  ก็อาจจะบอกไม่ได้ทันทีว่าเป็นโรคอะไร  เพราะฉะนั้นเมื่อมีการตายในลักษณะที่ค่อนข้างปัจจุบันทันด่วนเช่นนี้  จึงมักอนุโลมเรียกลักษณะการตายแบบนี้ว่า เป็นหัวใจวาย ด้วยเหมือนกัน

ส่วนพวกที่เป็นโรคหัวใจแท้ ๆ และเกิดหัวใจวายนั้น ส่วนใหญ่มักหมายถึงโรคหัวใจประเภทหนึ่ง  โดยเฉพาะคือ โรคหัวใจโคโรนารี่ หรือ โรคหัวใจขาดเลือดหล่อเลี้ยง  นอกจากนี้บางแห่งใช้ชื่อเรียกว่าโรคหัวใจ อาเธอโรสเคลอโรติค หรือโรคหลอดเลือดหัวใจ ก็มี

ความจริงมิใช่ว่า ภาวะหัวใจวายจะเกิดขึ้นโดยโดยเฉพาะจากโรคหัวใจประเภทแรกที่กล่าวมาข้างต้นเท่านั้นก็หาไม่ โรคหัวใจประเภทอื่น ๆ นอกจากนี้ ก็อาจทำให้เกิดภาวะหัวใจวายได้เหมือนกัน เช่น โรคลิ้นหัวใจพิการ (ซึ่งอาจจะเป็นชนิดลิ้นตีบ หรือชนิดลิ้นรั่ว หรือทั้งตีบและรั่วมีร่วมกัน)  นอกจากนี้มีโรคหัวใจเนื่องจากแรงดันเลือดสูง  โรคหัวใจเนื่องจากกล้ามเนื้อของหัวใจพิการหรืออักเสบ  โรคเยื่อหุ้มหัวใจอักเสบมีน้ำ หรือเป็นพังผืดรอบหัวใจ หรือ โรคหัวใจจากทุโภชนาการเป็นต้น  กล่าวโดยทั่วไป  การที่จะเกิดภาวะหัวใจวายจากโรคหัวใจประเภทหลัง ๆ ที่กล่าวมานี้จะไม่พบบ่อย ส่วนใหญ่มันมักจะทำให้เกิดภาวะหัวใจล้มเหลวเสียมากกว่า โดยเป็นอย่างเรื้อรังและมีอาการนาน ๆ อาจเป็นเดือน ๆ ปี ๆ อาการของภาวะหัวใจล้มเหลวไม่เหมือนกับอาการหัวใจวาย  โดยที่ภาวะหัวใจวายคือ มีการตายซึ่งกินเวลาค่อนข้างสั้นเป็นนาที ๆ หรือชั่วโมงหลังจากเริ่มมีอาการ แต่ภาวะหัวใจล้มเหลวมีอาการเหนื่อยง่าย หายใจลำบาก หรือนอนราบไม่ได้ หรือบวมทั้งตัวโดยเริ่มจากขาขึ้นมา ตับโต หรือมีน้ำในท้อง อาการเหล่านี้มักเป็นอยู่นาน ๆ ดังที่กล่าวมาแล้วข้างต้น

มีความจำเป็นที่จะต้องกล่าวถึงเรื่องราวของโรคหัวใจโคโรนารี่บ้างพอสังเขป ทั้งนี้เพื่อประโยชน์ของความเข้าใจโรค ในแง่ป้องกัน แต่มิใช่ประโยชน์ต่อผู้อ่านในแง่ที่จะพิเคราะห์โรคของตนด้วยตนเอง  การพิเคราะห์โรคนั้นควรจะเป็นหน้าที่ของแพทย์โดยตรง อาการของโรคหัวใจโคโรนารีมีหลายแบบด้วยกัน ส่วนใหญ่ของผู้ป่วยมักจะแสดงอาการเจ็บแน่นหน้าอก ค่อนข้างมากตรงที่บริเวณกลาง ๆ มีบางรายอาจจะเจ็บค่อนไปทางด้านซ้ายบ้าง ขนาดของที่ ๆ เจ็บเป็นบริเวณกว้าง  ไม่ใช่เป็นจุดขนาดเล็ก ๆ ลักษณะของการเจ็บอาจเหมือนถูกบีบรัดหรือบิดเหมือนบิดผ้า หรือปวด หรือแสบก็ได้  แต่ไม่ใช่ลักษณะเจ็บจี๊ด ๆ หรือแปลบ ๆ ซึ่งกินเวลาสั้น ๆ เป็นวินาที  นอกจากอาการเจ็บแน่นหน้าอกที่กล่าวนี้แล้ว บางคนอาจจะมีอาการอย่างอื่นแทน เช่น อาการของหัวใจซีกซ้ายล้มเหลวอย่างทันที คืออาการหอบเหนื่อยอย่างมาก นอนราบไม่ได้ บางคนอาจมีอาการช็อค มีลักษณะหมดสติ ตัวเย็น เหงื่อออกท่วมตัว บางคนอาจเกิดหัวใจหยุดเต้นทันที  พวกหลังนี้เป็นพวกที่มักมาไม่ทันถึงโรงพยาบาล และมักเสียชีวิตที่บ้านโดยที่ไม่มีโอกาสตามแพทย์มาเยียวยาได้ทันท่วงที กล่าวว่าผู้ป่วยแบบนี้มีจำนวนมิใช่น้อยทีเดียว และเป็นพวกที่โชคร้ายกว่าพวกที่มีอาการเป็นแบบอื่น ๆ ประเภทนี้แหละเป็นพวกที่เรียกว่า เป็นหัวใจวายชนิดสมบูรณ์แบบ โดยแท้ยิ่งกว่าสิ่งอื่นใด

โรคหัวใจโคโรนารีเกิดขึ้นได้อย่างไร?  คำว่า “โคโรนารี” เป็นชื่อระบบหลอดเลือดซึ่งฝังอยู่ภายในกล้ามเนื้อหัวใจ และเป็นทางนำเอาออกซิเจนและวัตถุอาหารเข้าไปหล่อเลี้ยงกล้ามเนื้อหัวใจเอง  หัวใจมีเลือดบรรจุอยู่ภายในตัวเองเป็นปริมาณมากก็จริง แต่ไม่สามารถนำเอาออกซิเจนและวัตถุอาหารในเลือดนี้มาใช้ได้ เพราะวัตถุธาตุเหล่านี้ไม่มีทางติดต่อเข้ามาสู่ภายในกล้ามเนื้อหัวใจ เพราะมีเยื่อบุหัวใจชั้นในกั้นขวางอยู่ ต้องอาศัยหลอดเลือดอีกระบบหนึ่ง คือหลอดเลือดโคโรนารี  ซึ่งมีอยู่หลายแขนงด้วยกัน เป็นแขนงที่แยกออกมาจากหลอดเลือดแดงใหญ่ เอออร์ต้าแล้วผ่านเข้าไปในกล้ามเนื้อหัวใจอีกต่อหนึ่ง

ในคนปกติ หลอดเลือดโคโรนารีจะมีความยืดหยุ่นดี ผนังไม่แข็งและไม่หนาและไม่มีการตีบของรูหลอดเลือด หัวใจของผู้นั้นก็จะทำงานได้เป็นปกติดีเพราะได้รับออกซิเจนและอาหารในปริมาณที่ปกติ  แต่ถ้ามีหลอดเลือดโคโรนารีหลอดใดหลอดหนึ่งหรือหลายหลอดมีพยาธิสภาพเกิดขึ้น  โดยเฉพาะอย่างยิ่งคือการเปลี่ยนแปลงที่เรียกทับศัพท์ว่า อาเธอโรสเคลอโรสิส  หรือเรียกตามความหมายธรรมดาว่า หลอดเลือดแข็งนั้น ความจริงไม่ใช่แข็งเฉย ๆ  แต่จะมีการเปลี่ยนแปลงขึ้นที่ผนังด้านในของหลอดเลือดด้วย  โดยมีวัตถุไขมัน โดยเฉพาะที่เรียกทับศัพท์ว่า “โคเลสเตอรอล” เข้าไปฝังตัวอยู่ภายในผนังด้านในของหลอดเลือดเหล่านี้เป็นแผ่น ๆ เล็ก ๆ และเป็นผลให้รูของหลอดเลือดเหล่านี้ตีบกว่าในคนธรรมดา  ทั้งนี้จะทำให้เลือดที่จะผ่านหลอดเลือดเหล่านี้ไปสู่กล้ามเนื้อหัวใจมีปริมาณน้อยลง  บางรายในขั้นต่อไป เยื่อบุด้านในของหลอดเลือดนี้อาจแตกเป็นแผลขรุขระ มีการรั่วซึมของวัตถุสารที่ช่วยเร่งให้เลือดจับลิ่มง่าย ออกมาที่บริเวณแผล ฉะนั้นเลือดที่ไหลผ่านไปบริเวณนี้ ก็จะมีการจับลิ่มเป็นก้อน เกาะลงบนแผลเหล่านั้น และเป็นผลให้มีการอุดตันของหลอดเลือดเป็นบางส่วนก็มี โดยสมบูรณ์ก็มี เมื่อเป็นเช่นนี้กล้ามเนื้อหัวใจก็จะเกิดการขาดเลือดหล่อเลี้ยงเป็นบริเวณ ๆ แล้วแต่ว่าหลอดเลือดแขนงใดจะมีการอุดตัน

โดยทั่วไปการมีหลอดเลือดโคโรนารีตีบ กับการมีการอุดตันจะทำให้เกิดพยาธิสภาพไม่เหมือนกัน  เมื่อมีแต่การตีบ ผู้ป่วยจะมีอาการเจ็บหน้าอกเฉพาะเวลาออกแรงหรือมีสิ่งกระทบกระเทือนอารมณ์ หรือกระทบความเย็นจัด เช่นในการอาบน้ำเย็นในตอนเช้า เป็นต้น  อาการเช่นนี้เป็นเฉพาะเมื่อมีสิ่งเร้าต่าง ๆ ที่กล่าวมาแล้ว  จึงอาจเป็นได้บ่อย ๆ ในเมื่อไม่ปฏิบัติตนให้ถูกต้องแบบนี้เรียกว่า แองไจน่า และมักไม่ค่อยมีอันตรายถึงชีวิต  อีกแบบหนึ่งของโรคนี้เป็นแบบที่รุนแรงกว่าแบบแรก  อาการที่เป็นจะมีเจ็บแน่นหน้าอกเหมือน ๆ กับแบบแรก  แต่อาการเจ็บนานมากกว่า นอนพักก็ไม่ทุเลาเจ็บ  อาจมีภาวะแทรกซ้อนตามมาต่าง ๆ ชนิด เช่น ภาวะหัวใจล้มเหลว ภาวะช็อค หรือเกิดการหยุดเต้นของหัวใจอย่างทันที อย่างที่ได้เคยพูดแล้วในตอนต้น แบบหลังของโรคนี้เรียกว่า อินฟาคท์ หรือเรียกตามความหมายธรรมดาว่า กล้ามเนื้อหัวใจตายเฉพาะแห่ง แบบหลังนี้อาจจะเกิดขึ้นโดยเพียงแต่มีอาการตีบเฉย ๆ โดยไม่มีการอุดตันของหลอดเลือดโคโรนารีก็ได้  หรืออาจเกิดโดยมีการอุดตันโดยลิ่มเลือดโดยสมบูรณ์ก็ได้ แต่อย่างไรก็ตาม  ในบางรายจะไม่เกิดอินฟาคท์ขึ้น ทั้ง ๆ ที่มีลิ่มเลือดอุดตันโคโรนารีโดยสมบูรณ์ก็ได้

ที่กล่าวมาทั้งหมดข้างต้นนี้ เราจะเห็นได้ว่าสิ่งที่ทำให้เกิดโรคหัวใจโคโรนารีก็คือภาวะหลอดเลือดแข็ง ซึ่งเกิดขึ้นเฉพาะที่หลอดเลือดโคโรนารี ความจริงภาวะหลอดเลือดแข็งอาจจะเกิดขึ้นได้ที่หลอดเลือดที่ไปเลี้ยงส่วนอื่น ๆ ของร่างกายได้ทั้งสิ้นแต่ที่เกิดขึ้นแล้วและมีอันตรายก็ได้แก่ ที่สมอง ซึ่งจะเป็นผลให้เกิดสมองพิการหรืออัมพาต ที่ตา อาจทำให้ตาบอด ที่ไต อาจทำให้เกิดการเสียหน้าที่ของไตก็ได้ ทำให้แรงดันเลือดสูงก็ได้

การเกิดภาวะหลอดเลือดแข็งนี้ วัตถุไขมันโดยเฉพาะที่เรียกว่าโคเลสเตอรอล เป็นตัวที่ไปฝังภายในผนังชั้นในของหลอดเลือดต่าง ๆ รวมทั้งหลอดเลือดโคโรนารี ในกรณีที่เป็นโรคหัวใจโคโรนารี สาเหตุของการมีหลอดเลือดแข็ง และการมีโคเลสเตอรอลฝังตัวดังที่กล่าว จนถึงขนาดทำให้เกิดเป็นโรคหัวใจโคโรนารีได้นั้น  โดยสันนิษฐานมีมากมายหลายประการด้วยกัน  สาเหตุบางอันก็รู้ชัดเจนและมีความสำคัญมาก บางอันไม่รู้ชัดและมีความสำคัญน้อย

๑.  อายุมาก  เมื่อคนเรามีอายุมากขึ้นก็จะมีภาวะหลอดเลือดแข็ง และมีโคเลสเตอรอลฝังมากขึ้น ๆ เป็นเงาตามตัว อันนี้เป็นสาเหตุที่หลีกเลี่ยงแก้ไขไม่ได้ที่จะไม่ให้อายุมากขึ้น การเกิดหลอดเลือดแข็งตามอายุที่มากขึ้นนี้ อธิบายได้ว่า ในระหว่างระยะเวลาหลาย ๆสิบปี ย่อมเกิดมีภาวะเครียดหรือกระทบกระเทือนขึ้นต่อระบบหลอดเลือดของร่างกายเป็นประจำซ้ำ ๆ ซาก ๆ อยู่ตลอดเวลา ทำให้เกิดหลอดเลือดแข็งขึ้นทีละน้อย ๆ

๒.  ภาวะไขมันในเลือดสูง อันนี้เป็นเหตุที่สำคัญที่สุดอันหนึ่ง วัตถุไขมันมีหลายชนิดด้วยกัน ชนิดที่สำคัญที่สุดและถือว่าเป็นเหตุของโรคหัวใจโคโรนารีคือ โคเลสเตอรอล  นอกจากนี้ก็มีชนิดอื่นอีกที่มีความสำคัญน้อยกว่า โคเลสเตอรอลจะสูงขึ้นในเลือดได้หลายวิธี แต่ที่พบบ่อยก็คือ การกินอาหารพวกไขมันมากเราคงเคยได้ยินคำที่มีผู้พูดบ่อย ๆ ว่า อยู่ดี กินดี มีสุข การกินดีนั้นอาจจะไม่ได้ช่วยให้คนมีอายุยืนยาวเสมอไป  การกินดีโดยไม่คำนึงถึงชนิดของอาหารหรือการกินไขมันมาก ๆ เป็นประจำนั้นน่าจะเรียกได้ว่าเป็น การฆ่าตัวตายแบบผ่อนส่ง เหมือนกันกับการสูบเฮโรอีน หรืออาจจะร้ายกว่าเฮโรอีนในบางกรณีเสียด้วย  การติดเฮโรอีนยังมีโอกาสจะหายได้ แต่การเกิดโรคหัวใจโคโรนารีไม่มีโอกาสรักษาให้หายได้เลย อาหารพวกไขมันที่กินอยู่ทุกวันนี้ไม่ได้มีคุณค่าต่อร่างกายทุกระยะของอายุ  จริงอยู่ที่มีคุณอนันต์ในระยะเริ่มต้นของชีวิต  ก็เพราะว่ามีไขมันชนิดจำเป็นต่อชีวิตบางอย่างที่ร่างกายต้องการเพื่อการเจริญเติบโต ในระยะนั้นของชีวิตคนเรา จะกินอาหารไขมันมากน้อยสักเท่าใด  ก็จะไม่กระทบกระเทือนต่อชีวิต  แต่ครั้นเมื่ออายุมากขึ้น ๆ อาหารพวกไขมันจะเริ่มมีอันตรายต่อระบบหลอดเลือดอย่างที่กล่าวแล้ว คือทำให้หลอดเลือดโคโรนารีแข็งและเกิดเป็นโรคหัวใจโคโรนารีขึ้น กล่าวกันว่า  ถ้าเรากลัวไม่อยากจะเป็นโรคหัวใจโคโรนารี ก็พึงเลิกกินอาหารไขมันเสียแต่เมื่ออายุยังไม่มากเกินไป บางคนมีความเห็นว่าควรจะเริ่มเมื่อมีอายุพ้นวัยกลางคนคือย่างเข้าสี่สิบปี  ถ้าจะเริ่มอดอาหารไขมันเมื่ออายุ ๔๐ ปีบางทีอาจจะสายไปก็ได้  มีเหตุผลที่แสดงว่าถ้าจะให้ดีจริง การงดอาหารไขมันควรจะเริ่มเร็วกว่านี้ เหตุผลอันแรกคือ มีผู้ป่วยเป็นโรคหัวใจโคโรนารีขณะอายุน้อยกว่า ๔๐ ปีเป็นจำนวนมิใช่น้อย นี่ก็แสดงว่ากระบวนการของหลอดเลือดแข็ง ได้ก่อตัวเนื่องกันมาล่วงหน้าไม่ทราบว่ากี่ปีแล้ว เหตุผลอันที่สองก็คือ การมีหลอดเลือดแข็งอาจจะเกิดขึ้นแม้ในคนอายุประมาณ ๒๐ ปีได้บ่อย ๆ โดยที่ยังไม่เกิดอาการของโรคหัวใจเลย ความจริงอันหลังนี้ได้จากการตรวจพบอุบัติการหลอดเลือดแข็งในทหารอเมริกันที่เสียชีวิตในสงครามเกาหลีที่แล้วมา และได้พบว่ามีจำนวนทหารอายุประมาณที่ว่านี้ มีการเปลี่ยนแปลงของหลอดเลือดโคโรนารีเป็นจำนวนไม่ใช่น้อยทีเดียว เหตุผลทั้งสองประการนี้ทำให้เราเห็นได้ว่า การป้องกันหลอดเลือดแข็งอาจจะต้องเริ่มต้นเนิ่นกว่าที่เราคิดแต่เดิม การเริ่มป้องกันแต่เนิ่น ๆ นั้นอาจปฏิบัติได้ยาก เพราะเนื่องจากเหตุผลทางสังคมและเศรษฐกิจ อย่างไรก็ตามอันนี้ขึ้นอยู่กับความเห็นและการปฏิบัติของแต่ละคน ๆไป ทางที่ดีที่สุดควรจะเริ่มเสียตั้งแต่เมืออายุท่านยังไม่แก่ไป หรือเริ่มทันทีในเมื่อท่านเริ่มรู้สึกกลัว และไม่อยากเป็นโรคนี้ขึ้นมาเมื่อไร ไม่ใช่มาเริ่มเอาตอนที่ท่านเริ่มป่วย มีอาการของโรคหัวใจขึ้นมาแล้ว เพราะในตอนนี้มันสายเกินไปกว่าจะแก้ไขอะไรได้

อาหารประเภทที่มีไขมันและโคเลสเตอรอลในปริมาณมาก ได้แก่ มันของสัตว์ น้ำมันสัตว์ เนย นม ซึ่งมีไขมันปน ยังไม่ได้แยกเอาออก ไข่แดง เครื่องในสัตว์ เช่น ตับอ่อน ตับ สมอง หอยบางชนิด เช่น หอยนางรม เป็นต้น  นอกจากนี้ก็มีของที่แปลกอย่างหนึ่งคือ กะทิ และ น้ำมันมะพร้าว ซึ่งเป็นน้ำมันจากพืช อันนี้เป็นไขมันที่อิ่มตัวเช่นเดียวกับไขมันสัตว์ ไขมันสัตว์ต่าง ๆที่กล่าวแล้วข้างบน เมื่อถูกกินเข้าไปในร่างกายแล้ว ก็จะมีการเปลี่ยนแปลงเป็นขั้น ๆ ต่อไปจนกลายเป็นโคเลสเตอรอลด้วยเหมือนกัน

การอดอาหารไขมัน ถ้าจะให้ได้ผลดีจริง ควรจะทำ โดยสม่ำเสมอตลอดเวลา การที่กินอาหารไขมันเป็นครั้งเป็นคราวอาจจะไม่ปลอดภัยจากการมีไขมันในเลือดสูง  ยกตัวอย่างเช่นพวกที่มีความโน้มเอียง ในทางนี้ และอดอาหารไขมันอยู่ เกิดมีความจำเป็นต้องไปกินเลี้ยงเป็นบางครั้งบางคราว  ทุกครั้งที่กินไขมันเข้าไปจะพบว่าระดับไขมันในเลือดสูงขึ้น  และแม้จะค่อย ๆ ลดลงเองก็ต้องกินเวลา ๓-๔ วัน  จนกว่าจะถึงระดับปกติของตนเมื่อก่อนไม่ได้กินไขมัน  ฉะนั้นการกินไขมันเป็นบางวันในลักษณะเช่นนี้ จึงมีผลต่อไขมันในเลือดไม่ต่างเท่าใดกับผู้ที่ไม่ได้ควบคุมอาหารเลย

การมีปริมาณไขมัน โดยเฉพาะที่มีโคเลสเตอรอลในเลือดสูงนั้น  ถ้าปริมาณที่ว่านี้ยิ่งสูงมากเพียงใด  โอกาสที่อาจจะเกิดโรคหัวใจโคโรนารีจะยิ่งมากตามขึ้นไป มีตัวอย่างเป็นตัวเลข เช่น ถ้ามีโคเลสเตอรอลเลือด (ซีรั่ม)สูงเพียง ๑๓๐ มก℅ จะมีโอกาสเป็นโรคนี้เพียง ๒๙℅ แต่ถ้าหากโคเลสเตอรอลในเลือดสูงขึ้นไปเป็น ๓๗๐มก℅  โอกาสที่จะเป็นโรคนี้จะกลายเป็น ๙๕℅

นอกจากนี้มียาบางอย่างซึ่งมีผู้ใช้เพื่อหวังที่จะลดปริมาณไขมันและโคเลสเตอรอลในเลือด  บางชนิดนั้นออกฤทธิ์อย่างใดไม่เป็นที่ทราบแน่นอน บางชนิดกล่าวว่าออกฤทธิ์ลดไขมันโดยวิธีการสะกัดกั้นการสังเคราะห์โคเลสเตอรอลภายในร่างกาย  โคเลสเตอรอลไม่ได้มากจากอาหารที่เรากินแต่อย่างเดียวเท่านั้น แต่อาจได้มาจากการแปรสภาพของไขมันหรือวัตถุธาตุอื่นภายในร่างกายของเราเอง  แล้วกลายเป็นโคเลสเตอรอลในขั้นหลัง ๆ ได้อีกด้วย  ในบางคนโคเลสเตอรอลในเลือดอาจสูงได้มาก ๆ ทั้ง ๆที่ไม่ได้กินไขมันหรือโคเลสเตอรอลเข้าไปมากมายแต่อย่างใด  ฉะนั้นยาพวกหลังนี้อาจมีคุณภาพดีโดยเฉพาะในคนประเภทหลังที่กล่าวนี้

มีอีกวิธีหนึ่งเป็นวิธีง่าย ๆ และช่วยลดไขมันในเลือดก็คือ การกินวัตถุซึ่งเป็นไขมันชนิดที่ไม่อิ่มตัว  ได้แก่น้ำมันพืชทุกชนิดยกเว้นน้ำมันมะพร้าวและกะทิ (ซึ่งเป็นไขมันชนิดอิ่มตัว) ในปัจจุบันมีคนนิยมกินน้ำมันพืชแทนน้ำมันสัตว์ เหตุผลอันแรกคือเพื่อใช้แทนน้ำมันสัตว์ ซึ่งไม่ปลอดภัยต่อสุขภาพ หรือไม่ก็เพราะน้ำมันสัตว์มีกลิ่นรสที่ไม่เป็นที่ชอบใจอย่างน้ำมันพืช น้ำมันพืชได้จากรำ เมล็ดบัว ถั่วทุกชนิด ข้าวโพด ดอกไม้เช่น ดอกคำฝอย เมล็ดนุ่นก็มีผู้นำเอามาสกัดทำเป็นน้ำมันเหมือนกัน  ทั้งนี้ต้องไม่นับรวมน้ำมันมะพร้าวและกะทิ  น้ำมันพืชเหล่านี้ถ้าไม่ใช่น้ำมันมะพร้าว หรือไม่มีน้ำมันมะพร้าวเจือปนก็ดีทั้งนั้น อันไหนจะดีกว่ากันบอกได้ยาก  ขึ้นอยู่กับการปรุงหรือการเจือปน เหตุผลอันที่สองที่คนเหล่านี้นิยมใช้น้ำมันพืชบริโภค ก็เพราะน้ำมันพืชมีคุณภาพจับรวมตัวเข้ากับโคเลสเตอรอล แล้วก็กลายเป็น โคเลสเตอรอลเอสเตอร์  และขับออกเป็นน้ำดีออกทางลำไส้  การใช้น้ำมันพืชจึงมิใช่แต่เพียงหวังจะแทนการใช้น้ำมันสัตว์เท่านั้น  แต่เป็นสารวัตถุที่ใช้ลดไขมันในเลือดด้วย  แม้การกินน้ำมันพืชเปล่า ๆ เป็นประจำวันละ ๔-๕ ช้อนโต๊ะเพื่อลดไขมัน ก็เคยมีผู้อ้างว่า สามารถลดไขมันในเลือดได้

๓.  การสูบบุหรี่(ซึ่งมีนิโคติน) เป็นสาเหตุสำคัญอีกอย่างที่ทำให้ไขมันและโคเลสเตอรอลในเลือดสูงขึ้น  แต่เดิมเรายังไม่ทราบว่านิโคตินจะเป็นต้นเหตุอันนี้ ทราบแต่เพียงว่า มันทำให้เกิดอาการเจ็บหน้าอกในคนที่หลอดเลือดโคโรนารีตีบอยู่บ้างแล้ว แต่ปัจจุบันได้ทราบกันแน่นอนว่า การสูบบุหรี่เป็นการกระตุ้นทำให้ปริมาณโคเลสเตอรอลสูงขึ้นในเลือดอีกด้วย  นอกจากนี้คนที่ไม่สูบบุหรี่หรือเคยสูบแต่เลิกเสียนั้น มีอัตราการตายด้วยโรคหัวใจต่ำกว่าพวกที่สูบบุหรี่เป็นประจำอย่างแน่นอน

สาเหตุอื่น ๆ ที่มีความสำคัญเกี่ยวกับโรคหัวใจโคโรนารีน้อยหรือมีความสัมพันธ์โดยไม่ค่อยชัดเจนกับโรคนี้ ได้แก่

๔.  แรงดันเลือดสูง  มีความสัมพันธ์กับภาวะหลอดเลือดแข็งได้เหมือนกัน  ทั้งที่เราทราบความสำคัญของมันเกี่ยวเรื่องนี้ แต่จนบัดนี้ก็ยังไม่ทราบกลไกที่แน่นอนว่าเป็นไปโดยลักษณะใด อย่างไรก็ตามความสัมพันธ์ของแรงดันสูงกับโรคหัวใจนี้ยังไม่เป็นที่แน่นอนหรือรับรองทั่วไปว่า  มีความสำคัญเพียงพอในเชิงสถิติหรือไม่

๕.  โรคเบาหวาน  เป็นที่ทราบกันดีกว่า ภาวะหลอดเลือดแข็งจะเกิดขึ้นเสมอในคนที่เป็นเบาหวาน  ถ้าผู้ใดเป็นเบาหวานแต่อายุน้อย  ก็จะเกิดภาวะหลอดเลือดแข็งขึ้นตั้งแต่อายุน้อยเหมือนกัน  ฉะนั้นอาจทำให้เกิดโรคหัวใจโคโรนารีได้บ่อยกว่าผู้อื่น

นอกจากนี้ ก็มีสาเหตุที่มีความสำคัญรองลงไปอีกหลายอย่าง เช่น ความอ้วน  หรืออีกนัยหนึ่งการมีน้ำหนักตัวเกิน ความเคร่งเครียดทางอารมณ์ อยู่เป็นประจำ(ในต่างประเทศอ้างว่า ปริมาณของโคเลสเตอรอลมักสูงเพิ่มขึ้นในระยะตระเตรียม ส่งรายการภาษีเงินได้แก่รัฐบาล) ผู้หญิงในวัยหมดประจำเดือน การมีปริมาณโคเลสเตอรอลในเลือดขึ้นสูงชนิดเป็นกรรมพันธุ์ เป็นต้น

เมื่อพิจารณาถึงสาเหตุของภาวะหลอดเลือดแข็งและโคเลสเตอรอลในเลือดสูงแล้ว  จะเห็นว่าเหตุสำคัญที่สุดมีเพียงไม่กี่อย่างและล้วนแล้วแต่เป็นสาเหตุที่หลีกเลี่ยงหรือป้องกันได้ง่ายดายทั้งสิ้น  การเรียนรู้ถึงสาเหตุป้องกันโดยถูกต้อง  นอกจากจะหลีกเลี่ยงมิให้เกิดภาวะหลอดเลือดแข็งขึ้นแล้ว ยิ่งไปกว่านั้นยังสามารถทำให้หลอดเลือดซึ่งแข็งล่วงหน้ามาแล้วก่อนหน้านี้ มีการเปลี่ยนแปลงดีขึ้นเข้าสู่สภาพปกติได้อีกด้วย  แต่ว่าการเปลี่ยนแปลงของหลอดเลือดเหล่านั้น จะต้องไม่มีมากเกินไปจนแก้ไขไม่ได้ ความจริงอันนี้สนับสนุนได้จากการทดลองในสัตว์ โดยเอาสัตว์มาเลี้ยงโดยวิธีการพิเศษ ทำให้เกิดภาวะหลอดเลือดแข็งก่อนต่อมาเลี้ยงด้วยอาหารที่ไม่มีไขมันเจือปนเลย  หลังจากนั้นก็ตรวจซากสัตว์และพบว่า ภาวะหลอดเลือดแข็งแต่เดิมนั้นได้มีปริมาณลดน้อยลงอย่างเป็นที่น่าพอใจ

ผู้เขียนต้องของดกล่าวถึงการปฏิบัติตัวในผู้ป่วยที่เป็นโรคหัวใจวายไว้ ณ ที่นี้  ทั้งนี้มิใช่เพียงเพราะว่านั่นเป็นหน้าที่ของแพทย์ที่จะต้องแนะนำ หรือรักษาให้แก่ผู้ป่วยเหล่านี้เท่านั้น ข้อสำคัญที่สุดก็คือ ในเมื่อผู้ใดเกิดอาการของโรคนี้ขึ้นมาแล้ว ไม่ว่าจะเป็นมากหรือน้อย  หรือเกิดขึ้นที่ส่วนใดของหัวใจ ก็ย่อมมีพยากรณ์โรคไม่เหมือนกันทั้งสิ้นทุกคน และบอกไม่ได้ว่าจะเกิดมีอันตรายรุนแรงขึ้นเมื่อใดหรืออย่างใด  ที่แน่นอนคือเมื่อเกิดมีอาการโรคขึ้นแล้ว อายุย่อมจะไม่ยืนยาวต่อไปแน่นอน บางสถาบันในสหรัฐอเมริกาได้ให้พยากรณ์โรคเฉลี่ยไว้ว่า เมื่อเกิดมีอาการโรคขึ้นแล้ว  ย่อมจะมีอายุยืนยาวต่อไปได้อีกประมาณ ๕-๖ ปี นี่ก็เป็นเพียงตัวเลขเฉลี่ย และอาจจะไม่จริงเสมอสำหรับทุกคนไป

        เพราะฉะนั้น เราจะมองเห็นในตอนนี้ได้ว่า ความสำคัญของโรคนี้อยู่ที่การป้องกันล่วงหน้า มิใช่อยู่ที่การรักษาปฏิบัติในเมื่อเกิดอาการของโรคนี้แล้ว  เพราะการรักษาเมื่อเกิดอาการขึ้นแล้วย่อมมีผลน้อย หรือไม่ได้ทำให้มีการเปลี่ยนแปลงความเป็นไปของโรคเท่าใดนัก การป้องกันโรคนั้นเมื่อพิจารณาดูแล้วทำได้ง่าย เสียแต่ที่ต้องทำด้วยความอุตสาหะวิริยะ  และต้องกินเวลาอันยาวนานตลอดชีวิต  ซึ่งไม่ใช่เป็นการที่จะทำได้ง่ายดายทุกคนไป  ถ้าหากท่านคิดว่าท่านไม่อยากจะเป็นโรคนี้ และคิดว่าสามารถจะทำการป้องกันตัวของท่านเองได้ ท่านจะไม่เริ่มต้นเสียตั้งแต่วันนี้หรือ?

ศจ.น.พ.สุเอ็ด  คชเสนี

,

↑ กลับสู่ส่วนบนของหน้า