สำหรับผู้ใส่ใจในการรักษาสุขภาพ ทั้งสุขภาพกาย และสุขภาพจิต

โรคประสาทแบบฮีสทีเรีย (Hysteria)

โรคประสาทแบบฮีสทีเรีย แบ่งเป็น ๒ ชนิด คือ

๑. ชนิด conversion

๒. ชนิด dissociative

โรคประสาทแบบฮีสทีเรียชนิด conversion คือ สภาวะซึ่งความวิตกกังวลถูกเปลี่ยน เป็นอาการทางร่างกายที่เกี่ยวกับระบบรับความรู้สึก หรือส่วนของร่างกายที่อยู่ภายใต้อำนาจของ

โรคประสาทแบบฮีสที่เรียชนิด dissociative คือ สภาวะซึ่งความวิตกกังวลมีมากจนทำให้เกิดความยุ่งเหยิงและแตกแยกของบุคลิกภาพไปชั่วระยะหนึ่ง ทั้งอารมณ์ก็จะแยกออกจากเหตุการณ์หรือสถานการณ์ซึ่งเกี่ยวข้องกันแต่แรกด้วย

ระบาดวิทยา

ผู้ป่วยเกือบทั้งหมดจะเป็นผู้หญิง (Robins และคณะ ค.ศ. ๑๙๕๒, Stefansson และ คณะ ค.ค. ๑๙๗๖) อุบัติการของโรคนี้พบว่ามีประมาณร้อยละ ๑.๒ ของประชากรที่เป็นเพศหญิง (woodruff และคณะ ค.ศ. ๑๙๗๑) พบในคนซึ่งไม่ค่อยทันสมัย และคนซึ่งค่อนข้างจะโบราณ หรือหัวเก่า (primitive) กว่าโรคทางจิตอย่างอื่น (Goodwin และ Guze ค.ศ. ๑๙๗๙) และอาการ

มักเริ่มในวัยรุ่นหรือต้นวัยผู้ใหญ่ (dsm-iii)

พวก conversion เมื่อหลายสิบปีก่อนพบได้บ่อย แต่ปัจจุบันพบน้อย และเกือบทุกรายจะพบที่แผนกอื่น เช่น แผนกประสาทวิทยา หรือแผนกศัลยกรรมกระดูกและข้อ หรือพบในทหารระหว่างสงคราม พวก dissociative พบได้น้อย Psychogenic amnesia และ Psychogenic fugue พบบ่อยระหว่างสงครามหรือระหว่างที่มีภัยร้ายแรงทางธรรมชาติ พวก Multiple persona­lity พบได้น้อยมาก และมักพบในคนที่ได้รับการเลี้ยงดูอย่างทารุณ หรือได้รับความกระทบกระเทือนจิตใจอย่างรุนแรงในวัยเด็ก

สาเหตุและกลไกของการเกิดอาการ

ปัจจัยทางจิตวิทยา คนที่เป็นโรคประสาทแบบนี้ ส่วนใหญ่จะมีบุคลิกภาพแบบฮีสทีเรีย หรือแบบชอบพึ่งผู้อื่น เขามักจะเลี่ยงหรือหนีความขัดแย้งที่เกิดขึ้นภายใจจิตใจมากกว่าจะเผชิญ หน้ากับปัญหาอย่างเปิดเผย และมักจะอาศัยความเจ็บป่วยทางกายช่วยควบคุมสิ่งแวดล้อม เป็นคนที่ถูกชักจูงง่ายและไม่ค่อยฉลาด พื้นฐานทางเพศก็มักไม่บรรลุวุฒิภาวะ ในผู้หญิงมักมีความคับข้องใจเรื่องเพศ กล่าวคือ ความเพ้อฝันทางเพศของเขามักขัดต่อความรู้สึกรังเกียจและความกลัวเรื่องเพศในจิตสำนึก ส่วนผู้ชายก็มักถูกคุกคามในเรื่องความนับถือตนเองหรือความเป็นชาย ซึ่งจะเห็นได้โดยเขาจะมีความต้องการที่ขัดแย้งกัน ระหว่างความต้องการมีชีวิตอยู่กับความต้องการจะเป็นวีรบุรุษของชาติหรือวีรบุรุษสงคราม

เมื่อคนพวกนี้มีความวิตกกังวล เขาจะใช้กลไกป้องกันของจิตใจเปลี่ยนความวิตกกังวล เป็นอาการทางร่างกาย หรือใช้กลไกของจิตใจชนิด dissociative, isolation และ substitution

เพื่อลดความวิตกกังวล ทำให้ระดับความรู้สึกตัวของเขาผิดปกติไป หรือเกิดความยุ่งเหยิงและแตกแยกของบุคลิกภาพ โดยแสดงลักษณะ ง่วงซึม (stupor), fugue, ลืม หรือมีบุคลิกภาพหลาย แบบ อาการอาจมีความหมายเป็นสัญญลักษณ์กับความต้องการหรือแรงผลักดันซึ่งไม่เป็นที่ยอมรับ เช่นไม่ต้องการเห็นก็เกิดอาการตาบอด หรือเพื่อไม่ให้รับรู้ความไม่เป็นสุขของตนโดยเกิดอาการลืม หรือเพื่อทำให้เกิดความตื่นเต้นซึ่งในชีวิตจริงมีแต่ความน่าเบื่อ โดยการเดินทางหรือทำอะไร โดยไม่รู้ตัว (fugue) เป็นต้น

ลักษณะทางคลีนิค

๑. ชนิด conversion

อาการมักเริ่มในวัยรุ่นหรือต้นวัยผู้ใหญ่ ผู้ป่วยอาจมีโรคทางกายนำมาก่อน ซึ่งทำให้อาการ conversion มีลักษณะคล้ายอาการที่เกิดจากโรคจริงๆ เช่น เกิดอาการชักไม่จริงในคนที่เป็นโรคลมชัก หรือได้เห็นอาการของโรคทางกายหรืออาการ conversion ในคนอื่นก่อนเกิดอาการ หรือมีความตึงเครียดทางจิต-สังคมอย่างมากมาย เช่น เกิดภัยสงคราม หรือมีการตายของบุคคล ซึ่งมีความสำคัญต่อตนมาก อาการจะเกิดกับอวัยวะรับความรู้สึกหรือส่วนของร่างกายที่อยู่ภายใต้อำนาจของจิตใจ และการตรวจร่างกายหรือการตรวจทางห้องทดลองไม่สามารถอธิบายว่าอาการเกิดจากโรคทางกายชนิดใด

อาการที่ชัดเจนที่สุด คือ อาการอัมพาต อาการไม่มีเสียง ชัก เสียการทรงตัว ไม่เคลื่อนไหว กล้ามเนื้อเกร็งหรือกระตุก ตาบอด ขอบเขตการมองเห็นภาพแคบลง จมูกไม่รับกลิ่น หรือเป็นเหน็บชาอาการอาจเกี่ยวข้องกับระบบประสาทอัตโนมัติหรือระบบต่อมไร้ท่อ เช่น อาการอาเจียน หรือการตั้งครรภ์หลอก (pseudocyesis) แต่อาการเช่นนี้พบได้น้อยมาก

อาการ conversion มักจะมีอาการเดียวในการป่วยแต่ละครั้ง แต่ในการป่วยครั้งต่อไป ตำแหน่งหรือลักษณะของโรคอาจเปลี่ยนไป นอกจากนั้นผู้ป่วยมักไม่สนใจกับความรุนแรงของ ความเจ็บป่วยที่เกิดกับตน เรียกว่า labelle indifference แต่สิ่งนี้ไม่มีความสำคัญในการวินิจฉัยโรค เพราะผู้ป่วยบางคนอาจดูไม่สนใจกับความเจ็บป่วยทางกายของตน ทั้งที่ป่วยจริงและรุนแรง ทั้งนี้ขึ้นกับความอดทนของแต่ละบุคคล

นอกจากนั้นอาการที่เกิดขึ้นมักมีความหมายต่อความขัดแย้งภายในจิตใจหรือความต้องการของบุคคลนั้น เช่นหลังจากมีการโต้แย้งกับผู้อื่นผู้ป่วยอาจต้องการแสดงความก้าวร้าวออกมา

แต่ขัดกับมโนธรรมของตน ความขัดแย้งภายในจิตใจนี้จึงทำให้เกิดอาการไม่มีเสียงหรือเกิดอาการอัมพาตของแขน หรือการไม่อยากเห็นเหตุการณ์ซึ่งกระทบกระเทือนจิตใจอาจทำให้เกิดอาการ ตาบอดได้ อาการดังกล่าวที่เกิดขึ้นจะช่วยให้ความวิตกกังวลลดลงหรือหมดไป เพราะฉะนั้นจึงเป็นประโยชน์ขั้นปฐมภูมิ (primary gain) แก่ผู้ป่วย ยิ่งกว่านั้นเวลาเกิดอาการป่วยมักมีคนเอาใจใส่ หรือผู้ป่วยสามารถควบคุมสิ่งแวดล้อมให้เป็นไปตามความปรารถนาของตนได้ ประโยชน์นี้เรียก ประโยชน์ขั้นทุติยภูมิ (secondary gain) ซึ่งทั้ง ๒ อย่างนี้ทำให้โรคเป็นแล้วเป็นอีกหรือหายยาก

๒. ชนิด dissociative

แบ่งเป็น ๓ ลักษณะ คือ

ก. Psychogenic amnesia

ข. Psychogenic fugue

ค. Multiple personality

ก. Psychogenic amnesia

ผู้ป่วยจะลืมเรื่องราวที่สำคัญส่วนตัวโดยไม่พบสาเหตุทางร่างกาย และการลืมนี้มากเกินกว่าจะเป็นการลืมอย่างธรรมดา แบ่งเป็น ๔ แบบ คือ

Locallized or circumscribed amnesia เป็นแบบที่พบบ่อยที่สุด คือ ผู้ป่วยจะลืมเหตุการณ์ทุกเหตุการณ์ที่เกิดในเวลาที่มีปัญหาทางจิตใจ มักเริ่มตั้งแต่ ๒-๓ ชั่วโมงแรกหลังจากเกิดปัญหากระทบกระเทือนใจ เช่น อุบัติเหตุซึ่งทำให้พ่อแม่พี่น้องเสียชีวิต ทำให้ผู้ป่วยลืมเหตุการณ์ตั้งแต่ระยะเวลาที่เกิดอุบัติเหตุจนถึงอีก ๒ วันต่อมา

Selective amnesia คือ การจำไม่ได้เฉพาะบางเหตุการณ์ที่เกิดขณะมีปัญหากระทบ- กระเทือนจิตใจ เช่น จำได้ว่าจัดการกับเรื่องศพอย่างไร แต่เรื่องอื่นๆ จำไม่ได้เลย

Generalized amnesia คือ การไม่สามารถจำเหตุการณ์ทั้งหมดในชีวิตที่ผ่านมา เป็นแบบที่พบน้อยที่สุด

และ Continuous amnesia ได้แก่ การไม่สามารถจำเหตุการณ์ตั้งแต่ได้รับความกระทบกระเทือนทางจิตใจ จนกระทั่งถึงปัจจุบัน

ในระหว่างที่มีการลืม ผู้ป่วยอาจดูงงๆ จำวันเวลา สถานที่ และบุคคลไม่ได้ อาจท่องเที่ยวไปโดยไม่มีจุดมุ่งหมาย ระหว่างนี้ผู้ป่วยอาจไม่สนใจต่อความจำที่ผิดปกติไปด้วย

ข. Psychogenic fugue

เป็นการเดินทางจากบ้านหรือที่ทำงานไปในที่ใดที่หนึ่งโดยไม่คาดคิดมาก่อนอย่างทันทีทันใด และโดยไม่รู้สึกตัวพร้อมกันนั้นผู้ป่วยก็จะมีเอกลักษณ์ (identity) ของตนใหม่ และไม่สามารถจำเอกลักษณ์เดิมของตนได้ ผู้ป่วยอาจงง และเสียการรับรู้เวลา สถานที่ และบุคคล รวมทั้งเมื่อกลับเป็นปกติจะจำเหตุการณ์ขณะที่เกิด fugue ไม่ได้

ในบางรายผู้ป่วยจะเปลี่ยนไปเป็นคนใหม่เลย คือใช้ชื่อใหม่ และมีที่อยู่ใหม่หรืองานใหม่ แต่อย่างไรก็ตามกรณีเช่นที่กล่าวนี้ ไม่ค่อยพบ เกือบทั้งหมดจะเกิดอาการชั่วระยะเวลาสั้นๆ และการเดินทางก็ดูคล้ายมีจุดม่งหมายไม่ค่อยมีลักษณะสับสนเหมือนใน Psychogenic amnesia แต่บางครั้งอาจกระทำพฤติกรรมรุนแรงต่อผู้อื่นหรือทรัพย์สินของผู้อื่นได้

ค. Multiple personality

คือ การที่คนๆ หนึ่งมีบุคลิกภาพซึ่งแตกต่างกัน ๒ แบบหรือมากกว่า และแต่ละแบบจะเด่นในแต่ละเวลาโดยเฉพาะ บุคลิกภาพแต่ละแบบจะมีลักษณะสมบูรณ์ในตัวของมันเอง การ เปลี่ยนจากบุคลิกภาพหนึ่งไปเป็นอีกบุคลิกภาพหนึ่งมักจะเกิดขึ้นทันทีทันใด และร่วมกับความกดดันทางจิต-สังคม

โดยทั่วไปเมื่อผู้ป่วยอยู่ในบุคลิกภาพแบบหนึ่ง เขาจะไม่รู้ว่าตนมีบุคลิกภาพมากกว่า ๑ แบบ แต่ในกรณีที่บุคลิกภาพแต่ละแบบมีความรู้สึกต่อกันอยู่บ้าง ขณะที่บุคลิกภาพหนึ่งมีปฏิกิริยาสัมพันธ์กับสังคม อีกบุคลิกภาพหนึ่งจะรับรู้อยู่เงียบๆ เท่านั้น

บุคลิกภาพ ๒ แบบนี้มักจะขัดกันหรือตรงกันข้าม เช่น บุคลิกภาพหนึ่งเป็นคนเงียบ สุภาพเรียบร้อย อีกบุคลิกภาพหนึ่งจะเป็นแบบชอบคุยโอ่ ปล่อยตัวหรือสำส่อนทางเพศ และบุคลิกภาพอย่างหนึ่งจะเป็นบุคลิกภาพส่วนใหญ่ของคนๆ นั้น

บุคลิกภาพแบบหนึ่งของผู้ป่วยอาจปรับตัวในสังคมได้ดี เช่น มีงานทำ มีการสังคม ในขณะที่บุคลิกภาพแบบอื่นปรับตัวได้ไม่เหมาะสมหรือมีปัญหาทางจิตใจ บางครั้งอีกบุคลิกภาพหนึ่งเป็นคนละเพศ คนละเชื้อชาติ คนละวัย หรือเป็นคนและครอบครัวกับบุคลิกภาพเดิมที่เป็นต้นกำเนิด

บางครั้งแต่ละบุคลิกภาพอาจได้ยินเสียงพูดซึ่งกันและกัน หรือพูดโต้ตอบกัน และบางครั้งก็มีกิจกรรมร่วมกันด้วย ลักษณะเช่นนี้ต้องแยกจากอาการประสาทหลอน หรือความหลงผิด

มีบ่อยๆ ที่แต่ละบุคลิกภาพจะมีชื่อเฉพาะซึ่งต่างจากชื่อเดิม หรือบางครั้งมีนามสกุลต่างกันด้วย แต่บางครั้งอาจไม่มีชื่อเลย การวินิจฉัย

หลักการวินิจฉัยโรคประสาทแบบฮีสทีเรียชนิด conversion ตาม DSM-III มีดังนี้

๑. ความผิดปกติที่สำคัญ คือ มีการสูญเสียหรือมีการเปลี่ยนแปลงในการทำงานของร่างกาย ซึ่งคล้ายโรคทางกาย

๒. มีปัจจัยทางจิตวิทยาที่น่าเชื่อว่าเป็นสาเหตุของอาการที่เกิดขึ้น โดยมีหลักฐานอย่างใดอย่างหนึ่งที่กล่าวนี้ คือ

๒.๑ มีความสัมพันธ์ระหว่างสิ่งเร้าในสิ่งแวดล้อมกับการเกิดอาการ หรือการเกิดความรุนแรงของโรค

๒.๒ อาการทำให้ผู้ป่วยหลีกเลี่ยงกิจกรรมบางอย่างซึ่งเป็นภัยต่อตัวเขา

๒.๓ อาการทำให้ผู้ป่วยได้รับการสนับสนุนหรือช่วยเหลือจากผู้อื่น

๓. อาการไม่ได้เกิดโดยความจงใจ

๔. อาการที่เกิดขึ้นไม่สามารถอธิบายได้จากการตรวจร่างกาย และการตรวจทางห้องทดลองว่าเป็นโรคทางร่างกาย หรือเป็นความผิดปกติในกลไกการทำงานของร่างกาย

๕. อาการไม่ได้เกิดจากโรคทางจิตอย่างอื่น เช่น โรคจิตเภท

หลักการวินิจฉัยโรคประสาทแบบฮีสทีเรียชนิด conversion ของ Goodwin และ Guze ค.ศ. ๑๙๗๙ มีดังนี้

๑. มีประวัติความเจ็บป่วยทางกายซึ่งไม่ชัดเจนและซับซ้อนสำหรับการตัดสินใจของแพทย์ และอาการบางอย่างเกิดก่อนอายุ ๒๕ ปี

๒. ในผู้หญิงจะต้องมีลักษณะอย่างน้อย ๕ ใน ๖ กลุ่ม และในผู้ชาย ๔ ใน ๖ กลุ่มที่ จะกล่าวต่อไปนี้

นอกจากนั้นอาการป่วยจะต้องรุนแรงจนผู้ป่วยต้องใช้ยา (มากกว่า aspirin) อาการป่วยทำให้แบบฉบับของชีวิตประจำวันเปลี่ยนไป หรือต้องไปพบแพทย์เพื่อรักษา และต้องไม่เป็นอาการที่อธิบายได้กับโรคทางกายอย่างใดอย่างหนึ่ง

กลุ่มที่ ๑ บุคคลนั้นเชื่อว่าตนเจ็บป่วยจริง

กลุ่มที่ ๒ มีอาการสูญเสียความรู้สึก ไม่มีเสียง มีปัญหาในการเดิน หรืออาการทางระบบประสาทอย่างอื่น เช่น อัมพาต ตาบอด ชัก หูหนวก ฯลฯ

กลุ่มที่ ๓ ปวดท้อง อาเจียน

กลุ่มที่ ๔ รู้สึกว่าอาการเหล่านี้บ่อยและรุนแรงกว่าผู้หญิงอื่น ได้แก่ อาการปวดประจำเดือน ประจำเดือนไม่สมํ่าเสมอหรือไม่มีประจำเดือน และประจำเดือนมากเกินไป

กลุ่มที่ ๕ ชีวิตทางเพศมีลักษณะไม่สนใจกิจกรรมทางเพศ ไม่มีความสุขจากการร่วมเพศ หรือมีความเจ็บปวดขณะร่วมเพศ

กลุ่มที่ ๖ มีอาการปวดหลัง ปวดข้อ ปวดแขนขา หรือปวดศีรษะอย่างรุนแรงกว่าคนอื่น

หลักเกณฑ์การวินิจฉัยโรคประสาทแบบฮีสทีเรียชนิด dissociative ของ DSM-III มีดังนี้

๑. มีอาการอย่างใดอย่างหนึ่งต่อไปนี้

๑.๑ ไม่สามารถจำเรื่องราวส่วนตัวที่สำคัญ ซึ่งมากเกินกว่าจะอธิบายได้ว่าเป็นการลืมตามธรรมดา

๑.๒ มีการเดินทางจากบ้านหรือจากที่ทำงานอย่างกะทันหันโดยไม่คาดคิดมาก่อน และในขณะนั้นก็จะมีเอกลักษณ์ของตนเองใหม่ด้วย เมื่อกลับเป็นปกติจะจำเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นไม่ได้

๑.๓ มีบุคลิกภาพซึ่งแตกต่างกัน ๒ แบบหรือมากกว่า และเป็นบุคลิกภาพที่เด่น ในเวลาหนึ่งเวลาใดโดยเฉพาะ บุคลิกภาพที่เด่นในแต่ละเวลาจะเป็นเครื่องกำหนดพฤติกรรมของบุคคลในเวลานั้น และแต่ละแบบของบุคลิกภาพจะค่อนข้างซับซ้อนและมีการผสมผสานกันอย่างดี กับพฤติกรรมและความสัมพันธ์ทางสังคมของบุคคลผู้นั้น

๒. อาการดังกล่าวไม่ได้เกิดร่วมกับโรคจิตที่เกิดจากสภาวะทางร่างกาย หรือโรคจิตเภท

การดำเนินของโรค

การดำเนินของโรคประสาทแบบฮีสทีเรียชนิด conversion มักสั้น โรคเกิดทันทีทันใด และหายไปอย่างรวดเร็ว ในรายที่ป่วยนานอาจทำให้กิจกรรมตามปกติบกพร่องไป หรืออาจมีความ

พิการ เช่น กรณีที่เป็นอัมพาตอาจเกิดการยึดของกล้ามเนื้อและเอ็น (contracture) หรือมีการลีบของกล้ามเนื้อเนื่องจากไม่ถูกใช้งาน

ในพวกที่มีอาการลืม อาการเกิดทันทีทันใดและมักตามหลังความตึงเครียดทางจิต­สังคมอย่างรุนแรง ความตึงเครียดมักเกิดจากการถูกคุกคามทางร่างกาย จากความตาย หรือเป็นความกดดันที่ทนไม่ได้ เช่น การมีชู้หรือการทอดทิ้งไปของคู่สมรส อาการมักหายเป็นปกติอย่างกะทันหัน และมักไม่เป็นอีก

fugue มักเกิดชั่วระยะสั้นๆ เป็นชั่วโมงๆ หรือเป็นวันๆ เวลาหายจะหายอย่างรวดเร็ว และไม่ค่อยเป็นอีก พวกนี้จะมีปัญหาเฉพาะเมื่อไปก่อพฤติกรรมรุนแรง

การมีบุคลิกภาพหลายแบบมักเป็นเรื้อรังกว่าแบบอื่น พวกนี้มักมีปัญหาขนาดปานกลาง ถึงขนาดมาก ขึ้นกับจำนวนลักษณะ และการฝังแน่นของบุคลิกภาพแบบต่างๆ ที่เกิดขึ้น อัตราการหายสนิทน้อยกว่าพวกอื่น อาจมีโรคจิตชั่วคราว (Transient psychotic episode) ความผิดปกติทางเพศ หรือควบคุมอารมณ์โกรธไม่ได้แทรกซ้อนด้วย

การวินิจฉัยแยกโรค ต้องแยกจาก

๑. โรคทางกาย ในกรณีที่มีอาการชนิด conversion

๒. โรคจิตเภท อาจมีอาการ conversion อาการคล้าย Multiple personality หรืออาการ stupor ซึ่งคล้ายโรคประสาทแบบฮีสทีเรีย

๓. โรคประสาทแบบ hypochondriasis พวกนี้มีอาการทางกาย แต่จะไม่มีการเสีย หรือความผิดปกติในการทำงานของร่างกายจริงๆ เหมือนในโรคประสาทแบบฮีสทีเรียชนิด conversion

๔. ความบกพร่องทางเพศ (sexual dysfunction) อาการกามตายด้านในผู้ชายหรือผู้หญิง แยกยากว่าเกิดจากปฏิกิริยาทางสรีรวิทยาของร่างกายต่อความกังวล หรือเป็นการแสดงออก โดยตรงของความขัดแย้งหรือความต้องการของจิตใจ (อาการ conversion)

๕. โรคจิตที่เกิดจากสภาวะทางร่างกาย มีอาการลืมหรืออาการ fugue คล้าย Psycho­genic amnesia หรือ Psychogenic fugue

๖. โรคลมชักที่มีอาการลืมหรืออาการ fugue ต้องแยกจาก Psychogenic amnesia และ Psychogenic fugue แต่พวกโรคลมชักมักมีการเคลื่อนไหวที่ผิดปกติ และการเปลี่ยนแปลงในคลื่นสมองร่วมด้วย

๗. การแกล้งทำ (malingering)

การรักษา

๑. ในกรณีที่มีอาการ conversion ควรตรวจร่างกายอย่างละเอียดเพื่อให้ความมั่นใจแก่ผู้ป่วย และไม่ควรตรวจซ้ำถ้าไม่จำเป็น

๒. การสะกดจิต หรือการทำให้เข้าสู่ภวังค์ด้วยยา amytal sodium มักจะให้ผลดีในการรักษา

๓. จิตบำบัดและการแก้ไขสิ่งแวดล้อม จะช่วยทั้งรักษาและป้องกันการเกิดอาการขึ้นมาใหม่

๔. หลีกเลี่ยงการใช้ยาและการรักษาทางร่างกายอย่างอื่นซึ่งไม่จำเป็น

๕. ยาคลายความวิตกกังวลมักไม่ค่อยมีประโยชน์

ตัวอย่างผู้ป่วย

ผู้ป่วยหญิง เชื้อชาติจีน สัญชาติไทย โสด วัย ๒๒ ปี การศึกษาระดับอาชีวศึกษา ภูมิลำเนาอยู่กรุงเทพฯ มาโรงพยาบาลด้วยอาการสั่นที่ขาทั้ง ๒ ข้างสลับกัน ๑ วันก่อนมา โรงพยาบาล

ก่อนมาโรงพยาบาลผู้ป่วยมีเรื่องทะเลาะกับพี่ชายอย่างรุนแรง เพราะพี่ชายไปติดพันหญิงคนหนึ่งซึ่งทางครอบครัวไม่ชอบ และฝ่ายหญิงมักแสดงคำพูดและอาการดูถูกมารดาผู้ป่วยต่อ หน้า ทั้งยังชักชวนพี่ชายของผู้ป่วยให้เล่นการพนัน ทำให้ครอบครัวสูญเสียเงินไปเป็นจำนวนมาก หลังเกิดเหตุขณะผู้ป่วยกำลังนอนอยู่ ขาซ้ายก็สั่นขึ้น และสั่นอยู่ตลอดเวลา เวลาลุกขึ้นยืนขาซ้ายจะหยุดสั่น แต่ขาขวาจะสั่นแทน และสั่นอยู่ตลอดเวลาเช่นกัน อาการสั่นจะมากขึ้นเมื่อมีความกังวลหรือโกรธ แต่จะสั่นน้อยลงเมื่อผู้ป่วยสบายใจ และหยุดสั่นเวลาหลับ

การตรวจสภาพจิตพบว่า ผู้ป่วยเป็นหญิงจีน วัยสาว หน้าตาเรียบๆ และสมวัย สนใจเกี่ยวกับทรงผมและการแต่งกายดี ท่าทางเป็นมิตร และยิ้มแย้มแจ่มใสพอสมควร กังวลเรื่องต้องหยุดเรียนเพราะขณะนั้นใกล้สอบ แต่ไม่รู้สึกกังวลเกี่ยวกับโรคเท่าใดนัก และผู้ป่วยยังมีความพอใจ ที่จะพูดคุยเรื่องต่างๆ หรือทักทายผู้มาเยี่ยมได้อย่างสดชื่น แต่เมื่อพูดถึงพี่ชายและเพื่อนหญิงของพี่ชายจะแสดงอารมณ์โกรธมาก ไม่มีความหลงผิดและประสาทหลอน การรับรู้เวลา สถานที่ และบุคคลที่ความจำและเชาวน์ปัญญาเป็นปกติ มีความรู้จักตนดี และการตัดสินใจเหมาะสม

ไม่เคยเจ็บป่วยร้ายแรงในอดีต บุคลิกภาพเป็นแบบเอาแต่ใจ่ตน เวลาถูกขัดใจจะโกรธมากแต่จะเก็บเงียบไว้ในใจ มีทิฐิไม่ยอมง้อใคร แต่มีความคิดเป็นผู้ใหญ่และมีความรับผิดชอบสูง การตรวจร่างกายและการตรวจระบบประสาทพบว่าปกติ การตรวจ ทางห้องทดลอง เช่นการตรวจเลือด ตรวจปัสสาวะ และตรวจกล้ามเนื้อ ไม่พบความผิดปกติ

ได้ให้การวินิจฉัยว่าเป็นโรคประสาทแบบฮีสทีเรียชนิด conversion และรักษาด้วยวิธี จิตบำบัด โดยการให้ผู้ป่วยได้ระบาย ให้ความมั่นใจเรื่องความเจ็บป่วย และได้รักษาครอบครัว คือ ให้คำแนะนำแก่บิดามารดา และเปิดโอกาสให้ผู้ป่วยกับพี่ชายได้ปรับความเข้าใจกัน รวมทั้งให้ยาคลายความวิตกกังวลขนาดต่ำๆ ผู้ป่วยหายเป็นปกติภายในเวลาประมาณ ๓ สัปดาห์

↑ กลับสู่ส่วนบนของหน้า