สำหรับผู้ใส่ใจในการรักษาสุขภาพ ทั้งสุขภาพกาย และสุขภาพจิต

สาเหตุของฟันผุในเด็ก

ฟันผุ

เป็นที่ทราบกันดีแล้วว่า ในวัยเด็กนั้นเป็นวัยที่มีโรคฟันผุคุกคามเป็นอย่างมาก อัตราการเกิดโรคในเด็กไทยสูงเกือบ 100% โรคฟันผุนี้จะไม่จำกัดอยู่ที่ฟันซี่ใดซี่หนึ่งเท่านั้น เด็กมีโอกาสเป็นโรคฟันผุได้พร้อมๆ กันหลายซี่ เป็นสาเหตุให้ฟันต้องถูกถอนออกก่อนระยะเวลาอันควร มีผลเสียต่อสุขภาพของฟันและช่องปาก ทั้งในขณะที่เด็กกำลังอยู่ในระยะของการมีฟันน้ำนม และจะมีผลต่อมาถึงเด็กซึ่งเติบโตขึ้นและมีฟันถาวร โดยทำให้ฟันถาวรขึ้นบิดเก หรือขึ้นไม่ได้ เนื่องจากขาดพื้นที่ หรือทำให้ฟันถาวรมีโอกาสผุได้ง่าย เนื่องจากการเรียงตัวของฟันไม่เป็นระเบียบ ทำความสะอาดยาก ฉะนั้นจึงเป็นการสมควรอย่างยิ่งที่ จะต้องพยายามรักษาฟันเหล่านี้ให้ทำหน้าที่อย่างมีประสิทธิภาพภายในปาก ได้นานที่สุดเท่าที่ฟันนั้นจะอยู่ได้ (ฟันน้ำนม) หรือจนตลอดชีวิต (ฟันแท้)

ฟันผุ
สาเหตุของฟันพุ ฟันผุจะเกิดได้ต่อเมื่อ มี
1. เชื้อโรค (Micro organism)
2. Host คือ ฟัน
3. อาหารจำพวกน้ำตาล

Cariogenic bacteria สามารถเกาะติดและเจริญบนผิวฟัน สามารถ สร้างกรดจำนวนมากอย่างรวดเร็วจากสารพวกน้ำตาล ซึ่งจะทำให้ pH ลดลง ถ้า pH ถึง 4.1 จะเกิดการละลายของเนื้อฟัน Cariogenic bacteria ซึ่งมีคุณสมบัติดังกล่าวมีมากมายหลายชนิด เช่น Streptococcus mutans, s.sanguis, Lactobacillus acidophilus, Actinomyces viscosus เป็นต้น อย่างไรก็ตาม S.mutans ได้รับความสนใจมากที่สุด เพราะเชื้อนี้สามารถทำให้เกิดฟันผุอย่างมากมาย และรวดเร็วใน germ-free animal.

ลักษณะการผุของฟันน้ำนม
1. ระยะฟันเริ่มผุ (on set)
จากสถิติพบว่าฟันของเด็กเริ่มผุ ตั้งแต่อายุ 1 ปี และอัตราการผุจะมีมากตามอายุ โดยเฉพาะช่วงอายุ 3-5 ปี ดังนั้นถ้ารอให้เด็กอายุถึง 3-4 ปีแล้วค่อยมาหาทันตแพทย์ ดังเช่นเคยปฏิบัติมา 40-50% ของเด็กจะมีฟันผุแล้ว ดังนั้นจึงควรให้เด็กมาหาทันตแพทย์เมื่ออายุ 18 เดือน ซึ่งในระยะนี้ทันตแพทย์สามารถสอนเน้นหนักทางด้านทันตกรรมป้องกันได้ ถึงแม้เด็กจะมีฟันผุบ้างก็มักจะอยู่ในระยะเริ่มแรกพอที่จะป้องกันหรือแก้ไขง่าย และเด็กที่มีอายุครบ 3 ปีทุกคนควรจะได้รับการดูแลรักษาทันตสุขภาพอย่างละเอียดถี่ถ้วน และควรมีภาพเอกซเรย์ทั้งปาก เพื่อประกอบในการวินิจฉัยและรักษาโรค

2. ตำแหน่งของฟันผุ
ในเด็กเล็กทั่วไป ฟันจะผุทางด้านบดเคี้ยว (occlusal) มากกว่าทางด้านที่ชิดกัน (proximal) ฟันผุมากที่สุดคือ ฟันกรามน้ำนมซี่ที่สอง และฟันกรามน้ำนมซี่ที่หนึ่งตามลำดับ ส่วนฟันผุทางด้านชิดกันมักจะเป็นฟันหน้ามากกว่าฟันหลัง เพราะฟันกรามน้ำนมมีช่องว่างมาก แต่เมื่อเด็กอายุ 6 ปี ฟันจะเริ่มผุทางด้านชิดกันมากพอๆ กับฟันผุทางด้านบด เคี้ยว

เด็กที่เลี้ยงด้วยนมหวานหรือให้นมขวดนานเกินไปจะมีลักษณะการผุที่ผิดไปจากที่กล่าวมา จะเป็นการผุจากการดูดนมขวด (Nursing bottle caries) ฟันที่ผุมาก ได้แก่ ฟันหน้าบน การผุนี้แตกต่างกับฟันที่ผุลุกลามมาก (Rampant caries) คือ การผุของฟันหน้าข้างบนจากการดูดขวดนมนั้นจะผุมากทางด้านริมฝีปาก (labial) และทางด้านลิ้น (lingual) และจะไม่มีรอยผุทางด้านของตัวฟันที่ชิดกันเหมือนกับรายที่ฟันผุลุกลามมากทั่วไป ส่วนฟันหน้าล่างมักจะไม่ผุ เพราะลิ้นปกคลุมอยู่ในการดูดนม ฉะนั้นเด็กทุกคนควรจะเลิกดูดนมขวดเมื่อมีอายุประมาณ 1 ปี โดยให้ดื่มนมจากถ้วยแก้วแทน การที่เด็กดูดนมขวดอยู่จนโต โดยเฉพาะเด็กที่ดูดนมก่อนนอนหรือดูดนมแล้วไม่ได้ดูดน้ำตาม และเด็กที่ดูดนมข้นหวาน จะเป็นอันตรายต่อฟันมาก การที่เด็กดูดนมขวดทำให้ฟันผุมากนั้น Fass ให้ความเห็นว่า มาจากสาเหตุดังนี้

1. นมมีน้ำตาลอยู่ประมาณ 3.8%
2. ในช่องปากมีเชื้อจุลินทรีย์ ซึ่งสามารถสร้างกรดทำให้ฟันผุได้
3. เมื่อเด็กดูดนมจนหลับไป นมจะค้างอยู่ในปาก
4. ขณะเด็กหลับการขับถ่าย (secretion) ในช่องปากจะลดลง ทำให้น้ำลายน้อยลง และการชะล้างไม่เกิดขึ้น

ลักษณะการผุของฟันแท้ในเด็ก
1. ระยะเวลาที่เริ่มผุ
จากสถิติพบว่า อัตราการผุของฟันแท้จะมากขึ้นตามอายุ เด็กที่มีอายุ 8 ปีขึ้นไป จะมีอัตราฟันผุเป็นทวีคูณจากเมื่อฟันแท้เริ่มขึ้น (อายุ 6 ปี)

2. ตำแหน่งของฟันผุ
ฟันแท้มักผุทางด้านบดเคี้ยวของฟันกรามล่างซี่ที่หนึ่งมากที่สุด แม้ว่าฟันแท้หน้าบนจะขึ้นพร้อมๆ กัน แต่กลับมีอัตราการผุน้อย จากสถิติที่พบของเด็กอายุ 12 ปี ฟันที่ผุจะเป็นด้านบดเคี้ยว 50% ด้านชิดกัน 30% ทางด้านติดแก้ม (buccal) 20% และทางด้านลิ้นน้อยกว่า 1% การผุทางด้านริมฝีปากด้านกัด (incisal) ทางด้านที่ติดคอฟัน (cervical) และฟันหน้าล่างของเด็กมักจะไม่พบ นอกจากคนที่มีฟันผุลุกลามมากเท่านั้น

การป้องกันฟันผุ
นอกจากการพาเด็กไปพบทันตแพทย์อย่างน้อยปีละ 2 ครั้ง ตั้งแต่เด็กอายุได้ 18 เดือนแล้วนั้น ผู้ปกครองควรเอาใจใส่เด็กในเรื่องต่างๆ ดังต่อไปนี้

1. ให้เริ่มทำความสะอาดฟันเด็กตั้งแต่ฟันน้ำนมซี่แรกขึ้น แนะนำให้ทำตอนอาบน้ำให้เด็ก

2. เมื่อเด็กดูดนมแล้ว ให้พยายามเช็ดเอาคราบน้ำนมนั้นออกให้หมด อย่าให้เหลือตกค้างที่ตัวฟัน

3. อย่าให้เด็กดูดนมต่อ หลังจากที่เด็กหลับแล้ว

4. หยุดให้นมเด็กโดยการใช้ขวดหรือดูดจากเต้า โดยให้ดื่มนมจากถ้วเมื่อเด็กสามารถช่วยตัวเองได้แล้วคือ เมื่ออายุประมาณ 12-15 เดือน

5. ทางด้านโภชนาการ แนะนำอาหารที่มีประโยชน์ พยายามงดเว้นของ หวานระหว่างมื้ออาหาร โดยเฉพาะก่อนนอน หลังแปรงฟันแล้ว

6. งดการให้ vitamin C (นอกจากรายที่ขาด vitamin C จริงๆ ซึ่งพบน้อยมากในบ้านเรา) เนื่องจาก vitamin C มีน้ำตาลและสภาพความเป็นกรดสูง สามารถทำอันตรายต่อฟันได้มาก

7. การเลือกแปรงสีฟัน ปัจจุบันในท้องตลาดมีแปรงขนาดต่างๆ ตามอายุของเด็ก ควรเลือกขนาดให้พอเหมาะกับปากเด็ก อย่าให้ใหญ่เกินไป ข้อสำคัญคือ ให้มีด้ามตรง ขนอ่อน และปลายขนมนกลม

8. การเลือกยาสีฟัน ควรเลือกชนิดที่มี fine abrasive และมีฟลูออไรด์ เป็นส่วนประกอบ ปัจจุบันในท้องตลาดมียาสีฟันสำหรับเด็ก ซึ่งแต่งกลิ่นและรส (รสสตรอเบอรี่ รสส้ม ฯลฯ) เพื่อจูงใจให้เด็กสนใจการแปรงฟันมากขึ้น

9. การใช้ฟลูออไรด์

การใช้ฟลูออไรด์
ฟลูออไรด์ใช้เพื่อช่วยเสริมสร้างฟันให้ทนทานต่อการเกิดโรคฟันผุ ซึ่งปกติฟลูออไรด์มีในธรรมชาติทั่วๆ ไป ในน้ำ ในดิน และอาหาร ในปัจจุบันมีการศึกษาค้นคว้าเติมฟลูออไรด์ลงในน้ำดื่ม ซึ่งพบว่าควรมีฟลูออไรด์ 1 ส่วนในน้ำล้านส่วน (1 ppm ) เป็นวิธีการป้องกันโรคฟันผุที่มีประสิทธิภาพปลอดภัย และประหยัดที่สุด

แต่สำหรับประเทศไทย ความเจริญทางเทคนิคของระบบประปายังไม่พร้อมที่จะปรับระดับฟลูออไรด์ในน้ำดื่มให้เพียงพอที่จะมีประสิทธิภาพในการป้องกันโรคฟันผุ ฉะนั้น ประชาชนจึงได้รับฟลูออไรด์ในขนาดและแหล่งที่มาแตกต่างกันตามสภาพภูมิประเทศ บางที่มีปริมาณฟลูออไรด์ไม่เพียงพอ พบโรคฟันผุมาก แต่บางที่มีปริมาณมากเกินพอไม่เกิดประโยชน์ ซ้ำยังทำให้เกิดฟันตกกระ และกระดูกคดงอพิการ ซึ่งเป็นพิษชนิดเรื้อรัง

สำหรับบริเวณที่มีฟลูออไรด์ในน้ำดื่มน้อยมากหรือไม่มีเลย เราสามารถป้องกันฟันผุได้ โดยการใช้ฟลูออไรด์ในเด็กแรกเกิดจนกระทั่งอายุ 13 ปี ดังนี้

ระยะที่ 1 ทารกแรกเกิด – 2 ขวบ
รับประทานฟลูออไรด์ วันละ 0.25 มก. โดยควรเป็นชนิดยาน้ำฟลูออไรด์

ระยะที่ 2 เด็กอายุ 2-3 ขวบ
รับประทานยาเม็ดฟลูออไรด์ วันละ 0.5 มก. เมื่อเด็กเริ่มรู้จักเคี้ยวอาหาร โดยให้เคี้ยวและอมไว้ก่อนกลืน

ระยะที่ 3 เด็กอายุ 3-13 ปี
รับประทานยาเม็ดฟลูออไรด์ วันละ 1 มก. และควรใช้น้ำยาบ้วนปากฟลูออไรด์ร่วมด้วย เมื่อเด็กรู้จักอมน้ำบ้วนปากแล้ว โดยหลังจากแปรงฟันก่อนเข้านอนให้ใช้น้ำยาฟลูออไรด์ที่มีความเข้มข้น 0.02-0.1% อมไว้ 4-5 นาที ก่อนบ้วนทิ้ง

ระยะที่ 4 อายุ 13 ปีขึ้นไป
ควรหยุดยาเม็ดฟลูออไรด์ ใช้เฉพาะน้ำยาบ้วนปากฟลูออไรด์

แต่อย่างไรก็ตาม นอกจากการใช้ฟลูออไรด์ตามขนาด และระยะเวลาดังกล่าวแล้ว ควรได้รับการตรวจสุขภาพของเหงือกและฟัน ขูดหินน้ำลายและขัดผิวเคลือบฟัน และทาฟลูออไรด์จากทันตแพทย์ด้วยอย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง

ตัวอย่างการสั่งฟลูออไรด์ (ในชุมชนที่มีฟลูออไรด์ในน้ำดื่มน้อยมาก)

ก. เด็กแรกเกิด – อายุ 2 ขวบ ให้น้ำยาฟลูออไรด์ขนาด 0.125 มก./ หยด (16 หยด = 1 มล.) โดยจ่ายครั้งละ 40 มล. และใช้หยอดใส่ปากเด็ก วันละ 1 ครั้งๆ ละ 2 หยดก่อนนอน

ข. เด็กอายุ 2-3 ขวบ ให้ยาเม็ดโซเดียมฟลูออไรด์ (0.25 มก./เม็ด) โดยจ่ายครั้งละ 400 เม็ด และให้หลังจากแปรงฟันก่อนเข้านอน ให้เคี้ยวและอมไว้ก่อนกลืน วันละ 1 ครั้งๆ ละ 2 เม็ด

ค. เด็กอายุ 3-13 ปี ให้ยาเม็ดโซเดียมฟลูออไรด์ (1 มก./เม็ด) โดยจ่ายครั้งละ 120 เม็ด และให้หลังจากแปรงฟันก่อนเข้านอน ให้เคี้ยวและอมไว้ก่อนกลืน วันละ 1 ครั้งๆ ละ 1 เม็ด

ง. กรณียาอมบ้วนปากฟลูออไรด์ร่วมกับการรับประทานยาเม็ดฟลูออไรด์ ให้น้ำยาบ้วนปากโซเดียมฟลูออไรด์ 0.02% (เท่ากับมีฟลูออไรด์ 100 ส่วนในล้านส่วน) โดยจ่ายครั้งละ 1,000 มล. ใช้อมบ้วนปากวันละ 1 ครั้งหลังแปรงฟัน ก่อนเข้านอน โดยอมครั้งละ 10-15 มล. นาน 4-5 นาทีแล้วบ้วนทิ้ง

ข้อควรระวังในการสั่งฟลูออไรด์
1. ควรทราบปริมาณฟลูออไรด์ที่แน่นอนในน้ำดื่มของชุมชนนั้น
2. ถ้าน้ำดื่มมีฟลูออไรด์เกิน 0.6 ส่วนในล้านส่วน ไม่จำเป็นต้องสั่งฟลูออไรด์เพิ่ม
3. ในการสั่งฟลูออไรด์แต่ละครั้งไม่ควรเกิน 150 มก.
4. ควรกำชับผู้ปกครองให้เก็บฟลูออไรด์ไว้ในที่มิดชิด เด็กหยิบเองไม่ได้

สรุปได้ว่า ฟลูออไรด์ที่ใช้สำหรับป้องกันฟันผุนั้น ใช้ได้ในรูปรับประทานและอมบ้วนปาก ซึ่งไม่ว่าในรูปแบบใด ก็จะต้องใช้ให้ถูกต้องตามขนาดและอายุ เพื่อให้เกิดความปลอดภัยโดยมีประสิทธิภาพ และประหยัด

ที่มา:สุทธาทิพย์  กมลมาตยากุล

↑ กลับสู่ส่วนบนของหน้า