สำหรับผู้ใส่ใจในการรักษาสุขภาพ ทั้งสุขภาพกาย และสุขภาพจิต

โรคทางสมอง

สมองอักเสบ
สาเหตุ
เกิดจากการติดเชื้อไวรัส เช่น เริม พิษสุนัขบ้า โปลิโอ เป็นต้น มีเชื้อไวรัสชื่อ เจแพนีสบี(Japanese B virus) ที่อาศัยอยู่ในสัตว์และสามารถติดต่อถึงคนได้ โดยมียุงรำคาญประเภทคิวเล็กซ์(culex) และเอดีส(aedes)เป็นพาหะนำโรค

อาการ
ผู้ป่วยมักมีอาการไข้สูงอย่างฉับพลัน รู้สึกอ่อนเพลีย ปวดศีรษะ คลื่นไส้ อาเจียน ภายใน 24-72 ชั่วโมงหลังมีอาการผู้ป่วยจะซึมลงเรื่อยๆ จนไม่รู้สึกตัว อาจมีอาการชักร่วมด้วยในบางราย

เยื่อหุ้มสมองอักเสบ
สาเหตุ
เยื่อหุ้มสมองอักเสบ จะมีความสาเหตุและความรุนแรงแตกต่างกันไปแล้วแต่ชนิด มีดังนี้คือ

เยื่อหุ้มสมองอักเสบเฉียบพลันชนิดมีหนอง
มักทำให้ผู้ป่วยมีอาการเฉียบพลันทันที มีความรุนแรง อาจเป็นอันตรายถึงชีวิตได้ในเวลาอันรวดเร็ว ซึ่งโรคชนิดนี้อาจเกิดจากเชื้อนิวโมค็อกคัส สเตรปโตค็อกคัส อีโคไล เมนิงโกค็อกคัส

เยื่อหุ้มสมองอักเสบจากวัณโรค
เกิดจากเชื้อวัณโรค มักแพร่กระจายผ่านกระแสเลือดไปยังปอดและส่วนอื่นๆ ของร่างกาย จนเข้าสู่เยื่อหุ้มสมอง

เยื่อหุ้มสมองอักเสบจากไวรัส
เกิดจากเชื้อคางทูม เชื้อไวรัสเอนเทอโร เชื้อค็อกแซกกี เป็นต้น มักทำให้เกิดอาการอักเสบของสมองร่วมกับเยื่อหุ้มสมอง จากการแพร่กระจายของเชื้อโรคผ่านกระแสเลือดเข้าไป

เยื่อหุ้มสมองอักเสบจากเชื้อรา
เกิดจากเชื้อคริปโตค็อกคัส ที่มักพบตามพื้นดิน ในอุจจาระของไก่
หรือนกพิราบ อาการของเยื่อหุ้มสมองจะเกิดขึ้นอย่างช้าๆ เมื่อเชื้อเข้าสู่ร่างกายโดยการหายใจเข้าปอดแล้วผ่านไปทางกระแสเลือด

เยื่อหุ้มสมองอักเสบจากพยาธิ
เกิดจากพยาธิตัวจี๊ด และพยาธิแองจิโอ ความรุนแรงของโรคนี้จะขึ้นอยู่กับความผิดปกติที่เกิดขึ้นในสมอง

อาการ
ผู้ป่วยอาจมีไข้สูง หรือต่ำซึ่งขึ้นอยู่กับสาเหตุที่ทำให้เกิดขึ้น มักมีอาการปวดศีรษะรุนแรง และปวดติดต่อกันหลายวัน อาเจียน คอแข็ง อาการอาจเห็นได้ไม่ชัดเจนในเด็กอายุต่ำกว่า 2 ปี โดยอาจมีไข้สูง กระสับกระส่าย ร้องเสียงแหลม อาเจียน ชัก กระหม่อมโป่งตึง

ผู้ป่วยอาจมีอาการคล้ายไข้หวัดหรือเจ็บคอนำมาก่อน 12-14 ชั่วโมง ในรายที่เป็นเยื่อหุ้มสมองอักเสบเฉียบพลัน แล้วจะตามมาด้วยอาการปวดศีรษะ อาเจียน คอแข็ง

ผู้ป่วยอาจมีผื่นแดงจ้ำเขียวตามผิวหนังร่วมด้วยในรายที่เป็นเยื่อหุ้มสมองอักเสบจากเชื้อเมนิงโกค็อกคัส อาจมีอาการช็อกอย่างรวดเร็ว โรคนี้ติดต่อกันได้ทางระบบทางเดินหายใจ ชาวบ้านเรียกโรคนี้ว่า ไข้กาฬหลังแอ่น

ผู้ป่วยจะมีอาการไข้ ปวดศีรษะ อาเจียน คอแข็ง ซึม หรือชัก เกิดขึ้นฉับพลันในรายที่เป็นเยื่อหุ้มสมองอักเสบจากไวรัส

ผู้ป่วยจะมีไข้ต่ำๆ อ่อนเพลีย เบื่ออาหาร คลื่นไส้ ประมาณ 2-3 สัปดาห์จะอาเจียนนำมาก่อน ถ้ามีสาเหตุมาจากเชื้อวัณโรคหรือเชื้อรา และจะมีอาการคอแข็ง ปวดศีรษะรุนแรง หรือชักตามมา

ผู้ป่วยจะมีอาการปวดศีรษะรุนแรง อาเจียน คอแข็ง ถ้ามีสาเหตุของโรคจากพยาธิ หรืออาจมีอาการอัมพาตของใบหน้าหรือแขนขาในบางราย

บาดทะยัก
สาเหตุ
เกิดจากเชื้อบาดทะยักที่เป็นเชื้อแบคทีเรียที่มีชื่อว่า คลอสตริเดียมเตตานิ(Clostridium tetani) เป็นเชื้อที่เจริญได้ดีในที่ไม่มีออกซิเจน สามารถมีชีวิตอยู่นานเป็นปีๆ มักพบอยู่ตามดินทราย หรืออุจจาระของสัตว์

อาการ
ผู้ป่วยจะมีอาการขากรรไกรแข็ง อ้าปากไม่ได้ กลืนลำบาก กระสับกระส่ายในระยะแรกๆ และอาจมีอาการอื่นๆ ด้วย เช่น จะมีอาการหดตัว เกร็งแข็งปวดของกล้ามเนื้อแขนขา หน้าท้อง หลัง และส่วนอื่นๆ ทำให้คอแข็งหลังแอ่น ต่อมาแขนขาและกล้ามเนื้อทุกส่วนของร่างกายจะกระตุกเป็นพักๆ โดยเฉพาะเมื่อได้ยินเสียงดัง ถูกแสงสว่าง หรือเมื่อสัมผัส

ชักจากไข้สูง
สาเหตุ
ในเด็กอายุระหว่าง 6 เดือนถึง 5 ปี จะพบอาการนี้ได้มาก เนื่องจากสมองของเด็กจะมีความไวต่อการถูกกระตุ้นจากไข้ มักมีไข้สูง 39 องศาเซลเซียสขึ้นไป และทำให้ชัก มักมีสาเหตุมาจากหูชั้นกลางอักเสบ ทอนซิลอักเสบ และไขหวัด

สาเหตุรองลงมาที่ทำให้เกิดอาการชัก คือ บิดชิเกลลา ท้องเดิน หลอดลมอักเสบ ปอดอักเสบ และส่าไข้

อาการ
จะมีอาการของโรคที่เป็นเหตุ เช่น หวัด เจ็บคอ ไอ ท้องเดิน บิด ร่วมกับมีไข้สูงประมาณ 39.5-40.5 องศาเซลเซียส ต่อมาจะชักครั้งละ 2-3 นาที โดยชักแบบกระตุกทั้งตัว ตาค้าง กัดฟัน กัดลิ้น ผู้ป่วยที่ชักนานเกิน 15 นาที หรือเกิน 1 ครั้งใน 24 ชั่วโมง หรือชักเพียงซีกใดซีกหนึ่งของร่างกายมักจะรายที่มีอาการรุนแรง

โรคลมชัก/ลมบ้าหมู
ส่วนใหญ่จะไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัด ซึ่งอาจเกิดจากเซลล์สมองบางส่วนมีความผิดปกติในการปล่อยพลังงานไฟฟ้า อาจเกี่ยวกับกรรมพันธุ์ หรือตอนเป็นเด็กอาจมีประวัติการชักจากไข้สูง

อาการ
ผู้ป่วยจะมีอาการหมดสติ ล้มลงไปกับพื้นทันที กล้ามเนื้อทั้งตัวมีอาการเกร็ง หน้าเขียว หายใจลำบาก กล้ามเนื้อทุกส่วนของร่างกายจะชักกระตุกเป็นระยะๆ ตาเหลือก ตาค้าง อาการจะถี่ในช่วงแรกๆ แล้วค่อยลดลงตามลำดับจนหยุดชัก ผู้ป่วยจะมีน้ำลายฟูมปาก อาจกัดริมฝีปากและลิ้นตัวเองจนเลือดออก หรืออาจมีอุจจาระปัสสาวะราด

ลมธรรมดา
สาเหตุ
เกิดจากความอ่อนเพลีย หรือเหนื่อยมากๆ อยู่ในที่แออัดยัดเยียดหายใจไม่สะดวก โดนแดดร้อนจัด อากาศร้อนอบอ้าว ตื่นเต้นตกใจ เสียใจกะทันหัน ความเจ็บปวดรุนแรง หรือกลัวเมื่อเห็นเลือด ทำให้สมองมีเลือดไปเลี้ยงไม่พอชั่วขณะ ทำให้มีอาการหน้ามืด วิงเวียน และหมดสติไปชั่วขณะ แต่จะสามารถฟื้นคืนสติขึ้นมาได้เอง

อาการ
ผู้ป่วยจะรู้สึกไม่ค่อยสบาย ศีรษะเบาหวิว วิงเวียน พื้นหมุน รู้สึกโคลงเคลง ตาพร่า หูอื้อ คลื่นไส้ขึ้นมาก่อน อาจมีอาเจียน เหงื่อออก มือเท้าเย็น ตัวอ่อนปวกเปียก ล้มกับพื้น หมดสติทันทีในบางครั้ง อาการชักกระตุกจะไม่มีให้เห็นชัดเจน แต่บางรายอาจมีการกระตุกของมือและเท้าเล็กน้อย

หมดสติ
สาเหตุ
อาจมีสาเหตุได้มากมาย เช่น ได้รับอุบัติเหตุ กินยาหรือเสพยาเกินขนาด มีโรคเรื้อรังประจำตัว บาดเจ็บที่ศีรษะ จมน้ำ ไฟช็อต กินยาพิษ แพ้ยา น้ำตาลในเลือดต่ำ กล้ามเนื้อหัวใจตาย เยื่อหุ้มสมองอักเสบ สมองอักเสบ มาลาเรียขึ้นสมอง หลอดเลือดฝอยแตกในสมอง เบาหวาน ไตวาย ตับแข็ง

อาการ
ผู้ป่วยอาจมีอาการหมดสติ ความรู้สึกหมดไปทุกอย่าง การหายใจไม่เป็นปกติ แขนขาอัมพาต ปากเบี้ยว ตัวเกร็ง ชักกระตุก คอแข็ง มีไข้สูง อาจมีอาการหยุดหายใจและหัวใจหยุดเต้นในรายที่เป็นรุนแรง

อัมพาตครึ่งซีก โรคหลอดเลือดสมอง
สาเหตุ
เกิดจากหลอดเลือดแดงในสมองมีความผิดปกติ อาจมีการตีบ ตัน หรือแตก ทำให้การทำงานของร่างกายหยุดไปบางส่วนจนเกิดอาการอัมพาตของส่วนนั้นขึ้น ซึ่งอาจแบ่งได้ 3 ประการคือ

1. หลอดเลือดสมองตีบ
หลอดเลือดแดงจะค่อยแข็งและตีบขึ้นที่ละน้อย จนมีลิ่มเลือดอุดตันหลอดเลือดในที่สุด เซลล์สมองขาดเลือดไปเลี้ยงทำเกิดเซลล์ตายขึ้น พบได้มากในผู้สูงอายุ

2. ภาวะสิ่งหลุดอุดตันหลอดเลือดสมอง
มักพบในผู้ที่ป่วยเป็นโรคหัวใจ เนื่องจากลิ่มเลือดจากหลอดเลือดนอกสมอง หลุดไปตามกระแสเลือดแล้วไปอุดตันหลอดเลือดที่ไปเลี้ยงสมอง ทำให้เซลล์สมองขาดเลือดเกิดเป็นเซลล์ตาย

3. หลอดเลือดสมองแตก หรือการตกเลือดในสมอง
เป็นสาเหตุที่อันตรายร้ายแรง อาจทำให้ผู้ป่วยตายได้ในเวลาอันรวดเร็ว เนื่องจากเนื้อสมองตายโดยรอบ

อาการ
1. ผู้ป่วยที่เป็นอัมพาตเนื่องจากหลอดเลือดสมองตีบ
ผู้ป่วยมักเป็นผู้สูงอายุ เป็นโรคความดันโลหิตสูง เบาหวาน ไขมันในเลือดสูง สูบบุหรี่จัด ดื่มเหล้าจัดมาก่อน อาจทำให้มีอาการตามัว เห็นภาพไม่ชัด พูดไม่ได้ พูดอ้อแอ้ ปากเบี้ยว ชาตามแขนขา กลืนลำบาก อาจวิงเวียนหรือปวดศีรษะ

2. ผู้ป่วยที่เป็นอัมพาตเนื่องจากภาวะสิ่งหลุดอุดตันหลอดเลือดสมอง
หลอดเลือดสมองจะตีบ ทำให้มีอาการคล้ายกับผู้ที่เป็นอัมพาต และมักมีอาการแบบฉับพลันทันที

3. ผู้ป่วยที่เป็นอัมพาตเนื่องจากหลอดเลือดสมองแตก

อาจมีอาการขึ้นทันทีโดยไม่มีสิ่งบอกเหตุในขณะที่ทำงานออกแรงมากๆ หรือขณะร่วมเพศ ผู้ป่วยจะปวดศีรษะรุนแรง หรือปวดศีรษะซีกเดียว ปากเบี้ยว พูดไม่ได้ แขนขาอ่อนแรงลงเรื่อยๆ มีอาการชักและหมดสติรวดเร็ว

ภาวะโพแทสเซียมในเลือดต่ำ
สาเหตุ
ในขณะที่มีอาการท้องเดิน อาเจียนมาก หรือใช้ยาขับปัสสาวะนานๆ อาจเป็นสาเหตุทำให้สูญเสียโพแทสเซียมไปจากร่างกายมาก ในผู้ที่เป็นโรคอัมพาตครั้งคราวอาจพบว่าในเลือดมีภาวะโพแทสเซียมต่ำเป็นพักๆ ซึ่งแบ่งสาเหตุการเกิดได้ 3 ประเภทคือ

1. อัมพาตครั้งคราวที่เกิดร่วมกับคอพอกเป็นพิษ
2. อัมพาตครั้งคราวชนิดไม่ทราบสาเหตุ
3. อัมพาตครั้งคราวที่พบร่วมกับโรคไตบางชนิด

และยังมีอัมพาตที่เกิดจากกรรมพันธุ์ ที่เรียกว่า อัมพาตครั้งคราวโดยกรรมพันธุ์ อีกด้วย

อาการ
1. ผู้ป่วยมักมีอาการอ่อนเพลีย ท้องอืด ท้องผูก หากมีภาวะโพแทสเซียมในเลือดต่ำ ผู้ป่วยอาจจะมีอาการแขนขาอ่อนแรงเดินไม่ได้ถ้าเป็นมากๆ

2. ผู้เป็นอัมพาตครั้งคราว ขณะตื่นนอนตอนเช้ามักมีอาการแขนขาอ่อนแรง แขนขาขยับไม่ได้ แต่การหายใจการกลืนยังเป็นปกติ มักเกิดอาการขึ้นหลังจากพักผ่อน หลังจากออกกำลังมากเกินไป หลังกินอาหารมื้อหนักโดยเฉพาะอาหารพวกแป้งและน้ำตาล

ที่มา:จากหนังสือวิทยาศาสตร์ในการแพทย์แผนไทย
โดยอาจารย์แพทย์หญิงเพ็ญนภา ทรัพย์เจริญ
รองอธิบดีกรมพัฒนาการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก

↑ กลับสู่ส่วนบนของหน้า