สำหรับผู้ใส่ใจในการรักษาสุขภาพ ทั้งสุขภาพกาย และสุขภาพจิต

โรคผิวหนังเหตุสิ่งแวดล้อม

ที่มา:สนธยา  พรึงลำภ

โรคผิวหนังเหตุสิ่งแวดล้อม มักมีสาเหตุจากการสัมผัสสารเคมีต่างๆ ที่มีอยู่มากมายในสิ่งแวดล้อมรอบๆ ตัว ถึงแม้หนังจะเป็นเกราะป้องกันสารเคมี ของร่างกาย แต่ในขณะเดียวกันผิวหนังก็เป็นหนทางให้สารเคมีเข้าสู่ภายในร่างกายได้ด้วย การเกิดปฏิกิริยาตอบสนองของผิวหนังเมื่อสัมผัสกับสารเคมี และลักษณะของรอยโรคที่ปรากฏขึ้นอยู่กับระยะเวลาและความถี่ของการสัมผัส, ภูมิต้านทานและอายุของแต่ละบุคคล

ในที่นี้ได้นำเสนอการทบทวนสาเหตุและกลวิธานการเกิดโรคผิวหนังที่มีสาเหตุจากสิ่งแวดล้อม ลักษณะเวชกรรม ตลอดจนถึงแนวทางการวินิจฉัย และการป้องกันโรค

ปัจจัยทางสิ่งแวดล้อมที่มีผลต่อผิวหนัง

ปัจจัยเชิงกล (mechanical factors)

เป็นเรื่องของแรงกระทบต่อผิวหนังที่ทำให้เกิดโรค เช่น แรงเสียดสีต่อผิวหนัง (friction), ความกดดันต่อผิวหนัง (pressure) และการสั่นสะเทือน (vibration) ซึ่งอาจทำให้เกิดการนูนหนาของผิวหนัง (callosities), แผลถลอก หรือรอยฟกช้ำ และอาจจะมีการติดเชื้อของหนังแทรกซ้อนตามมา

ใยแก้ว (fiberglass) ที่ใช้ในงานอุตสาหกรรมบางประเภท ถ้าสัมผัสผิวหนังอาจทิ่มแทงเข้าไปในหนังทำให้เกิดอาการคันได้ค่อนข้างมาก

ปัจจัยทางกายภาพ (physical factors)

ความร้อน: ทำให้มิเหงื่อออกมาก ผิวหนังบริเวณซอกพับของร่างกายชื้นแฉะ เกิดการติดเชื้อของหนังได้โดยง่าย

ผิวหนังที่สัมผัสกับความร้อนบ่อยๆ อาจจะทำให้เกิดโรค “Erythema ab igne” ลักษณะเป็นรอยแดงเป็นจ้ำๆ คล้ายร่างแห (mottled reticulate hyperemia) ร่วมกับมีหลอดเลือดฝอยโป่งพอง (telangiectasia) ถ้าเป็นนานๆ อาจกลายสภาพเป็นมะเร็งผิวหนังที่ไม่ใช่เมลาโนมา (nonmelanoma skin cancer, NMSC)

ผด (miliaria) เป็นโรคผิวหนังที่พบได้บ่อย ในภาวะที่มีอากาศร้อนชื้นทำให้มีการบวมของเยื่อบุในบริเวณส่วนปลายของท่อเหงื่อ จนเกิดการอุดตันของท่อเหงื่อ และการคั่งของเหงื่อ ทำให้กลายเป็นตุ่มใสเล็กๆในชั้นตื้นของหนังกำพร้า เรียกว่า “miliaria crystalline”

แต่ถ้าการอุดตันเกิดในท่อเหงื่อในบริเวณชั้นลึกของหนังกำพร้า จะทำให้เกิด “miliaria rubra” ลักษณะเป็นตุ่มคันหรือตุ่มใสเล็กๆ ล้อมรอบด้วยรอยแดง (papulovesicle surrounded by ery­thema) ส่วนใหญ่จะเกิดที่ผิวหนังบริเวณใต้ร่มผ้า บางคนที่เกิด miliaria rubra ทั้งตัว อาจทำให้การหลั่งเหงื่อลดลง และทนอากาศร้อนไม่ค่อยได้ บางรายอาจเป็นตุ่มหนอง (miliaria pustulosa) เนื่องจากมีการติดเชื้อสำทับด้วยบัคเตรีชนิดแกรมบวก

ความเย็น ผิวหนังที่สัมผัสกับความเย็นจัด อาจทำให้เนื้อเยื่อถูกทำลาย กลายเป็นแผลและผิวหนังพุพอง

โรคความเย็นกัด (frostbite) เป็นโรคผิวหนังที่เกิดขึ้นเมื่อผิวหนังสัมผัสกับความเย็นจัดที่อุณหภูมิต่ำกว่า ๑๐ องศาฟาเรนไฮต์ เนื่องจากเกิดผลึกน้ำแข็งในชั้นหนังกำพร้าและหนังแท้ ทำให้เนื้อเยื่อของหนังถูกทำลาย การรักษาต้องให้พักผ่อน ให้ยาต้านจุลชีพ ยาระงับอาการปวด และประคบความร้อนในบริเวณที่มีอาการ

Chilblain หรือ pernio เป็นโรคผิวหนังจากความเย็นที่เกิดเฉพาะบางแห่งของร่างกายที่อยู่ส่วนปลาย เช่น มือ เท้า จมูก ใบหู และแก้ม

น้ำ ในบางสถานการณ์ น้ำอาจจะเป็นตัวระคายเคืองต่อผิวหนัง โดยเฉพาะคนที่มีผิวหนังอักเสบอยู่แล้ว ยิ่งถ้าเป็นน้ำกระด้างซึ่งอาจจะมีสาร ประกอบพวกหินปูน แมกนีเซียม และเหล็กเจือปนอยู่ด้วย จะทำให้เกิดการระคายเคืองต่อผิวหนังได้มากขึ้น ทำให้ผิวแห้ง (xerosis) และโรคผิวหนังอักเสบระคายเคือง (irritant dermatitis)

โรคคันเหตุน้ำ (aquagenic pruritus) เป็นอาการคันอย่างรุนแรงในบริเวณผิวหนังที่สัมผัส กับน้ำโดยไม่มีการเปลี่ยนแปลงของผิวหนังให้เห็น แต่อย่างใด เชื่อว่าสารฮีสตามีน และ แอเศติย์ลโฆลีน เป็นสารออกฤทธิ์ที่ทำให้เกิดอาการดังกล่าว โรคนี้พบได้บ่อยในผู้ป่วยที่เป็นโรค polycythemia vera และมีการตรวจพบระดับฮีสตามีนสูงขึ้นในหนังและในสีรัมของผู้ป่วยโรคดังกล่าวด้วย

การสัมผัสน้ำที่มีอุณหภูมิเย็นจัด อาจทำให้เกิดลมพิษได้ในผู้ป่วยบางรายเรียกว่า ลมพิษเหตุน้ำเย็น (cold urticaria)

รังสีอัลตราไวโอเลท ดวงอาทิตย์เป็นแหล่งสำคัญของรังสีอัลตราไวโอเลทในสิ่งแวดล้อม โดยที่รังสีชนิดไม่แตกตัวเป็นประจุ (nonioniziing radiation) ที่มาถึงผิวโลกจะอยู่ในรูปของแสงที่มองเห็นได้ (visible light) ประมาณร้อยละ ๓๕ แปรสภาพเป็นพลังงานความร้อนประมาณร้อยละ ๖๐ และที่เหลืออีกร้อยละ ๕ อยู่ในรูปของรังสีอัลตราไวโอเลท ซึ่งมีอยู่ ๓ ช่วงคลื่น คือ UV-A (๓๒๐- ๔๐๐ นาโนเมตร) UV-B (๒๙๐-๓๒๐ นาโนเมตร) และ UV-C (๒๐๐-๒๙๐ นาโนเมตร) โดยทั่วไปแล้ว ก๊าซโอโซนที่อยู่ในบรรยากาศสามารถดูดซับเอาคลื่น UV-C ได้ทั้งหมด และคลื่น UV-B ได้เพียงบางส่วน ในขณะที่คลื่น UV-A ไม่ถูกดูดซับเอาไว้ และสามารถผ่านมาถึงผิวโลกได้ ทั้งหมด

ผลกระทบต่อผิวหนังเนื่องจากคลื่นรังสีอัลตราไวโอเลท พบได้ทั้งการสัมผัสระยะสั้นและระยะยาว ระยะสั้นเกิดจากการได้รับคลื่น UV-B หลังจากไปออกแดดจัดๆ อาการเกิดขึ้นอย่างฉับพลัน มีอาการปวด บวมแดง ร้อน และพองเป็นตุ่มใสในบริเวณผิวหนังที่ถูกแดดแผดเผาเรียกว่า ผิวไหม้แดด (sunburn) และพบมีสาร interleukin-1 และ tumor necrosis factors เป็นตัวออกฤทธิ์ที่สำคัญ

ในระยะยาว คลื่นรังสีอัลตราไวโอเลท ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงต่อผิวหนังหลายประการ คือ ผิวหนังแห้งและหยาบ มีตุ่มคล้ายสิว (comedones) เกิดขึ้น ผิวหนังบางบริเวณสร้างสีได้น้อยลงเห็นเป็นจุดยาวๆ (Guttate hypomelanosis) หลอดเลือดฝอยโป่งพองใต้ผิวหนัง (telangiectasia) มีรอยจ้ำเลือด (ecchymoses) และการยืดหยุ่นของผิวหนังลดลง

คลื่น UV-B เป็นตัวสำคัญที่อาจทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของ DNA (DNA mutagenesis) ซึ่งนานๆ เข้าอาจทำให้เกิดมะเร็งผิวหนัง

สารเคมี (chemical agents)

สารเคมีในสิ่งแวดล้อมมีหลายชนิดที่ทำให้เกิดโรคผิวหนังได้ ยกตัวอย่าง เช่น ไดออกซิน, L- tryptophan, ไฟว-นิย์ล ฆลอไรด์, เฮกซาฆลอโรเบนซีน, halogenated hydrocarbon, นิคเกิล, โฆรเมียม ฯลฯ

ไดออกซิน สูตรทางเคมีคือ 2,3,7,8 tetrachloro-dibenzo-p-dioxin (TCDD) สารตัวนี้เคยถูกใช้เป็นอาวุธเคมีคือ Agent Orange ในสงครามเวียดนาม สามารถผ่านเข้าสู่ร่างกายได้ โดยการกิน ทางการหายใจ และทางผิวหนัง

ที่เมือง Seveso ประเทศอิตาลี วันที่ ๑๐ กรกฎาคม ๒๕๑๙ มีอุบัติเหตุเกิดในโรงงานอุตสาหกรรมแห่งหนึ่ง มีการรั่วไหลของ TCDD เป็นหมอกปกคลุมไปทั่วบริเวณ พื้นที่กว้างถึงประมาณ ๒๐๐ เอเคอร์ ภายในไม่กี่สัปดาห์ต่อมา พบชาวบ้านที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ป่วยเป็นโรคผิวหนังมีลักษณะเวชกรรมที่พบคือ erythema, edema และ papulo­necrotic lesions

ต่อมาอีกไม่กี่เดือนภายหลังอุบัติเหตุการรั่วไหล พบมีผู้ป่วยบางคนมีผิวหนังเป็นตุ่มคล้ายสิวเกิดขึ้น เรียกว่า สิวฆลอรีน (ฆลอร์แอคเน่) ลักษณะเป็น comedones และถุงน้ำสีเหลืองอ่อนในบริเวณโหนกแก้ม และหลังหู ในรายที่เป็นรุนแรงจะพบสิวฆลอรีนเกิดขึ้นในบริเวณศีรษะ, คอ, แขนส่วนต้น, หน้าอก, หลัง, ท้อง, หน้าขาและบริเวณอวัยวะเพศ

ตารางที่ ๑

โรคเหตุไฟวนิย์ล ฆลอไรด์

สเคลอโรเดอร์มา

ความผิดปรกติของอวัยวะภายใน ไม่พบ พบได้บ่อย
หลอดเลือดฝอยโป่งพอง ไม่พบ พบได้บ่อย
ความผิดปรกติของผิวหนัง พบเฉพาะที่มือและปลายแขน พบได้ทั่วไป
ลักษณะมือ มีเหงื่อออกมาก ไม่มีเหงื่อ
ปลายนิ้วสั้น ปลายนิ้วเรียวเล็ก
พบภาวะ acroosteolysis มีแผล

 

ตุ่มสิวฆลอรีนในผู้ป่วยที่ได้รับสารไดออกซินจะเกิดอยู่ประมาณ ๒ ปี แล้วหายไปได้เอง แต่บางรายจะเกิดเป็นแผลเป็นตามผิวหนังทั่วไป

สารเคมีอื่นๆ ที่อาจทำให้เกิดสิวฆลอรีนได้ ยกตัวอย่างเช่น chlomapthalenes, polychlo­rinated biphenyls, polybrominated biphenyls, polychlorinated dibenzo-p-dioxins, poly­chlorinated dibenzofurans, 3,4,3,4-tetra- chlorobenzene และ 3,4,3,4-tetrachloraz- oxybenzene

L-tryptophan เป็นกรดอะมิโนที่พบได้ในอาหารทั่วไป เคยมีผู้นำมาใช้รักษาอาการนอนไม่หลับ, อาการซึมเศร้า, อาการปวดระดู และเพื่อลดน้ำหนักตัว ในระยะหลังมีรายงานว่า การกิน L-tryptophan อาจทำให้เกิดโรคผิวหนังที่มีลักษณะคล้าย สเคลอโรเดอร์มา ร่วมกับมี fasciitis และ eosinoplilia และมีรายงานผู้ป่วยไปรับการตรวจรักษาที่ Centers for Disease Control (CDC) ประเทศสหรัฐอเมริกา เป็นจำนวนมากกว่าหนึ่งพันราย จากการตรวจทางห้องปฏิบัติการ พบมีการเพิ่มขึ้นของเมแทบอไลต์ ของ L-tryptophan ในร่างกาย คือสาร L-kynurenine และกรดควิโนลินิค การตรวจทางพยาธิของผิวหนังบริเวณที่ผิดปรกติพบมีการอักเสบของ fascia และมีการแทรกซึมของ สิย์มโฟศัยต์, พลาสมาเซลล์ และแมโครเฟจ

ไฟวนิย์ล ฆลอไรด์ คนงานที่ทำงานสัมผัสกับ vinyl chloride monomer เกิดป่วยเป็นโรค “occupational acroosteolysis” ประกอบไปด้วยอาการของปรากฏการณ์เรย์โนด์, ภาวะหนังกระด้าง และออสทีโอลัยสิส ของกระดูกส่วนปลายนิ้ว

ผิวหนังในบริเวณที่มีลักษณะคล้ายภาวะหนังกระด้าง จะแตกต่างจากที่พบใน classic systemic sclerosis ดังแสดงในตารางที่ ๑

นอกจากไฟวนิย์ล ฆลอไรด์ แล้ว สารอื่นๆ ที่อาจทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของผิวหนังคล้าย สเคลอโรเดอร์มา ได้แก่พวกฝุ่นสิลิคา, น้ำมัน เมล็ดเรป ไตรฆลอโรเอธีย์ลีน, โคเคน, L- tryptophan และสิลิโคนที่ใช้ในศัลยกรรมตกแต่ง

เฮกซาฆลอโรเบนซีน เป็นสารป้องกันกำจัดเชื้อราชนิดหนึ่ง ในประเทศตุรกีเคยนำมาใช้กับการปลูกข้าวสาลีเพื่อป้องกันเชื้อราที่มีชื่อว่า “Tilletia tritrici” ในช่วงปี ๒๔๙๘-๒๕๐๔ พบมีผู้ป่วยที่ได้รับพิษจากการบริโภคข้าวสาลีที่ปนเปื้อนด้วยสารเฮกซาฆลอโรเบนซีน มีจำนวนถึงสามพันกว่าราย และป่วยเป็นโรคพอร์ฟัยเรีย อาการที่สำคัญคือ มีขนขึ้นมากบริเวณใบหน้า (facial hypertrichosis) มีตุ่มน้ำพองใสขึ้นบริเวณหลังมือ ซึ่งเมื่อหายแล้วจะกลายเป็นแผลเป็น ผิวหนังมีสีคล้ำลง (hyperpig­mentation ) โดยเฉพาะในบริเวณใบหน้า

กลวิธานการเกิดโรคพอร์ฟัยเรีย ยังไม่ทราบแน่ชัด มีผู้สันนิษฐานว่า เฮกซาฆลอโรเบนซีน อาจไปยับยั้งเอนซัยม์ uroporphyrinogen decar­boxylase ทำให้เกิดการสะสมของ hepatic por­phyrins

นอกจาก เฮกซาฆลอโรเบนซีน แล้วมีรายงานว่าสารตัวอื่นที่อาจทำให้เกิดอาการของโรคพอร์ฟัยเรีย ได้ ก็มี polychlorinated biphenyls, กรด 2,4-dichlorophenoxy acetic, อีธานอล, เหล็ก, อีสโตรเจน และ ไดออกซิน

Polycyclic aromatic hydrocarbons เป็นสารประกอบที่ได้จากการเผาไหม้ของสารอินทรีย์ และยังพบเป็นส่วนประกอบอยู่ในนํ้ามันดิบ และเขม่า ทำให้เกิดมะเร็งผิวหนังได้

สารอื่นๆ ที่อาจทำให้เกิดมะเร็งผิวหนังได้ มีสารประเภท alkylating agents เช่นไนโตรเจนมัสตาร์ด และ เบตาโปปริโอแลคโตน และสารประกอบในกลุ่มสารหอมระเหย เช่น ฟีนอล, แอน­ธราลิน

Halogenated hydrocarbons ใช้ในตู้เย็น และเครื่องปรับอากาศ ปัจจุบันทั่วโลกพยายามจะเลิกใช้สารดังกล่าวแล้วเนื่องจากทำให้โอโซนในชั้นบรรยา- กาศมีปริมาณลดลง มีผู้คาดคะเนว่าถ้าโอโซนในบรรยากาศลดลงร้อยละ ๑ จะทำให้ปริมาณของคลื่น UV-B มาถึงผิวโลกเพิ่มขึ้นร้อยละ ๒ และทำให้อัตราการเกิดมะเร็งผิวหนังเพิ่มขึ้นอีกถึงร้อยละ ๓

นิคเกิล เป็นสารที่พบได้บ่อยว่าทำให้เกิดอาการภูมิแพ้ของผิวหนัง ผู้ป่วยอาจมาด้วยอาการของตุ่มน้ำพองใสเล็กๆ บริเวณมือ หรือเป็นผื่นคันในบริเวณที่สัมผัสกับเครื่องประดับที่มีโลหะนิคเกิลเป็นองค์ประกอบ เช่น ตุ้มหู หัวเข็มขัด

ผู้ป่วยที่แพ้นิคเกิล ควรระมัดระวังการกินอาหารบางอย่างที่อาจมีนิคเกิลเจือปนอยู่ด้วย เช่น หอยนางรม, หน่อไม้ฝรั่ง, ถั่วชนิดเมล็ดแบน เช่น ถั่วเหลือง, ถั่วงอก, เห็ด, หัวหอม, ข้าวโพด, ข้าวสาลี, มะเขือเทศ, ชา, โกโก้, แป้งขนมฟู ฯลฯ

โฆรเมียม ทำให้เกิดอาการแพ้ของผิวหนัง ในบริเวณที่สัมผัสกับโฆรเมียม, อาจเป็นเฉพาะที่ หรือเป็นทั่วตัวก็ได้ นอกจากนี้โฆรเมียมอาจทำให้เกิด แผลเรื้อรังซึ่งหายได้ยาก (chrome ulcers) หรือเกิดการทะลุของเยื่อกั้นโพรงจมูก (nasal perfora­tions) โฆรเมียมอาจจะถูกพบเจือปนอยู่ในเซรามิค, ซีเมนต์, น้ำยาล้างรูป, หนังที่ผ่านการฟอกแล้ว, ผลิตภัณฑ์อาหารประเภทเนื้อและนม

ผู้ป่วยที่ได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นผื่นแพ้สัมผัส เนื่องจากโฆรเมียม มีโอกาสหายค่อนข้างยากมาก และมักจะเป็นเรื้อรังไปตลอดแม้จะได้รับการรักษาก็ตาม

สารชีวภาพ (biologic agents)

สิ่งมีชีวิตในสิ่งแวดล้อมที่อาจทำให้เกิดโรคผิวหนัง ได้แก่ แบคทีเรีย, ไวรัส, พยาธิ, ริคเคทท์เสีย และพืชบางชนิด

ไวรัส เช่น เชื้อเริม (Herpes virus) ลักษณะเป็นตุ่มน้ำพองใสเล็กๆ บริเวณริมฝีปาก หรืออวัยวะเพศ บุคลากรทางการแพทย์อาจติดเชื้อเริมบริเวณมือ (herpetic whitlow) ถ้าไปสัมผัสผิวหนังที่เป็นโรคโดยไม่สวมถุงมือ

เชื้อรา เช่น เดอร์มาโทฟัยต์ ทำให้เกิด โรคกลาก เชื้อราในวัวควาย เช่น Trichophyton verrucosum อาจติดต่อมาสู่คนได้

สปอโรทริโฆสิส เป็นโรคที่เกิดจากเชื้อรา Sporothrix schenckii เกิดจากผิวหนังถูกทิ่มตำด้วยเศษไม้, เสี้ยน, หนามกุหลาบที่มีเชื้อราพวกนี้อยู่ เริ่มแรกเป็นตุ่มเล็กๆ ไม่เจ็บ ต่อมาแตกเป็นแผล เชื้อสามารถแพร่กระจายไปตามระบบน้ำเหลืองได้

บัคเตรี โรค erysipeloid เกิดจากเชื้อบัคเตรีแกรมบวกชื่อ Erysipelothrix insidiosaI ซึ่งสามารถทำให้เกิดการติดเชื้อทางผิวหนังในปลา ทั้งปลาน้ำจืดและปลาน้ำเค็ม ตลอดจนถึงเป็ด ไก่ เชื้อนี้เข้าสู่ผิวหนังได้ทางรอยถลอก หรือบาดแผลเล็กๆ บนผิวหนัง ภายใน ๓-๗ วัน จะเกิดเป็นตุ่มแดงกดเจ็บ, แล้วต่อมาโตขึ้นร่วมกับมีการอักเสบของหลอดน้ำเหลือง และถ้าผู้ป่วยมีภูมิคุ้มกันบกพร่องหรือได้รับการรักษาไม่ดีพออาจเกิดภาวะเลือดติดเชื้อ (septicemia) ตามมา

พยาธิ โรค cutaneous larva migrans หรือ creeping eruption เกิดจากตัวอ่อนของพยาธิปากขอที่อยู่ในดิน ชื่อ Ancylostoma brazilense ลักษณะรอยโรคเป็นรอยแดงยาวคดเคี้ยวอยู่บริเวณขา มีอาการคันร่วมด้วย พบในคนที่เดินไปในเรือกสวนไร่นา โดยไม่สวมรองเท้า

พืช มีพืชหลายชนิดที่ทำให้เกิดโรคผิวหนังจากการสัมผัสได้ อาทิ ดอกเบญจมาศ (Chry­santhemum), ปอกระเจา (Jute), ยี่โถ (Oleander), ต้นพริมโรส เป็นต้น

พืชบางชนิด มีสาร psoralen ซึ่งเมื่อสัมผัสผิวหนังและถูกแสงแดด ทำให้เกิดผิวหนังอักเสบได้ (phyto-photodermatitis) ลักษณะเริ่มแรก ผิวหนังจะมีผื่นแดงคลํ้า แล้วต่อมากลายเป็นสีดำคล้ำ, ซึ่งใช้เวลาหลายเดือนสีถึงจะจางหายไป ตัวอย่างของพืชที่ทำให้เกิดผิวหนังอักเสบเหตุพืชและแสงแดด ได้แก่ หญ้าเจ้าชู้ (burdock), คึ่นฉ่าย (celery), หัวผักกาดแดง (carrot), ส้ม, มะนาว(lime) เป็นต้น

ต้นไม้ที่ทำให้เกิดผื่นแพ้สัมผัสได้ ได้แก่ อะเคเศีย (เซ่น ส้มป่อย, ชะอม, กระถิน), ต้นแอลเดอร์, ต้น beech (เช่น มะเดื่อ), ต้น birch,ต้นเกาลัด (chestnut), ต้นเศดาร์, ต้นเอล์ม, ต้นเมเปิล, ต้นโอ๊ค, ต้นไพน์, ต้นพ็อพลาร์, ต้นพรุน และต้น spruce เป็นต้น

การวินิจฉัยโรคผิวหนังเหตุสิ่งแวดล้อม

การซักประวัติ

ประวัติการสัมผัส การสัมผัสกับปัจจัยในสิ่งแวดล้อมที่สงสัยว่าจะเป็นสาเหตุ ควรมีความถี่ หรือปริมาณการสัมผัสมากเพียงพอที่จะทำให้เกิดโรคได้ ตัวอย่างเช่น การล้างมือเพียงวันละครั้งไม่น่าจะทำให้เกิดความผิดปรกติต่อผิวหนัง แต่ถ้าล้างมือวันละ ๒๐-๓๐ ครั้ง อาจทำให้เกิดการระคายเคืองต่อผิวหนังได้

ระยะเวลาในการเกิดโรคผิาหนัง ส่วนใหญ่จะเกิดตามหลังการสัมผัสเสมอ แต่ระยะเวลาที่ทำให้เกิดโรคไม่แน่นอนแล้วแต่สาเหตุ ตัวอย่างเช่นสิวฆลอรีน จะเกิดหลังจากสัมผัสต่อสารไดออกซิน แล้วเป็นเวลาอย่างน้อย ๖-๘ สัปดาห์ หรือมะเร็งผิวหนังจะเกิดขึ้นได้จากรังสี UV-B ก็ต้องใช้เวลานานหลายปี

ประวัติที่เกี่ยวข้องกับการทำงาน โรคผิวหนังเหตุสิ่งแวดล้อมที่เกี่ยวข้องกับการทำงาน มักจะมีอาการดีขึ้นถ้าได้หยุดพักงานอย่างน้อย ๑ สัปดาห์ แต่บางครั้งก็ไม่แน่เสนอไป เพราะอาจมีปัจจัยอื่นๆ มาเกี่ยวข้อง เช่น การรักษาของแพทย์ หรือโรคภายในบางอย่างของตัวผู้ป่วยเอง นอกจากนี้ โรคผิวหนังบางโรค เช่น โรคมะเร็งผิวหนัง ถึงจะหยุดพักงานอย่างไร อาการก็จะไม่ดีขึ้นอย่างแน่นอน

ประวัติการเจ็บป่วยในครอบครัว ควรจะซักประวัติในครอบครัวที่เกี่ยวข้องกับเรื่องการแพ้ยา การแพ้อาหาร และโรคภูมิแพ้ต่างๆ

ปัจจัยที่ทำให้โรคผิวหนังกำเริบ ควรถามเกี่ยวกับปัจจัยในสิ่งแวดล้อมที่ทำให้อาการของโรคผิวหนังเป็นมากขึ้น เช่นคันหรือปวดแสบปวดร้อนมากขึ้น หรือบริเวณผิวหนังที่เป็นโรคแผ่กระจายกว้างมากขึ้น หลังจากที่ผู้ป่วยเข้าไปสัมผัสกับปัจจัยในสิ่งแวดล้อมดังกล่าว

ประวัติการเจ็บป่วยด้วยโรคผิวหนังอื่นๆ เช่น โรค seborrheic dermatitis, nummular eczema ฯลฯ อาจทำให้แพทย์เข้าใจผิดว่าเป็นโรคผิวหนังที่เกิดจากสิ่งแวดล้อม ดังนั้นควรวินิจฉัยแยกโรคผิวหนังอื่นๆ ที่ไม่เกี่ยวข้องกับสิ่งแวดล้อมด้วย

ลักษณะเวชกรรม

โรคผิวหนังที่เกิดจากสาเหตุในสิ่งแวดล้อม ควรจะมีการเปลี่ยนแปลงของผิวหนังที่เข้ากันได้ กับปัจจัยที่เป็นตัวต้นเหตุ ตัวอย่าง เช่น สิวฆลอรีน ควรพบเป็นลักษณะของสิวหัวปิด (close come­dones) และถุงน้ำเล็กๆ (small cysts) ในบริเวณโหนกแก้ม ซึ่งไม่เหมือนกับลักษณะของสิวโดยทั่วไปที่มักจะพบเป็นตุ่มแดง หรือตุ่มหนอง และอาจจะพบได้ทั่วไปทั้งที่บริเวณลำตัว หลังและใบหน้า

 

โดยทั่วไป ตำแหน่งของโรคผิวหนังเหตุสิ่งแวดล้อม มักจะพบในบริเวณที่สัมผัสกับสารต้นเหตุ เช่นโรคผิวหนังอักเสบที่เกิดจากสัมผัสสารก่อภูมิแพ้ (allergic contact dermatitis) มักจะพบที่บริเวณมือและแขน มะเร็งผิวหนังมักจะพบในบริเวณผิวหนังที่ถูกกับแสงแดด เป็นต้น

การทดสอบใช้แผ่นน้ำยาปิด (patch test)

การทดสอบที่สำคัญอย่างหนึ่งในการค้นหาสารในสิ่งแวดล้อมที่อาจจะเป็นต้นเหตุของการแพ้ โดยการนำสารที่สงสัยปิดที่บริเวณหลัง แล้วดูผลใน เวลา ๔๘ และ ๙๖ ชั่วโมง การทดสอบที่ให้ผลบวก อาจจะพบตั้งแต่เป็นรอยแดง (erythema) ไปจนถึงเป็นตุ่มใส และมีอาการบวม ทั้งนี้ ควรระวังผลบวกเท็จ อันเนื่องจากการใช้สารทดสอบที่มีความเข้มข้นมากเกินไป จนเกิดฤทธิ์ระคายเคืองต่อผิวหนัง

การป้องกันโรคผิวหนังเหตุสิ่งแวดล้อม

๑. ควรหลีกเลี่ยงการสัมผัสสารในสิ่งแวดล้อมที่เป็นต้นเหตุ แต่ถ้าหลีกเลี่ยงไม่ได้ควรสวมใส่อุปกรณ์ป้องกัน เช่น ถุงมือ, หรือชุดสวมใส่ที่ทำด้วยวัสดุที่สามารถป้องกันการซึมผ่านของสารที่เป็นต้นเหตุได้

การใช้ครีมป้องกันผิว (barrier creams) ยังเป็นที่ถกเถียงกันอยู่ว่าจะมีประสิทธิภาพในการป้องกันได้จริงหรือไม่ นอกจากนี้การใช้ทั้งอุปกรณ์ป้องกัน หรือครีมป้องกันผิวในบริเวณผิวหนังที่กำลังมีการอักเสบ อาจจะยิ่งให้โรคกำเริบเป็นรุนแรงมากขึ้น

๒. อนามัยส่วนบุคคลหลังจากทำงาน ควรชำระล้างสารที่ปนเปื้อนอยู่บนผิวหนังด้วยสบู่อ่อนๆ และน้ำ แล้วทาด้วยครีมบำรุงผิว (moisturizer) ก็ น่าจะเพียงพอสำหรับการป้องกันผิวหนังจากสารระคายเคืองโดยทั่วไปอย่างไรก็ตาม ถ้าเป็นการเปื้อนจากคราบน้ำมัน หรือคราบไขซึ่งล้างออกได้ยาก อาจจะต้องใช้ waterless hand cleansers (ซึ่งมีส่วนประกอบของตัวทำละลายอินทรีย์) หรือใช้ abrasive soaps บางชนิด จึงจะล้างคราบเปื้อนออกได้หมด แต่การใช้ waterless hand cleansers หรือ abra­sive soaps ก็ดี ควรตามด้วยการใช้สบู่อ่อนๆ และ ล้างน้ำออกอีกครั้งหนึ่ง และไม่ควรใช้กับผิวหนังที่กำลังมีการอักเสบ

๓. การให้สุขศึกษา เพื่อให้ทราบถึงสารหรือสาเหตุในสิ่งแวดล้อมที่อาจทำให้เกิดโรคผิวหนังตลอดถึงวิธีการป้องกัน

 

↑ กลับสู่ส่วนบนของหน้า