สำหรับผู้ใส่ใจในการรักษาสุขภาพ ทั้งสุขภาพกาย และสุขภาพจิต

สัตว์วัตถุอันตรายที่ใช้ในตำรับยาแผนโบราณ

ในตำรับยาแผนโบราณ มีสัตว์วัตถุที่เป็นยาอันตรายและสามารถนำมาใช้ได้ โดยมีการกำหนดขนาดรับประทานในมื้อหนึ่ง ซึ่งสัตว์วัตถุที่เป็นพิษมีอยู่ 2 ชนิด คือ

1. ยาสมุนไพรที่ได้จากสัตว์ที่มีชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่า Bufo bufo gargarizans Cantor, B. melanostictus Schneider, B. vulgaris Lour. ยกเว้นยาที่ผลิตขึ้นสำหรับรับประทานในมื้อหนึ่ง ดดยมีน้ำพิษของคางคกอยู่ไม่เกิน 2 มิลลิกรัม ชาวจีนเรียกน้ำพิษที่ได้จากคางคกนี้ว่า ฉานซู(Chan Su) ใช้เพื่อบำรุงหัวใจในขนาดต่ำ ในทางเภสัชวิทยาจะมีฤทธิ์คล้ายสมุนไพรของชาวตะวันตกที่ชื่อ ดิจิทาลิส(digitalis) จะช่วยให้กล้ามเนื้อหัวใจมีการบีบตัวเพิ่มขึ้น ช่วยเพิ่มความดันของโลหิต มีฤทธิ์เป็นยาชาเฉพาะที่เมื่อใช้ภายนอก จะออกฤทธิ์ช้ากว่าโคเคนแต่อยู่ได้นานกว่า ในน้ำพิษมีสารออกฤทธิ์ที่มีความเป็นพิษสูง ได้แก่ บูฟาลิน(bufalin) บูโฟท็อกวิน(bufotoxin) บูโฟทีนิน(bufotenine) บูโฟจีนิน(bufogenin) ซึ่งมีฤทธิ์แรงต่อระบบหัวใจและหลอดเลือด ตามตำรายาจีนสตรีมีครรภ์ห้ามใช้ยานี้ เพราะอาจมีอันตรายได้

2. ยาสมุนไพรที่ได้จากสัตว์ที่มีชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่า Mylabris phalerata Pall. (Mylabris sidae Fabr.), M. pustulata Thumb., M. cichorii Linn., Mylabris spp. ยกเว้นยาที่ผลิตขึ้น โดยมีแมลงเต่าบ้าน และ/หรือแมลงในตระกูลมิลบริส(Mylabris) ที่คั่วแล้ว สำหรับใช้ภายนอกครั้งละไม่เกิน 50 มิลลิกรัม

ชาวจีนเรียกตัวยาจากแมลงเหล่านี้ว่า บันเหมา(Ban Mao) ในภาษาอังกฤษเรียกว่า Cantharides, Mylabris หรือ Chinese blister beetle แมลงจะใช้สาร แคนาริดิน(cantharidin)ที่เป็นสารสำคัญในตัวเพื่อป้องกันตัว ผิวหนังที่ถูกสารนี้จะเกิดการระคายเคือง เกิดตุ่มพอง ปัจจุบันได้มีการนำสารนี้มาเตรียมยาใช้ภายนอกใช้ทาบนหูดให้หลุดลอกออกมา เรียกว่า โพโดไฟลัม เรซิน(Podophyllum resin) ที่ประกอบไปด้วยสาร แคนธาริดิน 1% ผสมเข้ากับสาร โพโดไฟลัม 5% และกรดซาลิซัยลิค(salicylic acid) 30%

องค์การพิทักษ์สิ่งแวดล้อมของสหรัฐอเมริกา ได้จัดว่าสารแคนธาริดินนี้มีอันตรายต่อชีวิตมาก สารแคนธาริดินในแมลงแห้ง blister beetle มีปริมาณคิดเป็น 1-5%โดยน้ำหนัก อาจทำให้เสียชีวิตได้เพียงบริโภคแมลงแห้งเข้าไป 1.6 กรัม บริเวณหญ้าที่มีแมลงเหล่านี้ปะปนอยู่ สารนี้ก็จะทำให้เกิดพิษกับสัตว์พวก ม้า วัว หรือแกะ ที่กินหญ้าเข้าไปได้ ซึ่งแม้แมลงจะตายไปแล้ว แต่สารพิษนี้ก็มีอยู่ เนื่องจากมีความคงตัวของพิษสูง

เมื่อรับประทานสารนี้เข้าไป สารแคนธาริดินจะถูกดูดซึมในทางเดินอาหารและขับออกทางปัสสาวะอย่างรวดเร็ว ทำให้มีอาการแสบร้อนที่ปาก ลิ้นบวมพอง คลื่นไส้ ปวดท้อง ในทางเดินอาหารมีเลือดออก อาเจียนเป็นเลือด ปัสสาวะเป็นเลือด เกิดพิษต่อไตและทางเดินปัสสาวะ ทำให้เกิดอาการชัก การทำงานของหัวใจผิดปกติ อาจช็อกและเสียชีวิตได้

ที่มา:จากหนังสือวิทยาศาสตร์ในการแพทย์แผนไทย
โดยอาจารย์ ดร.อัญชลี จูฑะพุทธิ
หัวหน้างานวิจัย กลุ่มงานพัฒนาวิชาการแพทย์แผนไทยและสมุนไพร สถาบันการแพทย์แผนไทย กรมพัฒนาการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก

↑ กลับสู่ส่วนบนของหน้า