สำหรับผู้ใส่ใจในการรักษาสุขภาพ ทั้งสุขภาพกาย และสุขภาพจิต

โรคพยาธิตัวจี๊ด

(Gnathostomiasis)

ประวัติ

โรคพยาธิตัวจี๊ดเกิดจาก Gnathostoma spinigerum (Owen 1836) ระยะที่พบในคนอาจเป็นตัวแก่ที่ยังเจริญไม่เต็มวัยหรือเจริญเต็มวัยแล้ว ตัวจี๊ดที่พบในคนที่เจริญเป็นตัวแก่เต็มวัยส่วนมากจะเป็นตัวผู้ ตัวเมียส่วนมากพบแต่ระยะตัวอ่อนหรือเป็นตัวแก่ที่ยังไม่เจริญเต็มวัย (young adult) ( Daengsvang 1980) ส่วนโฮสต์ที่ตัวแก่ของตัวจี๊ดอาศัยอยู่ตามธรรมชาติได้แก่ สุนัข แมว และสัตว์กินเนื้อชนิดอื่นๆ ระยะติดต่อซึ่งเป็นตัวอ่อนระยะที่สามพบในสัตว์นํ้าจืด เช่น ปลาช่อน ปลาดุก งู และสัตว์ที่หากินในนํ้า พยาธิตัวจี๊ดชนิดอื่นที่พบแล้วได้แก่ G.hispidum (Fedtcheuko, 1872) ซึ่งเป็นตัวแก่ในกระเพาะของสุกร และสุกรป่า ไม่พบโรคจากพยาธิตัวนี้ในคน นอกจากรายงานของ Morishita ( 1924) และ Chen ( 1949) ซึ่ง Miyazaki ( 1960)

คาดว่าเกิดจากการวินิจฉัยผิดพลาด ส่วน G. doloresi (Tubangui 1925) เป็นตัวแก่ในกระเพาะของสุกรและสุกรป่า และ G. vietnamicum (Le- Van-Hoa, 1965) เป็นตัวแก่ในไต ท่อปัสสาวะ และกระเพาะปัสสาวะของตัวนากกินปลา พยาธิตัวจี๊ดสองตัวหลังนี้ไม่พบรายงานในคน พยาธิตัวจี๊ดทั้งสี่ชนิดนี้พบได้ในประเทศไทย และประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (Daengsvang, 1981 และ Dissarman, et al ,1966) นอกจากนั้นยังพบ G. malaysiae ในมาเลเซียจากหนู Rattus

Owen (1836) เป็นคนแรกที่ได้บรรยายและแยกว่าเป็นพยาธิ G. spinigerum นี้ครั้งแรกโดยได้จากกระเพาะเสือจากประเทศอังกฤษ ส่วนตัวแก่ได้พบก่อนหน้านี้จากอินเดีย ต่อมาพบในฟิลิปปินส์ เวียตนาม จีน ออสเตรีย สหรัฐอเมริกา มาเลเซีย ไทย และหลังจาก Owen อธิบายลักษณะแล้วยังได้พบพยาธิตัวจี๊ดนี้จากสหภาพโซเวียต ปาเลสไตน์ ญี่ปุ่น โรดิเซีย เม็กซิโก พม่า และบังคลาเทศ ตามลำดับ (Daengsvang 1980)

วงจรชีวิต

ตัวแก่ของพยาธิตัวจี๊ด (Gnathostoma) มีตำแหน่งอยู่ในโฮสต์สุดท้าย (final host หรือ definitive host) ตามที่ได้กล่าวมาแล้วในหัวข้อประวัติ ไข่ของพยาธิตัวจี๊ดออกมากับอุจจาระของโฮสต์ ลงสู่แหล่งน้ำจืด เช่น ห้วย หนอง คลองและบึง แล้วฟักตัวเป็นตัวอ่อนระยะที่หนึ่งอยู่ในไข่ที่อุณหภูมิและความชื้นพอเหมาะประมาณ 8-12 วัน ตัวอ่อนระยะที่หนึ่งจะออกจากไข่ว่ายไปในน้ำ เมื่อกุ้งไร (cyclop) ซึ่งเป็นโฮสต์กึ่งกลางตัวที่สองมากินตัวอ่อนๆ จะเจริญเติบโตในกุ้งไรเป็นตัวอ่อนระยะที่สองและสาม เมื่อโฮสต์กึ่งกลางตัวที่สอง ซึ่งได้แก่ปลาน้ำจืด กบ ปลาไหล และงู มากินกุ้งไรที่มีตัวอ่อนระยะที่สองและที่สามนี้ ตัวอ่อนจะเจริญต่อไปเป็นตัวอ่อนระยะที่สาม ซึ่งเป็นระยะติดต่อตัวอ่อนใช้เวลาเจริญประมาณ 6 วัน เมื่อโฮสต์สุดท้าย เช่น สุนัข แมว หรือสุกร มากินโฮสต์กึ่งกลางตัวที่สองที่มีระยะติดต่อนี้ระยะติดต่อจะไปเจริญเป็นตัวแก่ฝังตัวอยู่ที่ผนังของกระเพาะของโฮสต์ ในเวลาประมาณ 6 เดือน ผนังกระเพาะที่ตัวแก่ไปอยู่กลายเป็นก้อนทูม (tumor) ที่มีรูเปิดเข้าด้านในกระเพาะ ก้อนทูมอันเดียวอาจมีตัวแก่ของพยาธิตัวจี๊ดทั้งตัวผู้และตัวเมียหลายตัวอยู่รวมกัน

สำหรับคนเป็นพยาธินี้โดยบังเอิญ หรือเป็นโฮสต์อุบัติการ (accidental host) เมื่อคนกินตัวอ่อนระยะที่สาม ซึ่งเป็นระยะติดต่อตัวอ่อนนั้นจะไชทะลุออกจากทางเดินอาหาร แล้วเจริญเป็นพยาธิตัวจี๊ดระยะต่างๆ อยู่ในอวัยวะส่วนต่างๆ ของร่างกาย

ระบาดวิทยาและนิเวศน์วิทยา

สภาพในคน

รายงานโรคพยาธิตัวจี๊ดในคนครั้งแรกโดย Levinsen (1889) ชาวเดนมาร์ค ได้ตัวพยาธิจากหญิงไทยที่ส่งไปวินิจฉัยที่อังกฤษ ครั้งแรกเชื่อว่าเป็น Cheriracanthus siamensis แต่ต่อมาได้พิสูจน์ว่าเป็น G. spinigerum หลังจากนั้นจนถึงปี 1979 มีราย งานโรคในไทยที่ได้ลงเป็นรายงานในวารสารทางวิชาการไว้รวม 63 ราย เป็นชาย 22 หญิง 41 อายุระหว่าง 3 – 80 ปี ตามความเป็นจริงควรจะมีผู้ป่วยมากกว่านี้แต่ไม่ได้รายงาน และผู้ป่วยอีกจำนวนมากที่มีอาการที่วินิจฉัยจากอาการว่าเป็นโรคพยาธิตัวจี๊ด แต่ไม่ได้ตัวพยาธิ จากรายงานต่างๆ ดังกล่าวแล้ว พบมีพยาธิได้ทั่วร่างกาย รวมทั้งที่อวัยวะสำคัญๆ เช่น ที่ตา และสมอง

อาการ

อาการที่สำคัญในคนเนื่องจาก G. spinigerum จะมีอาการมากหรือน้อยขึ้นอยู่กับตำแหน่งที่ตัวพยาธิไปอยู่ (Daengsvang, 1980 ) ทำให้แยกได้ดังนี้ คือ.-

1. กล้ามเนื้อใต้ผิวหนัง พบได้ตามส่วนต่างๆ ของร่างกายจะมีการบวมเคลื่อนที่มีเม็ดเลือดขาวสูงกว่าปกติ และมีอีโอซิโนฟิลสูง 3-96 % มีอาการปวดจี๊ดๆ บวมแดงคัน ช่วงเวลาของอาการอาจจะนาน 1 วัน-2 ปี อาจมีอาการเป็นๆ หายๆ อยู่นาน อาจพบได้ที่หน้าอก หน้าท้อง มือ แขน ขา เท้า นิ้วมือ หน้า คอ อัณฑะและ ผนังรูหู ซึ่งบางคนแยกว่าเป็น cutaneous gnathostomiasis ซึ่งบางครั้งเรียก externa หรือ cutaneous larva migrans และช่วงที่ตัวจี๊ดอยูในอวัยวะเรียก interna หรือ visceral gnathostomiasis externa นอกจากนั้นตัวจี๊ดอาจทำให้เกิด creeping eruption (Bhaibulaya, and Charoenlarp. 1983)

อาการของโรคที่อวัยวะอื่นส่วนมากจะมีอาการที่กล้ามเนื้อใต้ผิวหนังมาก่อน อาการบวมจากตัวจี๊ดนี้เข้าใจว่าเกิดจากการอักเสบเนื่องจากแพ้พิษที่ตัวจี๊ดปล่อยออกมา และการฉีกขาดของเนื้อเยื่อเมื่อตัวพยาธิผ่านไป ซึ่งจะทำให้เกิดมีเซลล์เม็ดเลือดขาว แทรกซึมลอกมามาก แต่ไม่เกิดนํ้าในเซลล์ การบวมจะหายไปในสองสามวัน แล้วกลับเป็นใหม่ที่บริเวณใกล้ๆ กัน หรือไกลออกไป มีเพียงไม่กี่รายที่จะเห็นร่องรอยที่ตัวพยาธิเคลื่อนที่ไป (creeping eruption)

2. ผนังเยื่อเมือก ผู้ป่วยส่วนมากจะมีประวัติการเคลื่อนที่ของพยาธิที่ส่วนต่างๆ ของร่างกายมาก่อน อาจพบได้ที่กระพุ้งแก้มด้านใน เพดานอ่อน ที่เหงือก กระเพาะปัสสาวะ ปากมดลูก และเยื่อตาขาว บางครั้งตัวพยาธิจะโผล่ออกมาภายนอก ทำให้ได้ตัวพยาธิออกมา

3. ทางเดินหายใจ หลังจากที่ผู้ป่วยมีอาการบวมเคลื่อนที่ ตามอวัยวะต่างๆ ของร่างกาย พร้อมกันมีอาการคนและปวด อาจมีอาการไอแห้งๆ รุนแรงแล้วมีเลือดออกพร้อมกับมีตัวพยาธิ ซึ่ง Punyagupta (1969) ได้รายงานอาการเพิ่มเติมอีกแบบ คือ abdomino – pulmonary hypereosinophilic syndrome ซึ่งจะมีไข้ กดที่ตับเจ็บ มีอาการทางปอด รู้สึกไม่สบาย และมีเม็ดเลือดขาวชนิดอีโอซิโนฟิลสูง ซึ่งอาการดังกล่าวนี้เกิดเนื่องจากการเคลื่อนที่ของตัวอ่อนระยะที่สาม

4. ระบบประสาท ในรายที่มีอาการทางสมองและไขสันหลังทำไห้เกิดปวดศีรษะ อาเจียน ง่วงนอน เบื่ออาหาร มีไข้ คอแข็ง ปวดเสียวตามเส้นประสาท อ่อนเพลีย แขนขาไม่มีแรง มีชักเป็นครั้งคราว หรือเป็นอัมพาต และอาจถึงตายได้ ความดันในน้ำไขสันหลังจะสูง พร้อมกับมีเม็ดเลือดขาวเพิ่มขึ้นโดยเฉพาะอีโอซิโนฟิล มีรายงานที่พยาธิทำให้ลำไส้อุดกั้นและทำให้ลูกตาถลน บางรายงานหลังจากมีอาการปรากฏทางสมองแล้ว พบมีการบวมเคลื่อนที่บริเวณคอหรือหน้า ซึ่งอาการทางสมองหายไป แสดงว่าตัวพยาธิได้ออกจากสมองมายังอวัยวะส่วนนั้น

5. ภายในช่องท้อง อาจจะเกิดเป็นก้อนทูมในช่องท้อง ภายในมีตัวพยาธิ มีรายงานพยาธิเป็นตัวทำให้เกิดลำไส้อุดตัน ก้อนทูมจะมีเนื้อเยื่อ fibrous ในช่องท้อง ตรงตำแหน่งใกล้ขาหนีบและตรงลำไส้ต่อกับกระเพาะ และคนไข้จะมีเม็ดเลือดขาวอีโอซิ โนฟิลค่อนข้างสูงหรือสูง

6. ลูกตา ทุกรายที่มีพยาธิในลูกตาจะมีอาการปวดรุนแรงหรือปานกลางที่บริเวณที่มีพยาธิ และมีอาการปวดศีรษะร่วมด้วยอาการคลื่นไส้และอาเจียน มีบางรายที่มีบวมและคันที่เปลือกตาและเนื้อเยื่อบริเวณหน้า เคืองตา มองเห็นไม่ชัด มีเลือดออกในเนื้อเยื่อของเปลือกตาด้านใน มีพยาธิตัวจี๊ดทำให้ลูกตาถลนออกมา เม็ดเลือดขาวชนิดอีโอซิโนฟิลสูงหรือค่อนข้างสูง แต่เม็ดเลือดขาวทั่วๆ ไปไม่สูงตัว พยาธิอาจทำให้เกิดแผลที่ cornea อาการทั่วๆ ไปของคนไข้จะปกติ

ถ้าพยาธิเคลื่อนที่ออกไปที่อวัยวะอื่น อาการที่ตำแหน่งเดิมจะหายไป มีบางรายที่มีอาการนานๆ แล้วหายไปโดยไม่มีตัวพยาธิออกมาภายนอก อาจจะเป็นไปได้ ว่าตัวพยาธิเข้าไปในอวัยวะภายในลึกๆ จนสังเกตอาการไม่ได้หรืออาจเป็นเพราะว่าตัวพยาธิได้ตายแล้วถูกดูดซึมไป ซึ่ง Miyazaki (1960) ได้รายงานว่าตัวพยาธิอาจมีชีวิตอยู่ได้นานกว่า 10 ปี ในการทดลองพบว่าตัวอ่อนหลังระยะที่สามอาจอยู่ในถุงหุ้มเป็นซีสต์ในลิงได้นานกว่า 3 ปี

การวินิจฉัย

โรคพยาธิตัวจี๊ดในคนถ้าไม่ได้ตัวพยาธิออกมา จะยังไม่สามารถบอกได้แน่ชัด อาการอาจจะเหมือนกับโรคอื่นอีกหลายชนิด ดังนั้นในรายที่มีอาการบวมแดงใต้ผิวหนัง หรือในเนื้อเยื่อที่ไม่ลึก และมีอาการปวดจี๊ดๆ เคลื่อนที่ได้ มีอาการคันปวด และมีประวัติว่าเคยหรือชอบกินอาหารเนื้อสัตว์น้ำจืด ปลาไก่ หรือกบดิบๆ หรือดิบๆ สุก ๆ เช่น สมฟัก ลาบดิบ ปลาดุกย่าง กบยำ อาจสงสัยว่าเป็นโรคพยาธิตัวจี๊ดได้

ส่วนโรคพยาธิตัวจี๊ดที่อวัยวะภายในอื่นๆ จะยิ่งวินิจฉัยยาก เช่น ที่ระบบประสาทที่ทำให้ถึงแก่กรรม จะทราบเมื่อตรวจศพพบตัวพยาธิ การตรวจเลือดจะพบเม็ดเลือดขาวอีโอซิโนฟิลสูง การทดสอบทางผิวหนังรวมกับอาการอาจจะช่วยบอกได้ดีขึ้น อย่างไรก็ตามยังมีโรคจากหนอนพยาธิบางชนิด และโรคอื่นอาจจะให้ผลบวกต่อการทดสอบทางผิวหนังได้เช่นกัน และการทำ precipitin test จะมีผลช่วยในการวินิจฉัยโรคพยาธิตัวจี๊ดด้วย (Yamaguchi, 1952, Kita, 1957 และ Furuno, 1959)

การรักษา

ยังไม่มียาที่จะใช้รักษาได้ผลสำหรับตัวจี๊ดในกล้ามเนื้อและผิวหนัง สำหรับตัวแก่ของ G. spinigerum ที่อยู่ที่ผนังกระเพาะของแมว (หรือสุนัข) นั้นรักษาโดยใช้ Disophenol ( Ancylol ) ฉีดเข้าใต้ผิวหนัง 45% จะช่วยขับตัวพยาธิได้ ขนาดที่ใช้ 0.1 มิลลิลิตรต่อน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม (Daengsvang, 1980) แต่ยานี้มีอันตรายมากสำหรับคน ดังนั้นการผ่าตัดเอาตัวพยาธิออกจากตำแหน่งที่พอจะมองเห็นตัวเป็นวิธีเดียวที่จะปลอดภัย แต่การเห็นแต่รอยบวมแดงจะผ่าตัดไม่ได้เพราะตัวพยาธิอาจจะเคลื่อนที่ไปอยู่ที่อื่นแล้ว

การติดต่อมาสู่คน

คนติดโรคโดยกินตัวอ่อนระยะที่สาม ซึ่งอยู่ในปลาน้ำจืด กบ ลูกกบ เขียด สัตว์เลื้อยคลานรวมทั้งนกกินปลา หนูและไก่ สี่ชนิดหลังนี้เป็นปาราทีนิคโฮสต์ (Daengsvang, 1980) ถ้าอาหารจากเนื้อสัตว์เหล่านี้ปรุงดิบๆ หรือสุกๆ ดิบๆ เช่น สมฟัก ลาบ กบยำ ปลาย่าง ไก่ย่างที่ยังเนื้อแดงอยู่ เมื่อคนกินเข้าไปทำให้ติดโรคขึ้นได้ ในประเทศญี่ปุ่น Miyazaki ( 1960) รายงานว่าคนชอบกินซาซิมิ ซึ่งเป็นปลาดิบทำให้เกิดโรคพยาธิตัวจี๊ดในคน และปลาที่พบตัวอ่อนระยะติดต่อมากในประเทศญี่ปุ่น คือพวกตระกูลปลาช่อน รองลงมาได้แก่ปลาตะเพียน (cyprinus auratus) สำหรับ ประเทศไทย สมฟักจากตลาดเป็นอาหารที่มีระยะติดต่อของพยาธินี้อยู่มาก ซึ่งส่วนมากส้มฟักจะทำจากปลาช่อน และผู้หญิงชอบกินมากกว่าผู้ชาย

การสำรวจโรคในสัตว์

ได้มีรายงานพยาธิตัวจี๊ด (G. spinigerum) ในประเทศไทยตั้งแต่ปี คศ.1933 พบไข่พยาธิตัวจี๊ดในแมว 9 ตัว จาก 24 ตัว และได้พยาธิตัวแก่ 10 ตัว จากแมวตัวหนึ่ง และการตรวจกระเพาะสุนัขจรจัด 5 ตัว พบพยาธิตัวแก่จากสุนัขทุกตัว ในปี1962 Ito และคณะ ตรวจสุนัขจรจัด 100 ตัวพบพยาธิตัวแก่ของตัวจี๊ด 10% และ ในปีเดียวกันนี้ Sirisumpan ได้ตรวจไข่พยาธินี้จากสุนัข 1000 ตัว ในเขตกรุงเทพฯ และธนบุรีพบ 1.6 % และตำแหน่งที่พบมากคือกระเพาะ (17.2%) รองลงมาได้แก่ หลอดอาหารและสำไส้ ส่วนดูโอดินัม(0.6%และ0.2%) ในแต่ละก้อนทูมจะพบพยาธิ 1-8 ตัว ต่อมาในปี ค.ศ. 1965-1970 (Daengsvang, 1980) พบในสุนัข 1.1% จากการตรวจกระเพาะสุนัข 17,855 ตัว และตรวจอุจจาระของสุนัข 277ตัว ส่วนในแมวตรวจอุจจาระ 402ตัว พบไข่ 4% สัตว์ทั้งสองชนิดส่วนมากได้จากกรุงเทพฯ และมีส่วนน้อยที่มาจากต่างจังหวัด Manning และคณะ (1969) พบพยาธิตัวจี๊ดจากสุนัขจรจัด 2% ในปี 2524 อาคม สังขวรานนท์ ได้สำรวจซากสุนัขจรจัด ในกรุงเทพฯ 338 ตัว พบพยาธิตัวจี๊ด 3.3% มีพยาธิ 1-15 ตัว และในก้อนทูมหนึ่งที่มีพยาธิสูงสุด 7 ตัว

นอกจากนั้นพบพยาธิตัวแก่จากสัตว์อื่นๆ ในประเทศไทยอีก คือพบพยาธิในเสือ 1 ตัว เสือดาว 4 ตัว (Miyazaki, I960) และพบใน golden cat (Profelis temmincki) 2 ตัว เสือปลา (Felis bengalensis) 1 ตัว และแมวป่า (Felis chillis) 1 ตัว ในอินเดียพบตัวแก่จากสัตว์ตระกูลเดียวกับแมวหลายชนิด นอกจากนั้นมี รายงานพบพยาธิตัวจี๊ดในพม่า ออสเตรเลีย เวียตนาม ฟิลิปปินส์ จีน ญี่ปุ่น ปาเลสไตน์ โรดีเซียเหนือ มาเลเซีย บังคลาเทศ สหภาพโซเวียต และสหรัฐอเมริกา ซึ่งสัตว์ที่พบพยาธิตัวแก่ส่วนมากได้แก่ แมว แมวป่า สุนัข เสือ เสือดาว สิงห์โต มิงค์ โอพาสสัม แรคคูน และนาก แต่สำหรับประเทศไทยตัวการสำคัญที่แพร่โรคให้แก่คน คือ แมว และสุนัข

สำหรับการสำรวจตัวกลางนำโรคพยาธิตัวจี๊ดที่มีระยะติดต่อตามธรรมชาต ได้พบครั้งแรกในฟิลิปปินส์ นายแพทย์เฉลิม พรหมมาส และนายแพทย์สวัสดิ์ แดงสว่าง ได้ตรวจพบตัวอ่อนระยะที่สาม (ระยะติดต่อ) ตามธรรมชาติจากกบ 91.67 % ปลาไหล 80% ปลาช่อน 37.5% และปลาดุก 30% ซึ่งจำนวนตัวอ่อนพยาธิสูงสุด 83 ตัว ต่อกบ 1 ตัว ต่อจากนั้นจากรายงานต่างๆ รวมแล้วพบสัตว์ 44 ชนิด ที่มีระยะติดต่อตามธรรมชาติ จำนวนระยะติดต่อที่พบสูงสุด 1,808 ในงูเห่า(Naja naja) และอัตราการมีตัวพยาธิระยะติดต่อของสัตว์ทั้งหมด 63 % สัตว์ที่พบระยะติดต่อเหล่านี้เป็นแหล่งที่แพร่โรคแก่สัตว์ที่เป็นโฮสต์สุดท้ายและคนซึ่งติดต่อโดยกินสัตว์เหล่านี้โดยไม่ทำให้สุกก็จะติดโรคได้ แต่มีสัตว์พวกนี้ไม่กี่ชนิดที่คนชอบกิน และอาจจะติดต่อโดยระยะติดต่อที่ออกจากซีสต์ไชเข้าสู่ผิวหนังในระหว่างเตรียมอาหารก็ได้ เนื่องจากการทดลองในหนู แมวและสุนัข ตัวอ่อนระยะติดต่อ (ระยะที่สาม) สามารถไชจากผิวหนังเข้าไปใต้ผิวหนังได้ (Daengsvang, et al. , 1966 และ 1969) สัตว์ที่มีคนชอบกินและมีเปอร์เซ็นต์การติดโรคของสัตว์แต่ละชนิดในตัวสูง ได้แก่ปลาช่อน 43.5% ปลาดุกด้าน 30% ปลาไหล 80% กบ 91.7% และไก่ 56%

ตารางสรุปจำนวนสัตว์มีกระดูกสันหลัง 44 ชนิดที่พบระยะติดต่อของ Gnathostoma spinigerum ตามธรรมชาติ ซึ่งเป็นต้นเหตุที่ทำให้สัตว์และคนติดโรค

นอกจากนี้ยังพบระยะติดต่อทั้งเป็นซีสต์และไม่สร้างซีสต์ จำนวนมากอยู่ในตับ และบางส่วนอยู่ที่เนื้อของปลาช่อนที่มีอายุ 2 เดือน และอาจพบตัวอ่อน 2 ตัว ในซีสต์เดียวกันได้ด้วย

สำหรับกุ้งไรที่เป็นโฮสต์ตัวกลางตัวแรกในประเทศไทย พบ 4 ชนิดที่สามารถกินตัวอ่อนระยะแรกของตัวจี๊ด แล้วตัวอ่อนนั้นยังเจริญต่อไปได้เป็นตัวอ่อนระยะที่สอง ซึ่งกุ้งไร 4 ชนิดนั้นได้แก่ Mesocyclops leuckarti, Eucyclops agilis, Cyclops varicans และ Thermocyclops sp. (sooksri, 1967)

สำหรับ G. doloresi และ G. hispidum ที่ตรวจพบที่โรงฆ่าสัตว์กล้วยน้ำไท 2.10% และ 0.001% จากการตรวจสุกร 1,568 ตัว ส่วนสุกรที่ราชบุรี และนครปฐม พบ G. hispidum 1.67% (2/119) และ 2.74% (4/148) ตามลำดับ จำนวนตัวพยาธิสูงสุดของ G. doloresi 45 ตัว และ G. hispidum 6 ตัว G. doloresi

สามารถ infect กุ้งไรชนิด Mesocyclops leuckarti ได้ แต่ไม่สามารถ infect โฮสต์กึ่งกลางตัวที่สองได้ แต่ตัวอ่อนของ G. hispidum ที่ infect ได้จาก M. leuckarti แล้ว จะเจริญเป็นระยะติดต่อสามารถ infect สุกรได้เป็นตัวแก่ในสุกรในเวลา 7 เดือน (oissarman, et. al. 1966)

การควบคุมและป้องกัน

การควบคุมและป้องกันโรคพยาธิตัวจี๊ดไม่ให้เกิดขึ้นในคนทำได้โดย

1. เผยแพร่ข่าวสารสาธารณสุข ทางด้านสุขศึกษา ให้ประชาชนทราบถึงการป้องกันโรคให้แก่ตนเอง ทางสื่อมวลชนทั้งหลาย เช่น หนังสือพิมพ์ วิทยุ และโทรทัศน์

2. ต้องไม่รับประทานอาหารที่ทำจากสัตว์ที่เป็นตัวกลางนำโรคทั้งหลายที่กล่าวมาแล้ว เช่น ปลาน้ำจืด กบ เขียด นก ส้มฟัก ลาบไก่ที่ยังไม่สุก หรือสุกๆ ดิบๆ

3. กำจัดสุนัขจรจัดที่เป็นตัวกักตุนโรค ถ้าเป็นสุนัขและแมวที่เลี้ยงไว้ควรได้รับการตรวจอุจจาระดูว่ามีพยาธิตัวจี๊ดหรือไม่ ถ้ามีควรรักษา (ยา Ancylol ใช้ฉีดเข้าใต้ผิวหนังจะกำจัดพยาธิตัวแก่ในสุนัขและแมวได้ผลดี)

4. ตัวอ่อนระยะติดต่อของพยาธิตัวจี๊ดที่อยู่ลึกในเนื้อ 1 เซ็นติเมตร ในน้ำเดือดจะตายใน 5 นาที ในน้ำส้มอาซิติกแอซิค 4% จะตายใน 5 ½  ชั่วโมง แตในน้ำมะนาวจะอยู่ได้ถึง 5 วันในอุณหภูมิห้อง และถ้าเก็บไว้ที่ 4° เซลเซียส จะอยู่ได้นานถึงหนึ่งเดือน (Daengsvang, 1980) Egashira ( 1953 ) พบว่าตัวอ่อนที่ออกจากซีสต์จะถูกฆ่าใน 5 นาที ถ้าต้มน้ำให้มีอุณหภูมิ 70° เซลเซียล และในนํ้าส้มสายชู อยู่ได้ 6 ชั่วโมง ในน้ำจิ้ม (soy sauce) ตัวอ่อนระยะติดต่อจะอยู่ได้ 12 ชั่วโมง ส่วนประเสริฐ เสตสุบรรณ และคณะ (2524) ศึกษาถึงความคงทนของตัวจี๊ดระยะติดต่อที่ความร้อน ความเย็น และความแห้งแล้ง พบว่าซีสต์มีความคงทนได้นานมากกว่าตัวอ่อนอิสระ (larvae) ระยะติดต่อของพยาธิตัวจี๊ดโดยเฉพาะซีสต์ สามารถทนต่อสภาวะแห้งแล้งในอุณหภูมิห้อง เช่น ตามพื้นหรือภาชนะที่ใช้ปรุงอาหารได้ 3 ชั่วโมง ถ้าในน้ำจะอยู่ได้นาน 6 วัน ถ้าเก็บพยาธินี้ไว้ในตู้เย็น (4° เซลเซียส) หรือช่องแช่แข็ง (-4 เซลเซียส) พยาธิจะอยู่ได้นาน 22 วัน และ 12 วัน ตามลำดับ การรับประทานปลาดิบๆ สุกๆ แม้จะใส่ไว้ในตู้เย็นนานประมาณ 3 สัปดาห์ ก็ไม่ปลอดภัยจากโรคนี้ พยาธินี้ถ้าทำให้ร้อน 65° เซลเชียลจะมีชีวิตได้นาน 5 ชั่วโมง ถ้าเอาซีสต์แช่ในแอลกอฮอลล์ 28% สุราขาวหรือ 35% สุราแม่โขง จะมีชีวิตอยู่ได้ 11 วัน และ 8 วัน ตามลำดับ การปรุงอาหารต่างๆ โดยใช้ความเปรี้ยว ความเค็ม ความหวาน จากน้ำส้มสายชูบริสุทธิ์ของ อ.ส.ร. (4% กรดอะเซติก) น้ำมะนาวบริสุทธิ์ (5-6% กรดซิตริก) นำปลาทิพยรสบริสุทธิ์ (มาตรฐานเกลือแกง 23%) นำเกลือ 30% และน้ำเชื่อม 20% จะฆ่าเชื้อระยะติดต่อของพยาธินี้ได้ต้องใช้เวลาอย่างน้อย 8 วัน 7 วัน 18 ชั่วโมง 20 ชั่วโมง และ 6 วันตามลำดับ ปลา ซึ่งมีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 4 เซนติเมตร ควรจะต้องต้มในน้ำเดือดอย่างน้อย 5 นาที ถ้าจะนึ่งหรือย่างที่ 110° เซลเซียส จะต้องใช้เวลา 9 นาทีจึงจะปลอดภัยจากโรคนี้ ถ้านำปลาขนาดหนา 1 เซนติเมตร ใส่เกลือหรือไม่ใส่เกลือต้องตากแดดจัดๆ อย่างน้อย 2 วัน จึงจะปลอดภัย ปลาร้าที่หนา 4 เซนติเมตร หมักในเกลือที่มีความเค็ม 20 – 30% จะปลอดภัยอย่างน้อย 25 วัน ไก่ย่างหนา 4 เซนติเมตร ต้องย่างไฟ 110° เซลเซียส นาน 10 นาที จึงจะปลอดภัย ส่วนอาหารส้มฟัก แหนมหมู แหนมเนื้อ ถ้าหมักแล้วเก็บไว้ในอุณหภูมิห้องและตู้เย็น จะต้องใช้เวลาอย่างน้อย 10 วัน จึงจะปลอดภัย

5. ระยะติดต่อของตัวจี๊ดอาจไชเข้าทางผิวหนังได้ ดังนั้นผู้ที่ต้องใช้มือสัมผัสกับเนื้อสัตว์ที่นำโรคโดยตรง ควรจะได้ล้างมือให้สะอาด ถ้าต้องสัมผัสนานๆ ควรล้างมือบ่อยๆ ด้วยสบู่หรือใส่ถุงมือป้องกัน นอกจากนั้น การดื่มนํ้าจากแหล่งน้ำจืดในที่มีโรคระบาด ควรจะต้องต้มหรือกรองน้ำให้ปราศจากระยะติดต่อที่ไชออกจากเนื้อสัตว์ที่เป็นตัวกักตุนโรคที่ตายแล้วเน่าเปื่อย (Daengsvang, 1981)

ปัญหาและแนวโน้ม

การกำจัดสุนัขจรจัดในกรุงเทพฯ อาจจะทำได้มากขึ้น ซึ่งมีผลทำให้อัตราการติดโรคพยาธิตัวจี๊ดในสุนัขจรจัดของกรุงเทพฯ ลดลงจากเดิม 10% (ito, et. al. 1962) เหลือ3.3%  ซึ่งเปรียบเทียบอัตราการติดโรคจากการตรวจซากเหมือนกัน ถ้าใช้ผลการตรวจอุจจาระอาจจะต่ำกว่าที่เป็นจริง เพราะสุนัขบางตัวมีพยาธิตัวจี๊ดเฉพาะเพศผู้อย่างเดียว แต่ตัวเลขของการตรวจพบพยาธิในสัตว์มีน้อยมาก

การตรวจหาระยะติดต่อในปลานํ้าจืด และสัตว์อื่นที่เป็นตัวกลางนำโรคที่ติดต่อมาสู่คนและแมวจะลดจำนวนลงทั้งชนิดของสัตว์และเปอร์เซ็นต์การติดโรคในสัตว์ แต่ละชนิด นอกจากนั้นตัวอ่อนระยะติดต่อที่พบสูงสุดในสัตว์จากปี 1944-1969 ได้ลดจำนวนลงด้วย (Daengsvang, 1980)

ปัจจุบันการตรวจหาตัวอย่างพยาธิที่ใช้สอนนักศึกษาที่ภาควิชาปาราสิต คณะสาธารณสุข ได้ตรวจหาระยะติดต่อในเนื้อปลาไหล ปลาดุก และกบ พบระยะติดต่อนี้ลดลงด้วย ซึ่งอาจจะเป็นเพราะปลาน้ำจืด และกบในท้องตลาดปัจจุบันได้มาจากบ่อ เลี้ยง จึงทำให้มีโอกาสติดโรคตามธรรมชาติลดลง ดังนั้นแนวโน้มของโรคในคนควรจะลดลง

การทำการวินิจฉัยโรคในคนยังทำได้ไม่แน่นอน ถ้าไม่พบตัวพยาธิ การวินิจฉัยจึงใช้ดูจากอาการ และบางรายอาจพบพยาธิไชออกมาภายนอก ซึ่งช่วยให้การวินิจฉัยง่ายขึ้น และโรคจะหายได้ แต่ตรงข้ามถ้าพยาธิเคลื่อนที่ไปที่อื่น รวมทั้งระบบประสาทจะไม่มีอาการอะไรเป็นแนวทางในการวินิจฉัย

↑ กลับสู่ส่วนบนของหน้า