สำหรับผู้ใส่ใจในการรักษาสุขภาพ ทั้งสุขภาพกาย และสุขภาพจิต

สารพิษในอุตสาหกรรมกับมาตรการป้องกันปัญหาจากสารพิษ

ในอดีตประเทศไทยเป็นประเทศเกษตรกรรม เนื่องจากมีพื้นที่ในการ เพาะปลูกและเลี้ยงสัตว์เป็นจำนวนมาก และสินค้าส่งออกที่สำคัญจะ เป็นพวกข้าว ไม้สัก ยางพารา และสินค้าเกษตรกรรม ตลอดจนแร่ธาตุต่างๆ แต่ในปัจจุบันนี้ภาคอุตสาหกรรมได้มีบทบาหมากยิ่งขึ้น ทำให้ประเทศไทยมีเศรษฐกิจดีขึ้นมาก ในด้านการพัฒนาอุตสาหกรรมของไทย อัตราการพัฒนาอุตสาหกรรมเคมีมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นมากกว่าสาขาอื่นๆ จะเห็นได้ว่าอุตสาหกรรมทางด้านชายฝั่งทะเลตะวันออกแทบจะ เป็นอุตสาหกรรมเคมีทั้งหมด

โรงงานอุตสาหกรรมในประเทศไทยที่ต้องใช้เคมีภัณฑ์ต่างๆ เป็นวัตถุดิบในขบวนการผลิตมีมากกว่า 3000 โรงงานบางโรงงานเป็นโรงงานขนาดใหญ่ที่มีความจำเป็นต้องใช้เคมีภัณฑ์เป็นวัตถุดิบเป็น จำนวนมาก ซึ่งจะต้องเกี่ยวข้องกับการเก็บรักษา การผลิต การใช้ และการขนส่ง ซึ่งขณะนี้ยังไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่ถูกต้องตามหลักวิชาการ ขณะนี้ประเทศไทยได้มีกฎหมายที่ใช้ในการกำกับดูแลในเรื่องโรงงานและเรื่องสารเคมีอันตรายต่างๆ เพื่อให้เกิดความปลอดภัยต่อสิ่งมีชีวิตและสิ่งแวดล้อม ได้แก่พระราชบัญญัติโรงงาน พ.ศ. 2535 และพระราชบัญญัติวัตถุอันตราย พ.ศ. 2535 ซึ่งจะนำมาใช้ในการกำกับดูแลในเรื่องวัตถุอันตรายต่างๆ รวมทั้งวัตถุมีพิษได้อย่างมีประสิทธิภาพ

เมื่อดูแหล่งที่ตั้งของโรงงานส่วนใหญ่แล้วจะอยู่กระจัดกระจายทั่วไปทั้งในเขต กทม. และจังหวัดใกล้เคียง ซึ่งขณะนี้นับวันจะมีบ้านเรือนแหล่งชุมชนอาศัยโดยรอบ ลักษณะเช่นนี้หากเกิดอุบัติภัยขึ้น เช่น ในโรงงานมีการรั่วไหลของสารเคมีมาทำปฏิกิริยากัน เกิดระเบิดและไฟไหม้ หรือมีสารระเหยที่เป็นพิษกระจายอยู่รอบโรงงาน หรืออาจเกิดอุบัติภัยภายนอกโรงงาน เช่น ไฟไหม้ น้ำท่วม แผ่นดินไหว ฯลฯ ถ้าหากมีการ เก็บสารเคมีเป็นจำนวนมากย่อมจะเป็นอันตรายต่อชีวิต และทรัพย์สินของประชาชนที่อยู่ใกล้เคียงได้

สำหรับอันตรายของสารพิษภายในโรงงาน หากไม่มีมาตรฐานในการป้องกันอันตรายที่ดีพอหรือเป็นเพราะคนงานขาดความรู้หรือขาดความสำนึกในเรื่องอันตรายของสารพิษและละเลยข้อปฏิบัติต่างๆ ที่วางไว้เพื่อความปลอดภัยในการทำงาน ผลที่ตามมาจะทำให้คนงานเกิดการเจ็บป่วย เป็นโรคแพ้สารพิษ โรคหัวใจ มากขึ้นหรือทำให้เกิดโรคร้ายแรง เช่น โรคมะเร็ง

สารพิษและสารเคมีอันตรายต่างๆ ที่อยู่ในโรงงานนั้นได้แก่ วัตถุดิบที่นำมาใช้เมื่อผ่านการผลิตแล้วจะได้กากสารพิษ หากออกสู่ภาวะแวดล้อมโดยไม่ผ่านขบวนการจัดการที่ถูกต้องเหมาะสมแล้วจะก่อให้ เกิดปัญหานานานัปการ จากการศึกษาปริมาณของ เสียที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อมที่เกิดทั่วประเทศ โดยบริษัท Engineering Science ซึ่งรายงานไว้ใน “The National Hazardous Waste Management Plan” ในปี พ.ศ. 2532 ได้ระบุว่าในปี พ.ศ.2535 จะมีของเสียอันตรายเกิดขึ้นทั่วประเทศ และจากทุกกิจกรรมรวมประมาณปีละ 1 ล้านตัน และพยากรณ์ว่าในปี พ.ศ.2544 จะมีของเสียที่อันตราย เกิดขึ้นถึงปีละ 2.8 ล้านตันโดยร้อยละ 55 จะมาจากอุตสาหกรรมหลอมหรือถลุงโลหะร้อยละ 17 เกิดจากขบวนการผลิตของโรงงาน

ดังนั้น จึงควรจะทำการเข้าใจ เกี่ยวกับสารพิษที่อยู่ในโรงงาน เพื่อเป็นพื้นฐานในการป้องกันอันตรายที่อาจเกิดขึ้น

ลักษณะสารพิษหรือวัตถุอันตรายที่ใช้ในขบวนการผลิต หรือสารพิษที่เกิดจากขบวนการผลิต พิจารณาทางด้านฟิสิกส์แล้วอาจแบ่งได้เป็นลักษณะต่างๆ ดังนี้

1. ของแข็งแขวนลอยในอากาศ (Dust) เช่น ฝุ่นผงดินทราย (Quartz ) และฝุ่นใยหิน (Asbestos ) เมื่อมนุษย์ปฏิบัติงานในสิ่งแวดล้อมที่มีฝุ่นผงและใยหิน เมื่อหายใจเข้าไปสิ่งเหล่านี้จะเข้าไปฝังอยู่ในเนื้อเยื่อปอด นานเข้าจะทำให้เกิดอาการเหนื่อย หอบ หายใจขัด เป็นสาเหตุให้เกิดโรคปอดที่เกิดฝุ่นผงดินทราย เรียก ซิลิโคซีส (Silicosis ) หาก เกิดจากเส้นใยหิน เรียก แอสเบสโตซีส (Asbestosis) และอาจทำให้ เป็นมะเร็งปอดได้ อันตรายของฝุ่นขึ้นอยู่กับขนาดของมวลฝุ่นผงและ เส้นใยที่แขวนลอยในอากาศและรูปแบบของโครงสร้าง ปริมาณมวลสารที่แขวนลอยและระยะเวลาที่ได้รับฝุ่น

อุตสาหกรรมที่มีการใช้เส้นใยหินหรือแอสเบสตอส ได้แก่ อุตสาหกรรมผลิตกระเบื้องปูพื้นกระเบื้อปูหลังคา อุตสาหกรรมผลิตปูนซีเมนต์ อุตสาหกรรมผลิตผ้าเบรคผ้าคลัช เป็นต้น ในประเทศไทยอนุญาตให้นำเข้า แอสเบสตอสชนิด Chrysotile หรือเรียกว่า White asbestos ส่วน Blue asbestos ไม่อนุญาตให้นำเข้า เนื่องจากเป็นแร่ใยหินที่มีอันตรายสูง

2. แก๊สต่างๆ (Gases) แก๊สและไอของสารแบ่งเป็น 2 จำพวก คือ

2.1 แก๊สที่ก่อให้เกิดการระคายเคือง (Irritant) และกัดกร่อน (Crrosive) เช่น แก๊สคลอรีน (CI ) แก๊สซัลเฟอร์ไดออกไซด์ (SO ) หากในบรรยากาศมีแก๊สเหล่านี้ในปริมาณสูงจะก่อให้เกิดการกัดกร่อน เนื้อเยื่อปอด ดวงตา และผิวหนังได้ แก๊สบางชนิด เกิดจากการเผาไหม้ของสารทำละลาย เช่น ไตรคลอโรอีทีลีน ซึ่งเมื่อสัมผัสกับเปลวไฟจะให้แก๊สฟอสจีน (Phosgen)

แก๊สไนโตรเจนเมื่อรวมตัวกับออกซิเจน หากสัมผัสกับประกายไฟ เช่น การ เชื่อมโลหะด้วยไฟฟ้าจะให้แก๊สไนตรัสออกไซด์ (NO)

ทั้งแก๊สฟอสจีนและไนตรัสออกไซด์ที่เกิดขึ้นนี้ เป็นอันตรายต่อสุขภาพ เป็นอย่างมาก เพราะเป็นแก๊สที่มีคุณสมบัติเป็นแก๊สกัดกร่อน จะไม่มีกลิ่นเตือนอันตรายให้ผู้ที่สัมผัสได้เกิดความระมัดระวังตัว

อุตสาหกรรมที่มีการใช้แก๊สคลอรีน เช่น อุตสาหกรรมผลิตเยื่อกระดาษฟอกขาว ส่วนซัลเฟอร์ไดออกไซด์ เป็นแก๊สที่ได้จากขบวนการเผาถ่านหิน และใช้เป็นวัตถุดิบในการผลิตกรดซัลฟูริก

2.2 แก๊สที่เมื่อสูดดมเข้าไปแล้วทำให้เกิดอันตรายต่ออวัยวะภายใน เช่น แก๊สคาร์บอน ไดออกไซด์ (CO ) เป็นแก๊สที่ไม่มีสี ไม่มีกลิ่น ได้จากการ เผาไหม้ของเครื่องยนต์ต่างๆ เช่น รถยนต์ แก๊สนี้สามารถซึมเข้าสู่กระแสเลือดได้เร็วกว่าออกซิเจนถึง 400 เท่า แล้วทำให้ร่างกายมีอาการคล้ายกับขาดออกซิเจน หน้ามืด และอาเจียน เนื่องจากไปทำให้ออกซิเจนในกระแสเลือดเจือจางลง นอกจากนี้ยังมีแก๊สที่มีลักษณะเช่นนี้อีก ได้แก่ ไฮโดรเจนไซยาไนด์ แก๊สคาร์บอนมอนนอกไซด์ และไฮโดรเจนซัลไฟด์ แก๊ส 3 ชนิดหลังนี้เป็นอันตราย เนื่องจากแก๊สเหล่านี้จะไปจับฮีโมโกลบินแทนที่ออกซิเจน ทำให้เกิดอาการคล้ายโรคโลหิตจางขึ้นชั่วคราว
แก๊สบางชนิด เช่น ไนโตรเจน ฮีเลียม อาร์กอน มีเทน ถ้ามีความเข้มข้นต่ำจะไม่มีอันตราย และไม่สามารถจะรู้ด้วยกลิ่นขณะที่เกิดการรั่วไหล แต่จะเป็นอันตราย เมื่อมีความเข้มข้นสูงมากจะทำให้ออกซิเจนในร่างกายเจือจาง โดยปรกติแล้ว แก๊สมีเทนเมื่อนำมาใช้มักจะเติมสารที่ให้กลิ่น เช่น สารเมอแคปแทน ซึ่งเป็นสารที่ให้กลิ่นรุนแรงมาก

3. ของเหลว (Liquids) ไอของของเหลว (Vapour) และละออง (Mist)

ของเหลวที่ก่อให้เกิดอันตรายต่อสุขภาพแบ่งออกเป็น 2 ลักษณะ คือ

3.1 ตัวทำละลาย (Solvents ) คือ สารที่มีความสามารถละลายสารอื่นได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งพวกไขมันหรือนํ้ามัน เช่น จารบี เป็นต้น ดังนั้น จึงนำมาใช้งานในด้านทำความสะอาดโลหะอุปกรณ์โลหะ สาร เหล่านี้มีคุณสมบัติที่สามารถระเหยได้ในอุณหภูมิปรกติ จึงก่อให้เกิดอันตรายต่อสุขภาพอยู่เสมอ เช่น กรณีที่สูดดมเข้าไป จะถูกดูดซึมเข้าสู่กระแสเลือดแล้วส่งต่อไปยังอวัยวะต่างๆ เช่น ตับและสมอง บางชนิดสามารถซึมผ่านทางผิวหนังได้ เมื่อเข้าสู่ร่างกายจะมีผลกระทบต่อระบบประสาทส่วนกลางทำให้มีอาการหน้ามืด ปวดศีรษะ อ่อนเพลีย ความจำเสื่อม และเฉื่อยชา และก่อให้เกิดอาการคล้ายถูกยาสลบบ่อยครั้งทำให้ผู้ป่วยหมดความรู้สึกและเสียชีวิตได้ ตัวทำละลายบางชนิดเป็นสารประกอบคลอรีน เมื่อถูกกับความร้อนหรือเปลวไฟก็สามารถให้แก๊สฟอสจีนและแก๊สไฮโดรเจนคลอไรด์ ซึ่งเป็นแก๊สพิษได้ นอกจากนี้ตัวทำละลายบางชนิดยังทำให้เกิดมะเร็ง เช่น เบนซิน เป็นต้น

อุตสาหกรรมที่มีการใช้ตัวทำละลายมาก ได้แก่ ผลิตภัณฑ์พลาสติก ผลิตฟองนํ้า ผลิตสี ผลิตกาว ผลิตแลคเกอร์ ผลิตทินเนอร์ ผลิตรองเท้า อุตสาหกรรมโลหะ และอื่นๆ อีกมากมาย

3.2 กรด (Acids) และด่าง (Bases)
กรดและด่างมีคุณสมบัติในการกัดกร่อนสามารถทำลายผิวหนัง เนื้อ เยื่อนัยน์ตา เมื่ออยู่ในสภาพไอ (vapour) มีคุณสมบัติกัดกร่อน ระบบหายใจ และปอด เช่น กรดไฮโดรคลอริก กรดโครมิก กรดไนตริก และกรดไฮโดรฟลูออริก ฯลฯ ด่างที่ใช้ในการกำจัดไขมันออกจากโลหะ ได้แก่จำพวกโซดาไฟ แอมโมเนีย เป็นต้น เมื่อสัมผัสผิวหนังทำให้ผิวหนังไหม้ได้ ควรล้างออกด้วยนํ้าในปริมาณมากหลายๆ ครั้ง

อุตสาหกรรมที่มีการใช้กรดซัลฟูริก ได้แก่ ผลิตแบตเตอรี่ ผลิตโลหะสังกะสี งานชุบโลหะกรดไฮโดรคลอริกใช้ในอุตสาหกรรมรีดและชุบ เส้นลวด เหล็ก

อุตสาหกรรมที่มีการใช้ด่าง ได้แก่ อุตสาหกรรมผลิตสบู่ ผงซักฟอก ผลิตเชือก ผลิตใยสังเคราะห์ เรยอน โรงงานหลอมโลหะ (เหล็ก) โรงงานผลิตภาชนะเคลือบ อุตสาหกรรมผลิตเยื่อกระดาษ ผลิตกระดาษแก้ว ผลิตเลนซ์แว่นตา เป็นต้น

4. โลหะหนัก (Heavy metals)
โลหะหนัก เป็นสิ่งที่มนุษย์ต้องสัมผัสอยู่เป็นประจำ เช่น สารจำพวกตะกั่ว แคตเมียม นิเกิล ปรอท โคบอลท์ สารหนู แมงกานีส ฯลฯ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง โครเมียม โคบอลห์ นิเกิล และสารหนู เป็นสารที่ก่อให้เกิดโรคมะเร็งต่อระบบทางเดินหายใจ อันตรายที่เกิดขึ้นบางครั้งก็ เกิดฝุ่นผงของโลหะที่ได้จากการ เชื่อมโลหะด้วยไฟฟ้า การเจียและการสี ในกรณีสารผสมโครเมียมและนิเกิลจะถูกดูดซึมเข้าสู่ร่างกายผ่านเส้นเลือดแล้วไปทำลายอวัยวะภายในต่างๆ เช่น ปอด ตับและไต และยังเป็นสาเหตุก่อให้เกิดโรคภูมิแพ้อีกด้วย

อุตสาหกรรมที่ใช้โลหะหนัก พวกตะกั่ว ได้แก่ อุตสาหกรรมหล่อหลอมตะกั่ว อุตสาหกรรมแบตเตอรี่และโรงกลั่นนํ้ามันใช้สารประกอบตะกั่ว เช่น Tetraethyl lead เติมในนํ้ามันรถยนต์ เพื่อเป็นสารกันน๊อค

อุตสาหกรรมผลิตสังกะสีและแคดเมียม ใช้กากแคดเมียมและโลหะแคดเมียม เป็นวัตถุดิบ และการผลิตแบตเตอรี่ชนิดนิเกิล-แคดเมียม

อุตสาหกรรมผลิตหลอดไฟฟ้า ใช้ปรอทในการผลิตหลอดไฟฟ้า เช่น หลอดฟลูออเรสเซนต์

อุตสาหกรรมเครื่องแก้ว เซรามิค ใช้สารประกอบอาร์เซนิคในการผลิต นอกจากนี้ยังมีอุตสาหกรรมโลหะใช้นิเกิลในงานชุบโลหะ เป็นต้น

อุตสาหกรรมที่ใช้แมงกานีส ได้แก่ การผลิตถ่านไฟฉาย การผลิตยาปราบศัตรูพืชที่มีการใช้สารแมงกานีส

นอกจากสถานภาพดังกล่าวมาแล้ว สิ่งที่ต้องคำนึงประกอบควบคู่กันไป คือ คุณสมบัติของสารเคมีแต่ละชนิด เช่น เป็นวัตถุไวไฟ (Flammable) วัตถุระเบิด (Explosive) วัตถุที่ก่อให้เกิดการติดไฟ (Oxidizing) วัตถุกัดกร่อน (Corrosive) วัตถุมีพิษ (Toxic) และวัตถุอันตราย (Harmful) เป็นต้น สารเคมีชนิดเดียวอาจมีคุณสมบัติเพียงอย่างเดียวหรือหลายอย่างก็ได้ ตัวอย่างเช่น แก๊สเอททิลลีนออกไซด์ มีคุณสมบัติเป็นแก๊สพิษและวัตถุไวไฟด้วย ซึ่งเป็นแก๊สที่ใช้ในอุตสาหกรรมไกลคอล industrial sterilant เช่น การผลิตท่อพลาสติกที่ใช้ในทางการแพทย์ เป็นต้น

จะเห็นได้ว่าเป้าหมายในการกำกับดูแล เรื่องสารพิษ และสารอันตรายที่ เกิดจากโรงงานก็เพื่อความปลอดภัยของบุคคลที่เกี่ยวข้องในเรื่องสุขภาพ และความปลอดภัยต่อสิ่งแวดล้อม การป้องกันสารพิษแบ่ง เป็น 2 แบบ แบบที่เป็นการป้องกันภายในโรงงานและแบบที่ป้องกันภายนอกโรงงาน และมาตรการป้องกัน ดังมีรายลายละเอียดดังนี้

การป้องกันสารพิษภายในโรงงานอุตสาหกรรม
เนื่องจากโรงงานอุตสาหกรรมมีมากมายหลายประเภท แต่ละประเภทมีขบวนการผลิตไม่เหมือนกัน ใช้สารพิษต่างกัน ดังนั้น การป้องกันสารพิษแต่ละโรงงาน จึงต้องพิจารณาเป็นรายๆ ไป โดยคำนึงถึงความจำเป็นและพื้นฐานความแตกต่างดังกล่าว แต่โดยหลักการทั่วไป เราจะต้องพิจารณาควบคุมป้องกันอันตรายจากสารพิษดังนี้

1. การควบคุมที่ต้นตอของสารพิษ(Source) เป็นวิธีการอันดับแรกที่ควร เลือกและจะได้ผลโดยตรงในการป้องกันพิษจากสาร วิธีการคือ
1.1 เลือกใช้สารอื่นทดแทน (Substitution) โดยการห้ามใช้สารที่มีพิษมากเมื่อมีสารอื่นที่มีพิษน้อยกว่าสามารถใช้ทดแทนในการผลิตแม้จะมีราคาแพงกว่าก็ตาม เช่น ใช้โทลูอีน เป็นตัวทำละลายแทนเบนซิน

1.2 มีการเปลี่ยนแปลงเคมีภัณฑ์ให้อยู่ในรูปที่ไม่ก่อให้เกิดอันตราย เช่น เคมีภัณฑ์ที่มีคุณสมบัติเป็นฝุ่นผงสามารถฟึ้งกระจายเป็นสาแขวนลอยในอากาศก็เปลี่ยนเป็นก้อน เม็ด เกล็ด หรือแผ่น เพื่อลดการฟุ้งกระจาย นอกจากนั้น ก็โดยวิธีการเปลี่ยนแปลงจากการใช้เคมีภัณฑ์ที่มีอันตรายมากไป เป็นใช้เคมีภัณฑ์ที่มีอันตรายน้อย เช่น สิวานิช หรือกาว แต่เดิมมักใช้ตัวทำละลายเข้าไปผสมให้เจือจางก็เปลี่ยนเป็นใช้น้ำแทน

2. การควบคุมที่ขบวนการผลิต (Process) เลือกขบวนการผลิตที่ทำให้เกิดความปลอดภัยเช่น

2.1 เปลี่ยนแปลงขบวนการผลิตใหม่ (Change of Process) โดยเลือกใช้ขบวนการผลิตที่ปลอดภัยกว่า เช่น การผลิตโซดาไฟควรหลีก เลี่ยงขบวนการผลิตที่มีการใช้ เซลล์ปรอท เปลี่ยนไปใช้ระบบ Diaphram ของ Graphite แทน

2.2 ปรับปรุงเทคโนโลยีการผลิตให้ดีขึ้น เช่น การผลิตที่ใช้แรงงานที่เป็นอันตรายก็เปลี่ยนไปใช้หุ่นยนต์แทน การพ่นสีรถยนต์ก็เปลี่ยนเป็นการชุบสีด้วยกระแสไฟฟ้าแทน

2.3 แยกขบวนการผลิตที่เป็นอันตรายออก (Isolation)
2.4 เลือกระบบปิด (Enclosure system)
2.5 ใช้วิธีการทำให้เปียกขึ้น (Wet methods)
2.6 มีการระบายอากาศเฉพาะที่ (Local exhaust ventilation)
2.7 มีการบำรุงรักษาอย่างเพียงพอ (Adequeous maintainance)

3. การป้องกันโดยการปรับปรุงสถานที่ทำงาน ให้บรรยากาศในที่ทำงานอยู่ในเกณฑ์มาตรฐานโดย

3.1 การกำหนดเพดานของปริมาณสารพิษในสถานประกอบการ (Threshold limit) เช่น โดยมีการติดตั้งระบบขจัดสารพิษภายในสถานที่ประกอบการ เพื่อให้เป็นไปตามข้อกำหนดความปลอดภัยและใช้ค่า TLV (Threshold Limit values) เป็นเกณฑ์วัดความเข้มข้นของสารในบรรยากาศการทำงานในแต่ละประเทศจะมีการกำหนดค่า TLV แตกต่างกันออกไป และสามารถเปลี่ยนแปลงได้ตามความจำเป็นจะ เห็นว่าสารที่เป็นพิษมากมักจะกำหนดค่า TLV ไว้ต่ำ

3.2 การบำรุงรักษาให้สถานที่ทำงานสะอาดเป็นระเบียบเรียบร้อย (Good House Keeping)

3.3 จำกัดขอบเขตป้องกันการใช้เคมีภัณฑ์ให้เกิดความปลอดภัยโดย เคมีภัณฑ์โดยระบบปิดหมด (Closed system) หรือไม่ก็จัดให้มีการระบายอากาศอย่างเพียงพอ การใช้เครื่องมือส่วนบุคคลควรเป็นมาตรการสุดท้าย และตรวจตราให้มีประสิทธิภาพในการป้องกัน

3.4 การระบายอากาศของสถานที่ทั่วไป (General Ventilation)

3.5 เพิ่มระยะทางให้ห่างแหล่งต้นตอสารเคมี เช่น ถังปฏิกิริยากับคนงานให้อยู่ห่างกันมากขึ้น เพื่อที่ให้มีโอกาสที่จะได้รับสารที่เจือจางกว่า

3.6 ตรวจวัดระดับความเข้มข้นของสถานที่ทำงานเป็นประจำ(Monitoring)

4. มีการจัดเก็บสารพิษอย่างปลอดภัย และแยกเก็บตามคุณสมบัติทางเคมี อาจจัดแบ่งเป็นพวก หรือชั้น (Classes) เช่น ใช้หลักของ IMO (INTERNATIONAL MARINTIME ORGANIZATION) ซึ่งจะมีจัดเก็บตามรหัสสินค้าอันตรายของ IMO (INTERNATIONAL MARITIME DANGEROUS GOOS CODE) เป็นการจัดเก็บตามคุณสมบัติที่เป็นอันตรายของสินค้าอันตราย เช่น วัตถุระเบิด วัตถุไวไฟ วัตถุออกซิไดซ์ วัตถุกัมมันตรังสี วัตถุมีพิษ วัตถุกัดกร่อน เป็นต้น

5 . มีการจัดการเกี่ยวกับปฏิกูลอันเกิดจากสารพิษและเคมีภัณฑ์ เช่น กากของเสียกำจัดด้วยวิธีที่ถูกต้องและเหมาะสม

6. การให้ข้อมูล ให้การศึกษา ประชาสัมพันธ์ และฝึกอบรม ซึ่งเป็นการป้องกันภัยจากสารพิษในเบื้องต้นที่ให้ผลและลงทุนน้อย โดยวิธีการ

6.1 ปิดฉลากแสดงชื่อสารเคมี ความเป็นพิษ อาการเกิดพิษ วิธีการป้องกันรักษาเบื้องต้นบนภาชนะบรรจุสารพิษทุกชนิด พร้อมทั้งสัญลักษณ์ต่างๆ เช่น หัวกระโหลกกระดูกไขว้ เพื่อให้สะดุดตาแก่ผู้พบ เห็นหรือคนงานที่จำเป็นต้องเกี่ยวข้อง

6.2 ให้การศึกษา ฝึกอบรม เป็นประจำแก่คนงานที่เกี่ยวข้องกับสารพิษให้ทราบถึงอันตรายและวิธีป้องกัน เพื่อทำให้คนงานมีจิตสำนึกที่จะระมัดระวังตัวเองในเบื้องต้นการฝึกหัดให้ร่วมงาน รู้ถึงวิธีปฐมพยาบาล เพื่อนร่วมงานในกรณีที่ประสพอุบัติเหตุ เช่น การเคลื่อนย้ายผู้หมดสติออกนอกบริเวณ การใช้เครื่องช่วยหายใจ การใช้ยา การปฐมพยาบาลก่อนนำผู้ป่วยส่งแพทย์

6.3 ให้การฝึกอบรมเป็นครั้งคราว ในเชิงปฏิบัติต่อกรณีสารพิษรั่วไหลหรือกรณีที่คนงานได้รับสารพิษเข้าไปว่าจะต้องปฏิบัติอย่างไรเมื่อเกิดเหตุการณ์ขึ้น

7. การควบคุมที่ตัวบุคคล
อาจทำได้ยากและให้ความร่วมมือน้อย

7.1 ใช้อุปกรณ์การป้องกันอันตรายส่วนบุคคลที่เหมาะสม
การป้องกันอันตรายที่เกิดจากเคมีภัณฑ์โดยการใช้เครื่องป้องกันส่วนบุคคล เป็นมาตรการสุดท้ายที่ใช้ในการป้องกันภัย ทั้งนี้ เนื่องจาก เครื่องมือต่างๆ มักจะสร้างความรำคาญให้กับผู้ที่สวมใส่จนไม่สามารถสวมได้ติดต่อกันเป็นระยะเวลานานๆ และนอกจากนี้ยังมีความจำเป็นที่ต้องดูแลรักษาและตรวจสอบให้ใช้งานอยู่เสมอ ในการใช้ควรที่ต้องเลือกใช้ให้เหมาะสมกับสภาพของเคมีภัณฑ์แต่ละชนิด เช่น หน้ากาก สำหรับผู้ปฏิบัติงานในโรงงานผลิตน้ำกรด ควรมีไส้กรองชนิดป้องกันไอกรด ไม่ใช่ใช้ไส้กรองที่กันฝุ่นผงและควรเปลี่ยนไส้กรองให้อยู่ในสภาพที่มีประสิทธิภาพสมบูรณ์อยู่เสมอ

7.2 สุขอนามัยในการปฏิบัติงาน
สุขอนามัยในการปฏิบัติงาน เป็นสิ่งที่ทำได้ยาก เพราะขึ้นอยู่กับนิสัยส่วนตัวของแต่ละบุคคล ยากต่อการบังคับ แต่ก็ควรฝึกให้เป็นนิสัย เช่น มือที่จับต้องเคมีภัณฑ์ควรล้างมือให้สะอาดก่อนรับประทานอาหารหรือสูบบุหรี่ ไม่ควรใช้มือที่สกปรกขยี้ตาหรือจับต้องบริเวณใบหน้า ควรอาบนํ้าสระผม เปลี่ยนเสื้อผ้าชุดใหม่หลังเลิกงานทุกครั้ง สถานปฏิบัติงานต้องสะอาด เรียบร้อย มีห้องนํ้าห้องอาหารแยกห่างกันและมี ผู้รับผิดชอบต้องทำความสะอาดทุกๆ วัน

7.3 จัดหมุนเวียนคนงานในหน้าที่ต้องสัมผัสหรือเกี่ยวข้องกับสารพิษให้ไปทำหน้าที่อื่นบ้าง

7.4 มีการตรวจสอบสุขภาพร่างกายคนงาน เป็นระยะสม่ำเสมอ

7.5 วางกฎระเบียบการทำงานที่ปลอดภัยไว้ ให้ถือปฏิบัติ

การป้องกันอันตรายตามที่กล่าวมาแล้วข้างต้นนับได้ว่า เป็นพื้นฐานที่ลดอันตรายจากการสัมผัสเคมีภัณฑ์ ทั้งนี้ เจ้าของกิจการโรงงานต้องตระหนักถึงเรื่องต่างๆ ดังกล่าว และควรใช้จ่ายบางส่วนเพื่อใช้ในการป้องกันอุบัติภัยและป้องกันมลภาวะต่างๆ ก็จะช่วยส่งเสริมความปลอดภัยมากยิ่งขึ้น

การป้องกันสารพิษภายนอกโรงงานอุตสาหกรรม        
สารพิษที่ปนเปื้อนอยู่นอกบริเวณโรงงานอุตสาหกรรมโดยมากจะอยู่ในลักษณะของขยะกากของเสียนํ้าทิ้งและอากาศเสีย หรือควันพิษ การป้องกันมักจะพิจารณาเน้นในเรื่องของระบบขจัดทั้งน้ำทิ้ง และควันพิษก่อนปล่อยออกจากโรงงาน ซึ่งมีข้อกำหนดเป็นมาตรฐานสำหรับควบคุมคุณภาพของนํ้าทิ้งและควันพิษตามกฎหมายอยู่แล้ว

ในส่วนของกากสารพิษต้องมีวิธีการทำลายที่เหมาะสม ถูกต้องตามหลักวิชาการ อาจส่งไปทำลายความเป็นพิษจากศูนย์ขจัดสารพิษที่หน่วยราชการจัดขึ้น

กรมโรงงานอุตสาหกรรมได้วางแผนขจัดสร้างระบบทำลายฤทธิ์กากสารพิษขึ้นที่เสร็จแล้ว ได้แก่ที่เขตบางขุนเทียน กทม. ที่จังหวัดราชบุรีอยู่ในระหว่างการจัดสร้าง ซึ่งจะมีการทำลายกากอย่างสมบูรณ์แบบเตาเผา หอกลั่น และ Landfill นอกจากนี้ยังมีการจัดสร้างที่ชลบุรีและในอนาคตก็จะสร้างที่ระยองอีกด้วย

สำหรับศูนย์ทำลายฤทธิ์แห่งแรกที่เขตบางขุนเทียน กทม. เป็นระบบทำลายฤทธิ์ด้วยวิธีเคมี ซึ่งกากที่สลายพิษแล้วจะให้ขนถ่ายไปที่ศูนย์พัฒนาและกักเก็บกากที่จัดสร้างขึ้นที่จังหวัดราชบุรี สำหรับศูนย์ที่จังหวัดชลบุรีและที่จะจัดสร้างที่ระยองนั้นจะเป็นศูนย์ที่รองรับการขยายตัวของอุตสาหกรรมในพื้นที่ชายฝั่งทะเลตะวันออก

ปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้นในการควบคุมและป้องกันสารพิษ

1. ทั้งเจ้าของโรงงานและคนงานยังขาดความรู้เกี่ยวกับคุณสมบัติของ เคมีภัณฑ์ โดยเฉพาะพิษของสารบางครั้ง เจ้าของกิจการยังพยายามปกปิดไม่ให้คนงานรู้ถึงความเป็นพิษอยู่เนืองๆ สารพิษบางชนิดสามารถสะสมในร่างกายโดยไม่ได้แสดงพิษเฉียบพลันออกให้เห็นทันที จึงทำให้คนงานไม่ได้ระมัดระวังในเรื่องความปลอดภัย

2. ไม่มีอุปกรณ์ป้องกันอันตรายส่วนบุคคลที่เหมาะสม หรือบางกรณีก็เกิดจากคนงานไม่ยอมใช้อุปกรณ์ป้องกันที่จัดหาไว้ให้ เนื่องจากอ้างว่า เป็นอุปสรรคต่อการทำงาน

3. ไม่มีการตรวจสุขภาพคนงานอย่างสม่ำเสมอ หรือมีการตรวจแต่ก็ไม่ตรวจวินิจฉัยอย่างลึกซึ้ง เช่น การพบว่าเป็นโรคปอดก็ควรตรวจเจาะลึกหาสาเหตุไม่ใช่อ้างว่าคนงานสูบบุหรี่จัด นอกจากนี้ อาการเกิดโรค เนื่องสารพิษบางชนิดจะไม่แสดงออกจนกว่าเวลาจะผ่านไปนานแล้ว เช่น โรคจากพิษของแมงกานีส หากคนงานที่เคยทำงานในโรงงานแมงกานีสได้รับพิษแล้วเปลี่ยนงานไปทำโรงงานอื่น การตรวจโรคที่โรงงานที่ไปทำครั้งหลังจะไม่สามารถตรวจลึกไปถึงโรคแมงกานีส เป็นพิษได้อีก ดังนั้น โรงงานควรจัดทำสมุดประวัติของคนงาน ซึ่งอาจใช้บังคับโดยกฎหมายแรงงาน ทั้งนี้ เพื่อประโยชน์ในการเรียกร้องการ รักษาของคนงานเองภายหลัง

4. การทำลายขยะและกากสารพิษยังไม่เป็นระบบที่ดี ขาดความรับผิดชอบของผู้ประกอบการ โดยไม่ได้แยกแยะขยะธรรมดาออกจากกากสารพิษ หรือกากของเสียของโรงงาน ทำให้สารพิษถูกปล่อย ออกไปปนเปื้อนสิ่งแวดล้อมเป็นจำนวนมาก บางครั้งโรงงานเองก็จงใจโดยว่าจ้างรถขยะของทางราชการ ขนกากของเสียหรือกากสารพิษไปทิ้งเป็นการส่วนตัว

5. ควรมีข้อกำหนดเป็นกฎหมายควบคุมอย่างชัดเจน รวมทั้งควรห้ามนำภาชนะบรรจุสารพิษทำความสะอาด เพื่อนำไปใช้ต่อด้วย เพราะการชะล้างสารพิษที่ติดหลงเหลืออยู่ก็จะหลุดออกไปสู่สภาวะแวดล้อมได้

6. การหลีกเลี่ยงละเลยการสร้างระบบขจัดทำลายสารพิษในนํ้าทิ้ง หรือการปล่อยควันพิษ หรือการที่มีระบบอยู่แล้วแต่ละเลยไม่ใช้ ซึ่งแก้ไขได้โดยการตรวจอย่างสม่ำเสมอและดำเนินตามกฎหมายอย่างเคร่งครัด

“กรมโรงงานอุตสาหกรรมมีหน้าที่กำกับดูแล เรื่องวัตถุอันตรายภายในประเทศโดยใช้กฎหมาย 2 ฉบับที่ออกใหม่ ได้แก่ พระราชบัญญัติโรงงาน พ.ศ. 2535 และพระราชบัญญัติวัตถุอันตราย พ.ศ.2535″ นอกจากนี้ยังต้องควบคุมดูแลสารที่เป็นอันตรายต่อสิ่งแวดล้อม โดยพิธีสารมอนทรีออลและ Basel Convention นอกจากนี้ในอนาคตกรมโรงงานอุตสาหกรรมยังจะมีส่วนในเรื่องอาวุธเคมี โดย Chemical Convention อีกด้วย”

ที่มา:วีระ  มาวิจักขณ์
กองควบคุมวัตถุมีพิษและเคมีภัณฑ์
กรมโรงงานอุตสาหกรรม

↑ กลับสู่ส่วนบนของหน้า