สำหรับผู้ใส่ใจในการรักษาสุขภาพ ทั้งสุขภาพกาย และสุขภาพจิต

แพ้อาหาร(FOOD ALLERGY)

การแพ้อาหารนั้นรู้กันมานานแล้ว ฮิปโปรเครติสในสมัยก่อนคริสต์กาลก็ได้สังเกตว่า คนบางคนภายหลังดื่มนมวัวเกิดอาการคลื่นไส้ อาเจียนและเกิดลมพิษ หลังจากนั้นก็มีผู้รายงานปฏิกิริยาจากอาหารมากขึ้น แต่การศึกษาจริงจังมากระทำในเวลาไม่กี่สิบปีที่ผ่านมา

ผู้แพ้อาหารมีมากน้อยเพียงใด

การแพ้อาหารนั้นเราไม่ค่อยทราบอุบัติการที่แท้จริง เพราะอาการอาจไม่รุนแรง และหายไปได้เอง ผู้ป่วยอาจไม่ไปหาแพทย์ หรืออาการแพ้อาหารอาจไม่ได้แสดงอาการทางระบบทางเดินอาหาร อาจแสดงระบบทางเดินหายใจ เช่น น้ำมูกไหล หอบหืด ทำให้เข้าใจผิดว่าแพ้สารที่เกิดจากการสูดดม เป็นต้น อย่างไรก็ตามในเด็กพบอาการแพ้จากอาหารมากกว่าในผู้ใหญ่ เช่น การแพ้นมวัว ซึ่งรายงานแตกต่างกันในอุบัติการ พบตั้งแต่ 0.1-8% ของเด็กที่ดื่มนมวัว นอกจากนั้น ยังพบว่าโรคภูมิแพ้ในเด็ก เช่น ผื่นแพ้เอ็กซิมา, หืด หรือจมูกอักเสบจากภูมิแพ้ ในเด็กต่ำกว่า 2 ปี มีสาเหตุจากอาหารถึงร้อยละ 80% เมื่อใดขึ้นถึงอายุ 4 ปี สาเหตุจากอาหารอาจพอๆ กับสารก่อภูมิแพ้จากการสูดดมและเมื่อ อายุ 8 ปี จะมีสาเหตุจากอาหารเพียงร้อยละ 15 เท่านั้น

สาเหตุที่เด็กเล็กๆ แพ้อาหารง่ายกว่าผู้ใหญ่ เพราะสาเหตุที่ว่าเด็กยังมีภูมิ คุ้มกันในลำไส้ยังไม่ดีพอ ทำให้อาหารที่ก่อภูมิแพ้ง่ายมีการดูดซึมเข้าร่างกายได้อย่างเต็มที่ นอกจากนั้นระบบการย่อยยังไม่ดี จึงมีการดูดซึมสารที่ถูกย่อยยังไม่สมมูรณ์เข้าร่างกายมาก สาเหตุสองประเภทนี้ทำให้เด็กเกิดอาการแพ้อาหารมากกว่าผู้ใหญ่

ทำไมผู้ป่วยจึงเกิดอาการเเพ้อาหาร

การแพ้อาหารก็คล้ายกับโรคภูมิแพ้อื่นๆ ผู้ป่วยอาจมีกรรมพันธุ์ของโรคภูมิแพ้ ซึ่งอาจทำให้มีโอกาสแพ้ได้ง่ายขึ้น นอกจากนั้นการได้รับอาหารชนิดนั้นบ่อยๆ ก็มีโอกาสกระตุ้นให้ร่างกายสร้างภูมิแพ้ต่ออาหารชนิดนั้นมากขึ้น ผู้ป่วยมักจะถามแพทย์เสมอว่าเหตุใดอาหารที่เคยรับประทานอยู่ โดยไม่มีอาการแพ้มานาน เหตุใดจึงเกิดแพ้ขึ้น ก็เพราะอาหารนั้นไปกระตุ้นระบบอิมมูนของผู้ป่วยให้สร้างภูมิแพ้ขึ้น ซึ่งเป็น IgE ซึ่งจะไปจับกับเซลล์บางชนิด เช่น เซลล์มาสต์ ซึ่งมีอยู่ในลำไส้ ผิวหนัง เยื่อบุจมูก หลอดลม ฯลฯ เมื่อรับประทานอาหารชนิดนั้นเข้าไปอีกจึงเกิดปฏิกิริยา

อาหารอะไรที่พบเป็นสาเหตุบ่อยๆ

อาหารทุกชนิดสามารถก่อให้เกิดอาการแพ้ได้ทั้งสิ้น แต่อาหารบางชนิดเป็นสาเหตุที่พบได้บ่อย ได้แก่ พวกโปรตีน ส่วนอาหารแป้งและไขมันเป็นสาเหตุได้น้อยกว่า อาหารที่พบเป็นสาเหตุได้บ่อยๆ ได้แก่ นมวัว ไข่ อาหารทะเล ถั่ว เนื้อวัว ข้าวสาลี ชอกโกแลต ข้าวโพด มะเขือเทศ สุรา เบียร์ ผลไม้ก็พบได้ เช่น ส้ม สตรอเบอรี่ เงาะ ทุเรียน อาหารดิบๆ สุกๆ ก่อ ให้เกิดการแพ้ได้ง่ายกว่าอาหารที่ทำสุกแล้ว

รายละเอียดของอาหารที่สำคัญ คือ

นมวัว นมเป็นอาหารที่สำคัญที่สุดในเด็กเล็ก นมแม่จะไม่ก่อให้เกิดการแพ้ แต่ในปัจจุบันแม่บางคนมีความจำเป็นต้องให้นมผสม จึงพบการแพ้ได้บ้าง สารในนมวัวมีอยู่มากมายกว่า 20 ชนิด แต่สารที่ก่อให้เกิดการแพ้ได้มี 5 ชนิด 3 ชนิดถูกทำลายด้วยความร้อน อีก 2 ชนิดไม่ถูกทำลายด้วยความร้อน สารสำคัญ เรียก Beta lactoglobulin ดังนั้นการที่นำนมวัวมาต้ม อาจทำให้คนที่แพ้สารที่ถูกทำลายด้วยความร้อนไม่มีอาการเวลาดื่มนมต้ม แต่คนที่แพ้สารที่ทนความร้อน อาจยังมีอาการแพ้อยู่ โดยทั่วไปแล้วคนที่แพ้นมวัวมักไม่แพ้เนื้อวัว และสามารถรับประทานเนื้อวัวโดยไม่มีอาการแพ้ แต่การแพ้นมวัวมักแพ้นมแพะ เพราะมีสารก่อภูมิแพ้คล้ายกัน คนที่แพ้เพนิซิลลิน เวลาดื่มนมวัวสด ซึ่งมักใส่ยานี้เป็นตัวฆ่าเชื้ออาจเกิดอาการแพ้ เช่น เกิดลมพิษขึ้น หรืออาการอื่นๆ ทำให้เข้าใจผิดว่าแพ้นมได้

ไข่ ไข่ก็คล้ายนมเป็นอาหารที่สำคัญในการทำให้ร่างกายเจริญเติบโตแต่ก็ เป็นสาเหตุที่สำคัญของอาการแพ้ ส่วนสำคัญคือ Ovalbumin ซึ่งอยู่ในไข่ขาว

ซึ่งสารก่อภูมิแพ้ในไข่ขาวจะทนต่อความร้อน คนแพ้ไข่ไก่มักจะไม่แพ้เนื้อไก่ หรือขนไก่ แต่ต้องระวังการฉีดวัคซีนบางชนิดที่เพาะเลี้ยงในไข่ อาจก่อให้เกิด ปฏิกิริยาได้เวลาฉีดวัคซีน

อาหารทะเล การแพ้อาหารทะเลมักเกิดอาการเร็วหลังรับประทาน ทำให้ สังเกตุได้ง่าย ปลามีสารก่อภูมิแพ้ที่ทนต่อความร้อน ดังนั้นปลาแม้แต่ทำสุกแล้ว มักยังมีอาการแพ้อยู่ ประมาณครึ่งหนึ่งของผู้แพ้จะแพ้ปลาทุกชนิด ส่วนอีกครึ่งหนึ่งอาจแพ้เฉพาะปลาชนิดหนึ่งชนิดใด การแพ้กุ้ง หอย หรือปูก็เช่นกัน บางคนแพ้เฉพาะกุ้งหรือปูเท่านั้น นอกจากนั้นบางคนก็แพ้แต่กุ้งน้ำจืด หรือกุ้งนํ้าเค็มเท่านั้น บางคนแพ้อาหารทะเลเกือบทุกอย่าง

อาหารพวกถั่ว ถั่วมีหลายชนิด บางชนิดอาจมีคุณสมบัติแตกต่างกันไป ถั่วที่เเพ้ง่ายและมีอาการรุนแรง ได้แก่ถั่วลิสง ส่วนมะม่วงหิมพานต์อาจแพ้รุนแรงได้ เคยมีรายงานแพ้มากถึงช็อคก็มี สำหรับถั่วเหลืองก่อให้เกิดอาการแพ้ได้น้อย เเละมักนำมาผลิตเป็นนมถั่วเหลืองใช้แทนนมวัว ในเด็กที่มีอาการแพ้นมวัว และการก่อภูมิแพ้ในถั่วเหลืองมักถูกทำลายโดยความร้อน

ข้าวสาลี ซึ่งใช้ทำอาหารหลายชนิด เช่น บะหมี่ ขนมปัง ฯลฯ ก่อให้เกิดการแพ้ได้บ่อย โดยเฉพาะพวกฝรั่งกินขนมปังเป็นประจำ ในคนไทยพบได้บ้าง เเละบางรายอาการรุนแรง

อัลกอฮอล์ พวกเหล้า เบียร์ อาจเป็นสาเหตุของการแพ้ได้ ซึ่งอาจแสดง อาการทางระบบทางเดินอาหาร ระบบการหายใจ หรือเป็นผื่น ที่พบบ่อยคือ ท้องเสีย ลมพิษ ซึ่งอาจแพ้ตัวอัลกอฮอล์เอง หรือสี หรือสารที่ใส่แต่งรส หรือ การถนอม การแพ้มักสังเกตได้ง่ายจากผู้ป่วยเอง

สีประกอบอาหารหรือขนม สีอาจเป็นสาเหตุการแพ้ได้มาก แต่คนทั่วไปมักไม่ทราบจึงไม่ได้สังเกต สีที่แพ้ง่ายคือสีเหลือง สีเขียว ได้แก่สีพวก Tartrazine หรือ Yellow dye no.5) ซึ่งมักใช้แต่งสีขนม เช่น ฝอยทองกรอบ สลิ่ม ถั่วกวน วุ้นกรอบ อมยิ้ม ชาจีน ขนมชั้น เป็นต้น บางคนมีอาการรุนแรง หลังรับประทานอาหารหรืออาจเป็นลมพิษเรื้อรัง การแพ้สีพวกนี้มีความสัมพันธ์กับการแพ้ยาพวกแอสไพริน หรือแก้ปวด หรือลดอาการอักเสบบางชนิด เช่น Indomethacin, Aminopyrine, Phenylbutazone, Ibuprofen และ Fenoprofen คนแพ้ยาพวกนี้เวลารับประทานอาหารที่ใส่สีนี้อาจเกิดอาการหอบรุนแรงได้ หรือลมพิษเรื้อรัง

ผักและผลไม้ ผักและผลไม้บางชนิดมีสารพวกซาลิซิย์เลต เช่น แอปเปิล แตงกวา แตงโม มะนาว ส้ม พรุน อาจก่อให้เกิดการแพ้ในผู้ป่วยบางรายได้ ส่วนสตรอเบอรี่นั้น สามารถหลั่งฮีสตามีนได้โดยตรงอาจทำให้เกิดลมพิษได้ นอกจากนั้น ทุเรียน เงาะ ก็พบเป็นสาเหตุได้เช่นกัน

อาการที่เกิดจากแพ้อาหารมีอะไรบ้าง

อาการที่เกิดจากการแพ้อาหารอาจแสดงทางระบบทางเดินอาหาร เช่น คลื่นไส้ อาเจียน ปวดท้อง อาหารไม่ย่อย ท้องเสีย หรือแสดงอาการทางระบบทางเดินหายใจ เช่น หอบหืด นํ้ามูกไหลเรื้อรัง หรือแสดงทางผิวหนัง เช่น ลมพิษ ผื่นแพ้เอ็กซิมาเห่อขึ้น ผู้ป่วยบางรายมีอาการเกิดขึ้นช้าและแสดงออกทางจิตประสาท เช่น หงุดหงิด งุ่นง่าน มึน ปวดศีรษะ อาจแสดงโดยมีการปวดศีรษะข้างเดียว เป็น “ไมเกรน” ก็ได้ ผู้ป่วยบางรายมีอาการมาก อาจเกิดอาการช็อคหายใจไม่ออก บางครั้งถึงกับเสียชีวิตได้

มีโรคอื่นที่มีอาการคล้ายแพ้อาหารหรือไม่

การเกิดอาการดังกล่าว อาจไม่ได้เกิดจากการแพ้อาหารเสมอไป เช่น อา การท้องเสียหลังดื่มนมวัว อาจเกิดจากการแพ้นมวัว หรือผู้นั้นอาจขาดเอ็นซัยม์ แลคเตส ซึ่งปกติร่างกายจะมีเพื่อย่อยนํ้าตาลแลคโตสในนม นอกจากนั้นยังต้อง แยกจากโรคติดเชื้อด้วย

การมีอาการระบบทางเดินหายใจ ต้องคิดถึงสาเหตุอื่นๆ เช่น แพ้สารใน บรรยากาศ อาการทางผิวหนัง เช่น ลมพิษ อาจเกิดจากยา หรือสาเหตุอื่นๆ ได้

ทำอย่างไรจึงจะทราบว่าแพ้อาหาร และแพ้อาหารชนิดใด

การที่แพทย์จะทราบว่าผู้ป่วยแพ้อาหาร และแพ้อาหารชนิดใดนั้น ประวัติผู้ป่วยอย่างละเอียดเป็นสิ่งสำคัญมาก ในรายที่เป็นเด็กต้องถามจากพ่อ แม่ หรือผู้เลี้ยงที่ใกล้ชิด ว่าอาหารที่รับประทานประจำมีอะไรบ้าง และวันที่มีอาการรับประทานอะไรบ้าง อาการที่เกิดขึ้นเป็นแบบใด และเกิดขึ้นหลังรับประทานนานเท่าใด อาหารบางอย่างสังเกตได้ง่าย เช่น หลังรับประทานอาหารทะเล ลมพิษขึ้น ปากบวมในเวลาครึ่งชั่วโมงต่อมา แต่ผู้ป่วยบางรายเกิดอาการช้า เช่น เกิดท้องเสียหลังจากรับประทานไปหลายชั่วโมงแล้ว ทำให้ไม่คิดถึงอาหาร หรือคิดไม่ออกว่าจากอาหารชนิดใด เพราะวันนั้นรับประทานอาหารหลายชนิด ในรายเช่นนี้ควรใช้วิธี “บันทึกรายการอาหารแต่ละวัน” (Diet Diary) โดยการจดอาหาร เครื่องดื่ม ในทุกมื้อโดยละเอียดทุกชนิด และอาการแพ้ที่เกิดขึ้นนั้น แสดงอาการอย่างไร เวลาเท่าใด นำมาเปรียบเทียบในวันที่เกิดอาการว่ามีอาหารชนิดใดซ้ำกันบ้าง ถ้าซ้ำทุกครั้งที่เกิดอาการ อาหารชนิดนั้นก็น่าสงสัยว่าเป็นสาเหตุ ซึ่งจะต้องนำมาทดสอบต่อไปด้วยการหลีกเลี่ยง หรือวิธีให้ผู้ป่วยรับประทานอาหารชนิดนั้นๆ เพื่อดูอาการว่าจะมีซ้ำอีกหรือไม่

การหลีกเลี่ยงอาหารที่สงสัยว่าเป็นสาเหตุ (Elimination of diets) หรือประวัติสงสัยว่าแพ้อาหารอะไร แพทย์มักให้หลีกเลี่ยงอาหารชนิดนั้นๆ เป็น เวลานานพอ เช่น 2-3 สัปดาห์ ในรายที่ประวัติการแพ้อาหารชนิดหนึ่งชนิดใด ไม่ชัดเจน อาจต้องลองงดอาหารที่แพ้ง่ายๆ เช่น อาหารทะเล นม ไข่ เป็นต้น การหลีกเลี่ยงต้องหลีกอย่างเต็มที่ เช่น สงสัยแพ้นม นอกจากจะไม่ดื่มนมแล้ว อาหารหรือขนมที่ทำด้วยนมก็ต้องหลีกเลี่ยงด้วย เช่น ขนมเค้ก ไอสครีม เนย ฯลฯ เมื่อหลีกเลี่ยงอาหารที่สงสัย เป็นเวลา 2-3 สัปดาห์แล้ว อาการดีขึ้น อาจ จะช่วยในการวินิจฉัยเบื้องต้นว่าผู้ป่วยแพ้อาหารชนิดนั้น แต่ยังไม่จริงเสมอไป แพทย์มักแนะนำให้ลองรับประทานอาหารที่สงสัยอีกเป็นการ “ท้าทาย” (Challenge test หรือ Provocation test) ถ้ารับประทานแล้วเกิดอาการขึ้นอีก ก็เป็นการพิสูจน์ได้ดีขึ้น อย่างไรก็ตามมักต้องทำการหลีกเลี่ยงและท้าทายด้วยอาหารที่สงสัยหลายๆ ครั้ง และถ้าผลพบว่าอาการจะหายไปเมื่อหลีกเลี่ยงอาหารนั้นๆ ทุกคราวและเกิดอาการขึ้นเมื่อรับประทานอาหารชนิดนั้นๆ ชั่วคราว ก็เชื่อได้แน่ว่า อาหารชนิดนั้นเป็นสาเหตุที่แน่นอน

สำหรับการทดสอบผิวหนัง เพื่อหาสาเหตุว่าแพ้อาหารอะไรนั้น นิยมทำ เฉพาะวิธีสกิดเท่านั้น ไม่นิยมการฉีดสารสกัดเข้าในผิวหนัง เพราะผู้ป่วยอาจแพ้มากและมีอันตรายได้ นอกจากนั้นการทดสอบทางผิวหนังสำหรับแพ้อาหารก็ไม่ค่อยแม่นยำเหมือนการหาสาเหตุจากสารก่อโรคที่เกิดจากการสูดดม การทดสอบสำหรับอาหารจะแม่นยำเฉพาะอาหารชนิดที่รับประทานแล้วเกิดอาการทันที เช่น รับประทานกุ้งแล้วเกิดลมพิษภายใน 15-30 นาที พวกนี้มักให้ผลบวกในการทดสอบทางผิวหนังด้วย ส่วนผู้ป่วยที่มีอาการแพ้ที่เกิดอาการล่าช้า เช่น ดื่มนมตอนเช้า มีอาการท้องเสียตอนบ่าย หรือกลางคืน ในรายเช่นนี้อาจแพ้ส่วนของนมที่ถูกย่อยแล้ว ซึ่งกินเวลานาน การทดสอบด้วยนม และดูผลใน 15-20 นาที จะให้ผลลบ ดังนั้นการทดสอบทางผิวหนังจึงมีข้อจำกัด และต้องระมัดระวัง ในการแปลผลด้วย

แพ้อาหารแล้วรักษาอย่างไร

เมื่อทราบว่าแพ้อาหารชนิดใดแล้ว การรักษาที่ดีที่สุดคือการหลีกเลี่ยงอาหารชนิดนั้น ไม่สมควรใช้ยาแก้แพ้ก่อนไปรับประทานอาหาร เพราะอาจกันไม่ได้เต็มที่ถ้าแพ้อาหารชนิดนั้นมากๆ อาจมีอันตรายได้ การฉีดสารสกัดจากอาหารที่แพ้เข้าไปทีละเล็กละน้อย เพื่อเพิ่มภูมิคุ้มกันเป็นระยะๆ ก็ไม่นิยมทำเพราะจะต้องฉีดเป็นระยะเวลานาน ไม่คุ้มกับการรับประทานอาหารที่แพ้ นอกจากนั้น การฉีดสารอาหารที่แพ้เข้าในคนมีอาการแพ้มากๆ อาจเกิดอาการรุนแรงและเป็นอันตรายได้

การหลีกเลี่ยงอาหารที่แพ้ต้องดูว่าอาหารนั้นมีความจำเป็นแก่ผู้ป่วยมากน้อยเพียงใด และต้องให้อาหารทดแทนหรือไม่ เช่น เด็กเล็กที่แพ้นมวัว อาจต้องหานม หรืออาหารอื่นที่มีคุณค่าทางอาหารทดแทน เช่น นมถั่วเหลือง หรือพวก milk protein hydrolysate เช่น Nutramigen, Progestimil ในเด็กโตขึ้นมาอาจค่อยๆ เสริมอาหารอื่นๆ ขึ้นโดยมีหลักการว่า ควรเพิ่มทีละอย่าง ประมาณ 3-5 วัน เพื่อให้แน่ใจว่าอาหารที่เพิ่มเข้าไปนั้นไม่ได้ก่อให้เกิดอาการแพ้

สําหรับผู้ป่วย เมื่อมีอาการหลังรับประทานอาหารแล้ว ให้รักษาตามอาการ เช่น ลมพิษ, หรือแน่นจมูก, คัดจมูก อาจใช้ยาแก้แพ้ประเภทแอนด์ฮีสตามีน อาการหอบหืดอาจใช้ยาขยายหลอดลม แต่ถ้าช็อค หรือหายใจไม่ออกต้องรีบนำส่งแพทย์

แพ้อาหารแล้วมีโอกาสหายเองได้หรือไม่

การแพ้อาหารบางชนิด เช่น นมวัว, ไข่, ถั่วเหลือง อาจหายไปเมื่อเด็กโตขึ้น ส่วนการแพ้พวกอาหารทะเล และพวกถั่วมักอยู่ตลอดไป ปฏิกิริยาที่ไม่รุนแรง เช่น ผื่นขึ้น, ลมพิษ ผู้ป่วยอาจลองอาหารชนิดนั้นได้อีก หลังจาก หลีกเลี่ยงอาหารชนิดนั้นไปสัก 6 เดือนถึง 1 ปี และควรเริ่มด้วยจำนวนน้อย ถ้าไม่มีอาการจึงเพิ่มจำนวนได้ แต่ไม่ควรมากนัก สำหรับปฏิกิริยาที่รุนแรง เช่น ช็อค ไม่ควรไปลองรับประทานอาหารชนิดนั้นอีก สำหรับผู้ที่อาการหายไป เมื่อเด็กโตขึ้น อาจไม่แพ้อีกเลยจนตลอดชีวิต แต่บางรายอาจมีอาการกลับมาอีก

การป้องกัน

การป้องกันอาจทำได้โดยพยายามให้ทารกแรกคลอดดื่มนมแม่ และหลีก เลี่ยงนมวัว ในเด็กที่คลอดจากพ่อแม่ที่เป็นโรคภูมิแพ้ควรให้นมแม่ให้นานที่สุด เช่นถึง 6 เดือน โดยพยายามให้อาหารเสริมช้ากว่าเด็กทั่วไป โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ไข่ ปลา อาหารประเภทถั่ว อาหารพวกส้ม มะนาว และควรให้มารดางดอาหารดังกล่าวด้วย เพราะสามารถผ่านทางนํ้านมสู่ลูกได้

,

↑ กลับสู่ส่วนบนของหน้า