สำหรับผู้ใส่ใจในการรักษาสุขภาพ ทั้งสุขภาพกาย และสุขภาพจิต

โรคพยาธิใบไม้ในเลือด (Schistosomiasis)

โรคพยาธิใบไม้ในเลือด นับเป็นโรคติดต่อที่สำคัญโรคหนึ่ง ซึ่งก่อให้เกิดปัญหาทางด้านสาธารณสุขและเศรษฐกิจของประชากรโลกมาแล้วหลายประเทศองค์การอนามัยโลกได้จัดให้โรคนี้ เป็นโรคติดต่อในเขตร้อนที่มีความสำคัญเป็นที่สองรองจากโรคมาลาเรีย

ปัจจุบันประชากรทั้งหมดในโลกคาดว่าเป็นโรคพยาธิใบไม้ในเลือดประมาณ 200 ล้านคน สำหรับประเทศไทยโรคนี้มีระบาดไม่มากนัก และไม่น่าจะเป็นปัญหาสาธารณสุขของประเทศ แต่การอพยพของผู้ลี้ภัยในอินโดจีนเข้าสู่ประเทศไทยอาจเกิดระบาดของโรคนี้ได้

เชื้อที่ทำให้เกิดโรค พยาธิใบไม้ในเลือดที่ทำให้เกิดโรคในคน ที่สำคัญมีอยู่ 3 ชนิด คือ

1.ซิสโทโซมา จาพอนิคุม (Schistosoma japonicum) พบทางแถบตะวันออกของโลก เช่น จีน ญี่ปุ่น ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย นอกจากนั้นยังมีรายงานว่าพบโรคพยาธิใบไม้ในเลือด ในลาว เขมร มาเลเซีย ไทย สำหรับประเทศไทยมีเฉพาะในบางท้องถิ่นเท่านั้น

2.ชิสโทโซมา ฮีมาโตเบียม (Schistosoma haematobium) พบมากในแถบอาฟริกา เอเชียตะวันตกเฉียงใต้ และมีเล็กน้อยเป็นบางท้องที่ในประเทศอินเดีย

3.ชิสโทโซมา แมนโซนิ (Schistosoma mansoni) พบในอาฟริกา อิสราเอล เยเมน ซาอุดิอาระเปีย สาธารณรัฐโดมินิแกน ปาทอริโก เวเนซุเอลลา และเซนต์ลูเซีย เป็นต้น

แหล่งของโรค ได้แก่มนุษย์หรือผู้ที่มีหนอนพยาธิอาศัยอยู่ในร่างกาย และในหอยที่เป็นพาหะของโรค ปกติไม่พบหอยที่เป็นพาหะของโรคในประเทศไทย แต่ในปัจจุบันมีรายงานว่า พบหอย Trichuraaperla ซึ่งเป็นพาหะนำโรคนี้ในแม่น้ำมูล จังหวัดอุบลราชธานี

การติดต่อ ระยะติดต่อ วงจรชีวิต

ตัวแก่ของพยาธิใบไม้ในเลือดอาศัยอยู่ในหลอดเลือดดำของสำไส้หรือกระเพาะปัสสาวะ หลังจากผสมพันธุ์กันแล้ว ไข่ซึ่งตัวอ่อนในระยะแรกอาศัยอยู่ในไมราซิเดียม (Miracidium) จะถูกการบีบตัวของหลอดเลือดดำที่ผนังของลำไส้ ทำให้ไข่ในไมราซิเดียมซึ่งมีลักษณะเป็นตุ่มหนามออกมาฝังตัวอยู่ที่เนื้อเยื่อของผนังลำไส้และบางครั้งจะทะลุหรือหลุดออกมาสู่ภายในลำไส้ ปนออกมากับอุจจาระของผู้ป่วย

เมื่อไข่ไปสู่แหล่งน้ำ ตัวอ่อนในไมราซิเดียมจะฟักตัวออกมาว่ายอยู่ในน้ำ และไชเข้าไปอาศัยอยู่ในหอยซึ่งเป็นโฮสต์กึ่งกลาง (inermediate host) และเจริญเติบโตเป็น สปอโรซิสต์ (sporocyst) จนในที่สุดเจริญเป็นเซอร์คาเรีย (cercaria) ซึ่งเป็นระยะติดต่อพยาธิใบไม้อื่นๆ เซอร์คาเรียจะออกจากโฮตส์หรือตัวกลางตัวแรกที่อาศัยอยู่ ไชเข้าไปอาศัยอยู่ในโฮสต์หรือตัวกลางตัวที่ 2 เช่น จากหอยไปอยู่ในกุ้งหรือปลา แล้วเจริญเป็นเมตาเซอร์คาเรีย (metacercaria) จึงจะเป็นระยะติดต่อ เมื่อคนนำกุ้งหรือปลามากินดิบ ๆ จึงได้รับตัวอ่อนของหนอนพยาธิใบไม้เข้าสู่ร่างกาย

แต่พยาธิใบไม้ในเลือด เมื่อตัวอ่อนเจริญเป็นเซอร์คาเรีย (cercaria) สามารถเป็นระยะติดต่อได้เลย โดยไชออกจากหอยและว่ายอยู่ในน้ำ ผู้ที่ลงไปอยู่ในน้ำจะถูกเซอร์คาเรียไชเข้าไป อาศัยอยู่ในร่างกายแล้วไปเจริญเติบโตเป็นตัวแก่ในหลอดเลือดดำของอวัยวะต่างๆ ผสมพันธุ์ และออกไข่เป็นวัฏจักรดังกล่าวมาแล้ว

ระยะฟักตัว ตั้งแต่เป็นไมราซิเดียมจนเป็นระยะติดต่อหรือเซอร์คาเรีย ใช้เวลาประมาณ 45 วัน ระยะตั้งแต่ไชเข้าไปสู่ผิวหนังไปอาศัยในหลอดเลือดดำจนกลายเป็นตัวแก่ผสมพันธุ์และออกไข่ปนออกมากับอุจจาระของผู้ป่วย ใช้เวลาประมาณ 43-49 วัน

ระยะติดต่อ ตลอดเวลาที่มีหนอนพยาธิใบไม้ในเลือดอาศัยอยู่ในร่างกาย

อาการ

ในระยะที่ตัวอ่อนของหนอนพยาธิไชเข้าสู่ผิวหนัง ผู้ป่วยจะมีอาการคันเป็นผื่นแดง เป็นตุ่มที่ผิวหนัง อาจติดเชื้อแบคทีเรีย ซึ่งอาการดังกล่าวจะเกิดภายใน 12-36 ชั่วโมง เมื่อไข่ของตัวแก่ที่ออกมากับอุจจาระหรือติดตามผนังลำไส้กระเพาะปัสสาวะเข้าไปติดอยู่ในตับหรืออวัยวะอื่นๆ จะทำให้เกิดการระคายเคือง ในรายที่เป็นมากๆ ทำให้เกิดเป็นก้อนเนื้อในอวัยวะต่างๆ ผู้ป่วยจะมีอาการตับและม้ามโต ถ่ายเป็นมูกเลือด

อาการโดยทั่วไปผู้ป่วยมักจะจุกแน่นยอดอก มีอาการไอเล็กน้อย มีไข้ตอนบ่าย เกิดลมพิษบ่อยๆ บางรายเกิดภาวะขาดอาหารร่วมด้วย ตับและม้ามโต ต่อมาอาจเกิดตับแข็ง มีน้ำในช่องท้อง ผู้ป่วยมักอ่อนเพลีย เหนื่อยง่าย ในรายที่มีอาการรุนแรงอาจเสียชีวิตได้

การตรวจหาเชื้อและวินิจฉัยโรค ดูจากอาการทดสอบทางผิวหนัง ทดสอบทางน้ำเหลือง ตรวจอุจจาระ

การรักษาและควบคุมป้องกันโรค เช่นเดียวกับพยาธิใบไม้และพยาธิชนิดอื่นๆ ดัง กล่าวมาแล้ว

1.ไม่ควรลงอาบน้ำหรือแช่น้ำในลำธารหรือห้วย           หนอง บึง ที่มีหอยซึ่งเป็นแหล่งอาศัยของตัวอ่อนหนอนพยาธิ เพราะอาจถูกตัวอ่อนไชเข้าสู่ร่างกายทางผิวหนัง โดยเฉพาะในบริเวณที่มีการระบาดของโรคควรระมัดระวังเป็นพิเศษ และควรป้องกันไม่ให้สัตว์เลี้ยงลงสู่แหล่งน้ำดัง กล่าวด้วย (ซึ่งในทางปฏิบัติค่อนข้างทำได้ยาก)

2.กำจัดหรือควบคุมหอยที่เป็นตัวกลางนำโรค   ด้วยวิธีต่างๆ เช่นการใช้สารเคมี การควบคุมโดยใช้ชีววิธีหรือการเปลี่ยนแปลงสภาวะแวดล้อมไมให้เหมาะแก่การเจริญเติบโตต่อไป

สำหรับผู้ที่เป็นโรคพยาธิควรกินยาถ่ายพยาธิ เพื่อจะได้ไม่แพร่เชื้อติดต่อไปสู่ผู้อื่น ยาที่นิยมใช้รักษาโรคพยาธิใบไม้ในเลือดมีหลายชนิด แต่ที่ใช้มากที่สุดคือ

1.ปราชิควอนเตล(Praziquantel มีผลต่อพยาธิ Schistosoma ทุกชนิด)

2.เมไตรฟอเนท (Metrifonate มีผลต่อพยาธิ Schistosoma haematobium)

3.อ็อกซามิควิน (Oxamiquine มีผลต่อพยาธิ Schistosoma mansoni)

↑ กลับสู่ส่วนบนของหน้า