สำหรับผู้ใส่ใจในการรักษาสุขภาพ ทั้งสุขภาพกาย และสุขภาพจิต

โรคพยาธิตัวกลมในเนื้อเยื่อ

ที่มา:นิภา  จรูญเวสม์

โรคพยาธิตัวกลมในเนื้อเยื่อ (tissue round worms) เกิดจากพยาธิที่คนเป็นผู้ถูกเบียนจำเพาะหรือเป็นผู้คูกเบียนบังเอิญก็ได้ เช่น Trichinella spiralis, Filaria, Gnathostoma spinigerum, Toxocara, Angiostrongylus cantonensis.

โรคพยาธิตัวจี๊ด

โรคพยาธิตัวจี๊ด (gnathostomiasis) เกิดจาก Gnathostoma spinigerum. คนเป็นผู้ถูกเบียนบังเอิญ สุนัข, แมว, เสือ เป็นผู้ถูกเบียนจำเพาะ พยาธิชนิดนี้ทำให้เกิดอาการบวมเลื่อนที่ได้เมื่อพยาธิเคลื่อนอยู่ใต้ผิวหนังเป็นอาการที่พบได้บ่อย นอกจากนี้จะเกิดรอยโรคได้ทุกอวัยวะที่พยาธิไชไปอยู่ อาทิ ที่ตา, สมอง ไขสันหลัง เป็นต้น ความสัมพันธ์ของโรคนี้กับสิ่งแวดล้อม คือ สุนัข, แมวที่มีพยาธินี้ถ่ายอุจจาระที่มีไข่ลงน้ำ แล้วเจริญเป็นระยะติดต่อซึ่งจะอยู่ในสัตว์น้ำ เช่น ปลา, กุ้ง, กบ, งู เมื่อคนบริโภคสัตว์น้ำเหล่านี้ดิบๆ สุกๆ ก็จะได้รับ พยาธินี้ได้ พยาธิชนิดนี้ไม่อยู่ในกระเพาะหรือลำไส้ คนเพราะคนไม่ใช่ตัวถูกเบียนจำเพาะ ดังนั้นจึงไม่เจริญเป็นตัวเต็มวัย แต่จะไชไปตามอวัยวะทำให้เกิดอาการดังกล่าวแล้ว

วงจรชีวิตและการติดโรค

พยาธิตัวเต็มวัยจะอยู่เป็นก้อนทูมในผนังกระเพาะอาหารของผู้ถูกเบียนจำเพาะ เช่น สุนัข, แมว ไข่พยาธิจะออกจากก้อนทูมเข้าไปในกระเพาะอาหาร และออกไปกับอุจจาระ เมื่อไข่ลงไปอยู่ในน้ำ ตัวอ่อนจะฟักออกจากไข่เป็นตัวอ่อนระยะที่ ๑ กุ้งไร (cyclops) ซึ่งเป็นผู้ถูกเบียนตัวกลางที่ ๑ จะกินตัวอ่อนระยะนี้เข้าไปเจริญในตัวกุ้งไรเป็นตัวอ่อนระยะ ที่ ๒ สัตว์น้ำจืด เช่น กบ, ปลา, สัตว์เลื้อยคลาน เช่น งู, สัตว์ปีก เช่น นก, ไก่ ซึ่งเป็นผู้ถูกเบียนตัวกลางที่ ๒ จะกินกุ้งไรที่มีตัวอ่อนระยะที่ ๒ เข้าไปเจริญเป็นตัวอ่อนระยะที่ ๓ ซึ่งเป็นระยะติดต่อ ซึ่งอยู่เป็นศีย์สต์ตามกล้ามเนื้อของผู้ถูกเบียนตัวกลางที่ ๒ เมื่อผู้ถูกเบียนจำเพาะกินเนื้อผู้ถูกเบียนตัวกลางระยะที่ ๒ ที่มีตัวอ่อนระยะติดต่อ ตัวอ่อนจะไชออกจากศีย์สต์แล้วไชผนังกระเพาะเกิดเป็นก้อนทูม เจริญเป็นตัวเต็มวัยต่อไป

ถ้าคนซึ่งเป็นผู้ถูกเบียนบังเอิญกินผู้ถูกเบียนตัวกลางที่ ๒ ที่มีตัวอ่อนระยะติดต่อพยาธิตัวอ่อนจะออกจากศีย์สต์ แล้วไชไปตามอวัยวะต่างๆ แต่จะไม่เจริญเป็นตัวเต็มวัย หรือถ้าเป็นตัวเต็มวัยก็จะเป็นตัวที่แคระและไม่ออกไข่

พยาธิวิทยา

เมื่อพยาธิไชไปที่ใดก็จะเกิดปฏิกิริยาอักเสบตรงตำแหน่งนั้นๆ ส่วนใหญ่จะพบอยู่ใต้ผิวหนัง ตำแหน่งที่มีพยาธิจะบวมแดงและมี อีโอสิโนฟิล ล้อมรอบเป็นจำนวนมาก และมีพลาสมาเซลล์ด้วย เมื่อพยาธิไขไปที่อื่น รอยบวมแดงที่เก่าก็จะค่อยๆ ยุบและไปบวมแดงในตำแหน่งที่พยาธิอยู่ใหม่ แต่อาการบวมแดงนี้จะหายช้าประมาณ ๗-๑๔ วัน ทั้งๆ ที่ตัวพยาธิตัวจี๊ดอาจออกไปจากบริเวณนี้แล้ว นอกจากนั้นพยาธิตัวจี๊ดอาจออกไปจากบริเวณนี้แล้ว นอกจากนั้นพยาธิตัวจี๊ดอาจไชเข้าไปในทุกอวัยวะของร่างกาย เช่น เต้านม, สมอง ไขสันหลัง, ตา, ปอด, ช่องท้อง ทำให้เกิดก้อนทูมประกอบด้วย อีโอสิโนฟิล และเนื้อพังผืด ถ้าอยู่ในสมองหรือไขสันหลังจะทำลายเนื้อสมองและไขสันหลังมาก เพราะบริเวณหัวของพยาธิมีหนามแหลม ซึ่งใช้ในการไชชอน จึงสามารถทำลายสมองและไขสันหลังได้

ลักษณะเวชกรรม

อาการที่เกิดขึ้นอยู่กับตำแหน่งที่พยาธิเข้าไปอยู่ ถ้าอยู่ในอวัยวะที่สำคัญ เช่นสมอง, ไขสันหลัง, ปอด ก็จะมีอาการมาก ถ้าอยู่บริเวณใต้ผิวหนังก็จะมี อาการน้อย

อาการที่เกิดขึ้นในอวัยวะภายใน จะเริ่มเกิดหลังบริโภคอาหารที่มีพยาธิตัวอ่อนระยะติดต่อเข้าไปเพียง ๒๔-๔๘ ชั่วโมง อาการเริ่มด้วยคลื่นไส้อาเจียน อาจมีการเจ็บชายโครงขวา ซึ่งแสดงว่า พยาธิผ่านไปตับ ต่อจากนี้อีก ๒-๓ สัปดาห์ อาจมีอาการถุงน้ำดีอักเสบ หรืออาการทางปอด เนื่องจากพยาธิตัวอ่อนเดินทางผ่านปอด ซึ่งถ้าถ่ายภาพรังสี อาจพบเงาคล้ายกับเป็นวัณโรคได้ ประมาณ ๑ เดือน พยาธิจะออกมาอยู่บริเวณใต้ผิวหนังแขนขา, หน้าอก, หน้าท้อง, ศีรษะ อาการต่างๆ ที่เกิดขึ้นกับอวัยวะภายในจะหายไป

อาการต่างๆ เมื่อตัวจี๊ดออกมาจากอวัยวะที่พบได้บ่อยมากคือ อาการบวมและอักเสบเคลื่อนที่ได้ และเจ็บจี๊ดๆ เพราะพยาธิตัวอ่อนระยะติดต่อนี้จะเดินไปได้ทั่วร่างกาย อาการบวมเคลื่อนที่และอักเสบที่เกิดขึ้นจะหายไปได้เองภายในประมาณ ๗- ๑๔ วัน การกลับเป็นไหม่ในระยะแรกๆ จะถี่ประมาณ ๒-๖ สัปดาห์ เมื่อเป็นนานๆ การกลับเป็นใหม่จะห่างออกไปเรื่อยๆ จนกระทั่งประมาณ ๓ ปีไปแล้ว อาจไม่มีอาการอีกเลยก็ได้ แต่จะกลับเป็นใหม่ได้อีกแม้นานถึง ๘ ปี โดยผู้ป่วยปฏิเสธการบริโภคอาหารที่เป็นสาเหตุ เคยมีรายงานว่าพยาธิตัวอ่อนนี้อยู่ในร่างกายคนได้ถึง ๑๐ ปี

อาการทางประสาท ได้แก่ อาการทางสมอง และไขสันหลัง อาการทางสมองเป็นอาการผิดปรกติของสมองเฉพาะที่ หรือผู้ป่วยอาจหมดสติได้ คล้ายโรคอุบัติเหตุหลอดเลือดสมองที่ต่างกันคือ เมื่อเจาะสารน้ำไขสันหลังมาตรวจจะพบ อีโอสิโนฟิล สูง และสารน้ำจะมีลักษณะเป็นเลือดหรือมีสีเหลือง รวมทั้งมี อีโอสิโนฟิล สูงด้วย รายที่เป็นที่ไขสันหลังผู้ป่วยอาจมีอัมพาตครึ่งท่อนและมีอาการปว เสียดแทงรุนแรงที่ขา เพราะพยาธิตัวอ่อนเดินไปในไขสันหลังทำให้เกิดการตกเลือดและการตายของไขสันหลังได้

อาการทางตา พยาธิอาจเข้าไปอยู่ในลูกตา ทำให้เกิด uveitis หรือถ้าอยู่หลังลูกตาทำให้เกิดบวมที่หลังลูกตาได้

อาการเมื่อผ่านปอด ทำให้เกิดปอดอักเสบ แบบกลุ่มอาการ เลอฟฟ์เลอร์ หรือเกิดภาวะโพรงเยื่อหุ้มปอดมีอากาศ หรือมีสารน้ำ ตัวพยาธิอาจเข้าไปในหลอดลมทำให้ไอพยาธิออกมาได้

อาการผ่านทางช่องท้อง อาจคลำพบเป็นก้อนทูม ถ้าอยู่บริเวณไส้ติ่งทำให้มีอาการเหมือนไส้ติ่งอักเสบ

นอกจากนี้ พยาธิอาจผ่านเข้าไปในระบบทางเดินปัสสาวะและระบบสืบพันธุ์

สรุปว่าพยาธิตัวจี๊ดสามารถเดินทางไปได้ทั่วร่างกายยกเว้นผ่านเข้ากระดูกไม่ได้

การวินิจฉัยโรค

-ประวัติบริโภคปลาน้ำจืด, กบ, งู, ไก่ดิบๆ หรือสุกๆ ดิบๆ

-ประวัติการบวมเคลื่อนที่ได้ + อีโอสิโนฟิล ในเลือดสูง

-ตรวจทางน้ำเหลืองหรือไขสันหลังโดยวิธี ELISA ให้ผลบวก

การรักษา

ขณะนี้ยังไม่มียาที่ฆ่าพยาธินี้ได้ มีผู้รายงานว่า สามารถให้ยาไล่พยาธิให้ออกมาให้เห็นแล้วจึงเขี่ยเอาพยาธิออก ยานี้ได้แก่ อัลเบนดาโซล ขนาด ๔๐๐ มิลลิกรัม วันละ ๒ เวลา นาน ๑๔ วัน

-รักษาอาการบวมโดยให้ เพร็ดนิโสโลน ขนาด ๕ มิลลิกรัม วันละ ๓-๔ เวลานาน ๕-๗ วัน

โรค ฟิลาเรีย

โรค ฟิลาเรีย (filariasis) เกิดจากพยาธิตัวกลม ซึ่งอยู่ใน superfamily Filarioidea. พยาธิที่ทำให้เกิดโรคในคนมี ๖ ชนิด ได้แก่

-Wuchereria bancrofti

-Brugia malayi

-Loa loa

-Onchocerca volvulus

-Acanthocheilonema perstans

-Mansonella ozzardi

ในประเทศไทยส่วนใหญ่พบ B. malayi ทางภาคใต้แถบฝั่งทะเลด้านตะวันออก เช่น ชุมพร, สุราษฎร์ธานี, นครศรีธรรมราช, พัทลุง, สงขลา,ปัตตานี และนราธิวาส ส่วน W. bancrofti พบที่ภาคใต้บ้างและพบที่อำเภอสังขละบุรี จังหวัดกาญจนบุรี บริเวณชายแดนที่ติดกับประเทศพม่า การที่พบเฉพาะในท้องถิ่นดังกล่าวเพราะสิ่งแวดล้อมของจังหวัดทางภาคใต้ส่วนใหญ่มีสวนยางพื้นดินชื้นแฉะ และจังหวัดกาญจนบุรีก็มีป่า ภูเขา และที่สำคัญมียุงที่เป็นพาหะนำโรค ร่วมกับการมีคนเป็นโรคนี้อยู่ ที่ไม่ได้มีการรักษาหรือป้องกัน (โดยเฉพาะชาวพม่า) ที่ไม่พบในภาคกลางและตะวันออกเฉียงเหนือ เพราะ พื้นที่ส่วนใหญ่เป็นที่ราบและไม่มียุงที่เป็นพาหะนำโรค ในที่นี้จะกล่าวแต่เฉพาะ W. bancrofti และ B. malayi ที่พบในประเทศไทย

วงจรชีวิตและการติดโรค

คนเป็นผู้ถูกเบียนจำเพาะ พยาธิตัวเต็มวัยของ W. bancrofti และ B. malayi อยู่ในระบบน้ำเหลืองของคน เมื่อตัวผู้ผสมพันธุ์กับตัวเมียก็จะออกลูกมาเป็น ไมโครฟิลาเรีย เข้าไปอยู่ในกระแสเลือด และจะออกมาสู่กระแสเลือดรอบนอกเฉพาะเวลา ๒๒:๐๐-๒๔:๐๐ นาฬิกา คือปรากฏเป็นคาบกลางคืน (nocturnal periodicity), ส่วน W. bancrofti ที่จังหวัดกาญจนบุรีมี nocturnal subperiodicity คือ ไมโครฟิลาเรีย จะปรากฏในกระแสเลือดมากในช่วงเวลา ๑๘:๐๐-๒๔:๐๐ นาฬิกา ในเวลากลางวัน ไมโครฟิลาเรีย จะเข้าไปอยู่ในหลอดเลือดเล็กๆ ในปอดและในอวัยวะภายใน เมื่อยุง Culex, Aedes, Anopheles และ Mansonia (แมนโสเนีย เป็นพาหะสำคัญของ B. malayi) ซึ่งเป็นตัวถูกเบียนตัว กลางและพาหะนำโรคไปกัดคนที่เป็นโรคก็จะดูดเลือด ซึ่งมีไมโครฟิลาเรีย ไปด้วย เชื้อจะผ่านผนังกระเพาะของยุงเข้าไปอยู่ในกล้ามเนื้อหน้าอก และเปลี่ยนรูปร่างเป็นตัวอ่อนระยะที่ ๑ เจริญต่อไปเป็นตัวอ่อน ระยะที่ ๒ และระยะที่ ๓ ซึ่งเป็นระยะติดต่อ ตัวอ่อนระยะที่ ๓ จะเดินทางไปอยู่ที่ปากยุง เมื่อยุงกัดคนก็จะปล่อยตัวอ่อนนี้ให้คนแล้วเจริญเป็นตัวเต็มวัย สืบพันธุ์กันต่อไปในระบบน้ำเหลืองดังกล่าวแล้ว ตั้งแต่เชื้อเข้าไปในคนจนเป็นตัวเต็มวัยสืบพันธุ์ได้กินเวลา ถึง ๑ ปี

กำเนิดพยาธิและพยาธิวิทยา

พยาธิตัวเต็มวัยทั้งที่มีชีวิตและตายแล้วจะอุดกั้นทางเดินน้ำเหลือง การเคลื่อนไหวของพยาธิ ทำให้เกิดการระคายเคืองภายในท่อทางเดินนํ้าเหลือง นอกจากนั้นพยาธิยังปล่อยสารพิษออกมาทำปฏิกิริยาต่อร่างกายก่ออันตราย ส่วนไมโครฟิลาเรีย ยังไม่ทราบว่าจะทำให้เกิดพยาธิสภาพใดๆ

พยาธิวิทยาแบ่งได้เป็น ๒ ระยะ

ระยะแรก: ทางเดินน้ำเหลืองอักเสบ และอุดตัน

การเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นในหลอดน้ำเหลือง, ท่อน้ำเหลืองและเนื้อเยื่อประสาน, ที่พบมากที่สุด ตรงตำแหน่งที่อยู่ของพยาธิตัวแก่และตรงซากพยาธิ ตาย ในตำแหน่งอื่นอาจพบได้บ้าง พยาธิสภาพ เป็นการอักเสบแบบแกรนุโลมา การเปลี่ยนแปลงนี้เป็นไปช้าๆ บางครั้งก็จะเกิดการอักเสบฉับพลันมี ลิย์มโฟศัยต์ พลาสมาเซลล์ และอีโอสิโนฟิล แทรกในเนื้อเยื่อบริเวณนี้มาก เมื่อพยาธิตายจะมีเซลล์ เอพิเธลิออยด์ จำนวนมากเข้ามาแทนที่ และมีเซลล์ยักษ์ด้วย หลอดเลือดบริเวณนี้จะขยายใหญ่มีเซลล์ตัวกลมมาล้อมรอบทำให้เกิดเป็นตุ่ม ซึ่งจะไปกดเบียดท่อน้ำเหลืองให้แคบหรือตีบตัน ผนังในของหลอดน้ำเหลืองจะหนาขึ้น ทำให้รูหลอดน้ำเหลืองแคบลง และเกิดการอุดตันขึ้น ถ้ามีเซลล์ตายมากจะเกิดเป็นโพรงหนองและแตกออกภายนอก ระยะสุดท้าย แกรนุโลมา และหลอดน้ำเหลืองที่ถูกอุดตันจะถูกแทนที่โดยเนื้อเยื่อพังผืด

ผิวหนังตรงตำแหน่งที่มีหลอดน้ำเหลืองชั้นผิว ถูกอุดตันจะบวมแข็งและเป็นผื่นแดง หลอดน้ำเหลืองที่มีการอุดตันจะโป่งพองมีน้ำเหลืองคั่งคลำได้ เป็นก้อนขรุขระ หลอดน้ำเหลืองเหล่านี้อาจแตกออกปล่อยน้ำเหลืองไหลเข้าไปในอวัยวะข้างเคียง เช่น ช่องท้อง, ถุงอัณฑะ, ทรวงอก ผิวหนังอาจมีน้ำเหลืองแตกซึมออกมาทำให้เกิดการติดเชื้อแบคทีเรียได้ง่ายขึ้น

การเปลี่ยนแปลงของต่อมน้ำเหลืองก็พบได้เช่นเดียวกับหลอดน้ำเหลือง พยาธิตัวเต็มวัยจะเข้าไปอยู่ในไสนัสของต่อมน้ำเหลือง และเกิดการอักเสบ เป็นแบบแกรนุโลมา ต่อมาจะมีการอุดกั้นทางเดินน้ำเหลือง อาจเกิดมีโพรงหนองและแตกทะลุออกมาภายนอก การอุดตันของทางเดินน้ำเหลืองในระยะ แรกจะเกิดการบวมนุ่ม แต่ต่อไปจะหนาและแข็ง เข้าสู่ระยะที่ ๒ ต่อไป

ระยะที่สอง: ระยะลักษณะหนังช้าง (elephantiasis).

เนื้อเยื่อต่างๆ ในบริเวณรอยโรคหนาขึ้น หนังทุกชั้นหนาขึ้นและขรุขระ เนื้อเยื่อประสานและไขมันก็หนาขึ้นด้วย ทำให้มีลักษณะบวมแข็ง หลอดน้ำเหลืองในชั้นใต้หนังเพิ่มจำนวนมากขึ้นและโป่งพอง แล้วแตกออกภายนอกทำให้แบคทีเรีย เข้าไปติดเชื้อร่วมด้วย เกิดเป็นหนองมีการตายของเนื้อเยื่อ ในที่สุดเกิดภาวะพังผืด เมื่อเกิดซํ้านานๆ เข้าอวัยวะนั้นๆ ก็จะโตมากขึ้นๆ ผิวหนังจะหนาแข็ง ขรุขระมีลักษณะเหมือนหนังช้าง

ลักษณะเวชกรรม

ระยะฟักโรคประมาณ ๘-๑๒ เดือน บางคน ได้รับพยาธิเข้าไปแล้วไม่มีอาการ เชื่อว่าจะมีอาการก็ต่อเมื่อได้รับพยาธิซํ้าๆ หลายครั้ง ลักษณะเวชกรรม มี ๓ ระยะคือ

ระยะแรก เป็นระยะอักเสบ มีอาการเฉพาะที่คือปวดบวมแดงที่แขนขา หรือที่ถุงอัณฑะ เกิดจากการอักเสบของหลอดน้ำเหลืองพร้อมกับมีต่อมน้ำเหลืองโตและมีไข้ อาการเหล่านี้เป็นชั่วคราว ประมาณ ๗-๑๐ วัน ก็หายไป แล้วกลับเป็นใหม่ สลับกันเรื่อยไป บางรายอาการอาจไม่หายไปเลยก็ได้

อาการไข้สูงทันทีมีหนาวสั่น คลื่นไส้ อาเจียน ซึม มักจับร่วมกับการอักเสบของหลอดน้ำเหลือง แต่บางครั้งไม่มีหลอดน้ำเหลืองอักเสบให้เห็น เชื่อว่ามีการอักเสบของหลอดน้ำเหลืองในอวัยวะภายใน ไข้จะสูงอยู่หลายวันและเป็นซ้ำได้

อาการหลอดน้ำเหลืองอักเสบฉับพลันส่วนมากเป็นที่ขา หลอดน้ำเหลืองบวมแดงเจ็บปวด เป็นไข้ ในที่อื่นๆ อาจอักเสบก็ได้ อาการอักเสบเป็นหลาย วันแล้วหายไปและกลับเป็นซ้ำอีก ผิวหนังบริเวณอักเสบจะหายเป็นปรกติหรือเหลือเป็นผิวแข็งอยู่เช่นนั้น แม้ว่าการอักเสบจะหายไปแล้ว

ต่อมน้ำเหลืองอาจอักเสบพร้อมกัน หรือเป็นก่อนหลอดน้ำเหลืองอักเสบ ต่อมน้ำเหลืองจะบวมโต กดเจ็บ ผิวหนังเหนือต่อมอักเสบแข็ง ต่อมน้ำเหลืองที่พบอักเสบบ่อยคือ ที่บริเวณขาหนีบและต่อม เอพิโทรเคลีย ต่อมน้ำเหลืองที่อักเสบเหล่านี้จะเกิด เป็นฝีมีซากพยาธิตัวเต็มวัยอยู่ภายใน ฝีนี้อาจแตกออกและติดเชื้อแบคทีเรียได้

การอักเสบของท่ออสุจิ, เอพิดิดัยมิส และลูกอัณฑะจะมีอาการเจ็บปวดบวมโต, มีไข้, ถุงอัณฑะบวมแดง, อาจมีน้ำในถุงอัณฑะด้วย การอักเสบเหล่านี้จะหายไปเอง และกลับเป็นซ้ำอีกหลายครั้ง ร่วมกับมีแบคทีเรียซ้ำเติม จนกระทั่งถึงระยะต่อไป คือระยะอุดตัน

ระยะที่สอง เป็นระยะอุดตัน จากการอุดตัน ของหลอดน้ำเหลืองทำให้บวมและมีการคั่งน้ำเหลือง ตำแหน่งที่มักมีการอักเสบซ้ำๆ หลายๆ ครั้งมักพบ บริเวณต้นขา, ขาหนีบ และอัณฑะ, มีหลอดน้ำเหลือง โป่งพองคดเคี้ยว (lymph varices) บางทีแตกออก น้ำเหลืองไหลออกมาภายนอก ทำให้ติดเชื้อแบคทีเรีย ได้งาย อาจแตกเข้าไปในถุงอัณฑะ ทรวงอก กระเพาะปัสสาวะ มีน้ำเหลืองขังอยู่ในอวัยวะนั้นๆ

ระยะที่สาม เป็นระยะหนังช้าง มักเป็นที่ขาและถุงอัณฑะบ่อยกว่าที่อื่น แต่อาจเป็นที่แขน เต้านม หรือโยนีได้ ภาวะนี้เกิดขึ้นจากมีการอุดตันอยู่นานๆ และต่อมน้ำเหลืองและหลอดน้ำเหลืองมีการอักเสบ ซ้ำๆ หลายครั้งเป็นเวลานานหลายปี ผิวหนังและเนื้อใต้หนังจะหนาแข็งขรุขระ ห้อยย้อยพับได้ หลอดน้ำเหลืองที่มีการโป่งพองแล้วแตกและมีการติดเชื้อแบคทีเรียซ้ำเติมจะมีการอักเสบรุนแรงเป็นหนอง และนานเข้าจะเกิดเป็นพังผืดขึ้นมาแทนที่ เมื่อเป็นมากขึ้นทำให้ส่วนนั้นมีลักษณะเหมือนหนังช้าง และอวัยวะเหล่านั้นโตได้มากๆ

การวินิจฉัยโรค

-เจาะเลือดเจาะเวลา ๒๒:๐๐-๒๔:๐๐ น. ย้อมสียิมซ่า จะได้ตัวไมโครฟิลาเรีย ถ้ามีพยาธิน้อยอาจจะต้องตรวจด้วยวิธีเข้มข้น ในรายที่มีลักษณะเท้าช้างแล้วจะไม่พบไมโครฟิลาเรีย

-ตรวจทางปฏิกิริยาน้ำเหลืองหาแอนติบอดีย์ แต่มักจะได้ผลไม่จำเพาะ

-หาแอนติเจน จากเลือดโดยวิธีพิเศษ

การรักษา

ยังไม่มียาที่จะฆ่าตัวแก่ได้ มีแต่ยาที่ฆ่าไมโครฟิลาเรีย คือ

-ไดเอธิย์ลคาร์บามาซีน ให้ขนาด ๖ มิลลิกรัม /กิโลกรัม/สัปดาห์ ๑๒ ครั้ง อาจมีปฏิกิริยารุนแรง ถ้าไมโครฟิลาเรียตายมากๆ ควรให้เพร็ดนิโสโลน ร่วมด้วย เพื่อป้องกันปฏิกิริยา

-ไอเฟวอร์เมคตินให้ขนาด ๑๕๐ ไมโครกรัม/ กิโลกรัม ครั้งเดียวทุกปี

↑ กลับสู่ส่วนบนของหน้า