สำหรับผู้ใส่ใจในการรักษาสุขภาพ ทั้งสุขภาพกาย และสุขภาพจิต

อาการชัก (Seizure)

Seizure คือ เป็นการปลดปล่อยคลื่นไฟฟ้าออกมาจากเซลล์สมองอย่างทันทีทันใด ทำให้มีการเปลี่ยนแปลงหน้าที่ของสมอง โดยเฉพาะความรู้สติการเคลื่อนไหว การรับความรู้สึก ระบบประสาทอัตโนมัติและด้านจิตใจ (เป็นกลุ่มอาการไม่มีโรคโดยเฉพาะ)

Convulsion เป็นคำที่ใช้อธิบายอาการกระตุกเกร็ง (Clonic-tonic jerky คือ กระตุก-การหดตัว-คลายตัว ) แสดงออกมาให้ภายนอกเห็นด้วย

Epilepsy เป็นคำที่มาจากภาษากรีกว่า Epilepsia หมายถึงการชักทั้งตัว ดังนั้น ความหมายของโรคลมชัก คือ กลุ่มอาการที่เกิดจากการปลดปล่อยคลื่นไฟฟ้าสมองที่ผิดปกติอย่างทันทีทันใด มักเป็นๆ หายๆ (recurrent) และเป็นโรคที่เรื้อรังโรคหนึ่ง ซึ่งมีอาการหมดสติ ชักกระตุก มีความผิดปกติทางการรับความรู้สึก หรือมีอาการทางด้านจิตใจ

โรคลมชัก (Epilepsy) เป็นโรคที่เก่าแก่ที่สุดโรคหนึ่งซึ่งเกิดขึ้นในมนุษย์ เกิดขึ้นในทุกเพศ ทุกวัย ทุกเชื้อชาติ อัตราการเกิดในหญิงชายพบได้เท่าๆ กัน พบบ่อยในอายุตํ่ากว่า 20 ปีลงมา อุบัติการณ์ที่พบประมาณร้อยละ 0.5-2 ของประชากรโดยทั่วไป พบมากในเด็ก

สาเหตุ

สาเหตุของอาการชัก มีหลายประการ คือ

1. โรคลมชักไม่ทราบสาเหตุ อาจเกิดจากความผิดปกติทางกรรมพันธุ์ บาดเจ็บระหว่างคลอด โรคหลอดเลือดสมอง พบก่อนอายุ 20 ปี หลังอายุ 30 ปี พบน้อย

2. รอยโรคของสมองโดยตรง ได้แก่ สมองได้รับการกระทบกระเทือนซึ่งอาจเกิดในระยะแรกหรือระยะหลังบาดเจ็บแล้ว 1 ปี มีเนื้อสมองตาย มีก้อนเลือดใต้ดูรามาเตอร์เลือดออกในโพรง สับอแรคนอยด์ เนื้องอกในสมองทำให้ชักได้ถึงร้อยละ 10 เป็นต้น

3. ความผิดปกติทางชีวเคมี ที่พบบ่อย ได้แก่ น้ำตาลในเลือดตํ่า สมองขาดออกซิเจน ได้รับพิษตะกั่ว การขาดยาบางอย่าง (ยาระงับชักหรือเหล้า) ขาดสมดุลอิเล็กโตรไลท์ เช่นระดับ แมกนีเซียมแคลเซียม และฟอสฟอรัสในเลือดตํ่า คาร์บอนไดออกไซด์ในเลือดสูงหรืออาการไข้สูง เป็นต้น

เหตุกระตุ้นให้เกิดอาการชัก

อาการเหน็ดเหนื่อยทางร่างกาย อดนอน ความเครียดทางอารมณ์และร่างกาย ดื่มน้ำมากเกินไป ท้องผูกหรือกินยากระตุ้นประสาท การหยุดยากดประสาททันทีทันใด หายใจหอบซึ่งจะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางชีวเคมีของเซลล์ประสาท ก็ทำให้เกิดอาการชักได้ สิ่งแวดล้อมบางอย่าง เช่น ไฟกระพริบ เสียงดัง เสียงดนตรี กลิ่น อาจเป็นตัวกระตุ้นให้เกิดอาการชักได้ ในหญิงบางคนขณะมีประจำเดือนก็เกิดอาการชักได้เช่นกัน

ชนิดของการชัก

จำแนกได้หลายวิธี แต่นิยมใช้การจำแนกตามวิธีของ International Classification Epileptic Seizure เมื่อปี ค.ศ. 1981 และคำที่นิยมใช้ในการดูแลทางสุขภาพดังนี้

1. การชักบางส่วน (Focal or Partial Seizure)

เป็นอาการชักที่เกิดขึ้นเฉพาะที่ไม่มีอาการหมดสติ แต่อาการแสดงออกทางการเคลื่อนไหวผิดปกติ ได้แก่

1.1 อาการชักอย่างง่าย (ไม่หมดสติ)

ก. อาการชักแบบแจคโสเนียน (Jacksonian Seizure) อาการชักเกิดจากมีการระคายเคืองต่อสมองส่วนที่ควบคุมการเคลื่อนไหว (motor cortex) หรือรอบๆ บริเวณนั้น ผู้ป่วยยังมีสติดีอยู่ ส่วนอาการขึ้นอยู่กับสมองส่วนที่มีพยาธิสภาพ อาการชักจะเป็นการกระตุกเฉพาะที่อาจเริ่มที่มือข้างใดข้างหนึ่ง แล้วกระจายไปยังกล้ามอื่นๆ ที่นิ้วมือ หัวแม่มือ นิ้วชี้ มุมปากและนิ้วหัวแม่เท้า และดำเนินอาการต่อไปเข้าชนิดแกรนด์มาล แล้วหมดสติในที่สุดก่อนชักอาจจะมีอาการชา วูบวาบ ขนลุก

ข. อาการชักที่เกิดจากความผิดปกติของการรับความรู้สึกทางกาย (การมองเห็น การได้ยิน การรับกลิ่น การรับรู้สติผิดปกติ) ซึ่งเกิดขึ้นได้ทุกวัย จะเกิดขึ้นทันทีทันใด และรู้สึกตัว อาจแสดงอาการก้าวร้าว หยิกทึ้งตนเอง หรือแสดงอาการเหม่อลอยมักมีความผิดปกติของระบบประสาทอัตโนมัติ เช่น เจ็บหน้าอก หายใจลำบาก ชีพจรเร็ว ท้องอืด กลั้นปัสสาวะไม่อยู่ ก่อนชักมักมีอาการประสาทหลอน หลงผิด หลังชักจะมีอาการสับสน หลงลืม

1.2 อาการซับซ้อนเริ่มจากชักอย่างง่าย แล้วกำเริบขึ้นจนความรู้สึกตัวลดลง หรือบางรายเมื่อเริ่มชักก็หมดสติทันที

2. อาการชักทั่วไป (Generalized seizure)

อาการชักจะเกิดขึ้นทั้งตัว พบได้ดังนี้

2.1 อาการชักแบบแกรนด์มาล (Grand mal) พบบ่อยที่สุด มีลักษณะเฉพาะมีอาการเป็น 3 ระยะ ระยะแรกเกิดก่อนไม่กี่วันนัก เชื่อว่าเกิดจากการปลดปล่อยพลังไฟฟ้ามากผิดปกติในส่วนของสมองที่เป็นจุดเริ่มต้นของอาการชัก หรือความผิดปกติทางจิต เช่น มีความรู้สึกคุ้นเคยกับสิ่งนั้นๆ มีประสาทหลอนมีอาการเตือน (aura) เช่น การได้กลิ่นแปลกๆ มองเห็นภาพแหว่งเว้า มีจุดบอดนัยน์ตา มึนงง ระยะที่ 2 จะหมดสติทันทีทันใดแล้วมีอาการเกร็ง (Tonic phase) ของกล้ามเนื้อทั่วร่างกายทันที ถ้าผู้ป่วยยืนหรือนั่งอยู่จะล้มลงและร้อง อาจหยุดหายใจ และหน้าเขียว ผู้ป่วยจะกัดฟันแน่น กำมือตาเบิกกว้าง รูม่านตาขยาย และอยู่นิ่งๆ กินเวลา 30 วินาทีถึง 1 นาที เริ่มเข้าสู่ระยะชัก (clonic phase) มีกล้ามเนื้อกระตุกเป็นจังหวะ(กระตุก แล้วก็คลาย) ที่แขนขา กลั้นปัสสาวะ อุจจาระไม่อยู่ อาจกัดริมฝีปาก ลิ้น หายใจกระตุกและมีเสียงดังมีน้ำลายเป็นฟองไหลออกจากปาก ระยะนี้กินเวลา 2-5 นาที ระยะหลังชักผู้ป่วยจะเหนื่อย และไม่ตอบสนองต่อการกระตุ้นใดๆ จะหลับไปครึ่งชั่วโมงหรือนานกว่านั้น เมื่อตื่นขึ้น อาจไม่รู้เรื่องการชัก แต่จะเหนื่อย เศร้าซึม สับสน หรือปวดศีรษะ หลังจากนั้นจะเหมือนคนปกติ

อาการชัก หากเกิดซํ้าระหว่างที่ผู้ป่วยยังไม่ทันฟื้นเป็นปกติดีเรียกว่า Status epilepticus ซึ่งมักกินเวลานานกว่า 30 นาที ซึ่งอาจเป็นอันตรายถึงชีวิตได้

2.2 อาการชักแบบเปติดมาล (Petitmal) พบได้ในวัยเด็กอายุ 8-10 ปี และอาจหายเองได้เมื่ออายุมากขึ้น อาการมีเพียงหน้าซีด หมดสติไปชั่วขณะ 5-30 วินาที อาจจะเกิดขึ้นวันละหลายๆ ครั้ง อาการที่แสดงออกในเด็กจะพบว่า เด็กขาดความสนใจไปชั่วขณะหนึ่งหรือถือสิ่งของอยู่ เช่น แก้วหล่นแตก บางรายมีอาการปากบิดเบี้ยว หน้าเบี้ยว ซึ่งระยะเวลา 2-3 วินาที ถ้าผู้ป่วยตกใจตื่นเต้นจะเป็นบ่อยขึ้น อาการชักชนิดนี้ไม่มีอาการเตือนและหลังชักก็ไม่มีอาการอื่นเหลือค้างอยู่

นอกจากนี้อาจพบอาการชักแบบ Juvenile Myoclonic Epilepsy และ Akinetic ซึ่งจะไม่กล่าวถึงรายละเอียด

3. กลุ่มอาการชักแบบพิเศษ ได้แก่ reflex epilepsy การชักในเด็กที่มีไข้สูง Hysterical seizure เป็นต้น

พยาธิสรีรวิทยา

เซลล์ประสาทที่ปล่อยพลังงานไฟฟ้าให้เกิดอาการชักนั้น เป็นเซลล์ที่ไวต่อการกระตุ้น อยู่ในสภาพที่พร้อมจะดีโพลาไรซ์อยู่ตลอดเวลา เยื่อหุ้มเซลล์จะยอมให้สารต่างๆ ผ่านง่าย ทำให้เซลล์ไวต่อการตอบสนองต่อการมีไข้ ขาดออกซิเจน นํ้าตาลในเลือดตํ่า โซเดียมในเลือดตํ่า หรือไวต่อการกระตุ้นซ้ำๆ เซลล์ประสาทเหล่านี้จะไวต่อสารสื่อประสาทอเซทิลโคลีน จากการทดลองฉีดสารนี้เข้าที่เปลือกสมองใหญ่ของสัตว์ทดลอง และสอดไมโครอิเล็กโตรดเข้าไปบันทึกคลื่นไฟฟ้าพบว่าเป็นแบบ “ระเบิด ; Burst” ขึ้นในเซลล์ประสาทตัวนั้น นอกจากนี้ยังพบว่า การฉีดอเซทิติลโคลีนเข้าหลอดเลือด ทำให้สัตว์ทดลองมีอาการชักทั้งตัว (Smith & Their 1981 : 1346) นอกจากนี้การขาดสารเคมีที่ยับยั้งการหดตัวของกล้ามเนื้อ คือ สารสื่อกาบา (GABA) ก็ทำให้ชักได้ การขาดไพริดอกซีนในเด็กทำให้เกิดอาการชัก เนื่องจากวิตามินบี 6 นี้เป็นสารสำคัญในการสร้างกาบา การส่งคลื่นไฟฟ้าสมองขึ้นอยู่กับสมดุลของอเซทิลโคลีน และกาบา สมดุลของเซลล์ประสาทอาจถูกกระทบ หากมีการเปลี่ยนแปลงทางชีวเคมีของเซลล์เนื่องมาจาก ไข้สูง ขาดออกซิเจน แคลเซียมตํ่า นํ้าตาลในเลือดตํ่า ได้รับน้ำเกิน ภาวะด่างเกิน และยาต่างๆ ในภาวะปกติพลังงานที่ได้จากการเผาผลาญประมาณร้อยละ 20-25 ใช้เพื่อการทำงานของศักย์เยื่อเซลล์ของเซลล์ประสาท การขาดออกซิเจนและกลูโคสไปเลี้ยงเซลล์ประสาท จะลดการเผาผลาญ (การเกิดดีโพลาไรซ์จะต้องใช้ออกซิเจน) วาเบน (Ouabain) เป็นยาที่ใช้บล๊อคโซเดียมปั๊ม และยอมให้โปตัสเซียมแพร่ออกนอกเซลล์ เพิ่มความไวต่อการกระตุ้น ดังนั้นเมื่อใดก็ตามที่โปตัสเซียมในเลือดสูงจะทำให้ผู้ป่วยชัก สมองส่วนฮิบโปแคมปัส ซึ่งเป็นจุดที่ทำให้เกิดอาการชัก ไวต่อการเปลี่ยนแปลงของระดับโปตัสเซียมอย่างมาก

อาการชักอาจจะเกี่ยวข้องกับสมองส่วนใดส่วนหนึ่งก็ได้ เช่น แกรนด์มาล การปล่อยพลังไฟฟ้าที่มากเกิน เชื่อว่าจะเริ่มที่ก้านสมองส่วนเรติคูลาร์ลงไป กินเวลาเป็นวินาทีหรือ 3-5 นาที อาการชักนี้อาจจะหยุดทันทีทันใด เช่น เปติดมาล เข้าใจว่าเกิดเนื่องจากความเหนื่อยล้าของนิวโรน หรือเนื่องจากมีการยับยั้งภายในสมองเอง พลังไฟฟ้าที่ปล่อยออกมามากเกินนั้นจะทำให้กล้ามเนื้อเกร็งและกระตุกทันที เนื่องจากกล้ามเนื้อที่มีหน้าที่ตรงกันข้ามกันหดตัว และคลายตัวจึงเกิดอาการกระตุกขึ้น

การเปลี่ยนแปลงทางการเผาผลาญขณะกำลังชัก เซลล์ประสาทจะเพิ่มพลังงานขึ้นถึงร้อยละ 250 เพื่อให้มีพลังงานเพียงพอ และต้องการให้ออกซิเจนเพิ่มขึ้นร้อยละ 60 เลือดไหลผ่านสมองเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 250 ทั้งๆ ที่เพิ่มเลือดและการใช้ออกซิเจน แต่เซลล์ประสาทกลับขาดออกซิเจนและกลูโคส ในรายที่ชักรุนแรงและนานมาก กลูโคสที่ได้รับไม่เพียงพอ จึงทำให้สมองขาด เอทีพี (ATP) ฟอสโพครีเอตีน และกูลโคส มีแลคเตทคั่ง เกิดภาวะขาดออกซิเจน ทุติยภูมิ ภาวะเป็นกรด ส่งผลให้เนื้อสมองตาย จากการตรวจทางเนื้อเยื่อในสัตว์ที่กำลังชักพบว่าเซลล์ประสาทสูญเสียเยื่อหุ้มเซลล์เดนไดรท์บิดเบี้ยวและจงอยรับความรู้สึกก็ถูกทำลายไปด้วย

อาการและอาการแสดง

โรคลมชัก ชนิดแกรนด์มาล จะมีอาการเตือนล่วงหน้า ทางหู หรือตา แล้วตามด้วยอาการหมดสติทันทีร่วมกับมีอาการเกร็งของกล้ามเนื้อทั้งตัว ผู้ป่วยอาจหกล้มหรือตกลงมา จะมีอาการหลังแอ่น ขาและแขนเหยียดออก กัดฟันแน่น หายใจครืดคราด เพื่อจะเปล่งลมผ่านสายเสียง ที่กำลังบิดขณะที่กล้ามเนื้อทรวงอกหดตัว อาจมีปัสสาวะและอุจจาระราด หยุดหายใจ หน้าเขียว ม่านตาขยายไม่มีปฏิกิริยาต่อแสงระยะเวลา 15 วินาทีอาจถึง 1 นาที ส่วนอาการกระตุกเป็นการหดตัวของกล้ามเนื้ออย่างเป็นจังหวะร่วมกับการหายใจหอบ หน้าบูดเบี้ยว ตาเหลือก น้ำลายเป็นฟองเหงื่อออกมาก ชีพจรเร็ว การกระตุกจะกินเวลา 2-5 นาที หลังกระตุกจะไม่ตอบสนองต่อการกระตุ้นใดๆ 5 นาที แขนขาอ่อนปวกเปียก หายใจเบา รูม่านตาเริ่มตอบสนองต่อแสง เมื่อฟื้นขึ้นมาจะมีอาการงุนงง อาจบ่นปวดศีรษะ ปวดกล้ามเนื้อ และอ่อนเพลีย จำเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นไม่ได้

การชักแบบเปติดมาล ซึ่งพบในเด็กส่วนใหญ่จะหมดสติไปครู่หนึ่ง เช่น จ้องภาพค้าง ของหล่นจากมือ ตากลอก ริมฝีปากสั่น เกิดขึ้นเป็นเวลา 5-10 วินาที แล้วดีขึ้น ส่วนอาการชัก แบบไซโคโมเตอร์ (กลีบขมับ) จะมีอาการเกร็ง ปากเบี้ยว เลียริมฝีปากโดยอัตโนมัติ มีอาการ ประสาทหลอนทางการได้ยิน ความจำเสื่อม ส่วนแจคโซเนียล ซีสเชอร์ เป็นอาการชักเฉพาะที่ของสมอง ส่วนที่ควบคุมการเคลื่อนไหว จะแสดงอาการตามตำแหน่งโรค

การรักษา

-ขณะชัก ให้วาเลี่ยม 10 มก.เข้าเส้นช้าๆ เนื่องจากยานี้กดการหายใจขณะให้ยา และหลังให้ยาสังเกตจังหวะและอัตราการหายใจอย่างใกล้ชิด

-ให้ Phenytoin (Dilantin) 500 ม.ก. หยดให้ทางเส้นเลือดดำช้าๆ นาทีละ 50 ม.ก. เพราะยานี้กดการเต้นของหัวใจจึงต้องสังเกตการเต้นของหัวใจด้วย

-ให้ Phenobarb ขนาด 15-50 ม.ก. (เด็ก) และ 50-100 ม.ก. (ผู้ใหญ่) กินวันละ 2-3 ครั้ง เพื่อควบคุมอาการชักในระยะยาว ยานี้ใช้ได้ผลดีและราคาถูก ใช้รักษาโรคลมชักแบบ แกรนด์มาล แจคโสเนียน และอาการชักจากไข้สูง ใช้ไม่ได้ผลในเปติดมาล การหยุดยานี้อย่าง ทันทีทันใด อาจทำให้เกิดอาการชักได้ เมื่อจะเลิกใช้จะต้องค่อยๆ ลดขนาดของยาลงเสียก่อน

การพยาบาลผู้ป่วยที่มีอาการชัก

การประเมินภาวะสุขภาพ

ประวัติ ประวัติการได้รับยากดประสาท การบาดเจ็บศีรษะ (ทำให้ชักได้ร้อยละ 10) ประวัติการเป็นเนื้องอกสมอง การติดเชื้อในสมอง การกินสารพิษ ประวัติชักในครอบครัว ประวัติการเจริญเติบโต (อาการชักในเด็ก) อายุ เพศ การดำรงชีวิต การติดยา สูบบุหรี่ ดื่มสุรา

การตรวจร่างกาย ตรวจบันทึกการเปลี่ยนแปลงทางด้านจิตใจ หน้าที่ของเส้นประสาทสมอง ตรวจกำลังกล้ามเนื้อ การรับความรู้สึก รีเฟลกช์ การทรงตัว อาการชักที่เกิดในระหว่างตรวจร่างกาย สังเกตการกลอกตา การหันศีรษะ ระดับความรู้สติ ขนาดรูม่านตา การขับถ่าย อุจจาระ ปัสสาวะ อาการหลังชัก ตรวจดูว่ามีการกัดลิ้นหรือไม่ เมื่อผู้ป่วยฟื้นควรประเมินสภาพร่างกายและจิตใจด้วย เช่น อาการปวดศีรษะ แขนขาอ่อนแรง สับสน ความจำ หรืออาการพูดไม่ได้

การตรวจเพื่อวินิจฉัย ได้แก่ การตรวจเลือดหาระดับนํ้าตาล แคลเซียม ยูเรีย ฮีโมโกลบิน วีดีอาร์แอล ตรวจปัสสาวะเพื่อดูโปรตีน เม็ดเลือดขาว นอกจากนี้ควรตรวจภาพรังสี กะโหลกศีรษะและการตรวจคลื่นไฟฟ้าสมอง การศึกษาสภาพหลอดเลือดในสมองด้วยคอมพิวเตอร์ หรือ MRI

การวินิจฉัยการพยาบาล

การวินิจฉัยการพยาบาลสัมพันธ์กับอาการชัก คือ

1. เสี่ยงต่อการสำลัก เนื่องจากการเคลื่อนไหวที่ผิดปกติ/ระดับความรู้สึกลดลง

2. เสี่ยงต่อการได้รับบาดเจ็บขณะชัก

3. การรับความรู้สึก และความเข้าใจ (perceptual) เปลี่ยนแปลง

4. ปัญหาทางด้านจิตใจก่อให้เกิดปัญหาหลายอย่าง เช่น ความกลัว ความวิตกกังวล การสูญเสียภาพลักษณ์ การเสื่อมความนับถือในคุณค่าตนเอง การแยกตัวออกจากสังคม การดำเนินโรค ไม่สามารถเผชิญปัญหาได้ เป็นต้น

การวางแผนการพยาบาล มีวัตถุประสงค์ คือ

1. เพื่อควบคุมอาการชัก

2. ป้องกันมิให้ผู้ป่วยได้รับอันตรายจากการชักนั้น

3. ให้ผู้ป่วย ครอบครัว เข้าใจและสามารถเผชิญกับปัญหา (ในรายที่ไม่สามารถรักษาได้)

เกณฑ์การประเมินผล

1. อาการชักลดลง หายใจโล่งไม่สำลักไม่มีอุบัติเหตุ

2. ผู้ป่วยเข้าใจ ยอมรับ และปฏิบัติตัวกระตุ้นให้เกิดอาการชัก

3. ผู้ป่วยและครอบครัวสามารถปรับตัวปรับการดำเนินชีวิตให้เหมาะสม

4. ญาติเข้าใจถึงการช่วยเหลือผู้ป่วยเมื่อมีอาการชัก และช่วยให้ผู้ป่วยสามารถดำรงชีวิตอยู่ในสังคมได้

การปฏิบัติการพยาบาล

อาการชักรักษาให้หายได้ แต่โรคลมชักเป็นโรคที่ไม่สามารถรักษาให้หายได้ แต่สามารถควบคุมอาการให้น้อยลงได้ โดยการใช้ยา บางรายอาจใช้ยาไปตลอดชีวิต การให้การพยาบาล จึงต้องวางแผนระยะยาว เพื่อให้ผู้ป่วยดำรงชีวิตอยู่ในสังคมได้อย่างมีความสุข พยาบาลจึงต้องศึกษาประวัติการเจ็บป่วยของผู้ป่วยอย่างละเอียด เพื่อหาทางช่วยเหลือ ดังนี้

ก่อนชัก ผู้ป่วยที่มีอาการเตือนก่อนชักจะสามารถช่วยเหลือได้ โดยเตรียมเครื่องมือที่จำเป็นในการช่วยเหลือเมื่อผู้ป่วยมีอาการชักเกิดขึ้น เช่น ไม้กดลิ้น เครื่องป้องกันลิ้นตก (air way) ลูกสูบยาง ถังออกซิเจน จัดสิ่งแวดล้อมให้สงบ อากาศถ่ายเทได้ดี ผู้ป่วยที่มีอาการเตือน ควรจัดให้นอนลงเพื่อป้องกันอันตรายที่เกิดจากการชัก ถ้ามีเวลาพอที่ผู้ป่วยจะมีอาการเกร็งและกัดฟัน ควรใส่ไม้กดลิ้น แอร์เวย์ หรือ

พลาสติค

ขณะชัก ผู้ป่วยที่ชักโดยไม่มีอาการเตือนล่วงหน้า ต้องระวังมิให้ผู้ป่วยล้มลงพื้นถ้านั่งอยู่ให้จับลงนอนกับพื้นหรือเตียง ปลดขยายเสื้อผ้าที่รัดรึงร่างกายออก โดยเฉพาะรอบๆ คอ เลื่อนสิ่งของที่เป็นอันตรายออกไป วางหมอนที่นุ่มๆ หรือผ้าหนุนศรีษะจัดให้ตะแคงหน้าให้น้ำลายไหลออกสะดวก ไม่ควรใส่ไม้กดลิ้นขณะกำลังชัก ไม่ควรกดหรือผูกมัดผู้ป่วยจะทำให้เกิดแรงต้านกระดูกสันหลังหักได้ พยาบาลจะต้องอยู่กับผู้ป่วยจนกระทั่งหยุดชัก เพื่อป้องกันอันตรายต่างๆ ที่จะเกิดขึ้น ในขณะเดียวกันก็ควรจะร้องเรียกผู้อื่นให้รายงานแพทย์และเตรียมการช่วยเหลืออย่างอื่น

การสังเกตและการบันทึก ในขณะชักพยาบาลต้องอยู่เคียงข้างผู้ป่วยตลอดเวลา ควรสังเกตว่าอาการชักเกิดขึ้นเมื่อใด นานเท่าใด ส่วนใด ลักษณะการเคลื่อนไหวเป็นแบบใด การหายใจ ระดับความรู้สติ รูม่านตา การขับถ่ายปัสสาวะอุจจาระ บาดเจ็บที่เกิดจากการชัก และ อาการหลังชัก

หลังชัก เคลื่อนย้ายผู้ป่วยไปนอนในที่ปลอดภัย อาการถ่ายเทดี และเช็ดตัวเปลี่ยนเสื้อผ้าและบันทึกการชัก

การประเมินผล

ระหว่างที่อยู่ในโรงพยาบาลในช่วงที่เกิดอาการฉับพลัน ผู้ป่วยได้รับการดูแลเรื่องให้ยา สังเกตอาการข้างเคียงของยา ผู้ป่วยและครอบครัวมีความพึงพอใจในการรักษาหรือไม่ ประเมินทักษะการเรียนรู้ของผู้ป่วยและญาติ

ในช่วงที่มีอาการชักติดต่อกัน พยาบาลจะต้องตรวจสอบอุณหภูมิ ชีพจร หายใจ ความดันโลหิต วิเคราะห์แก๊สในเลือด ระดับอิเล็กโตรไลต์ ปริมาณน้ำที่ร่างกายได้รับและขับออกตลอดจนระดับยากันชักในกระแสเลือด

การพยาบาลต่อเนื่อง

เป็นการดูแลระยะยาว เพื่อควบคุมอาการชักจะเป็นเรื่องการให้สุขศึกษา และการดูแลด้านจิตใจ

การให้สุขศึกษาแก่ผู้ป่วยและญาติ เมื่อผู้ป่วยมีอาการทุเลาขึ้น และจะกลับไปใช้ชีวิตที่บ้านจึงควรให้สุขศึกษาผู้ป่วย และญาติ เพื่อป้องกันการชักมิให้เกิดขึ้น หรือเกิดน้อยลง ดังนี้คือ

1. อธิบายสาเหตุ อาการของโรคพอเข้าใจ และให้รู้จักสังเกตอาการเตือนต่างๆ ที่นำมา ก่อนอาการชัก และหาทางป้องกันอันตรายที่เกิดขึ้น

2. หลีกเลี่ยงสิ่งที่จะมากระตุ้นให้เกิดอาการชัก เช่น แสง เสียง อาการเหนื่อยอ่อนเพลีย ความตึงเครียดทางอารมณ์ต่างๆ งดดื่มสุรา ซึ่งจะกระตุ้นให้เกิดอาการชักได้

3. จัดหาอุปกรณ์ในการช่วยเหลือเมื่อมีอาการชัก เช่น ด้ามช้อนส้อมพันด้วยผ้าใส่ระหว่างฟันกรามเพื่อป้องกันการกัดลิ้น

4. รักษาความสะอาดของร่างกายทั่วๆ ไป เพื่อป้องกันการติดเชื้อ ซึ่งเป็นสาเหตุทำให้ชัก (ไข้สูงทำให้ชัก)

5. รับประทานอาหารที่มีประโยชน์งดเว้น ชา กาแฟ ระวังท้องผูก

6. พักผ่อนอย่างเพียงพอ อย่าทำงานหักโหมจนร่างกายอ่อนเพลีย

7. แนะนำเรื่องการประกอบอาชีพ ทำงานที่เหมาะสม และปลอดภัยสำหรับตนเองและผู้อื่น หลีกเลี่ยงการทำงานที่เสี่ยงอันตราย เช่น ขับรถ ขับเรือ งานก่อสร้าง

8. ห้ามเดินทางไกลคนเดียว เพราะจะขาดผู้ช่วยเหลือเมื่อมีอาการชักขึ้น

9. รับประทานยาอย่างสมํ่าเสมอ เพื่อควบคุมอาการชัก อย่าหยุดยาเอง และไปพบแพทย์ตามนัด เพื่อการรักษาที่ต่อเนื่อง หรือถ้ามีอาการผิดปกติควรมาพบแพทย์

10. ให้ความรู้แก่ญาติ เรื่องอาการเตือน การช่วยเหลือขณะมีอาการชัก ปัจจัยกระตุ้นให้เกิดอาการชัก การรับประทานยาตลอดจนอาการข้างเคียงของยาต่างๆ

11. แนะนำให้ผู้ป่วยมีบัตร ระบุชื่อสกุล ที่อยู่ เบอร์โทรศัพท์ โรคที่เป็น ยาที่ได้รับ แพทย์ผู้รักษาติดตัวไว้ เมื่อเกิดอาการชักขึ้นในที่สาธารณะผู้พบเห็นจะได้แจ้งให้ญาติทราบหรือส่งต่อผู้ป่วยไปรับการรักษาที่ถูกต้องรวดเร็ว

12. การดูแลทางด้านจิตใจ ผู้ป่วยที่เป็นโรคลมชัก หรือมีอาการชัก ไม่ว่าจะหมดสติหรือไม่ก็ตาม จะเกิดความรู้สึกกังวลและอับอายเมื่อเกิดอาการชักขึ้นในที่สาธารณะ หรือที่โรงเรียน ที่ทำงาน จะรู้สึกเป็นปมด้อยทำให้ปรับตัวลำบาก พยาบาลจึงต้องอธิบายให้ผู้ป่วยและญาติ เข้าใจถึงสภาพเหล่านี้ว่าไม่ใช่เป็นสิ่งที่น่าอับอาย สังคมยอมรับและเข้าใจผู้ป่วยดีขึ้น เด็กๆ สามารถที่จะเข้าเรียนในโรงเรียนได้ พยาบาลจะต้องสนับสนุนให้ผู้ป่วยมีกำลังใจ แนะนำญาติให้หางานที่ไม่เป็นอันตรายกับผู้ป่วยเพื่อลดความวิตกกังวล ความเครียด ซึ่งจะทำให้อาการชักน้อยลง แนะนำญาติให้ดูแลผู้ป่วยอย่างใกล้ชิดและด้วยความเต็มใจ คอยสังเกตอาการนำซึ่งจะทำให้ผู้ป่วยเกิดอาการชัก จะได้หาทางป้องกันอันตรายที่เกิดขึ้นได้ ให้ดูแลผู้ป่วยจนกระทั่งฟื้นไม่ให้ ผู้ป่วยรู้สึกตัวว่าถูกทอดทิ้ง

ผู้ป่วยที่มีอาการประสาทหลอนมีความรุนแรง ให้การดูแลเช่นเดียวกับผู้ป่วยจิตเวช ผู้ป่วยที่มีอารมณ์ไม่มั่นคง หงุดหงิด ซึม อับอาย ต้องอธิบายให้ญาติและเพื่อนฝูงเข้าใจ ไม่ล้อเลียนผู้ป่วย

↑ กลับสู่ส่วนบนของหน้า