สำหรับผู้ใส่ใจในการรักษาสุขภาพ ทั้งสุขภาพกาย และสุขภาพจิต

หน้าที่ในการคัดหลั่งของกระเพาะอาหาร

เยื่อเมือก (mucosa) กระเพาะอาหารมีเซลล์หลายชนิดด้วยกันเรียงตัวเป็นผิวด้านในของกระเพาะและเป็นต่อมในกระเพาะ  เยื่อเมือกนี้มีลักษณะแตกต่างกันตามบริเวณต่าง ๆ ของกระเพาะอาจแบ่งออกได้ตามตำแหน่งทางกายวิภาคเป็น ๓ ชนิด คือ cardiac gland อยู่ที่บริเวณรอยต่อของกระเพาะอาหารกับหลอดอาหาร มีความกว้างประมาณ ๑-๓ ซม. Fundus หรือบริเวณ parietal cell มีอยู่ในส่วน fundus และ body ของกระเพาะมีเนื้อที่ราวเศษสามส่วนสี่ทางส่วนต้นของกระเพาะ  ทำหน้าที่สร้างกรดเกลือและ pepsin ประมาณเศษหนึ่งส่วนสีของกระเพาะส่วนปลายเป็น antrum หรือบริเวณ pyloric gland เซลล์ต่าง ๆ ที่ประกอบเป็นเยื่อเมือกของกระเพาะมีอยู่สี่ชนิดคือ เซลล์เมือก (mucous cell) ทำหน้าที่ผลิตเมือก (mucus) parietal cell ทำหน้าที่ผลิตกรดเกลือและ intrinsic factor น้ำย่อย pepsin ของกระเพาะผลิตโดย chief cell และเซลล์ที่บุกระเพาะอาหารส่วน antrum ที่เรียก G-cell ทำหน้าที่สร้างฮอร์โมน gastrin

เซลล์ที่ประกอบเป็นเยื่อเมือกที่บุผนังด้านในของกระเพาะอาหารและทำหน้าที่ผลิตเมือกนี้มีอายุสั้นเพียง ๒-๔ วัน  คำนวณจากการวัด DNA แสดงว่าเซลล์เหล่านี้จะตายหลุดออกจากเยื่อเมือกเป็นจำนวน ๕ แสนเซลล์ทุก ๆ นาที และมีเซลล์ที่เจริญเติบโตจากบริเวณที่เรียก gastric pit คือที่ปากของต่อมในผนังกระเพาะอาหารขึ้นมาแทนที่เซลล์ที่ตายหลุดไป  ส่วนของเยื่อเมือกที่เป็นต่อมอยู่ลึกลงไปในผนังต่ำกว่า gastric pit เป็นเซลล์ที่ผลิต pepsin และกรดเกลือจะมีอายุยืนนานและไม่แบ่งตัว

การกระจายของเส้นเลือดในผนังกระเพาะอาหาร  ในที่นี้จะไม่กล่าวถึงเส้นเลือดใหญ่ที่เข้ามาเลี้ยงกระเพาะอาหารเพราะเส้นเลือดเหล่านั้นเป็นที่คุ้นเคยกันดีในการศึกษาภายวิภาคของกระเพาะ  แต่จะกล่าวถึงการกระจายของเส้นเลือดภายในผนังของกระเพาะซึ่งน่าสนใจในแง่ของสรีรวิทยาและพยาธิวิทยา

เยื่อเมือกกระเพาะอาหารมีเส้นเลือดฝอยมาเลี้ยงมากตลอดทั้งชั้น เส้นเลือดฝอยรับเลือดจากเส้นเลือดแดงในชั้นใต้เยื่อเมือก (submucosa) ผ่านทะลุชั้นmuscularis mucosa มากระจายเป็นเส้นเลือดฝอย  ในผนังกระเพาะด้านหน้าและด้านหลังเส้นเลือดแดงในชั้นใต้เยื่อเมือกจะประสานกันเป็นร่างแห  ฉะนั้นที่ผนังส่วนนี้จะมีเลือดไปเลี้ยงได้ทั่วถึงกัน  สำหรับกระเพาะทางด้าน lesser curvature นั้น  เส้นเลือดฝอยในชั้นเยื่อเมือกจะรับเลือดมาจากเส้นเลือดแดงเล็ก ๆ ที่ผ่านเข้ามาโดยตรงจากเส้นเลือดภายนอกผนังของกระเพาะอาหารโดยไม่มีการประสานกันภายในชั้นใต้เยื่อเมือก  จึงทำให้เยื่อเมือกบริเวณนี้ขาดเลือดได้ง่ายกว่าบริเวณอื่น อาจเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เกิดแผลเปปติค

Intramural arteriovenous shunts :  การเปลี่ยนแปลงของเลือดที่มาเลี้ยงเยื่อบุกระเพาะอาหารเปลี่ยนแปลงได้โดยการลัดวงจรของเลือดแดงเข้าสู่เส้นเลือดดำในชั้นใต้เยื่อเมือกผ่าน arteriovenous shunt เป็นวิถีทางอันหนึ่งในการควบคุมปริมาณเลือดที่มาเลี้ยงเยื่อเมือกของกระเพาะอาหาร ในขณะที่มีการผลิตน้ำย่อยมากวงจรลัดนี้จะปิดเพื่อให้เลือดมาเลี้ยงเยื่อเมือกมาก  ทางตรงข้ามถ้ามีการผลิตน้ำย่อยน้อยเลือดจะถูกลัดวงจรให้ผ่านทางวงจรลัด (shunt) นี้ ทำให้เลือดจะผ่านมาที่ชั้นเยื่อเมือกน้อยลง  มีการทดลองแสดงว่า vagotomy จะทำให้วงจรลัดในชั้นใต้เยื่อเมือกนี้เปิด เลือดถูกลัดวงจรผ่านมาที่ชั้นเยื่อเมือกน้อยลงซึ่งเป็นประโยชน์อันหนึ่งที่นำมาใช้ในการรักษา hemorrhagic gastritis.

ส่วนประกอบของของเหลวในกระเพาะอาหาร

ของเหลวในกระเพาะอาหารมีส่วนประกอบมากมาย พอจะแบ่งออกได้เป็นสองพวกใหญ่ ๆ คือสารอินทรีย์และสารอนินทรีย์ สารอินทรีย์ในกระเพาะประกอบด้วยเมือก pepsinogen, intrinsic factor และ blood group substance

เมือกส่วนใหญ่ผลิตโดยต่อมที่ส่วนปลายทั้งสองข้างของกระเพาะอาหาร มีออกมาจากเยื่อเมือกของผนังกระเพาะส่วนอื่น ๆ ด้วย  ส่วนประกอบทางเคมียังไม่ทราบกันละเอียดพอ เท่าที่ทราบมันมีส่วนประกอบส่วนหนึ่งเป็นกลัยโคโปรตีนที่มีน้ำหนักอณูสูง เมือกมีคุณสมบัติทาง adhesive, cohesive และมีความหนืดสูง มันปกคลุมเยื่อเมือกกระเพาะ  ช่วยป้องกันเยื่อเมือกของกระเพาะจากการย่อยของกรดและ pepsin

Pepsinogen สร้างจาก chief cell ของเยื่อเมือกกระเพาะอาหาร เมื่อความเป็นกรดในกระเพาะเพิ่มขึ้นจนค่า pH น้อยกว่า ๕ มันจะแยกตัวออกเป็นน้ำย่อย pepsin ซึ่งมีประสิทธิภาพในการย่อยโปรตีนสูงสุดเมื่อค่าของ pH เท่ากับ ๒  จากการศึกษาระยะหลังนี้แสดงว่าในคนน้ำย่อย pepsin มีหลายตัวซึ่งแตกต่างกันตรงที่มีประสิทธิภาพในการย่อยโปรตีนในภาวะเป็นกรดแตกต่างกัน มีสารชนิดหนึ่งเรียกว่า uropepsin เป็นน้ำย่อยโปรตีนซึ่งพบในปัสสาวะและกระตุ้นให้ออกฤทธิ์ย่อยโปรตีนได้โดยภาวะกรด  เชื่อกันว่าเป็น pepsinogen ที่ผลิตออกจากเยื่อเมือกการเพาะอาหารผ่านโดยตรงเข้าสู่กระแสเลือด แล้วไตขับออกมาทางปัสสาวะ ระดับของ uropepsin นี้ไม่สัมพันธ์กับการผลิตน้ำย่อยของกระเพาะ  จึงไม่สามารถใช้ระดับของมันในการวัดประสิทธิภาพของการผลิตน้ำย่อยจากกระเพาะได้

Blood group substance  ประมาณร้อยละ ๗๕ ของคนทั่วไปผลิต blood group substance ออกมาในน้ำลายและของเหลวในกระเพาะอาหาร  อีกร้อยละ ๒๕ ซึ่งไม่สามารถผลิตแอนติเจนนี้ตรงกับพวกที่ไม่มีแอนติเจนนี้ที่ผนังของเม็ดเลือดแดง  คือพวกที่มีเลือดอยู่ในหมู่ O เรียก nonsecretor สถิติจากชาวตะวันตกพวก nonsecretor นี้มีอุบัติการของแผลที่ดูโอดีนั่มสูงกว่าคนทั่วไป

สารอนินทรีย์ที่ผลิตจากกระเพาะที่สำคัญคือ กรดเกลือ ซึ่งจะผสมกับสารอนินทรีย์อื่น ๆ โดยมีปริมาณเปลี่ยนแปลงได้ตลอดเวลา สารอื่นที่สำคัญ ๆ ก็คือโซเดียมและโปแตสเซียม

กลไกของการผลิตกรดจากกระเพาะอาหาร

เป็นที่ทราบกันแน่นอนแล้วว่า parietal cell เป็นตัวผลิต ไฮโดรเจน คลอไรด์ น้ำและ intrinsic factor ความเข้มข้นสูงสุดของกรดในกระเพาะอยู่ระหว่าง ๑๔๐-๑๖๐ mEq/ลิตร  ซึ่งถ้าเทียบกับความเข้มข้นในเลือดแล้วมันจะสูงกว่าในเลือดถึง ๒ ล้านเท่า ฉะนั้น parietal cell จะต้องใช้พลังงานในการผลิตกรด พลังงานนี้ได้มาจาก aerobic glucolysis การผลิตกรดจะหยุดชงักในภาวะ anaerobic ฮิสตามีนเป็นสารที่มีประสิทธิภาพสูงในการกระตุ้นให้ parietal cell ผลิตกรด กล่าวกันว่าการกระตุ้นจากวิถีทางต่าง ๆ ต่อการผลิตกรดของกระเพาะอาหารออกฤทธิ์ โดยกระตุ้นให้ขับฮิสตามีนออกมาจากเยื่อเมือกของกระเพาะ (เยื่อเมือกของกระเพาะมีฮิสตามีนสะสมอยู่มาก)  จากการศึกษาในระยะหลังนี้แสดงว่ามี histamine receptor อยู่สองชนิดคือ H1 receptor และ H2 receptor ตัวที่เกี่ยวข้องกับการตอบสนองต่อการกระตุ้นของเซลล์ที่ผลิตกรดคือ H2 receptor ยาแอนติฮิสตามีนที่ใช้ในการรักษาโรคแพ้ต่าง ๆ มีผลต่อ H1 receptor แต่มีผลต่อการผลิตกรดน้อยมาก ยาที่ปิดกั้น (blocker) ของ H2 receptor มีผลระงับการผลิตกรดได้สูงมาก  คงจะมีการนำเอายานี้มาใช้ในการลดกรดของกระเพาะอาหารเพื่อรักษาโรคแผลเปปติคในเร็ว ๆ นี้

ความเข้มข้นของกรดในกระเพาะอาหารนี้ควบคุมโดยการผลิตและการเจือจางกับด่างที่ออกมาจากเซลล์อื่น ๆ ของเยื่อเมือก  นอกจากนี้ยังมีกลไกอีกอันหนึ่งซึ่งยังไม่ทราบลักษณะทางธรรมชาติของมันดี  คือ กลไกที่ไฮโดรเจนไอออนซึมกลับเข้าไปในเยื่อเมือกแลกเปลี่ยนกับโซเดียมออกมาในของเหลวในกระเพาะอาหาร  การที่กระเพาะสามารถรักษาความเป็นกรดของของเหลวในกระเพาะอาหารไว้ได้  โดยมีระดับแตกต่างกันอย่างมากระหว่างกรดในกระเพาะกับกรดในเลือดนี้อธิบายได้โดยหลักของ mucosal barrier ซึ่งทำหน้าที่ปิดกั้นกรดในกระเพาะอาหารให้มีความเข้มข้นสูงกว่าในเซลล์ได้  การซึมของกรดผ่านการปิดกั้นนี้แตกต่างกันระหว่างสัตว์ต่างชนิด  ในภาวะผิดปกติของคนเช่นกรณีที่เยื่อบุกระเพาะอาหารถูกทำลายด้วยสารละลายแอสไพรินในกรดจะมีการซึมของกรดผ่านเข้าไปในเยื่อเมือกกระเพาะเพิ่มมากขึ้น เชื่อกันว่าการปิดกั้นนี้ไม่มีลักษณะทางกายภาพเป็นส่วนหนึ่งส่วนใดของกระเพาะโดยเฉพาะ  และไม่ใช่เมือกที่เคลือบอยู่บนเยื่อเมือกด้วย แต่เป็นปรากฎการณ์ทาง dynamic ซึ่งต้องใช้พลังงานในการทำงานของมัน การปิดกั้นนี้เปลี่ยนแปลงได้ตามภาวะการผลิตกรดของกระเพาะ ภาวะกรดด่าง และการเปลี่ยนแปลงของปริมาณเลือดที่มาเลี้ยงเยื่อเมือกกระเพาะอาหาร

การควบคุมการผลิตกรดของกระเพาะอาหาร

ก.  การกระตุ้นให้ผลิตกรด

แต่เดิมมักแบ่งการผลิตกรดของกระเพาะที่เกิดตอบสนองการรับประทานอาหารออกเป็นสามระยะ คือ เมื่อมีการกระตุ้นจากสมอง กระเพาะ และลำไส้เล็ก แต่เนื่องจากความรู้ทางสรีรวิทยาของกระเพาะเพิ่มมากขึ้น  ทราบว่าระยะที่หนึ่ง และระยะที่สองมีความสัมพันธ์กันอย่างใกล้ชิด  จึงมักรวมสองระยะนี้เข้าไว้ด้วยกัน

การผลิตกรดตอบสนองการกระตุ้นจากสมองและกระเพาะอาหาร (Vagal-antralphase)

แรงกระตุ้นจากการนึกถึงอาหาร การมองเห็น และได้กลิ่นอาหารทางประสาทสมองคู่ที่สองและที่หนึ่ง  การกลืนอาหารจากประสาทสมองคู่ที่ห้าและที่เก้าจะกระตุ้นศูนย์ประสาท vagus แล้วส่งแรงกระตุ้นผ่านมาทางเส้นประสาท vagus ทำให้กระเพาะอาหารผลิตสิ่งคัดหลั่งในลักษณะต่าง ๆ คือ กรดเกลือออกมาภายในเวลา ๔-๗ นาทีหลังจากเริ่มกระตุ้น น้ำย่อย pepsin ออกมาทันทีหลังจากถูกกระตุ้น และมีเมือกออกมาจากต่อมเมือกที่ pylorus และ fundus ของกระเพาะ  การผลิตนี้จะติดต่อกันเป็นเวลานานถึง ๒ ชั่วโมง  ซึ่งการกระตุ้นจากประสาทที่รับความรู้สึกเกี่ยวกับอาหารอย่างเดียวไม่น่าจะมีผลอยู่นานเช่นนั้น  เชื่อกันว่าการที่มีผลจากการกระตุ้นนานเช่นนี้เป็นเพราะ vago-vagal reflex เกิดแรงกระตุ้นต่อศูนย์ประสาท vagus ติดต่อกันขณะที่กระเพาะและลำไส้เล็กพองตัวขึ้นเมื่อมีอาหารเข้าไปอยู่  สำหรับกลไกของเส้นประสาท vagus ต่อการผลิตกรดของกระเพาะนั้นเกิดขึ้นได้สองทาง คือ กระตุ้น parietal cell โดยตรงและทางอ้อมโดยทำให้เยื่อเมือกของ antrum ผลิตฮอร์โมน gastrin แล้วฮอร์โมน gastrin มากระตุ้น parietal cell อีกต่อหนึ่ง  ผลจากการกระตุ้นประสาท vagus นี้สามารถทำให้เกิดขึ้นได้โดยฉีดอินซูลินเข้าไปในร่างกายจนระดับน้ำตาลในเลือดต่ำลง การที่น้ำตาลในเลือดต่ำลงจะกระตุ้นศูนย์ประสาท vagus ให้ส่งแรงกระตุ้นมาที่กระเพาะอาหารทางประสาท vagus ได้  เราใช้หลักการอันนี้ในการตรวจภายหลังผ่าตัดรักษาแผลเปปติคโดยการตัดประสาท vagus ว่าได้ตัดเส้นประสาทออกไปหมดหรือไม่

เมื่ออาหารในกระเพาะผ่านไปถึงส่วนปลายบริเวณ antrum จะกระตุ้นให้ฮอร์โมน gastrin ออกมามากขึ้น  ฮอร์ดมน gastrin นอกจากจะผลิตจากเยื่อเมือกของ antrum แล้วยังอาจผลิตออกได้จากเยื่อเมือกของดูโอดีนั่มปริมาณไม่น้อยและพบได้ใน delta cell ของตับอ่อนอีกด้วย gastrin ของคนเราสามารถแยกออกมาเป็นสารบริสุทธิ์และสังเคราะห์ขึ้นได้ gastrin ในคนปกติมีลักษณะทางอณูเหมือนกับ gastrin ที่แยกจากเนื้องอกของตับอ่อนใน Zollinger-Ellison Syndrome คือมีการเรียงตัวในอณูสองแบบที่เรียก gastrin I และ gastrin II ฮอร์โมนนี้มีคุณสมบัติทางสรีรวิทยาที่สามารถกระตุ้นกระเพาะให้ผลิตกรดเกลือและน้ำย่อย pepsin กระตุ้นการเติบโตของเยื่อบุกระเพาะอาหาร  นอกจากนี้มันยังทำใกล้ามเนื้อที่รอยต่อระหว่างหลอดอาหารกับกระเพาะหดตัวด้วยแต่ยังไม่เป็นที่ตกลงกันว่าในสภาวะปกติมันมีส่วนสำคัญในการควบคุมการปิดเปิดของรอยต่อนี้หรือไม่  มีหลักฐานบางประการแสดงว่า gastrin กระตุ้นการผลิต calcitoninด้วย และ calcitonin ก็มีผลระงับการผลิต gastrin

การผลิตฮอร์โมน gastrin นี้เกิดตอบสนองต่อการกระตุ้นเมื่อ antrum พองตัว และสารละลาย peptone ที่เกิดจากการย่อยโปรตีนหรืออาหารที่มีแคลเซียมไอออนสัมผัสกับเยื่อบุ antrum acetylcholine และการกระตุ้นประสาท vagus เพิ่มปริมาณการผลิต gastrin เช่นกัน แต่ด้วยเหตุผลใดไม่ปรากฎ atropine ซึ่งเป็นยาที่ออกฤทธิ์เป็นยาที่ปิดกั้นฤทธิ์ของ acetylcholine กลับเพิ่มการผลิต gastrin แทนที่จะลดลง  กรดใน antrum และ calcitonin ระงับการผลิต gastrin  gastrinจะออกมากที่สุดเมื่ออาหารภายใน antrum มีภาวะเป็นด่างและค่อย ๆ ลดลงเมื่อภาวะเป็นกรดมากขึ้นจนกระทั่งหยุดผลิตเมื่อภายใน antrum มี pH ต่ำกว่า ๒ การกระตุ้นของประสาท vagus และแรงกระตุ้นอื่น ๆจะเสริมแรงให้แก่กันและกัน  ถ้าตัดประสาท vagus ที่ส่วน antrum ออก gastrin จะออกมาน้อยกว่าเมื่อมีประสาท vagus ขณะที่ antrum พองตัวออกเท่า ๆ กัน  ในการกระตุ้น parietal cell แรงกระตุ้นของประสาท vagus กับ gastrin ก็ออกฤทธิ์เสริมกันเช่นกัน เมื่อตัดประสาท vagus ออกจากกระเพาะส่วนที่มี parietal cell กระเพาะจะผลิตกรดตอบสนองต่อการกระตุ้นของ gastrin น้อยกว่าเมื่อเส้นประสาท vagus ยังไม่ถูกตัด

สารสังเคราะห์ที่ออกฤทธิ์เหมือน gastrin เช่น pentagastrin ออกฤทธิ์กระตุ้นการผลิตกรดของกระเพาะได้แรงมาก และนำมาใช้เป็นประโยชน์ในการตรวจหาประสิทธิภาพของการผลิตกรดเพื่อการรักษาและศึกษาผู้ป่วยโรคแผลเปปติคได้ดีมาก

การผลิตกรดตอบสนองต่อแรงกระตุ้นจากลำไส้เล็ก (Intestinal phase)

กระเพาะอาหารจะผลิตกรดออกมากในตอนรับประทานอาหารแล้วค่อย ๆ น้อยลง เมื่ออาหารผ่านพ้นออกจากกระเพาะไป  แต่การผลิตกรดมิได้หยุดลง การกระตุ้นให้กระเพาะผลิตกรดระหว่างมื้ออาหารนี้ขึ้นอยู่กับแรงกระตุ้นของลำไส้เล็ก  โดยอาหารโปรตีนที่เข้ามาลำไส้เล็กส่วนดูโอดีนั่มจะกระตุ้นให้เยื่อบุลำไส้ส่วนนี้ผลิต gastrin ออกมา  แรงกระตุ้นจากลำไส้เล็กนี้ไม่มากนัก และไม่มีความสำคัญในทางคลินิค

          ข.  การระงับการผลิตกรด

เพื่อให้สอดคล้องกับการกระตุ้นให้ผลิตกรด จึงแบ่งการระงับออกเป็นสองระบบเช่นกัน

การระงับที่เกิดจากเส้นประสาท vagus และ antrum ตัวสำคัญในการระงับการผลิต คือเส้นประสาท vagus การเปลี่ยนแปลงทางจิตใจ อารมณ์ซึมเศร้าทำให้ลดแรงกระตุ้นของเส้นประสาท vagus ได้มาก  โดยปกติกรดจากกระเพาะจะลดลง ๒-๓ ชั่วโมงหลังรับประทานอาหาร  เนื่องจากแรงกระตุ้นให้เกิดปฏิกิริยาตอบสนองทางประสาทลดลง อีกประการหนึ่งเมื่ออาหารผ่านออกจากกระเพาะหมดแล้ว antrum ก็จะแฟบตัวลง gastrin ก็จะออกมาน้อยลงด้วย เป็นการลดการกระตุ้นต่อกระเพาะ นอกจากนี้การผลิตกรดจะลดลง เมื่อความเป็นกรดใน antrum สูงขึ้นจนค่า pH ต่ำกว่า ๒ มีข้อเสนอว่า antrum สามารถผลิตฮอร์โมนที่ทำหน้าที่ระงับการผลิตกรดของกระเพาะอาหารได้ แต่ก็ยังไม่สามารถแยกฮอร์โมนตัวนี้ออกมาได้

การระงับของลำไส้  เมื่ออาหารที่มีฤทธิ์เป็นกรดผ่านเข้าดูโอดีนั่ม  ภาวะกรดจะกระตุ้นให้เกิดกลไกที่ระงับการผลิตกรดจากกระเพาะอาหารและการบีบตัวของกระเพาะ  ทั้งนี้โดยออกฤทธิ์ทางฮอร์โมนและประสาท ฮอร์โมน secretin นอกจากกระตุ้นให้ตับอ่อนผลิตน้ำย่อยแล้วยังระงับการผลิตกรดของกระเพาะอาหารที่ตอบสนองต่อ gastrin ด้วย  อาจเป็นไปได้ที่ฮอร์โมนตัวนี้ระงับการผลิตกรดของกระเพาะด้วยเมื่อภาวะกรดสูงขึ้นในดูโอดีนั่ม  นอกจากภาวะเป็นกรดแล้วอาหารไขมันและคาร์โบฮัยเดรตที่ผ่านมาถึงลำไส้เล็กส่วนต้นยังมีผลให้กระเพาะอาหารบีบตัวและผลิตกรดน้อยลงด้วยโดยกระตุ้นให้ลำไส้เล็กส่วนต้นสร้าง GIP และ VIP ดังจะเห็นได้ว่าการผลิตกรดของกระเพาะสูงขึ้นภายหลังผ่าตัดเอาลำไส้เล็กออกไปยาวมาก ๆ และกรดที่สูงขึ้นนี้เป็นสัดส่วนกับความยาวของลำไส้ที่ตัดออกไป  ทั้งนี้อาจเป็นเพราะลำไส้เป็นแหล่งสำคัญที่ผลิตฮอร์โมนระงับการผลิตกรดของกระเพาะ  มีสารอีกชนิดหนึ่งที่พบได้ในปัสสาวะเรียก urogastrone ออกฤทธิ์ระงับการผลิตกรดของกระเพาะแต่ยังไม่ทราบแหล่งผลิตของมัน  การเปลี่ยนแปลงของอุณหภูมิและความเข้มข้นของอาหารที่ผ่านเข้าไปในดูโอดีนั่ม  ก็มีผลในการระงับการทำงานของกระเพาะด้วย

การผลิตกรดของกระเพาะที่เปลี่ยนแปลงสัมพันธ์กันกับการรับประทานอาหารนี้ เป็นผลรวมของการกระตุ้นและระงับการผลิต  ในกรณีที่การควบคุมนี้ผิดปกติ  การทำงานของกระเพาะก็เปลี่ยนแปลงตามไปด้วย ทำให้เกิดพยาธิสภาพขึ้นได้

การวิเคราะห์กรดในกระเพาะอาหาร (Gastric analysis)

การตรวจสิ่งคัดหลั่งของกระเพาะอาหารนอกจากเป็นประโยชน์ในการศึกษาสรีรวิทยาของกระเพาะอาหารแล้วยังนำมาใช้ในทางคลินิคเพื่อการวินิจฉัยและรักษาโรคที่มีความผิดปกติของกระเพาะอีกด้วย  โดยเฉพาะอย่างยิ่งการตรวจส่วนประกอบของสิ่งคัดหลั่งส่วนที่เป็นกรด  ในการตรวจสิ่งคัดหลั่งของกระเพาะเพื่อศึกษาทางคลินิคนั้น  ใช้ท่อดูดสิ่งคัดหลั่งออกจากกระเพาะโดยต้องให้ปลายท่ออยู่ในระดับต่ำสุดของกระเพาะเพื่อให้ได้ปริมาณที่ถูกต้อง และไม่เลยเข้าไปในดูโอดีนั่มซึ่งจะทำให้ความเป็นกรดผิดไปได้  ถ้าจะให้แน่นอนจะต้องอาศัยการตรวจทางรังสีดูตำแหน่งของปลายท่อ  ระหว่างการตรวจผู้ป่วยจะต้องไม่กลืนน้ำลายลงไปปนกับของเหลวในกระเพาะ การตรวจกรดในของเหลวในกระเพาะอาหารเราอาจตรวจในภาวะต่าง ๆ กัน

๑.  Twelve-hour night secretion  เป็นการดูดเอาของเหลวในกระเพาะอาหารในเวลากลางคืนซึ่งเป็นช่วงเวลาที่ไม่มีอาหารผ่านเข้าไปในกระเพาะเลย  ผู้ป่วยจะต้องงดอาหารหลังจากมื้อกลางวัน  ดูดของออกจากกระเพาะให้หมดก่อนเริ่มตรวจในเวลา ๒๐.๐๐ น. แล้วเก็บของเหลวที่ดูดออกไประหว่าง ๒๐.๐๐ น. ถึงเวลา ๘.๐๐ น. ของวันรุ่งขึ้นนำไปหาปริมาณของกรด ในคนปกติจะมีค่ากรด ๑๓ ถึง ๑๘ mEq(สตรีมีค่าต่ำกว่าเล็กน้อย) ผู้ป่วยที่มีแผลที่ดูโอดีนั่มจะมีค่ากรดสูง เฉลี่ยเท่ากับ ๖๐ mEq และผู้ที่มีแผลที่กระเพาะอาหารมีค่าต่ำกว่าคนปกติคือ เฉลี่ยเพียง ๑๒ mEq  การวัดกรดในภาวะนี้เชื่อกันว่าเป็นภาวะที่ปราศจากการกระตุ้นจากประสาทเท่านั้น

๒.  Augmented histamine test  มีหลักว่ากรดในกระเพาะอาหารจะเพิ่มขึ้นเมื่อร่างกายได้รับฮิสตามีนเข้าไป  โดยมักจะออกฤทธิ์กระตุ้น parietal cell โดยตรงทำให้ผลิตกรดมากขึ้น การผลิตกรดนี้จะเพิ่มปริมาณฮิสตามีนจนถึงระดับหนึ่งซึ่งเป็นระดับที่กระเพาะสามารถผลิตกรดได้สูงสุด  ถึงแม้จะเพิ่มฮิสตามีนอีกกรดก็จะไม่เพิ่มขึ้น ภาวะกรดที่สูงสุดนี้น่าจะบอกถึงจำนวน parietal cell ทั้งหมดในกระเพาะอาหาร  การตรวจวิธีนี้ใช้ประโยชน์ในทางคลินิคคือ แยกผู้ป่วยที่ไม่สามารถผลิตกรดได้เลย และทราบปริมาณกรดในกระเพาะอาหาร

วิธีทำ  อาจทำต่อจากวิธีที่ ๑  เมื่อเก็บสิ่งคัดหลั่งจากกระเพาะ ๑๒ ชั่วโมงแล้วฉีด Histalog เข้าใต้ผิวหนัง ๑.๕ มิลลิกรัมต่อน้ำหนักตัว ๑ กิโลกรัม  แล้วดูดของเหลวจากกระเพาะ ๑๕ นาที เป็นเวลา ๒ ชั่วโมง

๓.  Pentagastrin Stimulation test  Pentagastrin เป็นสารสังเคราะห์ polypeptide ที่มีลักษณะคล้าย gastrin สามารถกระตุ้น parietal cell ให้ผลิตกรดได้เช่นเดียวกับ gastrin ใช้ในการตรวจเพื่อหาค่ากรดเมื่อถูกกระตุ้นมากที่สุดเช่นเดียวกับฮิสตามีน แต่ดูจะถูกต้องตามสรีรวิทยามากกว่าและไม่มีผลข้างเคียงเป็นอันตรายต่อร่างกาย  ปัจจุบันนำมาใช้ตรวจกรดในกระเพาะแทนฮิสตามีน ขนาดที่ใช้ฉีด ๖ มิลลิกรัมต่อน้ำหนักตัว ๑ กิโลกรัม จะให้ผลกระตุ้นการผลิตกรดสูงสุด

๔.  Hollander-Insulin test  เป็นวิธีการตรวจกรดที่บอกว่าในการรักษาแผลเปปติคโดย vagotomy นั้น  เส้นใยประสาทถูกตัดออกหมดหรือไม่โดยมีหลักว่าเมื่อฉีดอินซูลินทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดต่ำลง  กระเพาะจะถูกกระตุ้นให้ผลิตกรดเพิ่มขึ้นต่อเมื่อเส้นใยประสาท vagus ยังไปถึงกระเพาะได้เท่านั้น มักใช้ในการหาสาเหตุการเกิดเป็นแผลเปปติคซ้ำภายหลัง vagotomy ว่าเป็นเพราะยังเหลือใยประสาท vagus ไว้หรือไม่

          วิธีทำ  ให้ผู้ป่วยงดอาหารก่อน ๑๒ ชั่วโมง  ดูดของเหลวจากกระเพาะออกให้หมดแล้วเก็บสิ่งคัดหลั่งเป็นมาตรฐานทุก ๑๕ นาทีเป็นเวลา ๑ ชั่วโมง ฉีดอินซูลิน ๒ หน่วยต่อน้ำหนักตัว ๑ กิโลกรัมเข้าหลอดเลือดดำ  ดูดสิ่งคัดหลั่งจากกระเพาะออกหาปริมาณกรดทุก ๑๕ นาทีต่อไปอีก ๒-๔ ชั่วโมง  ขณะเดียวกันเจาะเลือดหาระดับน้ำตาลในเลือดเป็นระยะ ๆ  ถ้ากรดในน้ำย่อยสูงขึ้นกว่าภาวะมาตรฐาน ๒๐ mEq/ลิตร  ขณะที่น้ำตาลในเลือดลดต่ำลง ๓๕ มิลลิกรัมต่อ ๑๐๐ มล.  หรือกรดสูงขึ้น ๑๐ mEq/ลิตร ถ้าไม่มีกรดเลยในภาวะมาตรฐาน  ให้ถือว่ายังมีใยประสาท vagus ผ่านมาที่กระเพาะ

↑ กลับสู่ส่วนบนของหน้า