สำหรับผู้ใส่ใจในการรักษาสุขภาพ ทั้งสุขภาพกาย และสุขภาพจิต

อิทธิพลของสื่อมวลชนต่อการฆ่าตัวตาย

ที่มา:อนุชา ม่วงใหญ่

สื่อมวลชน นับได้ว่าเป็นสภาพแวดล้อมอย่างหนึ่งที่มนุษย์สร้างขึ้น ซึ่งมีผลกระทบต่อมนุษย์เองทั้งเชิงบวกและลบ

ในช่วงปลายปีที่ผ่านมาได้มีข่าวจากสื่อมวลชนต่างๆ ถึงปัญหาทางสังคมซึ่งปรากฏขึ้นอย่างต่อเนื่องเกี่ยวกับการฆ่าตัวตาย: ๒๘ กย. ๔๑ นักศึกษาหนุ่มปี ๓ คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย แขวนคอตาย, ต่อมา ๓๐ กย. นักศึกษาสาวปี ๔ คณะวิทยาศาสตร์ภาควิชาเทคโนโลยีชีวภาพ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กระโดดตึกตาย, ๑๘ ตค. นิสิตชายปี ๔ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กินยาตาย, ๒๙ ตค. นิสิตชายปี ๑ คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กระโดดตึกตาย, ตลอดจนดาราวัยรุ่นชื่อดัง “เล็ก’’ ศรันย์ สาครสิน กระโดดน้ำตาย, ศรีประไพ เฉยฉิว สาวไทยที่โดดดาดฟ้าแมนชั่นตาย, นักศึกษาปริญญาโทกระโดดตึก, และหนุ่มทหารเรือ วิรัช บัวศิริ ตลอดจนนักเรียนทหารกินยาตาย และอีกหลายๆ ชีวิตที่ฆ่าตัวตาย และคิดที่จะพยายามฆ่าตัวตาย, (ซึ่งบางส่วนสื่อมวลชนไม่ได้นำมาเสนออีก เป็นจำนวนมาก). ปรากฏการณ์นี้ได้บ่งชี้ชัดว่าการฆ่าตัวตายมีแนวโน้มสูงขึ้น

จากความชุกของการฆ่าตัวตายดังกล่าวของเยาวชนเหล่านั้น ทำให้เกิดคำถามที่ต้องหาคำตอบว่า “สังคมไทยขณะนี้เกิดการเปลี่ยนแปลงอะไรขึ้น” ถึงแม้การฆ่าตัวตายจะเป็นสิทธิส่วนบุคคลที่ผู้ตายเลือกกระทำตนเองก็ตาม หากมองถึงวิกฤตของชีวิตคนที่ฆ่าตัวตาย อาจแสดงให้เห็นถึงปัญหาการขาดซึ่ง ความสุขและที่พึ่งทางจิตใจในครอบครัว และผลกระทบที่เกิดจากสังคมในภาวะวิกฤตนี้ว่ามากน้อยอย่างไรหรือไม่

การเปลี่ยนแปลงของสังคม

คนไทยเป็นคนที่มีน้ำใจเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ รักกัน เหมือนพี่เหมือนน้อง, คนไทยเป็นคนรักสงบถ้อยทีถ้อยอาศัยกัน ไม่ชอบความรุนแรง, คนไทยให้อภัย กันง่าย โกรธใครได้ไม่นาน แต่ในปัจจุบันเอกลักษณ์ของคนไทยที่โดดเด่น อันเป็นที่มาของคำว่า “สยามเมืองยิ้ม” กำลังเสื่อมสลายไป คนไทยในสังคมเริ่มตายด้านต่อความรู้สึกที่ค่อนโยนและอ่อนละมุน คนในสังคมเริ่มละเลยต่อความรู้สึกสงสาร และเริ่มกระด้างต่อคุณธรรม จริยธรรมที่เคยมีให้แก่กันและกัน, มีแต่การเรียนรู้ที่จะคอยสนองความชั่วร้ายทั้งในความคิด คำพูด และการกระทำ จิตใจของคนในสังคมตกต่ำอย่างรวดเร็วจน ณ เวลานี้ อาจเรียกสังคมไทยได้ว่า “สังคมแห่งความรุนแรง” สังคมที่มีความสับสนวุ่นวายเต็มไปด้วยความไม่แน่นอน สมาชิกในสังคมจะเกิดความรู้สึกแปลกแยกไม่เป็นส่วนหนึ่งของสังคม ขาดความหมายของการมีชีวิตอยู่ การฆ่าตัวตายในสังคมเช่นนี้จะเพิ่มมากขึ้น เช่น เดียวกันกับสังคมที่เน้นความเป็นตัวของตัวเอง, เน้นการแก่งแย่งแข่งขันในหมู่เยาวชน ตลอดจนค่านิยมต่างๆ จะบั่นทอนเกิดปัญหาต่างๆ ได้แก่ ภาวะซึมเศร้า, การฆ่าตัวตายในวัยรุ่น, การหย่าร้าง, ความรุนแรง ในรูปแบบต่างๆ เพิ่มมากขึ้น

กระโดดตึกฆ่าตัวตาย

ปัญหา: การฆ่าตัวตาย

ปัจจุบันการฆ่าตัวตายเป็นสาเหตุการตายที่สำคัญอย่างหนึ่งของคนทั่วโลก และมีแนวโน้มจะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ องค์การอนามัยโลกแถลงว่า ในโลกของเรามีผู้เสียชีวิตจากการฆ่าตัวตายวันละ ๒,๐๐๐ คน หรือประมาณ ๗๘๐,๐๐๐ คนต่อปี ในประเทศที่พัฒนาแล้วในทวีปยุโรปและอเมริกาเหนือ การเสียชีวิตจากการฆ่าตัวตายอยู่ในอันดับ ๕-๑๐ ของสาเหตุการตายทั้งหมด, เฉพาะในประเทศสหรัฐอเมริกามีการฆ่าตัวตายไม่น้อยกว่า ๓๐,๐๐๐ คนต่อปี สำหรับ กรณีที่เกิดมีการฆ่าตัวตายหรือพยายามฆ่าตัวตายมากขึ้นในประเทศไทย กระทรวงสาธารณสุขได้รวบรวมสถิติพบว่า

จากการศึกษาผู้ที่ฆ่าตัวตายที่เป็นข่าวทางหนังสือพิมพ์ในรอบ ๑ ปี (ระหว่าง ๖ กรกฎาคม ๒๕๔๐-๓๐ มิถุนายน ๒๕๔๑) รวม ๕๑๓ ข่าว มี จำนวนผู้ที่เสียชีวิตแยกตามรายเดือน พบว่าเดือนที่มีการฆ่าตัวตายมากที่สุดคือ เดือนมกราคม จำนวน ๖๔ คน รองลงมาได้แก่ เดือนเมษายน จำนวน ๕๘ คน เดือนพฤศจิกายนและธันวาคม จำนวน ๕๗ คน ตามลำดับ

จากการศึกษาปัญหาการฆ่าตัวตายในประเทศไทย ของกรมสุขภาพจิต (มปป.) เดือนที่มีการฆ่าตัวตายมาก คือ เดือนเมษายน กรกฎาคมและกันยายน จากจำนวนผู้เสียชีวิตทั้งสิ้น ๕๖๐ คน เป็นเพศชาย ร้อยละ ๗๕.๓๖, เพศหญิง ร้อยละ ๒๔.๖๔. ผู้ที่รับบาดเจ็บจำนวน ๓๕ คน เป็นเพศชาย ร้อยละ ๘๒.๘๖ เพศหญิง ร้อยละ ๑๗.๑๔.

ช่วงอายุที่พบว่ามีการฆ่าตัวตายมากที่สุดคือ อายุระหว่าง ๒๑-๓๐ ปี ร้อยละ ๓๐.๒๕, รองลงมาได้แก่ช่วงอายุ ๓๑-๔๐ ปี ร้อยละ ๒๔.๒๗. จากการศึกษาปัญหาการฆ่าตัวตายในประเทศไทย ของกรมสุขภาพจิต (มปป.) กลุ่มเสี่ยงที่ฆ่าตัวตายสำเร็จในเพศชาย มีอายุระหว่าง ๓๑-๕๐ ปี เป็นที่น่าสังเกตว่าในปัจจุบันนี้ กลุ่มเสี่ยงในเพศชายกลับมีอายุน้อยลงคืออยู่ในช่วงอายุ ๒๑-๔๐ ปี ซึ่งมีจำนวนถึง ๒๓๖ คน จากจำนวนทั้งสิ้น ๔๑๔ คน, ซึ่งสอดคล้องกับการศึกษาของ มาโนช หล่อตระกูล (๒๕๔๑) ที่พบว่าในทศวรรษปี ๒๕๓๐-๒๕๔๐ เพศชายมีอัตราการฆ่าตัวตายสูงเพิ่มขึ้นมากกว่าเพศหญิงใน ช่วงอายุ ๒๐-๒๔ ปี; สัดส่วนฆ่าตัวตาย ชาย:หญิง เท่ากับ ๒.๖:๑

การพยายามฆ่าตัวตายและการฆ่าตัวตายจึงเป็นปัญหาด้านจิตวิทยา, เศรษฐกิจ, สังคม และสิ่งแวดล้อม การฆ่าตัวตายที่มีจำนวนมากขึ้นในสภาพ สังคมไทยในปัจจุบันเป็นคำถามที่น่าใคร่ครวญว่าสังคมไทยกำลังเกิดอะไรขึ้น อะไรเป็นปัญหาทำให้เกิดการพยายามฆ่าตัวตาย, และการฆ่าตัวตายใน สังคมไทยในปัจจุบันมีแนวโน้มมากขึ้นมีผลจากสิ่งใด (นอกจากผลกระทบจากเศรษฐกิจในปัจจุบันที่กำลังผจญอยู่)

นักวิชาการและนักทฤษฎีต่างๆ ได้แบ่งการฆ่าตัวตายออกเป็น ๔ ประเภทโดยดูจากเจตนาของผู้กระทำ คือ

๑. การฆ่าตัวตายที่มีการวางแผนไว้ล่วงหน้า (premeditated suicide)

๒. การฆ่าตัวตายแบบสองจิตสองใจ (ambiva­lent suicide)

๓. การฆ่าตัวตายเมื่อทำร้ายผู้อื่นด้วยวิธีรุนแรง (coercive suicide)

๔. การฆ่าตัวตายแบบไม่ตั้งใจ (faux suicide)

ฌไนด์แมน และฟาร์เบอโรว์ (๑๙๗๐) เชื่อว่าคนที่กระทำการฆ่าตัวตายเกิดจากแรงจูงใจ (mo­tive) ที่ซับซ้อนซึ่งแยกได้เป็น ๔ ลักษณะ คือ

-ฆ่าตัวตายเพราะความเชื่อที่ว่าจะได้ไปเริ่มชีวิตใหม่ที่ดีกว่า เช่น เชื่อว่าชาติหน้ามีจริง ถ้าตายไปแล้วจะได้พบคนรักที่จากไป หรือถ้าตายไปแล้วจะได้ขึ้นสวรรค์ หรือถ้าตายไปแล้วจะได้เป็นผู้ที่มีเกียรติ เช่น การทำฮาราคีรี ของชาวญี่ปุ่น

-ฆ่าตัวตายเพื่อหลีกหนีความทุกข์ทรมาน ความเจ็บปวด ได้แก่ ผู้ป่วยที่ไม่มีทางรักษาได้ หรือคนชราที่มองไม่เห็นคุณค่าของชีวิตที่จะอยู่อีกต่อไป

-ฆ่าตัวตายเพราะอาการกำเริบทางโรคจิต ซึ่งเกิดอาการทางประสาทหลอนหรือทางจิตได้ยินเสียงเรียกชักชวนให้ฆ่าตัวตาย

-ฆ่าตัวตายเพื่อประชด แก้แค้นคนที่ตนรัก เป็นความต้องการที่จะให้คนที่ตนทั้งรักทั้งแค้นได้สำนึกผิด และคร่ำครวญคิดถึงตนที่ต้องตายจากไป

ความสามารถของปัจเจกบุคคลในการเลือกแนวทางการดำเนินชีวิตหรือแนวทางแก้ไขปัญหาชีวิตและปัจจัยอุปสรรคต่างๆ ในชีวิตที่เผชิญอยู่ในสภาพสังคมปัจจุบันนี้ได้มากน้อยเพียงใดนั้น ขึ้นอยู่กับปัจจัย ๓ ประการ คือ

๑. ปัจจัยทางด้านร่างกาย

๒. ปัจจัยทางด้านจิตใจ

๓. ปัจจัยทางด้านสังคม

จะเห็นได้ว่าปัจจัยทางด้านสภาพของสังคมและ จิตใจนั้น เป็นองค์ประกอบส่วนหนึ่งที่เป็นสาเหตุให้เกิดมีการพยายามฆ่าตัวตายหรือฆ่าตัวตายของคนในสังคมไทยมากขึ้น โดยเฉพาะวัยรุ่นที่อยู่ในวัยแห่งการเรียนรู้หรือวัยแห่งการศึกษา อันเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาประเทศชาติ, ที่ได้รับผลกระทบจากสภาพสังคมไทยในยุควิกฤตทางเศรษฐกิจในปัจจุบันที่ทวีความรุนแรงมากขึ้น ประกอบกับการขาดการดูแลเอาใจใส่จากครอบครัว ขาดที่ปรึกษา ที่จะช่วยเหลือเป็นที่ระบายความคับแค้นข้องใจต่างๆ เนื่องจากสภาพของครอบครัวไทยที่เปลี่ยนแปลงไป ทำให้เด็กหรือเยาวชนในครอบครัวขาดผู้ชี้นำหรือได้รับความช่วยเหลือทางด้านจิตใจ

เดอร์ไคม ได้ให้แนวคิดในเรื่องความสัมพันธ์ และการปรับตัวกับสังคมสิ่งแวดล้อมว่าเป็นปัจจัยที่สำคัญของการพยายามฆ่าตัวตายและฆ่าตัวตาย ซึ่ง สอดคล้องกันมูลเหตุสำคัญ ๔ ประการใหญ่ๆ คือ

๑. สภาพสังคม โดยเฉพาะสถาบันครอบครัว ที่เป็นองค์ประกอบที่สำคัญ

๒. สภาพร่างกาย ได้แก่ ความพิการและการเป็นโรคร้ายต่างๆ

๓. สภาพจิตใจหรือสุขภาพจิตเสื่อมโทรม, ความผิดปรกติทางจิต, ความล้มเหลวในชีวิต, ความท้อแท้หมดกำลังใจ สิ้นหวัง

๔. การเลียนแบบ

จะเห็นได้ว่าจากแนวความคิดต่างๆ ที่ได้กล่าวมานี้สาเหตุการพยายามฆ่าตัวตายและการฆ่าตัวตายนั้น ส่วนหนึ่งมีผลมาจากสภาพของสังคมที่เปลี่ยนแปลง โดยเฉพาะสภาพสังคมครอบครัวที่ต้องประสบภาวะวิกฤตเศรษฐกิจ, และสภาพของครอบครัวที่ต้องแข่งขันและต่อสู้เพื่อความอยู่รอดในสังคมอันเป็นสาเหตุ ที่ทำให้ความเป็นสังคมไทยในอดีตที่อบอุ่นเริ่มจาง หายไป

เด็กและเยาวชนเป็นบุคคลผู้สมควรอยู่ในวัยแห่งความไร้เดียงสาและวัยแห่งการเรียนรู้ กลับได้รับผลกระทบจากสังคม ครอบครัวและสิ่งแวดล้อม ก่อให้เกิดพฤติกรรมที่แสดงออกถึงความรุนแรงมาก ยิ่งขึ้น เช่น เด็กชายวัย ๑๓ ปี กระโดดตึกเรียนดับสยองกลุ้มปัญหาครอบครัวที่แม่มีพฤติกรรมรักร่วมเพศ; เด็กหญิงวัย ๑๔ ปี แขวนคอตายจากปัญหาครอบครัวแตกแยก; เด็กอายุ ๑๑ ปี เอาไม้ตีหัวเด็กอายุ ๔ ปีตาย เพื่อแย่งเอาจักรยานมาเป็นของตน จากนั้นได้เอา ศพเด็กอายุ ๔ ปีไปฝัง เนื่องจากเพราะความอยากได้จักรยานเอาไว้เล่นเท่านั้น; เด็กชายวัย ๑๔ ปี ข่มขืนเด็กหญิงอายุ ๑๔ ปี; หรือแม้กระทั่งนักเรียนช่างกลที่สมัยหนึ่งเคยถือไม้ไว้ตีกัน กลับกลายเป็นสาดกระสุนเข้าใส่ประชาชนเพราะว่ามีนักศึกษาคู่อริยืนอยู่ ทำให้คนที่ไม่มีความผิดต้องเสียชีวิต

ปัญหาของเยาวชนและวัยรุ่นที่ขาดที่พึ่งทางจิตใจ ขาดกำลังใจและผู้ชี้นำในทางที่ถูกต้องกรณีที่เกิดปัญหาต่างๆ ในชีวิต โดยคิดและเลือกหาทางออก หรือตัดสินใจกับปัญหาต่างๆ ของชีวิตด้วยตนเอง และโดยเฉพาะการแก้ไขปัญหาโดยการเลียนแบบ เพียงแค่อารมณ์ชั่ววูบ โดยขาดความยั้งคิดจึงเป็น สาเหตุที่สำคัญอย่างหนึ่งในการฆ่าตัวตาย ซึ่งอาจจะเป็นการเลียนแบบจากข่าวในหนังสือพิมพ์ วิทยุ โทรทัศน์ ที่มีการนำเสนออย่างเผ็ดร้อนในเนื้อหา ด้วยภาพ และคำบรรยายที่ยั่วยุสร้างความเผ็ดร้อน ด้วยภาษาข่าว วิธีการนำเสนอของสื่อต่างๆ นั้น มีความเหมาะสมหรือไม่ เป็นสาเหตุส่วนหนึ่งที่ทำให้ เยาวชนวัยรุ่นนั้นมีการฆ่าตัวตายมากขึ้นหรือไม่

ข่าวความรุนแรงโหดร้ายที่นำเสนอหลายครั้ง เปรียบเสมือนดาบสองคมที่ด้านหนึ่งเพื่อเป็นกระจกส่องให้สังคมเห็นว่าเกิดอะไรขึ้นเพื่อระมัดระวังป้องกัน แต่อีกด้านหนึ่งกลับเป็นการกระตุ้นให้เกิดพฤติกรรมเลียนแบบและเกิดความเฉยชาของคนในสังคมและก่อความรุนแรงมากยิ่งขึ้น ยกตัวอย่างเช่น กรณีข่าวฆ่าข่มขืนเด็กวัย ๔ ขวบภายในโรงเรียน ซึ่งเป็นข่าวดังมากเพราะยังไม่เคยมีเหตุการณ์เช่นนี้เกิดขึ้น ในสังคมไทยมาก่อน แต่ปรากฏว่าหลังจากนั้นได้ไม่นานกลับมีเหตุการณ์ทำนองเดียวกันนี้เกิดขึ้นอีก ๒ รายในระยะเวลาที่ใกล้เคียงกัน, แต่ความรุนแรงของข่าวและความรู้สึกสะเทือนใจของประชาชนกลับลดลง เช่นเดียวกับข่าวการฆ่าตัวตายซึ่งกลายเป็นเรื่องปรกติไปแล้วในสังคมไทย

จากเหตุการณ์ดังกล่าวถึงเวลาแล้วหรือยังที่สื่อมวลชนไทยควรที่จะสร้างความตระหนักในการเป็นส่วนหนึ่งในการช่วยลดปัญหาสังคมที่เกิดขึ้น ซึ่งสื่อ มวลชนเองนั้นจะมีบทบาทอย่างไรในการแก้ปัญหา หรือกระตุ้นให้เกิดปัญหาดังกล่าว (ถึงแม้สาเหตุการฆ่าตัวตายไม่ได้เกิดขึ้นจากสื่อมวลชนทั้งหมดก็ตาม)

สื่อมวลชน

สื่อสารมวลชน (mass communication) และ สื่อมวลชน (mass media) มักจะใช้สับสนโดยกล่าวอ้างเป็นคำความหมายเดียวกันอยู่เรื่อยๆ แต่ก็ไม่ได้มีข้อถกเถียงกันมากนัก ทั้งนี้อาจจะเป็นเพราะคำทั้งสองมีลักษณะใกล้เคียงกัน โดยถูกต้องแล้วเมื่อกล่าวถึง “สื่อสารมวลชน” จะเน้นในความหมายของ กระบวนการส่งสารสู่มวลชน, ขณะที่ ‘‘สื่อมวลชน” เน้น ในความหมายที่กล่าวถึงตัวสื่อต่างๆ เช่น หนังสือพิมพ์ วิทยุและโทรทัศน์ ฯลฯ

โจนาวิทซ์ (๑๙๖๘) ให้ความหมายของสื่อสารมวลชนไว้ว่า “การสื่อสารมวลชนประกอบด้วยสถาบันและเทคนิค ซึ่งมีกลุ่มคนที่ทำงานรู้จักการใช้เครื่องมือและเทคโนโลยีเฉพาะด้าน (เช่น หนังสือพิมพ์ วิทยุกระจายเสียง และภาพยนตร์ ฯลฯ) ทำหน้าที่กระจายเนื้อหาของข่าวสารในรูปแบบต่างๆ (ตามชนิดของสื่อ) ผ่านไปให้คนจำนวนมาก ซึ่งมีความเห็นแตกต่างกัน และสามารถเข้าถึงผู้รับได้อย่างกว้างขวางและรวดเร็ว

จะเห็นได้ว่าสื่อมวลชนอันได้แก่ หนังสือพิมพ์ วิทยุและโทรทัศน์ ฯลฯ เป็นเครื่องมือที่ทำหน้าที่กระจายเนื้อหาของข่าวสารในรูปแบบต่างๆ ผ่านไป ยังประชาชนสู่สังคมได้อย่างรวดเร็วและเป็นจำนวนมาก ซึ่งทำให้สังคมได้รับรู้ข่าวสารเหตุการณ์ต่างๆ ตลอดจนความรุนแรงของเหตุการณ์ต่างๆ ของสังคม และที่มีความเคลื่อนไหวในสภาพความเปลี่ยนแปลงของสังคมไทยในยุคปัจจุบัน

การพยายามฆ่าตัวตายเหตุจิตวิปลาส

จากการพิจารณาเหตุการณ์รุนแรงที่ได้กล่าวมาข้างต้นจะพบว่าเกิดจากสภาพปัญหาของสังคมได้หลายประการ สภาพสังคมอาจก่อให้เกิดพฤติกรรม เบี่ยงเบน (deviant behavior) ในด้านของความรุนแรงเพิ่มมากขึ้นทั่วไป ความรุนแรงของปัญหา อาชญากรรมที่เพิ่มมากขึ้น มีการทวีความรุนแรงด้วยรูปแบบที่เลวร้ายต่อสังคม ซึ่งพบเห็นได้จากสื่อมวลต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น โทรทัศน์ หรือหนังสือพิมพ์ ที่เป็นผู้นำเสนอข่าวสารข้อมูลดังกล่าวด้วยความตื่นเต้น หรือเกาะติดสถานการณ์ทุกซอกทุกมุมในประเด็นต่าง ๆ ดังกล่าว จะเป็นส่วนหนึ่งในการสร้างผลกระทบต่อปัญหาสังคมไทย

การฆ่าตัวตายของวัยรุ่น นักศึกษาด้วยวิธีต่างๆ ที่เกิดขึ้นแทบทุกสัปดาห์ซึ่งสร้างความสะเทือนใจประชาชนจนเป็นเรื่องชินชาต่อการได้รับรู้ของประชาชน จนกลายเป็นเรื่องปรกติแล้วในสังคมไทย ประเด็นดังกล่าวนี้นับวันจะทวีความรุนแรง สาเหตุดังกล่าวมาจากอะไร

สื่อมวลชนกับเยาวชน

ในทุกวันนี้จะพบว่า วิทยุ โทรทัศน์ ภาพยนตร์ หรือว่าหนังสือพิมพ์ต่างก็มีอิทธิพลเหนือความรู้สกนึกคิด จิตใจหรือพฤติกรรมของเรา ความประพฤติบางอย่างของเราถูกกำหนดชักจูง บางครั้งโดยไม่รู้สึกตัว จากสิ่งที่เราอ่านจากหนังสือพิมพ์ ฟังจากวิทยุ หรือดูจากโทรทัศน์ เช่น การเสือกซื้อสินค้าจากโฆษณา, การเลือกเครื่องแต่งกาย, เลือกทรงผม, เป็นต้น แนวความประพฤติเหล่านี้เกิดจากอิทธิพลของสื่อมวลชนซึ่งเป็นแม่พิมพ์หล่อกรอบของวัฒนธรรมมวลชน

เด็กและเยาวชนในปัจจุบันนี้มีความใกล้ชิดกับสื่อมวลชนมาก ดังนั้นโอกาสที่เขาเหล่านั้นจะได้รับความรู้และความคิดจากสื่อมวลชนย่อมต้องมีมากขึ้นตามลำดับ และในบางกรณีเด็กจะยอมรับเอาความรู้และความคิดเหล่านั้นไปยึดถือเป็นค่านิยมบางประการของตน เช่น การโฆษณาสินค้าโดยอาศัยสื่อมวลชนมีส่วนทำให้เกิดค่านิยมบางอย่างแก่เด็กวัยรุ่น ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดที่สุดได้แก่ค่านิยมในการแต่งกาย การไว้ผม การเสริมความงาม สื่อมวลชนมักจะนำความคิดเช่นนี้ออกไปเผยแพร่ นักธุรกิจและนักแสดงก็ช่วยกันกระพือความนิยมแบบนี้ คนในสังคม โดยเฉพาะวัยรุ่นและหนุ่มสาวจึงเปลี่ยนรสนิยมไปด้วย ในลักษณะเช่นนี้จะเห็นได้ว่า สื่อมวลชนมีบทบาทและอิทธิพลที่สำคัญที่สุดในการเผยแพร่ความรู้, ความคิด, ค่านิยมตลอดจนการกำหนดทิศทางของ เด็กและเยาวชนในทุกวันนี้ และยิ่งมีการพัฒนา วิทยาการด้านสื่อมวลชนมากขึ้นเท่าใดอิทธิพลของสื่อมวลชนย่อมมีมากขึ้นเท่านั้น สื่อมวลชนจึง เปรียบเสมือนดาบสองคม ซึ่งให้ทั้งคุณและโทษแก่เด็กและเยาวชนด้วยเช่นกัน

สื่อมวลชน: อิทธิพลต่อการฆ่าตัวตาย

สังคมในอนาคตจะมีลักษณะเป็นสังคมข่าวสารมากขึ้น ซึ่งหมายความในทุกมิติของชีวิต ไม่ว่าจะเป็นด้านใด นับตั้งแต่เรื่องใหญ่ เช่น ตลาดหุ้น มา จนถึงเรื่องเล็กๆ น้อยๆ เช่น จะซื้อน้ำกินสักขวดหนึ่ง ยังต้องอาศัยข่าวสารให้เพียงพอ ในแง่นี้สื่อมวลชน จะมีบทบาทเป็นแหล่งข่าวสารแหล่งใหญ่และแหล่งสำคัญ จนทำให้ผู้คนเกิดจิตสำนึกขึ้น แม้ว่าสื่อมวลชนในปัจจุบันยังอยู่ในฐานะที่ไม่เหมาะสมนัก มีคุณภาพค่อนข้างตกต่ำ (พาดหัวข่าวเกินจริง ถ่าย ภาพสยดสยอง ดาราเล่นไม่สมบทบาท ข่าวไม่เจาะลึก ฯลฯ) แต่ท่ามกลางเสียงพร่ำบ่นดังกล่าว ประชาชน ก็จะยังรู้สึกว่า “มีสื่อมวลชน ที่เลวบ้าง ดีกว่าไม่มี สื่อมวลชนเสียเลย” และการพึ่งพาสื่อมวลชนก็จะมีเพิ่มมากขึ้น

ณ วันนี้…. คนไทยได้รับการถ่ายทอดความรุนแรงผ่านทางสื่อมวลชน คนในสังคมได้รับการกระตุ้นให้เกิดความคิดเกี่ยวกับความรุนแรงโดยผ่าน ทางสื่อมวลชนต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นหนังสือพิมพ์ ภาพยนตร์ โทรทัศน์ หรือผ่านทางข้อเขียน รูปภาพ บทละคร การ์ตูน เหล่านี้ เรื่องราวที่สะเทือนอารมณ์ที่ เป็นเรื่องความรุนแรงจะสามารถกระชากใจคนได้ดี ทำให้คนเกิดความรู้สึกอยากติดตาม จึงเป็นสิ่งที่สื่อมวลชนนิยมนำเสนอเพื่อผลประโยชน์ทางการตลาด

เมื่อได้ตระหนักถึงบทบาทและความสำคัญของสื่อมวลชนเช่นนี้ ผู้ที่ทำงานเกี่ยวข้องกับสื่อมวลชนจึงจำเป็นต้องระลึกถึงความรับผิดชอบที่ตนมีอยู่ต่อสังคมไว้เสมอ โดยจะต้องมีมโนธรรมและจริยธรรม รู้สึกผิดชอบชั่วดีและคอยระวังอยู่เป็นนิจว่า หากตนละเลยต่อหน้าที่ซึ่งมีอยู่ต่อสังคมโดยคำนึงแต่ในแง่การค้าเพียงอย่างเดียวแล้ว สิ่งที่จะถ่ายทอดให้แก่ประชาชนจะส่งผลอย่างไรต่อผู้ฟัง ผู้อ่าน ทั้งในแง่ส่วนตัวของเขาและในแง่ของสังคมส่วนรวม

ข่าวสารข้อมูลนั้นเปรียบได้กับดาบสองคมอาจทำอันตรายได้ทั้งต่อผู้ให้และต่อผู้รับข่าวสารข้อมูลนั้นได้ ข่าวสารบางอย่างอาจเป็นพิษภัยต่อจิตใจของเยาวชน และทำลายวัฒนธรรมที่ดีงามของชาติ

การฆ่าตัวตายประท้วงการเมือง

การนำเสนอของสื่อมวลชน จึงมีผลทั้งด้านลบ และด้านบวกควบคู่กันไป ผลทางด้านบวกเป็นตัวสร้างเครือข่ายการติดต่อสื่อสารทางสังคมได้อย่าง รวดเร็วทันสมัยและมีประสิทธิภาพ ส่วนผลทางด้านลบส่งผลกระทบต่อปัญหาทางสังคมต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นภาพยนตร์หรือละครโทรทัศน์อันเป็นที่นิยมของกลุ่มวัยรุ่นต่างๆ อาทิ ภาพยนตร์หรือละครที่เนื้อเรื่อง แสดงถึงความรักความริษยาแย่งชิงคนที่ตนรักและมีฉากการพยายามฆ่าตัวตายด้วยการกรีดหลอดเลือดที่ข้อมือเพื่อประชดความรักไม่สมหวัง ในภาพยนตร์ ละครอีกเรื่องหนึ่ง พระเอกนางเอกของเรื่องฆ่าตัวตายด้วยวิธีกระโดดน้ำตาย เพื่อบูชาความรักอันอมตะที่เชื่อว่ายากที่ใครจะมาพรากจากกันได้ อันเป็นเรื่องที่โจษขานล่ำลือจนนำกลับมาเป็นบทภาพยนตร์ที่นิยมที่ผ่านมา ภาพยนตร์ทั้ง ๒ เรื่องนี้ นอกจากจะให้ความบันเทิงแล้ว อีกมุมหนึ่ง ยังเป็นส่วนให้วัยรุ่นหรือเยาวชนเกิดการคล้อยตามทางอารมณ์ทางลบได้ ซึ่งหากวัยรุ่นหรือเยาวชน นั้นกำลังประสบกับห้วงของความรักหรือปัญหาของความรัก การแสวงหาทางออกที่ผิดๆ ขาดการชี้นำที่ถูกต้องจากครอบครัว หรือสังคมที่อยู่รอบข้างก็อาจเกิดการเลียนแบบที่เกิดจากอารมณ์ชั่ววูบที่ขาดสติยั้งคิดในทางลบหรือที่เรียกว่าเชิงปฏิปักษ์ต่อ สังคมขึ้นได้

ผลกระทบเชิงปฏิปักษ์สังคม เป็นผลกระทบที่ส่งผลในเชิงลบต่อสังคม เป็นการมองโลกในแง่ร้าย ที่เห็นว่าการสื่อสารสังคมและสื่อมวลชนมีส่วน สำคัญที่ทำให้พฤติกรรมของบุคคลทั่วไปเลวลง (เช่น การก่อความรุนแรง การข่มขืน หรือการผละหนีสังคม) ทั้งนี้เป็นผลเนื่องจากการนำเสนอสื่อสังคมหรือสื่อมวลชนในรูปแบบของความรุนแรงหรือความชั่วร้าย

การนำมาซึ่งความไร้ระเบียบและความหวาดกลัวของสังคม ปัญหาอาชญากรรมและความรุนแรงในสังคมซึ่งรวมถึงการฆ่าตัวตาย มักถูกยืนยันว่าได้รับอิทธิพลของการเลียนแบบจากสิ่งที่ปรากฏในสื่อมวลชน (contagion effect) ไม่ว่าจะเป็นจากสื่อภาพยนตร์ วิทยุ หรือหนังสือพิมพ์ ในส่วนของสื่อทางหนังสือพิมพ์ ซึ่งเป็นสื่อที่อยู่ใกล้ชิดกับสังคม ซึ่งเสนอภาพข่าวต่างๆ วันต่อวันและรวดเร็วทันต่อเหตุการณ์ความเคลื่อนไหวของสังคม จะพบว่าการนำเสนอภาพข่าวหรือพาดหัวข่าวการฆ่าตัวตายของกลุ่มวัยรุ่นหรือเยาวชนที่มีความถี่สูงขึ้นตามหน้าหนังสือพิมพ์ ไม่ว่าจะเป็นข่าวกระโดดน้ำตายของดาราวัยรุ่น หรือของนิสิตนักศึกษาจากสถาบันมีชื่อต่างๆ ที่ไม่น่าจะเกิดขึ้นได้ อะไรเป็นสิ่งกระตุ้นให้พวกเขาเหล่านั้นเกิดพฤติกรรมเปลี่ยนแปลงทัศนคติ ทำร้ายตนเองได้ถึงเพียงนั้น นอกจากผลกระทบจากครอบครัวหรือขาดความรักความ อบอุ่น ขาดที่ปรึกษาจากครอบครัวอันเป็นผลมาจากสภาพของสังคมไทยในปัจจุบันนี้… จะมีวิธีการแก้ไขปัญหาดังกล่าวกันอย่างไร

การบริหารสังคมกับสื่อมวลชน: อิทธิพลต่อการฆ่าตัวตาย

หลังการเสนอข่าวเรื่องการฆ่าตัวตายมีโอกาสที่จะเพิ่มหรือลดการระบาดของการฆ่าตัวตายได้ ขึ้นอยู่กับวิธีการเสนอข่าว ถ้าการเสนอข่าวโดย (๑) ลงเป็นข่าวครึกโครม, (๒) ให้ภาพและวิธีการฆ่าตัวตายอย่างละเอียด, (๓) เชื่อมโยงสาเหตุการฆ่าตัวตายอย่างง่ายๆ, (๔) ให้สีสันของการฆ่าตัวตาย, และ (๕) ชี้นำให้เห็นว่าการฆ่าตัวตายเป็นฮีโร่ ก็จะทำให้มีการฆ่าตัวตายในลักษณะคล้ายๆ กันมากขึ้น แต่ถ้ามีการเสนอข่าวในมุมตรงกันข้าม คือ (๑) เน้นที่การฆ่าตัวตายไม่ใช่เป็นวิธีการที่ถูกต้อง, (๒) ชี้ให้เห็นว่าการฆ่าตัวตายมาจากหลายสาเหตุที่มีความซับซ้อน, (๓) เสนอข่าวในลักษณะให้ความรู้ความเข้าใจกับประชาชนที่มีอาการของโรคซึมเศร้าไปขอรับคำปรึกษาจากจิตแพทย์, และ (๔) การฆ่าตัวตาย เป็นทางออกของผู้แพ้ไม่ใช่พระเอก ก็เชื่อว่าน่าจะช่วยลดอัตราการฆ่าตัวตายได้

ในการพิจารณาแก้ไขปัญหาสังคม โดยการจัดการการบริหารสังคม เพื่อแก้ไขปัญหาของสื่อมวลชน ที่ส่งผลกระทบต่อปัญหาสังคมไทยนั้นจำเป็นต้องพิจารณาองค์ประกอบของการบริหารสังคมไทยหลายประการ อาทิ องค์กรของรัฐที่ควบคุมการสื่อสารการผลิตสื่อต่างๆ องค์กรสื่อมวลชนของเอกชน องค์กรทางการศึกษา ฯลฯ ซึ่งต้องเข้ามาร่วมปรึกษาหาทางแก้ไขและประสานความร่วมมือต่างๆ ในกรณีสภาพของปัญหาดังกล่าว ผู้เขียนเสนอแนวคิดการแก้ไขไว้ดังนี้

ด้านสื่อมวลชน

๑. การนำเสนอภาพข่าวหรือพาดข่าวต่างๆ ควรมีการพิจารณาลดความรุนแรงของข้อความโดยหลีกเลี่ยงการเสนอแบบเน้นหรือตอกย้ำให้ความโดด เด่นมากเกินไป และไม่ให้ความสำคัญต่อเหตุการณ์นั้นมาก (เช่นหลีกเลี่ยงการพาดหัวข่าวในหน้า ๑ ของสื่อหนังสือพิมพ์), ควรเสนอข้อความที่ให้กำลังใจ หรือชี้เน้นไม่ให้ประพฤติปฏิบัติตาม, ชี้แนะว่าการฆ่าตัวตายไม่ได้เป็นทางออกในการแก้ปัญหา, และชี้ชัดถึงผลบาปแห่งการกระทำหรือการพยายามฆ่าตัวตาย

๒. การนำเสนอภาพยนตร์หรือละครที่มีบทพยายามฆ่าตัวตายหรือฆ่าตัวตาย ควรมีการตรวจตัดหรือระงับ (เซ็นเซอร์) ภาพเหตุการณ์ที่แสดงถึงความพยายามและวิธีในการฆ่าตัวตาย หรือน้อยที่สุดให้มีการเสนอข้อความใต้ภาพ ดังข้อความตัวอย่าง “ผู้ชมควรใช้วิจารณญาณเป็นเพียงการแสดง” เพื่อเป็นการย้ำเตือนผู้ดูผู้ชมต่างๆ ให้มีการสำนึกและย้ำคิด

ความน่าเชื่อถือของโทรทัศน์เกิดขึ้นเนื่องจากโทรทัศน์เป็นสื่อที่สอดรับกับความเชื่อของคนไทยที่ว่า “สิบปากว่าไม่เท่าตาเห็น” (seeing is believing) โดยที่ลืมไปว่าที่ตาเห็นนั้นเป็นการเห็นภาพในจอโทรทัศน์ไม่ใช่เห็นของจริง อันที่จริงแล้วนักวิชาการด้านสื่อมวลชนทราบดีว่า “ความน่าเชื่อถือดังกล่าว” เป็นอันตรายมากเพราะภาพที่ปรากฏในสื่อนั้นไม่ใช่ภาพที่แท้จริงแต่เป็นเพียง “ภาพที่ถูกเลือกสรร ตัด ต่อ และตบแต่งแล้ว

การชมภาพยนตร์หรือโทรทัศน์ที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับความตาย, ความเศร้า, ความเจ็บปวดหรือความพ่ายแพ้ และลงท้ายเข้าไปอยู่ในสถานที่ที่มีบรรยากาศสลัวๆ ร่วมกับการใช้ของมึนเมา เรื่องราวเหล่านั้นจะตอกย้ำให้จิตใจหมกมุ่น ครุ่นคิดแต่เรื่องของความผิดพลาด ความพ่ายแพ้และความตายมากขึ้น

๓. สื่อมวลชนต่างๆ ควรจัดให้มีคอลัมน์ หรือบทสัมภาษณ์ต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการแก้ปัญหา หรือการให้คำปรึกษาการแก้ไขปัญหาชีวิตเพื่อเป็น เวทีให้เยาวชนหรือผู้ที่คิดจะฆ่าตัวตายได้มีที่แลกเปลี่ยนประสบการณ์หรือระบายความคับข้องใจ เป็นที่ให้คำปรึกษาอย่างถูกต้อง เพื่อให้เกิด ประสิทธิภาพ ในการนี้ควรเชิญกลุ่มนักจิตวิทยา หรือนักสังคมสงเคราะห์เข้ามาดำเนินการร่วมในรายการ

๔. สื่อมวลชนควรพัฒนาปรับรูปแบบการนำ เสนอรายการต่างๆ เกี่ยวกับการแก้ไขปัญหาสังคมให้มีจำนวนมากขึ้น เป็นรูปแบบรายการที่เป็นกันเอง เพื่อให้กลุ่มผู้ฟังหรือวัยรุ่นหรือผู้มีปัญหาต่างๆ โดยผ่านทางรายการวิทยุหรือโทรทัศน์ ให้เป็นลักษณะของการสื่อสารสองทางมากขึ้น และเพื่อสร้างจุดสนใจและจุดร่วมมือในการถามตอบเพื่อแก้ไขปัญหาได้อย่างรวดเร็ว อย่างมีประสิทธิภาพ ก็อาจจัดตั้งศูนย์ “เครือข่ายฮอตไลน์คลายเครียด” ทางสื่อมวลชน ต่างๆ ทั้งในพื้นที่กรุงเทพฯ และจังหวัดต่างๆ

๕. สื่อมวลชนต่างๆ ควรเน้นการประชาสัมพันธ์ หมายเลขโทรศัพท์หรือสถานที่บริการสุขภาพจิตต่างๆ ขึ้นเป็นตัวอักษรใต้ภาพในรายการโทรทัศน์ ทุก ๑๕ นาที หรือพิมพ์ในสื่อสิ่งพิมพ์วารสาร หนังสือพิมพ์ต่างๆ ไว้ทุกฉบับ เพื่อให้ผู้สนใจได้พบเห็นและสะดวก ในการติดต่อกับศูนย์สุขภาพจิตต่างๆ ได้ตลอดเวลา

๖. สื่อมวลชนควรมีส่วนร่วมในการรณรงค์ให้ความรู้เรื่องศีลธรรมจรรยา บาปบุญคุณโทษ และผลกระทบที่เกิดขึ้นจากการฆ่าตัวตาย หรือหลีกหนีปัญหาด้วยการฆ่าตัวตายว่าเกิดผลบาปหรือเกิดเป็นเคราะห์กรรมอย่างไรหากประพฤติปฏิบัติอย่างนั้น ผู้อยู่ข้างหลัง (บิดา, มารดา, ญาติพี่น้อง ฯลฯ) ต้องเป็นทุกข์แค่ไหน ซึ่งจะช่วยป้องปรามผู้ที่คิดจะพยายามฆ่าตัวตายให้เกิดความสำนึกและยับยั้งใจ

๗. ผู้ที่ทำงานด้านสื่อมวลชนควรมีจรรยาบรรณ หรือจริยธรรมในวิชาชีพในการนำเสนอภาพข่าว หรือเหตุการณ์ต่างๆ ด้วยความสำนึกและรับผิดชอบในฐานะเป็นส่วนสำคัญของสังคมที่สมควรช่วยแก้ไขปัญหาและป้องกันปัญหาสังคมด้วยความสำนึกในวิชาชีพแห่งตนตลอดกาล

ในการเสนอข่าวสารข้อมูล สื่อมวลชนต้องยึดมั่นในจรรยาบรรณ ร่วมพิจารณาว่าอะไรควรหรือไม่ควรนำเสนอออกไป เพราะข่าวสารทุกชิ้นไม่จำเป็นจะต้องถูกเปิดเผยทั้งหมด สื่อมวลชนสามารถเลือกเสนอเฉพาะข่าวสารที่เป็นประโยชน์แก่ประชาชน ปฏิปทาของพระพุทธเจ้าน่าจะเป็นแบบอย่างที่ดีในเรื่องนี้

ด้านสังคม (สังคมสงเคราะห์)

๑. ควรมีการจัดตั้งและพัฒนาศูนย์สงเคราะห์ ประจำหมู่บ้านกระจายไปตามจังหวัดต่างๆ โดยเฉพาะจังหวัดที่มีผู้คนอยู่เป็นจำนวนมาก ให้มีศักยภาพและขีดความสามารถในการให้บริการประชาชน หรือผู้ทุกข์ร้อนในการขอคำปรึกษาด้านสุขภาพจิตต่างๆ มีการขยายเครือข่ายการติดต่อช่วยเหลือกับหน่วยงานภาครัฐและเอกชนต่างๆ อย่างรวดเร็ว เมื่อประสบพบผู้ที่กำลังคิดจะพยายามฆ่าตัวตาย

๒. สนับสนุนหรือจัดตั้งหน่วยงานภาคเอกชน เข้ามามีบทบาทในการให้คำปรึกษาหรือช่วยเหลือผู้ที่กำลังพยายามฆ่าตัวตาย มีการสร้างหรือจัดเตรียมเครื่องมืออุปกรณ์ในการสนับสนุนช่วยเหลือผู้ที่คิดหรือพยายามฆ่าตัวตาย อาทิ เบาะนวมหรือตาข่ายขนาดใหญ่ เพื่อช่วยเหลือผู้ที่คิดจะพยายามฆ่าตัวตายโดยกระโดดตึก, หรือโดดจากที่สูงได้อย่างทันที กรมสุขภาพจิตอาจมีบทบาทด้านนี้ได้ เป็นอย่างดี

๓. สนับสนุนให้วัดมีส่วนร่วมในการช่วยเหลือผู้มีความทุกข์ หรือมีปัญหาสุขภาพจิต เพราะวัดเป็นสถานที่ที่อยู่ใกล้ชิดกับชุมชนและเป็นที่ศรัทธาของพุทธศาสนิกชนชาวไทย ธรรมะเป็นเครื่องหล่อหลอมจิตใจของคนชุมชน หรือผู้ที่กำลังมีความทุกข์ต่างๆ ได้ดี โดยเน้นหลักคำสอนของพุทธศาสนา

พุทธศาสนาสอนมิให้ฆ่าสัตว์ตัดชีวิต การทำให้ชีวิตของสิ่งมิชีวิตใดต้องดับสูญถือเป็นบาปโดย ไม่ยกเว้นว่าจะเป็นสัตว์ตัวเล็กหรือตัวโตเพียงใด รวมทั้งชีวิตของมนุษย์ด้วย คริสต์ศาสนาสอนว่าการฆ่าคนถือเป็นบาป แม้ศาสนาอื่นๆ ก็เช่นเดียวกัน คนที่คิดฆ่าตัวตายทั้งที่ตายไปแล้วและที่ยังไม่ตาย เป็นคนไร้ศาสนาหรืออย่างไร

๔. จัดตั้งเครือข่ายศูนย์สุขภาพจิตตามจังหวัดต่างๆ หรือหน่วยงานของรัฐที่มีศักยภาพเข้าไปช่วยดูแลสนับสนุนให้คำปรึกษา หรือให้ความร่วมมือ สนับสนุนอุปกรณ์ต่างๆ เช่น สถานีวิทยุของเหล่าทัพต่างๆ ที่มีความพร้อมทั้งอุปกรณ์เครื่องมือและกำลังพลที่มืศักยภาพและเครือข่ายมากมาย (ซึ่งสามารถ ฝึกหรือให้การอบรมการให้คำปรึกษาได้) ตลอด ๒๔ ชั่วโมง เข้ามาร่วมในการจัดตั้งหรือดำเนินการในศูนย์ฯ

๕. จัดกิจกรรมคลายเครียด, สวนหย่อม, ลานกีฬา, ลานวัฒนธรรมต่างๆ ฯลฯ เพื่อลดความเครียดของคนในชุมชนหรือสังคม, พร้อมกับสอดแทรกการให้กำลังใจทางสังคม การสร้างจิตสำนึกให้เห็นว่า “ทุกคนคือส่วนหนึ่งของสังคม ต้องมีการช่วยเหลือเกื้อกูลต่อกัน” “ชีวิตทุกชีวิตที่เกิดมาบนพื้นโลกนั้นมีค่ามหาศาล”

๖. สอดแทรกเนื้อหา สาระความรู้ในการป้องกันหรือแก้ไขสาเหตุหรือการช่วยเหลือให้คำปรึกษาแก่ผู้ที่พยายามฆ่าตัวตาย หรือคับข้องใจว่า ควรประพฤติปฏิบัติอย่างไร เข้าไว้ในหลักสูตรเสริมในโรงเรียนให้แก่นักเรียน นักศึกษา ซึ่งอาจจะเป็นการนำเสนอในลักษณะของการบรรยายพิเศษ หรือเชิญวิทยากร หรือดาราวัยรุ่น หรือผู้มีความรู้มาบรรยายให้คำแนะนำ ให้กำลังใจแก่เยาวชนตามสถานศึกษาต่างๆ

๗. ทบทวนบทบาทของนักสังคมสงเคราะห์ในสถานพยาบาล หรือหน่วยงานว่าควรที่จะมีบทบาทมากน้อยเพียงไร และนักจิตวิทยาตามโรงพยาบาล หรือหน่วยงานว่าควรที่จะเข้ามาดูแลช่วยเหลือผู้มีปัญหาหรือผู้ที่พยายามฆ่าตัวตายได้อย่างไร ในการให้คำปรึกษาและติดตามประเมินผล หรือติดตามการให้ความช่วยเหลือผู้ที่พยายามฆ่าตัวตายเหล่านั้นอย่างจริงจัง จนแน่ใจว่าเขาเหล่านั้นสามารถใช้ชีวิตอยู่ร่วมในสังคมได้อย่างปรกติสุข โดยควรนำวิธีการสังคมสงเคราะห์เชิงรุกเข้ามาปฏิบัติเพื่อส่งเสริมให้ประชาชนในพื้นที่มีส่วนร่วมในการวางแผน และระดมทรัพยากรชุมชนให้เขาเข้ามีส่วนร่วมป้องกันส่งเสริมคุณ่ภาพชีวิตของผู้พยายามฆ่าตัวตาย หรือครอบครัวให้บังเกิดผลดียิ่งขึ้น

๘. รวบรวมนักคิด นักวิชาการด้านต่างๆ นักจิตวิทยา นักการศึกษา นักสังคมสงเคราะห์ นักประชาสัมพันธ์ (สื่อสารมวลชน) ฯลฯ เข้ามาระดมสมองร่วมประชุมปรึกษาหารือหาแนวทางหรือมาตรการต่างๆ ที่จะสามารถแก้ไขปัญหาของสังคม โดยเฉพาะการพยายามฆ่าตัวตายอย่างจริงจัง และการประสานความร่วมมือที่จะช่วยกันแก้ไขปัญหา

การป้องกันและแก้ไขปัญหาด้านสังคมที่นำไปสู่การฆ่าตัวตายคงไม่หมดสิ้นไปได้โดยเร็ววัน แต่อย่างน้อยหากสื่อมวลชนได้สร้างความรับผิดชอบ และมุ่งมั่นในฐานะที่เป็นองค์กรหนึ่งที่สามารถเสนอความทุกข์ ความสุข ให้แก่คนในสังคมนี้ได้ เพียงแค่ประโยคคำพูดเดียวหรือพาดหัวข่าวของสื่อมวลชน อาจจะช่วยชีวิตของคน หรือยํ้าเตือนสติของคนขึ้น มาได้หากเขานั้นกำลังขาดสติ ถึงเวลาแล้วหรือยังที่สื่อมวลชนและองค์กรต่างๆ ในสังคมไทยจะหันหน้า เข้ามาช่วยเหลือเกื้อกูลกันเป็นที่ปรึกษาและคํ้าจุนต่อกัน เสมือนเช่นสังคมของครอบครัวไทยในอดีตที่ผ่านมา….คงไม่มีใครกล่าวได้ว่าสื่อมวลชนหรือองค์กรใด ที่ส่งเสริมหรือเป็นต้นเหตุของการฆ่าตัวตายมากขึ้นหากครอบครัวไทยมีความเข้มแข็งรู้จักคำว่าให้อภัย ชีวิตทุกชีวิตของครอบครัวไทยก็จะมีแต่ความสุข และวันนั้น…เราคงจะไม่ได้ยินคำว่า…ปัญหาของสังคม….อีกต่อไป

↑ กลับสู่ส่วนบนของหน้า