สำหรับผู้ใส่ใจในการรักษาสุขภาพ ทั้งสุขภาพกาย และสุขภาพจิต

ภาวะแทรกซ้อนในระยะตั้งครรภ์

ตามหลักสูติศาสตร์
อาการแพ้ท้องอย่างรุนแรง
มักเกิดขึ้นในเดือนที่ 1-3 ของการตั้งครรภ์ โดยมีอาการแพ้ท้องและอาเจียนอยู่ตลอดเวลา เบื่ออาหาร อาจทำให้ร่างกายทรุดโทรม ขาดน้ำและแร่ธาตุได้

ภาวะความดันโลหิตสูงในระยะตั้งครรภ์
ภายหลัง 20 สัปดาห์ของการตั้งครรภ์ อาจทำให้เกิดอาการเหล่านี้ขึ้น เช่น ภาวะความดันโลหิตสูงร่วมกับการตรวจปัสสาวะพบว่ามีโปรตีนอยู่ มีอาการบวม และน้ำหนักตัวเพิ่มขึ้นมาก อาจทำให้เกิดอาการชัก หรือโคม่าได้ ถ้าเป็นแบบรุนแรง

ภาวะเลือดออกในหญิงตั้งครรภ์
มีสาเหตุจากรกเกาะตัวต่ำ ทำให้มีอาการเลือดออกมาก มีการคลอดทารกก่อนกำหนด หรือทารกอาจตายในครรภ์ได้

การแท้ง
เป็นการสิ้นสุดการตั้งครรภ์ก่อนที่ทารกจะคลอดออกมาและมีชีวิตอยู่ได้ ภาวะนี้ทารกอาจมีน้ำหนักโดยเฉลี่ยประมาณ 400-1,000 กรัม การแท้งมีอาการสำคัญคือ ปวดกลางท้องบริเวณเหนือหัวเหน่าและสะดือ ปวดมดลูก มีโลหิตไหลออกมาจากช่องคลอด

ครรภ์แฝดน้ำ
เป็นความผิดปกติของเยื่อหุ้มเด็กชั้นใน ซึ่งมีน้ำหล่อตัวเด็กอยู่มากกว่า 1,500-2,000 ซีซี.ขึ้นไป ทำให้หญิงมีครรภ์มีอาการการหายใจลำบาก อึดอัดแน่นท้อง อาจทำให้เกิดการแท้งได้ มีท้องใหญ่ทำให้เคลื่อนไหวได้ลำบาก เนื่องจากมีน้ำอยู่มากจึงทำให้ทารกมีตัวเล็กและมักอยู่ในท่าที่ผิดปกติ

ครรภ์แฝด
เป็นภาวะที่ในครรภ์มีเด็กอยู่มากกว่า 1 คน ภาวะนี้อาจทำให้เกิดอันตรายขึ้นได้ เช่น รูปร่างของเด็กวิปริตแต่กำเนิด คลอดก่อนกำหนด ทารกตายในครรภ์ มารดาเกิดโรคแทรกซ้อน เช่น โรคครรภ์เป็นพิษ หรือภาวะรกเกาะต่ำ

การมีครรภ์นานกว่าปกติ
หมายถึงมีการตั้งครรภ์อยู่นานกว่า 42 สัปดาห์ขึ้นไป จะมีผลทำให้เด็กในครรภ์ขาดอาหารและออกซิเจน ทารกตัวใหญ่คลอดยาก ทำให้เด็กเกิดอันตรายจากโรคหรือภาวะที่ผิดปกติ เช่น ความดันโลหิตสูง หรือในระยะก่อนคลอดมีเลือดไหลออกมา ซึ่งอาการเหล่านี้มีสาเหตุมาจากรกมีประสิทธิภาพไม่ดีพอ

ตามคัมภีร์แพทย์แผนไทย
ภาวะแทรกซ้อนในระยะตั้งครรภ์ที่กล่าวไว้ในคัมภีร์ประถมจินดา เรียกว่า ครรภ์วิปลาส หรือการแท้ง ซึ่งมาจากสาเหตุ 4 ประการคือ

1. หญิงมีครรภ์มีกามราคะจัด
ที่กล่าวไว้ว่า หนาไปด้วยไฟราคะ อันเป็นสมุฏฐานกล้านัก สัตว์ทั้งหลายก็มิอาจตั้งมูลปฏิสนธิขึ้นได้ มีอันตรายไปต่างๆ ทำให้ครรภ์ตกไป

2. หญิงมีครรภ์บริโภคอาหารที่ไม่ควรบริโภค
เช่น อาการท้องเสียที่เกิดจากการกินอาหารที่เผ็ดร้อน หรือยาที่แสลงต่อโรคต่างๆ ซึ่งเป็นลักษณะการกำเริบของธาตุน้ำ ดังที่กล่าวในคัมภีร์ว่า เปรียบเสมือนดังไฟประลัยกัลป์ อันจะพัดให้ฉิบหาย เสียซึ่งชีวิตสัตว์อันจะมาปฏิสนธิ นั้น ดังนั้น สัตว์จึงไม่อาจตั้งมูลปฏิสนธิขึ้นได้

หญิงมีครรภ์มีอารมณ์โกรธรุนแรง
โดยคัมภีร์กล่าวว่า หญิงมีจิตมากไปด้วยความโกรธ วิ่งไปวิ่งมาโดยเร็ว หรือในขณะโกรธก็ทอดทิ้งตนเองลง ยกมือทั้งสองประหารตนเอง บางครั้งก็ด่า ตัดพ้อสามีตนเอง หรือบุคคลอื่นด้วย ถ้อยคำที่หยาบช้า จึงถูกเขาทำโทษ หรือถูกทุบถองโบยตีด้วยกำลังแรง จึงเป็นสาเหตุให้ครรภ์ตกไป

หญิงนั้นถูกผีลงโทษหรือถูกกลั่นแกล้งด้วยไสยศาสตร์
หญิงมีครรภ์อาจถูกภูตผีปีศาจทำโทษ หรือต้องศาสตราคุมคุณไสยเขากระทำ จึงเป็นสาเหตุให้ครรภ์ตกไป

การดูแลหญิงมีครรภ์ที่มีภาวะแทรกซ้อน
การดูแลรักษาครรภ์มารดาและทารกให้อยู่ในสภาพปกติ แข็งแรง และสมบูรณ์ ตามคัมภีร์แพทย์แผนไทยจะเรียกว่า ครรภ์รักษา ตามคัมภีร์ประถมจินดา จะมีการรักษาอาการผิดปกติของหญิงตลอดการตั้งครรภ์ ด้วยการใช้พิธีกรรม และการใช้ยาตำรับต่างๆ โดยแบ่งออกเป็นดังนี้

ไตรมาสที่ 1 คือ ระยะเวลาตั้งแต่เดือนที่ 1 ถึงเดือนที่ 3 ของการตั้งครรภ์

เดือนที่ 1 “หญิงมีครรภ์อาจมีอาการให้ราก ให้จุกในอุทร และให้แดกขึ้นและแดกลงเป็นกำลัง”

เดือนที่ 2 “หญิงมีครรภ์อาจมีอาการไข้จับ ให้นอนไม่หลับ กินข้าวไม่ได้”

เดือนที่ 3 “หญิงมีครรภ์มีไข้ ให้ลง ให้ราก จุกเสียด แทงหน้าแทงหลัง กินอาหารมิได้ นอนไม่หลับ ถ้าเป็นดังนี้ไซร้ ให้เกรงลูกจะตกเสีย”

ในช่วงระยะ 3 เดือนแรกนี้ อาจมีภาวะแทรกซ้อนเกิดขึ้นกับหญิงตั้งครรภ์ อาจทำให้เกิดความผิดปกติขึ้นจากร่างกายที่เปลี่ยนแปลงไป เช่น อาการแพ้ท้องอย่างรุนแรง อาการร้อนในอก เป็นต้น

วิธีการรักษาหญิงตั้งครรภ์ตามคัมภีร์ประถมจินดา จำแนกได้เป็น 2 ประเภทคือ

1. ด้านพิธีกรรม
ทุกช่วงอายุครรภ์จะมีวิธีกำหนดไว้ เช่น “หญิงมีครรภ์ 2 เดือน มีอาการนอนไม่หลับ กินข้าวไม่ได้ ให้เชื่อมให้มึน ถ้าแก้ให้ทำตามโบราณเสียก่อน ดังนี้ ท่านให้ทำบัตรกลมอัน 1 เอาแป้งที่คลึงท้องด้วยมนต์นี้ “โอม อมรหิ ชิวันติ เย สวาห” 7 ที แล้วจึงเอาแป้งที่คลึงนั้นมาปั้นเป็นรูปแมวตัว 1 เอาผัก 3 สิ่ง เอาลูกไม้ 3 สิ่ง ฯลฯ ไปส่งทิศบูรพาหาย”

ครรภ์รักษาในแต่ละเดือน ในคัมภีร์ได้กำหนดพิธีกรรมไว้แตกต่างกัน ซึ่งอาจมีสาเหตุความผิดปกติมาจากจิตใจด้วย เนื่องจากสภาพจิตใจของหญิงในระหว่างตั้งครรภ์จะมีการเปลี่ยนแปลงมาก ดังนั้น สภาพจิตใจของหญิงมีครรภ์จึงอาจดีขึ้นได้จากการประกอบพิธีกรรมต่างๆ

2. การรักษาโดยใช้สมุนไพร
เช่น “หญิงมีครรภ์ 2 เดือน ถ้าประกอบพิธีกรรมดังกล่าวข้างต้นแล้วไม่หาย ท่านให้แต่ยาขนานนี้ให้กิน เอาเกสรบัวหลวง ดอกจงกลนี หัวแห้วหมู เทียนดำ กระจับบก บดละลายน้ำซาวข้าวกินหาย”

ยาขนานนี้สามารถแบ่งได้เป็น
1. กลุ่มสมุนไพรแก้อาเจียน ได้แก่ เทียนดำ
2. กลุ่มสมุนไพรบำรุงร่างกาย ได้แก่ เกสรบัวหลวง ดอกจงกลนี หัวแห้วหมู

ไตรมาสที่ 2 และ 3 คือ ระยะเวลาตั้งแต่เดือนที่ 4 ขึ้นไปของการตั้งครรภ์ ทารกจะมีการเจริญเติบโตอย่างรวดเร็วในช่วงอายุครรภ์ 4-9 เดือน มารดามีการปรับตัวขยายตัวของอวัยวะต่างๆ ไปพร้อมกับการเจริญเติบโต ซึ่งความผิดปกติก็อาจเกิดขึ้นได้ ตามที่กล่าวไว้ในคัมภีร์ว่า

เดือนที่ 4 เป็นไข้ เพื่อเสมหะให้โทษต่างๆ เป็นลม เหงื่อตก และตกโลหิต ถ้าประชุมพร้อมกันทั้ง 4 เมื่อใด จึงเชื่อว่า สันนิบาต

เดือนที่ 5 เป็นไข้ ให้ลงให้ราก ให้จุกหน้า จุกหลัง

เดือนที่ 6 เป็นไข้ ให้เจ็บแข้ง เจ็บขา เจ็บหน้าตะโพก คันทวารอุจจาระ ปัสสาวะ แล้วเป็นลมจับเนืองๆ

เดือนที่ 7 ไข้เป็นไปต่างๆ ให้รากโลหิตก็ดี และให้ร้อนภายใน

เดือนที่ 8 เป็นไข้ ท่านว่ามิพอเป็นไรนัก เพราะกุมารที่อยู่ในครรภ์นั้นแก่กล้า จวนจะคลอดอยู่แล้ว

เดือนที่ 9 เป็นไข้ ท่านว่าอยู่ในครรภ์รักษา แต่ว่ากุมารที่อยู่ในครรภ์นั้นแก่กล้าอยู่แล้ว ถ้าเป็นไข้ก็เป็นแต่ภายนอก เว้นไว้แต่เป็นไข้อหิวาตกโรค

ตามหลักสูติศาสตร์ หญิงตั้งครรภ์ที่มีอาการผิดปกติเกิดขึ้นในไตรมาสที่ 2-3 นั้น มีทั้งอาการใจสั่น เป็นลม หายใจตื้นลำบาก เป็นตะคริวปวดหลัง ปวดตามข้อต่อต่างๆ ทำให้หญิงตั้งครรภ์เกิดความไม่สุขสบาย ซึ่งมีสาเหตุจากอายุครรภ์ที่มากขึ้น รวมทั้งภาวะความดันโลหิตสูง เลือดออกผิดปกติ หรือการแท้ง ซึ่งถือว่าเป็นภาวะแทรกซ้อนที่สำคัญ

ตามคัมภีร์ได้บอกวิธีการดูแลรักษาหญิงตั้งครรภ์ในระยะนี้อย่างละเอียดทั้งในส่วนของการรักษาและวิธีป้องกัน เช่น

“หญิงมีครรภ์ 9 เดือน และเป็นไข้สิ่งใดๆ ก็ดี ท่านว่ายังอยู่ในครรภ์รักษา แต่ว่ากุมารที่อยู่ในครรภ์นั้นแก่กล้าอยู่แล้ว ถ้าเป็นไข้ก็เป็นแต่ภายนอก เว้นไว้แต่เป็นไข้อหิวาตกโรค ถึงดังนั้นก็ดี ถ้าเป็นฝีเอก แลฝีเอกตัดนั้น กุมารจึงจะอันตรธานก่อนมารดา ถ้ามิดังนั้น มารดาต้องกฤติยาคมคุณไสย และกุมารที่อยู่ในครรภ์จึงจะตายก่อนมารดา ถึงจะตายก่อนมารดาก็จะพาเอามารดาไปด้วย ว่ามาทั้งนี้ด้วยอุบัติเหตุแห่งอกุศลกรรมของบุตรผู้นั้น ถ้าเป็นเหตุใดๆ ให้ทำตามโบราณเสียก่อน ท่านให้ทำบัตรกลมใบ 1 เก้าชั้นดุจบัตรพระเกตุ เอาแป้งคลึงท้องด้วยคาถานี้ “เถโรปาปิมเตองคปจจง คานิอหํ ปสสามิ กิมงคํ ปน สกลสรีรํ นิกขมลหุปาปิม” เสกตามกำลังวัน แล้วจึงเสกน้ำรดด้วยคาถานี้ 7 คาบ “สนติปกขา อปตตนา สนติ ปาทา อวญจนา มาตาปิดา จ นิกขนตา ชาตเวทปฏิกกม สหสจเจกเตมยหํ มหาปชชลีโต สิขิ วชเชสิ โสฬส กริสา นิ อุทกํ ปตวา ยถาสิขิ สจเจนเมสโมนตถิ เอสาเมสจจ ปารมิติ” แล้วจึงเอาแป้งที่คลึงท้องนั้นมาปั้นเป็นรูปสิงห์ตัว 1 รูปอีแร้งตัว 1 รูปครุฑตัว 1 เอาผักยำ 7 สิ่ง ดอกไม้ 7 สิ่ง เอาใบมะม่วงกะล่อนรองบัตร เอาแป้ง เอากระแจและน้ำมันหอมประพรมบัตรบูชา แล้วเอาไปส่งทิศอาคเนย์ 3 วันหาย ถ้าไม่หายให้แต่งยาขนานนี้กิน ท่านให้เอารากละหุ่งแดง ยางงิ้ว ขิงสด บดละลายน้ำแรมคืนกินหาย ถ้ายังไม่หาย ท่านให้เอาโกฐเขมา โกฐเชียง โกฐหัวบัว โกฐพุงปลา เทียนดำ เทียนแดง เทียนขาว เทียนข้าวเปลือก เทียนเยาพาณี ดอกสัตตบุษย์ ดอกบัวขม ดอกบัวเผื่อน ดอกลินจง ดอกจงกลนี ผลผักชีล้อม ผลผักชีลา แฝกหอม ผลกระดอม บอระเพ็ด ขมิ้นอ้อน ขมิ้นเครือ กระบก แก่นขี้เหล็ก ยา 23 สิ่งเอาส่วนเท่ากัน ต้ม 3 เอา 1 กินหาย ยาชโลมแก้เมื่อยขบขนานนี้ท่านให้เอา ใบขี้เหล็ก ใบผักเค็ด ใบน้ำเต้า ใบเงินใบทอง ใบย่านาง ดินประสิวขาว ดินสอพอง ยาทั้ง 8 สิ่งเอาเท่ากัน บดทำแท่งไว้ละลายน้ำซาวข้าว หรือน้ำดอกมะลิสดก็ได้ ชะโลมหายดีนัก”

ที่มา:จากหนังสือวิทยาศาสตร์ในการแพทย์แผนไทย
โดย: อาจารย์ศิรินันท์ ตรีมงคลทิพย์
หัวหน้าภาควิชาวิทยาศาสตร์สุขภาพ(การแพทย์แผนไทยประยุกต์)
สถาบันเทคโนโลยีราชมงคล วิทยาเขตปทุมธานี

↑ กลับสู่ส่วนบนของหน้า