สำหรับผู้ใส่ใจในการรักษาสุขภาพ ทั้งสุขภาพกาย และสุขภาพจิต

โรคพยาธิใบไม้ในปอด (Paragonimiasis)

โรคพยาธิใบไม้ในปอด พบได้ในประเทศแถบภูมิภาคเขตร้อนในทวีปเอเชีย เช่น ไทย จีน ญี่ปุ่น เกาหลี อินโดนีเซีย นอกจากนั้นยังมีรายงานพบในทวีปอาฟริกา และทวีปอเมริกาใต้

ในประเทศไทยพบในจังหวัดสระบุรี นครนายก และเชียงราย เนื่องจากภูมิประเทศเป็น ภูเขาและท้องนา ชาวบ้านนิยมจับปูนาและปูภูเขาบริโภคดิบๆ บางรายเอามาดองน้ำส้มหรือ น้ำปลาเพียงคืนเดียวแล้วรับประทาน ทำให้ได้รับตัวอ่อนของพยาธิใบไม้ในปอดเข้าสู่ร่างกาย

เชื้อที่ทำให้เกิดโรค พยาธิใบไม้ในปอด เป็นพยาธิใบไม้ที่มีรูปร่างป้อมและตัวหนามาก ยาว 8 มม. กว้าง 5 มม. และหนา 3 มม. มีประมาณ 30 ชนิด ชนิดที่พบในเมืองไทยคือ พาราโกนิมัส เวสเทอร์มาไน (Paragonimus westermani) ซึ่งเป็นชนิดที่สำคัญที่สุดที่พบในคน ตัวแก่ของพยาธิจะอาศัยอยู่ในปอดของคน ให้ไข่ออกมาพร้อมกับเสมหะ ในผู้ป่วยบางรายอาจกลืนเสมหะลงไปทำให้ไข่ออกมากับอุจจาระ

แหล่งของโรค ได้แก่มนุษย์หรือผู้ที่มีหนอนพยาธิอาศัยอยู่ในร่างกาย รวมทั้งสัตว์อีกหลายชนิด เช่น สุกร สุนัข แมว และสัตว์ป่าจำพวกกินเนื้อ เช่น เสือ หนู พังพอน เป็นต้น นอกจากนั้นยังรวมถึงตัวอ่อนของพยาธิที่อยู่ในหอย ในกุ้งหรือปูน้ำจืด

การติดต่อ ระยะติดต่อ วงจรชีวิต

ตัวแก่ของพยาธิใบไม้ในปอดอาศัยอยู่ในปอดของมนุษย์หรือสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม เช่น เสือ พังพอน ส่วนมากตัวแก่จะอยู่ด้วยกันเป็นคู่โดยหันทางด้านท้อง (Ventral) เข้าหากัน เมื่อตัวแก่ออกไข่ ไข่จะแตกจากถุงหุ้มออก มาพร้อมกับเสมหะผู้ป่วยด้วยโรคพยาธิชนิดนี้ บางรายอาจกลืนเสมหะลงไปทำให้ไข่ออกมากับอุจจาระ และไปสู่แหล่งน้ำเช่นเดียวกับการแพร่ระบาดของพยาธิชนิดอื่นๆ ภายใน 2-4 สัปดาห์  ไข่จะฟักออกมาเป็นไมราซิเดียม (Miracidium) แล้วไชเข้าไปเจริญเติบโตในหอยซึ่งเป็นโฮสต์ (host) หรือตัวกลางตัวที่หนึ่งนาน 10 สัปดาห์ ไมราซิเดียมจะเจริญเป็นสปอร์โรซิสต์ (sporocyst) เรเดีย (redia) และเซอร์คาเรีย (cercaria) ตามลำดับ ซึ่งไมซิเดียมจะมีการเพิ่มจำนวนเซอร์คาเรียออกมาได้มากมาย

เซอร์คาเรียจะออกจากหอยเข้าสู่กุ้งหรือปูน้ำจืด เช่น ปูนา ปูภูเขา เจริญเติบโตเป็นเมตา เซอร์คาเรีย (metacercaria) หรือตัวอ่อนในระยะติดต่อ ตั้งแต่ไมราซิเดียมไชเข้าไปอาศัยอยู่ในหอยจนถึงการเพิ่มจำนวนเป็นเซอร์คาเรียออกมาใช้เวลาประมาณ 13 สัปดาห์ ซึ่งเซอร์คาเรีย จะว่ายอยู่ในน้ำได้นาน 24-48 ชั่วโมงก็จะตาย แต่ถ้าพบสัตว์น้ำจืดก็จะสร้างซิสต์ (cyst) หรือถุง หุ้มตัว กลายเป็นเมตาเซอร์คาเรียอยู่ที่เหงือก ขา กล้ามเนื้อและอวัยวะภายในของปูและกุ้งน้ำจืด เมื่อคนหรือสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมกินปูหรือกุ้งเหล่านี้ เมทาเซอร์คาเรียที่ถูกกินเข้าไปถึงลำไส้เล็กส่วนดูโอดินัมจะถูกย่อยออกจากซิสต์ไชผ่านผนังลำไส้เข้าไปในช่องท้อง ซึ่งตัวอ่อนของพยาธิจะเดินทางผ่านกะบังลม ผ่านเยื่อหุ้มปอดเข้าไปเจริญเติบโตเป็นตัวแก่ในปอดซึ่งใช้เวลาประมาณ 5-6 สัปดาห์ ก่อนจะเดินทางถึงปอด หนอนพยาธิอาจหลงเข้าไปในตับหรืออวัยวะอื่นๆ เช่น ไปติดอยู่ตามผิวหนัง ในสมองและลูกตา จึงอาจพบหนอนพยาธิที่ชั้นผิวหนังหรือใต้ผิวหนัง ได้ทั่วทั้งตัว รวมทั้งที่ผนังหน้าท้อง ที่คอและตะโพก

เมื่อตัวแก่ผสมพันธุ์กันและออกไข่ ไข่อาจปะปนออกมากับเสมหะ หรือถูกกลืนลงไป เมื่อผู้ป่วยบ้วนเสมหะหรือถ่ายอุจจาระในที่สาธารณะ ไข่พยาธิอาจไปสู่แหล่งน้ำ แล้วฟักตัวซึ่งตัวอ่อนของพยาธิจะว่ายไปอาศัยอยู่ในหอยเป็นวัฏจักรดังกล่าวมาแล้ว

ระยะฟักตัวของโรค นับตั้งแต่พยาธิเข้าสู่ร่างกายจนกลายเป็นตัวแก่ผสมพันธุ์และออกไข่ กินเวลาประมาณ 6 สัปดาห์

ระยะติดต่อ ตราบเท่าที่ผู้ป่วยมีตัวแก่ของพยาธิอยู่ในปอด ผสมพันธุ์และออกไข่ บางรายกินเวลานานกว่า 20 ปี แต่โรคนี้ไม่ติดต่อจากมนุษย์ไปสู่มนุษย์โดยตรง ติดต่อโดยอาศัยโฮสต์หรือสัตว์ตัวกลางเช่น หอย ปูและกุ้ง

ความไวรับและความต้านทานโรค ทุกคนมีโอกาสเป็นโรคนี้ได้ ความต้านทาน โรคเกิดขึ้นได้กับคนที่เคยเป็นโรคนี้

 อาการ

โดยทั่วไปผู้ป่วยจะอาการคล้ายเป็นวัณโรคของปอด คือ มีอาการไอ โดยเริ่มจากไอเล็ก น้อยจนกลายเป็นเรื้อรัง ในระยะแรกผู้ป่วยจะไอมากในตอนเช้า เสมหะมีลักษณะเหนียวสีขาวข้น  ต่อมาจะกลายเป็นสีเขียวมากขึ้น ในที่สุดจะมีโลหิตปนออกมากับเสมหะ ถ้าอาการรุนแรงมากจะไอออกมาเป็นโลหิตสด ๆ หรือพบพยาธิออกมากับเสมหะ ในรายที่ทำงานหนักผู้ป่วยจะรู้สึกเจ็บหน้าอก หากหนอนพยาธิเข้าไปในสมองจะมีอาการคล้ายผู้ที่เป็นเนื้องอกในสมองหรือมีอาการชัก แบบเป็นลมบ้าหมู สายตาจะเห็นผิดปกติไป ถ้าหนอนพยาธิอยู่บริเวณใต้ผิวหนังจะทำให้มี อาการบวมเคลื่อนที่คล้ายกับเป็นโรคพยาธิตัวจี๊ด

การตรวจหาเชื้อและวินิจฉัยโรค ตรวจจากอาการที่คล้ายกับผู้เป็นวัณโรคปอด ตรวจหาไข่พยาธิในเสมหะและในอุจจาระ หรือตรวจโดยการเอ็กซเรย์ในระยะที่หนอนพยาธิ เข้าไปในปอด

การรักษาและควบคุมป้องกันโรค

เหมือนโรคหนอนพยาธิไส้เดือนและพยาธิใบไม้ในตับ

1.ควรกำจัดเสมหะของผู้ป่วยให้ถูกวิธี เช่นถ่ายอุจจาระลงในส้วมหรือฝังให้ลึกไม่บ้วนเสมหะลงในที่สาธารณะหรือแม่น้ำลำคลอง เพื่อไม่ให้ไข่พยาธิฟักออกมาเป็นตัวอ่อนได้

2.กำจัดสัตว์ที่เป็นตัวกลางนำโรค เช่น หอย หรือสัตว์ที่แหล่งกักตุนโรค เช่น หนู พังพอน แต่ในทางปฏิบัติค่อนข้างเป็นไปได้ยาก

3.ไม่รับประทานปูดิบโดยเฉพาะปูนา       ปูหิน (ปูน้ำตก) และปูลำห้วย รวมทั้งกุ้งน้ำจืดดิบๆ โดยเฉพาะในแหล่งที่มีโรคนี้ระบาดควรงดโดยเด็ดขาด นอกจากนี้มีดและเขียงที่ใช้สำหรับสับ หรือหั่นปูควรล้างให้สะอาด เพราะอาจมีตัวอ่อนในระยะติดต่อติดอยู่เมื่อใช้ในการสับหรือหั่นสัตว์ ที่เป็นตัวกลางนำโรค สำหรับผู้ที่เป็นโรคพยาธิควรกินยาถ่ายพยาธิ เพื่อจะได้ไม่แพร่เชื้อติดต่อไปสู่ผู้อื่น

ยาที่ใช้รักษาโรคพยาธิใบไม้ในปอด คือ

1.ไบไทโอนอล หรือ ไปดิน (Bithionol or bitin) ขาด 30-40 มก./นน.ตัว 1 กก. ให้วัน เว้นวันจำนวน 10-15 ครั้ง

2.ไปติน  บิส (Bitins bis) ขนาด 10-20 มก./นน.ตัว 1 กก. ให้วันเว้นวันจำนวน 10-15 ครั้ง

3.ฟาซิควอนเตล           (Prazlquamtel) ขนาด 25 มก./นน.ตัว 1 กก. 3 ครั้งต่อวัน เป็นเวลา 2-3 วัน

ยาที่ใช้รักษาโรคที่กล่าวมา อาจทำให้มีอาการแทรกซ้อนบ้างเล็กน้อย เช่น มีอาการท้องเดิน ปวดท้อง คลื่นไส้ อาเจียน แต่ไมร้ายแรง การใช้ควรปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกร

,

↑ กลับสู่ส่วนบนของหน้า