สำหรับผู้ใส่ใจในการรักษาสุขภาพ ทั้งสุขภาพกาย และสุขภาพจิต

การสื่อสารกับผู้สูงอายุ

การสื่อสารเป็นเครื่องมือที่มีความสำคัญยิ่งที่จะทำให้คนตั้งแต่ 2 คนขึ้นไป หรือกลุ่มหรือครอบครัว หรือชุมชนนั้น มีความเข้าใจในความหมายที่จะต้องการจะสื่อให้ถึงกัน และเมื่อใดก็ตามที่การสื่อสารมีความบกพร่องไม่ว่าจะด้วยเหตุปัจจัยใด ย่อมทำให้เกิดปัญหาตามมาอีกมากมาย เช่น เกิดความขัดแย้งระหว่าง บุคคล เกิดความไม่เข้าใจกันในครอบครัว เกิดความไม่สุขสงบภายในกลุ่ม เกิดความแตกแยกในสังคม ความเสียหายที่เกิดขึ้นมีทั้งที่คิดคำนวณได้ และที่นับไม่ได้ เช่น ความรู้สึกทางใจของบุคคลที่มีการสื่อสารระหว่างกัน หรือของกลุ่ม หรือความล้มเหลวของงานหรือกิจกรรมที่มุ่งจะดำเนินการร่วมกัน การสื่อสารระหว่างผู้สูงอายุ กับผู้ดูแลก็เช่นกัน ผู้สูงอายุไทยส่วนใหญ่ยังคงอาศัยในครอบครัวที่มีบุตรหลานเป็นผู้ดูแลหลัก รวมทั้งยังมีคู่สมรสอาจเป็นสามีหรือภรรยาเป็นผู้ดูแล อย่างไรก็ตาม การสื่อสารระหว่างผู้สูงอายุกับลูกหลาน หรือผู้ดูแลนั้นพบว่ามีปัญหาเกี่ยวข้อง ที่น่าสนใจหลายประการที่ทำให้การสื่อสารนั้นล้มเหลว ไม่เป็นไปตามจุดมุ่งหมาย ของผู้ที่จะต้องการจะสื่อสาร ทั้งนี้อาจเนื่องจากเหตุปัจจัยตัวผู้สูงอายุและผู้ดูแลหรือ ลูกหลาน

เป็นที่ทราบกันแล้วว่าการสื่อสารจะเกิดขึ้นเมื่อมีความต้องการจะส่งสาร หรือข้อมูล ซึ่งอาจเป็นเนื้อหาสาระของความคิด ความรู้สึก หรือสาระอื่นๆ ไปยังผู้รับ ข้อมูล ดังนั้นการสื่อสารระหว่างผู้สูงอายุและผู้ดูแลจึงมุ่งไปที่ผู้สูงอายุและผู้ดูแล

ซึ่งเป็นคู่สมรสหรือลูกหลาน รวมทั้งเนื้อหาสาระที่ต้องการจะสื่อสาร ประเด็นแรกที่จะกล่าวถึงได้แก่ ปัจจัยด้านผู้สูงอายุ

ผู้สูงอายุมีการเปลี่ยนแปลงแบบเสื่อมถอยของการทำหน้าที่ทุกส่วนของร่างกาย อวัยวะที่สำคัญที่เกี่ยวข้องกับการสื่อสาร ได้แก่ ประสาทรับสัมผัส ด้านการได้ยินและการมองเห็น

อวัยวะที่เกี่ยวข้องกับการได้ยินคือหู เรามักพบว่ามีผู้สูงอายุไม่น้อยที่มีอาการหูตึง เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงของอวัยวะที่เป็นตัวรับคลื่นเสี่ยง โดยเฉพาะในช่วงแรก การรับเสียงที่มีความถี่สูงๆ หรือเสียงแหลมจะเสียไปก่อน ต่อมาก็เป็นเสียงที่มีความถี่ปานกลาง และเสียงตํ่า นอกจากนั้นยังพบเยื่อบุแก้วหูซึ่งมีลักษณะแข็ง และเหี่ยวลีบ หรืออาจมีการอุดตันของขี้หู หากผู้สูงอายุมีปัญหาเกี่ยวกับหู ย่อมทำให้การรับฟังไม่ดีเท่าที่ควร หรือไม่ได้ยินเสียงที่ผู้ดูแลพูดหรือ สื่อภาษาด้วย

อวัยวะที่สำคัญที่เกี่ยวข้องกับการสื่อสารอีกประการหนึ่ง ได้แก่ ตา การมองเห็นของผู้สูงอายุจะเสียไป ซึ่งมักพบว่ามีอาการตาฝ้า มัวมองเห็นไม่ชัด ทั้งนี้อาจเนื่องจากแก้วตา มีความหนาขึ้น มีความโค้งน้อยลง การหักเหของแสงไม่ดี รวมทั้งเลนส์ตาจะขุ่น หนา และแข็ง รูม่านตาลดลง มีการตอบสนองต่อแสงช้า จึงทำให้ผู้สูงอายุมีโอกาสเกิดอาการต้อเนื้อ ต้อหินได้ง่าย ทำให้มีความบกพร่องของการมองเห็นมากขึ้น ซึ่งการมองเห็นจะทำให้ผู้พูด ผู้ฟัง มีการสื่อภาษาทางสายตา มีการสื่อแสดงถึงความเข้าใจระหว่างกันได้มากขึ้น หรือสามารถมองเห็นวัตถุสิ่งของ ที่ต้องการจะสื่อให้เข้าใจได้

ประการสุดท้ายได้แก่อวัยวะที่เกี่ยวกับการพูด การเปล่งเสียงที่สำคัญได้แก่ กล้ามเนื้อบริเวณช่องปาก กล่องเสียง และการสั่งการของระบบประสาทจากสมอง ที่มีผลต่อการรับรู้ การคิด การตอบสนองและความจำ ในผู้สูงอายุปกติอาจไม่มีผลกระทบมากนักแต่ในผู้สูงอายุที่มีการเจ็บป่วยที่อวัยวะส่วนนี้ เช่น เป็นมะเร็งกล่องเสียง หรือช่องปาก หรือได้รับการเจาะคอ รวมทั้งผู้ที่มีปัญหาความจำเสื่อม ในที่สุดแล้วผู้สูงอายุจะมีปัญหาในการสื่อภาษาตามมา เพราะไม่สามารถเข้าใจได้ว่า สิ่งที่ญาติผู้ดูแลพูดนั้นหมายถึงอะไรรวมทั้งอาจไม่สามารถที่จะพูดหรือสื่อความหมายให้ลูกหลานทราบความต้องการของตนได้

ผู้ที่ทำหน้าที่เป็นผู้ดูแลซึ่งจะต้องมีการสื่อสาร หรือสื่อภาษาระหว่างกันกับผู้สูงอายุเป็นประจำ จึงควรได้ตระหนักหรือมีความเข้าใจต่อการเปลี่ยนแปลงตามวัยของผู้สูงอายุ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องหู หรือการได้ยิน การมองเห็น การพูด การรับรู้ และการตอบสนอง ซึ่งจะมีความบกพร่องหรือล่าช้าไปบ้างก็ควรจะอดทน ใจเย็น รอคอยได้ให้เวลาแก่ผู้สูงอายุด้วยความเข้าใจในความรู้สึกของผู้สูงอายุอย่างแท้จริง

เมื่อใดก็ตามที่ผู้ดูแลขาดความเข้าใจในธรรมซาติของผู้สูงอายุ โอกาสที่จะ เกิดการทำร้ายทางใจแก่ผู้สูงอายุจะด้วยตั้งใจหรือไม่ตั้งใจ ย่อมเกิดขึ้นได้เสมอ ดังนั้นผู้ดูแลผู้สูงอายุ คนหนุ่มสาว ลูกหลาน ควรให้ความเข้าใจและให้ความสำคัญ ต่อปัจจัยดังกล่าว เพื่อให้การสื่อสารหรือสื่อภาษามีความเข้าใจตรงกันทั้งผู้พูดและผู้ฟัง ผู้สูงอายุเองก็สามารถรับรู้ได้ถูกต้องว่าลูกหลานต้องการจะพูดคุยเรื่องอะไร เป้าหมายจริงๆ ของการสื่อภาษาคืออะไร และลูกหลานเองก็เรียนรู้ธรรมชาติของกัน เข้าใจในความต้องการของผู้สูงอายุมากขึ้น ไม่เกิดการทะเลาะ กล่าวโทษกันไปมา ทำให้เกิดความล้มเหลวของการสื่อสารได้ ด้งนั้นผู้ดูแลผู้สูงอายุจึงควรคำนึงถึงสิ่งต่อไปนี้

1.  เข้าใจในความเสื่อมถอยทางประสาทหู          การได้ยิน การมองเห็น และการพูดโต้ตอบของผู้สูงอายุ

2.  เพิ่มเวลาในการพูดคุยมากกว่าเดิม       เมื่อเปรียบเทียบกับคนวัยหนุ่มสาว

3.  มีความอดทนให้เวลาและสามารถรอได้

4.  มีทัศนคติที่สื่อต่อความเป็นผู้สูงอายุเข้าใจในชีวิตและความเป็นจริงของ

ผู้สูงอายุ

5.  ควรพูดจาด้วยภาษาที่เข้าใจง่าย            เสียงดังฟังชัด และมีท่าทีที่สุภาพ

อ่อนน้อม

6.  ควรพูดคุยในเนื้อหาสาระที่ผู้สูงอายุมีความรู้สึกร่วมกัน     และพึงพอใจจะพูดคุย เช่น การพูดคุยเกี่ยวกับเรื่องราวในอดีตที่ผ่านมา

ดังนั้นการสื่อสารจะเกิดประโยชน์สูงสุดระหว่างผู้สูงอายุและผู้ดูแล จึงขึ้นอยู่ทั้งผู้ดูแลและผู้สูงอายุนั่นเองจึงจะเป็นการสื่อสารที่ดี ดังคำกลอนที่ว่า

พูดอะไรต้องพูดให้ชัดถนัดหู       จะน่าดูฟังดีที่ภาษา

ทั้งกิริยาสาระที่สื่อมา                      เพิ่มคุณค่าสื่อภาษาได้ดั่งใจ

รวิวรรณ  เผ่ากัณหา

,

↑ กลับสู่ส่วนบนของหน้า